Tag: เปลี่ยนแปลง

ทำไมเธอไม่เป็นดังที่ฉันหวัง

August 31, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,234 views 0

 

ทำไมเธอไม่เป็นดังที่ฉันหวัง

ทำไมเธอไม่เป็นดังที่ฉันหวัง

คงจะมีหลายครั้งหลายเหตุการณ์ในชีวิต ที่เราหมายมั่นตั้งความหวังไว้ว่า เมื่อเราลงมือทำบางสิ่งลงไปแล้ว สิ่งนั้นจะเปลี่ยนแปลง พัฒนาไปตามที่เราคาดหวังไว้ แต่ความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น กลายเป็นเหมือนกับว่าเราพยายามที่ทำให้น้ำทะเลจืด พยายามทำไปอยู่อย่างนั้นโดยไม่เข้าใจความเป็นจริง…

อาจจะเพราะทำกรรมอะไรเอาไว้…

คงจะเหมือนกันกับตอนที่เรายังเป็นเด็ก พ่อแม่ของสอนสั่ง แนะนำสิ่งที่ดีให้กับเรา แต่เราก็ยังจะดื้อ ไม่ทำตาม ไม่เชื่อฟังในสิ่งที่ดี ก็จะเอาแต่สิ่งที่กิเลสของตัวเองต้องการ จนถึงเวลาที่ผลของกรรมสุกงอม เราจึงได้รับผลของกรรมนั้น พ่อแม่อาจจะไม่ได้มาดื้อกับเราเหมือนที่เราไปดื้อกับท่านก็ได้ แต่อาจจะส่งคนบางคน สิ่งบางสิ่ง เหตุการณ์บางเหตุการณ์ ที่ทำให้เราต้องทุกข์กับความดื้อรั้น เอาแต่ใจของสิ่งๆนั้น ซึ่งอาจจะมาในรูปของ คนในครอบครัว คนรัก เพื่อน ลูกน้อง สิ่งของ หรือเหตุการณ์อื่นๆก็ได้เหมือนกัน เป็นอะไรก็ได้ เดาไปก็ไม่ถูก แต่เมื่อเวลาถูกกระทำกลับก็จะสามารถรับรู้ได้ด้วยตัวเองได้บ้าง

ขึ้นชื่อว่ากรรมแล้ว ไม่มีทางผ่านพ้นไปโดยที่เราไม่ได้รับผลนั้นอย่างแน่นอน ยิ่งถ้าชาตินี้เราไปทำกับใครไว้ ไม่ต้องกลัวเลยว่าจะไม่ได้รับ เราได้สิทธิ์นั้นแน่นอน แล้วกรรมเขายังใจดีแบ่งให้เรารับไปในชาติหน้า และชาติอื่นๆสืบไปด้วย จึงเรียกได้ว่า การทำกรรมดีหรือกรรมชั่วครั้งเดียว ก็สามารถนอนรอรับผลกันได้จนคุ้มข้ามชาติกันเลย

ในเวลาที่เหมาะสม กรรมก็จะดึงคู่เวรคู่กรรมของเราเข้ามา หรือที่ใครหลายๆคนอาจจะเรียกว่าเนื้อคู่ก็ได้ เป็นคนที่ทำให้เราสุขหรือทุกข์ได้รุนแรงกว่าคนอื่น ยกตัวอย่างเช่น ในเหตุการณ์แบบเดียวกัน คนทั่วไปทำอะไรกับเราแบบหนึ่ง เราไม่ถือสา แต่พอเป็นคนนี้ทำกับเรา เรากลับถือสา คิดมาก ถ้าเป็นเชิงคู่รักที่เคยเสพสมกิเลสร่วมกันมา ก็จะมีลักษณะเป็นเหมือนเหตุการณ์ที่คนอื่นเขาจีบเราแทบตาย เราไม่สนใจ แต่คนนี้พูดไม่กี่ประโยค เรากลับหลงใหล ลักษณะแบบนี้แหละที่เรียกว่าตัวเวรตัวกรรม เจอแล้วก็ให้พึงระวังตั้งสติกันไว้ดีๆ เพราะกรรมจะลากเขาเหล่านั้นเข้ามาใช้เวรใช้กรรมด้วยกันต่อ อาจจะเป็นคนมาร่วมรัก คนที่ได้รักแค่ฝ่ายเดียว คนที่เข้ามารัก หัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน หรือคนใดๆที่มีจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในชีวิตของเราก็ได้

กรรมส่วนหนึ่งก็มาจากกิเลสของเรานี่แหละ ด้วยความที่เราอยากจะสนองกิเลสของเรา ก็เลยไปทำสิ่งที่ไม่ถูกใจใครหลายๆคนไว้มาก เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม กรรมเหล่านั้นก็จะส่งผลมาเป็นเหตุการณ์ที่พาให้ขัดใจเรา ทำให้เราทุกข์ แต่เราก็ไม่สามารถหนีออกไปได้ เรายังต้องวนอยู่กับทุกข์เหล่านั้นโดยไม่เห็นทางออก แม้จะมีคนมาบอกแนะนำ เราก็จะไม่ฟัง ถึงฟังก็ไม่เข้าใจ จนบางครั้งพาลไปสร้างกรรมใหม่ ไม่พอใจคนที่หวังดี ไม่พอใจคนที่มาแนะนำทางออกให้เราด้วย ซึ่งเป็นธรรมดาของคนที่หลงในกิเลส เมื่อเวลาที่มีคนมาพูดขัดใจ ขัดกับกิเลสของเรา เราก็มักจะไม่พอใจ ไม่สนใจ ด้วยเหตุนั้นเราก็เลยต้องทนทุกข์ไปจนกว่าจะรับวิบากกรรมชุดนั้นหมด

