Tag: อิสระ

ทาสเนื้อสัตว์ ไม่ได้กินก็ทุกข์ กินก็สะสมทุกข์

December 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,847 views 1

ทาสเนื้อสัตว์ ไม่ได้กินก็ทุกข์ กินก็สะสมทุกข์

ทาสเนื้อสัตว์ ไม่ได้กินก็ทุกข์ กินก็สะสมทุกข์

ชีวิตที่อิสระนั้นไม่ได้หมายถึงการที่เราจะสามารถจับจ่ายใช้สอยสิ่งใดๆได้ตามความต้องการ แต่หมายถึงเป็นอิสระจากความอยาก อิสระจากความทุกข์ที่ไม่จำเป็นต้องมีในชีวิต

อาจจะจริงที่ว่า เรามีสิทธิ์ที่จะใช้เงินที่เรามีซื้อสิ่งใดๆ ก็ได้ ตามที่เราต้องการ แม้ว่าเราจะดูเหมือนมีอิสระในการซื้อขาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นอิสระจากความอยาก

กิเลสได้บงการเราตั้งแต่ก่อนที่เราจะได้คิดด้วยซ้ำ ทำให้เราหลงมัวเมาในรสสุขลวงของสิ่งนั้น ยกตัวอย่างเช่นเนื้อสัตว์ เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิตเลย ไม่จำเป็นต้องกินก็ได้ ไม่กินก็มีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข แข็งแรง สุขภาพดี สามารถทำงานได้เหมือนคนทั่วไป

ซึ่งแน่นอนว่าความจริงตามความเป็นจริงมันคือสิ่งที่ไม่จำเป็น ไม่มีสาระ ไม่ต้องฆ่า ไม่ต้องเอามาขาย ไม่ต้องซื้อกินก็ได้ แต่กิเลสก็ได้สร้างความลวงขึ้นมาให้มันจำเป็น ให้มันดูมีคุณค่า มีประโยชน์ ให้คนรู้สึกกังวลว่าถ้าขาดมันเราจะต้องไม่เป็นสุข ทั้งร่างกายและจิตใจ

ทางด้านร่างกายก็พยายามหาผลวิจัยกันไปต่างๆนาๆ ว่าจะขาดธาตุนั้นธาตุนี้ จะไม่สมบูรณ์แข็งแรง จะป่วยเป็นโรค ฯลฯ ข้อมูลมากมายที่จะมาอ้างอิงว่าชีวิตคนเราขาดเนื้อสัตว์ไม่ได้ ขาดแล้วจะเป็นภัย ทำให้คนหลง ทำให้คนกังวล ทำให้คนกลัว ไม่กล้าพราก ไม่กล้าเลิกกินเนื้อสัตว์ ทั้งๆที่ทั้งหมดนั้นอาจจะไม่เป็นความจริงเลยก็ได้ คือได้ผลวิจัยมาจริง ถูกต้องตามหลักการวิจัยจริง แต่สิ่งเหล่านั้นไม่จำเป็นจะต้องใช้ในชีวิตจริงซึ่งบางครั้งก็เป็นความจริงในความลวง คือเป็นความจริงที่ถูกอยู่เพียงมุมหนึ่ง แต่ในมุมอื่นๆกลับไม่มีคุณค่า เป็นเรื่องจริงที่ไม่มีประโยชน์

ทางด้านจิตใจก็หลงกันไปตั้งแต่การติดรสเนื้อสัตว์ หลงว่ามันต้องใส่เนื้อส่วนนี้จึงจะอร่อย อาหารชนิดนี้ต้องใส่กระดูกถึงจะอร่อย หลงติดในรสเนื้อสัตว์ทั้งๆที่จริงแล้วมันอาจจะเป็นรสเครื่องเทศจนแยกไม่ออกว่าอันไหนรสเนื้อ อันไหนรสเครื่องเทศ ก็มัวเมากับเนื้อสัตว์อยู่แบบนั้น ติดไปถึงขั้นเข้าใจว่าการมีเนื้อสัตว์กินคือคนมีฐานะ สั่งเมนูเนื้อสัตว์แพงๆได้คือคนรวย การกินเนื้อสัตว์คือวัฒนธรรมของชนเผ่าที่เจริญ ใครไม่กินเนื้อไม่มีรสนิยม ฯลฯ หรือขั้นหนักหนาเลย ก็เช่น ฉันคือสัตว์กินเนื้อ ฉันเกิดมาเพื่อกินเนื้อสัตว์ ถ้าไม่ได้กินเนื้อสัตว์ฉันขอตายดีกว่า อยู่ไปทำไมถ้าไม่มีเนื้อสัตว์กิน …มันก็บ้าบอกันไปตามประสาคนโดนกิเลสลวงนั่นแหละ

