Tag: หิริโอตตัปปะ

การกินมื้อเดียว

March 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,615 views 0

การกินมื้อเดียว : ความเห็นความเข้าใจในเบื้องต้นสู่การศึกษาศีลกินมื้อเดียว

การกินมื้อเดียวนั้นเป็นศีลข้อหนึ่งในพุทธศาสนา ซึ่งอยู่ในจุลศีลและจัดอยู่ในศีลที่เรียกว่าศีลเคร่ง (ธุดงควัตร) ซึ่งการกินมื้อเดียวนี้ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของพระหรือนักบวชเท่านั้น ศีลแต่ละข้อที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติมานั้นเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ ดังนั้นการกินมื้อเดียวจึงเหมาะกับทุกคนที่ต้องการพ้นทุกข์

ในบทความนี้ก็จะขยายเนื้อหาที่น่าสนใจเกี่ยวกับการกินมื้อเดียวมาทั้งหมด ๙ ข้อ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ

๑). ความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับการกินมื้อเดียว

แม้ว่าในเมืองไทยจะเป็นสังคมพุทธโดยส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการกินมื้อเดียวอยู่มาก มักจะเข้าใจว่าเป็นเรื่องของพระ ฆราวาสไม่เกี่ยว เข้าใจไปว่าคนใช้พลังงานกินมื้อเดียวไม่ได้ เข้าใจไปว่ากินมื้อเดียวแล้วจะไม่มีแรง เข้าใจไปว่ากินมื้อเดียวแล้วจะหิว เข้าใจไปว่าร่างกายจะขาดสารอาหาร

ความเข้าใจเหล่านี้เป็นไปตามวิสัยของกิเลส และประกอบกับไม่มีปัญญาหาข้อมูลเกี่ยวกับการกินมื้อเดียวให้กระจ่างแจ้งจึงทำให้การกินมื้อเดียวนั้นเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ยาก ดูลำบาก ทรมานตัวเอง ทำร้ายตัวเอง ฯลฯ ทั้งที่จริงแล้วการกินมื้อเดียวนี้คือความสมบูรณ์และความพอดีสูงสุดในชีวิต

๒). ประโยชน์ของการกินมื้อเดียว

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับประโยชน์ของการกินมื้อเดียวไว้ 5 ข้อด้วยกันคือ เจ็บป่วยน้อย ลำบากกายน้อย เบากายเบาใจ มีกำลัง เป็นอยู่ผาสุก การจะเกิดประโยชน์ทั้งหมดนี้ได้นั้นจะต้องกระทำให้ถึงที่สุดของศีลนั้นๆคือศึกษาศีลจนเกิดปัญญาขึ้นมาก็จะเข้าใจตามที่พระพุทธเจ้าตรัสได้

ซึ่งคนที่ฝึกใหม่หรือเริ่มหัดกินมื้อเดียวก็จะยังไม่สามารถเข้าถึงปัญญาเหล่านี้ได้ และยังต้องเสียพลังงานให้กับกิเลสอยู่มาก จึงทำให้การกินมื้อเดียวไม่เกิดประสิทธิภาพ ทั้งนี้ประโยชน์ของการกินมื้อเดียวสามารถขยายมาอธิบายทางโลกได้เพิ่มอีกเช่น ประหยัด มีเวลาว่างเพิ่มขึ้น ไม่ต้องเป็นภาระมาก ไม่ต้องกินมาก เหมือนรถที่เติมน้ำมันน้อยแต่วิ่งได้มากกว่ารถที่เติมน้ำมันเต็มถัง

๓). การกินมื้อเดียวแบบกดข่ม

การกินมื้อเดียวได้นั้น ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามหลักของพุทธเสมอไป เพียงแค่ใช้การกดข่มก็สามารถกินมื้อเดียวได้ทั้งปีทั้งชาติแล้ว โดยเฉพาะคนที่กินมื้อเดียวแบบเหยาะแหยะ คือกินข้าวมื้อเดียวนะแต่ต่อจากนั้นก็ตามด้วยน้ำปานะ นม ขนม เป็นระยะๆ ใส่พลังงานให้ร่างกายเป็นระยะ ทั้งที่จริงแล้วการกินครั้งเดียวต่อวันก็ให้พลังงานมากพอที่จะทำงานหนักทั้งวันได้

ซึ่งการกินแบบกดข่มหรือใช้สมถะเข้ามากดไว้ จะทำให้สามารถกินมื้อเดียวได้ไม่ยาก แต่ก็จะไม่มีปัญญารู้ในเรื่องกิเลส เพราะไม่ได้สนใจกิเลส รู้แค่กินได้กับกินไม่ได้ ดังนั้นจึงมีเป้าหมายคือต้องกดข่มจิตให้กินมื้อเดียวได้เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น บางคนในระหว่างที่บวชพระก็กินมื้อเดียวได้ แต่พอสึกออกมาก็เลิกกินมื้อเดียว นั่นเพราะในช่วงที่บวชก็กดข่มไว้ แต่พอเลิกบวชไม่มีศีลมาบังคับก็เลิกกินมื้อเดียวไปด้วย ทั้งนี้เพราะไม่มีปัญญาเห็นคุณค่าของการกินมื้อเดียว และใช้การกินมื้อเดียวแบบกดข่มจึงทำให้ “ได้แค่กินมื้อเดียว” แต่ก็ไม่มีความเจริญทางธรรม

๔). การกินมื้อเดียวโดยใช้กิเลสล่อ

เราสามารถกินมื้อเดียวได้โดยใช้กิเลสล่อ เช่นมักมากในกาม อยากสวยและหุ่นดี เราก็ลดมื้อมากินมื้อเดียวก็สามารถทำได้กันมากมาย หรือมักมากในโลกธรรม อยากได้รับคำสรรเสริญเยินยอว่าทำได้ ก็พยายามกินมื้อเดียวเพื่อจะได้เสพโลกธรรม จะได้มีคนชม จะได้มีหน้ามีตา จะได้รับการยกย่องว่าทำได้

หรือใช้อัตตาเข้ามาเป็นเหตุ คือฉันทำได้ ฉันจะกินมื้อเดียว คนอื่นทำได้ฉันก็ทำได้ มันมีความยึดดีถือดีมาเป็นพลังขับดันให้ทำ ซึ่งนั่นหมายถึงเอาการกินมื้อเดียวมาเป็นตัวเป็นตน จะว่าดีมันก็ไม่ดีแท้ เพราะต้องมาล้างอัตตาที่หนาเตอะอีกที โดยเฉพาะคนที่ใช้อัตตาเข้ามากินมื้อเดียวจนยึดดีถือดี มักจะติดดีจนไม่สามารถเรียนรู้การล้างกิเลสได้เลย เพราะยึดว่าตนทำได้แล้ว ฉันเก่งแล้ว จึงไม่ฟังใคร ซึ่งจริงๆแล้วการกินมื้อเดียวโดยใช้อัตตาเข้ามา อาจจะเป็นแค่การกลบปมด้อยก็ได้ ซึ่งจะผูกปมซับซ้อนกับโลกธรรมและกามอีกทีก็เป็นได้

