Tag: ความสงบ

การปฏิบัติธรรมต้องมีลำดับ

March 1, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,690 views 0

การปฏิบัติธรรมต้องมีลำดับ

การปฏิบัติธรรมต้องมีลำดับ

การปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนานั้นต้องมีลำดับขั้นตอน มีความเจริญในมรรคผลสืบต่อกันไปเรื่อยๆ ไม่ใช่การปฏิบัติเพื่อหวังบรรลุธรรมในทันที แบบไม่มีขั้นตอน ไม่มีลำดับ

เหมือนกับการจะได้ผลไม้สักหนึ่งลูก ต้องเริ่มจากการเตรียมดิน ถางวัชพืช ก็มีมรรคคือการถางวัชพืชและผลคือวัชพืชหายไป จนกระทั่งผสมดินเพื่อเตรียมปลูกก็จะมีมรรคผลเป็นลำดับ จนกระทั่งเพาะเมล็ด เลี้ยงดู ใส่ปุ๋ย รดน้ำ ก็จะมีมรรคผลเกิดขึ้นโดยลำดับ มีความเจริญโดยลำดับ มีความสำเร็จโดยลำดับ จนกระทั่งสุดท้ายได้ผลไม้นั้นมากินเป็นผลสูงสุดที่คาดหวังไว้ ก็เกิดขึ้นได้เพราะมีการปฏิบัติโดยลำดับ

หากเราต้องการแค่ผลไม้ จะใช้เงินซื้อมาหรือหาเก็บเอาก็ได้ แต่ผลทางโลกุตระนั้นไม่ได้หากันง่ายๆ ความเจริญทางจิตวิญญาณนั้นต้องทำเอาเอง ต้องมีการถากถางกิเลสหยาบๆ ออกไปก่อน ปฏิบัติจนกระทั่งเกิดผลเจริญงอกงามขึ้นในจิตใจตนเองเรื่อยๆ ปลดเปลื้องกิเลสในใจตนเองออกไปเรื่อยๆ โดยลำดับ

การปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนานั้นไม่ได้หมายความว่าทำซ้ำๆ ทำบ่อยๆ ทำอยู่เรื่องเดียวทั้งปีทั้งชาติจะบรรลุผล เหมือนกับการปลูกผลไม้ จะถางหญ้าอยู่อย่างเดียวทั้งปีทั้งชาติไม่ให้หญ้าขึ้นเลยนั้นก็ได้ผลเพียงแค่หญ้าไม่ขึ้น แต่ยังไม่ปลูกต้นไม้ จึงไม่มีวันได้ผลไม้ เช่นเดียวกับการปฏิบัติธรรมที่ผิด หลงเอาความสงบของจิตใจโดยการกดข่ม ฝืนทน กำหนดจิต เพ่งจิต รวมจิต ฯลฯ มาเป็นผล ก็คงจะได้ผลเพียงแค่วัชพืชไม่ขึ้น แต่จะให้ได้ผลไม้มากินก็คงไม่ใช่ เช่นเดียวกันกับการหวังให้ได้ความสงบในจิตใจชั่วครู่ก็คงหวังได้ แต่จะให้จิตนั้นหลุดพ้นจากกิเลสก็คงจะเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน

การปฏิบัติธรรมของพุทธนั้น จำเป็นต้องรู้จักเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย รู้ว่าอะไรหยาบ อะไรละเอียด ปฏิบัติจากหยาบไปก่อนแล้วค่อยไปละเอียด กิเลสหยาบๆ เอาออกให้ได้ก่อน สิ่งที่เบียดเบียนมาก เป็นภัยมาก อาการทางร่างกาย ทางวาจา หยุดให้ได้ก่อนแล้วค่อยไปดับกิเลสในใจที่หลงผิด ไม่ใช่จะไปละเอียดได้โดยไม่ผ่านหยาบ ปฏิบัติลัดชั้นตอน ปฏิบัติไม่มีลำดับ ก็เรียกได้ว่าหลงทาง

– – – – – – – – – – – – – – –

1.3.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความสงบ เกิดจากจิตที่สงบจากกิเลส