ทีนี้ “ใจเป็นประธานของสิ่งทั้งปวง” ซึ่งจะมีผลตีกลับไปทางด้านร่างกายอีกที ถ้าหากขาดเนื้อสัตว์ก็จะเกิดอาการ ”มโน” ที่จิตได้ปั้นขึ้นมาว่า หากขาดเนื้อสัตว์แล้วฉันจะหมดแรงบ้าง ฉันจะไม่แข็งแรงบ้าง ฉันจะป่วยบ้าง ฉันจะคิดงานไม่ออกบ้าง ฯลฯ นี่ใจมันหลอกร่างกายซ้อนเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง คนไม่รู้ทันกิเลสก็เมาหมัดเลยทีนี้ กลายเป็นว่าเนื้อสัตว์มีอิทธิพลต่อชีวิตฉันจริงๆ มันเกิดผลทางลบจริงๆ ถ้าไม่มีเนื้อสัตว์ฉันตายแน่ๆ

สรุปว่าสุดท้ายกลายเป็นสภาพของ “ทาส” ที่จำเป็นต้องมีเนื้อสัตว์ในการดำรงชีวิต ถ้าไม่มีเนื้อสัตว์แล้วมันจะทรมาน กิเลสมันตีเอาๆ ให้เกิดทุกข์จากความอยาก อดกลั้นได้สักพักก็ตบะแตกกลับไปกินใหม่ ได้กินสะสมใจก็สะสมกิเลสเพิ่มอีก กินเนื้อสัตว์ไปก็สุขหนอ สุขหนอ ว่าแล้วเราอย่าพยายามเลิกกินเนื้อสัตว์เลย มันเป็นทุกข์ ฝืนธรรมชาติ เราต้องเป็น “ทางสายกลวง” นี่แหละดี กินทั้งเนื้อทั้งผัก ไม่โต่งไปทางด้านใดด้านหนึ่ง

พอคิดแบบนี้มันก็นรกเลย ความเห็นไปในทางของ “กาม” ด้านเดียว คือสุดโต่งไปทางกามเลย ไม่ใช่ “ทางสายกลาง” ที่เว้นขาดจากการมัวเมาในกามและการทรมานตนด้วยอัตตา แต่เป็น “ทางสายกาม” ที่มุ่งเสพกามโดยมีวาทกรรมเท่ๆ เอามาอ้างเพื่อให้เสพตามกิเลสโดยไม่รู้สึกผิดกลายเป็นธรรมะวิบัติ ปฏิบัติแบบกลวงๆ แพ้กามไปด้วยความยินดี เพราะหลงว่าตนชนะ??? (ปราบธรรมะด้วยกิเลสได้)

อาการของ “ทาสเนื้อสัตว์” จะไม่ยอมพรากจากเนื้อสัตว์ จะหาเหตุผลที่ฟังแล้วดูดีน่าเชื่อถือมานำเสนอให้ตัวเองและผู้อื่นได้กินเนื้อสัตว์แบบไม่ต้องอายใคร หรือถ้าในหมู่นักปฏิบัติธรรมก็จะมีชุดประโยคยอดฮิตเช่น กินเป็นเพียงธาตุเลี้ยงร่างกาย กินไม่ได้ยึดติดรสชาติ หรือการปฏิบัติธรรมไม่ได้อยู่ที่การกิน ฯลฯ ถ้าไม่ระวังให้ดีกิเลสมันก็อาจจะพาเฉโกไปได้ เพราะโง่ไม่รู้ทันตัณหา คนดับตัณหาได้จริงก็ไม่มีปัญหา แต่คนไม่ทันตัณหาก็เรียกว่าโกหกซ้อนลงไปอีกชั้น คือตัวเองอยากกินอยู่แล้วโกหกว่าไม่อยาก พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ตัณหา เกิดเพราะปัจจัยสี่ หนึ่งในนั้นคืออาหาร ถ้าไม่ทันความอยากในอาหารที่กินอยู่ทุกวัน ก็เรียกได้ว่าไม่มีทางทันกิเลส ก็อ้างกินเถียงกินกันไปวันๆ

