Tag: วิมังสา

มังสวิรัติง่ายๆ

January 10, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,694 views 0

มังสวิรัติง่ายๆ

มังสวิรัติง่ายๆ

…วิธีกินมังสวิรัติแบบง่ายๆด้วยการใช้หลักการของอิทธิบาท ๔

ในบทความนี้เราก็จะมาแนะนำวิธีกินมังสวิรัติที่ง่ายสุดง่ายโดยใช้ธรรมในบทของอิทธิบาท ๔ หรือธรรมที่นำมาซึ่งความสำเร็จ ใครที่ได้ลองทำตามกระบวนการของอิทธิบาท ๔ ก็จะสามารถสิ่งที่ตั้งใจไว้สำเร็จได้โดยไม่หลงทาง มาเริ่มกันเลย

1). ฉันทะ

คือความยินดี เต็มใจ พอใจที่จะกินมังสวิรัติ เมื่อเราอยากจะกินมังสวิรัติได้เป็นประจำ เราก็ต้องขยันพิจารณาประโยชน์ เมื่อเราเห็นประโยชน์เราก็จะพอใจที่จะทำสิ่งนั้น คือการหาข้อดีต่างๆของมังสวิรัติเช่น ดีต่อสุขภาพ ไม่เบียดเบียน ประหยัด ได้กุศล ฯลฯ เมื่อพิจารณาประโยชน์ดังนี้ซ้ำๆจะทำให้เข้าถึงมังสวิรัติได้ง่ายขึ้น

2). วิริยะ

คือความเพียรพยายามที่จะกินมังสวิรัติ ลดเนื้อกินผักให้ได้ตามที่จะทำไหว แม้จะหากินได้ยากและลำบากก็จะพยายามลองหาเมนูที่ผักเยอะเนื้อสัตว์น้อยดูก่อน หรือในอีกกรณีหนึ่งคือรู้สึกว่าการกินแต่ผัก แป้ง ฯลฯ โดยไม่มีเนื้อสัตว์นี่มันยากและลำบาก แต่ก็ให้อดทนฝืนกล้ำกลืนกินไปก่อน พยายามสร้างนิสัยแห่งความเพียรไปก่อน

3). จิตตะ

คือความตั้งมั่นในเรื่องที่จะทำ มีจิตใจจดจ่อกับสิ่งนั้นๆ ทุ่มเทใจทั้งหมดในสิ่งนั้น เมื่อเราสร้างความชอบ และรักษาความเพียร และจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำเช่น เรากินมังสวิรัติเราก็ต้องหาเมนูมังสวิรัติ ร้านขายวัตถุดิบมังสวิรัติ หาความรู้เกี่ยวกับมังสวิรัติ หรือวิธีการกินมังสวิรัติต่างๆ จดจ่ออยู่กับการลดเนื้อกินผัก เพื่อที่จะลดเนื้อสัตว์ได้ดียิ่งขึ้น กินผักได้อย่างมีความสุขยิ่งขึ้น

การที่เรามีความจดจ่อกับสิ่งที่ทำนี้เอง จะทำให้เราเกิดปัญญาแก้ปัญหาที่เจอได้ เช่นการประยุกต์เมนูอาหารขึ้นใหม่ ในร้านอาหารตามสั่งที่ไม่มีแม้แต่ผัดผัก เพราะเราจดจ่ออยู่กับการลดเนื้อกินผัก ไม่เผื่อใจเหยาะแหยะกลับไปกินเนื้อ เราจึงสามารถหาทางออกเพื่อที่จะลดเนื้อกินผักให้ได้มากที่สุดได้ โดยไม่ทำให้ตนเองลำบากจนถึงขั้นทุกข์ทรมาน