กรรมที่เราได้รับนั้น เป็นเพียงภาพเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เราเห็นสิ่งที่เราได้ทำมา ที่เราเคยทำชั่วมาตั้งแต่ชาติไหนๆก็ตาม เป็นสิ่งที่เราต้องรับเพราะเราทำมา แต่โลกก็ไม่ได้โหดร้ายขนาดนั้น เรายังสามารถทำกุศล เพื่อที่จะละลาย ลด บรรเทาอกุศล หรือความทุกข์ โทษ ภัย ที่เกิดขึ้นได้ …หากยังรู้สึกทุกข์ มืดมัว ปวดหัว หาทางไปไม่เจอ ก็ให้ทำดีมากๆ ทำดีไปเรื่อยๆ เมื่อถึงเวลาหมดวิบากกรรมชุดนั้นๆ ก็จะมีเหตุการณ์ที่พาหลุดจากสภาพนั้นเอง อาจจะเกิดปัญญาเข้าใจก็ได้ หรือเขาอาจจะเปลี่ยนแปลงในทางที่ก็ได้ จะเป็นอะไรก็ได้ แต่จะพ้นจากสภาพของทุกข์ที่เคยแบกเอาไว้

ดังนั้นการล้างกรรมที่ดีที่สุด ก็คือการล้างกิเลส เพราะเมื่อเราหมดกิเลสนั้นๆ เราก็จะไม่สร้างวิบากบาปต่อไปอีก และกุศลยังสามารถไปละลายวิบากบาปที่เคยทำในอดีตให้เบาบางได้อีกด้วย เรียกว่าปิดประตูนรกกันไปเลย

เมื่อเราจมอยู่กับความคาดหวัง ฝนลมๆแล้งๆ….

ความคาดหวังกับความผิดหวังเป็นของคู่กัน คงเพราะเรามีความฝัน อุดมคติ ความมั่นใจ ความยึดดีถือดี ว่าสิ่งดีจะต้องเกิดเมื่อเราคิดดีพูดดีทำดี แต่ในความเป็นจริง ดีนั้นอาจจะไม่เกิดก็ได้ เมื่อดีไม่เกิดสมใจ คนติดดีก็เลยเป็นทุกข์ บางคนก็ถึงกับฝันลมๆแล้งๆ หลอกตัวเองไปวันๆว่าสิ่งที่ดีจะต้องเกิด โดยไม่ได้เข้าใจเหตุปัจจัยที่ทำให้ดีนั้นเกิด เหมือนคนที่เฝ้าฝันว่าวันหนึ่งจะสร้างชีวิตให้ยิ่งใหญ่ แต่ก็ยังมัวแต่นอนฝันอยู่บนเตียง

การที่เราไปเฝ้าฝันให้เขาหรือใครเปลี่ยนนั้น เป็นการเข้าใจที่ผิดเพี้ยนไปจากเรื่องกรรมที่ถูกที่ควร เพราะการที่เขาจะเปลี่ยนได้นั้น จะเกิดจากกรรมของเขาเอง ไม่ได้เกิดจากการที่เราคิดหวัง ฝันไป หรือจะไปบอกให้เขาแก้ไข ไปช่วยเขาแก้ไข โดยมีความคาดหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่าเขาจะแก้ไขเพราะเขาก็มีกรรมของเขา เขาก็เป็นอย่างนั้น เราจะอยากให้เขาเป็นอย่างที่เราหวัง เราก็จะผิดหวัง แล้วเราก็ทุกข์ เหมือนอย่างที่หลวงพ่อชาท่านได้สอนไว้ว่า เราอยากให้เป็ดมันเป็นไก่ มันก็ทุกข์ เพราะเป็ดมันก็เป็นเป็ด มันจะเป็นไก่ตามใจเราไปไม่ได้

จะไปแก้เขานี่มันยาก ลองกลับมาแก้ตัวเราก่อนดีไหม…

เมื่อเราไม่สามารถทำให้เขาเปลี่ยนแปลงได้ เราก็จะลองกลับมาแก้ตัวเองกันดู เพื่อที่จะได้เข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงที่ฝืนธรรมชาติ หรือฝืนกิเลสของตัวเองนั้น มันยากขนาดไหน เรามาลองปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆในชีวิตกันดู เช่น ตื่นให้เช้าขึ้น ,นอนให้พอดี ,ศึกษาแต่สาระหรือสิ่งที่มีประโยชน์ ,กินแต่สิ่งที่มีประโยชน์ , ทำงานบ้านเป็นประจำ, เลิกสิ่งฟุ่มเฟือย, เลิกสิ่งที่ทำให้หลงมึนเมา ในแบบหยาบๆ ก็คือ เหล้า เบียร์ ยาเสพติด ฯลฯ หรือจะขยับขึ้นมาก็เลิกหลงเมามายในสิ่งที่หลงอยู่เช่น ชอบฟังเพลง ชอบดูกีฬา ชอบเล่นพนันชอบดูละคร ชอบเที่ยวกลางคืน ชอบไปตระเวนกินของอร่อย บ้าดารา ฯลฯ,,,

