Tag: ศีล

อิสรภาพทางการเงิน

October 1, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,584 views 0

อิสรภาพทางการเงิน

อิสรภาพทางการเงิน

อิสรภาพทางการเงิน เป็นคำที่ได้ยินกันจนคุ้นหูในยุคนี้ เป็นความฝันทางทุนนิยม เป็นคำนิยามที่สวยหรู เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงตามที่แต่ละคนจะคิดหรือปรุงแต่งไปเอง ปั้นแต่งให้สวยงามเลิศหรูไปตามกิเลสของแต่ละคน

เขาเหล่านั้นมักมีความเข้าใจเกี่ยวกับอิสรภาพทางการเงินดังเช่น การมีอิสระในการใช้เงิน ,มีเงินมากพอจนไม่ต้องไปเสียเวลานั่งทำงาน , ให้เงินทำงานแทนเรา , มีเงินมากพอที่จะใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและเหตุฉุกเฉิน เป็นความเข้าใจที่เหมาะกับยุคทุนนิยม แต่ไม่เหมาะกับความเป็นจริงเท่าไรนัก

การมีเงินใช้จ่ายอย่างไม่จำกัดไม่ได้หมายความว่าชิวิตจะมีอิสรภาพหรือจะมีความสุข เงินไม่ได้เป็นตัวประกันความมั่งคั่ง หรือความสมบูรณ์แบบในชีวิตเลย เป็นเพียงแค่ของหยาบที่คนหยาบมักเอาไว้ใช้วัดคุณค่าของคน วัดความสำเร็จ เป็นวัตถุที่จับต้องได้ เข้าใจได้ง่าย เขาเหล่านั้นจึงมักจะใช้เงินเป็นเป้าหมายหนึ่งของชีวิต เป็นความมั่งคั่ง เป็นความสุข

เรามักจะมีเหตุผลมากมายที่จะทำให้เราเชื่อว่า เราสามารถมีความสุขได้จากการมีเงิน เรามักจะไม่ได้มองเงินเป็นหลัก แต่มักจะมองสิ่งที่ได้จากเงินเช่น เราอยากได้อะไรก็ได้ เราอยากมีอะไรก็มี อยากซื้อของที่อยากได้ อยากซื้อรถคันใหญ่ อยากมีบ้านหลังโต อยากมีเงินเลี้ยงพ่อแม่ อยากมีเงินส่งเสียลูก อยากมีเงินแต่งเมีย เพราะเหตุนั้น เราจึงคิดว่าเราจะต้องมีเงิน จึงจะสามารถสนองตามความอยากของเราได้ เมื่อได้สนองจนสมใจอยาก เราจึงจะได้พบกับความสุข

การได้มาซึ่งความมั่งคั่งนั้นมีมิติที่ซับซ้อนมากกว่ากิจกรรมที่เราเห็นมากนัก ประกอบไปด้วยกรรมปัจจุบันและกรรมเก่า พวกที่มีกรรมเก่ามากก็อาจจะเกิดมาบนกองเงินกองทองเลย หรือไม่ก็คนประเภทที่ว่าในชาตินี้แม้จะเกิดมาจน แต่พอจับอะไรก็รวยได้ทันที อันนี้ก็มีปัจจัยหนุนนำมากกว่าเรื่องที่มองเห็น

เหมือนกับเรือใบจะแล่นได้เพราะมีลม ความสามารถ หรือกรรมปัจจุบันคือการบังคับเรือให้เหมาะกับลม แต่ลมนั้นคือกรรม คือสิ่งที่คำนวณไม่ได้ คนบังคับเรือเก่งแต่ไม่มีลมก็ไปไม่ได้ คนบังคับเรือไม่เก่งแต่มีลมที่ดีพัดมาตลอดก็ไปถึงฝั่งฝันได้ง่าย

นั่นหมายความว่า การที่เราจะขยันทำงานหรือขยันหาเงินลงทุน ทุ่มเทเวลากับการทำธุรกิจ กิจการร้านค้า ลงทุนเล่นหุ้น ฯลฯ ไม่ได้หมายความว่าเราจะพบกับความมั่งคั่งหรืออิสรภาพทางการเงินเสมอไป อาจจะมีอะไรบางสิ่งบางอย่างคอยเข้ามาขัดขวางไม่ให้เราได้พบกับความมั่งคั่งทางทุนนิยมเหล่านั้น ซึ่งนั่นอาจจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ได้

นั่นเพราะแท้จริงแล้ว การมีเงินไม่ได้หมายความว่าเราจะมีความสุข แต่การที่เราสามารถสนองต่อกิเลสของเราได้ต่างหากคือสิ่งที่เราเรียกว่าความสุข แต่ความสุขแบบนี้ก็เป็นความสุขที่หลอกลวง เป็นสุขจากกิเลส เป็นสุขที่เสพไม่นานก็หายไป แม้จะเสพมากเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักพอ มักจะต้องการเสพเพิ่ม หามาเพิ่ม เพื่อที่จะได้ลิ้มรสสุขที่มากกว่า

ทั้งที่จริงแล้ว เงินไม่ใช่ความสุข จะลองดูก็ได้ ลองไปใช้ชีวิตอยู่ในเกาะร้าง มีเงินวางไว้ใช้บนเกาะสักพันล้าน จะมีความสุขไหม? เมื่อเทียบคุณค่าของเงินกับเพื่อนสักคนหรืออาหารสักจานอะไรจะดีกว่า?

ความสุขที่ว่านั้นเกิดจากการได้เสพสมใจในกิเลส เป็นการสนองความโลภของตัวเองด้วยการแสวงหาทรัพย์อันไม่มีจำกัด เหมือนกับคนที่ตามล่าหาสมบัติเพื่อจะทำให้ตัวเองรวยไปทั้งชาติ เหมือนกับคนที่ตามหาชีวิตอมตะ เหมือนกับคนที่คิดฝันไปเอง

