Tag: สะสมกิเลส

เข้าวัดทำบุญนิสัยแย่

September 20, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,713 views 0

เข้าวัดทำบุญนิสัยแย่

เข้าวัดทำบุญนิสัยแย่

เรื่องนี้มักจะเป็นเรื่องที่ทำให้หลงเข้าใจผิด ทำให้พุทธศาสนิกชนที่ไม่ได้ศรัทธาอย่างจริงจังนึกสงสัยว่า การทำบุญและการเข้าวัดนั้นดีจริงหรือ ในเมื่อคนที่เข้าวัดทำบุญ ยังมีนิสัยที่โกรธ โลภ หลงมัวเมาอยู่เหมือนเดิม ดีไม่ดียังมีอาการเมาบุญเข้าไปอีก ทำให้หลายคนเกิดความลังเลสงสัย หรือแม้กระทั่งเสื่อมศรัทธาในศาสนา

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า คนที่เข้าวัดทำบุญส่วนใหญ่นั้น เป็นคนที่หาที่พึ่งทางจิตใจ เพราะจิตใจของเขาเหล่านั้นอ่อนแอ เปราะบาง สับสน วิตก กังวล สงสัย ไม่เข้าใจ วัดจึงเหมือนเป็นศูนย์รวมคนป่วยทางจิตใจและผู้แสวงหาทางพ้นทุกข์ไปรวมกันมากมาย ทีนี้กุญแจของเรื่องนี้ก็คือ พระสามารถเป็นหมอที่จะรักษาจิตใจหรือให้ปัญญาแก่ผู้แสวงหาทางเดินของชีวิตได้หรือไม่ สามารถสอนให้คนเป็นคนดีได้หรือไม่

ถ้าพระของวัดนั้นๆ สอนแค่เรื่องทำบุญทำทาน ไม่สอนลดกิเลส คนที่ไปก็อาจจะกลายเป็นเมาบุญ แย่งกันทำบุญ เพราะกลัวตัวเองจะต้องตกนรก กลายเป็นดงผีเปรตโลภเสพบุญกันในวัดนั้นแหละ

มันไม่ผิดเลยถ้าพระที่วัดนั้นๆจะสอนธรรมแค่ระดับการทำทาน ถือศีลหรือทำสมถะในแบบทั่วไป นั่นเพราะท่านก็อาจจะเข้าใจแค่นั้น ซึ่งเอาเข้าจริงๆ พระก็คือคนธรรมดาที่ห่มผ้าเหลืองไปเรียนรู้ธรรมนั่นแหละ ส่วนท่านจะมีความรู้มากแค่ไหนก็อยู่ที่ความเพียรของท่าน ปัญญาที่ท่านมีไม่ได้มีเพราะผ้าเหลือง แต่มีเพราะความเพียรในการศึกษาเรื่องทางธรรมของท่าน แต่หลักสำคัญอยู่ที่ว่า ปัญญาและความรู้นั้น เป็นความรู้ที่สามารถพาลดกิเลส หรือทำได้แค่เยียวยาทุกข์ หรือจะกลายเป็นพาสะสมกิเลส ดังเช่นพระที่ใช้เดรัจฉานวิชาในทุกวันนี้

ดังจะเห็นได้ตามที่กล่าวมา อย่าว่าแต่คนไปวัดเลย พระในวัดก็อาจจะไม่ได้เก่งขนาดที่ว่าจะสอนให้คนพ้นทุกข์ ทีนี้คนทุกข์กับคนทุกข์มาอยู่ด้วยกันมันก็ทุกข์ไปด้วยกันนั่นแหละ มีแต่จะทุกข์น้อยทุกข์มากเท่านั้นเอง พระก็มีทุกข์มีกิเลสของพระ โยมก็มีทุกข์มีกิเลสของโยม ในเมื่อล้างกิเลสกันไม่เป็น ก็เลยพากันเสพกิเลสเพื่อจะได้เสพสุขพักหนึ่งเท่านั้น

การปฏิบัติสมถะทั้งหลาย คือการพานั่งสมาธิ เดินจงกรมนั้น หากได้ศึกษาและเรียนรู้ขอบเขตของการทำสมถะจะพบว่าเป็นการปฏิบัติที่มีเป้าหมายในการทำจิตให้นิ่ง กดข่มจิต ดับความคิด การทำสมถะนี้ ไม่สามารถทำให้บรรลุธรรมใดๆได้ ไม่สามารถทำให้ลดกิเลสได้

