Tag: เพื่อน

คู่บุญ กัลยาณมิตรที่พากันไปสู่ความเจริญ

May 14, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 29,681 views 2

คู่บุญ กัลยาณมิตรที่พากันไปสู่ความเจริญ

คู่บุญ กัลยาณมิตรที่พากันไปสู่ความเจริญ

คู่บุญนั้นมีจริงไหม ลักษณะจะเป็นอย่างไร แล้วชาตินี้เราจะได้พบเจอหรือไม่ ในบทความนี้ก็จะมาแสดงความคิดเห็นในประเด็นเหล่านี้กัน

คู่บุญคืออะไร

ความหมายของคู่บุญนั้นก็คือ คู่ที่พากันเจริญไปอย่างเดียว พากันทำสิ่งที่ดีงาม พากันชำระกิเลส พากันศึกษาธรรม เจริญในศีลขึ้นไปเรื่อยๆ ดูแลเกื้อกูลกัน เป็นกัลยาณมิตรที่คอยตักเตือน สร้างเหตุแห่งการพ้นทุกข์ไปด้วยกัน

การเป็นคู่บุญนั้นจะไม่พากันไปในทางเสื่อม ไม่พากันไปสะสมกิเลส ถ้าเป็นคู่ชายหญิง ก็จะไม่คบหากันเหมือนคู่รัก แต่จะมีสถานะเป็นเพียงเพื่อนเท่านั้น ไม่มีอะไรเกินเลย เพราะการเป็นมากกว่าเพื่อนนั้นเป็นทางที่เสื่อมจากธรรม เป็นทางของกิเลส เป็นเรื่องของความหลง ผู้ที่จะพากันไปเจริญย่อมไม่ยินดีผูกมัดกันด้วยเรื่องทางโลกเช่นการแต่งงาน

เพราะการคบหากันเป็นคู่รักตลอดจนแต่งงานนั้น เป็นทางเดินที่เต็มไปด้วยการบำเรอกิเลสแก่กัน เป็นการสร้างความผูกมัดในบ่วงกรรมของกันและกัน ผู้ที่จะพากันเจริญย่อมไม่ผูกมัดกันด้วยอกุศลกรรมใดๆ แต่จะผูกมัดกันด้วยกุศลกรรมเท่านั้น เรียกได้ว่าชั่วไม่ทำ พากันทำแต่ความดี

ซึ่งก็จะไม่มีความหลงหรือความลำเอียงใดๆ อันเกิดจากกิเลสให้ต้องพัวพันกันด้วยเรื่องอกุศล คู่บุญจึงเหมือนเพื่อนนักปฏิบัติธรรมคนหนึ่ง ที่เรามองว่าเหมือนกับเพื่อนคนอื่นทั่วๆไปบนโลก ดังนั้นจึงสามารถคอยตักเตือนให้เห็นความจริงตามความเป็นจริงได้

คู่บุญเกิดมาได้อย่างไร?

คู่บุญเกิดมาจากกรรมดีที่ทำมาร่วมกันมาหลายต่อหลายชาติ จึงเป็นเหมือนแม่เหล็กดึงดูดให้กลับมาทำดีร่วมกันต่อไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีคู่บุญที่พากันเจริญ เพราะการจะมีคู่ปฏิบัติธรรมนั้นต้องหยุดชั่วทำดีให้มากพอที่จะมีกรรมดีให้คงสถานะมิตรต่อไปด้วย

การเป็นคู่รักกันนั้นยากยิ่งนักที่จะกลายเป็นคู่บุญ เพราะจะมีกรรมชั่วที่ร่วมกันเสพมากมาย ทั้งเอาแต่ใจ ทั้งทะเลาะกัน ทั้งตบตีกัน ทั้งสมสู่กัน ถึงจะพากันทำดีในบางช่วงของชีวิตแต่ก็ต้องมารับกรรมชั่วที่ทั้งคู่ทำอยู่ดี จึงทำให้เกิดผลเจริญได้ยาก เพราะจะมีรักกันบ้าง ชังกันบ้าง โกรธกันบ้าง เกลียดกันบ้าง อาฆาตกันบ้าง คู่รักจึงมีหนี้บาปหนี้กรรมที่ต้องให้มาชดใช้กันมากกว่าพากันไปเจริญ