ถ้ายังรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงโดยลดสิ่งไร้สาระพวกนี้มันง่ายไป ก็ลองถือศีล ๕ ดู และยกระดับของศีลขึ้นไปเรื่อยๆ เป็น ศีล ๘ ศีล ๑๐ ไปจนถึงนำจุลศีลบางข้อที่พอจะปฏิบัติได้มาใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะศีลเหล่านี้เป็นไปเพื่อความสุข เพื่อการพ้นทุกข์ เป็นสิ่งที่ดีเลิศ เป็นสิ่งที่เยี่ยมยอดที่สุดในโลก

แล้วเราก็จะเห็นว่า…เป็นอย่างไรล่ะ เราเองก็ยังเปลี่ยนแปลงไปทำสิ่งที่ดีไม่ได้เลย ถึงแม้จะรู้อยู่เต็มอกว่าทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นสิ่งที่ดี แต่ความคิดหรือกิเลสข้างในมันจะค้านแย้งตลอดเวลา มีหลายๆเหตุผลที่เราจะไม่ยอมทำดี เช่น ก็แค่อยากเป็นคนธรรมดาที่มีความสุข , ไม่ได้เคร่งขนาดนั้น , แค่อยากมีชีวิตที่ดี ….ฯลฯ แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนั่นแหละ เป็นวิธีปฏิบัติสู่ชีวิตที่ดี ที่เราเองก็ทำไม่ได้แถมยังปฏิเสธ พร้อมทั้งหาเหตุผลมากมายที่จะไม่ทำดีเหมือนกัน

จะเห็นว่าการจะแก้ตัวเรานี่ยังทำได้ยากเลย จะทำตัวเราให้เป็นคนดีว่ายากแล้ว การไปแก้คนอื่นนั้นยากกว่า เพราะการจะไปแก้คนอื่นหรือไปสั่งสอน ไปแนะนำคนอื่นนั้น จำเป็นต้องทำตัวเองให้เรียนรู้และเข้าใจในเรื่องนั้นๆอย่างถ่องแท้เสียก่อน ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “บัณฑิตพึงตั้งตนไว้ในคุณอันสมควรก่อน แล้วสอนผู้อื่นภายหลัง จึงไม่มัวหมอง” เข้าใจกันง่ายๆว่า ทำตัวเองให้ได้ก่อนเถอะ แล้วค่อยไปสอนคนอื่น

เมื่อเห็นดังนี้แล้วว่า ต้องทำตัวเองให้ดีก่อน จึงจะสามารถช่วยคนอื่นได้ เราก็พยายามทำตัวให้ดี ลดอบายมุข หยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสไปเรื่อยๆเมื่อเราทำดีมากๆ เวลามีคนที่เขามาทำสิ่งไม่ดีกับเรา เขาก็จะได้รับวิบากกรรมแรงกว่าทำสิ่งไม่ดีกับเราในสมัยเมื่อเรายังชั่วอยู่ เมื่อได้รับวิบากกรรมแรง ก็จะเกิดทุกข์แรง เมื่อเกิดทุกข์แรง ก็จะสามารถเข้าใจได้เร็ว ดังคำที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม

ดังนั้น การที่เราพยายามทำดี ประพฤติตัวเป็นคนดี ก็เพื่อที่จะช่วยเขาทางอ้อม คือเร่งให้เขาได้รับ ทุกข์ โทษ ภัย จากการที่เขายังยึดมั่นในสิ่งไม่ดีให้เร็วขึ้น จะได้เห็นทุกข์ เข้าใจทุกข์ เลิกทำชั่วให้เกิดทุกข์ จะได้พ้นทุกข์ได้ไวขึ้น จากที่เคยต้องจมอยู่หลายปี ถ้าเราทำดีมากๆ เขาอาจจะหลุดจากสภาพดื้อรั้นนั้นได้ในเวลาไม่กี่เดือน โดยเฉพาะคนที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน เช่น คนในครอบครัว คนรัก เพื่อนร่วมงาน คนที่มีความสัมพันธ์ในชีวิตกับเรามากๆ จะได้รับผลกระทบนี้โดยตรง

จนผู้ที่ได้ทดลองทำดีสามารถเห็นผลได้ด้วยตัวเองว่า เมื่อเราเปลี่ยน ทุกคนก็จะเปลี่ยนตาม โดยที่แทบจะไม่ต้องพูด บอกกล่าว ชี้แจง แถลง บังคับใดๆ กับคนเหล่านั้นเลย เขาจะเห็นดีตามเรา และเกิดศรัทธาจนเขาอาจจะทดลองที่จะเปลี่ยนตามเราดูบ้าง หรือในบางกรณี คนที่ร้ายกับเราก็อาจจะหลุดพ้นชีวิตเราไปเลยก็ได้ เพราะเราได้ใช้วิบากบาปที่ต้องมาทนใช้กรรมร่วมกันนั้นหมดไปแล้ว เมื่อเขาเองไม่คิดจะร่วมกุศลกับเรา เขาก็จะไปตามทางที่กิเลสเขาชี้นำ ในส่วนนี้ถ้าช่วยเขาได้ก็ช่วยไป ถ้าช่วยไม่ได้ก็ปล่อยเขาไป