เพราะเอาเข้าจริง คนที่ยังกินเนื้อสัตว์ก็หลีกเลี่ยงจากความเป็น “ทาสเนื้อสัตว์” ไม่ได้ หากเรายังต้องกิน ต้องเลี้ยงร่ายกายจากการเบียดเบียนเขามา การเบียดเบียนด้วยการฆ่านี่มันหยาบมันร้ายมากนะ แค่นึกถึงก็ไม่เอาด้วยแล้ว คนที่จิตใจเจริญแล้วจะสะดุ้งกลัวต่อการร่วมบาปนี้ ไม่ยินดีในการร่วมบาปนี้ แต่พวกทาสเนื้อสัตว์ก็จะเฉย ถึงรู้ว่าสัตว์ถูกฆ่ามาก็จะยังเฉยๆ เพราะถ้าคิดมากพูดมากแล้วจะไม่ได้กินเนื้อสัตว์ สู้อย่าไปคิดอย่าไปพิจารณาที่มาของมันเลย “มันเป็นเนื้อมาแล้ว มันตายมาแล้ว” ว่าแล้วก็กินไปโดยทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ “กินๆไปเถอะอย่าคิดมาก กินอะไรก็ตายเหมือนกัน (แต่ฉันขอกินเนื้อนะ)”

การหลุดพ้นจากความเป็นทาส นอกจากจะไม่เอาจิตไปผูกพันด้วยแล้ว ยังต้องถอนร่างกายออกจากความผูกพันด้วย ไม่ใช่บอกว่าจิตไม่รู้สึกรักหรือเกลียดอะไร แต่ปากก็กินเอากินเอา ไม่หยุดกินสักที บางทียังขอเพิ่ม มีผักมาเสริมก็ไม่กินผัก ตักเอาแต่เนื้อ เลือกกินแต่เนื้อเป็นหลัก กี่ปีกี่ชาติก็กินอยู่แบบนั้น กลายเป็นพวก “ปากว่าตาขยิบ

นี่แหละลีลาของ “ทาสเนื้อสัตว์” ที่หลงว่าตนเองไม่ได้เป็นทาส แต่จริงๆ ก็เป็นทาส เพราะไม่สามารถพรากเนื้อสัตว์ออกจากชีวิตได้ ไม่สามารถห่างเนื้อสัตว์ได้ ห่างกายใจก็คิดถึง จึงต้องแสวงหาเนื้อสัตว์มาบำเรอกิเลสตนอยู่เรื่อยไป เพื่อบรรเทาความทุกข์จะความอยากนั้น

คนที่เป็นทาสเนื้อสัตว์จึงน่าสงสารเช่นนี้ เพราะต้องไปซื้อไปหาเนื้อสัตว์ที่เขาเลี้ยงมา กักขังมา ลากมา เฆี่ยนมา ฆ่ามา ชำแหละมาให้เรากิน ต้องสังเวยชีวิตผู้อื่นเพื่อบำเรอสุขตนเอง ถึงต้องมีส่วนเบียดเบียนผู้อื่นก็ยอมจำนน เพราะหลงว่าสุขของเนื้อสัตว์นั้นมีมากกว่าผลกรรมที่ได้รับ หลงเข้าใจไปว่าการได้มาซึ่งเนื้อสัตว์นั้นตนเองไม่มีส่วนรับผลเสีย มีแต่รับสุขจากเสพ จึงเข้าใจว่าคุ้มค่าที่จะเสพ กิเลสมันพาหลงมัวเมาแบบนี้ สะกดให้คนกลายเป็นทาสที่ไม่มีเหตุผล ให้เป็นคนที่ไม่รู้ความเกี่ยวเนื่องของสรรพสิ่ง ให้เป็นคนไม่รู้ชัดในเรื่องกรรมและผลของกรรม