คู่บุญกัลยาณมิตร

การเป็นคู่บุญนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นเพื่อนต่างเพศ จะเป็นเพศเดียวกันก็ได้ วัยเดียวกันก็ได้ ต่างวัยก็ได้ ซึ่งก็คือคนที่เข้ามาเกื้อกูลกันและกันให้เจริญขึ้นไปในทางธรรม

ยกตัวอย่างเช่นพระโมคคัลลานะกับพระสารีบุตร ท่านก็เป็นเพื่อนกัลยาณมิตรที่ปฏิบัติธรรมร่วมกันมาหลายชาติ เกิดชาติไหนก็มักจะเป็นเพื่อนกัน ช่วยเหลือกัน พากันเจริญร่วมกันอยู่เสมอ นี้คือลักษณะของนักปฏิบัติธรรมที่เกิดมาเป็นคู่ บำเพ็ญเพียรเป็นคู่

ในกรณีต่างเพศหรือต่างวัยก็เช่นกัน สามารถเป็นคู่บุญได้ แต่ลักษณะของคู่บุญที่แท้จริงแล้วจะเอื้อให้เกิดมาเรียนรู้ร่วมกันด้วยโอกาสที่สะดวกที่สุด การมาเป็นเพื่อนนักปฏิบัติธรรมชายหญิงนั้นก็อาจจะไม่สะดวกนัก หรือในคู่ที่ต่างวัยกันก็อาจจะมีคนหนึ่งชิงตายไปเสียก่อน ดังนั้นคู่บุญที่บำเพ็ญบารมีร่วมกันมาหลายต่อหลายชาติมักจะเกิดในเพศและวัย รวมถึงองค์ประกอบต่างๆในชีวิตที่ใกล้เคียงกันเพื่อเอื้อให้เกิดการเจริญในธรรมได้ดีที่สุด

คู่รักสู่คู่บุญ

หัวข้อนี้อาจจะถูกใจคนอยากมีคู่รักและเจริญในธรรมไปด้วย แต่ก็ต้องบอกไว้ก่อนเลยว่าไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะการเปลี่ยนจากคู่รักมาสู่คู่บุญนั้นจะต้องผ่านแบบทดสอบมากมาย

การเป็นคู่รักนั้นเกิดจากความหลงเสพหลงสุข เมื่อมีความรักก็อยากได้อยากเสพ จึงหาคนมาครองคู่ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีบางคนที่มีความพยายามที่จะเจริญในธรรม ดังนั้นจึงต้องขัดเกลากิเลสของตนและคู่เพื่อให้พัฒนาสู่ภพที่เอื้อให้เกิดความเจริญสูงสุด

การขัดเกลากิเลสนั้นมีตั้งแต่การไม่พากันไปสู่ทางชั่ว ไม่บำรุงบำเรอกิเลสให้กันและกัน และในส่วนที่ยากที่สุดคือไม่สมสู่กัน เป็นเรื่องยากที่จะบอกให้คนรักไม่สมสู่กันตั้งแต่วันแรกที่คบหากันไปจนตาย เพราะถ้าไม่ต้องการสมสู่กันแล้ว น้ำหนักในการมีคู่ครองก็แทบจะเบาลงไปในทันที ดังนั้นปราการแรกสู่ความเจริญคือให้เว้นขาดจากการสมสู่กับคู่ของตนตั้งแต่เริ่มรู้จักกัน

เมื่อเป็นคู่กันแล้ว แต่งงานกันแล้ว แม้จะไม่สมสู่กันก็ยังไม่เรียกได้ว่าหลุดพ้นหรือสามารถเจริญในธรรมได้ดีนัก เขาทั้งคู่ต้องสลัดความหลงในรูปของกันและกัน ผู้ชายก็ไม่หลงในความเป็นหญิง ผู้หญิงก็ไม่หลงมัวเมาในรูปกายของตัวเองและไม่หลงยึดว่าต้องมีชายมาบำเรอตน

