Tag: อุเบกขา

โพชฌงค์ สติปัฏฐาน ฌาน และสภาพจิตสุดท้ายของการกินมังสวิรัติ

October 9, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,586 views 0

โพชฌงค์ สติปัฏฐาน ฌาน และสภาพจิตสุดท้ายของการกินมังสวิรัติ

โพชฌงค์ สติปัฏฐาน ฌาน และสภาพจิตสุดท้ายของการกินมังสวิรัติ

เมื่อเราเรียนรู้การกินมังสวิรัติโดยใช้การปฏิบัติศีลเป็นตัวตั้งต้นกันแล้ว ก็จะเข้ามาสู่กระบวนการของการชำแหละกิเลส คือวิจัยให้เห็นองค์ประกอบของความอยากกินเนื้อสัตว์ เป็นกระบวนการที่จะใช้กำลังปัญญาและสมาธิอย่างหนัก เพียรพยายามหาคำตอบว่าทำไมเราจึงต้องอยากกินเนื้อสัตว์ ทำไมความอยากกินเนื้อสัตว์ถึงยังไม่หายไป ทำไมเมื่อกินเนื้อสัตว์ถึงยังรู้สึกอร่อยอยู่

การปฏิบัตินี้เป็นลักษณะของการวิปัสสนา คือการพิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริง ทำให้รู้แจ้งเห็นจริงตามที่มันควรจะเป็น ไม่ใช่ตามที่กิเลสของเราอยากให้มันเป็น โดยใช้ธรรมะเข้ามาเป็นหลักในการปฏิบัติ และอธิบายสภาวธรรมหรือสภาพของจิตใจที่จะเกิดขึ้นในแต่ละลำดับขั้นตอน โดยธรรมที่จะนำมาใช้ในบทความนี้ได้แก่ โพชฌงค์๗ ,สติปัฏฐาน๔ ,ฌาน๔ ,อานิสงส์ของศีล๙ ,สภาวะของนิพพาน๗ ซึ่งในบทความนี้ก็จะอธิบายขั้นตอนหลังจากที่เราถือศีลกินมังสวิรัติและได้พบกับความอยากในการกินเนื้อสัตว์ ไปจนจบที่ความรู้สึกสุขแม้จะไม่ได้เสพเนื้อสัตว์หรือที่เรียกกันว่าจบกิจของกิเลสนั้นๆ ซึ่งจะใช้การร้อยเรียงธรรมะทั้งหมดเข้ากันเพื่ออธิบายถึงสภาวธรรมที่สอดคล้องกันในธรรมแต่ละบท

มาเริ่มกันเลย…

เมื่อเรากินมังสวิรัติมาได้ระยะหนึ่ง สามารถกดข่ม อดทนต่อความอยากมาได้สักพัก เราก็จะสามารถที่จะเห็นกิเลสหรือความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นชัดเจนมากยิ่งขึ้น เห็นความคิดที่คอยให้เหตุผลพาให้เรากลับไปกินเนื้อสัตว์อยู่เสมอ หลายคนสามารถกดข่ม ตัดรอบ ปัดทิ้งความรู้สึกอยากกินนั้นไปได้ แต่แท้ที่จริงความอยากนั้นยังคงมีอยู่ เพียงแค่เรากดมันไว้ปิดบังมันไว้ ความอยากไม่ตายและจากไปไหน มันยังวนเวียนมาให้เราได้กดข่มไว้เรื่อยๆ ซึ่งการที่เราสามารถกดข่มในเบื้องต้นได้ ไม่ไปเสพเนื้อสัตว์ ยอมไม่ให้ศีลขาดนั้นเป็นการกระทำที่ดีแล้ว แต่จะดีกว่าถ้าเราได้กำจัดความอยากหรือกิเลสเหล่านั้นอย่างสิ้นเกลี้ยง

โพชฌงค์ คือองค์แห่งการบรรลุธรรม เป็นเครื่องทำลายกิเลส การจะปฏิบัติโพชฌงค์ให้ถูกต้องนั้น จึงจำเป็นต้องมีกิเลสเป็นตัวตั้งต้น เริ่มต้นจากการเลือกกิเลสสักตัวตามกำลังของเรา เมื่อมีกิเลสเป็นวัตถุดิบเข้ากระบวนการของโพชฌงค์แล้วปลายทางที่ได้คือการปั่นย่อยทำลายกิเลสเหล่านั้นจนได้ปัญญารู้แจ้ง คือผลเจริญจากการทำลายกิเลสเหล่านั้น

เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะ คือความรู้ตัวทั่วพร้อมแล้ว จึงนำมาสู่การสำรวมกาย วาจา ใจ ไม่ให้เราไปเสพเนื้อสัตว์ เมื่อจิตใจเข้าสู่สภาพปกติ จึงจะเข้าสู่สภาวะของสติที่เป็นพุทธแท้ๆ เป็นธรรมะข้อแรกของโพชฌงค์ ๗

(1) สติ (โพชฌงค์ ๗)

สติที่ถูกต้องสู่การพ้นทุกข์นั้นคือ “สติปัฏฐาน๔” เป็นสติที่มีไว้เพื่อชำแหละกิเลส รู้การเปลี่ยนแปลงของกายหรือตัวรู้ข้างในโดยการรู้ผ่านการเปลี่ยนแปลงของร่างกายข้างนอก รู้ถึงความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ได้ว่าเป็นเวทนาอย่างเคหสิทตะหรือเนกขัมมะ รู้ไปในทุกท่วงท่าของจิตที่เกิดกิเลสว่ากิเลสนั้นคือตัวไหน รู้ไปถึงธรรมที่คู่ควรในการชำระล้างกิเลสนั้นๆโดยจะขอยกตัวอย่างการใช้สติปัฏฐาน๔ กับความอยากกินเนื้อสัตว์ดังนี้

กายในกาย : เมื่อเราได้เห็นเนื้อสัตว์ที่เคยชอบกิน ร่างกายจะเกิดอาการขึ้นมาเช่น กลืนน้ำลาย ท้องร้อง น้ำลายสอ ซึ่งเป็นลักษณะที่รับรู้ได้โดยการรู้สึกไปถึงข้างในจิตใจ คือให้อาการทางร่างกายสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของใจ ซึ่งการปฏิบัติของเราก็จะเป็นการปฏิบัติที่ใจ เมื่อจับการเปลี่ยนแปลงของใจผ่านร่างกายแล้วจึงนำไปสู่เวทนา

เวทนาในเวทนา : เมื่อรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของใจเมื่อผัสสะเข้ามากระทบแล้ว เราก็จะรู้ลึกไปถึงเวทนาว่าความรู้สึกของใจนั้น เป็นทุกข์ สุข หรือเฉยๆ ในกรณีที่เราถือศีลกินมังสวิรัติแล้วยังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติ จะเกิดเวทนาได้กรณีเดียวคือ เนกขัมมสิตโทมนัส คือความความเสียใจอย่างนักบวช เป็นความรู้สึกทุกข์ที่ต้องอดทนอดกลั้นไม่ไปกินเนื้อสัตว์แม้ว่าจะมีความอยากกินเนื้อสัตว์ก็ตาม

จิตในจิต : เมื่อรู้ว่าจิตเกิดทุกข์แล้วก็จะดูต่อว่าจิตของเรานั้นมีกิเลสตัวไหน มีเหตุอันใดให้เราต้องทุกข์ เป็นขั้นตอนการขุดค้นไปถึงสมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์ ซึ่งเราได้รู้ทุกข์จากเวทนาแล้ว จึงนำมาเป็นหลักฐานในการหาเหตุแห่งทุกข์ในจิตต่อ ในกรณีของเนื้อสัตว์นี้จะลองยกตัวอย่างเป็นว่า เราติดสเต็กชิ้นหนึ่งแล้วเราถือศีล จึงทุกข์เพราะความอยากแต่ไม่ยอมไปกิน จิตในจิตคือหาเหตุนั้นว่าเราอยากเพราะอะไร ซึ่งอาจจะเป็นเราอยากกินสเต็กชิ้นนั้นเพราะความติดในรสชาติ ติดในกาม ติดในความนุ่มความเหนียวของเนื้อสัตว์ เมื่อลองค้นได้ดังนี้เราก็จะไปขั้นต่อไป