4). วิมังสา

คือการพิจารณาทบทวน เนื้อหาสาระและผลในสิ่งที่ทำ เช่นกินมังสวิรัติแล้วชีวิตดีขึ้นอย่างไร สุขภาพดีขึ้นอย่างไร จิตใจดีขึ้นอย่างไร การพิจารณาทบทวนผลที่ได้มาจากการปฏิบัติ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ ซึ่งการมีวิมังสานั้นจะเพิ่มกำลังของกระบวนการทั้งหมดให้มากขึ้น หากเรากินลดเนื้อกินผักและพิจารณาผลที่ได้บ่อยๆและละเอียดขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้เรามีปัญญามากขึ้น ซึ่งจะต่างกับการที่เรากินมังสวิรัติเฉยๆ กินผักกินหญ้าเฉยๆ เพื่อดำรงชีวิตโดยไม่พิจารณาทบทวนในสิ่งที่ทำ ไม่หาสาระประโยชน์ใดๆ ถือว่าไม่ครบองค์แห่งอิทธิบาท

สรุป

…ด้วยหลักสั้นๆเพียงเท่านี้ก็จะทำให้เราสามารถลดเนื้อกินผัก หรือกินมังสวิรัติได้ตลอดชีวิตแล้ว เพราะใช้การเข้าถึงประโยชน์ในการกินมังสวิรัติเข้ามาเป็นเครื่องชี้นำ แต่ถึงอย่างนั้นวิธีเหล่านี้ก็เป็นเพียงการใช้ธรรมะมานำชีวิตไปสู่จุดที่ต้องการแบบโลกๆ เป็นรูปแบบของโลกียะ เป็นแบบทั่วไป ซึ่งวิธีเหล่านี้ก็ถูกดัดแปลงไปใช้ในตำราเกี่ยวกับการทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จมากมาย

การกินมังสวิรัติได้ ลดเนื้อกินผักได้ หรือไม่กินเนื้อสัตว์ตลอดชีวิตนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะพ้นจากความอยาก ไม่ได้หมายความว่ากิเลสลด ไม่ได้หมายความว่าลดกิเลสเป็น ไม่ได้เกี่ยวกับการทวนกระแสหรือโลกุตระใดๆเลยด้วยซ้ำ การกินมังสวิรัตินั้นยังเป็นการทำความดีแบบโลกๆ เข้าใจกันได้โดยทั่วไปว่านี่คือความดี ไม่ต้องเป็นพุทธ ไม่ต้องมีศาสนาก็กินมังสวิรัติได้

แต่ความดีโลกุตระนั้นจะต่างออกไป ซึ่งโจทย์ในการเริ่มต้นจะไม่เหมือนกันเลย การลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจทั่วไปนั้นคือการเอาเหตุผลภายนอกเข้ามาเป็นฉันทะ แต่การที่เราจะสวนกระแสโลกได้นั้นเราต้องมีฉันทะในการทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดและเข้าใจยากกว่าการเข้าถึงชีวิตมังสวิรัติอย่างมาก

ดังนั้นใครที่พอใจจะเข้าถึงเพียงมังสวิรัติ อยากกินมังสวิรัติ ไม่อยากเบียดเบียน อยากมีสุขภาพดี ฯลฯ ก็ทำตามอิทธิบาท ๔ ดังที่ยกตัวอย่างในตอนต้นเรื่อง ส่วนคนที่อยากเรียนรู้เกี่ยวกับกิเลสของตนเองในเรื่องมังสวิรัติก็จะมีทางเลือกให้ศึกษากันในกลุ่ม Buddhism Vegetarian เป็นกลุ่มที่ตั้งไว้เพื่อปฏิบัติธรรมโดยใช้มังสวิรัติมาเป็นโจทย์ในการฝึกและปฏิบัติ

– – – – – – – – – – – – – – –

3.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

แรงจูงใจในการทำงาน

October 9, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,191 views 0

แรงจูงใจในการทำงาน

แรงจูงใจในการทำงาน

ในยุคสมัยที่มีทางเลือกในการทำงานหลากหลาย ไม่ว่าจะเลือกเป็นลูกจ้าง นักลงทุน หรือผู้ประกอบการ ก็มักจะมีสิ่งหนึ่งเป็นตัวผลักดัน เรามักจะเรียกสิ่งนั้นว่าแรงจูงใจ

