Tag: อกุศลกรรม

ความตายมิอาจพราก…กิเลสและกรรมไปจากเราได้

October 14, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,699 views 0

ความตายมิอาจพราก...กิเลสและกรรมไปจากเราได้

ความตายมิอาจพราก…กิเลสและกรรมไปจากเราได้

การที่ชีวิตหนึ่งต้องพบกับการจากพรากจนถึงความตายนั้น ไม่ได้หมายถึงการสิ้นสุดของวิญญาณดวงนั้น ความตายเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนแปลงสภาพของร่างกายอันคือภพหนึ่งไปสู่อีกภพหนึ่ง ซึ่งมีกรรมเป็นผู้ดลบันดาลให้เกิด

กว่าจะตาย…

ยกตัวอย่างเช่น พอเราชอบกินเนื้อสัตว์ กินอาหารปิ้งย่างมากๆ ด้วยกิเลสของเราจึงสร้างกรรมอันเบียดเบียน พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้เบียดเบียนย่อมมีโรคมากและอายุสั้น คนบางพวกที่กินเนื้อสัตว์มากจึงมีการป่วยด้วยโรคต่างๆ เช่นมะเร็ง นั่นคือสภาพหนึ่งของกรรมที่ส่งผล เป็นทั้งกรรมจากอดีตชาติคือกรรมจากกิเลสส่วนหนึ่ง กรรมจากผลที่ทำมาส่วนหนึ่ง และกรรมจากกิเลสที่ทำในชาตินี้อีกส่วนหนึ่งสังเคราะห์กันอย่างลงตัวจนเกิดเป็นสภาพของมะเร็ง

โรคที่เกิดขึ้นนั้นมาจาก “นาม” เข้าใจง่ายๆกันว่าอกุศลกรรม หรือพลังงาน หรือจะเข้าใจว่าบาปก็ได้ เพราะส่วนหนึ่งของการเบียดเบียนนั้นเกิดจากกิเลส เกิดจากความอยากเสพ พอมีความอยากเสพมากๆ ก็จะไม่คิดถึงศีลธรรม ไม่คิดว่าชีวิตคนอื่นหรือสัตว์อื่นต้องได้รับทุกข์ร้อนใจอะไร เพียงแค่ได้เสพสมใจตนเองเท่านั้น จึงยินดีในการเบียดเบียนผู้อื่น ยอมสร้างกรรมกิเลสนี้ได้ เพียงให้ได้มาซึ่งความสุขลวง

เมื่อผลของการกระทำหรือวิบากกรรมชั่วนั้นสะสมจนลงตัว เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม จึงสร้าง “รูป” ขึ้นมาให้เห็น รูปในที่นี้คือสิ่งที่เห็นได้ สัมผัสได้ รับรู้ได้ เช่น วัตถุ สิ่งของ ก้อนมะเร็ง หรือเหตุการณ์บางอย่างที่เข้ามาทำให้ร่างกายและจิตใจของเราเป็นทุกข์

แม้จะตายก็ยอมเสพ…

สังเกตได้ว่าแม้ว่าคนเราจะรู้ว่าการสูบบุหรี่จะนำมาซึ่งการเจ็บป่วยทุกข์ทรมาน เหล้าและสารเสพติดจะนำมาซึ่งภัยต่อสุขภาพ อุบัติเหตุ และการวิวาท หรือแม้แต่การกินเนื้อสัตว์ย่างจะมีผลให้ก่อเกิดมะเร็ง แต่เราก็ยังยินดีที่จะเสพสิ่งนั้น แม้ว่าจะต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม เราก็ยังอยากจะเสพสิ่งนั้น ประมาณว่าขอตายก็ได้ เพียงแค่ให้ฉันได้เสพสมใจในสิ่งที่ฉันอยาก

