Tag: ความจริง

เมื่อถูกกล่าวหา ชาวพุทธควรทำอย่างไร?

May 28, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,255 views 0

พระพุทธเจ้าตรัสว่าเราพึงตั้งตนอยู่ในคุณธรรมสองประการคือ ๑. ความจริง ๒. ความไม่ขุ่นเคือง (พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๕๑๑)

เมื่อเราถูกกล่าวหาแล้วเราก็ควรจะแสดงให้เห็นถึงความจริง ถ้าเขาให้โอกาสเราพูด ให้โอกาสเราพิสูจน์ความจริงเราก็พิสูจน์ การพูดความจริงที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจความจริงให้ตรงกันนั้นเป็นสัมมาวาจา แต่ถ้าเขาไม่ให้โอกาสเราก็ต้องปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น ยอมให้เขาเข้าใจผิด ทั้งนี้การตั้งตนอยู่ในความจริงก็คือ ผิดก็ยอมรับว่าผิดจริง ไม่ใช่รู้ตัวว่าผิดแล้วทำเฉไฉ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ มีมารยา แต่ถ้าคิดว่าถูกก็ควรรับฟังความเห็นที่แตกต่างบ้าง เพราะเราอาจจะไม่ได้ถูกไปทั้งหมด

และไม่ว่าเขาจะกล่าวหาอย่างไร สาวกของพระพุทธเจ้าไม่ควรแสดงความขุ่นเคืองใจ ไม่ว่าจะออกไปทางโกรธหรือน้อยใจ ประชดประชัน ฯลฯ หรือกระทั่งการโจมตีกลับ ชวนทะเลาะ แข่งดีเอาชนะ การกระทำเหล่านี้นอกจากไม่เป็นไปเพื่อความสุขแล้ว ยังทำให้เกิดความขัดแย้งลุกลามใหญ่โตได้

อย่ามัดใจชายด้วยความงาม

May 8, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,657 views 0

อย่ามัดใจชายด้วยความงาม

อย่ามัดใจชายด้วยความงาม

            ความงามของผู้หญิงนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกใช้เพื่อมัดใจชายมาหลายยุคหลายสมัย ทำให้ชายนั้นลุ่มหลงมัวเมา อยากได้อยากครอบครองหญิงงาม แต่ทันทีที่เธอหลงใช้ความงามมัดใจชายใด กรรมก็ได้ผูกมัดตัวเธอไว้กับบ่วงแห่งความทุกข์เช่นกัน

ความงามนั้นเป็นสิ่งที่มีได้ แต่ไม่ควรให้คุณค่า ไม่ควรเปิดเผย ไม่ควรทำให้เป็นที่น่าสนใจ พระพุทธเจ้าตรัสถึงสามสิ่งที่ควรปิดบังไว้ เปิดเผยจะไม่เจริญ หนึ่งในสามนั้นคือผู้หญิง ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าให้ปิดบังตัวหรือแอบซ่อนแต่อย่างใด แต่หมายถึงให้ปิดบังความเป็นหญิง จริตแบบหญิง มารยาแบบหญิง นิสัยแบบหญิง ที่แม้แต่ผู้ชายบางคนก็ยังมีความเป็นหญิงปนอยู่มาก เช่น อาการขี้งอน ขี้ประชด ฯลฯ เหล่านี้คือความเป็นหญิงในเชิงจิตใจ นั่นหมายรวมถึงการปิดบังสิ่งหยาบๆ ที่เห็นได้ทางภายนอกเช่นความงามของร่างกาย สิ่งเหล่านี้ก็ควรจะปิดบัง ไม่ส่งเสริม ไม่ควรเอามาเป็นคุณค่า ให้ค่าแล้วจะไม่เจริญ

แต่เมื่อคนเราอยากมีคู่ ก็มักจะต้องสร้างจุดเด่น สัตว์หลายชนิดมีวิธีการเรียกร้องให้เพศตรงข้ามเกิดความสนใจที่แตกต่างกัน คนก็เช่นกัน มีวิธีเรียกร้องให้เพศตรงข้ามมาสนใจด้วยกันหลายวิธี ตั้งแต่ยั่วยวนด้วยเรื่องทางเพศ ใช้ความงดงามของร่างกายเพื่อดึงดูด ล่อหลอกด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียะสุข มัวเมาด้วยมารยาจนกระทั่งถึงการโน้มน้าวด้วยคุณงามความดีที่ตนมี ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวกันในเฉพาะในส่วนของการมัดใจด้วยความงาม เพราะเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด เป็นของหยาบและมีโทษมาก

ธรรมชาติของคนเมื่ออยากมีคู่ ก็จะเริ่มเสริมความงามของตน แต่งหน้าทาปากทำผม แต่งตัวให้น่าสนใจหรือจนถึงขั้นยั่วยวน ถ้าทำยังไงมันก็ไม่สวยดังใจหมายก็ไปศัลยกรรมปรับแต่งเอาให้สวยสมใจเลย แม้ในปัจจุบันจะมีผู้ชายที่มัวเมาในความงามของรูปร่างหน้าตาตนเองมากขึ้น แต่โดยค่ารวมๆ แล้ว ก็จะเป็นผู้หญิงที่ให้ความสำคัญกับความงามของตนมากกว่า