November 24, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,390 views 0

ความสงบในความหมายของศาสนาพุทธ ไม่ใช่ความสงบภายนอกที่เอาแต่แสวงหาที่สงบเงียบ เช่นไปวัดแล้วสงบ เข้าป่าแล้วสงบ

แต่เกิดจากการทำใจในใจให้สงบ สงัดต่อกิเลส ทำลายความแส่หา(ตัณหา) และความยึดมั่นถือมั่น(อุปาทาน) ดังนั้นไม่ว่าจะอยู่ในสังคมเมืองหรือในป่าหรืออยู่ที่ใดก็ตาม ก็จะไม่มีเหตุปัจจัยใดๆที่จะมาเคลื่อนจิตที่สงบของผู้ฝึกดีแล้วให้เคลื่อนออกจากความสงบนั้นได้เลย

ผิดกับผู้ที่แสวงหาความสงบภายนอก เขามักจะใช้ความสงบจากสิ่งแวดล้อมภายนอกทำให้จิตใจนั้นสงบ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของโลกที่การปลีกวิเวก ไม่เจอคน ไม่กระทบใคร ไม่มีผัสสะ แล้วจะเกิดความสงบ

แต่การแสวงหาของสงบของพุทธไม่ได้เหมือนกับการหนีสังคมออกไปหาความสงบ แต่ปฏิบัติอยู่กับ “ผัสสะ” อยู่ในโลกในสังคมที่มีการกระทบกระทั่งกัน เพื่อทำลายความอยากและความยึด

เพราะเป้าหมายของศาสนาพุทธนั้นไม่ใช่การไขว่คว้าหาที่สงบ หรือทำความสงบเป็นช่วงๆ เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ยั่งยืน พระพุทธเจ้าท่านสอนให้กำจัดเหตุแห่งความไม่สงบก็คือกิเลส

ซึ่งการจะเห็นกิเลสของตนได้ก็ต้องเข้ามาอยู่ในสังคม ปะทะกับอบายมุข กาม โลกธรรม อัตตา ให้เห็นกันชัดๆว่าติดอะไร อะไรที่มันสกปรกก็เช็ดตรงนั้นให้สะอาด ไม่ใช่ไปเข้าป่าเข้าถ้ำไม่เจออะไร สงบ ดิ่ง เงียบ จมลงลึกไปแล้วก็หลงเข้าใจว่านั่นคือสงบของพุทธ

ไปแสวงหาความสงบนอกกาย หลีกเลี่ยงการกระทบกับโลกและสังคมแล้วกิเลสมันจะแสดงตัวได้อย่างไร มันก็ซ่อนตัวอยู่ในจิตนั่นแหละ มันจะออกมาก็ต่อเมื่อมี “ผัสสะ” เท่านั้น ดังนั้นการปฏิบัติแสวงหาความสงบที่ไม่มีผัสสะจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะได้สัมผัสความสงบที่แท้จริง อย่างเก่งก็สงบเป็นช่วงๆตามกำลังของจิตที่ได้ฝึกมา แต่จะให้สงบแบบถาวรก็จะเป็นไปไม่ได้ เพราะปฏิบัติผิดทาง

ชี้กันให้ชัดอีกครั้งว่าความสงบของพุทธนั้นเกิดจากการสงบจากกิเลสเป็นหลัก ไม่ใช่การหาความสงบโดยสิ่งแวดล้อมภายนอก

ลากันสักพัก

September 25, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,891 views 0

ลากันสักพัก

ลากันสักพัก

บางครั้งบางเวลา เราก็ควรจะมีช่วงเวลาที่ละเว้นจากกิจกรรมเดิมๆ เพื่อใช้เวลาเหล่านั้นในการคิดทบทวนและทำความเข้าใจในสิ่งต่างๆที่ทำลงไปแล้วหรือคิดไว้ว่าจะทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

แม้บทความในเพจนี้จะถูกเผยแพร่เป็นจำนวนมาก ถี่ที่สุดก็เผยแพร่กันหลายบทความต่อวัน ซึ่งนอกจากเยอะแล้วยังจะยาวอีกด้วย