สามารถลองดูด้วยตัวเองก็ได้ เช่น วางขนมอร่อยๆที่ชอบไว้ตรงหน้า ทีนี้นั่งสมาธิเข้าภวังค์ไปเลย 1 ชั่วโมง 1 วัน 3 วัน 7 วัน แล้วออกมากิน ถามว่า ความอร่อยนั้นจะลดลงไหม? ความสุขจากเสพลดลงไหม? ไม่ลดลงหรอก เพราะความอร่อยถูกสร้างจากวิญญาณที่มีกิเลส เมื่อไม่ได้ดับกิเลส มันก็ยังรู้สึกอร่อยเหมือนเดิมนั่นแหละ

การทำสมถะคือการดับความคิด ดับจิต ถ้าเก่งมากก็ดับสัญญา คือดับความจำได้หมายรู้กันไปเลย แต่ไม่ได้ดับกิเลสนะ ศาสนาพุทธสอนให้ดับกิเลส ไม่ได้ดับความคิด ต้องเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่ใช่ทำตัวเป็นผู้ไม่รู้ ไม่ตื่น ผู้เฉยๆ

รู้ในที่นี้ คือรู้แจ้งเรื่องกิเลส ตื่นตัวไม่หลับใหลเมามายในอวิชชาหรือความโง่ที่พาให้หลงไปในกิเลส ผู้เบิกบานนั้นเกิดจากความปล่อยวางความเศร้ามองที่เกิดจากกิเลสในใจ

การปฏิบัติแบบพุทธต้องมีเป้าหมายแบบนี้ ไม่อย่างนั้นก็จะปฏิบัติกันไปผิดๆ จึงได้ผลแบบไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังจะเห็นได้จากคนเข้าวัดทำบุญมากมาย แต่นิสัยแย่ ขอลาไปปฏิบัติธรรม 7 วัน กลับมายังเอาเปรียบยังนินทาคนอื่นเหมือนเดิม นั่นเป็นเพราะเขาปฏิบัติมาผิดทาง สอนกันผิดทาง หรืออาจจะสอนถูก แต่คนผู้นั้นมีบาปมาก ไม่ตั้งใจเรียนก็อาจจะทำให้ฟังมาผิดๆ

ในสมัยพุทธกาลก็มีมาแล้ว มีคนที่ฟังพระพุทธเจ้าเทศน์ตั้งนาน แต่ก็กลับไปแบบไม่ได้อะไร ขนาดมหาบุรุษที่เก่งที่สุดในจักรวาลให้สัจจะอยู่ตรงหน้าก็ยังไม่สามารถเข้าใจและเกิดปัญญาใดๆได้ เหตุการณ์ดังนี้ก็มีให้เห็นมาแล้ว

ดังนั้น การไปเข้าวัดทำบุญ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถทำให้กลายเป็นคนดีได้เลย ดังจะเห็นตัวอย่างในสังคมทุกวันนี้ คนที่เขาทำไม่ดี ทำชั่ว เขาก็ไปวัดทำบุญเหมือนกันกับเราใช่ไหม แต่ทำไมเขาก็ยังไม่หยุดทำชั่ว ไม่หยุดทำเลว ยังโกหก ปลิ้นปล้อน หลอกลวงอยู่เลย

แก่นแท้ของการไปเข้าวัดทำบุญก็คือไปพบปะครูบาอาจารย์ที่มีความสามารถในการสอนสั่งเราไปในทางที่ลด ละ เลิก การยึดมั่นถือมั่นได้ สามารถสอนให้เราล้างกิเลสได้ โดยสามารถบอกขั้นตอนได้อย่างละเอียดพิสดาร เข้าใจได้ไม่ยากนัก ไม่ซับซ้อน เราก็ไปพบท่าน ฟังสัจธรรมจากท่าน แล้วนำมาปฏิบัติจนเกิดผล คือกิเลสเราลดได้จริง นั่นแหละทางถูกที่ควร

แต่ถ้าใครไปวัดทำบุญ เพียงแค่ทำบุญ ใส่บาตร ฝึกสมถะ ก็เหมือนไปเอาแต่เปลือก แต่สะเก็ด เอาแต่ใบ เอาคุณค่าแค่บางส่วน ไม่ได้เอาแก่น เหมือนคนเข้าป่าไปหวังจะเอาแก่นไม้ แต่ก็เด็ดใบไม้กลับบ้านไป แล้วหลงเข้าใจว่าใบไม้นั้นเป็นแก่น แล้วมันจะเป็นคนดีได้อย่างไร….