ปฏิบัติไปเรื่อยๆหลายภพหลายชาติ ผู้หญิงที่สามารถทำลายภาวะของความเป็นหญิงในตนลงได้ ตัดเหตุแห่งความเป็นหญิงได้ ก็จะเปลี่ยนมาเกิดเป็นเพศชายได้ สุดท้ายก็จะกลายเป็นเพศชายด้วยกันทั้งคู่ แต่สิ่งนั้นก็ยังไม่แน่ หากยังตัดความอยากในการสมสู่หรือความรักใคร่ออกไม่หมด ในชาติใดชาติหนึ่งก็อาจจะกลายเป็นชายรักชายก็ได้ ไปๆมาๆ กิเลสเพิ่มก็เวียนกลับสลับกันไปเป็นชายหญิงกันใหม่

ดังนั้นกว่าจะเปลี่ยนคู่รักมาเป็นคู่บุญได้แท้จริงนั้นยากมาก ต้องพรากจากการสมสู่ ต้องพรากจากความหลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นกรรมที่สะสมมาหลายภพหลายชาติ ใช่ว่าจะหลุดพ้นกันได้ง่ายๆ แม้คนหนึ่งไม่อยากสมสู่ แต่อีกคนอยากสมสู่ สุดท้ายก็ต้องมาคอยบำเรอกัน ซึ่งก็จะผูกติดกันไปแบบคู่รักเช่นนี้ไปอีกนานแสนนาน

ถ้าถามว่าคู่รักเช่นนี้ทำบุญได้ไหม ก็ตอบว่าได้ แต่ไม่สามารถทำได้ดีและเจริญได้เร็วเท่ากับคู่บุญที่เป็นเพื่อนกัน ถ้าเทียบกันแล้วก็เหมือนกับม้าที่วิ่งแข่งกับเต่า ดังนั้นหากจะเรียกคู่รักว่าคู่บุญนั้นก็คงจะไม่เข้าในความหมายของคู่บุญที่ยกไว้ในตอนต้น จึงสรุปว่าการยังอยู่ในภพของคู่รักนั้น จึงไม่เรียกว่าคู่บุญ เพราะยังมีเหตุในการทำบาปและความเสื่อมแห่งมิตรภาพอยู่ในความเป็นคู่รักนั้น

คู่บุญหรือคู่บาป

มาถึงคู่สุดท้าย คือคู่บาป คู่ที่พากันใช้ชีวิตไปตามสังคมและโลก ทำทานบ้าง เข้าวัดบ้าง สนองกิเลสกันบ้าง สมสู่กันบ้าง เรียกง่ายๆว่าใช้ชีวิตไปตามวิถีของคนทั่วไปนั่นเอง

การมีคู่แบบนี้ไม่เป็นบุญสักนิดเดียว เพราะบุญคือการชำระกิเลส แต่คู่รักที่ไม่ยินดีถือศีล ไม่ยินดีในการลดกิเลส ไม่ละเว้นการสมสู่ ไม่สลัดความหลงในรูปของกันและกัน แถมยังพากันบำเรอกามกันอย่างไม่เกรงกลัวพิษภัยของบาปจึงพาเป็นคู่ที่พากันไปแต่ทางเสื่อม หรือที่เรียกว่าคู่บาป

เขาเหล่านั้นก็จะเกิดมาเป็นตัวเวรตัวกรรมของกันและกัน คอยฉุดกันลงนรก หากคนใดคนหนึ่งทำกุศลมากพอจนจะได้ฟังธรรมที่พาพ้นทุกข์ อีกคนหนึ่งก็จะฉุดไปลงนรก ไม่ยอมให้อีกคนได้โผล่พ้นขึ้นมาจากใต้กองกิเลส เพราะกลัวว่าถ้าหากคู่ของตนทิ้งตนไปสนใจธรรมแล้วตนเองจะไม่เหลือใครให้เสพ แล้วก็ผลัดกันสกัดกั้นกันและกันอย่างนี้ไปอีกหลายภพหลายชาติ เป็นภาระของกันและกัน เป็นตัวถ่วงความเจริญของกันและกัน เป็นบาปของกันและกัน