แต่ก็มีบางช่วงที่ผมรู้สึกว่าไม่สมควรจะเรียบเรียงอะไรออกมาเลย ไม่ควรแม้แต่จะคิด แต่ควรจะศึกษาให้มากขึ้น เพื่อลับความคมที่มีอยู่ ให้คมยิ่งขึ้นกว่าเดิม

มีหลายครั้งที่ผมหายไปและกลับมาพร้อมความรู้ความเข้าใจชุดใหม่ จนบางครั้งผมก็แปลกใจกับตัวเองเหมือนกันว่าการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพียงเล็กน้อย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ขนาดนี้เชียวหรือ…

สรุปแล้วที่ผมหายไปเป็นช่วงๆ ก็คือไปทบทวนตัวเอง ให้เวลากับตัวเองได้ลองเปลี่ยนแปลงบ้าง ให้ตัวเองได้พบกับความสงบบ้าง ซึ่งในชีวิตปกติแล้วผมมักจะอยู่กับความ “ฟุ้ง” เป็นหลัก ไม่ว่าจะการศึกษา หาข้อมูล วิจัยวิจารณ์ คิดเรื่องต่างๆ แต่การเปลี่ยนวิถีชีวิตไปสู่ความ “ดับ” คือไม่ต้องคิดอะไรเลย ก็เอื้อให้ชีวิตสมดุลขึ้นได้เหมือนกัน

ผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ก็ควรจะประมาณตนไม่ให้ฟุ้งจนเหนื่อย และไม่ให้ดับจนไม่เหลืออะไรเลย เมื่อเรายังไม่เก่งในการใช้จิตของตัวเองจัดการทุกอย่าง เราก็ควรจะใช้องค์ประกอบภายนอกในการสร้างสภาวะให้เหมาะสมต่อการเข้าใจชีวิตด้วย

– – – – – – – – – – – – – – –

25.9.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ไตรลักษณ์กับสมถะและวิปัสสนา

March 31, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,952 views 0

ไตรลักษณ์กับสมถะและวิปัสสนา

ดาวน์โหลดภาพขนาดเต็ม | Download full size image

ไตรลักษณ์กับสมถะและวิปัสสนา

ความแตกต่างของการใช้ไตรลักษณ์ระหว่างการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา

หากจะจำแนกวิธีปฏิบัติธรรมในปัจจุบันคงจะมีมากมายหลากหลาย มีชื่อ นิยาม และความหมายไปตามทิฏฐิที่แตกต่างกัน ซึ่งโดยหลักแล้วไตรลักษณ์ หรือลักษณะสามัญ 3 อย่าง คือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตนนี้เอง คือสิ่งที่หลายคนใช้ในการพิจารณาธรรม

แต่ในความจริงแล้ว การใช้ไตรลักษณ์เข้ามาพิจารณาธรรมนั้นก็มีวิธีการที่หลากหลายแตกต่างกันไป เหมือนกับมีเครื่องมืออยู่หนึ่งชิ้น สามารถนำไปทำอะไรได้หลายอย่าง มีวิธีการใช้และผลจากการใช้เครื่องมือนั้นที่เรียกกันว่า  “มรรค-ผล

การปฏิบัติโดยใช้สมถะก็มีมรรคผลแบบสมถะ การปฏิบัติโดยใช้วิปัสสนาก็มีมรรคผลแบบวิปัสสนา ถ้าโดยภาษาจะดูเหมือนมีมรรคผลเหมือนกัน แต่ในรายละเอียดนั้นจะแตกต่างกัน เมื่อมรรคต่างกัน ผลที่ได้ก็ย่อมต่างกันไปด้วย แล้วสิ่งไหนที่จะเป็นทางเดินที่ถูก ทางที่พาพ้นทุกข์(สัมมาอริยมรรค) ที่จะนำไปสู่ผลคือสภาพหลุดพ้นจากกิเลส (วิมุตติ)