การสร้างแรงจูงใจนั้นจะช่วยเพิ่มพลังใจของเราในหลายๆส่วน จูงใจของเราไปทำในการงานที่เราคิดว่ามันจะเกิดประโยชน์กับตัวเราโดยใช้ผลประโยชน์บางอย่างมาล่อ แรงจูงใจนั้นสามารถเกิดมาจากเหตุได้ทั้งกุศลและอกุศล ได้ทั้งดีและร้าย

…กุศล

ในทางกุศล หรือความดีงาม เมื่อเราประกอบกิจกรรมการงานโดยมีกุศลเป็นตัวตั้ง โดยมีแรงจูงใจจากการพิจารณาประโยชน์ตนและประโยชน์ต่อผู้อื่นจนเกิดปัญญาเข้าใจคุณค่าในกิจกรรมการงานนั้นๆ และ ใช้อิทธิบาท ๔ คือฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เป็นตัวผลักดันให้เกิดแรงจูงใจในการทำสิ่งที่ดี

ฉันทะ คือความยินดี เต็มใจพอใจ ที่จะทำสิ่งๆนั้น เพราะเห็นว่าสิ่งนั้นมีประโยชน์ เกิดประโยชน์ ทำแล้วมีความสุขความเจริญเรียกได้ว่าการพิจารณาประโยชน์ของสิ่งใดก็ตามจะทำให้เกิดความชอบ และความชอบนั้นเองคือพลัง คือแรงจูงใจ แรงผลักดันให้ทำสิ่งที่ยากอย่างมีความสุขได้

วิริยะ คือความเพียร ความพยายามที่จะทำกิจกรรมการงานนั้นอย่างอดทน ไม่ย่อท้อแม้จะต้องพบกับความยากลำบากใดๆก็ตาม แม้จะต้องประสบปัญหาก็จะพยายามที่จะทำต่อไปเรื่อยๆ

จิตตะ คือความตั้งมั่น ทุ่มโถมเอาใจใส่กิจกรรมการงานนั้นอย่างจดจ่อ มีสมาธิกับสิ่งนั้น จิตใจวนอยู่กับสิ่งนั้น ให้ความสำคัญกับสิ่งนั้น ทำงานอย่างกัดไม่ปล่อย เอาใจใส่ในงานอย่างเต็มที่ มีเวลาว่างก็คิดถึงแต่งานนั้นๆ ให้ความสำคัญกับงานนั้นๆ

วิมังสา คือการพิจารณาทบทวนเกี่ยวกับกิจกรรมการงานนั้น เอาแก่นสารสาระ ออกแบบปรับปรุงกระบวนการต่างๆที่ทำอยู่ วิเคราะห์วิจัยกิจกรรม หมั่นทบทวนศึกษาในเนื้อหาของการงาน

เมื่อมีการพิจารณาประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน และใช้อิทธิบาทจนเกิดแรงจูงใจ รวมทั้งเป็นไปตามหลักแห่งการพ้นทุกข์ ในข้อสัมมาอาชีวะ คือการประกอบอาชีพที่สุจริต อาชีพที่ดีงาม อาชีพที่ไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้าย ไม่คดโกง ไม่ล่อลวง ไม่ตลบตะแลง ไม่รับใช้คนชั่ว ไม่เป็นการพนันนำลาภที่มีไปแลกลาภที่มากกว่า ไม่พาให้หลงมัวเมา ซึ่งหากเราได้ทำการงานที่ถูกที่ควรก็จะผลักดันชีวิตเราและสังคมรอบข้างไปสู่ความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรม

…อกุศล

ในทางอกุศล คือความไม่ดีไม่งาม ก็จะมีการใช้แรงจูงใจจากการพิจารณาประโยชน์ตนเป็นตัวตั้งเหมือนกัน แต่เป็นการพิจารณาโดยมีกิเลสเข้ามาร่วม เรียกง่ายๆว่ามีกิเลสเป็นแรงผลักดันและเป็นแรงจูงใจให้ทำกิจกรรมการงานนั้นๆนั่นเอง เรียกได้ว่ามีกิเลสทั้งผลักทั้งจูง ให้ตัวเราเคลื่อนไปทำการงานนั้นๆ

แม้ว่าเราจะมีแรงจูงใจที่มีกิเลสเป็นตัวผลักดัน ก็จะสามารถใช้อิทธิบาทเป็นเครื่องผลักดันได้เหมือนกัน แต่จะมีทิศทางที่เจริญไปในด้านอกุศล ยิ่งทำกิจกรรมการงานที่เป็นอกุศลอย่างตั้งมั่นก็ยิ่งจะเกิดความเสื่อมจากธรรม ยิ่งสะสมกิเลสก็จะยิ่งทุกข์ ยิ่งขยันทำชั่วก็ยิ่งไปนรกไวขึ้นนั่นเอง

แรงจูงใจจากกิเลสเหล่านี้ ในคนแต่ละคนก็จะมีแรงจูงใจหรือกระทั่งเป้าหมายที่แตกต่างกันเพราะเรามีกิเลสที่แตกต่างกัน เราสามารถจำแนกแหล่งที่มาของกิเลสได้เป็น ๔ ระดับ ตั้งแต่หยาบไปจนถึงละเอียด คือ อบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตาจะลองยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันพอประมาณดังนี้

อบายมุขคือแรงจูงใจที่พาให้หลงมัวเมาอย่างหยาบ เป็นทุกข์ โทษ ภัยอย่างเห็นได้ชัด เช่นมัวเมาในการพนัน หวย หุ้น ท่องเที่ยว ดูการละเล่น ดูละคร คอนเสิร์ต สิ่งเสพติด เหล้า เที่ยวกลางคืน เสพสิ่งบันเทิงต่างๆ ทำงานเพื่อที่จะทำให้ได้เกียจคร้านการงานในภายภาคหน้า ฯลฯ หากคนใดมีสิ่งเหล่านี้เป็นแรงจูงใจ เป็นแรงผลักดันให้ทำกิจกรรมการงาน ทำงานเพื่อจะได้เสพสิ่งเหล่านี้ ก็ถือได้ว่าติดในกิเลสในระดับที่หนาและเป็นภัยมาก

กามคุณคือแรงจูงใจที่พาให้หลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ยกตัวอย่างเช่น ตั้งใจทำงานเพื่อที่จะนำเงินไปแต่งหน้าแต่งตา แต่งตัว ศัลกรรม หรือเพื่อไปเที่ยวหาสิ่งสวยงามไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ สิ่งของมาเสพเพื่อสนองกิเลสในการติดรูป ทำงานหาเงินมาเพื่อซื้อน้ำหอมแพงๆเพราะหลงในกลิ่น หรือทำงานเพื่อหาของอร่อยกิน เอาเงินที่ได้มาตระเวนหาของอร่อยตามที่โลกมอมเมา คนที่ทำกิจกรรมการงานเพื่อที่จะได้เสพกามเหล่านี้ ก็ถือว่าติดในกิเลสที่หนาน้อยกว่าอบายมุข แต่ก็ยังเป็นภัยต่อตัวเองอยู่มาก