ข้อสังเกตง่ายๆคือคู่บาป จะพาให้เราลดศีลของเราหรือลดความเจริญในธรรม คือธรรมที่มีอยู่แล้วก็เสื่อมลง เช่น เราเป็นคนที่กินมังสวิรัติอยู่แล้ว แต่พอไปมีคนรัก เขาไม่ยินดีที่จะถือศีลตามเรา ถึงแม้จะพยายามทำตามก็ทำได้ยากได้ลำบากจนเขารู้สึกกดดัน เราจึงรู้สึกเห็นใจเขาและเวียนกลับไปกินเนื้อสัตว์เป็นเพื่อนเขา

หรือผู้หญิงที่ตั้งใจจะไม่สมสู่จนกว่าจะแต่งงาน แต่เมื่อเจอกับคู่บาปที่มีถ้อยคำสนองกิเลส คำหวานที่ล่อลวงให้ยอมพรากพรหมจรรย์ไปให้เขาก่อนถึงวันที่คิดว่าสมควร ลักษณะเหล่านี้คือคู่ที่พาให้ตกต่ำลง ให้เสื่อมจากศีลธรรมที่เป็นมาตรฐานที่เคยตั้งไว้

หรือพอเราจะไปทำกุศล ไปทำทาน เข้าวัดปฏิบัติธรรม ไปเจอครูบาอาจารย์ หรือแม้แต่จะไปบวช คนรักของเราก็จะกั้นขวางไว้ไม่ให้เราได้เข้าใกล้ธรรม ไม่ให้เราได้สร้างกุศลหาเจริญในธรรมนานนัก หรือที่หนักๆเลยก็พวกที่จับพระสึกมาแต่งงานก็มีให้เห็นกันมาแล้ว นี่คือพลังของคู่บาปที่จะพยายามพาเรากลับไปนรก กลับไปในทางเสื่อมและจะต้องวนเวียนคอยลากกันและกันกลับไปนรกเพราะจะไม่มีใครยอมให้ใครทิ้งกันไปเจริญ จะต้องอยู่สนองความใคร่อยากด้วยกัน จะต้องมาบำเรอกิเลสของกันและกัน จะต้องเป็นตัวตนของกันและกัน ชาตินี้คนหนึ่งลากอีกคนลงนรก อีกชาติหนึ่งก็จะโดนแก้แค้นโดยการถูกลากลงนรก ผูกพันกันไปด้วยหนี้บาปหนี้กรรมกันอีกหลายกัปหลายกัลป์

. . . จะเห็นได้ว่าการเป็นคู่รักกันโดยไม่มีศีลธรรมนั้นจะพาให้หลงวนอยู่ในกองกิเลสยากจะหลุดออกมาได้ ส่วนคู่รักที่มีศีลมีธรรมนั้นก็กว่าจะทำลายความเป็นคู่รักให้เหลือแต่คู่บุญได้นั้นก็ยากเย็นแสนเข็ญ กามก็อยากเสพ กุศลก็อยากทำ กว่าจะถึงคู่บุญจริงๆนั้นก็ไกลแสนไกล

ดังนั้นเป็นเพื่อนกันตั้งแต่แรกจะดีกว่า อย่าไปหลงผูกกันให้ลำบากต้องมาแก้กันทีหลัง เพราะตอนแก้มันไม่ได้ง่ายเหมือนตอนผูก เหมือนกับตอนที่กิเลสเข้ามาแล้วมันไม่ได้ล้างออกไปกันได้ง่ายๆ เพราะถึงแม้จะมีวิธีทำลายกิเลสที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้วประกาศไว้อยู่ ก็ใช่ว่าทุกคนจะสามารถทำใจให้เข้าถึงแก่นแท้แห่งความรู้เหล่านั้นได้ง่ายๆ