ธรรมในธรรม : เมื่อเราค้นเจอรากของกิเลสแล้ว ในกรณีที่ยกตัวอย่างก็จะเป็นการติดความอยากเสพในรสสัมผัส เป็นราคะ โดยรวมแล้วการจะฆ่าล้างราคะต้องใช้อสุภะคือความไม่งามเข้าไปฆ่าความอยากเสพนี้ ความไม่งามในกรณีนี้คือความเสื่อมของรสสัมผัสเช่นเราไม่มีวันได้กินของที่อร่อยลิ้นตลอดไปหรอกมันต้องเสื่อมเข้าสักวัน วันไหนที่เราไม่ได้กินเนื้อที่นุ่มก็จะทุกข์ หรือไม่ก็พิจารณาอสุภะแบบรวมโดยการพิจารณากระบวนการอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ การผสมพันธุ์ การเลี้ยง การฆ่า การชำแหละ การแปรรูปเนื้อสัตว์ จนเข้ามาถึงปากเรา ถ้าพิจารณาธรรมถูกธรรม ก็จะช่วยลดความอยาก ลดราคะเหล่านี้ได้

…สติปัฏฐาน ๔ นี้ เป็นธรรมะที่ทำงานไปด้วยกันอย่างเป็นระบบ แต่ละองค์ธรรมนั้นทำหน้าที่ต่างกันแต่เป็นก้อนเดียวกัน ไม่สามารถแยกออกมาปฏิบัติได้ เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องสอดคล้อง เป็นไปเพื่อชำแหละให้เห็นถึงทางแก้กิเลส

(2) ธัมมวิจยะ(โพชฌงค์ ๗)

การวิจัยข้อธรรม เป็นกระบวนการของการวิปัสสนา โดยใช้สติปัญญาใช้ความรู้จากการทบทวนธรรม ตึกตรองใคร่ครวญธรรม ฟังธรรม สนทนาธรรม เพื่อหาข้อธรรมที่จะมาช่วยล้างกิเลสนั้นๆ พิจารณาให้ลึกและละเอียดลงไปเรื่อยๆ ว่ามีธรรมใดที่จะเข้ามาช่วยชำระล้างกิเลสนี้ได้

ในกรณีของการกำจัดกิเลสคือความอยากกินเนื้อสัตว์นี้ เราก็จะพิจารณาข้อมูลที่เราได้รับมา เช่น การกินเนื้อสัตว์เบียดเบียนตัวเองและสัตว์อื่นอย่างไร การมีความอยากเป็นทุกข์อย่างไร ถ้าไม่ได้กินสมใจอยากจะทุกข์ร้อนแค่ไหน โดยใช้ประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มาเข้าทำการวิจัยกิเลส ซึ่งอาจจะไปศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมก็ได้

(3) วิริยะ(โพชฌงค์ ๗)

คือการเฝ้าพิจารณาธรรมอย่างเพียรพยายาม ใช้ทั้งสมถะและวิปัสสนาเข้ามาในกระบวนการพิจารณาฆ่ากิเลสนี้อย่างตั้งมั่น ไม่ท้อถอย อดทนฟันฝ่าความอยากแม้จะยากลำบากก็เพียรพิจารณาต่อไป เพราะรู้ถึงผลว่าสุขที่มากกว่าเสพยังมี เป็นวิริยะที่เกิดจากปัญญา เป็นความเพียรที่มีความสุขจากการไม่มีกิเลสเป็นแรงผลักดัน หวังจะให้เกิดผลที่เจริญจึงตั้งใจทำไปเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง

… กระบวนการข้างต้นทั้งหมดนั้นจะสอดคล้องไปกับสภาวะของฌาน๑ คือวิตกวิจารณ์ คือการเฝ้าพิจารณา ทุกข์ โทษ ภัยผลเสีย ความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ประโยชน์และโทษ กรรมและผลของกรรมในกิเลสตัวนั้นๆ ซึ่งในกระบวนการนี้จะใช้เวลามากน้อยก็แล้วบุญบารมีที่บำเพ็ญเพียรสะสมมา บางเรื่องพิจารณาไม่นานก็สามารถหลุดพ้นได้ บางเรื่องเฝ้าพิจารณาเป็นเดือนเป็นปีก็ยังไม่สามารถชำระกิเลสได้ ทำได้เพียงแค่ให้มันเบาบางลง ซึ่งเราก็ต้องเพียรวิตกวิจารณ์ไปเรื่อยๆจนกว่าจะหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสนั่นเอง

เมื่อเพียรพิจาณาธรรมจนถึงจุดหนึ่งที่ปัญญานั้นเต็มรอบ จากปัญญาที่เคยเป็นมรรค (วิถีทาง ความรู้ความเข้าใจ ข้อปฏิบัติ) จะกลายเป็นปัญญาที่เป็นผล (ข้อสรุป ผลเจริญ วิมุตติ) เราจะได้รับความรู้บางอย่างที่รู้ชัดแจ้งเพียงพอที่จะมีกำลังตัดกิเลส รู้ว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นเป็นภัยกับชีวิตของเราและคนอื่นอย่างไร เป็นปัญญาที่จะตัดกิเลสได้อย่างหมดจด ไม่ใช่ปัญญาในลักษณะที่ “รู้หมดแต่อดไม่ได้” แต่เป็นปัญญาที่รู้และเข้าใจทุกอย่างในกิเลสนั้นๆ และจะไม่มีวันกลับไปเสพอีกต่อไป

(4) ปีติ(โพชฌงค์ ๗)

หลังจากที่เราได้รับปัญญาที่เป็นผลจากการเพียรพิจารณาล้างกิเลส ก็จะเกิดความรู้สึกปีติยินดี ดีใจ ตื่นเต้น ใจฟู ฯลฯ สำหรับคนที่เข้าสู่สภาวะของปีติอาจจะมีระดับความดีใจรุนแรงแตกต่างกันไป เช่นถ้าเราสามารถชำระกิเลสที่พาให้ทุกข์มาก ยากมากได้ ก็อาจจะเกิดปีติแรง เหมือนพลุแตกระเบิดออกจากกลางตัว สว่างวาบจนรู้สึกถึงพลังที่อิ่มเอม ชุ่มฉ่ำได้ ลักษณะของปีตินั้นเกิดได้ถึง 5 แบบ คือปีติเล็กน้อย ปีติชั่วขณะ ปีติเป็นพักๆ ปีติโลดลอย ปีติซาบซ่าน เป็นความปลาบปลื้มยินดีอิ่มใจในฌาน

… ปีตินั้นจะสอดคล้องไปกับสภาวะของฌาน๒ คือปีติ จะมีสภาพเดียวกัน

(5) ปัสสัทธิ(โพชฌงค์ ๗)

คือสภาพที่ปีติค่อยๆคลายลง ลดความอิ่มเอิบลง ค่อยๆสงบลงจากดีใจก็กลายเป็นความสุขใจแบบนิ่งๆ เย็นอยู่ในใจเป็นสภาพที่ผ่อนคลายมากกว่าเดิม

(6) สมาธิ(โพชฌงค์ ๗)

คือสภาพที่เห็นความต่อเนื่องของสภาวธรรมที่ได้ รู้ว่าความเจริญนั้นได้ตั้งมั่นอยู่ในใจแล้ว รู้ว่ากิเลสนั้นได้คลายลงแล้ว เป็นความสงบที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สงบจากกิเลสนี้ตลอดไป