แต่ถ้าเราคิดว่าเราทำดีแล้วไม่เกิดดี นั่นก็เพราะว่าเรายังทำดีไม่มากพอ ก็ให้พยายามทำดีไปเรื่อยๆ อย่าไปหวังผล วันหนึ่งจะพบการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีเอง กรรมจะจัดสรรช่องให้เราออกไปพบสิ่งที่ดี มีสิ่งดีในชีวิตเข้ามา แม้แต่คนรอบข้างก็อาจจะเปลี่ยนไปเพราะพลังแห่งความดี หรือกุศลที่เราทำมานั่นเอง

หรือในอีกกรณีคือการทำดีที่ไม่เข้าใจถึงผลแห่งความดี คือทำดีในความเข้าใจที่โลกเข้าใจ แต่ผิดไปจากทางของพุทธ คือผิดสัมมาทิฏฐิ เมื่อผิดไปจากความคิดเห็น ความเข้าใจ ความเชื่อที่ถูกที่ควร ก็มีแต่จะพาไปนรกเท่านั้น กลายเป็นดีที่ทำไปนั้น ไม่ได้ดีตามจริง เพียงแค่เป็นดีที่เขาบอกกันมา แต่ไม่ใช่สาระแท้ ไม่ได้พาพ้นทุกข์ ไม่ได้พาลดกิเลส จึงมีกุศลเพียงน้อยนิด หรือบางทีก็อาจจะกลายเป็น “ทำบุญได้บาป” มาแทนก็เป็นได้

ดังนั้น ในเรื่องของความดี จำเป็นต้องศึกษาจากผู้รู้ มีเพื่อนที่คอยช่วยแนะนำในทางที่ถูกที่ควร เพราะความดีที่ถูกตามหลักของพุทธนั้น จะคิดเอาเองไม่ได้ เข้าใจเองไม่ได้ ต้องมีผู้รู้มีแสดงให้เห็นเท่านั้น เป็นสัจจะของพระพุทธเจ้าว่า ถ้าคนจะบรรลุธรรม หรือจะปฏิบัติชีวิตไปสู่การพ้นทุกข์ ต้องคบหาสัตบุรุษเสียก่อน สัตบุรุษก็คือบัณฑิตที่มีสัจจะแท้ มีธรรมนั้นๆในตัวเอง ปฏิบัติจนเข้าใจแจ่มแจ้ง รู้จริงเรื่องกิเลส เกิดปัญญารู้แจ้งในตัวเอง แล้วจึงสามารถถ่ายทอด สอน แนะนำ คนอื่นได้

– – – – – – – – – – – – – – –

31.8.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ฉันอยากสวย ฉันอยากดูดี

August 28, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,222 views 0

ฉันอยากสวย ฉันอยากดูดี

ฉันอยากสวย ฉันอยากดูดี

เกิดเป็นผู้หญิงแท้จริงแสนลำบาก เกิดมาไม่สวยตามที่คนอื่นเขาเข้าใจ ยังต้องไปลำบากทำให้มันสวยของมันมาดีอยู่แล้วก็ไปเสริมเติมแต่งตัดต่อให้มันเป็นไปตามความอยาก โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าที่จริงแล้วทำไปเพื่ออะไร…

การมีความสวยงาม มักดูเป็นเรื่องดี มีแต่คนอิจฉา อยากจะเป็น อยากจะสวยบ้าง อยากจะดูดีบ้าง เหล่าหญิงผู้ที่เข้าใจว่าตัวเองมีหน้าตาธรรมดาทั่วไปก็เลยต้องลำบากไปหาเครื่องเสริมเติมแต่งให้หน้าตาออกมาดูดี หรือถ้ายังไม่พอใจก็จะเริ่มแต่งตัว ไปจนถึงเปิดนั่นนิด เปิดนี่หน่อย จนถึงกระทั่งใช้ร่างกายของตนเป็นจุดขาย โดยไม่รู้ว่าจริงๆแล้วเราอยากจะสวยไปทำไม…

มีหลายคนที่ไม่ได้เกิดมาสวยเลิศเลอ ก็เลยต้องพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ความสวย ต้องหาเครื่องบำรุง เครื่องประดับ เสื้อผ้าหน้าผม จนกระทั่งการไปผ่าตัดเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ออกมาสวยหรือดูดี เหตุที่ผลักดันความอยากสวยเหล่านี้ ถ้าจะอ้างกันไปคงจะมีหลายประการ แต่ถ้าจะเจาะลงรากลึกๆก็คงจะเป็นเรื่องของความหลงในรูปของตัวเอง กับอยากให้ผู้อื่นสนใจ