– – – – – – – – – – – – – – –

20.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

สรณะ..เรายึดสิ่งใดเป็นที่พึ่ง

September 8, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,775 views 0

สรณะ..เรายึดสิ่งใดเป็นที่พึ่ง

สรณะ…เรายึดสิ่งใดเป็นที่พึ่ง

ในสังคมที่สับสนวุ่นวายทุกวันนี้ แม้ว่าจะมีความสะดวกสบาย มากมายไปด้วยสิ่งบำรุงบำเรอกิเลส แต่มันก็ไม่เคยจะทำให้ใครมีความสุขได้อย่างยั่งยืน เพราะการสนองกิเลสนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้ชีวิตมีความสุขได้อย่างยั่งยืน แต่คนก็มักจะหลงมัวเมาไปพึ่ง ไปยึดว่าการสนองกิเลสนั้นดี ต้องใช้ชีวิตให้เต็มที่ สนองกิเลสให้เต็มที่ เพราะหลงผิดคิดไปว่าเกิดมาครั้งเดียวต้องใช้ชีวิตให้ได้เสพสุขมากที่สุด

ความสุขจากกิเลสนั้นเหมือนความสุขลวงๆ เหมือนฟองคลื่น เหมือนพยับแดด สุขอยู่ได้ไม่นานแล้วก็หายไป แต่ทิ้งทุกข์ไว้ให้นานแสนนาน เหมือนกับนายทาสที่เอาของกินมาล่อมาเลี้ยงไว้ แล้วถึงเวลาใช้งานก็เอาแส้ฟาดให้เราลากของ ให้เราทำงาน ให้เราพาไปยังที่ที่เขาหมายเพียงเพื่อที่จะได้เสพเศษแห่งความสุขเพียงน้อยนิด

แต่โลกในยุคนี้ก็ไม่ได้โหดร้ายขนาดนั้น ยังมีมหาบุรุษที่รู้ทุกอย่างในมหาจักรวาลที่บังเกิดขึ้นเมื่อกว่า ๒๖๐๐ ปีก่อนและส่งต่อคำสั่งสอนมาให้ ผ่านอริยสาวกของท่านจากรุ่นสู่รุ่น

แม้สังคมและชีวิตทุกวันนี้จะมีแต่ความทุกข์จากความสับสนวุ่นวาย แต่ถ้าเรายึดพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ยึดพระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ยึดพระสงฆ์ อริยสาวกของพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ชีวิตก็จะมีแต่ความสุขความเจริญ เป็นไปในแนวทางที่ถูกที่ควร เป็นไปในทางลดการสะสมกิเลส เพื่อความสุขอย่างยั่งยืน

ชาวพุทธที่จะมีปลายทางสู่การพ้นทุกข์ จะยึดพระรัตนไตร คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีสามสิ่งนี้เป็นที่พึ่งเท่านั้น ที่พึ่งอื่นนอกเหนือจากนี้ไม่มี

การไปพึ่งพาสิ่งอื่นนั้นนอกจากจะไม่เกิดความสุขแล้วยังจะสร้างความทุกข์ความฉิบหายได้อีก บางคนมีวิบากกรรมที่ต้องไปเชื่อ ไปหลง ไปงมงาย ไปมัวเมา ในเดรัจฉานวิชา เช่น การทายใจ ทำนายฝัน ปลุกเสก หมอผี ดูดวง ดูฤกษ์ ดูโหงวเฮ้ง หมอดูต่างๆ การบนบาน ทำพิธีบวงสรวง รดน้ำมนต์ พยากรณ์ทำนายทายทักต่างๆ และอื่นๆอีกมากมาย ( สามารถหาข้อมูลเพิ่มได้จากการศึกษามหาศีล ซึ่งเป็นศีลแบบกว้าง ครอบคลุมการเลี้ยงชีพ ไปจนถึงประเพณี ความเชื่อ วิถีชีวิต ที่เป็นไปในเชิงสังคม)