แม้ว่าเราจะได้เงินที่ไม่จำกัดต่อการสนองกิเลสเหล่านั้นมาครอบครอง แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถคงสภาพเช่นนั้นไปได้ตลอด พอมีเงินแล้วก็มักจะมีความอยากเสพมากขึ้นตามมาด้วย จากที่เคยประหยัดก็หันมากินและใช้จ่ายแพงๆ จากที่เคยเป็นโสด ก็ไปหาใครสักคนมาเสพสมกิเลสร่วมกัน จากที่เคยอยู่เป็นคู่ก็สร้างทายาทมาเสริมกิเลสแก่กัน มาช่วยกันใช้ทรัพย์นั้น จนกระทั่งวันหนึ่ง เริ่มสะสมคนมีกิเลสมากขึ้นๆ ในขณะที่ทรัพยากรนั้นมีอยู่อย่างจำกัด เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งทุกอย่างก็จะพังทลายลงในพริบตา ทรัพย์สมบัตินั้นหายไป เหลือไว้แต่คนที่เต็มไปด้วยความโลภ เต็มไปด้วยปริมาณกิเลสก้อนใหญ่…สภาพหลังจากนั้นก็ลองหาดูตัวอย่างชีวิตของผู้มั่งคั่งที่ล้มละลาย

ความไม่เที่ยงนั้นคงอยู่คู่กับโลกเสมอ แม้เราจะพยายามเก็บเงินนั้นไว้ ประหยัดและวางแผนไว้ดีเท่าไหร่ ก็จะมีเหตุให้เราต้องพรากจากความมั่งคั่งนั้นไป ไม่ว่าจะอุบัติเหตุ ความเจ็บป่วย การตาย การทำลายทรัพย์เหล่านั้นด้วยกิเลสของตัวเอง หรือแม้แต่การทำลายกันเองของเหล่าผู้มีกิเลสเช่นการปั่นหุ้น การสร้างข่าวลวง หลอกล่อให้ลงทุน และยังมีปัจจัยแวดล้อมที่จะช่วยแสดงให้เห็นความไม่เที่ยงเช่นภัยพิบัติต่างๆ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟไหม้ ฯลฯ ดังจะเห็นได้ว่า ความมั่งคั่งสามารถถูกทำลายลงได้ทุกเมื่อ ความหมายมั่นตั้งใจว่าจะใช้ชีวิตอย่างสุขสบายเมื่อยามแก่ อาจจะพังทลายลงโดยที่ไม่สามารถจะทำอะไรได้เลย

……ยกตัวอย่างเช่น ทำงานอย่างหนัก ลงทุนในธุรกิจทุกอย่างจนมีเงินหมุนเวียน เกิดสภาพคล่องในชีวิต มีเงินปันผลให้ใช้อย่างเต็มที่ทุกปี สุดท้ายตรวจพบมะเร็งระยะสุดท้าย เงินยังมีอยู่นะ แต่ความสุขยังมีอยู่ไหม?

……หรือ ทำงานจนประสบความสำเร็จ มีเงิน แล้วก็ไปแต่งงาน สุดท้ายมาอยู่กันเป็นครอบครัว มีลูกมีหลาน วุ่นวาย ทะเลาะเบาะแว้งมีปัญหารายวัน เงินยังมีอยู่นะ แต่ความสุขยังมีอยู่ไหม?

……หรือ ทำงานจนประสบความสำเร็จ มีเงิน พอมีเงินก็ไปเที่ยวรอบโลกครั้งแรก ไปปีนเขา …แล้วก็ตกลงมาตาย เงินยังมีอยู่นะ แต่ชีวิตหายไปไหน?

มีกรณีศึกษาเกี่ยวกับคนรวยที่ยังไม่ทันได้ใช้เงินของตัวเอง หรือกระทั่งคนรวยที่ตกอับมากมาย แต่เรามักจะไม่เคยสนใจ เพราะเรามัวแต่แหงนมองไปที่คนรวยกว่า คนที่มั่งคั่ง คนที่เป็นบุคคลตัวอย่างทางการเงินทั้งหลาย จนไม่มองกลับมาถึงความจริงว่า สิ่งเหล่านั้นมันไม่เที่ยง

แต่ถึงกระนั้นคนผู้หลงมัวเมาในเงินก็มักจะไม่มองกว้างนัก เขาเหล่านั้นเหมือนม้าที่ถูกปิดตาให้มองเห็นแต่ทางแห่งความมั่งคั่งอย่างที่ใครสักคนบอกไว้อยู่ข้างหน้า โดยที่เขารู้เพียงว่า ถ้ามีเงินก็สามารถจะมีความสุขได้ ทั้งๆที่จริงแล้วความสุขกับเงิน ไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย เป็นการตั้งสมการหรือสมมุติฐานในการดำเนินชีวิตที่ผิดเพี้ยนไป เพราะเอาเงินมาเป็นตัวตั้ง ทั้งๆที่ควรจะใช้ความสุขเป็นตัวตั้งแล้วหาเงินเพียงแค่พอเลี้ยงชีพและจุนเจือครอบครัวกิจกรรมการงาน

อิสรภาพทางการเงินในนิยามของยุคสมัยนี้นั้น มีรากมาจากความโลภและความขี้เกียจ ซึ่งเป็นกิเลสที่ร้ายและหยาบ

อิสรภาพทางการเงินที่แท้จริงนั้น คือ ไม่เป็นทาสของเงิน ไม่ทุกข์แม้จะไม่มีเงิน จะมีเงินก็ได้ไม่มีก็ได้ จะมีมากก็ได้มีน้อยก็ได้เป็นอิสระจากผลกระทบของเงิน เป็นอิสระจากความผูกพันของเงิน อิสระจากสิ่งสมมุติแห่งความมั่งคั่งที่เรียกว่า “เงิน

อิสรภาพทางการเงินนั้น เมื่อเทียบกับอิสรภาพจากกิเลส ก็จะพบว่าเปรียบกันได้ยากยิ่ง เหล่าคนผู้มัวเมาไปด้วยกิเลสตัณหามักจะสะสมโลกียะทรัพย์ ทรัพย์ทางรูปธรรม สะสมเงิน ตำแหน่ง ชื่อเสียง สุขลวงๆ เพราะเขาเหล่านั้นเข้าใจว่าความมั่งคั่งด้วยทรัพย์จะเป็นหลักประกันให้ชีวิตของเขามีความสุข สามารถเสพสุขไปจนตายได้

แต่ในขณะเดียวกัน ผู้มีปัญญานั้นมักจะสะสมอริยทรัพย์ เป็นทรัพย์ทางนามธรรม ทรัพย์ที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่มีอยู่จริง เขาสามารถที่จะใช้ทรัพย์เหล่านั้นในการสร้างความมั่งคั่งก็ได้ สร้างความสุขก็ได้ สร้างสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดีก็ได้ สร้างอะไรก็ได้ตามกำลังทรัพย์ที่เขามี เป็นทรัพย์ที่ไม่มีวันหมด ยิ่งใช้ยิ่งสะสมก็ยิ่งเพิ่ม เป็นทรัพย์ที่อยู่ในธนาคารที่เรียกกันว่า“กรรม