ทั้งนี้ทั้งนั้นการกินมื้อเดียวโดยมีกิเลสอื่นๆมาร่วม จะยิ่งทำให้ปัญหามากขึ้น เพราะลำพังความอยากกินหลายมื้อก็เป็นกิเลสที่จัดการยากอยู่แล้ว ยังเอากิเลสอื่นๆมากดมาข่ม เอามาบังปัญหาที่แท้จริงไว้อีก มันก็จะยากขึ้นอีก

๕). การศึกษาศีลในข้อกินมื้อเดียว

การถือศีลในหลักของพุทธไม่ใช่การถือแบบงมงาย ถือแบบเป็นตัวเป็นตน แต่การถือศีลนั้นๆ เรายึดถือไว้เพื่อศึกษาเกี่ยวกับกิเลสในศีลนั้นๆ เช่นศีลกินมื้อเดียวนี้ เป็นการชี้ให้เห็นว่าเรามีความอยากกินหลายมื้อมากเพียงใด เราจำเป็นต้องถือศีลให้เคร่ง แต่ไม่เครียด คือไม่ถือแบบเหยาะแหยะจนวนเวียนกลับไปกินหลายมื้อบ่อยๆ และไม่เครียดจนเกินกำลังที่จะทำได้

เมื่อฝึกอดทนบ้าง ฝึกฝืนบ้างก็จะเริ่มเห็นลีลาของกิเลสที่จะคอยให้เหตุผลกล่อมเรา เพื่อให้เรากลับไปกินหลายมื้อ ซึ่งในระยะแรกมักจะแยกกิเลสกับตัวเองไม่ออก กิเลสกับตัวเราหลอมรวมเป็นอัตตา เราจึงต้องใช้ปัญญาศึกษาศีลนี้ให้เห็นกิเลสแบบนี้ และศึกษาไปจนเห็นวิธีที่จะทำให้กิเลสเหล่านี้จางคลายไปตามลำดับ เรียกว่าการใช้ไตรสิกขา

ทั้งหมดเพื่อการข้ามกิเลสสามภพ คือข้ามกามภพ รูปภพ และอรูปภพ สามภพนี้ลีลาของกิเลสจะมีความรุนแรงต่างกัน ในกามภพก็คือ แม้ว่าจะถือศีลแต่ก็ยังแพ้ให้กับกิเลสกลับไปกินหลายมื้ออยู่

ในรูปภพหมายถึงข้ามกามภพมาได้แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะข้ามได้สมบูรณ์ แต่ในขีดของรูปภพคือไม่ไปกิน แต่ยังมีความอยากกินปรุงอยู่ในใจ โดยสามารถรับรู้ความอยากได้

ส่วนอรูปภพเราจะไม่สามารถจับรูปของความอยากกินได้แล้ว จะไม่มีการปรุงแต่งจิตเป็นคำพูดใดๆ มีแต่อาการขุ่นมัว ไม่โปร่ง ไม่ใสเท่านั้น อาการเหล่านี้เบาบางและจางหายได้รวดเร็วมาก ถ้าคนเก่งสมถะมากๆแล้วสังเกตไม่ดีอาจจะกดข่มไปโดยอัตโนมัติแล้วหลงไปว่าข้ามอรูปภพก็ได้ ทั้งนี้อรูปภพนี่เองคือด่านสุดท้ายของการชำระกิเลสที่เรียกว่ายากสุดยาก ต้องอาศัยญาณหยั่งรู้กิเลสมาก ต้องใช้อินทรีย์พละมากในการเห็นหรือจับกิเลสที่อยู่ในภพนี้

๖). ข้อปฏิบัติในการกินมื้อเดียว

การหัดกินมื้อเดียวนั้น สำหรับผู้ที่ยังไม่เห็นประโยชน์ก็ให้หาความรู้เพื่อให้ได้ปัญญาที่เป็นพลังในการเริ่มต้น เพื่อที่จะเข้าถึงศีลให้ได้ก่อน เพราะถ้าจิตใจไม่มีความยินดี ไม่เห็นประโยชน์ คือไม่มีฉันทะ ก็จะไม่สามารถศึกษาศีลนี้ได้นาน

เมื่อเห็นประโยชน์จากการกินมื้อเดียวแล้ว เราก็จะเริ่มถือศีลอย่างตั้งมั่นตามฐานที่เรามี ซึ่งควรจะเริ่มจากเล็กน้อย เช่น 1 วันต่อสัปดาห์ แต่ถ้ารู้สึกว่าไหว ไม่ทุกข์จนเกินไปก็เพิ่มวันไปเรื่อยๆพัฒนามาเป็น 1 สัปดาห์ต่อเดือน 1 เดือน 3 เดือน ครึ่งปี หนึ่งปี จนกระทั่งตลอดชีวิต ผู้ที่หัดใหม่จะไม่สามารถดำรงสภาพของศีลนั้นๆได้นานนัก จะมีเหตุแห่งกิเลสทำให้ศีลนั้นต้องขาดอยู่เสมอ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาเพราะการที่เราเริ่มมาศึกษาศีล เราก็ย่อมไม่รู้เรื่องกิเลสเป็นธรรมดา จึงมักจะพ่ายแพ้ให้กับกิเลสเป็นธรรมดาเช่นกัน

เพื่อให้ได้ผลที่แน่นอน เราจำเป็นต้องมีผู้รู้หรือกัลยาณมิตรที่จะมาคอยชี้นำเป้าหมายไปตามลำดับ เพราะการปฏิบัติธรรมในศาสนาพุทธนั้นต้องกระทำไปโดยลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด ไม่ใช่เพื่อบรรลุธรรมในทันที การถือศีลกินมื้อเดียวก็เช่นกัน ในศีลเดียวนี้เองจะมีระดับความละเอียดของมันไปตามภพของกิเลส ซึ่งการกินมื้อเดียวได้ ไม่ได้หมายความว่าหมดกิเลส การดับกามภพได้ไม่ได้หมายความว่าจะดับกามภพได้ตลอดกาล นั่นหมายถึงว่าแม้จะกินมื้อเดียวได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะบรรลุผลในการศึกษาศีลแต่อย่างใด

ดังที่กล่าวไว้ตอนต้น ว่าเราสามารถถึงผลในการกินมื้อเดียวได้หลายวิธี แต่การปฏิบัติที่ถูกทางพุทธนั้นมีอยู่ทางเดียว และไม่ปนเปื้อนด้วยกิเลสใดๆ รวมทั้งยังมีความรู้แจ้งในกิเลสเป็นผลที่จะได้รับอีกด้วย

๗). สภาวะของผู้ที่กินมื้อเดียวที่ยังมีความเห็นไม่ถูกต้อง

ในปัจจุบันนั้นมีผู้กินมื้อเดียวอยู่มากมายเช่นกัน ทั้งนักบวชและฆราวาส รวมถึงผู้ถือศีลในวันพระ ทั้งนี้ความรู้สึกทุกข์ใจเพราะไม่ได้เสพหลายมื้อ ความรู้สึกว่าต้องอดทนอดกลั้นเพื่อดำรงศีลนั้นไม่ให้ขาด ความรู้สึกว่าต้องทำเพราะเป็นกุศล การทำตามเขาเพราะเขาว่ามันเป็นสิ่งดี หรือแม้แต่การทำตามศีลนั้นเพราะพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้โดยไร้ปัญญาเช่นกัน