… ปัสสัทธิจนถึงสมาธินั้นจะสอดคล้องไปกับสภาวะของฌาน๓ คือสุข คือสภาพที่ต่อจากปีติสงบลงจนเป็นสุข จะรู้สึกอิ่มเอิบอยู่ในใจเล็กๆ เบาใจสบายใจ รู้ได้เองว่านี่คือสภาวะที่สุขกว่าตอนมีกิเลสมาก เบาบาง กินพลังงานน้อย จะรู้สึกยินดีกับสภาวะนี้ การเกิดปีติจนมาถึงสุขอาจจะใช้เวลาเพียงสั้นๆ เพียงชั่วครู่ก็จะสงบลงมาเอง

(7) อุเบกขา(โพชฌงค์ ๗)

เป็นสภาพสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นจากกระบวนการล้างกิเลส และจะเป็นสภาพนี้ต่อไปเรื่อยๆ เมื่อสุขได้สงบลงแล้วก็จะพบกับอุเบกขา เมื่อเราได้พิจารณาฆ่าล้างกิเลสมาตั้งแต่ในช่วงแรก เพียรพยายามจนสามารถละทุกข์จากเหตุแห่งทุกข์ได้แล้ว แล้วก็จะมาละสุขที่เป็นผลจากความเจริญที่ได้รับจากการพิจารณา จบลงที่ความปล่อยวาง ไม่ทุกข์ ไม่สุข ไม่ยินดีไม่ยินร้าย เพราะได้กำจัดกิเลสเหล่านั้นสิ้นแล้ว นี่คือสภาวะของอุเบกขา เป็นสภาพที่ไม่กินพลังงานใดๆเลย เพราะไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดไว้ และเราก็จะได้พลังคืนมาจากที่เราเคยเสียไปให้กับกิเลส เช่น เราไม่ต้องเสียเวลาไปหาเนื้อสัตว์กิน ความเจ็บป่วยที่จะได้รับจากพิษของเนื้อสัตว์จะหมดไป นี่คือตัวอย่างสิ่งที่เห็นได้เป็นรูปธรรม และยังมีผลทางนามธรรมอีกมาก

… อุเบกขาจะสอดคล้องไปกับสภาวะของฌาน๔ คืออุเบกขาเช่นกัน เป็นสภาพเดียวกันที่เกิดขึ้น

ทั้งหมดนี้คือฌานฆ่ากิเลส เป็นฌานที่เพ่งเผากิเลส ไม่ใช่ลักษณะของฌานสมถะหรือฌานฤาษีที่นั่งสมาธิแล้วเข้าภพเข้าภวังค์เกิดสภาพจิตต่างๆไปตามลำดับ แต่เป็นฌานที่ตั้งต้นด้วยกิเลสและทำความเพียรเพ่งพิจารณาเผากิเลสจนเกิดเป็นสภาพของวิตกวิจารณ์ ปีติ สุข อุเบกขา เป็นความรู้สึกเดียวกับอาการที่เกิดเมื่อนั่งเข้าฌานสมาธิ แต่จะต่างกันตรงที่สามารถเผาทำลาย ชำระกิเลสให้ตายได้ด้วย เมื่อกำจัดกิเลสเสร็จก็ไม่ต้องเข้าฌานใหม่ เพราะกำจัดกิเลสจบแล้วก็ได้อุเบกขามาอย่างถาวร

ต่างจากฌานฤาษี ซึ่งถ้าเราอยากได้ภาวะของ ปีติ สุข อุเบกขา เราก็ต้องนั่งสมาธิเข้าภพเข้าภวังค์ค่อยๆดับจิตดำดิ่งสู่สภาวะดับลงเรื่อยๆ นอกจากกิเลสจะไม่ตายแล้ว โดยมากยังหลงไปในมโนมยอัตตา เห็นนรก เห็นสวรรค์ ซึ่งเป็นสภาวะที่จิตปั้นแต่งให้เห็นเป็นภาพ เป็นเหตุการณ์ขึ้นมา ภาพที่เห็นนั้นเห็นจริง แต่ไม่ใช่ของจริง

การกระทำฌานเผากิเลสนี้ เมื่อเราทำลายกิเลสตัวหนึ่งก็จะจบกิจของกิเลสตัวนั้น แต่อาจจะทำลายได้แค่ความอยากกินเนื้อสัตว์ที่เป็นรูปชิ้นเนื้อเท่านั้น อย่างเช่นทำลายความอยากเนื้อสัตว์ได้ แต่ก็ต้องไปเพียรพยายามทำลายความอยากในเนื้อสัตว์แปรรูปต่ออีก เพราะพลังฌานของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนพิจารณาทีเดียวทำลายความอยากได้ทั้งตระกูล บางคนต้องใช้การพิจารณาแบบย่อยเป็นตัวๆ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อปลา หรือย่อยลงไปในตระกูลเนื้อวัว เช่น เนื้อย่าง เนื้อทอด เนื้อดิบ ทำได้มากน้อยตามแต่อินทรีย์พละของแต่ละคน ใครที่เพียรมากตั้งใจมาก ปฏิบัติอย่างถูกทางมามาก ก็จะมีพลังในการชำระกิเลสมากตามไปด้วย

อานิสงส์ของศีล๙

เมื่อเราเริ่มต้นปฏิบัติศีล ถือศีลกินมังสวิรัติ จนกระทั่งเพียรพิจารณาล้างกิเลสให้รู้เห็นตามความเป็นจริง เกิดสภาพไปตามลำดับของโพฌชงค์ ๗ จนกระทั่งถึงอุเบกขา จึงเรียกได้ว่าจบกิจของกิเลสตัวนั้น กลายเป็นสภาพที่เราจะถือศีลอย่างเป็นปกติในชีวิตประจำวัน อย่างที่ใครเขาพูดว่า “ศีลคือความปกติ” สำหรับผู้บรรลุศีลที่ปฏิบัติเพื่อลดกิเลส ความปกตินั้นคือ ไม่กินเนื้ออย่างปกติ ไม่ว่าวันไหนเวลาไหนก็ไม่มีความอยากกินเนื้อ โดยไม่รู้สึกทรมาน หรือต้องกดข่มใดๆ เป็นสภาพความเจริญที่เกิดขึ้นในจิตอย่างแท้จริง โดยมีสภาพ 9 ประการโดยอธิบายผ่านเรื่องมังสวิรัติดังนี้

1.จะไม่เดือดเนื้อร้อนใจแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์

2.มีความเบิกบานยินดีที่ไม่ได้กินเนื้อสัตว์

3.มีความอิ่มใจแม้เราจะกินผัก ไม่กินเนื้อสัตว์

4.รู้ถึงความสงบในจิต ซึ่งไม่มีกิเลสจากการกินเนื้อสัตว์

5.เกิดความสุขจากการไม่มีกิเลสในเนื้อสัตว์

6.เกิดสมาธิตั้งมั่นในการไม่กินเนื้อสัตว์

7.รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงว่าการกินเนื้อสัตว์มีทุกข์ โทษ ภัย และต้องรับความเดือดร้อนจากวิบากกรรมอันมีเหตุแห่งความเบียดเบียน

8. มีความเบื่อหน่ายในการกินเนื้อสัตว์ เพราะเห็นโทษชั่วของการเบียดเบียน

9.รู้แจ้งเห็นจริงในความหลุดพ้น รู้ได้ในสภาวะจิตของตนเองว่าหลุดพ้นจากเนื้อสัตว์ เป็นอิสระจากการกินเนื้อสัตว์แล้ว แม้จะมีเนื้อสัตว์ชั้นดีมาประเคนให้ก็ยินดีที่จะไม่รับ โดยไม่ขุ่นข้องหมองใจ ไม่เสียดาย ไม่มีแม้ธุลีความอยากใดๆในจิต รู้ชัดแจ้งว่าจากนี้ไปจะไม่มีทางยินดีในการเสพเนื้อสัตว์อีก กลายเป็นศีลปกติ คือถือศีลนั้นๆในชีวิตประจำวันตลอดไป เพราะมีแต่คุณประโยชน์ แต่ก็สามารถวางศีลนั้นได้เมื่อมีเหตุปัจจัยที่เหมาะควร โดยไม่มีบาป เพราะศีลได้กำจัดกิเลสเหล่านั้นหมดสิ้นแล้ว