คนผู้มัวเมาในกิเลสมักหลงในคำว่าอิสรภาพทางการเงิน ลงทุนลงแรง เฝ้าหาเฝ้าเติมอยู่แบบนั้น เขาเหล่านั้นหาเงิน หาความมั่งคั่งมาเพื่อเสพสมใจในชาตินี้ พอชาติหน้าชีวิตหน้าก็ต้องเกิดมาหาแบบนี้ใหม่ เหมือนดังในชาตินี้ที่ต้องมานั่งแสวงหาความมั่งคั่ง

คนผู้มีปัญญานั้นจะเข้าใจในอิสรภาพจากกิเลส เขาจึงลงทุนลงแรง เรียนรู้ พัฒนา สะสมอริยทรัพย์ ซึ่งประกอบไปด้วย ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา…

…ศรัทธาคือความเชื่อมั่นอย่างสัมมาทิฏฐิ เป็นความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญาไม่ใช่เชื่อแบบหลงงมงาย เป็นไปเพื่อลดกิเลส เป็นเหมือนไฟส่องทาง เป็นแผนที่ที่ทำให้ไม่มีวันหลงทาง จะเกิดมากี่ชาติก็ไม่มีวันไปหลงงมงาย เสียเวลากับการเดินผิดทาง เดรัจฉานวิชา ไม่หลงในลัทธินอกพุทธศาสนา

…ศีลคือ ข้อปฏิบัติในการเว้นจากการทำชั่ว เป็นไปเพื่อความสุขความเจริญ เมื่อมีศีลก็พ้นจากภัยต่างๆ ศีลเป็นเกราะป้องกันที่ดีเยี่ยม ศีลวิเศษที่สุด จะเกิดมากี่ชาติ ก็จะมีความสามารถในการถือศีลในระดับที่เคยปฏิบัติได้ติดมาด้วย จะไม่หลงติดอยู่ในอบายมุขนาน แม้ตั้งศีลตั้งตบะแล้วก็สามารถทำลายกิเลสนั้นได้ไม่ยาก

…หิริคือ ความละอายต่อบาป ละอายต่อการทำชั่ว แม้คนอื่นหลอกเราว่าสิ่งชั่วนั้นดี แต่เราจะรู้สึกไม่อยากทำ เพราะเราเห็นว่าเป็นสิ่งชั่วจริงๆ รู้สึกจริงในวิญญาณของเรา เป็นความรู้สึกละอายที่สะสมมาข้ามภพข้ามชาติ

…โอตตัปปะคือ ความเกรงกลัวต่อบาป กลัวการทำชั่ว จะไม่ไปทำชั่วนั้นอีก เพราะรู้ถึงโทษภัยจากการทำชั่ว จึงเข็ดขยาดในการทำชั่วนั้น ไม่ว่าจะเกิดมาอีกกี่ชาติ ความรู้สึกนี้ก็จะติดมาด้วย คือจะไม่หลงไปทำชั่วตามที่คนอื่นเขาทำกัน เพราะรู้ได้ชัดในวิญญาณของตนถึงทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย เหล่านั้น

…สุตะ คือความตั้งใจฟัง คือการเปิดรับสิ่งใหม่ๆ การยินดีรับความรู้ใหม่โดยไม่มีอัตตา สามารถฟังและจำแนกธรรมได้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ เป็นการฟังอย่างเปิดใจโดยน้อมเอาสิ่งที่ฟังเข้ามาพิจารณาไว้ในใจโดยแยบคาย ซึ่งเป็นการฟังที่เป็นเหตุนำไปสู่สัมมาทิฏฐิ

…จาคะ คือ ความเสียสละแบ่งปัน เกิดจากการทำลายกิเลสอันคือความตระหนี่ถี่เหนียว จนเป็นความเสียสละที่ฝังไว้ในวิญญาณ จะเกิดกี่ภพกี่ชาติก็จะเป็นคนที่ใจบุญ เสียสละประโยชน์ส่วนตนให้กับประโยชน์ส่วนรวม ยอมเสียเปรียบให้คนอื่นได้ ยินดีที่จะได้รับน้อยกว่าคนอื่นก็ได้

…ปัญญา คือ ความรู้แจ้งเห็นจริง ชำแหละกิเลส กำจัดกิเลส ล้างกิเลสได้ เพราะมีความรู้ความเข้าใจในกิเลสนั้นว่าเป็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย อย่างแจ่มแจ้ง และเห็นประโยชน์ในการละกิเลสนั้นๆอย่างถ่องแท้ รู้ไปถึงกรรมและผลของกรรมของกิเลสนั้นๆ รู้ว่ากิเลสนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน

ปัญญาจึงเป็นสภาพที่เจริญและติดไปข้ามภพข้ามชาติ ดังจะเห็นได้ว่าคนทุกคนมีปัญญาไม่เท่ากัน มีการเสพกิเลสที่ต่างกัน มีความยึดมั่นถือมั่นไม่เท่ากัน เพราะเขาเหล่านั้นมีอริยทรัพย์ไม่เท่ากัน

เมื่อเห็นดังนี้ ผู้มีปัญญาจึงตามหาครูบาอาจารย์ผู้มีสัจจะแท้ เพื่อที่จะมาเป็นที่ปรึกษาและแนะนำในการลงทุน เพื่อความมั่งคั่งแบบข้ามภพข้ามชาติ เป็นทรัพย์ที่ติดตัวไปตลอดไม่ว่าจะไปเกิดที่ไหน ภพไหน ชาติไหน ก็จะมีศักยภาพเหล่านี้ติดไปด้วยเสมอ นำมาซึ่งทั้งอิสรภาพทางการเงิน และอิสรภาพจากกิเลส

เมื่อมีอริยทรัพย์ดังนี้ ความสุข ความสมบูรณ์ ความมั่งคั่งในชีวิต จะไปไหนเสีย..