มีชาวนาชาวไร่มากมายที่ต้องเสียชีวิตไปจากการสะสมของสารเคมีต่างๆในร่างกาย แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนจะมองเห็นว่าสารเคมีเป็นโทษ หลายคนแม้ได้เห็นการตายของคนใกล้ชิดจากสารเคมีกลับมองว่าไม่ใช่เพราะสารเคมี แม้คนตายนั้นเองก็ไม่ได้โทษสารเคมีที่ใช้เลย นั้นเพราะเขามีอัตตา ยึดมั่นถือมั่นว่าสารเคมีดี สารเคมีเป็นมิตรกับเขาทำให้เขามีผลผลิตและร่ำร่วยมันไม่มีทางฆ่าเขา เห็นไหมว่ากิเลสคนเรามันรุนแรงขนาดไหน ขนาดว่ามันจะฆ่าเราตาย มันฆ่าญาติ พี่น้อง มิตร สหายของเราให้ตายไปแล้ว เรายังไม่เกลียดมันเลย

ดังนั้นความตาย หรือการพิจารณาเพียงแค่ความตายนั้นจึงไม่อาจจะนำไปล้างกิเลสได้เสมอไป เพราะบางครั้งกิเลสของเราจะหนาถึงขั้นยอมตายได้เพียงเพื่อให้ได้เสพสิ่งนั้น

เราตาย กิเลสไม่ตาย

เห็นได้เช่นนั้นว่า แม้ความตายก็ไม่อาจจะพรากกิเลสได้ และเมื่อเราตายกิเลสเหล่านั้นจะหายไปไหน?

กิเลสจะสั่งสมลงในวิญญาณ อยู่ในอุปาทาน ฝังไว้ในรากลึกๆ อยู่ในนาม อยู่ในกรรมของเรา รอวันเวลา ที่วันใดวันหนึ่งเรามีโอกาสที่จะได้ร่างกาย ก็จะนำกิเลสและกรรมส่วนหนึ่งมาสังเคราะห์ให้เกิดเป็นร่างนั้นๆ ดังเช่น ผู้ที่มักเบียดเบียนมักนำความทุกข์มาให้ผู้อื่นสัตว์อื่นชีวิตอื่น ก็มักจะมีโรคมาก

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราเสพติดการกินเนื้อสัตว์มาก นอกจากจะทำให้เกิดเป็นมะเร็งที่มาคร่าชีวิตเราแล้ว ยังสามารถให้ผลเป็นร่างกายที่อ่อนแอของเราในชาตินี้ด้วย นั่นเป็นผลที่มาจากการเบียดเบียนในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน

และเท่านั้นยังไม่พอ เมื่อเกิดมาเป็นสัตว์หรือมนุษย์แล้วกิเลสก็ยังมีอยู่ จึงต้องเสาะหาสิ่งที่ตัวเองอยากเสพต่อจากชาติที่แล้ว เช่นเคยเสพติดเนื้อสัตว์ พอชาตินี้ได้มากินเนื้อสัตว์ก็เสพติด แม้คนอื่นเขาจะบอกว่ามันทำให้เกิดทุกข์ โทษ ภัยอย่างไรก็ยังจะยินดีกินเนื้อสัตว์ ติดอยู่ในความอยากเสพเนื้อสัตว์ ออกไม่ได้ง่ายๆ

ต่างจากผู้ที่มีกิเลสเรื่องความอยากเสพเนื้อสัตว์เบาบางหรือล้างกิเลสแห่งความอยากเนื้อสัตว์นั้นได้แล้วเมื่อเขาได้ยินทุกข์ โทษ ภัยที่เกิดจากการกินเนื้อสัตว์ ก็สามารถสลัดความอยาก เลิกเสพเนื้อสัตว์นั้นได้โดยง่าย นี่คือลักษณะของความไม่มีกิเลสที่ติดมาเช่นกัน ให้สังเกตว่าเราสามารถหลุดจากสิ่งนั้นได้ง่ายหรือยาก ถ้าง่ายก็คือบุญบารมีเก่า แต่ถ้ายากแสนยากก็ให้พากเพียรกันต่อไป ผูกกิเลสมาเองก็ต้องมานั่งแก้กันเอง

แม้เราจะตาย แต่กรรมไม่ตายตามเรา

เมื่อเรามีกิเลส กิเลสก็มักจะพาเราไปเบียดเบียนผู้อื่น และผลที่ได้กลับมาคือความสุขเพียงชั่วครู่ กับกรรมที่ต้องรับไว้จากการเบียดเบียน พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเราว่า ไม่มีสิ่งใดที่เราได้รับโดยที่เราไม่ได้ทำมา สิ่งที่เราได้รับ เราทำมาแล้วทั้งนั้น

หลายคนอาจจะบอกว่าทำไมฉันต้องได้รับกรรมที่ฉันไม่เคยทำมาด้วย ชาตินี้ฉันยังไม่เคยทำใครเดือดร้อนขนาดนี้เลย!!