สภาวะของนิพพาน๗

เมื่อปฏิบัติศีลอย่างถูกตรงจนเกิดภาวะอุเบกขา รับรู้ได้ถึงอานิสงส์ของศีล จะเกิดสภาพของจิตที่กิเลสได้ตายอย่างแท้จริง ไม่เกิดความอยากอีก โดยจะมีสภาพจิตที่ตัดเนื้อสัตว์ได้ดังนี้

ไม่มีอะไรเปรียบได้ (นัตถิ อุปมา) : ความรู้สึกที่ไม่ต้องการไปเสพเนื้อสัตว์อีกมันไม่รู้จะหาอะไรมาเปรียบได้

ไม่มีอะไรหักล้างได้(อสังหิรัง) : แม้ว่าจะมีสิ่งที่ดี มีค่าในทางโลก มาล่อแค่ไหนก็ไม่มีอะไรจะเอามาหักล้าง ความรู้แจ้งนี้ได้

ไม่กลับกำเริบ(อสังกุปปัง) : ไม่มีทางที่จะเกิด “ความอยาก” กินเนื้อสัตว์ขึ้นมาได้อีก

เที่ยง(นิจจัง) : เป็นสภาพจิตที่เที่ยงแท้แน่นอน

ยั่งยืน(ธุวัง) : คงสภาพจิตแบบนี้และเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ

ตลอดกาล(สัสสตัง) : สภาพจิตที่พ้นจากความอยากนี้จะคงอยู่ตลอดกาล ฝังไว้ในวิญญาณ ข้ามภพข้ามชาติ จนตราบปรินิพพาน

ไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา (อวิปริณามธัมมัง) : ไม่มีทางที่จะแปรปรวนรวนเร โลเล เปลี่ยนใจให้ได้เห็นอีกเลย

…ผู้ที่ปฏิบัติมาถูกทางก็จะพบกับสภาพดังข้อธรรมะ อานิสงส์ของศีล๙ และสภาวะของนิพพาน๗ สำหรับผู้ที่อ่านแล้วยังรู้สึกลังเลใจ ไม่เชื่อมั่นในตัวเองอย่างเต็มใจแสดงว่ายังไม่ผ่าน ให้ปฏิบัติต่อไปด้วยความเพียร หากผู้ใดที่คิดว่าตัวเองได้ผ่านแล้ว จะลองกลับไปกินเนื้อสัตว์ดูก็ได้เพื่อตรวจสอบว่าเราผ่านเรื่องมังสวิรัติจริงหรือไม่ ถ้ายังไม่ผ่าน เราก็จะรับรู้ด้วยตัวเอง จากการรู้ในเวทนา

ผู้ที่ปฏิบัติศีลอย่างเคร่งครัดและจริงใจต่อความรู้สึกตัวเองจึงจะมีสิทธิ์พบกับความสุขแท้ ความสุขที่ไม่ต้องเสพเนื้อสัตว์ รู้ได้เองว่า การไม่เสพเนื้อสัตว์มันสุขกว่าการเสพอีก แต่หากผู้ใดใช้การกดข่ม ใช้พลังสมถะเข้ามาเป็นหลักในการตัดความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉยๆ ก็จะไม่สามารถเข้าถึงสภาวธรรมเหล่านี้ได้ จะมีสภาพแกว่งไปมา ถือศีลเหยาะแหยะกินเนื้อสัตว์บ้าง กินมังสวิรัติบ้าง แม้จะมีคำพูดที่ดูเหมือนปล่อยวาง แต่จริงๆมักไม่ได้ปล่อยวาง เพราะคนที่ปล่อยวางอย่างแท้จริง จะมีสภาพที่พระพุทธเจ้ายืนยัน นั่นคือสภาพของอานิสงส์ของศีล๙ และสภาวะของนิพพาน๗ เป็นหลักฐานที่ใช้ตรวจสอบตัวเองได้

การจะเกิดสภาพจิตเหล่านี้ไม่ใช่การคิดเอาหรือฝันเอา ต้องปฏิบัติเท่านั้นถึงจะมีได้ และจำเป็นต้องปฏิบัติอย่างถูกต้องถูกตรงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสด้วย หากปฏิบัติไม่ถูกต้องก็เหมือนคนตาบอดวิ่งเข้าป่า เข้ารกเข้าพงกันไปใหญ่ ดังนั้นการปฏิบัติที่ถูกต้องนั้นสามารถวัดผลได้ตรงที่กิเลสเราลดหรือไม่ เราปฏิบัติตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ท่านนั้นท่านนี้แล้วเรากิเลสลดลงหรือไม่ หรือยังอยากเหมือนเดิม ดีไม่ดีบางคนก็กิเลสหนากว่าเดิมก็มี

การเข้าใจธรรมะไม่มีความบังเอิญ พระพุทธเจ้าตรัสว่าทุกอย่างมีมาแต่เหตุ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของคนเพียร ไม่ใช่ของคนขี้เกียจ ที่จะเฝ้าคิด เฝ้าฝัน นั่งๆนอนๆ อยู่แล้วจะบรรลุถึงความผาสุกที่แท้จริงได้ แต่เป็นหลักปฏิบัติที่ใครอยากได้ต้องทำเอง ความสุขแท้มีอยู่ แต่ต้องทำเอาเองเท่านั้น ดังคำตรัสว่า “ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน

– – – – – – – – – – – – – – –

9.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ตรวจสอบศีล ข้อ๑ เราเมตตามากพอหรือยัง

September 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,718 views 0

ตรวจสอบศีล ข้อ๑ เราเมตตามากพอหรือยัง

ตรวจสอบศีล ข้อ๑ เราเมตตามากพอหรือยัง

ถือศีลกันมาก็นานแล้ว เราเคยตรวจสอบกันบ้างไหมว่าจิตใจของเราเจริญขึ้นมาอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะศีลข้อ ๑ คือให้เว้นขาดจากการฆ่าทำร้ายทำลาย ทำชีวิตสัตว์ให้ตกร่วง ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่เบียดเบียนสัตว์ เราสามารถถือศีลข้อนี้ได้ดีอยู่หรือไม่ แล้วการถือศีลข้อนี้ ได้ทำให้จิตใจของเราเจริญขึ้นอย่างไร จะแบ่งปันประสบการณ์ให้ได้ลองทบทวนกัน

ผ่านมาเมื่อไม่กี่ปีก่อน ผมยังเป็นอย่างคนทั่วไป มดกัดบี้มด ยุงกัดตบยุง เหตุการณ์ล่าสุดที่ผมยังจำความอำมหิตโหดร้ายของตัวเองได้ดีคือ คือเมื่อครั้งไปเที่ยวเขาใหญ่กับเพื่อนๆ กลางปี 2012 ที่ผ่านมาไม่นานนี่เอง

เนื่องจากเป็นหน้าฝน ก็เลยมีทากมาก พอเดินเข้าไปน้ำตก ก็มีทากเกาะบ้าง พอมันเกาะแล้วกัดเรา เราก็ดึงออกไม่มีอะไร ทีนี้พอเดินผ่าน เดินเล่น ทำกิจกรรมอะไรเล็กน้อยเสร็จแล้วก็มานั่งพักกัน เพื่อนสังเกตว่ามือเราเลือดไหล เราก็สงสัยว่าไม่ได้เจ็บไม่ได้เป็นแผลอะไรนี่ ทำไมเลือดไหลเยิ้ม สุดท้ายก็มาเจอตัวการคือทากหนึ่งตัว