เดรัจฉานนั้นคือความโง่ เดรัจฉานวิชาก็คือวิชาที่คนโง่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้หลอกคนโง่กว่าอีกที ก็หลงโง่กันไปทั้งคนใช้คนเสพ…

คนที่ไปพึ่งพาสิ่งที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นนั้น จะไม่มีทางพ้นทุกข์ เพราะยังหลงอยู่กับสิ่งมัวเมาในระดับหยาบ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่ใช่ทางสู่ความเจริญ ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ยิ่งไปพึ่งพาก็ยิ่งจะพาให้ทุกข์ แต่ผู้มีวิบากบาปก็จะมองไม่เห็น ไม่เข้าใจ และหลงมัวเมาอยู่กับสิ่งเหล่านั้น ชาวพุทธผู้มีปัญญา พึงระลึกว่ามีเพียงพระรัตนไตรเท่านั้นเป็นที่พึ่ง แม้แต่เทพเจ้า ตำนาน หรือคำกล่าวอ้างใดๆ ก็ไม่ใช่ที่พึ่งทางใจของเรา

ผู้ที่ยังบูชา เทวดา เทพเจ้า หรือเทพต่างๆ อยู่นั้น คงยากที่จะพ้นทุกข์ ยกเว้นเสียแต่เทพเจ้าที่บูชาเคารพและยึดเป็นที่พึ่งนั้นจะเป็นอริยสาวกคือพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์ ถ้าไม่จัดอยู่ในหมวดของพระรัตนไตร บูชาไป พึ่งพาไปก็มีแต่จะหลงทาง แต่ถึงจะบูชาถูกตรงแต่บูชาเพียงรูปคือขอแค่กราบไหว้ ขอแค่ได้เคารพ ขอแค่ได้ร่วมบุญ ขอแค่มีที่ระลึกติดไว้ที่บ้าน นั้นก็เป็นเพียงความเข้าใจที่ยังตื้นเขินนักไม่ทำให้พ้นทุกข์อีกเหมือนกันเพราะไม่ได้นำมาปฏิบัติ

พระพุทธเจ้าในยุคของเรานี้มีพระโคดมพระองค์เดียว และท่านก็ได้ตรัสไว้ว่า ทางพ้นทุกข์มีทางนี้ทางเดียวทางอื่นไม่มี ประกอบกับธรรมในข้อ วิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัย ผู้ที่ยังไม่มั่นใจก็จะลังเลสงสัย จะเหมารวมว่าศาสนาอื่นๆก็ปฏิบัติได้เหมือนกัน เข้าใจว่าทำให้พ้นทุกข์ได้เหมือนกัน เข้าใจว่าทางพ้นทุกข์มีหลายทาง… แต่ในความเป็นจริงคือ การพ้นทุกข์ในระดับการดับกิเลสนั้น มีในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเดียวเท่านั้น ลัทธิอื่นนอกศาสนาพุทธไม่มี

ทีนี้เราก็มักจะเข้าใจตามที่คนอื่นว่า ท่านนี้ท่านนั้นเป็นอรหันต์บ้างละ ตำนานเขาว่ากันอย่างนั้นบ้างละ มีหลักฐานว่าอย่างนั้นบ้างละ แต่จริงๆคือเราเชื่อตามเขาเท่านั้น เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคุณสมบัติของพระอริยะมีอะไรบ้าง ถึงจะรู้ก็ดูไม่ออกอยู่ดี แต่ก็มีที่เขาว่าหลงเข้าใจผิดว่าตนเองบรรลุธรรมก็มีมากเหมือนกัน เอาเป็นว่าถ้าเราไปเชื่อตามเขากล่าวอ้างกันมานั้นก็คงจะไม่ดีแน่ เรื่องนี้เรายกไว้ก่อนจะดีกว่ารอดูไปก่อนจะดีกว่า อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเขากล่าวอ้าง อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเขาเป็นครูบาอาจารย์ อย่าเพิ่งเชื่อเพราะคนเขาพูดกันมา สังคมเขาเชื่อกันมา ให้ลองดูก่อน ลองนำแนวทางคำสั่งสอนมาปฏิบัติดู ถ้าชีวิตไม่ดีขึ้น ทุกข์หนักขึ้นก็ให้ถอยออกมา แต่ถ้านำคำสั่งสอนมาปฏิบัติแล้วชีวิตดีขึ้น ตัวเราและคนรอบข้างเป็นสุขมากขึ้น ความยึดมั่นถือมั่นน้อยลง ความอยากได้อยากมีน้อยลง ก็ให้ปฏิบัติตามต่อไปเรื่อยๆ