บางครั้ง บางเหตุการณ์ ก็อาจจะเกิดขึ้นจากผลกรรมในชาติก่อน สังเคราะห์รวมกันกับกรรมในชาตินี้ เช่นชาติก่อนเป็นคนชอบเบียดเบียนผู้อื่น สัตว์อื่น ชาตินี้ก็เลยต้องมารับกรรมด้วยร่างกายอ่อนแอ มีโรคมาก แถมในชาตินี้ก็ยังชอบกินเนื้อสัตว์ โปรดปรานเนื้อสัตว์ดิบ มักชอบเมนูสัตว์ที่สด เช่น ปลาสด ปูนึ่งสด ปลาหมึกสด กุ้งสด เมื่อกรรมเก่า รวมกับกรรมกิเลสใหม่ในชาตินี้ ก็จะสังเคราะห์ออกมาเป็นทุกข์ โทษ ภัยมากมาย อาจจะแสดงออกมาในรูปของโรคภัยไข้เจ็บ การสูญเสีย ปัญหาภาระหน้าที่การงาน หรือทุกข์ใดๆก็ได้ เพราะกรรมเป็นเรื่องอจินไตย อย่าไปเสียเวลาเดาผลของมันเลย รู้ไว้เพียงแค่ว่า เบียดเบียนคนอื่นแล้วต้องได้รับผลนั้นอย่างแน่นอน

กรรมนี้เองเป็นสมบัติที่จะติดตามเราไปทุกภพทุกชาติ ใครทำอะไรไว้ก็ต้องได้รับผลจนหมด จะหนักจะเบาก็ต้องรับไว้หมด ความตายไม่ใช่จุดสิ้นสุดของกรรม เพราะเมื่อเกิดขึ้นมาใหม่ก็ต้องรับผลกรรมนั้นไปเรื่อยๆ ดังเช่นในคนที่คิดเห็นว่า “ชาตินี้ฉันไม่ได้ทำชั่ว ทำไมฉันต้องรับกรรมด้วย” ก็นั่นแหละ คือกรรมเก่าของเรา เราทำมาเอง ไม่อย่างนั้นมันไม่มีทางได้รับหรอก เพราะเคยชั่วมาก็ต้องรับกรรมชั่วของเรา

คนเราเวลาได้รับกรรมดีมักจะไม่นึกย้อนว่าตัวเองเคยทำดีมา เพียงแค่คิดว่า โชคดี ลาภลอย จึงไม่ทำเหตุหรือความดีที่จะทำให้เกิดสิ่งดีในชีวิตนั้นอีก แต่พอเกิดสิ่งร้ายที่มาจากกรรมชั่ว ก็มักจะหาคนผิด หาว่าคนอื่นผิด โทษดินโทษฟ้า แต่ไม่โทษตัวเอง คนพวกนี้ก็จะทุกข์สุดทุกข์ และเมื่อมัวแต่โทษผู้อื่นก็จะไม่หยุดทำชั่ว สร้างกรรมชั่วนั้นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่มีวันหยุด นั่นเพราะเขาไม่ยอมรับกรรมชั่วที่ตนเคยทำมา เมื่อไม่ยอมรับก็ทำเหมือนมองไม่เห็น โกหกว่าไม่เคยทำมา เมื่อโกหก ก็ได้ทำชั่วไปแล้ว

ดังนั้นแม้เราจะเห็นว่าคนที่ทำดีจะตายไปจากอุบัติเหตุ หรือในเวลาที่เราคิดว่าไม่สมควรทั้งหลายนั้น ให้รู้ว่าเขาได้ใช้กรรมชั่วของเขาหมดไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่ความดีที่เขาทำในชาตินี้ก็จะช่วยส่งเสริมเขาในชาติต่อไป ในการเกิดครั้งต่อไป