บางคนงามตั้งแต่เกิดก็อาจจะไม่ต้องแต่งเติมอะไรมาก ส่วนบางคนก็ต้องเติมมากหน่อยถึงจะเรียกว่างามได้ แต่งเติมมากแค่ไหนก็เบียดเบียนชีวิตตนเองไปตามลำดับ เมื่อเบียดเบียนตนเองแล้วก็ถึงเวลาที่จะออกไปเบียดเบียนคนอื่น นั่นคือการพยายามแสดงให้ผู้อื่นเห็นความงามของตนโดยวิธีใดวิธีหนึ่งที่ตนเห็นว่าควร บางคนก็ถ่ายรูปตนในชุดวาบหวิวลงอวดในอินเตอร์เน็ต หรือบางคนก็แค่หวีผมแต่งตัวสวยออกไปทำงาน แต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับการมีความอยากที่จะให้คนมาสนใจ เพราะจิตที่ตั้งไว้ผิดนั้นทำให้เกิดความเสื่อมได้มากกว่า

การหาคู่นั้นหากจะยกตัวอย่างเปรียบกับการตกปลา ก็ต้องใช้เหยื่อที่ปลานั้นสนใจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้ชนิดหรือขนาดของปลาตามที่คาดหวัง บางครั้งตกขึ้นมาได้ไม่ถูกใจก็ปล่อยไปบ้าง โยนทิ้งอย่างไร้เมตตาบ้าง แม้ปลาที่ถูกเลือก สุดท้ายก็ต้องตายเพราะกลายเป็นอาหารอยู่ดี ก็เหมือนกับหญิงที่ใช้ความงามล่อลวงผู้ชายให้เข้ามาสนใจ แน่นอนว่าทุกคนไม่ใช่เป้าหมาย เธออาจจะคัดเลือกเพียง 1-2 ตัวเลือก ในขณะที่คนมากมายนั้นต้องทนทุกข์จากความอยากได้อยากครอบครองแต่ก็ไม่มีวันได้สิ่งนั้น สุดท้ายก็มักจะเหลือเพียงแค่คนเดียวที่ถูกเลือก คือคนที่จะเอามาเป็นคู่ชีวิต เป็นคู่เวรคู่กรรม ณ จุดนี้แม้จะได้คู่มาก็ตาม แต่การใช้ความงามเป็นเหยื่อในการคัดคนเข้ามานั้นจะสร้างวิบากบาปจำนวนมาก ซึ่งจะต้องชดใช้ทุกสิ่งที่ทำลงไปในอนาคต

อย่างที่ยกตัวอย่างไปว่าเหมือนกับปลาที่กินเบ็ด ปลากินเบ็ดย่อมเจ็บปวดจากขอเบ็ดที่เกี่ยวปาก ชายผู้หลงในความงามก็ย่อมจะเป็นทุกข์จากกิเลสเช่นกัน แต่ความทุกข์เหล่านั้นไม่ใช่เรื่องที่เห็นได้ง่ายนัก เพราะกิเลสนั้นลวงให้เราเห็นทุกข์เป็นสุข เห็นกงจักรเป็นดอกบัว คนที่หลงมัวเมาในความรักทั้งหลายก็ย่อมจะเห็นว่าการหลงรักเป็นของดี แต่ในความจริงแล้ว นั่นคือการหลอกลวงที่สุดแสนจะร้ายกาจ ที่ทำคนให้จองเวรจองกรรมกันอีกหลายภพหลายชาติยากที่จะสิ้นสุด ดังนั้นคนที่ถูกเลือกนั้นจึงเหมือนปลาที่โดนเลือกไปกิน เพราะจะได้รับทุกข์ทรมานจากหญิงคนนั้นมากที่สุด

และแน่นอนว่าปลาที่กินเหยื่อ ย่อมเป็นปลาที่ชอบเหยื่อ ล่อด้วยความงาม ก็ย่อมได้พบกับชายที่บ้ากาม ล่อด้วยลาภ ก็จะได้พบกับชายขี้โลภ ล่อด้วยยศก็จะได้พบกับชายที่บ้าอำนาจ ล่อด้วยสรรเสริญก็จะได้พบกับชายที่บ้ายอ ฯลฯ สรุปว่าล่อด้วยสิ่งใดย่อมได้สิ่งนั้น การที่จะได้เจอคนดี ได้เจอพ่อพระเพียงแค่การใช้เหยื่อล่อที่ชื่อว่าความงาม คงจะเป็นไปไม่ได้แน่นอน ดังนั้นการจะหวังความสงบในชีวิตที่จะยกตัวอย่างในส่วนต่อไปย่อมไม่มี แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการล่อชายที่แสนดีด้วยความดีนั้นจะไม่เป็นทุกข์

จะขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เข้าใจได้ง่าย เมื่อหญิงนั้นหลอกล่อมัดใจชายด้วยความงาม 5 หน่วยของเธอ ความคาดหวังของชายคนนั้นเดิมอยู่ที่ 3 หน่วย เมื่อได้รับความงามเกินความคาดหวัง คือได้คบหาคนสวยกว่าที่เคยคิดไว้ (+2) เขาก็ย่อมยินดีเต็มใจที่จะครอบครองเธอ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ผู้ชายคนเดิมเมื่อเสพหญิงงามไปทุกวัน ก็จะความเคยชินกับความงาม และบวกกับกิจกรรมเพิ่มกิเลสที่พากันทำในชีวิตประจำวัน ทำให้ความคาดหวังว่าจะได้รับสุขจากเสพเพิ่มขึ้นเป็น 5 หน่วย ซึ่งหญิงงาม 5 หน่วยก็ต้องพยายามทำตนเองให้งามขึ้นอีก เพื่อที่จะทำให้เกิดการสนองต่อความคาดหวังให้ชายนั้นรักชายนั้นหลง เลยไปออกกำลังกาย เข้าสปา เรียนแต่งหน้า หัดแต่งตัว ผ่าตัดศัลยกรรม ทำอะไรต่อมิอะไรให้ดูงดงามขึ้นอีก สุดท้ายก็ดูดีกว่าสมัยคบกันแรกๆ มีค่างามอยู่ที่ 6 หน่วย (+1) ผู้ชายคนเดิมเมื่อได้รับสิ่งที่มากเกินความคาดหวังก็จะเกิดความสุขสมกิเลสและหลงมัวเมาต่อไป

แต่วงจรนี้ก็มีวันสิ้นสุด เมื่อหญิงนั้นไม่มีวันงามได้ตลอดไป และชายคนนั้นลดกิเลสไม่เป็น เมื่อถึงจุดหนึ่งความงามของเธอที่เคยมีกลับจางหายไป ริ้วรอยเข้ามาแทนที่ ความเหี่ยวย่นหย่อนยานและหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นความเสื่อมนั้นเข้ามาอย่างที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ แม้เธอจะเคยเป็นคนงาม แต่ก็เป็นคนงามที่แก่แล้ว ค่างามจึงลดจาก 6 เหลือ 3 ในขณะที่ผู้ชายติดใจความงามระดับที่ 6 ตามที่เคยได้เสพได้ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นไว้ ทีนี้จะทำอย่างไร เมื่อสิ่งที่ใช้มัดใจชายคือความงาม และผู้ชายคนนั้นให้คุณค่ากับความงามเป็นหลัก ผู้หญิงก็ต้องสร้างคุณค่าอื่นขึ้นมาแทนความงามเพื่อให้ผู้ชายเสพ เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียะสุข หรือคุณงามความดีของตน แม้กระทั่งแลกด้วยเซ็กส์ที่วิตถาร บางคนอาจจะถึงขั้นยอมให้คู่ครองไปมีหญิงอื่นเพื่อรักษาสถานะไว้ เพื่อที่จะเพิ่มคะแนนที่จะคอยดึงดูดชายคนนั้นไว้

มีบ้างที่ผู้ชายยอมอดทน ฝืนเสพความงามน้อยหน่อยแต่ชีวิตยังปกติสุข เช่น อยู่กับผู้หญิงหน้าตาไม่ดีแต่รวยก็ถือว่าสร้างความสุขได้ หรือเห็นคุณงามความดีของเธอก็เลยยอมทนอยู่แม้ว่าความงามจะลดลงกว่าเดิมมาก แต่ก็มีอีกมากที่ไม่คิดจะทนเมื่อไม่ได้เสพสมดังใจหวัง เมื่อเขาไม่ได้ตามที่คาดหวัง ก็มักจะมีปัญหาตั้งแต่การนอกใจเล็กน้อยจนกระทั่งถึงขั้นมีเมียน้อย

ผู้หญิงที่ให้คุณค่ากับความงามเพียงอย่างเดียวก็เหมือนกับการวางไข่ไว้บนกระจาดใบเดียว เมื่อกระจาดล้มไข่ก็แตกหมด เมื่อวันที่ความงามของเธอหมดความหมาย ในขณะที่ผู้หญิงในโลกมีอีกหลายล้านคนที่มีความงามมากพอที่จะบำเรอชายคนรักของเธอ ดังนั้นจะสรุปไว้ก่อนเลยว่าการใช้ความงามมัดใจใครนั้นต้องลงทุนลงแรงมาก แถมยังมัดไว้ได้ไม่นานอีก เพราะเมื่อกำลังของความงามนั้นน้อยกว่าพลังกิเลสของเขาเมื่อไหร่ เขาก็จะแหวกกรงที่มัดไว้แล้วออกไปหาสิ่งที่เขาต้องการ

ความงามนั้นยังสามารถลวงความจริงบางประการได้ เช่น ผู้ชายไม่ชอบและรังเกียจอาการบางอย่างของผู้หญิง แต่ความงามของเธอนั้นทำให้เขาหลงใหลจนมองข้ามสิ่งเหล่านั้นไปได้ แท้จริงแล้วอาการไม่ชอบนั้นยังคงอยู่ แต่เขายอมเพื่อที่จะให้ได้เสพสุขที่มากกว่า เหมือนกับที่ผู้ชายบางคน อดทน ทุ่มเท รอคอย ในการตามจีบหญิงงามคนหนึ่ง แต่เมื่อเขาสามารถเอาชนะใจและพิชิตร่างกายของหญิงคนนั้น เขาก็อาจจะเลิกสนใจก็ได้ เหมือนกับคนที่พยายามปืนขึ้นยอดเขา แต่แค่ปักธงเสร็จก็ลงมา ไม่มีอะไรมากกว่าการที่เขาได้เสพสุขในการเอาชนะเพียงชั่วครู่เท่านั้นเอง เขาไม่ได้ต้องการจะขึ้นไปอาศัยอยู่บนยอดเขา แต่เขาต้องการเอาชนะยอดเขา เหมือนกับชายบางพวกที่เพียงแค่อยากพิสูจน์คุณค่าของตนโดยการพิชิตหญิงงาม ดังนั้นความงามจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ลวงความจริงได้อย่างน่ากลัวทีเดียว