โลกธรรมคือแรงจูงใจที่หลงไปใน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นสิ่งที่คนมาหลงติดกันมากที่สุด เรามักจะมีแรงจูงใจในการทำงานเพราะอยากรวย อยากมีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดี อยากมีคนนับหน้าถือตา อยากมีคนนิยมชมชอบ อยากเป็นที่รักเป็นที่สนใจของคนอื่น ทำเพราะอยากได้เสพสุขลวงๆจากกิเลส หลายคนขยันทำผลงาน ทำงานอย่างตั้งใจก็เพื่อที่จะได้เสพสิ่งเหล่านี้ แม้ว่าโลกจะมอมเมาว่าเป็นสิ่งดี แต่แท้ที่จริงเป็นกิเลสที่ละเอียดและร้ายกาจมาก โลกธรรมจะพาเราให้ทำอย่างที่สังคมต้องการ ถ้าสังคมว่าทำแบบนี้จะรวย จะดูดี จะมีชื่อเสียง เราก็จะไหลตามสังคมไป ไปทุกข์ไปสุขตามโลกที่หมุนวนไป เป็นไปในทางโลก เป็นปลาที่ลอยตามน้ำ ลอยไปตามกิเลส

อัตตาคือความยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตน เป็นแรงจูงใจที่จะทำให้เราได้ทำการงานนั้นๆ อย่างมัวเมาในระดับละเอียดที่สุด เพราะหลงว่าเราเกิดมาเพื่อทำสิ่งนั้น หลงไปว่างานนั้นเป็นของเรา เราจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นการหลงไปในอุดมการณ์ที่มีกิเลสเป็นตัวผลักดัน และอัตตาคือตัวการร้ายที่จะเป็นแรงผลักดันทำให้เราไปยึดในคน สัตว์ สิ่งของ อยากครอบครองสิ่งเหล่านั้นมาเป็นของตน เป็นแรงจูงใจที่ละเอียดที่สุด เป็นกิเลสที่ฝังลึกแน่นในจิตใจของคน เป็นรากสุดท้ายด่านสุดท้ายของกิเลสทุกตัว

การจะบอกว่าเรามีแรงจูงใจจากกิเลสตัวใดตัวหนึ่งนั้นก็คงเป็นเรื่องยากเพราะกิเลสเป็นเรื่องซับซ้อน หากผู้วิเคราะห์ไม่เคยขุดค้นไปถึงสมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์ เหตุแห่งความอยาก ก็ยากที่จะพบกับตัวการที่แท้จริง และโดยทั่วไปแล้วเรามักจะมีกิเลสหลายอย่างปะปนกัน ทับซ้อนและซับซ้อนกันไปหลายรูปแบบ คนที่เสพอบายมุขก็จะมีอัตตาเป็นตัวผลักดัน คนที่เสพกามก็จะมีโลกธรรมเป็นตัวผลักดันและมีอัตตาซ้อนอยู่ลึกๆ

กิเลสทุกตัวนั้นเป็นตัวเดียวกันคือความอยากเสพ เรามีความอยากเสพนั้นเพราะเราไปหลงติดหลงยึด และเราไปหลงติดหลงยึดเพราะว่าเรามีความไม่รู้หรือที่เรียกว่าอวิชชานั่นเอง แต่กิเลสนั้นจะออกมาลีลาไหน แบบไหน มุมไหน ก็แล้วแต่ใครจะสะสมกิเลสมามากน้อยแบบไหน จะถูกมอมเมามาแบบไหน

ผู้ที่ทำกิจกรรมการงานโดยมีกิเลสเป็นแรงจูงใจนั้น จะถูกความหวังหรือความอยากของตัวเองชักจูงให้หาให้เสพไปเรื่อยๆ เมื่อได้เสพสมใจ ได้อย่างใจมากขึ้น กิเลสก็จะโตขึ้น พอกิเลสโตขึ้นก็จะมีความอยากเสพมากขึ้นไปอีก เริ่มที่จะไม่พอใจสิ่งที่เคยได้เสพมาก่อน จนต้องพยายามแสวงหาสิ่งใหม่ สร้างความหวังใหม่ สะสมกิเลสใหม่ ในวันใดวันหนึ่งก็จะหาสิ่งเสพสมใจไม่ได้ ก็จะทุกข์ร้อนใจขัดใจโกรธเคืองไม่พอใจเพิ่มกิเลสเข้าไปอีก สะสมกิเลส สะสมทุกข์ สะสมภพ สะสมชาติไปอย่างไม่จบไม่สิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์