สมถะกับไตรลักษณ์

สมถะในรูปแบบทั่วไปนั้น จะใช้การกำหนดจิต กดจิต ดับความคิด หรืออุบายต่างๆเข้ามาเพื่อควบคุมใจ แต่ก็ยังมีสมถะที่ใช้ตรรกะเข้ามาช่วยกดข่ม ในแบบชาวบ้านทั่วไปเช่น เราเป็นคนดี, เราจะไม่โกรธ, เราจะไม่กลัว และในรูปแบบที่ใช้ธรรมะเข้ามาก็เช่นการใช้ไตรลักษณ์นี่เอง

การใช้ไตรลักษณ์เข้ามาช่วยกดจิตให้นิ่งเมื่อเจอกับผัสสะที่ทำให้เกิดเวทนา เมื่ออาการผิดปกติเหล่านั้นเกิดขึ้นในจิต ก็จะใช้ “ธรรมะ” เข้ามาเป็นเหตุผล หรือนำสัจจะเข้ามาตบความฟุ้งซ่านนั้นๆทิ้ง เช่นเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่พอใจก็จะใช้การท่อง ระลึกถึง พิจารณาไตรลักษณ์ ความโกรธนั้นไม่เที่ยง ความโกรธนั้นเป็นทุกข์ ที่เรามีความโกรธเพราะเรามีตัวตน ฯลฯ

ลักษณะเหล่านี้คือปัญญาสมถะ จะดูคล้ายกับการวิปัสสนามากจนหลายคนเข้าใจผิดว่าวิธีนี้คือการวิปัสสนา ทั้งๆที่กระบวนการเหล่านี้เป็นรูปแบบของสมถะเท่านั้น เป็นเพียงการกดข่มจิตไม่ให้ไหวไปตามผัสสะที่เข้ามา จะเกิดสภาพสงบจากกิเลสที่โดนกดได้

เป็นมรรคผล แบบสมถะที่เกิดความสงบได้จริง กิเลสสงบจริง สุขจริง ผ่อนคลายจริง แต่ก็ไม่ใช่ผลที่ยั่งยืน แม้จะกดได้ข้ามภพข้ามชาติแต่วันใดวันหนึ่งก็ต้องระเบิดออกมาอยู่ดี เพราะปัญหาไม่ได้ถูกแก้ เหตุแห่งทุกข์ไม่ได้ทำให้รู้แจ้ง เพียงแค่ใช้ปัญญากดข่มอาการใดๆอันไม่น่าอภิรมย์ของจิตไปเท่านั้น

รูปแบบของสมถะจะซ้ำๆเดิมๆ เจอโจทย์ไหนก็ใช้วิธีเดิม ทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ใช้ตรรกะ ธรรมะ เหตุผล คิดบวก ใช้ปัญญากดข่มอยู่แบบนี้เป็นมรรค และผลที่ได้จะเป็นเวทนา แบบเคหสิตอุเบกขา คือความวางเฉยแบบชาวบ้าน หรือความเบื่อแบบคนทั่วไป แบบโลกๆ แบบสามัญ ไม่ใช่ในแนวทางพ้นทุกข์ของพุทธศาสนา แต่เป็นแบบฤๅษีหรือเกิดความสงบอย่างผู้ปฏิบัติสมาธิทั่วไป

วิปัสสนากับไตรลักษณ์

กระบวนการของวิปัสสนานั้นจะต่างไปจากสมถะอย่างชัดเจน เพราะเป็นการ “คิด” (สัมมาสังกัปปะ) โดยมีพื้นฐานของความเห็นความเข้าใจที่ถูกตรงที่ยังมีกิเลสปนเปื้อนอยู่ (สัมมาทิฏฐิที่ยังมีสาสวะ)

วิปัสสนานั้นเป็นอุบายทางปัญญาที่จะเข้ามาใช้บริหารจิตเพื่อกำจัดกิเลสโดยเฉพาะ เมื่อเจอกับอาการของกิเลสที่สะท้อนผ่านความสุขหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้น จึงใช้อาการเหล่านั้นเป็นเบาะแสที่จะขุดค้นลงไปหาต้นสายปลายเหตุแห่งทุกข์หรือรากของกิเลสนั้นๆ (สมุทัย)