ความหลงในรูปและ อยากให้ผู้อื่นสนใจ

คือเข้าใจว่า สวยจึงจะดี ต้องดูดีผิวเนียนหุ่นดี จึงจะดี ต้องมีหน้าตาแบบนั้น แต่งกายแบบนี้จึงจะดี ฯลฯ และหลงไปในความสวยของตัวเอง เสพติดความสวยจนต้องหาสิ่งมาปรนเปรอบำเรอความสวย

ความหลง ความอยากหรือกิเลสเหล่านี้ ถ้ามีมากๆก็จะทะลักออกข้างนอก ไม่อยู่ข้างในตัว คือจะเริ่มเผยแพร่ความสวยของตนออกไป เช่นถ่ายรูปตัวเอง ทำท่าแบบนั้นแบบนี้ เริ่มเปิดโป้เปลือยออกสู่สาธารณะ เพราะความหลงในความสวยของตัวเองมันมากจนควบคุมไม่ไหว และหลงเข้าใจผิดว่าเป็นของควรอวด เข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งควรค่าแก่การนิยม เข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งดี จึงทำให้ไม่สำรวมกายแจกจ่ายออกให้ผู้อื่นรู้ว่าฉันสวย ฉันดูดี สนใจฉันสิ ดังนั้นเหตุหลักๆที่ผลักดันให้คนเกิดความอยากสวยก็คือ ความอยากให้ผู้อื่นสนใจ เป็นที่สนใจ เป็นที่นิยมชมชอบ หรือติดโลกธรรมนั่นเอง

ความอยากให้ผู้อื่นสนใจไม่ได้หมายเพียงแค่เรื่องคู่ แต่เป็นเรื่องที่ขยายไปไกลถึงกระทั่งหมกมุ่นในคำสรรเสริญ คำชม ความนิยมชมชอบ ดังที่จะเห็นได้ชัดในปัจจุบัน มีผู้หญิงมากมายสร้างตัวเองให้เป็นที่นิยม บ้างก็ขายความสวย บ้างก็ขายความน่ารัก บ้างก็ขายเรื่องราว บ้างก็ขายไปถึงร่างกาย เช่น เอาร่างกายส่วนนั้นส่วนนี้มาโชว์ เปิด โป้ เปลือยกันไปเพื่อแลกกับความนิยมชมชอบ

ความนิยมชมชอบเป็นเสมือนแหที่หว่านลงไปในทะเล แท้ที่จริงแล้ว คนเราก็มักจะมีแรงผลักดันจากความเหงา การต้องการคนเข้าใจ เธอเหล่านั้นใช้วิธีด้านปริมาณเพื่อจะมาคัดคุณภาพของสิ่งที่จะได้รับ เพราะเมื่อสร้างความสวยงามที่มากขึ้น ก็จะมีคนเข้ามามากขึ้น เมื่อมีคนเข้ามามากขึ้นก็จะสามารถเลือกได้มากขึ้น สุดท้ายก็จะหนีไม่พ้นเรื่องของการมีคู่

แต่ในความจริง ความสวยงามหรือความนิยมเหล่านั้นจะดึงเอามาได้เฉพาะคนที่มีกิเลส เหมือนการตกปลาก็คงจะมีเฉพาะปลาที่หิวโหยและโง่เท่านั้นที่จะมากินเหยื่อ ดังนั้นการตั้งหน้าตั้งตาพัฒนาความสวยดังที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นบทความจนกลายมาเป็นที่นิยม ก็เพียงแค่หาเหยื่อโง่ๆ ที่มาหลงไปกับความสวยและยินยอมพร้อมใจจะมาปรนเปรอกิเลสของตัวเองได้เท่านั้นเอง

จริงอยู่ที่ว่าผู้ชายนั้นชอบคนสวย ก็ไม่ต่างกันจากผู้หญิงที่ชอบผู้ชายดูดี เป็นความหลงในรูปของร่างกาย เป็นเรื่องธรรมดาเพราะเป็นของหยาบ รู้ได้เพียงแค่ใช้การมอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากิเลสของผู้ชายเหล่านั้นจะหยุดลงแค่เสพรูปกาย เขาเหล่านั้นยังมีความต้องการอีกมากมายที่คุณอาจจะคิดไม่ถึง จึงเรียกได้ว่า สวยอย่างเดียวไม่เพียงพอจะเติมเต็มกิเลสเขาได้หรอก

ดังนั้น ไม่ว่าจะพยายามที่จะสวยเพื่อบำรุงบำเรอกิเลสตัวเอง หรือปรนเปรอกิเลสของผู้อื่น ก็มีปลายทางเป็นนรก ที่เดือดร้อนใจ และความผิดหวังด้วยกันทั้งนั้น เพราะกิเลสเป็นสิ่งที่ไม่มีวันเติมได้เต็ม ยิ่งเติมก็ยิ่งพร่อง ยิ่งเติมก็ยิ่งขาด

ผู้ที่ยังอยากสวยพึงพิจารณาให้เห็นลึกลงไปถึงความอยากของตัวเองว่า อยากสวยไปทำไม? สวยแล้วอยากจะได้อะไร ?อยากได้มาแล้วจะเอามาทำอะไร? ได้มาแล้วจะสุขจริงไหม? แล้วจะสุขเช่นนั้นไปตลอดไหม? ทั้งหมดที่ทำมาคืออะไร?เป็นไปเพื่อสร้างสุขหรือแท้จริงแล้วเป็นทุกข์?