การมีความงามนั้นเหมือนจะเป็นสิ่งที่ดูมีคุณค่า ดูเหมือนจะได้เปรียบคนอื่นอยู่มากในสังคม แต่มันก็เป็นสิ่งล่อคนที่มัวเมาในกามเข้ามาหา ซึ่งอาจจะมาในคราบของเทพบุตรก็ได้ และยังเป็นสิ่งที่ปิดบังความจริงหลายๆ ประการ ดังที่ยกตัวอย่างมา ผู้ชายเขาอาจจะไม่ได้สนใจเราเลยก็ได้ ถ้าเราไม่ได้มีความงามเท่านี้ เขาอาจจะมาเสพมาให้คุณค่าเพียงแค่ความงามของเราก็ได้ใครจะรู้ ซึ่งถ้าเรายังหลงติดกับเปลือกกับเนื้อหนังเหล่านี้ยากนักที่เราจะรู้ความเป็นจริง

ศาสนาพุทธนั้นมีวิธีที่จะทำให้ความจริงนั้นปรากฏชัดเจนแจ่มแจ้งขึ้น เมื่อคนปฏิบัติถึงระดับของศีล ๘ จะมีข้อปฏิบัติที่เข้ามาขจัดภัยอันเกิดจากความบิดเบี้ยวของความจริงเกี่ยวกับความงาม แก้ความเห็นผิดกลับ ทำให้เห็นดอกบัวเป็นดอกบัว เห็นกงจักรเป็นกงจักร อย่างแรกคือการฝึกปฏิบัติเพื่อเว้นขาดจากการประดับตกแต่ง ถ้าหยาบๆ ก็ไม่แต่งตัวโป๊ ถ้าละเอียดขึ้นมาก็คือไม่ยินดีในการแต่งหน้าหรือการเสริมสวยใดๆ เลย อย่างที่สองที่จะเข้ามาชี้ชัดให้เห็นถึงคุณค่าที่แท้ของคนคนนั้น หรือเป็นเพียงแค่วัตถุสนองกาม ก็คือการเว้นขาดจากการสมสู่กัน อยู่กันอย่างพรหม รักกัน เมตตากัน เกื้อกูลกัน ไม่ทำร้ายกัน ในข้อนี้จะแยกความสัมพันธ์อย่างชัดเจนมากว่าคบหากันไปเพื่ออะไร เพื่อสนองความต้องการทางเพศ หรือเพราะอยากเมตตาเกื้อกูลกัน คือแยกขาวแยกดำให้ชัด ไม่ใช่สีเทาๆ

ซึ่งการปฏิบัติในฐานศีล ๘ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องที่ขัดเกลากิเลสอย่างมาก ถ้ากิเลสมากจะถือศีลไม่ได้ เหมือนผีในละครที่โดนสายสิญจน์แล้วเจ็บปวดทรมาน จะมีทุกข์มาก ทรมานมาก อึดอัด กดดัน เพราะปฏิบัติเกินอินทรีย์พละของตน ดังนั้น เพื่อให้ชีวิตเป็นไปอย่างราบรื่น เราก็ไม่ควรสร้างปัญหาตั้งแต่แรก เมื่อไม่สร้างปัญหา ก็ไม่ต้องมาคอยแก้ปัญหา เราจึงไม่ควรมัดใจใครด้วยความงาม และในท้ายที่สุดแล้วเราก็ไม่ควรมัดใจใครไว้เลยด้วยอะไรเลยก็ตามแม้แต่คุณงามความดีของเรา

และการที่เราจะรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่จะทำให้เกิดปัญหาหรืออะไรคือสิ่งที่จะพาให้คลาดแคล้วจากปัญหา เราจะต้องคบกับมิตรดี มิตรที่ดีจะชี้ให้เราเห็นตามความเป็นจริงว่าสิ่งใดเป็นทุกข์ เป็นโทษ เป็นภัย โดยมีหลักยึดว่ากิเลสเป็นเหตุแห่งทุกข์ การหลุดพ้นจากกิเลสนั้นเป็นสุขอย่างยิ่ง ดังนั้นมิตรดีจะกล่าวแต่สิ่งที่จะพาให้ออกห่างจากกิเลส ซึ่งต่างกับมิตรชั่ว คือคนที่พาให้หลงมัวเมาในกิเลส พระพุทธเจ้าตรัสว่าการมีคู่และมีลูกนั้นเป็นบ่วง มิตรชั่วก็จะบอกตรงสิ่งที่ตรงกันข้าม พระพุทธเจ้าสอนว่าให้เว้นขาดจากการประดับตกแต่ง มิตรชั่วก็จะบอกสิ่งที่ตรงกันข้าม พระพุทธเจ้าบอกว่าคนที่ประพฤติตนเป็นโสดคนเขาก็รู้กันว่าเป็นบัณฑิต มิตรชั่วก็จะบอกสิ่งที่ตรงกันข้าม การคบมิตรดีนั้นเป็นสิ่งแรกที่ควรมีในการเดินทางสู่ความผาสุกในชีวิต ถ้าไม่มีมิตรดี ต่อให้ขยันพากเพียรปฏิบัติอีกล้านล้านปี…ก็ไม่มีวันพ้นทุกข์