การยึดพระรัตนไตรเป็นสรณะ…

ในอีกแง่มุมหนึ่งของการยึดพระรัตนไตรเป็นที่พึ่งพา ที่อาศัย คือการทำตัวเองให้ความเป็นในสิ่งนั้นๆ คือการเรียนรู้ธรรม (ปริยัติ) การปฏิบัติธรรม(ปฏิบัติ) จนกระทั่งเกิดภาวะที่สามารถเข้าใจถึงธรรมนั้นๆได้อย่างถ่องแท้ (ปฏิเวธ) เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ดังนั้นสุดท้ายการพึ่งพระรัตนไตรก็ต้องน้อมเข้ามาสู่ตัวเอง

เราจะไม่รอให้ใครหรืออะไรมาดลบันดาลความสุขให้ เราไม่รอให้วิบากกรรมส่งผลให้เราทุกข์เกินทนจนเลิกทำชั่ว แต่เราจะพาตัวเองให้พ้นทุกข์เอง โดยการศึกษาพระธรรม ควบคู่ไปกับการปฏิบัติ คือการลด ละ เลิก การยึดมั่นถือมั่นกิเลสเป็นของตน จนกว่าจะถึงสภาพของการหลุดพ้นจากกิเลส เบื่อหน่ายคลายจากกิเลส มีปัญญารู้แจ้งถึงกิเลสนั้นๆ รู้ไปจนถึงว่ากิเลสนั้นดับสนิทแล้ว

เมื่อยึดพระรัตนไตรมาสู่ตนเองอย่างแท้จริงแล้ว ก็เหมือนว่าเส้นทางชีวิตของเราจะถูกขีดไว้ให้เดินไปแต่ในทางเจริญทางด้านจิตใจ แม้ว่าเราจะใช้ชีวิตอย่างคนปกติทั่วไป ทำงานออฟฟิศ มีธุรกิจส่วนตัว ไม่ว่าจะมีวิถีชีวิตแบบใด ถ้ามีการนำพระรัตนไตรเป็นที่พึ่งเป็นที่ยึดอาศัยแล้ว เราก็จะมีโอกาสเข้าถึงความสุขแท้กันได้ทุกคน

– – – – – – – – – – – – – – –

8.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เปลี่ยนแปลง เราเปลี่ยนตัวเองเพื่อใคร

August 10, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,853 views 0

เปลี่ยนแปลง เราเปลี่ยนตัวเองเพื่อใคร

เปลี่ยนแปลง เราเปลี่ยนตัวเองเพื่อใคร

ชีวิตที่ดำเนินมาจนถึงวันนี้มีแต่การเปลี่ยนแปลง ไม่มีใครที่ไม่มีเปลี่ยนแปลง นิสัย ความเชื่อ ความเข้าใจ ความคาดหวัง แม้แต่ฝันในวัยเด็ก หรือสิ่งที่เราเคยยึดมั่นว่าจะไม่เปลี่ยนแปลง กลับเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เราเคยสังเกตกันบ้างไหมว่าทำไมเราจึงเปลี่ยนแปลง แล้วอะไรทำให้เราเปลี่ยน…

ความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดได้จากแรงกระตุ้นทั้งภายนอกและภายใน ภายนอกคือครอบครัว มิตรสหาย คนรัก สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ส่วนภายในก็คือ ความตั้งใจของตัวเอง

เปลี่ยนเพราะกิเลส….