เมื่อเจอกับต้นตอของปัญหา จึงใช้การคิดพิจารณาธรรมะต่างๆ เช่น การใช้เรื่องกรรม, ผลของกรรม, ประโยชน์, โทษ และการใช้ไตรลักษณ์นี้เองก็เป็นสุดยอดเครื่องมือในการพิจารณาเพื่อทำลายกิเลสเช่นกัน

เมื่อเราเจอกับตัวกิเลสจริงๆ มันจะไม่มองความจริงตามความเป็นจริง มันจะไม่คิดไปตามความถูกต้อง ยังเป็นมิจฉาสังกัปปะอยู่ คือคิดอย่างไรมันก็ตามใจกิเลสไปเรื่อยๆ แต่เมื่อเรามาวิปัสสนา เราก็จะเริ่มให้ปัญญากับตัวเอง ซึ่งมันจะไม่ง่ายและไม่ดับลงในทันที

เราจะใช้ธรรมะต่างๆเข้ามาพิจารณาที่เหตุ เช่น เมื่อเราโกรธ เราก็จะหาเหตุแห่งความโกรธ ว่าเรานั้นหวังเสพสิ่งใด ไม่ถูกใจสิ่งใด ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด แล้วขุดค้นลงไปจนเจอตัวเหตุจริงๆ จึงใช้ธรรมะเข้าไปเจรจากับกิเลส

แต่จิตที่เต็มไปด้วยกิเลสมันจะไม่ยอม มันจะเห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง มันจะเห็นทุกข์เป็นสุข มันจะเห็นอนัตตาเป็นอัตตา เช่นเราชอบกินขนม เราก็จะบอกว่ามันสุข มันอร่อย เราชอบกินมัน ซึ่งเราจะเห็นแบบถูกตรง(สัมมาทิฏฐิ)ไม่ได้ และคิดแบบถูกตรง(สัมมาสังกัปปะ)ไม่ได้ กิเลสมันจะค้าน กินยังไงมันก็จะยังอร่อยและเป็นสุขอยู่ดี เราจึงต้องใช้ปัญญาเข้ามาสู้ หาธรรม หาสัจจะ พิจารณาความจริง ทุกข์โทษภัยที่เกิดขึ้นจริงๆจากการเสพการติดสิ่งนั้น ประโยชน์เมื่อออกจากสิ่งที่ยึดติดนั้นผลกรรมที่จะต้องรับหากยังยึดติดสิ่งนั้น และสภาพจริงคือไตรลักษณ์นั้นหมายถึง ความสุขที่จะได้รับนั้นไม่เที่ยง เมื่อไม่เที่ยงก็เป็นทุกข์ เพราะเรายึดมั่นถือมั่นความอยากกินขนมไว้เป็นตัวตน

ซึ่งจะยากตรงที่ต้องเปลี่ยนผี(กิเลส) ให้เป็นคนด้วยตัวเองนี่เอง ตรงนี้จะให้ใครทำแทนไม่ได้ ต้องเพียรพิจารณาจนกระทั่งเกิดปัญญาเอง รู้เองเห็นเอง ปริยัติ ปฏิบัติ จนเกิดปฏิเวธ กลายเป็นธรรมะในตน มีปัญญารู้แจ้งกิเลสในตน เป็นปัจจัตตังจริงๆ

การวิปัสสนาจะเห็นผลไม่ง่ายนัก ไม่ได้ทำเพื่อบรรลุธรรมในทันที แต่ทำไปเพื่อให้รู้เห็นความเป็นจริงตามความเป็นจริงไปโดยลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด ซึ่งมีวิมุตติเป็นเป้าหมาย

ความต่างของสมถะและวิปัสสนากับไตรลักษณ์

สมถะนั้นจะใช้ไตรลักษณ์เพื่อทำความดับให้เกิดขึ้น ดับความคิด ดับจิตที่ฟุ้งซ่าน เรียกง่ายๆว่าดับทุกข์ที่เกิดนั่นเอง แต่วิปัสสนาจะใช้ไตรลักษณ์เพื่อทำให้เกิดปัญญา แต่ในส่วนของความดับกิเลสนั้นเป็นผลที่เกิดจากปัญญานั้นได้รู้แจ้งไปตามลำดับ