เมื่อได้เห็นตัวการและผลงานที่มันทำ ผมจึงหยิบมันมาบี้ๆด้วยความแค้นที่เย็นชา ไม่มีคำพูดคำด่าอะไร รู้แค่อาฆาตมัน บี้แล้วมันไม่ตายก็เลยวางลงบนพื้นแล้วเอาพื้นรองเท้าบี้และขยี้จนมันแหลกไปกับพื้น ด้วยความสะใจ

ผมยังจำสายตาของเพื่อนที่มองการกระทำของผมได้อย่างดี มองคนที่ใจดำอำมหิต ที่ฆ่าได้อย่างเลือดเย็น ด้วยวิธีที่โหดร้ายรุนแรง ผมยังจำบาปที่ทำในตอนนั้นได้ดี เป็นสิ่งที่เก็บไว้สอนใจอย่างไม่มีวันลืม

เรียนรู้ธรรมะ

จนเมื่อวันที่ผมได้ก้าวเข้ามาใกล้ชิดกับธรรมะมากขึ้น เรียนรู้เรื่องศีลมากขึ้น แต่ก่อนผมก็คิดนะเรื่องถือศีล๕ ก็ถือบ้างไม่ถือบ้าง แต่พอได้ศึกษาเรียนรู้มากขึ้น จึงได้พบว่าศีลนั้นมีคุณค่ามากกว่าแค่การถือ ศีลเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้เราพัฒนาและเจริญเติบโตได้ ถ้าเรายังไม่เข้าใจคุณค่าของศีล หรือถือศีลตามเขาไปโดยที่ไม่รู้เนื้อหาสาระ ก็จะไม่มีวันพัฒนาได้เลย

ศีลที่ผมเรียนรู้มาคือศีลที่มีไว้เพื่อให้เห็นกิเลส เป็นเครื่องบีบคั้นให้จิตใจได้ต่อสู้กับกิเลส ได้แพ้กิเลส ได้ล้างกิเลส ซึ่งก่อนหน้านี้มันมีแต่แพ้กับกดข่ม เพราะไม่เคยสู้เลย ผมถือศีลแบบยอมกิเลสมาตลอด อะไรพออดทนไหวก็ทำไป อะไรไม่ไหวก็ศีลแตกบ้างก็ไม่ได้คิดอะไร แต่พอได้เรียนรู้คุณค่าแห่งศีลแบบนี้แล้ว ก็เลยใช้ศีลนี่แหละเป็นตัวขัดเกลาตนเอง

เมื่อผมปฏิบัติศีลมาอย่างตั้งมั่น ได้พบกับความโกรธ ความอาฆาตของตัวเองอยู่หลายครั้ง เพราะมีศีลเป็นเครื่องจับผี จับจิตใจที่โกรธเคืองของเราได้อย่างดีและดักมันไว้อย่างนั้นจนกว่าเราจะทำอะไรสักอย่างกับมัน ผมได้มีโอกาสฝึกกับยุงที่มากัดตั้งแต่ขั้นกดข่ม คือมันกัดแล้วก็แค้นนะ แต่ไม่ตบ จนเจริญมาถึงเรื่องที่กำลังจะเล่าต่อไป

ผลของการปฏิบัติศีล– เรื่องของยุง

เมื่อวานก่อนผมนอนงีบหลับพักผ่อนอยู่ รู้สึกเจ็บคัน บริเวณขา จึงรู้แน่นอนว่ายุงกัด ก็เลยไม่ขยับตัวสักพัก ปล่อยให้มันดูดไป เพราะหากเราขยับตัวหรือบิดตัว ก็เกรงว่าจะทำให้มันตายได้ หรือไม่มันก็บินกลับมาดูดเลือดอีกจุดอยู่ดี การไม่ยอมให้มันดูดเลือดในครั้งนี้จึงไม่เป็นผลดีกับใครเลย ก็เลยปล่อยให้มันดูดไปอย่างนั้น ไม่ได้โกรธแค้นอะไรมัน

ทีนี้รอสักพักมันคงดูดเสร็จแล้ว เราก็งีบต่ออีกหน่อยจนลุกขึ้นมาทำงานต่อ มียุงตัวหนึ่งบินมาวนเวียนหน้าโต๊ะทำงาน ท้องของมันป่อง เต็มไปด้วยเลือด มันบินช้าเพราะมันหนักเลือดที่ท้อง บินวนอยู่ก็หลายรอบ

ในใจก็สงสารมันนะ มันคงออกไม่ได้ แต่จะทำอย่างไร จะไปจับมัน ก็กลัวจะพลาดผิดเหลี่ยมผิดมุมตายคามือ ก็คิดอยู่สักพัก ตัดสินใจว่าถ้ามันบินผ่านหน้ามาอีกครั้งจะลองจับดู และแล้วมันก็บินผ่านหน้ามาอีกที ผมค่อยๆ เอามือไปล้อมมัน โชคดีที่มันกินอิ่มมันจึงบินช้า เลยจับไว้ในอุ้งมือได้ง่ายๆ

ผมเก็บมันไว้ในอุ้งมือ และเปิดกระจกออกพอประมาณมือสอดออก เพราะเกรงว่าเดี๋ยวมันจะบินผิดทิศ บินกลับเข้ามาในห้องอีก พอยื่นแขนออกไปได้สักหน่อยก็คลายมือออก ยุงตัวนั้นก็บินจากไปตามทางของมัน

ผลของการปฏิบัติศีล– เรื่องของแมงป่อง

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อตอนไปทำงานที่ไร่ ตื่นนอน ทำธุระยามเช้า ขับรถออกจากบ้านเช่า ไปถึงไร่ก็ระยะ 2 กิโลเมตรเท่านั้น เมื่อถึงก็จอดรถ ขณะที่กำลังจะลงจากรถก็รู้สึกว่ามีตัวอะไรมาไต่แขน ซึ่งตอนนั้นใส่เสื้อฝ้ายแขนยาว จึงนึกไปว่าแมงมุม ไม่รู้จะทำอย่างไรเลยไปจับผ้าเบาๆ เพื่อล็อกมันไม่ให้ขยับก่อนที่จะเปิดประตูรถออกไปเพื่อเหย่ามันออก แต่มันก็ไม่ออก แถมยังต่อยอีก ทันทีที่โดนต่อย ก็อาการปวดร้อนรุนแรงขึ้นมาทันที จึงถอดเสื้อแล้วสะบัดออก พบว่าเป็นแมงป่อง ซึ่งน่าจะเป็นแมงป่องบ้าน ตัวไม่ใหญ่มาก มันก็ค่อยๆเดินหนีเข้าไปตามซอกดินที่แตก

ในขณะที่โดนแมงป่องต่อย ไม่ได้มีความโกรธแค้นเลยแม้แต่นิดเดียว มีแต่ความเจ็บปวดที่แขน คือทุกข์ที่เกิดจากพิษ ส่วนใจยังเป็นห่วงว่ามันจะโดนบี้ในตอนถอดเสื้อ เพราะเสื้อแขนยาวนั้นไม่ได้ตัวใหญ่ หรือหลวมมากนัก เมื่อเห็นมันตกลงมาและเดินต่อได้ โดยภาพที่เห็นมันก็ครบองค์ประกอบดี ทำให้รู้สึกสบายใจที่ไม่ได้ไปฆ่ามัน สบายใจที่มันยังดีอยู่เหมือนเดิม รู้สึกได้เลยว่าจิตอิ่มเอิบไปด้วยเมตตา

ทั้งๆที่ในความจริง(แบบโลกๆ)แล้ว เราควรจะโกรธ ควรจะแค้น สิ่งที่มาทำเราเจ็บ แต่ความรู้สึกเหล่านั้นกลับไม่เกิดเลย

