เชื่อมร้อยความดี ด้วยกระทงกระดาษ

June 27, 2017 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,952 views 0

เชื่อมร้อยความดีด้วยกระทงกระดาษ

ถ้าใครได้ไปสนามหลวงในช่วงที่โรงทานต่าง ๆ ยังอยู่ในสนามหลวง จะเห็นได้ว่ามีจิตอาสามากหน้าหลายตาที่นำทั้งสิ่งของและแรงงานมาแบ่งปัน แต่ในวันนี้ไม่เหมือนวันนั้น การแบ่งปันสิ่งของทำได้ยากขึ้น แรงงานก็เช่นกัน

ทุกวันนี้คนที่อยากทำดีหลายคนเกิดสภาพตกงาน ถึงจะมาทำดีก็ใช่ว่าจะหางานทำได้เหมือนสมัยก่อน มีเพียงบางกิจกรรมเท่านั้นที่ยังเอื้อให้ทุ่มเททุนทรัพย์และแรงกายแรงใจทำความดีต่อไปได้ หนึ่งในนั้นคือกิจกรรมโรงทาน

แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะมาเปิดโรงทานกันได้ง่าย ๆ เหมือนสมัยก่อน ตอนนี้มีทั้งกฎ ระเบียบ หรือข้อจำกัดเพิ่มมากขึ้น แต่ยังมีสิ่งหนึ่งที่ทุกคนมีสิทธิที่จะร่วมทำความดีได้ คือการพับกระทงกระดาษมาสนับสนุนงานโรงทาน

ผมมองเห็นว่า นัยสำคัญของการพับกระทงกระดาษ คือการเชื่อมร้อยความดี ในความเป็นจริงแล้วเราสามารถสั่งหรือใช้กระทงกระดาษสำเร็จรูปที่มาจากโรงงานเลยก็ได้ ซึ่งอาจจะมีต้นทุนต่ำกว่าด้วยซ้ำ แต่สิ่งเหล่านั้นมันไม่ได้เชื่อมร้อยความดี ไม่ได้ร่วมจิตวิญญาณ คือมีแต่วัตถุ ไม่มีพลังความดีที่เกื้อหนุนกัน

การจะได้กระทงกระดาษมาสักหนึ่งชิ้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีกระบวนการในการพับ ซึ่งต้องสละเวลาและแรงงาน ตรงนี้เองที่เป็นประเด็นสำคัญ ในชีวิตของคนเราทุกคนสามารถเลือกที่จะทำอะไรก็ได้เท่าที่ตนสามารถทำได้ แต่การจะเลือกพับกระทงกระดาษ หรือทำความดีเพื่อคนอื่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกิเลสจะชักจูงเราออกไปทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นเสมอ

หรือถ้ามองง่าย ๆ ตื้น ๆ ประมาณว่า “โรงทานต้องการใช้กระทงกระดาษ ก็เอาเงินเทลงไปเลย ซื้อกระทงกระดาษสำเร็จรูปไปให้เลยแล้วเอาเวลาไปเที่ยวเล่นหาความสุขใส่ตัวดีกว่า” อะไรประมาณนี้ ผมมีความเห็นว่าความดีไม่ได้สร้างได้ด้วยเงิน ศาสนาไม่ได้เกิดขึ้นจากคนโยนเงินลงมา แต่เกิดจากคนพากเพียรทำความดี เงินเป็นองค์ประกอบร่วม แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความดีเท่าไรนัก จิตวิญญาณของคนที่คิดจะทำดีต่างหาก คือความยิ่งใหญ่

เมื่อเห็นดังนั้น ผมจึงให้ความสำคัญกับการพับกระทง แม้ว่ามันจะไม่สวยหรู ต้องใช้เวลา หรือมีต้นทุนในการผลิตและจัดส่งที่มากก็ตาม แต่สิ่งเหล่านั้นมันไม่ได้ขาดทุนเลย เพราะการที่เราจดจ่ออยู่กับการทำความดี ที่ร่วมกันทำในโอกาสพิเศษนี้ เป็นสิ่งที่เชื่อมร้อยความดี เชื่อมร้อยจิตวิญญาณ เป็นกุศลกรรมที่จะผูกพันกันไปในอนาคตข้างหน้า