หากว่าเราเข้าใจว่าความอยากสวยเหล่านั้นเป็นเพียงแค่คำสั่งของกิเลสที่เข้ามาหลอกให้เราหลงไป เราก็จะเห็นความจริงตามความเป็นจริง สุดท้ายแล้วถึงจะมีความสวยแต่ก็ไม่ยึดติดความสวย ถึงจะไม่สวยก็ไม่ไขว่คว้าหาความสวย เพราะรู้แน่ชัดในใจแล้วว่าสิ่งเหล่านั้น ไม่ใช่สาระแท้ของชีวิต

– – – – – – – – – – – – – – –
28.8.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เปลี่ยนแปลง เราเปลี่ยนตัวเองเพื่อใคร

August 10, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,855 views 0

เปลี่ยนแปลง เราเปลี่ยนตัวเองเพื่อใคร

เปลี่ยนแปลง เราเปลี่ยนตัวเองเพื่อใคร

ชีวิตที่ดำเนินมาจนถึงวันนี้มีแต่การเปลี่ยนแปลง ไม่มีใครที่ไม่มีเปลี่ยนแปลง นิสัย ความเชื่อ ความเข้าใจ ความคาดหวัง แม้แต่ฝันในวัยเด็ก หรือสิ่งที่เราเคยยึดมั่นว่าจะไม่เปลี่ยนแปลง กลับเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เราเคยสังเกตกันบ้างไหมว่าทำไมเราจึงเปลี่ยนแปลง แล้วอะไรทำให้เราเปลี่ยน…

ความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดได้จากแรงกระตุ้นทั้งภายนอกและภายใน ภายนอกคือครอบครัว มิตรสหาย คนรัก สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ส่วนภายในก็คือ ความตั้งใจของตัวเอง

เปลี่ยนเพราะกิเลส….

การเปลี่ยนแปลงในบางครั้งเกิดจากแรงผลักดันของกิเลส ความอยากได้อยากมีอยากเป็น จนเกิดการเปลี่ยนแปลงจากสภาพหนึ่งไปสู่อีกสภาพหนึ่ง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่มีกิเลสเป็นตัวผลักดันนั้น ผลย่อมออกมาไม่สวยงามอย่างแน่นอน

เช่น บางคนเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดูดี ด้วยการออกกำลังกาย แต่งตัวสวย กินอาหารดี กินผักผลไม้ เปลี่ยนบุคลิก โดยมีความตั้งใจของตัวเองอันเกิดจากความอยากจะพ้นสภาพทุกข์ใจของความไม่สวย ไม่งาม ไม่แข็งแรง ดูไม่ดี ไม่มั่นใจ ฯลฯ บวกกับแรงของกิเลสที่อยากสวยอยากงาม ดูดี ในเวลาเดียวกัน รวมถึงมีแรงกระตุ้นจากภายนอก เช่น สังคมบอกว่าผอมจึงจะสวย แต่งหน้าจึงสวย ต้องมีรูปร่างแบบนี้จึงจะดูดี เพื่อนทักว่าโทรม ครอบครัวทักว่าดูแลตัวเองหน่อย แฟนชอบแซวว่าอ้วน… ดูเผินๆอาจจะเป็นเพราะแรงกระตุ้นจากภายในและภายนอก แต่ความจริงมันคือแรงกระตุ้นของกิเลส

เพราะมีกิเลสจึงมีทุกข์ เก็บเอาคำพูดของคนอื่นมาเป็นทุกข์ของตัวเอง การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้เป็นการเปลี่ยนเพื่อหนีจากทุกข์แบบหนึ่งไปเจอทุกข์อีกแบบหนึ่งเท่านั้น

ทุกข์ใหม่ที่จะเจอหลังจากการเปลี่ยนแปลงแบบมีกิเลสนี้จะมีอะไรบ้าง เช่น เราต้องเสียเวลาแต่งหน้า ต้องลำบากออกกำลังกายเกินความจำเป็น ต้องเสียเงินซื้อเสื้อผ้าเครื่องสำอางใหม่ โดยไม่รู้เลยว่าการเปลี่ยนแปลงเพื่อกิเลสเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน ไม่มีสาระ ไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะการหนีจากทุกข์หนึ่งไปเจออีกทุกข์หนึ่งก็เหมือนหนีเสือปะจระเข้

กิเลสมักจะหลอกให้เราหลงทางว่าเราเปลี่ยนไปในทางที่ดี เราจึงควรตรวจสอบให้ดีว่าความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นมีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นจริงหรือไม่ เป็นไปเพื่อสะสมกิเลสหรือลดกิเลส แต่ถ้าไม่มั่นใจก็ลองปรึกษาเพื่อนหรือถามผู้รู้เพิ่มเติมก็ได้

เปลี่ยนเพราะเข้าใจในกิเลส….