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในกาลามสูตรว่าอย่าเชื่ออะไรง่ายนัก แต่ให้เข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ ละเว้นสิ่งที่เป็นโทษ นั่นหมายถึงผู้ที่จะเข้าถึงศีลนั้นๆ จะต้องใช้ปัญญาของตัวเองพิจารณาเอาเองว่าดีจริงหรือไม่ ถ้าดีจริงก็ให้เข้าไปทดลองทำ แต่ถ้าเห็นไม่ดี ไม่เป็นกุศลก็ให้ห่างออกมา ทั้งนี้ทั้งนั้นศีลที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้เป็นศีลเพื่อความพ้นทุกข์อยู่แล้ว เป็นคำที่กล่าวไว้ดีแล้ว เราจึงควรพิจารณาหาประโยชน์เพื่อเข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ด้วยใจที่เป็นสุขให้ได้

ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถเข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้ทันทีเพราะขึ้นอยู่กับขอบเขตของอินทรีย์พละของเรา ถ้าคนเห็นผิดมาก แม้เขาเอาของไม่มีประโยชน์มาล่อก็ยังเห็นว่ามีประโยชน์ไปตามที่เขาล่อลวง ในทางกลับกันแม้ว่าจะมีสิ่งดีมาเสนอให้ เป็นสิ่งที่ดีแท้ แต่อินทรีย์พละเราไม่มากพอ ปัญญาเราไม่ถึง เราก็จะไม่เห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ดี ดังที่เขาว่า “เห็นกงจักรเป็นดอกบัว” เพราะในเมื่อแนะนำสิ่งดีให้แล้วไม่ยินดี มันก็จะไปยินดีในสิ่งชั่วนั่นเอง

การถือศีลที่ยังรู้สึกว่าต้องทรมาน อยากกินก็ไม่ได้กินนั้น เป็นการถือศีลที่ยังเป็นแบบยึดมั่นถือมั่น เป็นศีลอุปาทาน เพราะไม่มีปัญญารู้แก่นสารสาระในศีลนั้น จึงถือศีลไปตามประเพณีโดยที่ไม่ได้รู้เลยว่าตัวปัญหาที่ทำให้ทุกข์แท้จริงแล้วคือกิเลส ไม่ใช่การไม่ได้กิน

ความเห็นความเข้าใจของผู้ที่ยังเห็นผิดอยู่จะเป็น “กินหลายมื้อสิเป็นสุข กินมื้อเดียวเป็นทุกข์” คือถือศีลแต่ไม่ได้เห็นตามศีล ยังเห็นไปตามโลก เห็นไปตามกิเลสอยู่ ส่วนจะถือศีลด้วยเหตุผลใดนั้นไม่ใช่สาระสำคัญเท่าความเห็นที่มีต่อศีล

๘). สภาวะของผู้ที่กินมื้อเดียวได้อย่างถูกต้องแต่ยังไม่พ้นจากความอยาก

คนที่กินมื้อเดียวได้ตามทิศทางของการลดกิเลสจะต้องเห็นกิเลสที่ถูกบังคับให้แสดงขึ้นมาโดยศีลเสียก่อน ในสมัยที่เรายังกินสามมื้อ กินไปก็ไม่รู้สึกผิดอะไร แต่พอเราถือศีลกินมื้อเดียว แล้วเราไปกินสามมื้ออีก เราก็จะรู้สึกผิด ความรู้สึกเหล่านี้คือหิริโอตตัปปะ ซึ่งถ้าคนถือศีลแล้วยังไม่มีหิริโอตตัปปะก็ยังไม่ถือว่าเจริญ

แต่สิ่งเหล่านั้นก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าถูกทางหรือผิดทางชัดนัก เพราะขึ้นอยู่กับเป้าหมาย ถ้าเป้าหมายคือถือศีลเพราะเขาว่ากันว่าดี อันนี้ยังไม่มีปัญญา แต่ถ้าถือศีลแล้วเห็นกิเลสตัวเอง เห็นความอยากกินหลายมื้อของตัวเอง เห็นว่าความอยากของตัวเองนี่แหละคือต้นเหตุที่ทำให้ทุกข์ ไม่ใช่การถือศีลทำให้ทุกข์ การเห็นกิเลสนี้เองคือประตูด่านแรก

ในด่านที่สองคือต้องมั่นใจว่าความอยากนี้แหละเป็นกิเลสที่ต้องทำลายอย่างแท้จริง ต้องทำลายกิเลสนี้เท่านั้นจึงจะพ้นทุกข์ได้ ไม่ใช่เลิกถือศีลจะหายทุกข์ แต่ต้องกำจัดความอยากกินเกินความจำเป็นนี้ให้สิ้นซากเท่านั้น นี่คือความปักมั่นในระดับที่สอง

เมื่อผ่านสองด่านเราจะเห็นศัตรู เห็นสมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์ชัดแล้ว ทีนี้เราจะต้องถือศีลอย่างตั้งมั่น ไม่ถือศีลแบบลูบๆคลำๆ เหยาะแหยะ คือเอาให้ตึงไปเลย การอนุโลมค่อยทำทีหลังก็ได้ แต่ตอนนี้ต้องเอาตัวเองให้รอดก่อน เฆี่ยนกิเลส บี้กิเลสให้มันตาย ถือศีลอย่างตั้งมั่นก็จะสามารถเห็นกิเลสที่ละเอียดลงไปได้ตามลำดับ และพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงโดยลำดับ จะสามารถทำลายกามและอัตตาที่ซ่อนอยู่โดยใช้ศีลเป็นเครื่องตรวจจับกิเลสนั้นๆได้

ความเห็นความเข้าใจในระดับนี้จะเป็น “ กินมื้อเดียวก็น่าจะเป็นสุขอย่างที่เขาว่า แต่กินหลายมื้อมันก็ยังสุขอยู่นะ ” คือจะอยู่ในสภาพที่เห็นดีกับการถือศีลนี้แล้ว แต่ยังไม่ถึงผล ยังมีกิเลสเข้ามาทำให้ความเห็นยังเป็นไปในแนวทางของกิเลสอยู่

๙). สภาวะของผู้ที่กินมื้อเดียวได้อย่างเป็นปกติสุข

เมื่อใช้ไตรสิกขา ศึกษาอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา จนสามารถก้าวข้ามกามภพ รูปภพ อรูปภพได้ตามลำดับจึงจะถึงผลของการศึกษาศีลนั้นๆ เรียกว่าจบการศึกษาศีลนั้น จบกิเลสในเรื่องๆนั้น ก็จะได้อินทรีย์พละเพิ่มขึ้นมาจากการหลุดพ้นจากกิเลส มีกำลัง มีปัญญา มีสติ ฯลฯ ที่เพิ่มมากขึ้น