– – – – – – – – – – – – – – –

1.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

September 29, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,092 views 0

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

หลายครั้งที่เราคงจะเคยคิดสงสัยว่า การดำเนินชีวิตไปในแต่ละวันของเรานั้นได้เกิดสิ่งดีสิ่งชั่วอย่างไร แล้วอย่างไหนคือความดี อย่างไหนคือความชั่ว ดีแค่ไหนจึงเรียกว่าดี ชั่วแค่ไหนจึงเรียกว่าชั่ว

ความดีนั้นคือการไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นและยังสร้างประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่นได้ในเวลาเดียวกัน ส่วนความชั่วนั้นคือการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น สร้างสมความสุขลวง เพิ่มกิเลส สะสมกิเลสในตัวเองและยังเป็นสิ่งกระตุ้นให้ผู้อื่นได้เพิ่มกิเลส

เราสามารถยกตัวอย่างของคนดีที่มีคุณภาพที่สุดในโลกได้ นั่นก็คือพระพุทธเจ้า และรองลงมาก็คือพระอรหันต์ จนถึงอริยสาวกระดับอื่นๆ ซึ่งก็จะมีความดีลดหลั่นกันมามาตามลำดับ ในส่วนของคนชั่วนั้น คนที่ชั่วที่สุดก็คงเป็นพระเทวทัตที่สามารถคิดทำชั่วกับคนที่ดีที่สุดในโลกได้ รองลงมาที่พอจะเห็นตัวอย่างได้ก็จะเป็น คนชั่วในสังคมที่คอยเอารัดเอาเปรียบเอาผลประโยชน์ของตัวเอง มากกว่าผลประโยชน์ของส่วนรวม

แล้วเราเป็นคนดีหรือคนชั่ว?

การที่เราเข้าใจว่าดีที่สุด ชั่วที่สุดอยู่ตรงไหนเป็นการประมาณให้เห็นขอบเขต แต่ที่ยากกว่านั้นก็คือ “เราอยู่ตรงไหน” เรากำลังอยู่ในฝั่งดี หรือเราคิดไปเองว่าเราดี แต่แท้ที่จริงเรายังชั่วอยู่

ดีของแต่ละคนนั้นอาจจะไม่เหมือนกัน ถ้าเราเป็นคนเข้าวัดทำบุญ เราก็จะบอกว่าลูกหลานที่เข้าวัดทำบุญนั้นเป็นคนดี แต่ถ้าเราเป็นหัวหน้าโจรที่เต็มไปด้วยกิเลส เราก็มักจะมองลูกน้องที่ขโมยของเก่งว่าดี มองว่าคนที่ขโมยของมาแบ่งกันคือคนดี เรียกได้ว่าคนเรามักจะมองว่าอะไรดีหรือไม่ดี จากการที่เขาได้ทำดีอย่างที่ใจของเราเห็นว่าดีนั่นเอง

การมองหรือการวัดค่าของความดีด้วยความคิดของผู้ที่มีกิเลสนั้น มักจะทำให้ความจริงถูกบิดเบือนไปตามความเห็นความเข้าใจที่ผิดของเขา เช่น บางคนเห็นว่าการเอาเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ ไปไหว้เจ้าว่าดี นั่นคือดีตามความเห็นความเข้าใจของเขา แต่อาจจะไม่ได้ดีจริงก็ได้

ดังนั้นการวัดค่าของความดีนั้นจึงต้องใช้ “ศีล” ซึ่งเป็นเครื่องมือเดียวที่พอจะอ้างอิงถึงความดีความชั่วได้ เพราะคนมีปัญญาย่อมมีศีล คนมีศีลย่อมมีปัญญา ศีลนั้นเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เราไปทำชั่วทำบาปกับใคร ดังนั้นคนที่เห็นว่าการไม่ทำความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นเป็นสิ่งดี เขาเหล่านั้นย่อมเห็นประโยชน์ของการถือศีล

หากเราจะหามาตรฐานของคำว่าดีนั้น ก็คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะความพอใจในศีลนั้นแตกต่างกัน บางคนบอกว่าทุกวันนี้ตนไม่ถือศีลก็มีความสุข เรียกว่าดีได้แล้ว บางคนยินดีถือศีล ๕ ก็เรียกว่าดีได้แล้ว บางคนบอกอย่างน้อยต้องถือศีล ๑๐ จึงจะเรียกว่าดี ด้วยความยินดีในศีลต่างกัน ปัญญาจึงต่างกัน ผลดีที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน ดีที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน

ถ้าเราอยู่ในหมู่คนที่เที่ยวเตร่ กินเหล้า เสพสิ่งบันเทิง เขาก็มักจะบอกว่า การหาเลี้ยงชีวิตตนเองได้เป็นสิ่งดีแล้ว เขาสามารถหาเงินมากินเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวเตร่ได้โดยไม่ต้องเดือดร้อนพ่อแม่หรือครอบครัว เขาก็เห็นว่าเป็นสิ่งดีแล้ว

ในมุมของคนที่เลิกเที่ยวและเสพสุขจากอบายมุข ก็มักจะมองว่า การได้ทำบุญทำทาน ถือศีล ๕ เป็นสิ่งดี การได้เกิดมานับถือศาสนาเป็นสิ่งดี แต่การเที่ยวเตร่ กินเหล้า เสพสิ่งบันเทิง เป็นการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น ทำให้ตัวเองต้องลำบากกาย เสียเงิน เสียเวลา และทำให้คนที่บ้านเป็นห่วง ทุกข์ใจ ไม่สบายใจ

ดังนั้นจะหามาตรฐานของความดีนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่หากจะถามว่าสิ่งใดเป็นฐานต่ำสุดของความไม่เบียดเบียนก็จะสามารถตอบได้ว่าฐานศีล ๕ และจะลดการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นลงมาเรื่อยๆ เมื่อปฏิบัติศีลที่สูงยิ่งๆขึ้นไป

คนที่เฝ้าหาและรักษามาตรฐานความดีให้เข้ากับสังคม เสพสุขไปกับสังคม จะต้องพบกับความเสื่อมลงเรื่อยๆ เพราะโลกมักถูกมอมเมาด้วยกิเลส เราผ่านมาถึงกึ่งพุทธกาล และกำลังจะดำเนินไปสู่กลียุค มาตรฐานของความดีก็จะค่อยๆ ลดระดับลงมาตามความชั่วของคน

จะเห็นความเสื่อมนี้ได้จากพระในบางนิกาย บางลัทธิ มักเสื่อมจากธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เสื่อมจากบทบัญญัติที่ได้กำหนดไว้เพื่อการละหน่ายคลายกิเลส เช่น ท่านให้ฉันวันละมื้อ แต่พระบางพวกก็สู้กิเลสไม่ไหว เมื่อมีคนมีกิเลสมากๆรวมตัวกันก็เลยกลายเป็นคนหมู่มาก กลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ ว่าแล้วก็กลายเป็นพระฉันวันละสองมื้อ หรือบางวัดก็แอบกินกันสามมื้อเลยก็มี