– – – – – – – – – – – – – – –

7.5.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เพราะเหตุนี้ ฉันจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

January 9, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,437 views 1

เพราะเหตุนี้ ฉันจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

เพราะเหตุนี้ ฉันจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

ย้อนไปเมื่อราวๆ 3 ปีก่อน ตอนที่ผมยังไม่รู้จักธรรมะ ผมใช้ชีวิตแสวงหาความสุขโดยที่ไม่รู้ว่านั่นคือการสร้างความเบียดเบียนให้กับผู้อื่น ผมได้ถูกโลกและกิเลสมอมเมาอยู่จนกระทั่งได้พบกับความจริง 4 ประการ ที่เป็นเหตุให้ผมหลุดออกจากความเวียนวนหลงเบียดเบียนสัตว์อื่นเพื่อตนได้

1.ความจริงที่ว่า เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์

ผมรู้จักการไม่กินเนื้อสัตว์ครั้งแรกในชีวิตก็อายุเกือบ 30 ปี ก่อนหน้านี้มีเทศกาลเจ ฯลฯ ก็ไม่ได้สนใจอะไรกับเขาหรอก ไม่ได้รังเกียจอะไรหรอกนะ ยินดีด้วย แต่ก็ไม่ได้คิดสนใจ เพราะไม่เข้าใจถึงประโยชน์ของมัน จนกระทั่งตนเองได้มีโอกาสไปทำกิจกรรมกับเครือข่ายคนกินข้าวเกื้อกูลชาวนาที่วัดป่าสวนธรรม ซึ่งที่วัดก็ไม่กินเนื้อสัตว์ เวลาสามวันที่ร่วมกิจกรรม ทำให้ผมเกิดปัญญาเข้าใจความจริงที่ว่า เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์เราก็มีชีวิตอยู่ได้ นี่คือความจริงข้อแรก

2.ความจริงที่ว่า การกินเนื้อสัตว์นำไปสู่การเบียดเบียน

หลังจากนั้นแม้จะรู้ว่าไม่กินเนื้อสัตว์ก็อยู่ได้ นำไปสู่การปรับเมนูอาหารบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับเลิก เพราะยังไม่ชัดในโทษภัยของการกินเนื้อสัตว์ ต้นปี 2556 ได้ไปเข้าค่ายสุขภาพแพทย์วิถีธรรม ในค่ายสุขภาพนั้นไม่กินเนื้อสัตว์เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ได้รับจากค่าย ที่ทำให้ยินดีเลิกเนื้อสัตว์คือ สื่อวีดีโอ “ชีวิตร่ำไห้” เป็นการนำเสนอเรื่องราวของการเบียดเบียนสัตว์เพื่อที่จะต้องมาสนองการดำรงอยู่ของมนุษย์ ผมได้เกิดปัญญาเข้าใจความจริงที่ว่า หากเรายังกินเนื้อสัตว์อยู่ สัตว์นั้นจะต้องถูกเบียดเบียนและเป็นทุกข์เพราะเรา นั่นคือสิ่งที่ไม่ควรเลย เมื่อเข้าใจความจริงข้อนี้เพิ่มเติม ผมจึงตั้งใจเลิกกินเนื้อสัตว์

3.ความจริงที่ว่า ความอยากกินเนื้อสัตว์เป็นทุกข์

เมื่อตั้งใจเลิกกินเนื้อสัตว์ จึงได้พบความจริงอีกข้อคือ “ความอยากกินเนื้อสัตว์” นั้นเป็นทุกข์ เมื่อเราอยากกินเราก็ต้องไปเสาะหาเนื้อสัตว์มาเสพ แถมยังต้องหาเหตุผลที่ดูดีเพื่อให้ตัวเองไม่รู้สึกผิดในการกินเนื้อสัตว์ ซ้ำร้ายบางทียังอาจจะเฉโกออกไปในทิศทางที่เรียกว่า “ไม่ยึดมั่นถือมั่นแต่ขยันเสพกาม” อีกด้วย คือปากก็พูดว่าไม่ยึด แต่ก็ไม่หยุดกินเนื้อสัตว์

โชคยังดีที่ผมไม่ได้มีอาการเฉโกเหล่านั้น ตนเองนั้นเป็นคนที่ซื่อสัตย์ยอมรับความจริงตามความเป็นจริง อยากกินก็ยอมรับว่าอยากกิน ยังเลิกไม่ไหวก็ยอมรับว่ายังไม่ไหว ไม่ได้ปั้นแต่งข้ออ้างใดๆมาทำให้ตนได้เสพอย่างดูดี

แต่กระนั้นก็ยังต้องทุกข์เพราะกิเลสที่เคยมี ความยึดมั่นถือมั่นว่าเนื้อสัตว์นั้นอร่อย มีคุณค่า ฯลฯ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถตัดขาดได้ในทันที เราจำเป็นต้องปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรง เพื่อที่จะถอนลูกศรที่ปักมั่นอยู่ในจิตใจ อันคือ ตัณหา (ความอยากกินเนื้อสัตว์) ให้ออกให้ได้ก่อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการแก้ปัญหาที่ตัณหา เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