ยิ่งถ้าคนที่สามารถชำระกิเลสในระดับของการกินมื้อเดียวได้ การกินมังสวิรัติหรือการกินจืดจะง่ายไปเลยในทันที เรียกว่าเก็บสิ่งที่ยากก่อนแล้วค่อยวกไปเก็บสิ่งที่ง่ายก็จะทำได้ไม่ยาก ทั้งนี้ทั้งนั้นการทำสิ่งที่ยากก่อนได้นั้น จะทำได้เฉพาะผู้มีบุญบารมีเก่าเท่านั้น ส่วนคนที่ไม่เคยทำมาเลย ถ้าฝืนจะทำให้ทรมานมาก ซ้ำร้ายกิเลสก็ไม่ตาย กามก็เพิ่ม อัตตาก็หนาขึ้นอีก ดังนั้นการถือศีลควรจะประมาณกำลังของตัวเองด้วยว่าไหวหรือไม่

คนที่กินมื้อเดียวได้อย่างปกติสุขนั้น จะไม่มีความรู้สึกว่าจะต้องกินหลายมื้ออีกเลย จะเกิดความสบายใจขึ้นในชีวิตว่าเรานี้กินวันละมื้อก็อยู่ได้ ประหยัดอาหารไปมาก ประหยัดเงินก็มาก แถมความอยากกินหลายมื้อก็ไม่มีให้ทุกข์ทรมานจิตใจ ดูคนอื่นเขากินหลายมื้อไปก็ได้ ร่วมโต๊ะกับเขาก็ได้ แต่ไม่กินกับเขาโดยที่ไม่มีความทุกข์ใจใดๆแม้น้อย ให้ไปกินหลายมื้อก็ไม่กินเพราะรู้ว่ามันจะทรมานร่างกาย เพราะมันเกินพอดี สิ่งที่เกินพอดีก็จะกลับมาเบียดเบียนร่างกายทำให้เกิดทุกข์ทางกาย แต่ทุกข์ใจนั้นไม่มีแล้ว สะอาดจากกิเลส หมดความอยากที่จะมาทำให้จิตใจเป็นทุกข์อีกต่อไป

ความเห็นความเข้าใจจะเปลี่ยนไปจากตอนแรกโดยสิ้นเชิง คนทั่วไปเขาจะเข้าใจว่า “กินหลายมื้อสิเป็นสุข กินมื้อเดียวเป็นทุกข์” ส่วนคนที่บรรลุผลของศีลจะเข้าใจว่า “กินมื้อเดียวสุขที่สุดในโลก กินหลายมื้อสิเป็นทุกข์” มันจะกลับหัวกลับหางกันแบบนี้เลย

การอนุโลมนั้นเป็นไปในบางกรณีหากประมาณแล้วว่ากุศลนั้นมากกว่าอกุศล ซึ่งการประมาณกุศล-อกุศลจะต้องเรียนรู้โลกไปตามลำดับ การประมาณนั้นจะไม่เที่ยง บางครั้งก็จะขาดๆเกินๆ แต่สภาวะสุขสงบจากการไม่ต้องกินหลายมื้อนั้นเที่ยงแท้ ถาวร ไม่เวียนกลับ ไม่กำเริบ ยั่งยืนตลอดกาล เหล่านี้คือผลจากการปฏิบัติตามหลักของพุทธ

– – – – – – – – – – – – – – –

7.3.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ปล่อยเธอไป

December 7, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,174 views 0

ปล่อยเธอไป

ปล่อยเธอไป

…เพราะรักจึงเข้าใจและยอมรับ

ในวันที่การพลัดพรากได้มาถึง วันที่ต้องห่างกายหรือในวันที่ต้องห่างใจและคงจะห่างออกไปเรื่อยๆอย่างไม่มีวันกลับมา เราพร้อมจะรับมันไหมหากว่าวันเวลาเหล่านั้นได้มาถึงโดยที่เราไม่ได้คาดคิดไว้ว่ามันจะมาถึงเร็วขนาดนี้

คู่รักหลายคู่ที่คบกันอย่างจริงใจ ไม่มีคู่ไหนที่คิดว่าความสัมพันธ์นั้นจะต้องเสื่อมต้องสลาย ซ้ำยังเชื่อมั่นว่าเราและเขาจะต้องเจริญไปด้วยกัน จะต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน จะต้องร่วมสุขร่วมทุกข์ไปด้วยกัน เป็นคู่ชีวิตของกันและกัน

ความเชื่อเหล่านี้เป็นชุดความเชื่อทั่วไปของคนที่คิดจะรักกัน ผูกพันกัน สร้างครอบครัว ดำรงชีวิตร่วมกันมองชีวิตข้างหน้ามีเพียงความสวยงาม แต่กลับกลบความจริงไว้ใต้จิตสำนึกและไม่คิดจะยอมรับมัน

ความจริงนั้นก็คือเราต้องจากคนที่รักคนที่ชอบใจเป็นเรื่องธรรมดา ไม่จากเป็นก็จากตาย ถ้าจากตายนี่มันก็ง่ายหน่อย เพราะว่าไม่ซับซ้อน ตายแล้วก็จบไป เรื่องต่อจากนั้นก็ให้เป็นเรื่องของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนจากเป็นนั้นมีหลายสาเหตุ เช่น จากเพราะหมดรัก จากทั้งที่ยังรัก ฯลฯ

1).ตายจาก

ในวันใดวันหนึ่งเราก็ต้องตายจากโลกนี้ไป ตายจากสภาพเหล่านี้ไป เหลือไว้เพียงความทรงจำกับกรรมที่ได้ทำไว้ หากเราเป็นผู้ที่จากไปก็คงจะไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่ถ้าเราเป็นผู้ที่ยืนมองคนที่รัก มองคนที่หวงแหนกำลังจะจากไป หรือจากไปแล้วไม่ว่าด้วยอุบัติเหตุ ด้วยโรคร้าย ด้วยกรรมบันดาลต่างๆ เราจะสามารถยอมปล่อยวางได้ไหม เราจะวางความยึดมั่นถือมั่นในตัวเขาได้หรือไม่

ยามเมื่อที่คนรักจากไป ความเศร้าโศกเสียใจนั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมชาติ หลายคนร้องให้คร่ำครวญ หลายคนกินไม่ได้นอนไม่หลับเป็นเวลานาน หลายคนมีอาการซึมเศร้าและวิถีชีวิตเปลี่ยนไปหลังจากเสียคนที่รัก อาการทั้งหมดเหล่านี้เป็นธรรมชาติที่เห็นได้ในโลกแต่กลับไม่ใช่ธรรมชาติของธรรมะ

การที่เราเศร้าโศกเสียใจหรือมีอาการอื่นๆ โดยรวมเรียกว่าเป็นทุกข์ เมื่อเป็นทุกข์เราก็ต้องค้นหาเหตุแห่งทุกข์ เมื่อค้นลงไปแล้วก็จะเจอกิเลส คือความยึดมั่นถือมั่น การที่เราทุกข์เพราะเราต้องพรากคนที่เรายึดมั่นถือมั่นไป ไม่ว่าจะยึดไว้ในสถานะใดก็ตาม เช่น ผู้นำครอบครัว คู่ชีวิต เพื่อนชีวิต ฯลฯ เราจะต้องเจ็บปวดและทุกข์ทรมานมากเท่าที่เรายึดไว้

แต่ถึงจะทุกข์เท่าไร การจากพรากกันด้วยความตายนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย ยอมรับได้ง่าย แม้ว่าเหตุการณ์จะดูบังเอิญและซับซ้อนเพียงใด แต่ในท้ายที่สุดก็คงต้องยอมรับว่าคนตายไม่มีวันฟื้นคืนกลับมาอย่างแน่นอน