การเปลี่ยนแปลงในบางครั้งเกิดจากแรงผลักดันของกิเลส ความอยากได้อยากมีอยากเป็น จนเกิดการเปลี่ยนแปลงจากสภาพหนึ่งไปสู่อีกสภาพหนึ่ง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่มีกิเลสเป็นตัวผลักดันนั้น ผลย่อมออกมาไม่สวยงามอย่างแน่นอน

เช่น บางคนเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดูดี ด้วยการออกกำลังกาย แต่งตัวสวย กินอาหารดี กินผักผลไม้ เปลี่ยนบุคลิก โดยมีความตั้งใจของตัวเองอันเกิดจากความอยากจะพ้นสภาพทุกข์ใจของความไม่สวย ไม่งาม ไม่แข็งแรง ดูไม่ดี ไม่มั่นใจ ฯลฯ บวกกับแรงของกิเลสที่อยากสวยอยากงาม ดูดี ในเวลาเดียวกัน รวมถึงมีแรงกระตุ้นจากภายนอก เช่น สังคมบอกว่าผอมจึงจะสวย แต่งหน้าจึงสวย ต้องมีรูปร่างแบบนี้จึงจะดูดี เพื่อนทักว่าโทรม ครอบครัวทักว่าดูแลตัวเองหน่อย แฟนชอบแซวว่าอ้วน… ดูเผินๆอาจจะเป็นเพราะแรงกระตุ้นจากภายในและภายนอก แต่ความจริงมันคือแรงกระตุ้นของกิเลส

เพราะมีกิเลสจึงมีทุกข์ เก็บเอาคำพูดของคนอื่นมาเป็นทุกข์ของตัวเอง การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้เป็นการเปลี่ยนเพื่อหนีจากทุกข์แบบหนึ่งไปเจอทุกข์อีกแบบหนึ่งเท่านั้น

ทุกข์ใหม่ที่จะเจอหลังจากการเปลี่ยนแปลงแบบมีกิเลสนี้จะมีอะไรบ้าง เช่น เราต้องเสียเวลาแต่งหน้า ต้องลำบากออกกำลังกายเกินความจำเป็น ต้องเสียเงินซื้อเสื้อผ้าเครื่องสำอางใหม่ โดยไม่รู้เลยว่าการเปลี่ยนแปลงเพื่อกิเลสเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน ไม่มีสาระ ไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะการหนีจากทุกข์หนึ่งไปเจออีกทุกข์หนึ่งก็เหมือนหนีเสือปะจระเข้

กิเลสมักจะหลอกให้เราหลงทางว่าเราเปลี่ยนไปในทางที่ดี เราจึงควรตรวจสอบให้ดีว่าความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นมีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นจริงหรือไม่ เป็นไปเพื่อสะสมกิเลสหรือลดกิเลส แต่ถ้าไม่มั่นใจก็ลองปรึกษาเพื่อนหรือถามผู้รู้เพิ่มเติมก็ได้

เปลี่ยนเพราะเข้าใจในกิเลส….

๑…เปลี่ยนตัวเองเพราะทุกข์ของตัวเอง

เมื่อคนเราเจอทุกข์เข้ามากๆ และทนกับทุกข์นั้นๆไม่ไหว ก็จะเป็นไปดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม” เมื่อถึงจุดที่เราได้เข้าใจทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ วิธีดับทุกข์ จนกระทั่งเข้าใจวิถีปฏิบัติไปสู่การดับทุกข์เมื่อเข้าใจได้ดังนี้แล้ว จึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงบางสิ่ง เช่น วิธีคิด วิถีชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อมไปจากเดิม เพราะเห็นชัดเจนแล้วว่าสิ่งเดิมที่เคยคิด เคยมี เคยเป็นนั้นเป็นทุกข์ และก็จะไม่ยินดีที่จะไปสร้างทุกข์ใหม่อีกด้วย เป็นการดับทุกข์ที่เหตุ คือการดับกิเลสของตัวเองแทนที่จะไปหาสุขลวงมาแก้ทุกข์ที่มี หรือจะเรียกได้ว่าไม่ไปหาทุกข์ใหม่มากลบทุกข์เก่า

การออกจากทุกข์เช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าเมื่อคิดแล้วจะหลุดพ้นจากทุกข์นั้นได้ทันทีเสมอไป ต้องปฏิบัติอย่างตั้งมั่น ใช้ปัญญาพิจารณาเหตุแห่งทุกข์เหล่านั้นจนกระทั่งเกิดผล คือเข้าใจเหตุปัจจัยในการเกิดทุกข์ จนกระทั่งถึงความรู้สึกเบื่อหน่ายจากสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นไว้ เมื่อเราไม่ได้ยึดสิ่งเดิมไว้ เราก็พร้อมจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ด้วยความเต็มใจ พอใจ และเป็นสุขจากการเปลี่ยนแปลงนั้น