สรุปผล

ดังตัวอย่างเรื่องยุงและเรื่องแมงป่อง ผมจึงได้เห็นจิตใจที่พัฒนาของตัวเอง จากเป็นคนที่โกรธง่าย อาฆาตแรง แค้นฝังใจ กลับกลายเป็นคนที่ไม่โกรธ นอกจากจะไม่โกรธแล้วยังรู้สึกว่ามีเมตตา อยากให้มันพ้นภัย จนกระทั่งกรุณาคือลงมือทำให้มันเป็นสุข เช่นการนำยุงไปปล่อย มีความมุทิตา คือยินดีเมื่อมันสามารถหนีไป จากไป ได้แบบเป็นสุขดี และอุเบกขาตรงที่ปล่อยให้มันเป็นไปตามบาปบุญของมันต่อไป

การถือศีลนั้น จึงเป็นการถือเพื่อที่จะขัดเกลากิเลสออกจากจิตใจของตนเอง มากกว่าที่จะถือไปเพราะมัวเมา เพราะหลง เพราะงมงาย เพราะเห็นว่าเขาถือกัน เพราะได้ยินเขาพูดกันว่าดี แต่ถือเพราะเรามีปัญญารู้ถึงคุณค่าของศีลนั้น เราจึงใช้ศีลนั้นเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตัวเอง

ถ้าไม่มีศีล หรือไม่ถือศีล เราก็จะไม่เห็นกิเลสของเรา ถ้าถือศีลบ้างไม่ถือศีลบ้าง หรือถือศีลแบบเหยาะแหยะ หยวนๆ ลูบๆคลำๆ ไม่เอาจริงเอาจัง ก็จะกลายเป็นไม่ได้อะไรเลย จะดีก็ไม่ดี แต่จะชั่วก็ไม่ใช่ เป็นอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน

ดังนั้นการจะถือหรือยึดสิ่งใดมาอาศัย เราจึงควรพิจารณาให้เห็นถึงคุณค่าของสิ่งนั้น เข้าถึงประโยชน์ของสิ่งนั้นด้วยปัญญารู้จริงถึงประโยชน์ เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งการรู้แจ้ง ศาสนาแห่งปัญญา มิใช่ศาสนาที่พาให้หลงงมงาย หลงมัวเมา แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นความดีก็ตาม

การตรวจสอบศีลของเราก็เอาจากเรื่องง่ายๆในชีวิตประจำวันแบบนี้ละนะ ถ้าแค่เรื่องง่ายๆ เรื่องเบาๆ เรายังทำไม่ได้ ก็อย่าหวังว่าจะทำศีลที่ยากกว่า หนักกว่า รุนแรงกว่า ได้เลย

– – – – – – – – – – – – – – –

23.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

อย่าไว้ใจชาย

September 19, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,084 views 0

อย่าไว้ใจชาย

อย่าไว้ใจชาย

มารยาหญิงที่ว่ามีกว่าร้อยเล่มเกวียน กลวิธีมากมายหลากหลายกระบวนท่า แต่สุดท้ายก็ต้องพลาดท่าให้กับชายอยู่ดีนั่นแหละ

มารยา กลยุทธ์ กลวิธีของชายนั้น มักจะไม่ได้ถูกบันทึกหรือกล่าวขานไว้ กว่าจะรู้ตัวก็มักจะพลาดท่าเสียทีไปแล้ว ทั้งการหลอกล่อลับลวงพรางด้วยของขวัญและคำหวานมากมายให้เฝ้าเพ้อฝันไปถึงความรักที่งดงามและอนาคตที่สวยหรู คำสัญญาที่ว่าจะมั่นคง ความจงรักภักดี การเกื้อกูลดูแลกันและกัน คำยืนยันหรือการแต่งงานมีครอบครัว เหล่านี้คือมารยาที่ชายใช้ล่อลวงใจหญิงได้ทุกยุคทุกสมัย เราลองมาดูตัวอย่างกลยุทธ์ของชายแต่ละแบบกัน

1. ผู้ชายติดอบายมุข (อบายมุข): ตัวเองก็เสพติดอบายมุขทั้งการพนัน หวย หุ้น ติดเหล้าติดยาเสพติด สิ่งมัวเมาทั้งหลาย เที่ยวกลางคืน ท่องเที่ยวไปเสพรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ในที่ต่างๆ เที่ยวเล่นดูดนตรี ดูการแสดง คบคนชั่ว เกียจคร้านการทำงาน วิธีของผู้ชายเหล่านี้ก็ไม่มีอะไรมาก แค่หานำอบายมุขที่ตัวเองเสพติด เช่น ชอบกินเหล้าก็ชวนกันไปกิน ชอบดูการแสดงชอบดูหนังก็ชวนกันไปดู ชอบรถแต่งรถหรูก็ชวนกันมานั่ง ใช้อบายมุขที่น่าจะตรงกับกิเลสไปเสนอให้กับผู้หญิงที่หลงเสพหลงติดพอกัน พากันมัวเมาไปในที่สุด และมักจะมีคำนิยามแบบสวยๆว่าชอบทำกิจกรรมเหมือนกัน ไลฟ์สไตล์เหมือนกัน ชอบอบายมุขเหมือนกัน ก็เลยพากันไปนรกด้วยกัน

ผู้หญิงที่มีกิเลสหนาก็มักจะโดนชักจูงด้วยอบายมุขได้ง่าย เพียงแค่หลงชอบเสพสิ่งเดียวกันก็อาจจะยอมร่วมหอลงโรงด้วยกันได้แล้ว จากความหลงติดหลงยึดสุขลวงจากการเสพอบายมุข คือกิเลสในระดับหยาบ ที่พาให้เสียเวลา เสียทรัพย์ เสียสุขภาพ เสียชีวิต ฯลฯ

2.ผู้ชายบ้ากาม(กามคุณ): กามในที่นี้คือกามคุณ๕ คือรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่เป็นภัย ผู้ชายที่ติดกามก็มักจะบำรุงดูแลตัวเองให้ดูดี งดงาม ออกกำลังกายให้ดูดี หรือกระทั่งไปผ่าตัดศัลกรรมให้หน้าตาดีดั่งใจหมาย ในขณะเดียวกันความบ้ากามก็ยังจะทะลักไปบ้านอกร่างกายตัวเองด้วย คือจะไปเสพคนสวยคนงาม ด้วยความที่คนสวยคนงามเหล่านั้นก็มีกิเลสของเธออยู่ คือความติดสวย สุดท้ายก็จะพากันบำรุงบำเรอกิเลส พากันกินอาหารอร่อย พากันแต่งตัวให้ดูดี รวมไปถึงการเสพกามเมถุนร่วมกัน เพราะยังมีกิเลสในชั้นของกามอย่างแน่นหนา

ผู้ชายที่พรั่งพร้อมไปด้วย รูปงาม เสียงงาม กลิ่นงาม และสัมผัสอันน่าหลงใหล จะพาให้ผู้หญิงที่บ้ากามด้วยกันหลงไปได้ง่าย เช่น เพียงแค่พบคนหน้าตาดี ก็สามารถยอมพลีกายให้เขาได้เพียงแค่ต้องการเสพสมใจว่าได้คบหากับคนหน้าตาดี หรือไม่ก็ยินดีคบหาเป็นแฟน หรือแต่งงาน เพราะชอบที่เขาหน้าตาดี พูดดี มีทักษะการสัมผัสเสียดสีที่ดี ก็หลงติดกามกันไป