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” ดังนั้นถึงเราจะกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาโดยไม่มีความรักชอบเกลียดชัง แต่เราก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของวงจรการเบียดเบียน นั่นหมายถึงเราก็ต้องรับส่วนแบ่งของความมีโรคมากและอายุสั้นตามกรรมที่มีส่วนทำด้วย สรุปว่ากินไปก็มีแต่จะสร้างทุกข์ให้ตัวเองเท่านั้นเอง

ซึ่งคนเราก็จะเป็น “ทาสเนื้อสัตว์” ถูกคล้องคอด้วยความอยากไปอีกนานจนกว่าจะมีปัญญาเห็นว่า การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้น เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นเพื่อมาบำเรอตน เป็นความสร้างความสุขให้ตนโดยการทำทุกข์ให้กับผู้อื่น เป็นไปเพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เพื่อความเดือดร้อน เพื่อความจองเวรจองกรรมกันชั่วกาลนาน

– – – – – – – – – – – – – – –

18.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

วิบากกรรมสร้างฉาก กิเลสสร้างกรรม

November 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,834 views 0

วิบากกรรมสร้างฉาก กิเลสสร้างกรรม

วิบากกรรมสร้างฉาก กิเลสสร้างกรรม

วิบาก(ผล) กรรม(การกระทำ) หรือผลของการกระทำในอดีตของเรานั้น จะเป็นสิ่งที่จะจัดฉากให้เราต้องได้รับสิ่งดีหรือสิ่งร้าย หรือสิ่งไม่ดีไม่ร้ายใด ๆ ก็ตามที่เราเคยทำมา

แต่การจะตัดสินใจใด ๆ ต่อเหตุการณ์นั้นคือสิทธิ์ของเรา แม้ว่าฉากเหล่านั้นจะถูกจัดมาอย่างเลวร้ายหรือแสนดีแค่ไหน เราก็ไม่จำเป็นต้องเล่นไปตามบทบาทที่ถูกเขียนมา เพราะเรามีอิสระที่จะเลือกตัดสินใจทำกรรมใดก็ตามที่จะเป็นกุศล(ความดี), อกุศล(ความชั่ว), ทั้งดีและชั่ว หรือไม่ดีไม่ชั่วก็ได้

แต่อิสระเหล่านั้นกลับเป็นสิ่งที่ถูกผูกมัดไว้ด้วยกิเลส ความโลภ โกรธ หลงจะเป็นสิ่งที่บงการเรา อยู่เหนืออิสระของเรา ให้เราทำกรรมชั่วนั้น กิเลสจึงเป็นตัวบงการให้สร้างกรรมต่างๆ เช่น เมื่อเจอขนมที่ชอบ ถ้าเราไม่หลงในขนมนั้น ก็คงจะมีอิสระเหนือขนมนั้นอย่างแน่นอน แต่ด้วยความที่เราตกเป็นทาสของกิเลส อิสระของเราเลยกลายเป็นอิสระเฉโก กลายเป็นอิสระในการกิน แต่ไม่เป็นอิสระต่อความอยากกิน เพราะพลังของกิเลสนั่นเอง

การอ้างว่าฉันตัดสินใจทำเช่นนั้นเช่นนี้เพราะกรรมเก่า เป็นการโยนความผิดให้ตัวเองในอดีต โยนบาปให้พ้นตัว ทั้งที่ความจริงแล้ว การตัดสินใจทำกรรมใด ๆ ล้วนเกิดจากเหตุสองทาง หนึ่งคือเกิดจากกิเลส สองคือเกิดจากการไม่มีกิเลส ไม่ได้เกิดกรรมเก่าแต่อย่างใด ( พระไตรปิฎก เล่ม ๒๐ ข้อ ๔๗๓ นิทานสูตร )