– – – – – – – – – – – – – – –

13.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ครูบาอาจารย์ และสหายธรรม ตามกรรมที่ทำมา

May 2, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,852 views 0

ครูบาอาจารย์ และสหายธรรม ตามกรรมที่ทำมา

ครูบาอาจารย์ และสหายธรรม ตามกรรมที่ทำมา

การปฏิบัติธรรมนั้น หากคิดจะก้าวหน้าได้ไวเพื่อให้เรียนรู้สู่การพ้นทุกข์ด้วยหนทางที่สั้นและง่ายที่สุดนั้น จำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์ที่รู้ทางเป็นผู้ชี้ทาง มีเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมเป็นผู้ร่วมเรียนรู้ แบ่งปัน เสนอแนะ และตักเตือนกัน จึงจะสามารถเจริญไปได้เร็วที่สุด

การเริ่มต้นปฏิบัติธรรมนั้นจึงควรเริ่มจากการเสาะแสวงหามิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี เพราะถ้าพยายามปฏิบัติไปทั้งที่ไม่รู้ทางก็คงหลงทางเสียเวลาไปเปล่าๆ

การแสวงหาครูบาอาจารย์นั้นต้องเริ่มด้วยการมีเหตุปัจจัยสองอย่างคือการเปิดใจรับฟังผู้อื่นและการนำมาขบคิดพิจารณา ผู้ที่ปฏิบัติธรรมมักจะเกิดสภาพยึดมั่นถือมั่นเมื่อเจอครูบาอาจารย์ที่ถูกใจ เมื่อปฏิบัติไปนานเข้าก็จะปิดใจ ไม่รับฟังแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างจากตน และนั่นอาจจะหมายถึงการปิดประตูสู่การพ้นทุกข์เลยก็ว่าได้

เพราะไม่มีใครรู้ได้เองหรอกว่า อาจารย์ที่ตนเจอนั้นสัมมาทิฏฐิหรือมิจฉาทิฏฐิ เพราะถ้าตัดสินด้วยทิฏฐิของคนที่ยังหลงทางแล้ว มันก็ดูเหมือนจะสัมมาทั้งหมดนั่นแหละ คือเราชอบอะไร ถูกใจอะไร เราก็เหมาว่าสัมมาหมด เพราะคิดตรงกับเรา เป็นอย่างที่ใจเราหมาย และเมื่อคิดว่าถูกจึงปักมั่นลงไป

การพิสูจน์ว่าของจริงหรือไม่นั้นเกิดจากการนำธรรมของท่านเหล่านั้นมาปฏิบัติตาม ซึ่งความเจริญนั้นจะสามารถวัดได้จากความโลภ โกรธ หลง ที่ลดน้อยลง สรุปง่ายๆว่าถ้าถูกทางกิเลสต้องลด ถ้าปฏิบัติตามแล้วกิเลสไม่ลดก็ควรจะทบทวนทิศทางและศึกษาแนวทางอื่นๆประกอบ

ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ที่จะสามารถเจอครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงได้ไว คือผู้ที่เปิดใจรับฟังการปฏิบัติที่หลากหลาย และนำหลักการเหล่านั้นมาปฏิบัติตามโดยใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นถึงสาระประโยชน์ในการปฏิบัติธรรมนั้นได้

แต่ถึงอย่างนั้นการจะได้พบครูบาอาจารย์หรือสหายธรรมนั้นก็มีข้อจำกัดในเรื่องของกรรม นั่นคือเราไม่สามารถได้มากกว่ากรรมที่เราทำมา เราไม่สามารถพบอาจารย์ที่ถูกตรงได้เลย หากเราไม่มีกรรมที่ปฏิบัติอย่างถูกตรงหรือกรรมดีที่จะพาให้พบกับคนที่ถูกตรงได้ สรุปได้ว่า เราไม่สามารถพบกับสิ่งดีได้เกินกว่ากรรมดีที่เราทำมา