ดังนั้นการจะเกาะไปกับค่ามาตรฐาน ก็คือการกอดคอกันลงนรก เพราะคนส่วนมาก ยากนักที่จะฝืนต่อต้านกับพลังของกิเลส มีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถต่อกรกับกิเลสได้ ดังที่พระพุทธเจ้าได้เปรียบไว้เหมือนกับ “จำนวนเขาโค เมื่อเทียบกับเส้นขนโคทั้งตัว” การที่เราทำอย่างสอดคล้องไปกับสังคม ไม่ได้หมายความว่ามันจะดี หากสังคมชั่ว เราก็ต้องไปชั่วกับเขา แม้เขาจะบอกหรือหลอกเราว่าสิ่งชั่วนั้นมันดี แต่บาปนั้นเป็นของเรา ทุกข์เป็นของเรา เรารับกรรมนั้นคนเดียว ไม่ได้แบ่งกันรับ เราชั่วตามเขาแต่เรารับกรรมชั่วของเราคนเดียวไม่เกี่ยวกับใคร ดีก็เช่นกัน เราทำดีของเราก็ไม่เกี่ยวกับใคร

ดังเช่นการดื่มเหล้า เบียร์ เครื่องดื่มมอมเมาทั้งหลาย เรารู้ดีว่าผิดศีลข้อ ๕ อย่างแน่นอนเพราะนอกจากจะทำให้หลงมัวเมาไปกินแล้วยังทำให้มัวเมาไร้สติตามไปด้วย แต่ด้วยโฆษณาทุกวันนี้จากสื่อหลายช่องทาง โดยเฉพาะจากคนรอบข้างที่ว่าเหล้าดีอย่างนั้น เหล้าดีอย่างนี้ กินเหล้าแล้วทำให้มีความสุข เพลิดเพลิน ไปกับบรรยากาศเสียงเพลงและสุรา เราถูกมอมเมาและทำให้เสื่อมจากศีลด้วยคำโฆษณา คำอวดอ้าง คำล่อลวงทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้หลงว่าสิ่งนั้นดี เสพสิ่งนั้นแล้วจะสุข ใครๆเขาก็เสพกัน นิดๆหน่อยๆไม่เป็นไรหรอก นี่คือลักษณะของความเสื่อมที่ถูกชักจูงโดยกิเลสของสังคมและคนรอบข้าง รวมทั้งกิเลสของตนเองด้วย

หรือเครื่องดื่มที่ไม่ได้ทำให้ร่างกายมัวเมา แต่มีกระบวนการทำให้จิตใจมัวเมาเช่น ชาหลายๆยี่ห้อ มักจะใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเข้ามาเร่งให้คนเกิดกิเลส จากคนปกติที่ไม่เคยอยากกินชายี่ห้อนั้น ก็สามารถทำให้กิเลสของเขาเพิ่มจนอยากกินได้ โดยการกระตุ้นล่อลวงไปด้วยลาภ เช่น แจกวัตถุสิ่งของที่เป็นที่นิยม ที่คนอยากได้อยากมีกัน เพื่อมอมเมาให้คนหลงในการเสี่ยง การพนันเอาลาภ ก็เป็นการเพิ่มกิเลสให้กับคนหมู่มาก การเพิ่มกิเลสหรือการสะสมกิเลสนั้นเป็นบาป ผู้กระตุ้นให้เกิดกิเลสนั้นย่อมเป็นเหตุแห่งบาป เป็นความชั่ว ทำให้คนเสื่อมจากความปกติที่เคยมี กลายเป็นแสวงหาลาภในทางไม่ชอบ เป็นลักษณะของความเสื่อมที่ถูกชักจูงโดยการตลาด และผู้ประกอบการที่ละโมบ

เมื่อการชักจูงด้วยลาภเริ่มที่จะไม่สามารถกระตุ้นกิเลสของคนได้ ก็จะเริ่มกระตุ้นกิเลสทางอื่นเช่น กระตุ้นกาม หรือกามคุณ เช่น กระตุ้นรูป ดังเช่นชาหลายยี่ห้อที่บอกกับเราว่า กินแล้วสวย กินแล้วหุ่นดี กินแล้วไม่อ้วน เหล่าคนผู้มีกิเลสหลงในรูปหลงในร่างกายหรือความงามก็จะถูกดึงให้ไปเป็นลูกค้าได้โดยง่าย ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นกับชีวิตเลย ไม่ได้สร้างให้เกิดความสุขแท้เลย แต่เรากลับหลงมัวเมาไปตามที่เขายั่วกิเลสของเรา แล้วเรากลับหลงว่ามันดี หลงว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่ดี แต่จริงๆแล้วมั่นชั่ว มันพาเพิ่มกิเลส มันไม่ได้พาลดกิเลส เมื่อสังคมสิ่งแวดล้อมพาเพิ่มกิเลสแล้วเราคล้อยตามไป มันก็ชั่ว ก็บาป ก็นรกไปด้วยกันนั่นแหละ

กิเลสนั้นมีต้นกำเนิดเดียวกัน หากเราเพิ่มกิเลสให้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง กิเลสเรื่องอื่นๆก็มักจะเพิ่มตามไปด้วย ดังนั้นการเพิ่ม กระตุ้น หรือสะสมกิเลสไม่ว่าจะเรื่องใด ก็เป็นทางชั่วทั้งสิ้น

ไม่ทำบาปแล้วทำไมต้องทำบุญ

หลายคนมักพอใจในชีวิตของตน ที่หลงคิดไปว่าตนนั้นไม่ทำบาป หลงเข้าใจไปว่าไม่ชั่ว แล้วทำไมต้องทำบุญ แค่ไม่ชั่วก็ดีอยู่แล้วนี่…

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความคิด คำพูด การกระทำของเราไม่เป็นบาป… ในเมื่อเราไม่รู้ ไม่มีตัววัด ไม่มีใครมาบอก เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเราไม่ชั่ว เราไม่บาป การที่เราคิดเอาเองว่าเราไม่บาปนั้นจะถูกต้องได้อย่างไร