คนชั่วก็เช่นกัน แม้เราจะเห็นว่าคนชั่วบางคนตายจากไปอย่างง่ายดาย หรือยังไม่ได้รับกรรมอันสมควรก่อนจะตาย ให้รู้ว่าเขาได้ใช้กรรมชั่วของเขาหมดไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่ความชั่วที่เขาทำในชาตินี้ก็จะทำให้เขาต้องทุกข์ทรมาน แม้จะเกิดอีกกี่ครั้งเขาก็ต้องรับกรรมที่เคยเบียดเบียนผู้อื่นไว้ และรับไปจนกว่าจะหมดกรรมนั้นๆ

เมื่อเห็นได้ดังนี้แล้ว ผู้ที่มีปัญญาก็จะพากเพียรทำแต่ความดี เพราะรู้ว่าสิ่งที่ดีที่เราได้รับนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากการทำดีในกาลก่อน เพื่อไม่ให้ดีนั้นพร่องลงไป และเพื่อที่จะใช้ความดีนี้สร้างกุศลต่อไป เขาจึงหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส โดยการล้างกิเลส ทำลายกิเลสอันเป็นเชื้อร้ายที่จะก่อกำเนิดสิ่งชั่ว นำมาซึ่งอกุศลกรรมต่างๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องลำบากทั้งในชีวิตนี้และชีวิตหน้า ดับกิเลสตอนนี้ก็สุขได้เลยตอนนี้ หมดกรรมจากกิเลสใหม่ไปเลยตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ต้องรอแบกกิเลสไปดับกันในภพหน้า ชาติหน้า ชีวิตหน้า

– – – – – – – – – – – – – – –

14.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ความตายชนะทุกสิ่ง

August 30, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,700 views 0

ความตายชนะทุกสิ่ง

ความตายชนะทุกสิ่ง

ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่แค่ไหน หรือต่ำต้อยเพียงใด ชีวิตก็ต้องดำเนินมาถึงความตาย แม้ชีวิตจะมีแต่ความสุข ที่เต็มไปด้วยทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง อำนาจ คนรัก ญาติมิตร บริวาร หรือกระทั่งความทุกข์ โรค ภัย ไข้เจ็บ ความเหงา เศร้า ทรมาน ก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับความตาย ทุกสิ่งช่างไร้ค่า…เมื่อต้องเผชิญกับความตาย

เมื่อความตายมาถึง สิ่งที่สั่งสมมาไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่แค่ไหน ก็เอาติดตัวไปไม่ได้ จะผ่านไปได้ก็เฉพาะจิตวิญญาณเท่านั้น ส่วนทางที่ไปนั้น ก็เป็นไปตามกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่ได้ทำมา คงจะมีหลายคนในโลกที่ไม่เชื่อและยังไม่เข้าใจเรื่องตายแล้วไปไหน?

ความตายไม่ได้นำไปสู่การดับสูญ เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนสภาพจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง เปลี่ยนจากคนที่นอนป่วยกลายเป็นสิ่งอื่น ตามกรรมที่เขาได้ทำมา ทำชั่วก็ไปชั่ว ทำดีก็ไปดี ทำชั่วดีปนกัน กรรมเขาก็คำนวณให้ออกไปอย่างเหมาะสม นั่นก็เพราะกฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ ดังจะเห็นได้ว่าตัวเราที่นั่งอ่านบทความอยู่ตรงนี้ก็เป็นผลจากกรรมในอดีต เราเกิดมาพร้อมกับกรรมดีกรรมชั่วที่เราทำมาแต่ชาติปางก่อน

การที่เราเกิดมามีกินมีใช้เพียบพร้อมไปด้วยปัจจัยสี่ โดยทั่วไปก็มักมองว่าเป็นเรื่องของความบังเอิญ เป็นเรื่องของโชค แต่ในทางพุทธไม่มีคำว่าบังเอิญหรือโชคดีอะไรทั้งนั้น มีแต่ความจริงที่ว่า สิ่งที่เราได้รับคือสิ่งที่เราทำมาแล้วทั้งนั้น ไม่มีสิ่งใดเลยที่เราได้รับโดยที่เราไม่ได้ทำมา สิ่งดีสิ่งชั่วเหล่านั้นที่เราได้รับ คือสิ่งที่เราทำมาทั้งนั้น