ดังนั้นเราจะเห็นได้ในสังคมที่ว่า คนบางพวกไปศรัทธากับผู้บวชมาหากินกับศาสนาบ้าง ศรัทธาครูบาอาจารย์ที่ใช้เดรัจฉานวิชาบ้าง ศรัทธาอลัชชีบ้าง นั่นเพราะพวกเขามีกรรมที่ต้องไปศรัทธาคนเหล่านั้น มันหนีไม่พ้น จะพยายามอย่างไรก็จะต้องไปจมกับสิ่งเดิม เพราะมีกรรมที่เคยผูกกันมาหลายภพหลายชาติเป็นพลังดูดดึงที่มองไม่เห็น

ในทางเดียวกัน คนที่ทำดีมากๆก็เช่นกัน เขาก็จะมีพลังดูดดึงกันระหว่างคนดี ได้พบกับคนที่ดี ได้พบกับผู้ที่ปฏิบัติอย่างถูกตรงจริง ได้เจอมิตรดี สหายดี เรื่องเหล่านี้ก็เป็นเรื่องของกรรมเก่าที่ทำมาเช่นกัน เพราะเคยเกื้อกูลคนดีมาหลายต่อหลายชาติ แล้วชาตินี้มันจะหนีไปไหนพ้น มันก็เจอแต่คนดี หลงไปในหมู่คนดีอยู่นั่นเอง

เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของกรรมเก่าที่จะลิขิตเส้นทางให้ได้เจอกับคนดี ส่วนกรรมใหม่นั่นคือจะคว้าโอกาสนั้นไว้หรือไม่ จะสนใจหรือไม่ หากได้เจอครูบาอาจารย์ที่คิดว่าสามารถชี้ทางให้พ้นทุกข์ได้ แล้วเราจะสามารถปฏิบัติตามท่านเหล่านั้นได้หรือไม่ หรือเรายังมีกรรมกิเลสที่ต้องเป็นทาสกิเลส ไปคอยเสพสิ่งต่างๆให้เสียเวลาปฏิบัติธรรมไปอีกหรือไม่

การมีกรรมเก่าผลักดันให้เจอคนดี ไม่ได้หมายความว่าจะเจอได้ทุกชาติ กรรมดีมันก็มีหมดเหมือนกัน กรรมใดที่ส่งผลไปแล้วมันก็หมดพลังของมันเอง ทีนี้พอกรรมดีส่งผลให้เจอกับคนดี แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจ ให้เวลาไปกับการสนองกิเลส กรรมดีที่ทำมานั้นก็เสียเปล่า ส่วนกรรมชั่วที่สร้างขึ้นมาใหม่ก็รอส่งผล ซึ่งมันก็ทำให้เสื่อมลงไปได้เรื่อยๆเช่นกันหากไม่ได้ทำกรรมดีเพิ่ม

ดังนั้นถ้าอยากเจอคนดี เจอครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงไม่พาหลงทางจริงๆ ก็ให้ทำดีให้มากๆ เพียรทำดีโดยไม่ประมาท ขยันศึกษารับฟังสิ่งที่แตกต่างจากที่ตนยึดมั่นถือมั่น และนำมาพิจารณาหาประโยชน์ที่แท้ แม้ว่ากรรมเก่าจะมีพลังดีไม่มากนัก แต่กรรมใหม่ที่ทำนั้นทรงพลังมากกว่า ฟ้าไม่มีทางกั้นให้คนดีไม่พบกับทางพ้นทุกข์ได้นาน แม้จะหลงทางไปบ้างแต่ถ้าขยันทำดีไปเรื่อยๆ วิบากกรรมดีก็จะดลให้ได้พบกับครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงในวันใดวันหนึ่งเอง