มีคนหลายคนบอกว่าฉันไม่ชั่ว แม้ฉันจะเลิกงานไปกินเหล้าฟังเพลง ฉันก็ไม่ได้เบียดเบียนใคร แต่พอบอกไปว่าเบียดเบียนตัวเองนะ…. ก็มักจะต้องจำนน ถึงแม้ว่าจะพยายามเถียงว่าเบียดเบียนตัวเองก็เป็นเรื่องของเขา ก็จะโดนความชั่วอีกข้อ ก็คือมีอัตตา ยึดตัวเราเป็นของเรา สรุปว่าเพียงแค่คิดเข้าข้างตัวเองยังไงก็หนีไม่พ้นบาปไม่พ้นความชั่ว

คนเราเวลาชั่วมากๆก็มักจะมองไม่เห็นดี ไม่เข้าใจว่าดีเป็นเช่นไร เพราะโดนความชั่ว โดนบาป โดนวิบากบาปบังไม่ให้เห็นถึงความชั่วนั้น จึงหลงมัวเมาในการทำชั่ว แล้วเห็นว่าเป็นสิ่งดี หรือที่เรียกว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว

แม้ว่าในชีวิตนี้เราเกิดมาจะไม่ทำชั่วเลย เป็นฤาษีนั่งอยู่ในเรือน มีคนเอาของกินมาถวาย แต่นั่งสมาธิอยู่อย่างนั้นทั้งชีวิต ไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร นั่นก็คือชั่วอยู่ดี เพราะตนเองไม่ได้หาเลี้ยงชีพ ทั้งยังกินบุญเก่า คือให้เขาเอาของมาให้ เรียกได้ว่าเกิดชาติหนึ่งไม่ทำชั่วเลย แต่ก็กินบุญเก่าไปเรื่อยๆ

เหมือนคนที่มีเงินฝากในธนาคาร ไม่ได้ฝากเงินเพิ่ม แต่ก็ถอนเงินและดอกเบี้ยมากินใช้เรื่อยๆ ใช้ชีวิตแบบนี้หมดไปชาติหนึ่ง กินบุญเก่าไปเปล่าชาติหนึ่ง เกิดมาเป็นโมฆะไปชาติหนึ่ง เกิดมาทำตัวไร้ค่าไปชาติหนึ่งแล้วก็ตายไป เป็นต้นไม้ต้นหนึ่งยังดีกว่าเป็นคนที่เกิดมาไม่ทำประโยชน์กับใคร ต้นไม้มันดูดน้ำดูดธาตุอาหารในดินมายังสร้างเป็นดอกผลให้สัตว์อื่นได้กิน

และการจะดำเนินชีวิตไปสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืนนั้น ต้องหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ชั่วนั้นต้องหยุดทำก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงทำดีเติมเข้าไป ให้กุศลได้ผลักดันไปสู่การทำจิตใจให้ผ่องใส ผ่องใสจากความมัวเมาของกิเลส ปราศจากความอยากได้อยากมี ซึ่งการจะทำจิตใจให้ผ่องใสได้นั้น จำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์ที่เป็นผู้รู้ธรรมมาสอน จะนึกคิดเอาเองไม่ได้ และการจะได้เจอครูบาอาจารย์นั้น ต้องทำดี ทำกุศลที่มากเพียงพอ ที่ความดีนั้นจะผลักดันเราไปพบกับครูบาอาจารย์ผู้มีบุญบารมีนั้นได้ และการจะเติมบุญกุศลให้เต็มจนเป็นฐานในการขยับสู่การทำจิตใจให้ผ่องใสนั้น ต้องอุดรูรั่วที่เรียกว่าความชั่วเสียก่อน หากทำดีไม่หยุดชั่ว ก็เหมือนเติมน้ำในโอ่งที่รั่ว เติมไปก็หาย ทำดีไปก็แค่ไปละลายชั่วที่เคยทำ แล้วชั่วที่เคยทำก็จะมาฉุดดีที่พยายามทำอีก ดังนั้น การจะทำให้ชีวิตมีความสุขอย่างยั่งยืน คือการหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ซึ่งเป็นการกระทำที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่แยกจากกัน

คนติดดี

คนทั่วไปมักจะมองว่าคนดีนั้นอยู่ในสังคมยาก เพราะอาจจะติดภาพของคนติดดีมา คนที่ติดดี ยึดดี ต้องเกิดดีจึงจะเป็นสุข จะไม่สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขนัก เพราะสังคมทุกวันนี้มักไม่มีความดีให้เสพ มีแต่ความวุ่นวาย แก่งแย่งชิงดี ชิงเด่น หลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ คนติดดีเมื่ออยู่ในสังคมที่มีแต่ความชั่วเช่นนี้ก็มักจะหงุดหงิด ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ทำให้เกิดอาการหม่นหมอง เป็นทุกข์ เพราะไม่ได้เสพดีดังที่ตนเองหวัง

ความติดดีนั้นมีรากมาจากอัตตา คือความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งจะเรียกคนติดดีว่าคนดีนั้น ก็พอจะเข้าใจได้ในสังคม แต่จะให้เรียกว่าคนดีแท้นั้นก็คงจะไม่ใช่ เพราะคนที่ติดดีนั้น พึ่งจะเดินมาได้เพียงครึ่งทาง เขาเพียงละชั่ว ทำดีมาได้บ้าง แต่ยังไม่สามารถทำจิตใจตนเองให้ผ่องใสจากความยึดมั่นถือมั่นได้ จึงเกิดเป็นทุกข์

การเป็นคนดีนั้นไม่ได้หมายความว่า เราจะได้รับแต่สิ่งที่ดี เราจะได้สิ่งดีก็ได้ จะได้รับสิ่งไม่ดีก็ได้ แต่เราจะต้องรับรู้ให้ได้ว่า สิ่งดีที่เราได้รับเกิดจากการที่เราทำดีมา และสิ่งไม่ดีที่เราได้รับ เกิดจากชั่วที่เราเคยทำมาก่อน ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ทำดี หรือจากภพก่อนชาติก่อน กรรมเก่าก่อนก็ตามมันไม่จำเป็นว่าทำดีแล้วต้องเกิดดีให้เห็นเสมอไป เพราะเรื่องกรรมเป็นเรื่องอจินไตย(เรื่องที่ไม่ควรคิดคาดคะเน เดา หรือคำนวณผล) เราทำดีอย่างหนึ่งเราอาจจะได้ดีอีกอย่างหนึ่งก็ได้ หรือดีนั้นอาจจะสมไปชาติหน้าภพหน้าก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ตอนเด็กๆเราได้ของขวัญจากผู้ใหญ่ ทั้งๆที่เราไม่เคยทำดีให้ผู้ใหญ่หรือใครๆขนาดนั้นเลย นั่นก็เป็นผลแห่งกรรมที่เราเคยทำมา ถ้าสงสัยก็อาจจะลองเปรียบเทียบกับเด็กที่เขาจนๆเกิดมาไม่มีจะกินก็ได้ ไม่ใช่ทุกคนหรอกนะ ที่จะได้จะมีในสิ่งของหรือความรัก เพราะถ้าหากเขาไม่เคยได้ทำกรรมดีเหล่านั้นมา เขาก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับกรรมดีนั้นเหมือนอย่างคนอื่นที่เขาทำมา