การเดินทางสู่ความพ้นทุกข์ นั้นต้องรู้จักรู้จริงในความเป็นปัจจุบัน เข้าใจในพลังของอดีต และความเป็นไปได้ในอนาคต ซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองว่าการตัดสินใจใดๆที่ได้ทำลงไปนั้น เกิดจากสาเหตุใด เกิดจากกิเลสก็ยอมรับว่ากิเลส ไม่ใช่เฉโก ฉลาดหลบเลี่ยงบ่ายเบี่ยงว่าไม่ใช่กิเลส แล้วหลงว่าตนไม่มีกิเลสเข้าไปอีก และก็ต้องแยกให้ออกว่ากิเลสตัวไหน แบบใด หาเหตุของมันจึงจะสามารถเข้าไปทำความผิดให้เป็นความถูกได้โดยลำดับ

– – – – – – – – – – – – – – –

6.11.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความรักของข้ามันเห็นแก่ตัว มันต้องการที่จะครอบครอง

August 11, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,949 views 0

ความรักของข้ามันเห็นแก่ตัว มันต้องการที่จะครอบครอง

ความรักของข้ามันเห็นแก่ตัว มันต้องการที่จะครอบครอง

ความรักที่คิดจะครอบครองนั้น เป็นเหตุให้เราสร้างบาปและเป็นทุกข์ได้เสมอ เป็นทั้งการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ไม่เป็นไปเพื่อความสุข ความเจริญ หรือการพ้นทุกข์ใดๆ

จากละครพระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลกตอนที่ ๔๖ หญิงสาวคนหนึ่งได้ตกหลุมรักพระอานนท์จนแสวงหาวิธีที่ผิดในการครอบครองสิ่งที่หลงรักนั้น ซึ่งความอยากที่จะครอบครองสิ่งที่ตนรักไว้เป็นของตนเพียงผู้เดียวนี้เอง คือความเห็นแก่ตัวอย่างแท้จริง

ไม่ว่าเราจะคิดครอบครองด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม จะครอบครองแค่เสี้ยววินาทีหรือตลอดไปจนชั่วนิรันดร์ มันก็ยังเป็นความเห็นแก่ตัวอยู่ดี คนเรามักจะหาเหตุผลที่ดูดี น่าเชื่อถือ ดูเป็นที่น่ายอมรับให้เกิดการครองคู่ ได้ครอบครองโดยความชอบธรรม นั่นเป็นความเห็นแก่ตัวที่ละเอียดลึกลับซับซ้อน ซ่อนความชั่วไว้ในความดี เหมือนยาพิษที่แทรกลงไปในแต่ละอณูของเกล็ดน้ำตาล

นิยามความรักของพระอานนท์ ต่างจากความรักที่เจ้าคิด” เป็นเนื้อหาในบทพูดตอนหนึ่งของพระพุทธเจ้าในละครตอนนี้ ความรักของพุทธนั้นมีอิสระ ไม่ถูกจำกัดไว้ในเรื่องของครอบครัว คู่รัก ญาติ มิตร ฯลฯ แต่เป็นสิ่งที่แผ่กระจายออกไปให้ทุกคนได้สัมผัส

เช่นเดียวกับในบทละครตอนที่พระพุทธเจ้าบอกกับพระนางยโสธราในตอนที่ ๔๑ ว่า “ถ้าข้ายอมให้ความเศร้าของเจ้าสองแม่ลูก แล้วคนอีกไม่รู้เท่าไหร่ในโลกนี้ที่ทนทุกข์เล่า

ดังนั้นความรักของพุทธคือความรักที่มีให้ทุกคน การนำความรักไปทุ่มเทให้กับคนใดคนหนึ่งจะทำให้คนอื่นๆเสียโอกาส และนั่นหมายถึงเราเองก็เสียโอกาสในการสร้างสิ่งดีงามที่ยิ่งใหญ่ เพียงเพราะไปหลงยึดมั่นผูกพันไว้กับความสัมพันธ์ที่ลวงโลกที่สุด