การจะยอมปล่อยยอมวางความยึดมั่นถือมั่นในคนที่ตายจากไปแล้วนั้น เป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปที่หลายคนสามารถทำได้ไม่ยากไม่ลำบากเท่าไรนัก แต่ก็ยังมีบางคน บางความเชื่อ บางวัฒนธรรมที่หลงติดหลงยึดไม่ยอมปล่อยยอมวางแม้ร่างนั้นจะเป็นซากที่ไร้วิญญาณไปแล้วก็ตาม

2).จากเป็น

สิ่งที่เข้าใจและยอมรับยากกว่าการจากตายก็คือการจากทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังเห็นกันอยู่ ยังวนเวียนอยู่ในชีวิตของกันและกัน แต่ความสัมพันธ์นั้นได้ตายจากไปแล้ว สถานะของคู่รักนั้นได้ยุติลงไปแล้ว อาจจะเกิดจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายหมดรักต่อกัน หรือความจำเป็นบางอย่างก็ได้

ในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายหมดรักหมดความอยากในการเสพกิเลสร่วมกัน หมดความหมายในการร่วมเคียงคู่กัน นั้นก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะปล่อยวาง เพราะทั้งสองรู้ดีว่าคู่ของตนในตอนนี้สนองกิเลสให้ตนไม่ได้ ทำให้ตนไม่พอใจ จึงไม่ยินดีที่จะเคียงคู่กัน ดังนั้นการเลิกรากันอย่างเต็มใจนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้นำมาซึ่งความทุกข์ใดๆ เพราะไม่ได้ยึดไว้ตั้งแต่แรกก็เลยไม่ต้องทุกข์เพราะไม่ได้ถือก็เลยไม่ต้องวาง อาจจะเพราะความสัมพันธ์ที่ไม่ตรงใจนั้นทำให้เขาทั้งคู่ได้เรียนรู้และยินดีที่จะไม่ยึดมั่นในคู่ของตน

ในตอนจบของความสัมพันธ์แบบนี้อาจจะจบด้วยความเข้าใจก็ได้ หรือจะจบด้วยการทะเลาะเบาะแว้งก็ได้เช่นกัน เพราะถึงแม้ว่าเราจะไม่มีการยึดซึ่งกันและกัน ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง บางครั้งเราอาจจะต้องทะเลาะกันด้วยเหตุที่ว่าเรายึดในตัวเองมากเกินไป

แต่ในกรณีการจากกันทั้งที่ยังรักกันหรือการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังคงรักยังคงผูกพันอยู่โดยที่อีกฝ่ายไม่ยินดีจะเคียงคู่กันอีกต่อไป จึงนำมาซึ่งปัญหาทางจิตใจมากมายไปจนถึงสุขภาพและสังคม หน้าที่การงาน กระทั่งในทุกองค์ประกอบของชีวิต

2.1).หมดรักจึงจากไป

เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดรักโดยที่อีกฝ่ายยังคงรักและผูกพันอยู่ ผู้ที่ถอนตัวจากความรักความหลงได้ก่อนก็เป็นผู้ที่เอาตัวรอดไปได้ เหลือทิ้งไว้แต่คนซึ่งยึดมั่นถือมั่นในความรัก เหมือนกับคนสองคนดึงหนังยางคนละฝั่ง คนที่ปล่อยทีหลังก็จะเป็นคนที่เจ็บ เราเจ็บเพราะเราไม่ปล่อย แต่เราจะปล่อยได้อย่างไรในเมื่อเรายังรักและผูกพันอยู่

ไม่ว่าจะถูกเลิกราไปด้วยกรณีใดๆก็ตาม เรามักจะเห็นคนที่ถูกทิ้งเป็นทุกข์โดยมีอาการคร่ำครวญ เศร้าโศกเสียใจ คับแค้นใจ เหตุนั้นเพราะหลงติดหลงยึด รากปลายสุดสายของความหลงผิดก็คืออวิชชา เป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท คือ มีสังขาร มีวิญญาณ มีนามรูป มีสฬายตนะ มีผัสสะ ต่อเนื่องกันไล่มาจนถึงมีเวทนา มีตัณหา มีอุปาทาน จึงเกิดเป็นภพเป็นชาติ จึงมีความตายซึ่งหมายถึงการพลัดพรากจากความรักนั้น และเกิดความทุกข์ต่างๆต่อมาเรื่อยๆนั่นเอง

การจะไปแก้ที่อวิชชานั้นเป็นเรื่องที่ทำทันทีไม่ได้ หลายคนเข้าใจผิด เข้าใจไปเพียงว่าแค่เรา”รู้”ก็สามารถดับทุกข์นี้ได้แล้ว เพราะเข้าใจด้วยภาษาว่าอวิชชาคือ “ความไม่รู้” จึงแก้ด้วยภาษาซึ่งนำคำว่า “รู้” เข้ามาคิดจะแก้อวิชชา จึงเกิดการฝึกสติให้เกิดการรู้ตัวทั่วพร้อมโดยเข้าใจว่าการรู้ตัวคือตัวดับทุกข์ ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่เลย เป็นการเข้าใจผิดอย่างรุนแรง เพราะความรู้นั้นหมายถึงวิชชา คือความรู้แจ้งในกิเลสนั้นๆอย่างถ่องแท้ ดังนั้นการจะดับทุกข์ได้ต้องดับที่กิเลส ไม่ใช่ดับจิตให้นิ่ง แต่เป็นการขุดค้นเหตุแห่งทุกข์ แล้วดับมันด้วยสัมมาอริยมรรค

กลับมายกตัวอย่างอาการของคนที่ยึดไว้(อุปาทาน)เสียก่อน เมื่อเรามีความยึดในคู่ครองของตนแล้วต้องถูกพรากจากไปแบบเป็นๆนั้น จะมีอาการแสดงออกมาได้หลากหลาย ทั้งซึมเศร้าเหงาหงอย กินไม่ได้นอนไม่หลับ โวยวายตีโพยตีพาย เป็นบ้า ฆ่าตัวตาย อาการทำร้ายตัวเองเบียดเบียนตนเองเหล่านี้เป็นผลมาจากความยึดทั้งสิ้น

และยังสามารถแสดงอาการทำร้ายคนอื่นได้ เช่นการหึงหวง แม้จะถูกเลิกราไปแล้ว แต่ก็ยังตามรังควานอดีตคนรักที่เขาหมดรักไป ในมุมที่ไม่รุนแรงก็คือการตามง้อ ไปขอร้องให้มอบความเห็นใจ ขอให้กลับมารักกัน ร้องไห้ฟูมฟายเรียกร้องความสนใจ ไปวนเวียนอยู่ในชีวิตเขา ซึ่งการกระทำเหล่านี้เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นในระดับหนึ่ง เราเบียดเบียนเพราะเราอยากได้เขามาเสพเหมือนก่อน เพราะเรายึดว่าถ้าได้เสพจึงจะเป็นสุข และต้องเสพคนเดิมด้วยนะ เพราะเรายึดมั่นถือมั่นคนเดิมไว้