พอเจอผู้ชี้ทางแล้วได้ฟังธรรม นำมาศึกษาและปฏิบัติจนเกิดผล กิเลสลด ความโลภ โกรธ หลง เบาบาง ปฏิบัติศีลที่ยากได้ดีขึ้น เช่นสามารถมีศีล ๕ ได้โดยปกติทั้งกาย วาจา ใจ นิสัยดีขึ้น มีความสุขขึ้น มักน้อยกล้าจนมากขึ้น กล้าที่จะเสียสละแบ่งปันให้กับผู้อื่นมากขึ้น สามารถที่จะรับรู้ถึงความเจริญเหล่านี้ได้เอง จนเข้าใจได้ว่าธรรมของท่านเหล่านั้นเป็นของจริง ทำให้ลดกิเลสได้จริง ทำให้เกิดความผาสุกได้จริง ทำลายสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นได้จริง

เช่นจากที่เคยชอบกินขนมชนิดหนึ่งมาก ก็ประหารความอยากนั้นได้จริงๆ ,เคยกินเนื้อสัตว์ ก็หันมากินมังสวิรัติได้แบบปกติสุข , เคยกินหลายมื้อ ก็หันมากินมื้อเดียวได้อย่างมีปัญญา , เคยอยากมีคู่ แต่ก็ทำลายความอยากนั้นจนสิ้นซากได้ต่อหน้าต่อตา พอมันทำได้จริงเช่นนี้ เอาวิธีปฏิบัติมาทำให้เกิดผลเจริญได้แบบนี้ มันก็หมดสงสัยอีก ไม่ต้องถามกันอีกว่าถูกหรือผิด เพราะถ้าผิดมันทำลายกิเลสไม่ได้อยู่แล้ว มีแต่ทางที่ถูกเท่านั้นที่จะสามารถต่อกรกับกิเลสได้

นั่นหมายความว่ามีแต่สงฆ์สาวกแท้ๆของพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะสามารถสอนวิธีทำลายกิเลสจนสิ้นซากได้ นอกเหนือจากนี้ไม่มี วิธีอื่นใดในโลกไม่มี วิธีจัดการกับกิเลสจนสิ้นเกลี้ยงมีในธรรมวินัยนี้เท่านั้น ลัทธิอื่นนอกจากนี้ไม่มี

พอรู้ได้ด้วยตนเองเช่นนี้ก็ถือว่าจบภารกิจในการตามหาครูบาอาจารย์และมิตรสหาย เพราะรู้ว่าถ้าทำดีไปตามแนวทางนี้ก็จะได้พบกับคนที่ดียิ่งขึ้น คนที่เก่งกว่านี้ และที่แน่นอนคือเราสามารถทำตนเองนี่แหละให้ดียิ่งๆขึ้น จนเป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้เช่นกัน

ทั้งหมดนี้เป็นขีดความสามารถของกรรมใหม่ที่สามารถทำได้ แม้ว่ากรรมเก่าจะขีดเขียนมาเช่นไรก็ตาม แต่หากเราใช้ทุกวันของชีวิตเพียรสร้างกรรมดีใหม่ๆขึ้นมา โอกาสที่จะได้เรียนอริยสัจ หรือความจริงอันประเสริฐสุดของชีวิตก็จะถูกเปิดเผยให้ได้ไขว่คว้ามา

ยกเว้นเสียแต่ชีวิตนี้ได้ทำอนันตริยกรรมลงไปแล้ว ประตูโอกาสทุกบานก็จะถูกปิดลง แม้จะมีทางแต่ก็ไม่เห็น แม้จะมีพระอรหันต์อยู่ตรงหน้าแต่ก็ไม่รู้ แม้จะมีธรรมที่พาพ้นทุกข์ประกาศอยู่แต่ก็จะไม่เข้าใจ แม้ครูบาอาจารย์จะเก่งแค่ไหนแต่ก็ไม่มีวันจะเรียนรู้ได้ เรียกได้ว่าหมดโอกาสบรรลุธรรมในชาตินี้ คงทำได้อย่างมากแค่ทำดีเท่าที่กำลังปัญญาจะพอมี และรอวันตายไปฟรีๆอีกหนึ่งชาติ

– – – – – – – – – – – – – – –

1.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)