ความเป็นคู่รักนั้นไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลงแปรผันได้ทุกเวลา พบ พราก จาก ลา แล้วก็แสวงหาใหม่ ไม่เคยหยุด ไม่เคยจบสิ้น ไม่เคยมั่นคง เมื่อมีรักก็ย่อมมีทุกข์ การจะหนีทุกข์ในขณะที่หลงรัก หลงผูกพันกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่นั้น เป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งแท้จริงแล้วความสัมพันธ์ในเชิงคู่รักนั้นไม่มีอยู่จริงในโลกนี้ มันเป็นเพียงสิ่งสมมุติที่คนสร้างขึ้นมาและหลงติดหลงยึดว่ามันดี ว่ามันเป็นสุข หลอกจิตตัวเองโดยสมบูรณ์ว่าได้เสพ ได้รัก ได้เป็นคู่กันแล้วจะเป็นสุข ทั้งที่จริงแล้วสุขเหล่านั้นมันไม่มีตัวตนอยู่จริงเลย มันเป็นเพียงมายาที่เราต่างสร้างขึ้นมาหลอกกันและกัน และหลงวนเวียนอยู่ในเขาวงกตเหล่านั้นกันมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

11.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สมรสคือภาระ

May 8, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,045 views 0

สมรสคือภาระ

สมรสคือภาระ

แต่เดิมแล้วคนเรานั้นมีอิสระที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆได้อย่างมากมาย ซึ่งต่อมาอิสระเหล่านั้นก็จะถูกทำลายไปด้วยพลังแห่งราคะ เป็นสิ่งที่เข้ามาสร้างสุขลวงและทิ้งภาระให้ชีวิตและจิตวิญญาณได้ใช้หนี้กรรมไปอีกนานแสนนาน

เมื่อเราอยู่เป็นคนโสด เราสามารถใช้เวลาและโอกาสเหล่านั้นในการเรียนรู้ชีวิต ค้นหาความหมายในการเกิดมาในครั้งนี้ ว่าเราเกิดมาทำไม เพื่ออะไร เรียนรู้และค้นหาไปจนกระทั่งสามารถเข้าถึงความรู้ที่เป็นที่สุดของโลก คือได้เรียนรู้ทุกข์ เรียนรู้เหตุแห่งทุกข์ เรียนรู้ความดับทุกข์ และเรียนรู้วิธีปฏิบัติสู่การดับทุกข์ทั้งปวง

ซึ่งความรู้เหล่านี้เป็นความรู้ที่ทุกคนควรจะเรียนรู้ให้กระจ่างให้เร็วที่สุด เพราะในโลกนี้แท้จริงแล้วก็ไม่มีใครอยากทุกข์ ไม่มีใครชอบทุกข์ รักสุขเกลียดทุกข์ แต่น้อยคนนักที่จะได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับความจริงที่พาพ้นทุกข์นี้

นั่นเพราะพลังของกิเลส คือราคะหรือความใคร่อยากเสพจะเป็นตัวสกัดกั้นความเจริญในธรรมและพาให้เราไปหาภาระ หรือสิ่งที่เบนความสนใจของเราให้ห่างออกไปจากทางพ้นทุกข์ ให้ไปเสพสุขลวง ให้หลงมัวเมาอยู่ในโลก

ในขั้นเริ่มต้น ก็จะเริ่มแสวงหาคนรัก คนที่จะมาบำเรอกิเลสตนได้ คนที่ถูกใจ คนที่วาดฝันไว้ แม้มีเพียงความอยากระดับนี้ ก็มีพลังมากพอจะทำให้เรา เลิกเรียนรู้ความหมายของชีวิต หันมาหาวิธีสนองตัณหาตนเองแทน แต่ในขั้นนี้ก็สามารถหลุดออกมาได้เร็ว เพราะการผิดหวังในขั้นนี้ก็ถือว่าเป็นบทเรียนที่ไม่ทุกข์นัก จึงสามารถถอนตัวกลับมาเรียนรู้ชีวิตได้