ความหึงหวงแม้ยุติความสัมพันธ์ไปแล้ว ก็เป็นเรื่องที่มักเห็นได้ตามข่าวในหนังสือพิมพ์ คือฝ่ายหนึ่งเลิกราไปแล้ว แต่อีกฝ่ายหนึ่งยังจองเวร ประมาณว่า “ถ้าข้าไม่ได้ก็ไม่ต้องมีใครได้คนนี้ไป” จึงตามรังควาน กดดัน บีบคั้น ใส่ร้าย จนกระทั่งมีการทำร้ายตบตี จนถึงฆ่ากันก็มีให้เห็นกันเป็นเหมือนเรื่องปกติ ลักษณะนี้เกิดจากความยึดที่รุนแรง พอตนเองโดนพรากสิ่งที่รักไปก็ไม่ยอมให้ใครได้ไป มันจะเอามาเป็นของตนอยู่ฝ่ายเดียว จนถึงขั้นฆ่าเพื่อไม่ให้ใครมาเสพก็ยังได้ ฆ่าทั้งที่ยังรักยังยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละ แต่เพราะความโกรธมันมากกว่า โทสะมันแรง พอเราไม่ได้เสพสมใจโทสะมันก็ขึ้น ถ้ามันขึ้นไปเหนือความรัก เหนือหิริโอตตัปปะ เหนือศีลเมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็จะมีการกระทบกระทั่งจนถึงการทำร้ายกันฆ่ากันก็เป็นเรื่องธรรมดาของกิเลส

ไม่ว่าจะทำอย่างไร คนที่ยึดมั่นถือมั่นก็ยังคงต้องทนทุกข์ จะบอกให้ปล่อยวาง ไม่ไปทุกข์ ไม่เอาตัวเองไปทุกข์โดยใช้ความคิด ความเห็น ความเข้าใจเดิมมันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันยึดไปแล้ว กิเลสมันเกิดไปแล้ว อัตตามันสร้างไปแล้ว เราจะมาดูสรุปในข้อ 4. ตอนท้ายบทกัน

2.2).จากกันทั้งที่ยังรัก

การจากกันโดยที่เขาไม่ได้รักเราอีกต่อไปแล้วนั้นก็ยังทำใจได้ง่าย เมื่อเทียบกับการที่ต้องจากกันทั้งที่ยังรักกัน เขาก็รักเรา และเราก็รักกัน แต่ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆทั้งหลายนั้นอาจจะไม่เอื้ออำนวยให้ดำเนินชีวิตคู่ต่อไป อาจจะเป็นไปได้จากสาเหตุทั้งเรื่องส่วนตัว ครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและกรรม

การจากกันโดยที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดรัก อาจจะทำให้คนที่ต้องถูกทิ้งเสียใจ เสียดาย หรือกระทั่งโกรธได้ หมายถึงเกิดได้ทั้งดูดและผลัก คือพยายามจะดูดดึงเขาเข้ามาในชีวิตเหมือนเดิม และสภาพผลักด้วยความโกรธ ความน้อยใจ ความผิดหวัง หรือการงอน ทำให้ผลักเข้าออกจากชีวิต

แต่การจากทั้งที่สองฝ่ายยังรักกันนั้น ยากนักที่จะเกิดสภาพผลัก เพราะไม่ได้ทำผิดอะไรต่อกัน ยังคงรู้สึกดีต่อกัน ยังคงต้องการกันและกัน ดังนั้นการดูดดึงย่อมมีพลังรุนแรงเพราะไม่มีพลังผลักมาต้านหรือมาลดแรงของการดึงดูดกัน ซึ่งเป็นเรื่องยากแสนยากที่ตัดใจได้ ยากที่จะปล่อยวางได้

จะขอยกทศชาติของพระพุทธเจ้าบทหนึ่งมาเป็นตัวอย่างในกรณีนี้ ในมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งเป็นชาติที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญทานบารมี ในชาตินั้นท่านเองก็มีลูกและภรรยาที่ทั้งรักและผูกพันแต่ก็ต้องตัดใจมอบทั้งลูกและภรรยาให้ผู้อื่นทั้งๆที่ยังรักอยู่และภรรยาท่านเองก็ยังรักท่านอยู่ เป็นเรื่องยากสุดยากที่สุดจะจินตนาการ ยากจะเข้าใจ เป็นเรื่องที่คนธรรมดาไม่มีทางทำได้ต้องบารมีระดับพระพุทธเจ้าเท่านั้นถึงจะทำได้

ลดลงมาเป็นระดับที่เห็นได้โดยทั่วไปบ้าง ดังเช่นคนที่ครอบครัวห้ามไม่ให้คบกัน โดนสังคมกีดกันไม่ว่าจะพยายามอย่างไรก็เป็นไปไม่ได้เพราะหากคบกันต่อแล้วจะมีคนอื่นทุกข์อีกมากมายหรือเกิดทุกข์ที่คู่รักคู่นั้นเอง มีบางคู่ที่มีความยึดมั่นถือมั่นมากไม่สามารถยอมรับสภาพการที่ต้องถูกพรากทั้งที่ยังรักกันได้จนกระทั่งเลือกที่จะหนีตามกันหรือตัดสินใจอื่นๆเพื่อหนีจากทุกข์นั้น ถึงแม้คู่ที่ต้องถูกพรากขณะที่ยังรักกันจะสามารถยอมรับการพลัดพรากนั้นได้แต่ถึงกระนั้นก็ยังจะต้องทนทุกข์ทรมานจากความยึดมั่นถือมั่นอยู่เช่นกัน

3). มากกว่ารัก

ดูเหมือนว่าความรักนั้นจะมาพร้อมกับความทุกข์เสมอ แต่ความรักนั้นก็ยังมีมิติที่ล้ำลึกกว่ารักที่เราเห็นและเข้าใจ เป็นมากกว่ารักทั่วไป เป็นรักที่ไม่มีการผูกมัด ไม่มีความทุกข์ มีความหวังดีและจิตเมตตาอยู่ แต่ไม่มีความผิดหวัง เพราะไม่ยึดสิ่งใดไว้ให้ผิดหวัง เราจึงต้องเรียนรู้ในเรื่องที่มากกว่ารัก

ในส่วนของผู้ที่ต้องการความเจริญในทางธรรม เช่นเดียวกับตัวอย่างของพระพุทธเจ้า เราเองก็ต้องทำเช่นนั้นเหมือนกัน แต่จะไม่ยากเท่า ไม่ลำบากเท่า ผู้ที่จะต้องการทำลายกิเลสเพื่อข้ามพ้นสู่ความผาสุกที่แท้จริง จะต้องทำลายกิเลสทิ้งในขณะที่มีความรัก ในขณะที่ยังรักยังผูกพัน ในขณะที่ความรู้สึกว่ารักนั้นยังคงอยู่ ยังเหลือเยื่อใยต่อกันอย่างเต็มที่เท่านั้น