ความตายที่ผ่านเข้ามาก็เป็นเพียงการชำระล้างของกรรม เพื่อที่จะเริ่มต้นใหม่ ผู้ที่สะสมโลกียะทรัพย์ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขลวงๆ ก็จะต้องพลอยสิ้นเนื้อประดาตัว ขาดทุนไปตามๆกัน คงจะมีแต่ผู้ที่สะสมอริยทรัพย์ คือบุญและกุศลเท่านั้นที่พอจะสามารถกอบโกยทุนบางส่วน ไปลงทุนในละครบทต่อไปได้

ความตาย และการเกิดของกิเลส…

แต่ความตายก็ไม่ได้เลวร้ายเท่าการเกิด การเกิดนั้นย่อมเป็นทุกข์ยิ่งกว่า เพราะความเกิดเป็นเหตุแห่งความตาย ตายแล้วก็เกิดวนกันไปอยู่อย่างนี้ ดังที่กิเลสเกิดในแต่ละวัน เช่น เราอยากกินของที่ชอบ กิเลสก็เกิดขึ้นมา แล้วมันก็ตั้งอยู่สักพัก ไม่ว่าจะได้กินหรือไม่ได้กิน มันก็จะดับไปของมันเอง แต่แล้ววันต่อมามันก็เกิดอีก แล้วก็ตั้งอยู่สักพัก ไม่นานไปก็ดับไปอีก เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แบบนี้วนเวียนไปเรื่อย ไม่มีวันจบสิ้น

แม้ว่าความตายนั้นจะชนะทุกสิ่งได้ แต่ความตายของกิเลสนี้ เราต้องทำให้มันเกิดขึ้นเอง กิเลสคือศัตรูร้ายที่ฝังตัวแอบซ่อนอยู่ข้างในจิตใจเรา เป็นตัวบงการให้มีการเกิด แต่ตัวมันเองจะไม่ยอมตาย ถ้ามัวแต่เลี้ยงมันไว้ คนที่ตายก็เป็นตัวเราเองนี่แหละ แล้วมันก็จะสั่งให้เราเกิด เพื่อหาอาหารให้มัน ให้เสพสมใจมัน ใช้งานเราจนร่างกายที่ได้รับมาทรุดโทรม เจ็บป่วย แก่เฒ่า แล้วก็ตายจนต้องทิ้งร่างนี้ไป เบิกทุนบุญกุศลในชาติก่อนเพื่อเกิดมาตายไปชาติหนึ่งเปล่าๆ โดยไม่ได้ใช้ทำประโยชน์ คือการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวอริยทรัพย์ เพราะมัวแต่ทำตามคำสั่งกิเลสให้ไปสะสมโลกียะทรัพย์

การจะเอาชนะกิเลสนั้น จึงจะเป็นต้องสวนกระแส ต้องคอยต้าน คอยฝืน ไม่ทำตามกิเลส พิจารณาทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียที่เกิดจากการทำตามคำสั่งของกิเลสนั้นๆ ค้นหาว่าจริงๆแล้วเราต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้เพราะอะไร และเข้าไปค่อยๆพิจารณาตามจริงถึงสาระแท้ของสิ่งนั้นว่ามีคุณค่าจริง หรือแค่กิเลสต้องการ เมื่อเราใช้ปัญญาพิจารณาอย่างตั้งมั่น จนเห็นความจริงตามความเป็นจริงแล้วว่ากิเลสนั้นไม่ใช่ตัวเรา เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ไม่มีประโยชน์หรือสาระใดๆเลย กิเลสก็จะยอมถอย ยอมตายไปจากใจของเราเอง เป็นการชนะศึกจากการรบกับกิเลสโดยใช้ปัญญา

เป็นการมอบความตายให้กับกิเลส โดยที่มันเองก็ยินดีที่จะตาย และตายไปตลอดนิรันดร์กาล เป็นความตายที่เอาชนะได้แม้แต่กิเลส เป็นความตายที่ไม่ต้องมีการกลับมาเกิดอีก และไม่ต้องมีการตายอีกต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –
28.8.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์