จะเห็นได้ว่าเครื่องมือเดียวกันแต่การใช้งานนั้นต่างกัน เราสามารถใช้ได้ทั้งวิธีสมถะและวิปัสสนา ซึ่งแล้วแต่เหตุปัจจัย เรื่องไหนควรดับในทันทีก็ควรจะใช้สมถะ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วก็ควรจะวิปัสสนาเป็นหลักแล้วใช้สมถะเป็นตัวเสริม เพราะสมถะเองนั้นมีไว้พักจิตเท่านั้น ไม่ใช่ตัวบรรลุธรรม ไม่ใช่วิธีที่จะทำให้เกิดปัญญา

การประมาณการใช้สมถะวิปัสสนานั้นขึ้นอยู่กับอินทรีย์พละของแต่ละคนซึ่งมีสะสมมาต่างกัน บางคนไม่ต้องทำสมถะเลยก็สามารถผ่านโจทย์ต่างๆได้โดยง่าย แต่บางคนแม้จะทำสมถะก็แล้วแต่ก็ยังแพ้ให้กิเลสอยู่เรื่อยไป ดังนั้นอย่าพยายามอ้างอิงสูตรหรือวิธีการปฏิบัติของใครเพราะเรามีกรรมต่างกัน มีอินทรีย์พละต่างกัน ทั้งนี้สมถะนั้นเป็นตัวเสริมพลังให้วิปัสสนา ซึ่งทำควบคู่กันไปจะเห็นผลเจริญได้ไวที่สุด

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องรู้จักอย่างแท้จริงว่าอย่างใดคือสมถะ อย่างใดคือวิปัสสนา ไม่เช่นนั้นก็จะปฏิบัติหลงทางวนเวียนอยู่เรื่อยไปเพราะโดยพื้นฐานแล้ว คนจะไปติดสมถะกันมาก เพราะวิธีสมถะจะทำให้เกิดความสงบในทันทีซึ่งดูจะเป็นผลที่สัมผัสได้ง่ายกว่าวิธีวิปัสสนา

ในส่วนวิปัสสนา คนที่ไม่เข้าใจกระบวนการปฏิบัติก็เห็นว่าวิธีนี้จะไม่สามารถทำให้เกิดความสงบได้เลย เห็นว่าการคิดนี้เองจะยิ่งทำให้ฟุ้งซ่าน พอไม่ได้ความสงบอย่างที่หมายก็เลยหลงไปติดกับสมถะอีก แท้จริงแล้ววิปัสสนานี่แหละคือสงความความคิด ที่เราจะต้องสร้างความคิดที่จะชำระกิเลส(สัมมาสังกัปปะ)มาสู้กับความคิดที่อยากสนองกิเลส(มิจฉาสังกัปปะ) ดังนั้นสมถะจึงเหมือนสถานที่พักรบซึ่งคนชอบไปพักและติดสงบจนหลงว่าอารมณ์เหล่านั้นคือการบรรลุธรรมบ้าง คือการหลุดพ้นบ้าง นิพพานบ้าง ทั้งๆที่นั่นคือการพักรบเท่านั้นเอง

การวิปัสสนานั้นเป็นวิธีของคนที่เพียรอย่างถูกต้อง แต่กระนั้นก็เห็นผลไม่ได้ง่ายๆ จะเกิดปัญญารู้แจ้งกิเลสกันไม่ได้ง่ายๆ ทำความดับไม่ได้ง่ายๆ แต่จะรู้ได้เองว่ากิเลสลดลงไปเท่าไหร่แล้ว เมื่อปฏิบัติอย่างถูกตรงจะมีญาณปัญญารับรู้กิเลสได้ชัดเจนขึ้นตามลำดับ และผลที่ได้นั้น ยั่งยืน เที่ยงแท้ ถาวร ตลอดกาล ข้ามภพข้ามชาติ ตราบปรินิพพาน

– – – – – – – – – – – – – – –

31.3.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)