ในขั้นปานกลางพอกิเลสมากเข้า และวิบากกรรมส่งผลก็จะได้คนโชคร้ายหนึ่งคนมาคบหา ภาษาธรรมะเรียกว่า “ตัวเวรตัวกรรม” ภาษาทั่วไปเรียกกันว่า “แฟน” เขาเหล่านั้นจะคอยสนองกิเลสเรา ยั่วกิเลสเรา ทั้งกิน ทั้งโกรธ ทั้งกาม ผสมปนเปกันไปจนไม่ต้องพูดถึงธรรมะ เวลาคนมันเสพสุขจากกิเลสนี่ก็มัวเมาจนมืดบอดไปหมด ระยะนี้ถือว่าสร้างภาระให้กับตัวเองในระดับหนึ่งแล้ว เพราะการรับเข้ามาเป็นแฟน มันก็ใช่ว่าเลิกกันได้ง่ายๆ แทนที่จะได้เอาเวลาในชีวิตไปเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็มาเมากันอยู่แค่ตรงนี้

ในขั้นหนัก พอกิเลสสุกงอมกันทั้งคู่ ก็จะแต่งงานกัน การแต่งงานเป็นการผูกภาระที่สมบูรณ์ คนเรามักจะสัญญาว่าจะดูแลคู่ครองกันไปจนตาย นั่นหมายความว่าเราต้องเสียประโยชน์ตนเองไปเพื่อบำเรอกิเลสของคู่ครองไปจนตาย เป็นภาระที่หนัก และยังมีของแถมให้เป็นภาระอีกมากมาย เมื่อครอบครัวของทั้งสองฝ่ายรวมเข้าหากัน เวลาที่จะเอาศึกษาธรรมเพื่อแสวงหาความดับทุกข์นั้นเรียกได้ว่าไม่ต้องพูดถึง เพราะถ้าทิ้งหน้าที่สามีหรือภรรยาหนีไปศึกษา ก็มักจะโดนกล่าวหาว่าไม่ทำหน้าที่คู่ครองที่ดี

ในขั้นหนักที่สุด คือแต่งงานกันแล้วยังสร้างสิ่งผูกมัดในชีวิตไม่พอ ก็จะสร้างลูกขึ้นมาด้วย เมื่อสร้างลูกขึ้นมาก็เหมือนกลายเป็นทาสที่ต้องใช้เวลาคอยดูแลลูกเข้าไปอีก ไหนจะต้องบำเรอคู่ ไหนจะต้องบำรุงลูก ไหนจะการงาน ในจะกิจกรรมในครอบครัว ไหนจะสุขภาพ ไหนจะเรื่องการสนองกิเลสตัวเอง กว่าจะเอาเวลาไปศึกษาธรรมะ ก็คงต้องรอลูกโตหรือไม่ก็ตายกันไปข้างหนึ่ง จะหนีไปบวชหรือหนีไปปฏิบัติธรรมก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ ใช่ว่าเขาจะยอมกันง่ายๆ รับเขามาในชีวิต ไปบำเรอกิเลสจนเขากิเลสอ้วนแล้วจะทิ้งกันง่ายๆนี่ไม่มีทาง ครอบครัวจะรั้งเราไว้ มันจะมีเหตุการณ์ประหลาดที่กั้นขวางไม่ให้เราสามารถเข้าใกล้ธรรมได้มากมาย

สุดท้ายกว่าจะได้โอกาส ได้อิสระไปค้นหาความหมายของชีวิตอีกครั้งก็คงจะใกล้วัยชราแล้ว มีเวลาเหลือน้อยแล้ว สุขภาพไม่เอื้ออำนวยเหมือนตอนวัยรุ่นแล้ว ครูบาอาจารย์ก็ตายไปหมดแล้ว สุดท้ายก็ไม่รู้จะทำอะไร เลยสนองกิเลสแล้วก็รอวันตายไปเปล่าๆอีกหนึ่งชาติ ถือว่าเกิดมาเสพกิเลสฟรีๆ เป็นโมฆะบุรุษไป เสียกุศลที่สร้างมา แถมยังต้องรับอกุศลคือกรรมชั่วที่ทำไว้มากมายในชาตินี้อีก

เกิดมาเป็นคนใหม่ก็พยายามจะค้นหาความหมายของการมีชีวิตเหมือนเดิม แต่ไม่นานกิเลสเพื่อนเก่าก็เข้ามาทักทาย สุดท้ายก็แพ้กามราคะเหมือนเดิม ไปแต่งงานมีลูก ผูกครอบครัวเหมือนเดิม กว่าจะหลุดได้ก็แก่เหมือนเดิม แก่แล้วก็ขี้เกียจเหมือนเดิม สุดท้ายก็ตายไปเปล่าๆเหมือนเดิม