ในท้ายที่สุดผมค้นพบว่า “ความอยาก” ที่รุนแรงถึงขนาดต้องเป็นเหตุให้พรากชีวิตสัตว์อื่นนี่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ น่าอาย ไม่น่ายึดไว้ ไม่น่าคบหา เราไม่ควรมีมันอยู่ในจิตวิญญาณ ความอยากขั้นนี้มันหยาบเกินไปแล้ว มันเบียดเบียนมากไป มันสร้างทุกข์ให้กับตนเองและผู้อื่น จะยังแบกไว้อีกทำไม ผมจึงตั้งมั่นในการเลิกคบกับความอยากกินเนื้อสัตว์ตลอดกาล

4.ความจริงที่ว่า การหลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์เป็นยิ่งกว่าสุข

หลังจากได้ปฏิบัติธรรมเพื่อถอนตัณหา คือทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ออกจากจิตใจแล้ว จึงค้นพบความจริงอีกข้อที่ปรากฏขึ้นมาภายหลัง ข้อนี้ไม่ใช่เหตุเหมือนกับความจริง 3 ข้อแรก แต่เป็นผลจากการเห็นความจริงในการปฏิบัติ 3 ข้อแรก

จากตอนแรกที่เคยเข้าใจว่า ถ้าเราขาดเนื้อสัตว์เราจะต้องทุกข์เพราะไม่ได้เสพ เราต้องสละสุขจากการเสพ กลายเป็นผู้ที่ขาดทุนชีวิตเพราะไม่ได้เสพสุขตามที่โลกเข้าใจ

แต่ความจริงนั้นไม่ใช่เลย การหลุดพ้นจากความอยากนั้นยิ่งกว่าสุขที่เคยเสพเสียอีก จะเอาสุขเดิมมาแลกก็ไม่ยอม เพราะมันเทียบกันไม่ได้ เหมือนเอาเงิน 1 บาท ไปซื้อโลก มันซื้อไม่ได้อยู่แล้ว คุณค่ามันเทียบกันไม่ได้ จะเปรียบเทียบไปมันก็จะด้อยค่าเกินจริงไป เพราะคุณค่าของการหลุดพ้นจากความอยากนั้นยากที่จะหาสิ่งใดมาเทียบได้

เราไม่ต้องทุกข์เพราะไม่ได้เสพ ในขณะเดียวกันเราก็ไม่จำเป็นต้องไปทำอกุศลเพราะต้องหาสิ่งที่เบียดเบียนมาบำเรอตน เราจะเป็นอิสระจากความอยาก ไม่จำเป็นต้องสร้างเหตุผลอะไรมาเพื่อให้ได้เสพสมใจอีกต่อไป มีแต่กุศลและอกุศลตามความจริงเท่านั้น

จะเหลือเพียงแค่ทำสิ่งที่เป็นกุศลตามความเป็นจริง เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์เราก็อยู่ได้ เป็นความจริงข้อหนึ่งที่เน้นการพึ่งตน เลี้ยงง่ายกินง่าย มักน้อย ใจพอ มีเพียงแค่พืชผักก็พอเลี้ยงชีวิต ไม่จำเป็นต้องมีเนื้อสัตว์มาเป็นส่วนเกินให้เสียเงิน เสียสุขภาพ เสียเวลาหา เสียเวลาประกอบอาหาร และความจริงที่ว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นทำให้เกิดห่วงโซ่อุปทาน ถ้าเรากิน เขาก็ยังต้องฆ่าเพื่อมาขาย ดังนั้นเมื่อเราไม่มีความอยาก เราก็ไม่จำเป็นต้องกินให้เป็นการส่งเสริมการฆ่า เป็นการหยุดอกุศลกรรม ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี

เมื่อเราไม่มีความอยาก เราจะมีจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น โอนอ่อนไปตามกุศล หลีกหนีจากอกุศล ไม่ใช่ลักษณะที่ยึดว่าจะต้องกินอะไรหรือไม่กินอะไร แต่จะเป็นไปเพื่อกุศล เป็นไปเพื่อความไม่เบียดเบียน เป็นไปเพื่อความพราก เป็นไปเพื่อความมักน้อย ขัดเกลา เกื้อกูล ตลอดจนสิ่งต่างๆที่นำมาซึ่งความเจริญทางจิตวิญญาณทั้งหลาย

….พอผมได้พบเจอความจริงตามนี้ มันก็เลิกกินเนื้อสัตว์ไปเอง ไม่รู้จะหาเหตุผลไปกินทำไม เพราะดูแล้วไม่เห็นมีอะไรดีเลย ไม่กินก็อยู่ได้ กินก็ไปเบียดเบียนทั้งตนเองและสัตว์อื่นอีก

สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหานั้นคือ “ตัณหา” เพราะความอยากกินเนื้อสัตว์ จะสร้างเหตุที่จะต้องไปกินเนื้อสัตว์อีกเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น ทั้งๆที่ความจริงมันไม่จำเป็น แต่ตัณหาก็สร้างความลวงขึ้นมาบังความจริง ให้มันจำเป็น ให้มันสุขเมื่อได้เสพ ให้มันเป็นคุณค่า ให้มันเป็นชีวิตจิตใจของคน ให้มันยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์นั้นต่อไป