การทำลายกิเลสหรือการทำลายความยึดมั่นถือมั่นนั้นไม่ใช่การทำลายความรัก แต่เป็นการยกระดับของความรักจากรักแบบโลกีย์ ให้กลายเป็นรักในแบบโลกุตระ เป็นรักที่ยิ่งใหญ่ มีแต่ความเมตตา มีแต่การให้ ไม่คิดจะเอาอะไรกลับมา เป็นเพราะรักมากจนกระทั่งยอมปล่อยยอมวาง รักมากเสียจนยินดีสละทุกอย่างให้ มากจนยอมทนทรมานเพียรทำที่สุดแห่งทุกข์เพื่อที่จะได้มาซึ่งรักที่ใสบริสุทธิ์จากกิเลสและนำรักที่บริสุทธิ์นั้นมาให้กับคนที่รักและคนอื่นๆอีกมากมาย

เพราะรักมากและเห็นคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ของความรักมากกว่าการครองคู่ มากกว่าการยึดมั่นถือมั่น มากกว่าการจองเวรจองกรรมกันข้ามภพข้ามชาติ มากกว่าการกอดทุกข์ไว้ คือการปลดปล่อยตัวเราและผู้อื่นออกจากการจองเวรจองกรรม เป็นโอกาสเดียวที่เราจะสามารถเข้าถึงความสุขแท้ได้คือยอมรับและเข้าใจทุกสิ่ง

เพราะรักจึงเข้าใจและยอมรับ ไม่ว่าจะถูกทิ้งหรือจำใจจะต้องเลิกราก็ตาม สุดท้ายการปล่อยวางจะเกิดจากการเข้าใจทุกเหตุปัจจัยและยอมรับในทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ

ผู้ที่ยอมปล่อยสิ่งที่รักได้อย่างเป็นสุข ปล่อยวางได้อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น จะได้รับปัญญาใหม่ ได้รับความรู้เกี่ยวกับความรักชุดใหม่ ได้รักใหม่ที่ดีกว่าเก่า สุขกว่าเก่า สบายกว่าเก่า สงบเย็นกว่าเก่า เมตตากว่าเก่า รักมากกว่าเก่า

4).เหตุเกิดของความยึดมั่นในสิ่งที่เรียกว่าความรัก

เหตุทั้งหมดของเรื่องเหล่านี้คือการยึด แล้วมันยึดอย่างไร ยึดมาตั้งแต่ตอนไหน เราจะมาลองอธิบายปฏิจจสมุปบาทไปกับการยึดของความรักกัน

จิตเดิมแท้ของเรานั้นเป็นจิตใสไม่มีกิเลส แต่ด้วยความไม่รู้คืออวิชชา ไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นกิเลส จึงหลงสร้างสภาพปรุงแต่งทั้งกายวาจาใจ เมื่อมีการปรุงแต่งจึงเกิดวิญญาณคือธาตุรู้ เมื่อมีวิญญาณจึงมีนามรูปคือตัวรู้แล้วตัวที่ถูกรู้ เมื่อมีนามรูปจึงมีสฬายตนะ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนถึงขั้นตอนนี้อาจจะเข้าใจยากสักหน่อยด้วยภาษาด้วยพยัญชนะ ซึ่งเป็นการเกิดของร่างกายและจิตใจเรานี่เอง

เมื่อเรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วจึงเกิดมีผัสสะ คือมีสิ่งกระทบ เช่นตากระทบรูปเห็นคน จำได้ว่าคนแบบนี้เรียกว่าคนสวยเป็นที่นิยม จึงเกิดเวทนาคือมีความสุขที่ได้เห็นคนสวย เมื่อมีความสุขจึงเกิดตัณหาคือความอยากเสพคนสวยหรือความสวยนั้น เมื่อมีตัณหาจึงมีอุปาทานคือการยึดมั่น ว่าฉันชอบคนสวย ฉันอยากได้คนสวย ฉันสุขใจเมื่อมีคนสวย มันยึดเข้าตรงนี้เอง กิเลสกลายมาเป็นตัวเราของเราตรงนี้เอง

ความรักหรือการยึดมั่นถือมั่นในคู่ครองก็เช่นกัน เมื่อเขาล่อลวงเราด้วยอบายมุข บำเรอเราด้วยกามคุณ สนองเราด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ โลกีย์สุข ทำให้เราเสพสมในอัตตาของเรา ทำให้เราได้รับผัสสะต่างๆ ได้กระทบกับสิ่งต่างๆเกิดเป็นความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ในส่วนของคนคู่นั้นก็มักจะเกิดการเป็นสุขมากกว่า เมื่อเป็นสุขก็เลยมีตัณหาคือความอยากเสพความสุขนั้นอีก อยากเสพไปเรื่อยๆจึงเกิดความยึดหรืออุปาทาน มันยึดคู่รัก คนรัก อดีตคนรักไว้ก็ตรงนี้ เพราะได้เสพสมใจในกิเลสจึงยึดมั่นถือมั่นไว้ เกิดความยึดในการเสพสุขนั้นไว้ แต่มันไม่จบเพียงเท่านี้

การยึดนั้นทำให้เกิดภพ หรือที่อาศัย ในที่นี้คือสภาพที่จิตใจได้ดำรงอยู่ เช่นติดอยู่ในภพที่ว่าเขาจะเป็นของฉันเช่นนี้ตลอดไป เมื่ออาศัยอยู่ในภพเช่นนี้จึงมีชาติ คือการเกิด เกิดกิเลสซ้ำ เกิดความอยากได้อยากมีอะไรต่อมิอะไรอีกมากมายที่จะเกิดต่อจากความยึดว่าสิ่งนั้นเป็นสุข

แต่เมื่อมีการเกิดก็ต้องมีการดับเป็นธรรมดา คือเมื่อเกิดแล้วก็จะค่อยๆแก่ลงไปชราลงไป หมายถึงรักนั้นไม่ได้สดใสเหมือนเมื่อก่อน มันเสื่อมลง มันน้อยลง แม้ได้เสพก็สุขน้อยลง เมื่อแก่แล้วก็ต้องตาย ความตายอาจจะตายจากกันจริงๆหรือหมายถึงความรักนั้นตายจากใจก็ได้ มันหายไปสลายไปไม่มีเหลือ ที่นี้คนที่ติดสุข ติดภพ ยึดมั่นถือมั่นในคู่รักก็จะเกิดเป็นความเศร้าโศก คร่ำครวญรำพัน เสียใจ สร้างความคับแค้นใจ และความทุกข์ทั้งหมดทั้งมวลในความรักที่มีกิเลสย่อมเกิดด้วยเหตุเช่นนี้

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สิ่งใดที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น สิ่งนั้นจะไม่ทุกข์เป็นไม่มี” ดังนั้นการจะดับปัญหาที่เกิดขึ้นคือต้องดับที่ความยึดมั่นถือมั่น การจะปล่อยวางได้อย่างแท้จริงต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่การจะทำลายความยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ง่ายเพียงแค่ท่องว่าปล่อยวาง แต่เป็นการทำลายกิเลสซึ่งเป็นรากแห่งความยึดมั่นถือมั่นโดยใช้อริยสัจ ๔ เข้ามาเป็นพระเอกในภารกิจนี้ต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

6.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

หิริ โอตตัปปะ : กรณีศึกษาขนมจีนน้ำยา

September 11, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,520 views 1

หิริ โอตตัปปะ : กรณีศึกษาขนมจีนน้ำยา

หิริ โอตตัปปะ : กรณีศึกษาขนมจีนน้ำยา

ในบทความนี้ เราจะมากล่าวถึงหิริโอตตัปปะ คือความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ในมุมมังสวิรัติกันว่าจะเป็นอย่างไร…