ความงามด้วย รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสนั้น เป็นสิ่งที่ดึงดูด พาให้หลงใหล พาให้เคลิ้มหลงไป แม้แต่หญิงที่ว่าใจแข็งมั่นคงก็อาจจะพ่ายแพ้ต่อพลังแห่งกามทั้ง ๕ นี้ได้ ยอมเผลอไปรักโดยที่ไม่ทันระวังตัว โดยไม่รู้ตัวเลยว่าได้แพ้พ่ายต่อกิเลสไปแล้ว

3.ผู้ชายเจ้าชู้(โลกธรรม) : เขาเหล่านี้คือผู้ที่เสพลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ผู้ชายเจ้าชู้มักสามารถใช้โลกธรรมในการจูงใจหญิงได้ค่อนข้างเก่ง ป้อนคำหวาน ดูแล เทคแคร์ เอาใจใส่ บำเรอด้วยทรัพย์สิน คำเยินยอ และให้ความสำคัญ ทำเสมือนว่าเขาให้ค่ากับผู้หญิงคนนั้นมาก แต่แท้ที่จริงเขาเองสามารถที่จะเข้าใจและใช้กิเลสที่ระดับที่ละเอียดกว่ากามมาเป็นตัวล่อผู้หญิงได้

เราคงเคยสังเกตกันมาบ้าง ว่าทำไมบางทีผู้ชายที่หน้าตาไม่ดี ไม่หล่อ ดูไม่ดี แต่กลับควงคู่กับผู้หญิงสวยๆอยู่เสมอ นั่นก็เพราะเขามีลาภ ยศ สรรเสริญ อยู่ในปริมาณมาก หญิงที่ว่าจิตใจมั่นคง ไม่มัวเมาในอบายมุข ไม่หลงในกามรูปหรือไม่หลงคนหน้าตาดี ก็อาจจะมาแพ้พ่ายกันในด่านของโลกธรรมนี้ก็ได้ นั่นเพราะตัวเธอเองก็อยากเสพความสบาย เสพความร่ำรวย การเอาใจใส่ จนอาจจะเผลอยอมปล่อยตัวปล่อยใจเพื่อแลกกับการได้เสพกิเลสเหล่านี้ ซึ่งมีเขาผู้มากไปด้วยโลกธรรม คอยบำรุงบำเรอให้ก็เป็นได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายเจ้าชู้จะหยุดอยู่แค่เรา ถ้าเราเองไม่สามารถสนองต่อความอยากในกามของเขา ไม่สนองโลกธรรมของเขา เขาก็อาจจะทิ้งเราไปมีคนใหม่ที่สามารถจะสนองกิเลสเขาได้มากกว่าเรา ซึ่งเขาจะทำเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะเขามีอำนาจในการที่จะสนองกิเลสผู้อื่นอยู่ในมือ เป็นอำนาจบาป ที่นำมาซึ่งความทุกข์ นำมาซึ่งนรกอย่างไม่จบไม่สิ้น

4.ผู้ชายนักฝัน(อัตตา): ช่างคิดช่างฝัน ปั้นจินตนาการ วาดฝันไว้ เจ้าอุดมการณ์ ชายในกลุ่มนี้มักจะไม่ได้ล่อลวงหญิงด้วย อบายมุข กามคุณ และโลกธรรมอีกแล้ว แต่จะล่อลวงเธอด้วยความฝัน อุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่งดงาม เช่น คำพูดที่บอกว่าเธอคือเนื้อคู่ , เราจะเป็นคู่รักที่รักกันตลอดไป , ผมจะซื่อสัตย์ตลอดไป , ผมจะดูแลคุณตลอดไป ,เราจะพากันเจริญไปด้วยกัน ,เราจะสร้างครอบครัวไปด้วยกัน เป็นคำมั่นสัญญา เป็นอัตตา เป็นความยึดมั่นถือมั่น ทำตัวเหมือนหลักชัยให้ผู้หญิงซึ่งอ่อนไหว อ่อนต่อโลกได้ยึดเกาะพาให้หลงใหล พาให้ฝากตัว ฝากใจ ฝากชีวิตเอาไว้กับเขา

แต่ความยึดมั่นถือมั่นนั้นก็เป็นกิเลส อุดมการณ์จะยิ่งใหญ่แค่ไหน แต่ถ้ารากของมันคืออัตตา ก็เหมือนมีรังปลวกอยู่ใต้หลักไม้ใหญ่ จะดูยิ่งใหญ่หรือแข็งแกร่งแค่ไหนไม่นานก็คงจะผุกร่อนพังทลาย เพราะโดนปลวกคือกิเลสกัดกินจนหมด

สิ่งที่เคยยึดมั่นอาจจะเปลี่ยนแปลงไปในสักวันหนึ่ง คำสัญญากลายเป็นเพียงแค่ลมปาก สิ่งที่เหลือคือความอึดอัดกดดัน ความผิดหวัง ความฝันที่พังทลาย ทิ้งไว้แต่ซากแห่งความฝันของหญิงผู้ที่ได้แต่หลงเสพหลงละเมอไปในคำหวานและอุดมการณ์ของคนกิเลสหนา

5.ผู้ชายรักจริง(เสน่หา): จะมีลักษณะที่ดูปักมั่น หลงมัวเมาในหญิงที่เธอหมายมั่น ทุ่มเทเอาใจ รักจริงหวังแต่ง แสวงหาสิ่งบำรุงบำเรอกิเลสให้กับเธอ ถ้าเธอชอบอบายมุขก็จะพาเธอไปเสพอบายมุข ถ้าเธอชอบกามคุณ ก็จะไปเธอไปกินของอร่อย พาไปซื้อเสื้อผ้าสวยๆ ทำตัวเองให้ดูดีให้เธอชอบ ถ้าเธอชอบโลกธรรม ก็จะขยันทำงานหาเงินมาให้เธอ พยายามทำตัวให้ประสบความสำเร็จในชีวิต มีฐานะหน้าที่การงานที่ดีเพื่อให้เธอยอมรับ ถ้าเธอชอบอัตตาก็ป้อนคำมั่นสัญญาผูกมัดเธอด้วยกิเลส ด้วยสัญญาว่าเราจะไม่พรากจากกัน เราจะดูแลกันไปชั่วนิรันดร์

เป็นผู้ชายที่มีกลยุทธ์และใช้วิธีที่หลากหลายเพื่อที่จะมัดใจเธอ ให้เธอยอมรับ ให้เธอหลงเสพในความรักของเขา ให้เธอรักเขา หญิงที่ว่าใจแกร่งเพียงใด เจอกับกลยุทธ์ทุ่มเทเอาใจใส่ สลับซับซ้อนแบบนี้ ก็ยากที่จะหนีรอดไปได้ เป็นกลยุทธ์ที่พรั่งพร้อมไปด้วยกิเลสในทุกระดับ ยินดีบริการ บำรุงบำเรอให้เธอเต็มที่จนกว่าเธอจะยอมรับรัก

ที่เขาทำทั้งหมดนี้ เขาก็แค่ทำให้เธอเพียงคนเดียว เพราะเขาอยากจะเสพเธอคนเดียว อยากจะได้เธอมาคนเดียว อาจจะกระจายการสนองกิเลสเหล่านี้ออกไปยังคนใกล้ชิดของเธอแต่จะไม่ได้เน้นมากเท่าไหร่

แต่ความเสน่หานั้นไม่เที่ยง มีรักได้ก็หมดรักได้ ทันทีที่เขาได้เสพสมใจทุกอย่างแล้ว เขาก็อาจจะละทิ้งเธอไปอย่างไม่ใยดีก็ได้ บางคนอาจจะแค่ยินดีเสพแค่คุยกัน บางคนอาจจะยินดีเสพแค่เป็นแฟนกัน บางคนอาจจะยินดีเสพแค่มีอะไรกัน บางคนอาจจะยินดีเสพแค่แต่งงานกัน บางคนอาจจะยินดีเสพแค่มีลูกด้วยกัน ถ้าเขาได้รับสิ่งที่เขาอยากจะเสพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นก็คือนรก เมื่อความอยากเสพในกิเลสนั้นหมดเชื้อเพราะได้เสพสมใจแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องบำรุงบำเรอสนองกิเลสเธออีกต่อไป เป็นเวลาที่หญิงที่หลงไปกับรักจริงที่หลอกลวงจะต้องเริ่มต้นใช้หนี้บาปหนี้กรรมกันต่อไป