หากคนนั้นยังมี “ความอยากกินเนื้อสัตว์” ก็ไม่มีทางหนีทุกข์พ้น ถึงจะกดข่มไม่กินเนื้อสัตว์ก็เป็นทุกข์ แม้จะได้กินก็ทุกข์เพราะสะสมอุปาทานและอกุศลวิบากเพิ่ม สรุปคือหากยังมีตัณหาถึงจะได้เสพหรือไม่ได้เสพก็ต้องรับความทุกข์ไปตลอดกาล

– – – – – – – – – – – – – – –

2.1.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

คิดบวก จนลวงความจริง

December 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,422 views 0

คิดบวก จนลวงความจริง

คิดบวก จนลวงความจริง

วิธีแก้ปัญหาในชีวิตยอดนิยมวิธีหนึ่งที่ใช้กันในสังคมก็คือ “การคิดบวก” คือการพยายามทำความเห็นให้ไปในแนวทางที่ดี เพื่อที่ตนเองนั้นจะได้ไม่ต้องรู้สึกทุกข์จากความคิดติดลบเหล่านั้น

การคิดบวกเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้กันมากในการบทเรียนเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลิกและการพัฒนาจิตใจในปัจจุบัน มีผลมากกับจิตใจที่อยู่ในภาวะตกต่ำเซื่องซึม เป็นการดึงจิตให้ขึ้นมาจากภวังค์โดยการผลักให้ไปอยู่ในจุดที่สูงสุด ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ คืออยู่ในสภาพที่ดีเกินกว่าความเป็นจริง อยู่ในสภาพที่สวยงามที่สุด เพื่อให้จิตใจได้เสพสภาพที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในสถานการณ์นั้นๆ

ผลของการคิดบวกนั้นออกมาค่อนข้างดูดี คือสามารถกลายเป็นคนคิดบวก มองโลกสวยงาม ไม่ติดลบ คิดไปในทางที่ดีเสมอๆ ไม่จมอยู่กับทุกข์ ดูเผินๆก็จะเห็นและเข้าใจว่าดี แต่ในความจริงแล้วการคิดบวกนั้นยังซ่อนภัยร้ายอันน่ากลัวไว้อยู่ด้วย

ศาสนาพุทธไม่เคยสอนให้เราคิดบวก ไม่เคยสอนให้เราสะกดจิตตัวเอง ว่าฉันดี ฉันเก่ง ฉันทำได้ เขาไม่ได้คิดไม่ดีกับฉัน เขาไม่ได้ตั้งใจทำร้ายฉัน ฯลฯ แต่สอนให้มองความจริงตามความเป็นจริง ไม่มีการคิดบวกหรือคิดลบใดๆทั้งนั้น มีเพียงแค่ความจริงตามความเป็นจริงตามเหตุปัจจัยในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ใช่การคาดเดาอนาคต และไม่ใช่การยึดมั่นถือมั่นในอดีต

ในปัจจุบันเรามีข้อความ ข้อคิด คำคมที่เสริมพลังในการคิดบวกมากมาย เช่น ชั่ว 7 ที ดี 7 หน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสิ่งนี้ไม่เป็นไปตามความจริง เหมือนคำปลอบคนที่กำลังท้อแท้เท่านั้น เพราะในความจริงแล้ว ชั่วมันก็มาเท่าที่เราเคยทำกรรมไว้ เช่นเดียวกันกับดี ถ้าทำมามาก มันก็จะมามาก ไม่จำเป็นต้องสลับกันมา แต่จะมาตามกรรมของเรา ดังนั้นคนที่คิดบวกเช่นนี้ก็จะเกิดอาการอกหักเมื่อเจอกับสภาพที่มีแต่ชั่วอย่างเดียวไม่มีดีเกิดขึ้นเลย คือตอนแรกก็พอจะคิดบวกได้อยู่แต่พอทุกข์มันกระหน่ำเข้ามามากๆก็จะเกิดอาการท้อใจ เช่นคนที่ชีวิตผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนฆ่าตัวตาย นั่นเพราะเขาเจอแต่ชั่วเข้ามาในชีวิตจากผลของการกระทำของเขานั่นเอง

บางครั้งการคิดบวกนั้นอาจจะทำให้เกิดสภาพที่ตีกลับจากขาดเป็นเกินก็ได้ เช่นคนมีปมด้อย พอไปศึกษาการคิดบวกมากๆก็ตีกลับ กลายเป็นว่าเอาปมด้อยของตัวเองมาเป็นปมเด่น สุดท้ายก็ติดสุขในปมด้อยและเด่นที่จิตของตัวเองปั้นขึ้นมาอีก กลายเป็นว่าสร้างอัตตาขึ้นมาพันอีกชั้นหนึ่ง ห่างไกลความจริงตามความเป็นจริงเข้าไปอีก ซึ่งจริงๆแล้วการแก้ไขปมด้อยก็คือการแก้ไขจิตที่เป็นทุกข์เพราะปมด้อยนั้น ให้เห็นตามความเป็นจริง แต่ไม่จำเป็นต้องผลักปมด้อยให้เป็นปมเด่นแต่อย่างใด