เป็นเหตุการณ์เมื่อประมาณกลางปี ๒๕๕๖ ในงานรวมญาติครั้งหนึ่ง เมื่อเราตั้งใจที่จะกินมังสวิรัติแล้ว เราก็จะพยายามบังคับให้กาย วาจา ใจ ของเรานั้นเป็นไปในทางที่เราตั้งไว้ ด้วยกำลังสติและความตั้งมั่นเท่าที่เราพอมี ในขณะนั้น

ในตอนนั้นก็ถือว่าตัวเองนั้นลดความอยากได้ดีพอประมาณแล้ว สามารถกินผักกลางวงเนื้อสัตว์ ที่มีเนื้อย่าง มีปูนึ่ง มีกุ้งเผา มีปลาย่าง ได้สบายๆโดยไม่เกิดความอยากจนกลับไปกินเนื้อสัตว์แล้ว ตรงนี้เราประมาณไว้ดีแล้วว่าเราไหว ถ้าเป็นช่วงแรกๆ เราอาจจะไม่ไหวก็แยกกันกินให้อิ่มไปก่อน หรืออยู่ห่างเข้าไว้ เพราะเห็นเข้านานๆ ได้กลิ่นที่ลอยมา ก็อาจจะหลงกลับไปกินได้

ทีนี้เราก็เดินไปตักขนมจีนที่ญาติทำมา เป็นขนมจีนน้ำยาทั่วไป เราก็เห็นว่ามีลูกชิ้น แต่เราไม่ตักเอาลูกชิ้นนะ เราเอาแต่น้ำยา พอตักขึ้นมาใส่จานราดลงบนเส้นขนมจีน น้าก็ทักว่า “กินได้หรอ มันมีปลา” !! เราก็หยุดในทันที ยืนนิ่งๆถือจานขนมจีนที่ราดน้ำยามาแล้ว ตอนนั้นตอบน้าไปในความหมายประมาณว่า “ กินไปก่อน ไม่ได้เคร่งขนาดนั้น” แต่จริงๆ คือตอนตักก็ไม่ได้นึกถึงเนื้อปลาในน้ำยานั้นเลย อาจจะเพราะมันไม่เหลือรูปของปลาแล้วก็ได้ อีกอย่างเราก็ไม่ใช่คนทำอาหารก็เลยไม่รู้ สรุปคือไม่รู้จริงๆไม่ได้นึกจริงๆว่ามีเนื้อปลา

หิริ คือความละอายต่อบาป ในตอนที่ถูกน้าทัก ก็เกิดความละอายต่อบาป รู้สึกไม่ดี แต่ก็ตักมาแล้ว จะเอาไปคืนก็ยังไงอยู่ สุดท้ายก็เลยกินไป แต่ก็ไม่ได้รู้สึกอร่อยอะไร เพราะยังมีความรู้สึกผิดอยู่ในใจ ว่าไม่น่าเลย ไม่น่าเลยเรา พลาดไปแล้ว

โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวต่อบาป ในตอนนั้นผมไม่ได้มีสภาวะของโอตตัปปะ ถ้าเป็นคนที่มีภาวะถึงขั้นโอตตัปปะก็จะหาวิธีที่จะไม่กินขนมจีนจานนั้นได้ แต่โอตตัปปะของผมเกิดหลังจากนั้น ขนมจีนน้ำยาจานนั้นเป็นจานสุดท้ายนับตั้งแต่วันนั้น และขนมจีนน้ำยาทุกจานต่อจากนี้ ถ้าผมรู้สึกยังไม่แน่ใจ มีความลังเลสงสัยว่าขนมจีนน้ำยาที่อยู่ตรงหน้านั้นทำจากเนื้อสัตว์หรือไม่ ผมก็จะไม่กินขนมจีนน้ำยาจานนั้นอย่างแน่นอน

หลังจากทีได้ทำพลาดไป คือพลาดไปกินน้ำยาที่มีเนื้อปลาเป็นส่วนประกอบโดยไม่รู้ ก็ไม่ได้รู้สึกดี หรือทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น แต่กลับทำให้เราได้เรียนรู้มากขึ้นว่าอาหารนี้มีปลา ทำให้เราได้คิดว่าครั้งหน้าเราจะปฏิเสธอย่างไร ปัญญานั้นจะเกิดตรงนี้ เกิดเพราะเราเรียนรู้ที่จะไม่ตามใจกิเลส หาทางออกที่ดีกว่าที่เราจะไปเสริมกิเลส

จะเห็นได้ว่าความเจริญหรือปัญญานั้น เกิดจากการที่เราตั้งศีล มีศีล คือตั้งใจไว้ว่าจะละเว้นอาหารที่มีเนื้อสัตว์ ประกอบด้วยสัตว์ ลดเนื้อกินผัก ก็นี่เป็นศีล เป็นตบะที่ผมตั้งไว้ ประกอบด้วยสติและสมาธิที่จะพยายามคงสภาพของการสำรวม ตา หู ลิ้น จมูก ปาก กาย ใจ เอาไว้ ไม่ให้กลับเข้าไปเสพเนื้อสัตว์อีก เมื่อเราตั้งมั่นในศีลและสมาธิอย่างมีปัญญารู้ว่าการตั้งมั่นในศีลนั้นจะมีคุณค่าและประโยชน์อย่างไร เมื่อถึงวันหนึ่งปัญญาที่เคยเป็นมรรค(การตั้งข้อสังเกต ข้อปฏิบัติ) จะเจริญเป็นปัญญาที่เป็นผล( ข้อสรุป ความเจริญที่ได้)

คือได้ผลในเรื่องนั้นๆ เกิดปัญญาในขนมจีนน้ำยา จบกิเลสเรื่องขนมจีนน้ำยาเพราะรู้แจ้งชัดแล้วว่ามีเนื้อปลาเป็นส่วนประกอบหลักในน้ำยา ก็ถือว่าได้ปัญญามาอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนรสอร่อยในขนมจีนน้ำยา หรือความชอบในขนมจีนนั้นเป็นกิเลสอีกตัวหนึ่งซึ่งคล้ายๆกัน ก็ต้องไปตั้งศีล ตั้งตบะ จับกิเลสมาฆ่าล้างกันอีกที

อีกสิ่งที่น่าสนใจคือเมื่อเราได้ประกาศศีล ตบะ หรือความตั้งใจที่จะเลิกเนื้อสัตว์ไปแล้ว ผู้หวังดีรอบข้างก็จะช่วยแนะ ทัก ตรวจสอบเรา ว่าเรายังปฏิบัติดีดังที่หมายมั่นอยู่หรือไม่ ผู้หวังดีหรือกัลยาณมิตรเหล่านี้เอง คือผู้ที่คอยชี้ขุมทรัพย์ ชี้จุดบกพร่องในตัวเราให้เราเห็น ดังนั้นการปฏิบัติไปสู่การลด ละ เลิกการกินเนื้อสัตว์ ควรจะมีมิตรดีสหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมที่ดี ช่วยกันแนะ ติ ชม เพื่อไปสู่ความเจริญ

– – – – – – – – – – – – – – –

11.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์