ซึ่งเหล่าคนติดดีมักจะหลงเข้าใจว่าทำดีแล้วต้องได้ดี เมื่อคนติดดีได้รับสิ่งร้ายก็มักจะไม่เข้าใจ สับสน สงสัยในความดีที่ตนทำมา เมื่อไม่ได้รับคำตอบที่ดีพอให้คลายสงสัยในเรื่องของกรรม ก็มักจะเสื่อมศรัทธาในความดี กลับไปชั่วช้าต่ำทราม เพราะความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนในเรื่องกฎแห่งกรรม ซ้ำยังทำดีด้วยความหวังผล เมื่อไม่ได้ดีดังหวัง ก็มักจะผิดหวัง ท้อใจ และเลิกทำดีนั้นไปนั่นเอง

ยังมีคนติดดีอีกมากที่หลงในความดีของตัวเอง ซึ่งก็มักจะเป็นเรื่องปกติ เมื่อเราสามารถลด ละ เลิก สิ่งที่เป็นภัย มาหาสิ่งที่ดีได้แล้ว เมื่อมองกลับไปยังสิ่งชั่วที่ตนเคยทำมาก็มักจะนึกรังเกียจ เพราะการจะออกจากความชั่ว ต้องใช้ความยึดดี ติดดีในการสลัดชั่วออกมา เมื่อสลัดชั่วออกจากใจได้แล้วก็ยังเหลืออาการติดดีอยู่ ซึ่งทำให้เกิดอาการถือดี หลงว่าตนดี ยกตนข่มท่าน เอาความดีของตนนั้นไปข่มคนที่ยังทำชั่วอยู่ เพราะลึกๆในใจนั้นยังมีความเกลียดชั่วอยู่และไม่อยากให้คนอื่นทำชั่วนั้นต่อไป

การจะล้างความติดดีนั้น จำเป็นต้องใช้ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาให้มาก ให้เห็นว่าคนที่ยังชั่วอยู่นั้น เราก็เคยชั่วมาก่อนเหมือนกันกับเขา กว่าเราจะออกจากชั่วได้ก็ใช้เวลาอยู่นาน และก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะใช้วิธีเดียวกับเราออกจากชั่วนั้นได้ เพราะคนเรามีการผูกการยึดกิเลสมาในลีลาที่ต่างกัน เหมือนกับว่าแต่ละคนก็มีเงื่อนกิเลสในแบบของตัวเองที่ต้องแก้เอง ดังนั้นการที่เราจะออกจากความติดดีก็ไม่ควรจะไปยุ่งเรื่องกิเลสของคนอื่นให้มาก แต่ให้อยู่กับกิเลสของตัวเองว่าทำไมฉันจึงไปยุ่งวุ่นวาย ไปจุ้นจ้านกับเขา ทำไมต้องกดดันบีบคั้นเขา ถึงเขาเหล่านั้นจะทำชั่วไปตลอดชาติก็เป็นกรรมของเขา เราได้บอกวิธีออกจากชั่วของเราไป แล้วเราก็ไม่หวังผล บอกแล้วก็วาง ทำดีแล้วก็วาง ผลจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับตัวเขา จะเกิดดีเราก็ยินดี จะไม่เกิดดีเราก็ไม่ทุกข์

และคนที่ดีที่หลงมัวเมาในความดี หรือติดสรรเสริญ โลกธรรม อันนี้เรียกว่าชั่ว เป็นดีที่สอดไส้ไว้ด้วยความชั่ว มีรากจริงๆมาจากความชั่ว ความดีที่เกิดถูกสร้างมาจากความชั่วในจิตใจ จะเห็นได้จากคนทำบุญทำทานเพื่อหวังชื่อเสียง ทำดีหวังให้คนนับหน้าถือตา ทำดีหวังให้คนเคารพ แบบนี้ไม่ดี ยังมีความชั่วอยู่มาก ไม่อยู่ในหมวดของคนที่ติดดี

การเป็นคนดีนั้นไม่จำเป็นว่าคนอื่นเขาจะมองเราว่าเป็นคนดีเสมอไป ขนาดว่าพระพุทธเจ้าดีที่สุดในจักรวาล ก็ยังมีคนที่ไม่ศรัทธาในตัวท่านอยู่เหมือนกัน แล้วเราเป็นใครกัน เราดีได้เพียงเล็กน้อยจะไปหวังว่าจะมีคนมาเชิดชูศรัทธาเรา เราหวังมากไปรึเปล่า… โลกธรรม สรรเสริญ นินทา มันก็ยังจะต้องมีตราบโลกแตกนั่นแหละ ไม่ว่าจะคนดีหรือคนชั่วก็ต้องมีคนสรรเสริญ นินทา ดังนั้นเราอย่าไปทำดีเพื่อมุ่งหวังให้ใครเห็นว่าเราดี จงทำดีเพื่อให้เราดี ให้เกิดสิ่งที่ดีในตัวเรา เท่านั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

29.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

วิธีปฏิบัติธรรม จากการกินอาหารมังสวิรัติ

September 24, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 8,464 views 0

วิธีปฏิบัติธรรม จากการกินอาหารมังสวิรัติ

วิธีปฏิบัติธรรม จากการกินอาหารมังสวิรัติ

วิธีการที่จะนำมาเสนอต่อไปนี้ เป็นการสรุปย่อเพื่อให้เข้าใจหลักปฏิบัติโดยรวมได้ง่าย พยายามที่จะใช้ศัพท์เฉพาะให้น้อยเพื่อการเข้าถึงที่ง่าย หากมีโอกาสในวันใดวันหนึ่งคงได้พิมพ์ฉบับละเอียดออกมา ซึ่งจะร้อยเรียงข้อธรรมะเข้ากับการปฏิบัติให้เห็นถึงความสอดคล้องของสภาวธรรมที่เจริญไปพร้อมกับการปฏิบัติ แต่ในบทความนี้ คงพิมพ์ไว้ให้เป็นแนวทางไปก่อน