การคิดบวกว่าทำดีมากๆ ช่วยคนมากๆ ทำทานมากๆ แล้วจะพ้นทุกข์นั้นก็เช่นกัน คนดีที่คิดบวกมักจะเข้าใจเช่นนี้ แต่ความจริงผลของกรรมก็ไม่จำเป็นต้องออกมาตามใจเช่นนั้น เราจะได้รับดีในชาตินี้ก็ได้ ไม่ได้รับดีในชาตินี้ก็ได้ คือทำดีไปแล้วจะได้รับผลแน่นอน แต่ไม่รู้ว่าตอนไหน ที่นี้คนที่คิดบวกทำดีเพื่อหวังผล มักจะมีจิตโลภซ้อนอยู่ตรงที่ว่าถ้าฉันทำดีมากพอฉันก็จะพ้นทุกข์ไปได้ ซึ่งความจริงมันอาจจะไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ ใครจะรู้ว่าเราทำกรรมชั่วมาเท่าไหร่ แล้วดีที่ทำไปมันอาจจะไม่มากพอจะมาขั้นให้ชั่วนั้นหยุดหรือพักการส่งผลก็ได้และสุดท้ายคนที่ทำดีเพราะคิดบวกก็จะอกหัก

หรือการคิดบวกว่า ถ้าเราคิดดี พูดดี ทำดีกับเขาแล้ว เขาจะต้องดีตอบเราในวันใดวันหนึ่งอย่างแน่นอน เราทำดีจะต้องได้รับผลดี หรือถ้าเราทำผิดแล้วเราทำดีมากๆ เขาก็จะให้อภัย ข้อนี้เหมือนจะดี เหมือนจะถูกตรง แต่ยังมีความเอนเอียงเข้าข้างตนเองอยู่

ในความเป็นจริงแล้ว ถึงเราจะคิดดี พูดดี ทำดีกับใคร ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องดีตอบ ถึงเราจะทำดีทั้งชาติ เขาก็อาจจะไม่ได้ทำดีอะไรตอบแทนเราเลยก็ได้ หรือเขาจะหันมาทำชั่วใส่เรา ทำร้ายเราก็เป็นไปได้ นั่นเพราะกรรมที่เราทำมามันหนักหนามากกว่าดีที่เราทำในชาตินี้ ยกตัวอย่างพระพุทธเจ้ากับพระเทวทัต มีการจองเวรจองกรรมกันมานับชาติไม่ได้ กว่าจะมาซึ้งในรสพระธรรมก็ตอนชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ก่อนหน้านั้นท่านทำดีเท่าไหร่ก็ยังโดนทำร้าย นั่นก็เกิดจากกรรมที่ท่านทำมา

ทีนี้คนที่พยายามคิดบวก แต่ไม่เข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม ก็จะคิดดี พูดดี ทำดีแบบหวังผล ไม่รอคอย ไม่ให้อภัย คิดว่าทำดีไปมากๆ แล้วมันก็จะต้องเกิดผลดี แต่สุดท้ายไม่ว่าจะทำเท่าไหร่มันก็ไม่ดี แถมอาจจะยิ่งแย่ขึ้น ซึ่งก็ทำให้คนคิดบวกอกหักอีกเช่นเคย

ในความจริงนั้น ดีที่ทำไปแล้วก็เป็นกุศลกรรมที่ได้สั่งสมลงไปแล้ว ส่วนผลดีจะเกิดขึ้นแบบไหนเมื่อไหร่นั้นไม่มีใครรู้ เป็นเรื่องอจินไตยที่ไม่ควรคิด แต่ควรทำความเข้าใจว่ามูลเหตุของการเกิดสิ่งดีและร้ายในชีวิตนั้นเกิดจากอะไร ก็จะมีแต่เรื่องกรรมเท่านั้นที่ส่งผลให้เราได้รับดีและร้ายนั้นในปัจจุบัน ถ้าเราหยุดทำสิ่งที่ร้าย หันมาทำดี ชีวิตในปัจจุบันและอนาคตก็จะมีแนวโน้มที่จะเจอสิ่งดีมากขึ้น

ทั้งนี้การคิดบวกก็ยังไม่ใช่แนวทางที่สมควรอยู่ดีสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม แต่ควรจะคิดเห็นตามความเป็นจริง เมื่อเราต้องเผชิญกับปัญหาหรือประสบทุกข์ การแก้ปัญหาที่ดีจึงไม่ใช่การคิดบวกหรือการมองโลกให้สวย แต่เป็นการมองให้เห็นความจริงของปัญหาว่าทุกข์จากอะไร เหตุแห่งทุกข์คืออะไร จะต้องดับเหตุอะไรบ้างทุกข์จึงดับ แล้วจะปฏิบัติอย่างไรให้ทุกข์นั้นดับไป นี่คือสิ่งที่สมควรเรียนรู้ ให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ไม่ใช่การคิดลบหรือคิดบวกอะไรทั้งนั้น

ถึงแม้ว่าความจริงจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเข้าถึงความจริงนั้นได้ การคิดบวกจึงเหมือนยารสหวานที่จำเป็นต้องใช้กับเด็ก แม้จะมีโทษภัยอยู่แต่ก็พอจะแก้ปัญหาไปได้บ้าง แต่สำหรับผู้ใหญ่ที่จิตใจเข้มแข็งแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกินยารสหวานแบบเด็กอีกต่อไป ควรจะหันมากินยาขม มาศึกษาความจริงตามความเป็นจริง มาศึกษาการแก้ปัญหาให้แจ่มแจ้ง ให้ลึกถึงต้นเหตุ เพื่อที่ปัญหาเหล่านั้นจะได้ถูกแก้ไขอย่างแท้จริง

– – – – – – – – – – – – – – –

3.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)