ในโลกนี้มีความดีมากมายให้ทำก็จริง แต่ดีไหนล่ะที่จะเชื่อมต่อกับคนดีได้มากที่สุด แล้วคนแบบไหนล่ะที่เราเห็นว่าเป็นคนดีมากที่สุด เราก็ทำดีนั้นแหละให้ได้มากที่สุด ตามกำลัง ตามปัญญา ตามองค์ประกอบเหตุปัจจัยของเรา

เพราะถ้าหากเราไม่เพียรทำความดีแล้ว กิเลสก็ย่อมจะลากเราไปทำชั่ว ไปทำในสิ่งที่ไร้สาระและไม่เป็นประโยชน์ต่อใคร ไม่เกื้อกูลแบ่งปันเสียสละ จนสุดท้ายเหตุการณ์สำคัญผ่านไป ต้องเสียโอกาสในการสร้างประโยชน์เหมือนภาพจิตอาสาตกงานที่ปรากฏเด่นชัดมากขึ้นในทุกวันนี้

ชีวิตก็เช่นกัน หากเกิดมาแล้วมัวหลงระเริงกับการใช้ชีวิตไปตามกิเลส จนสุดท้ายชีวิตหนึ่งได้ผ่านพ้นไป ก็ต้องเสียโอกาสในการสร้างประโยชน์ เหมือนกับชีวิตทั่วไปที่เกิดมา เติบโต หากิน แล้วก็ตายไป พลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย

เกริ่นกันมาก็ยาว ในบทความนี้ก็อยากจะขอเชิญชวนทุกท่านร่วมพับกระทงกระดาษแล้วนำส่งมายังโรงครัวต่าง ๆ ในพื้นที่โรงครัวที่หน่วยงานรัฐได้จัดสรรไว้ ซึ่งในตอนนี้อยู่แถวสะพานผ่านพิภพลีลา

27.6.2017

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

Related Posts

  • รอยทางของพระโพธิสัตว์ รอยทางของพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์คือผู้ที่มาบำเพ็ญ ช่วยเหลือผู้คนให้ข้ามพ้นทะเลแห่งทุกข์ที่ท่วมท้นด้วยกิเลสตัณหา […]
  • แด่ความรักอันยิ่งใหญ่ แด่ความรักอันยิ่งใหญ่ ก่อนหน้านี้ ผมมักจะเอ่ยถึงความรักที่ยิ่งใหญ่อยู่บ่อยครั้ง แต่ถึงอย่างนั้น มันก็ยากที่จะสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจได้ เพราะผู้อ่านก็ไม่รู้จะหาตัวอย่างที่ไหน และแบบไหนที่เรียกว่าความรักที่ยิ่งใหญ่ […]
  • ไม่ลดกิเลส จะไม่ทันพวกทำดีเอาหน้า พวกสร้างภาพ วันนี้อาจารย์หมอเขียวพูดถึง คนที่ผิดศีลจะมีวิบาก(ผล) ให้ได้ข้อมูลผิด เช่น เห็นพวกทำดีเอาหน้าแล้วดูไม่ออก คือไม่เห็นความชั่วที่ซุกแอบซ่อนในการทำดีของเขา ผมก็เคยพลาดมา แต่เราตั้งใจปฏิบัติศีล จึงได้เห็นข้อมูลจริง ว่าเขาผิดศีล […]
  • การทำทาน เจาะจงหรือไม่เจาะจง คำถามที่สองจากบทความการเลิกรับใช้คนชั่ว "การทำบุญแบบไม่เจาะจงหน่อยค่ะ" ตอบ : การทำบุญที่เขาหมายถึงคงหมายถึง "ทาน" คือการสละออก เขาก็สงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้เพราะคงจะไม่ชัดเจนในผล […]
  • ทำดีไม่ควรน้อยใจ คนทำดีนี่ส่วนใหญ่เขาก็ทุ่มเททั้งหมดเท่าที่เขาเห็นว่าสิ่งนั้นมันดีนั่นแหละ แล้วที่นี้พอดีนั้นไม่เป็นดั่งใจหวัง เช่น คนอื่นเขาไม่เห็นว่าดีบ้าง ไม่เกิดผลดีบ้าง ไม่ดีจริงอย่างที่หวังบ้าง ก็อกหักอกพังน้อยเนื้อต่ำใจ ขันติ […]

ฝากความคิดเห็น : Leave a Reply