ถ้าอย่างแย่ที่สุดคือหักห้ามใจไม่ไปแต่งงานเสีย ถ้าคบอยู่ก็ให้เป็นแค่เพื่อน ถ้ารักกันจริงก็อย่าให้เสียประโยชน์ตนเอง ก็อาจจะทำให้พ้นจากนรกที่ไม่มีวันจบสิ้นแบบนี้ได้เร็วขึ้น แต่ถ้าเผลอพลาดไปแต่งงานแล้วล่ะก็ ตัวใครตัวมัน ตอนแก้มันไม่ง่ายเหมือนตอนผูกนะ เงื่อนกรรมมันพันแน่นซับซ้อนมาก

ใครอยากมีความสุขในชีวิตก็ไม่ต้องไปผูกเงื่อนกรรมพ่วงชีวิตกับใครไว้ เพราะเพียงแค่ชีวิตเราเองก็เป็นภาระที่ต้องจัดการมากพอแล้ว ยังจะเอาคนมีกิเลสมาผูกไว้ด้วยอีกคน แถมกิเลสของบรรดาญาติมิตรสหายของเขาอีก นี่มัน “ อภิมหากองกิเลส “ ใครคิดว่าแน่จะไปลองลิ้มชิมนรกเช่นนี้ดูก็ได้ เพราะถ้าปัญญามันไม่เต็มรอบ ยังไงมันก็ไม่เข็ด มันจะไปเสพอยู่นั่นแหละ มันจะโง่ไปเอาภาระ วิ่งไปหาเหามาใส่หัว แกว่งเท้าหาเสี้ยนอยู่นั่นเอง

พอมีคู่มาผูกนี่มันออกไม่ได้ง่ายๆนะ แม้เราจะมีครูบาอาจารย์ที่มีวิชชาสอนให้พ้นทุกข์ได้ แต่วิบากกรรมมันจะกั้นไม่ให้เราออกมาง่ายๆ เขาจะขวาง เขาจะห้าม ถึงเขาไม่ห้าม เราก็ห่วง เราก็ระแวง มันจะมีอะไรสักอย่างมาดลบันดาลทำให้ออกไม่ได้ ทีนี้เวลาวิบากกรรมชั่วชุดใหญ่มันมาแล้วตนเองไม่มีธรรมที่กล้าแกร่งพอ มันจะทุกข์และทุกข์หนักมาก แต่ถึงแม้จะทุกข์สุดทุกข์ก็จะออกจากนรกแห่งความทุกข์นั้นไม่ได้ มันจะผูก จะเหนี่ยว จะรั้งไว้ ให้ทนทุกข์อยู่นั่นแหละ สิ่งที่ทำให้ต้องทนทุกข์แม้ว่าเหมือนจะออกได้แต่ออกไม่ได้ก็คือ ผลของกรรมที่ไปผูกเขาไว้นี่เอง

ตอนได้เสพกัน ได้สนองกิเลสกัน ได้สมสู่กันมันก็ดูเหมือนจะมีความสุขดีอยู่หรอก แต่ตอนที่วิบากกรรมชั่วมาถึงนี่มันไม่สุข ไม่สนุกเลยนะ ใครจะลองศึกษาชีวิตด้วยทางนี้ก็ได้เหมือนกัน ทางเส้นนี้ทุกข์มากสุขน้อย แต่คนเขลาจะเห็นว่าทุกข์น้อยสุขมาก จะบอกยังไงก็คงไม่เชื่อ ก็คงต้องลองกันดูเอง แต่ถ้ารู้แล้วไม่ไปลองก็ถือว่าเอาตัวรอดเป็น

สุดท้ายนี้ก็ขอสรุปว่าการมีคู่นี่มันเป็นการผูกพันให้ต้องมารับภาระ รับทุกข์ รับวิบากกรรมกันชั่วกัปชั่วกัลป์ไม่จบไม่สิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

1.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)