6.ผู้ชายแสนดี(เมตตา): ชายผู้มีจิตใจที่เมตตา เกื้อกูลทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เขาให้ความสำคัญกับทุกๆคน คอยดูแล กิจกรรมการงานของของเพื่อน ดูแลทุกข์สุขของเพื่อน มิตรสหาย โดยไม่ได้หวังเสพสิ่งใด ทำไปด้วยจิตที่เมตตาหวังจะให้คนอื่นได้ดี ให้คนอื่นมีความสุข คลายทุกข์

แม้เขาเหล่านี้จะมีเมตตามาก แต่ก็อาจจะยังมีกิเลสในเรื่องของคนคู่อยู่ บางครั้งความเมตตานั้นอาจจะปนผสมไปด้วยกิเลสลึกๆในใจของเขา คือเมตตาปนไปกับความอยากเสพเธอคนนั้น แต่ก็มักจะไม่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนนัก เพราะจะไม่ออกมาในรูปของการจีบ การป้อนคำหวาน การเอาใจ แต่จะเป็นการดูแล ช่วยเหลือ ปรับทุกข์ บำรุงสุข เป็นเพื่อนคู่คิดคอยปลอบใจ ไม่ล่วงเกินเข้าไปในเชิงชู้สาวมากนัก ดูเหมือนว่าไม่ได้หวังสิ่งใดตอบแทน

เขาเหล่านี้จะไม่บำรุงบำเรอเธอด้วยกิเลส พาไปพบแต่สิ่งที่พาให้ชีวิตเจริญ จะไม่พาเธอไปทางเสื่อม เช่น ไม่พาไปเสพ อบายมุขอีกแล้ว แต่ยังมีกามคุณบ้าง เหลือโลกธรรมบ้าง และอาจจะยังเหลือในส่วนของอัตตาตามแต่ที่เขาจะมีอยู่บ้าง ถ้าจะให้เปรียบก็เรียกได้ว่าเป็นคนดีที่มากแล้ว แต่ก็ยังไม่ถึงกับดีที่สุด

แม้ว่าจะเราจะเจอผู้ชายที่ดี ไม่เอากิเลสมาบำรุงบำเรอขนาดนี้ แม้ว่าจะเรียกได้ว่าพากันเจริญ ก็อย่าได้พลั้งเผลอไปเช่นกัน เพราะไม่ว่าจะดีแสนดีแค่ไหน มีความสุขขนาดไหน แต่การดำเนินชีวิตคู่นั้น เราก็ต้องรับวิบากกรรมร่วมกัน ทุกข์ด้วยกัน มีครอบครัวซึ่งเป็นภาระด้วยกัน ผูกภพ ผูกชาติ ผูกกรรมไปด้วยกัน ความสุขที่ได้ก็ไม่ยั่งยืน เพราะสุดท้ายก็ต้องตายจากกันไป เมื่อเรายึดคนดีเป็นของเรา เมื่อเขาพรากจากเราไปเราก็ต้องเสียใจอยู่ดี

7.ผู้ชายที่มีรักแท้(อุเบกขา): ความรักแท้นั้นหากจะบอกว่าเป็นรักที่ครอบครองก็คงจะไม่ถูกนัก ชายที่มีรักแท้คือผู้ที่ยินดีจะเสียสละความรักของตน ยอมทิ้งความสุขส่วนตนให้คนอื่น ยอมทิ้งโอกาสในการเสพสุขของตนให้กับผู้อื่น ยอมปล่อยให้เนื้อคู่ของตนเองนั้นเป็นอิสระจากการผูกมัดโดยกรรมกิเลสใดๆทั้งปวง ยอมที่จะให้ทุกอย่างเป็นไปตามกรรมที่ควรจะเป็นโดยไม่คิดจะเอากิเลสของตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วม

การปล่อยวางความรัก ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นเหล่านี้ หากมองผ่านๆโดยทั่วไปก็เหมือนกับเอาตัวรอด เหมือนกับเห็นแก่ตัว แต่แท้ที่จริงไม่ใช่แบบนั้น

เพราะเขาคนนั้นมีความรักที่มากกว่ารักในแบบของการครอบครอง มากกว่ารักของคนสองคน มากกว่ารักแบบครอบครัว มากกว่ารักแบบคนรัก จึงยอมสละรักที่น้อย เพื่อที่จะได้รักที่มากกว่า นั่นคือรักที่สามารถเผื่อแผ่ไปให้กับทุกคนบนโลกได้ รักได้แม้กระทั่งศัตรู เป็นรักที่ให้ได้อย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะเป็นใครหรืออะไรก็ตาม

แม้แต่ชายที่ดูเหมือนว่าจะกล่าวอ้างว่ามีรักแท้แบบนี้ก็อย่าได้ตายใจไป เพราะกิเลสของคนเรานั้นมีความลับลวงพราง อาจจะมีผู้คนที่มัวเมาในอบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา อวดอ้างเอาคุณเหล่านี้เป็นของตนก็เป็นได้ เราจึงต้องคอยสังเกตติดตาม พิจารณาตามไปว่ารักแท้ที่เขามีนั้นเป็นจริงดังที่เขาบอกหรือไม่ หรือเป็นรักลวงที่สอดไส้ไปด้วยกิเลสก้อนใหญ่

….ดังที่ยกตัวอย่างมา จะเห็นได้ว่ากิเลสนั้นมีลีลาท่าทางมากมายที่จะทำให้เราหลงไปกับสิ่งลวง สิ่งที่ไม่เป็นจริง เมื่อหลงเสพหลงยึดไปแล้ว เช่น คบกันเป็นแฟน ได้เสียกัน แต่งงาน มีลูก มีครอบครัว สุขที่เคยมีก็อาจจะเปลี่ยนสภาพเป็นทุกข์ก็ได้ ทุกข์จากการมี ทุกข์การยึด ทุกข์การครอบครอง

กิเลสนั้นมีความซับซ้อน มีความหลากหลายของการแสดงลีลาออกมา แม้ว่าบางครั้งเราตั้งสติดีแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถตามการยั่วยวนของกิเลสเหล่านั้นได้ทัน เพราะเวลาที่พบเจอจริงๆมักจะผสมปนเปกันมาแบบมั่วๆ ดูไม่ออก แยกไม่ออกว่าแบบไหนจริงใจ แบบไหนหลอกลวง

สุดท้ายไม่ว่าเหตุจะเป็นอย่างไร เขาจะมาจีบเรา หรือเราจะไปหลงคารมของเขาเอง เราก็เป็นเหยื่ออยู่ดี เหยื่อของกิเลสที่พาให้หลงไปว่าสิ่งที่เขานำมาปรนเปรอบำรุงบำเรอเรา คำหวาน ของขวัญ คำมั่นสัญญา การดูแลเหล่านั้นจะอยู่ตลอดกาล จะไม่แปรเปลี่ยน

หญิงใดที่สามารถรักษาความโสด จิตใจที่สันโดษ พอใจในสิ่งที่ตนมี ไม่หาชายใดมาบำรุงบำเรอกิเลส บำเรออบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตาของตัวเองแล้ว นับได้ว่าเป็นหญิงที่มีบุญ ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องทรมานจากการแบกวิบากบาปจากการมีคู่ แบกสามี แบกลูก แบกครอบครัว แบกแม่ผัว แบกพ่อตา แบกญาติ เพราะลำพังแค่แบกชีวิตตัวเองก็หนักพออยู่แล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

19.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์