๒…เปลี่ยนตัวเองจากการเห็นทุกข์ของผู้อื่น

สำหรับบางคนก็ไม่จำเป็นต้องเจอทุกข์เอง ก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ เช่นเห็นคนเมาแล้วขับรถจนเกิดอุบัติเหตุ แล้วก็สามารถใช้ทุกข์ของคนอื่นมาพิจารณา จนตัวเองเลิกกินเหล้าเปลี่ยนเป็นคนใหม่ที่ไม่กินเหล้าได้ โดยไม่ต้องรอให้เจออุบัติเหตุแบบนั้น

เห็นคนชิงดีชิงเด่นในที่ทำงานแล้วรู้สึกว่าพวกเขาทุกข์และชีวิตวุ่นวาย เมื่อพิจารณาเห็นทุกข์ ก็สามารถออกจากความอยากเด่น อยากดัง อย่างแย่งชิงตำแหน่งได้โดยไม่ต้องลงสนามไปเล่นกับเขาให้ตัวเองทุกข์

คนที่เห็นความโหดร้ายของอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์แล้วย้อนกลับมาดูตัวเองว่าถ้าเรายังกินเขาอยู่ ต่อไปชาติใดชาติหนึ่งเราก็ต้องโดนแบบนั้นบ้าง ก็สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ ออกจากกิเลสนั้นๆได้โดยไม่ต้อง เสียเวลาทุกข์เพราะวิบากกรรมที่ไม่อยากจะทำ

บางคนเห็นคนอื่นเป็นมะเร็งจากสาเหตุที่กินเนื้อสัตว์มาก โดยเฉพาะการปิ้งย่าง เมื่อรับรู้และเห็นถึงความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย ก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เลิกกินเนื้อสัตว์หันมากินผักได้

หรือคนที่ติดบุหรี่ แต่ไปเห็นอาการป่วยของคนที่ติดบุหรี่เหมือนกัน เห็นความทุกข์ ทรมาน อันเกิดจากบุหรี่ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเอง ตัดบุหรี่ออกจากชีวิตได้โดยไม่ต้องรอให้ตัวเองป่วย

หรือกระทั่งคนที่เคยอยากมีคู่ พอเห็นคนอื่นเขาทุกข์จากเรื่องคู่ เรื่องครอบครัว ก็ไม่อยากมีเอาเฉยๆ ยอมเปลี่ยนแปลงมาเป็นคนโสดอย่างเต็มใจ

ลักษณะนี้ก็เรียกว่าเห็นทุกข์จึงเห็นธรรม แต่ดีตรงที่ไม่ต้องเจอทุกข์หนักกับตัวเอง คือผู้ที่มีบุญบารมีสะสมมา เป็นสิ่งที่เคยบำเพ็ญเพียรกับเรื่องเหล่านั้นมานาน แค่มีเหตุปัจจัยมากระตุ้นให้ระลึกได้ ก็เพียงพอที่จะสามารถเห็นและเข้าใจความเป็นจริงได้โดยไม่ต้องทนทุกข์ เพียงแค่เห็นคนอื่นทุกข์ก็สามารถเข้าใจและละเหตุแห่งทุกข์ก่อนที่สิ่งเหล่านั้นจะเกิดตัวเองได้

และผู้ที่มีบุญบารมีมากกว่านั้นคือไม่มีอาการติดสิ่งเหล่านั้นมาตั้งแต่เกิดเลย ไม่ว่าใครจะพาทำ เติม เสริมแต่ง ยั่วเย้า จะมอมเมาอย่างไรก็ไม่ไปติดเหมือนคนอื่นเขา ถึงจะติดก็ติดแค่เปลือก ใช้เวลาสักพักก็หลุดจากกิเลสเหล่านั้นได้ไม่ยาก ต่างจากคนทั่วไปที่เวลามีกิเลสแล้วก็ยิ่งจะยึดมั่นถือมั่น ยิ่งพอกพูนสะสมกิเลสเข้าไปเรื่อยๆ

๓…เปลี่ยนตัวเองเพราะทุกข์ของผู้อื่น

เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากจิตที่เป็นกุศลหรือความคิดที่อยากทำสิ่งดีๆให้กับผู้อื่นเป็นตัวผลักดัน เป็นแรงกระตุ้นจากภายนอกเข้ามาสู่ภายในให้เปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นประโยชน์ภายนอกอีกที