๑…เปลี่ยนตัวเองเพราะทุกข์ของตัวเอง

เมื่อคนเราเจอทุกข์เข้ามากๆ และทนกับทุกข์นั้นๆไม่ไหว ก็จะเป็นไปดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม” เมื่อถึงจุดที่เราได้เข้าใจทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ วิธีดับทุกข์ จนกระทั่งเข้าใจวิถีปฏิบัติไปสู่การดับทุกข์เมื่อเข้าใจได้ดังนี้แล้ว จึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงบางสิ่ง เช่น วิธีคิด วิถีชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อมไปจากเดิม เพราะเห็นชัดเจนแล้วว่าสิ่งเดิมที่เคยคิด เคยมี เคยเป็นนั้นเป็นทุกข์ และก็จะไม่ยินดีที่จะไปสร้างทุกข์ใหม่อีกด้วย เป็นการดับทุกข์ที่เหตุ คือการดับกิเลสของตัวเองแทนที่จะไปหาสุขลวงมาแก้ทุกข์ที่มี หรือจะเรียกได้ว่าไม่ไปหาทุกข์ใหม่มากลบทุกข์เก่า

การออกจากทุกข์เช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าเมื่อคิดแล้วจะหลุดพ้นจากทุกข์นั้นได้ทันทีเสมอไป ต้องปฏิบัติอย่างตั้งมั่น ใช้ปัญญาพิจารณาเหตุแห่งทุกข์เหล่านั้นจนกระทั่งเกิดผล คือเข้าใจเหตุปัจจัยในการเกิดทุกข์ จนกระทั่งถึงความรู้สึกเบื่อหน่ายจากสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นไว้ เมื่อเราไม่ได้ยึดสิ่งเดิมไว้ เราก็พร้อมจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ด้วยความเต็มใจ พอใจ และเป็นสุขจากการเปลี่ยนแปลงนั้น

๒…เปลี่ยนตัวเองจากการเห็นทุกข์ของผู้อื่น

สำหรับบางคนก็ไม่จำเป็นต้องเจอทุกข์เอง ก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ เช่นเห็นคนเมาแล้วขับรถจนเกิดอุบัติเหตุ แล้วก็สามารถใช้ทุกข์ของคนอื่นมาพิจารณา จนตัวเองเลิกกินเหล้าเปลี่ยนเป็นคนใหม่ที่ไม่กินเหล้าได้ โดยไม่ต้องรอให้เจออุบัติเหตุแบบนั้น

เห็นคนชิงดีชิงเด่นในที่ทำงานแล้วรู้สึกว่าพวกเขาทุกข์และชีวิตวุ่นวาย เมื่อพิจารณาเห็นทุกข์ ก็สามารถออกจากความอยากเด่น อยากดัง อย่างแย่งชิงตำแหน่งได้โดยไม่ต้องลงสนามไปเล่นกับเขาให้ตัวเองทุกข์

คนที่เห็นความโหดร้ายของอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์แล้วย้อนกลับมาดูตัวเองว่าถ้าเรายังกินเขาอยู่ ต่อไปชาติใดชาติหนึ่งเราก็ต้องโดนแบบนั้นบ้าง ก็สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ ออกจากกิเลสนั้นๆได้โดยไม่ต้อง เสียเวลาทุกข์เพราะวิบากกรรมที่ไม่อยากจะทำ

บางคนเห็นคนอื่นเป็นมะเร็งจากสาเหตุที่กินเนื้อสัตว์มาก โดยเฉพาะการปิ้งย่าง เมื่อรับรู้และเห็นถึงความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย ก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เลิกกินเนื้อสัตว์หันมากินผักได้

หรือคนที่ติดบุหรี่ แต่ไปเห็นอาการป่วยของคนที่ติดบุหรี่เหมือนกัน เห็นความทุกข์ ทรมาน อันเกิดจากบุหรี่ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเอง ตัดบุหรี่ออกจากชีวิตได้โดยไม่ต้องรอให้ตัวเองป่วย

หรือกระทั่งคนที่เคยอยากมีคู่ พอเห็นคนอื่นเขาทุกข์จากเรื่องคู่ เรื่องครอบครัว ก็ไม่อยากมีเอาเฉยๆ ยอมเปลี่ยนแปลงมาเป็นคนโสดอย่างเต็มใจ

ลักษณะนี้ก็เรียกว่าเห็นทุกข์จึงเห็นธรรม แต่ดีตรงที่ไม่ต้องเจอทุกข์หนักกับตัวเอง คือผู้ที่มีบุญบารมีสะสมมา เป็นสิ่งที่เคยบำเพ็ญเพียรกับเรื่องเหล่านั้นมานาน แค่มีเหตุปัจจัยมากระตุ้นให้ระลึกได้ ก็เพียงพอที่จะสามารถเห็นและเข้าใจความเป็นจริงได้โดยไม่ต้องทนทุกข์ เพียงแค่เห็นคนอื่นทุกข์ก็สามารถเข้าใจและละเหตุแห่งทุกข์ก่อนที่สิ่งเหล่านั้นจะเกิดตัวเองได้