เช่น เราอยากจะช่วยเหลือคนอื่น เราอยากจะเป็นคนดีให้พ่อแม่ภูมิใจ เราอยากเก่งขึ้นเพื่อผู้อื่น เราอยากจะเสียสละเพื่อให้สังคมดีขึ้น เพราะเหตุที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ครอบครัว คนรัก คนรอบข้าง เพื่อนร่วมงาน มิตรสหาย สิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวสะท้อนให้เราเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วกลายเป็นตัวกระตุ้นจิตสำนึกของเราให้อยากจะเปลี่ยนแปลง พัฒนาตัวเองเพื่อผู้อื่น

และเมื่อเรามีปัญญาที่เห็นปัญหา เห็นทุกข์ของผู้อื่น มีเมตตามากเพียงพอที่จะเห็นใจผู้อื่น มีความตั้งใจมากพอที่จะกรุณา เราจะยอมเสียสละ ยอมลดอัตตาตัวตนของตัวเอง ยอมลดกิเลสที่ตัวเองมีเพื่อคนอื่น เพื่อที่จะขยายขอบเขตที่จะทำสิ่งที่เป็นกุศลได้มากกว่าเดิม เหมือนการลอกคราบเก่าทิ้งไป ให้ตัวเองเติบโตขึ้นเพื่อไปช่วยคนอื่นได้มากขึ้น

เช่น เด็กที่เปลี่ยนแปลงพัฒนาตัวเองมาเป็นเด็กขยัน ทั้งเรียนหนังสือและดูแลพ่อแม่ เพราะพ่อแม่เจ็บป่วยทำงานไม่ได้ มีให้เห็นได้บ่อยๆ ในสังคมไทย

คนทั่วไปที่ยอมสละเงิน ไปช่วยคนอื่นที่ตกยากลำบาก ยอมเปลี่ยนตัวเองจากคนตระหนี่ถี่เหนียว หรือใช้เงินเหล่านั้นเพื่อสนองกิเลสตัวเอง มาเป็นคนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สละของตนให้กับผู้อื่น เพราะเห็นความทุกข์ยากของคนอื่นเป็นเหตุ

ผู้ทำงานจิตอาสา เสียสละเวลา ทุน สุขภาพ ฯลฯ ของตัวเอง เพื่อช่วยเหลือสังคม ก็เกิดจากคนธรรมดาทั่วไปที่เข้าใจปัญหาของสังคมจนเปลี่ยนแปลง ปลุกตัวเองขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคม

ผู้นำทางการเมืองหลายคนก็เคยเป็นคนธรรมดาสามัญ แต่เมื่อมีเหตุการณ์วิกฤติ ก็จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของตน ดังคำที่ว่า “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ”

พระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เสียสละประโยชน์คือความสงบของตัวเอง เปลี่ยนตัวเองออกจากฐานที่มั่น มาช่วยเหลือคนและโลก โดยการเผยแพร่ธรรม บางท่านมีเวลาอิสระ ส่วนตัว พักผ่อน น้อยกว่าคนที่ทำงานออฟฟิศทั่วไปเสียอีก หรือแม้แต่ท่านที่อุทิศเวลาทั้งชีวิตให้กับศาสนา ให้กับสังคมและโลกก็มีให้เห็นเหมือนกัน

จะเห็นได้ว่าในขณะที่คนเหล่านี้เสียสละเพื่อผู้อื่น เพื่อสังคม เพื่อให้โลกได้ประโยชน์แล้ว ตัวของเขาเองก็ได้รับคุณค่า ได้บุญกุศลไปในเวลาเดียวกันด้วย เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สร้างประโยชน์ให้กับผู้ที่คิดจะเปลี่ยนแปลงและสร้างความสุข สร้างประโยชน์ให้กับสังคมและโลกอีกด้วย

…สรุปแล้ว การเปลี่ยนแปลงจากสาเหตุใดนั้นก็คงไม่ได้สำคัญเท่าการเปลี่ยนแปลงนั้นมีปลายทางไปทางไหน ไปสู่ความสุขหรือความทุกข์ ไปสู่สิ่งที่ดีงามหรือจะตกต่ำลงไปอีก การรู้ถึงผลของการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

– – – – – – – – – – – – – – –
10.8.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์