และผู้ที่มีบุญบารมีมากกว่านั้นคือไม่มีอาการติดสิ่งเหล่านั้นมาตั้งแต่เกิดเลย ไม่ว่าใครจะพาทำ เติม เสริมแต่ง ยั่วเย้า จะมอมเมาอย่างไรก็ไม่ไปติดเหมือนคนอื่นเขา ถึงจะติดก็ติดแค่เปลือก ใช้เวลาสักพักก็หลุดจากกิเลสเหล่านั้นได้ไม่ยาก ต่างจากคนทั่วไปที่เวลามีกิเลสแล้วก็ยิ่งจะยึดมั่นถือมั่น ยิ่งพอกพูนสะสมกิเลสเข้าไปเรื่อยๆ

๓…เปลี่ยนตัวเองเพราะทุกข์ของผู้อื่น

เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากจิตที่เป็นกุศลหรือความคิดที่อยากทำสิ่งดีๆให้กับผู้อื่นเป็นตัวผลักดัน เป็นแรงกระตุ้นจากภายนอกเข้ามาสู่ภายในให้เปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นประโยชน์ภายนอกอีกที

เช่น เราอยากจะช่วยเหลือคนอื่น เราอยากจะเป็นคนดีให้พ่อแม่ภูมิใจ เราอยากเก่งขึ้นเพื่อผู้อื่น เราอยากจะเสียสละเพื่อให้สังคมดีขึ้น เพราะเหตุที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ครอบครัว คนรัก คนรอบข้าง เพื่อนร่วมงาน มิตรสหาย สิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวสะท้อนให้เราเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วกลายเป็นตัวกระตุ้นจิตสำนึกของเราให้อยากจะเปลี่ยนแปลง พัฒนาตัวเองเพื่อผู้อื่น

และเมื่อเรามีปัญญาที่เห็นปัญหา เห็นทุกข์ของผู้อื่น มีเมตตามากเพียงพอที่จะเห็นใจผู้อื่น มีความตั้งใจมากพอที่จะกรุณา เราจะยอมเสียสละ ยอมลดอัตตาตัวตนของตัวเอง ยอมลดกิเลสที่ตัวเองมีเพื่อคนอื่น เพื่อที่จะขยายขอบเขตที่จะทำสิ่งที่เป็นกุศลได้มากกว่าเดิม เหมือนการลอกคราบเก่าทิ้งไป ให้ตัวเองเติบโตขึ้นเพื่อไปช่วยคนอื่นได้มากขึ้น

เช่น เด็กที่เปลี่ยนแปลงพัฒนาตัวเองมาเป็นเด็กขยัน ทั้งเรียนหนังสือและดูแลพ่อแม่ เพราะพ่อแม่เจ็บป่วยทำงานไม่ได้ มีให้เห็นได้บ่อยๆ ในสังคมไทย

คนทั่วไปที่ยอมสละเงิน ไปช่วยคนอื่นที่ตกยากลำบาก ยอมเปลี่ยนตัวเองจากคนตระหนี่ถี่เหนียว หรือใช้เงินเหล่านั้นเพื่อสนองกิเลสตัวเอง มาเป็นคนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สละของตนให้กับผู้อื่น เพราะเห็นความทุกข์ยากของคนอื่นเป็นเหตุ

ผู้ทำงานจิตอาสา เสียสละเวลา ทุน สุขภาพ ฯลฯ ของตัวเอง เพื่อช่วยเหลือสังคม ก็เกิดจากคนธรรมดาทั่วไปที่เข้าใจปัญหาของสังคมจนเปลี่ยนแปลง ปลุกตัวเองขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคม

ผู้นำทางการเมืองหลายคนก็เคยเป็นคนธรรมดาสามัญ แต่เมื่อมีเหตุการณ์วิกฤติ ก็จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของตน ดังคำที่ว่า “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ”

พระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เสียสละประโยชน์คือความสงบของตัวเอง เปลี่ยนตัวเองออกจากฐานที่มั่น มาช่วยเหลือคนและโลก โดยการเผยแพร่ธรรม บางท่านมีเวลาอิสระ ส่วนตัว พักผ่อน น้อยกว่าคนที่ทำงานออฟฟิศทั่วไปเสียอีก หรือแม้แต่ท่านที่อุทิศเวลาทั้งชีวิตให้กับศาสนา ให้กับสังคมและโลกก็มีให้เห็นเหมือนกัน

จะเห็นได้ว่าในขณะที่คนเหล่านี้เสียสละเพื่อผู้อื่น เพื่อสังคม เพื่อให้โลกได้ประโยชน์แล้ว ตัวของเขาเองก็ได้รับคุณค่า ได้บุญกุศลไปในเวลาเดียวกันด้วย เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สร้างประโยชน์ให้กับผู้ที่คิดจะเปลี่ยนแปลงและสร้างความสุข สร้างประโยชน์ให้กับสังคมและโลกอีกด้วย

…สรุปแล้ว การเปลี่ยนแปลงจากสาเหตุใดนั้นก็คงไม่ได้สำคัญเท่าการเปลี่ยนแปลงนั้นมีปลายทางไปทางไหน ไปสู่ความสุขหรือความทุกข์ ไปสู่สิ่งที่ดีงามหรือจะตกต่ำลงไปอีก การรู้ถึงผลของการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

– – – – – – – – – – – – – – –
10.8.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์