1). บทนำ

การลดเนื้อกินผัก กินอาหารมังสวิรัติ กินเจ ใครหลายคนก็มักจะมองไปในเรื่องของเมตตา หรือการไม่เบียดเบียนเป็นหลัก แต่ในอีกมุมหนึ่งนั้นเราสามารถใช้มังสวิรัติเป็นการปฏิบัติธรรมได้อย่างดีเยี่ยม

การปฏิบัติธรรมของศาสนาพุทธนั้น เป็นการปฏิบัติที่ใจ เป็นการขัดเกลาจิตใจ ขัดเกลากิเลส พัฒนาใจให้สูงขึ้น แต่การจะพัฒนาใจให้สูงขึ้นนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ไปนั่งสมาธิ เดินจงกรม หรือทำสมถะเท่านั้น แต่จำเป็นต้องวิปัสสนา เพื่อให้เกิดผลเจริญขึ้นในจิตใจด้วย

ถ้าจะกล่าวถึงมังสวิรัติหลายคนคงเบือนหน้าหนี มีหลายล้านเหตุผลที่เราจะไม่กินมังสวิรัติ และมีอีกหลายล้านเหตุผลที่จะทำให้เรากลับไปกินเนื้อสัตว์ เหตุผลเหล่านั้นมาจากกิเลสของเรา แต่แท้จริงกิเลสนั้นไม่ใช่เรา เราจะมาเริ่มปฏิบัติการจับผี ล่าผี ล้างป่าช้า ฆ่ากิเลสกันง่ายๆ ใน 3 ขั้นตอน คือ เตรียมตัว ระวัง ไป!

2). เตรียมตัว! ตั้งศีล

การจะลดกิเลสไม่ได้มีความยากในเรื่องของกระบวนการ แต่จะยากในเรื่องของการปฏิบัติ เป็นการปฏิบัติสู้กับกิเลสตัวเอง สู้กับความอยากของตัวเอง ใช้พลังของตัวเองในการฝ่าฟันกิเลสเหล่านั้น

การเริ่มต้น เราจะเริ่มจากการตั้งศีล ศีล คือข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลส เพื่อความปกติสุข เพื่อความเจริญ ศีลที่เราจะตั้ง หรือให้ตนเองถือว่าก็คือ “กินมังสวิรัติ” เราจะไม่กำหนดเวลา ไม่กำหนดกรอบ เราแค่ลดเนื้อกินผัก ลดเนื้อเท่ากับศูนย์ กินแต่ผัก

การตั้งศีลนี้เราควรตั้งหรือถือไว้ด้วยปัญญา ไม่ควรเชื่อหากใครบอกว่าศีลนี้ดี ในขั้นตอนนี้เราควรจะหาความรู้ว่าทำไมจึงต้องกินมังสวิรัติ กินมังสวิรัติแล้วดีอย่างไร การกินเนื้อเบียดเบียนอย่างไร จงใช้เวลาหาความรู้จนมั่นใจว่าตัวเองยินดีที่จะตั้งศีลนี้ เพราะความยินดีในประโยชน์ในการออกจากทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย เป็นด่านแรกของปัญญา ซึ่งคนไม่มีปัญญาก็จะไม่สามารถตั้งศีลนี้ได้ เพราะไม่สามารถมองทะลุถึงประโยชน์แท้ในการมีศีล ถึงจะถือศีลก็ถือตามคนอื่นเขา ถือแบบเหยาะแหยะ ถือแบบลูบๆคลำๆถือเอาไว้อวดบารมี ถือไว้เฉยๆ ทำอะไรกับมันไม่ได้ ไม่รู้ว่ามันทำอะไรได้ เหมือนคนป่าถือสมาร์ทโฟน

ข้อดีของศีลมังสวิรัติคือเราจะได้สู้กับกิเลสทุกวัน วันละหลายครั้งตามมื้ออาหารที่เรากิน เป็นการปฏิบัติธรรมที่สามารถทำได้ง่าย ทำได้ทุกวัน ไม่ต้องเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน ไม่ต้องรอไปวัด ไม่ต้องใช้เวลาสวดมนต์ เพียงแค่แทนที่อาหารมื้อเดิมด้วยอาหารมังสวิรัติเท่านั้นเอง ถือว่าเป็นการเริ่มต้นการปฏิบัติธรรมที่ง่าย สะดวกที่สุด และเหมาะกับทุกคน ทุกสังคม ทุกชนชั้น

อาจจะมีบางคนงงเกี่ยวกับ “ศีลมังสวิรัติ” การกินมังสวิรัติเป็นศีลได้อย่างไร? มังสวิรัติคือส่วนหนึ่งของศีลข้อ ๑ คือไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ในระดับของอธิศีล คือ ยากกว่าการไม่เบียดเบียนทั่วไป เป็นขั้นกว่าของศีลข้อ๑ แบบปกติ นั่นคือ นอกจากเราจะไม่ฆ่าแล้ว เรายังต้องมีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาต่อสัตว์และเพื่อนมนุษย์อื่นๆด้วย( ดูส่วนขยายได้ในจุลศีลข้อ ๑)

3). ระวัง! ข้อควรระวังในการถือศีล

การถือศีลของเรานั้นไม่ใช่การถือเพื่อทำเล่นๆ แต่เป็นการถืออย่างจริงจัง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถตั้งศีลกินมังสวิรัติตลอดชีวิตได้ตั้งแต่แรก อาจจะตั้งเป็น 3 วันต่อสัปดาห์ หรือเดือนละ 2 สัปดาห์ก่อนแล้วค่อยตั้งอธิศีล คือเพิ่มศีลขึ้นไปเรื่อยๆ เป็น 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือน 1 ปี จนกระทั่งมั่นใจว่าทำศีลนี้ได้ดีจึงตั้งศีลว่า “มังสวิรัติตลอดชีวิต

เราควรประมาณการตั้งศีลของตัวเองให้เหมาะกับพลังของตัวเอง ถ้ามันตึงจนเครียดทรมานจิตใจตัวเองเกินไปก็ให้ผ่อนลงมา เก่งแล้วค่อยขยับขึ้นไปใหม่ หรือใครที่รู้สึกว่าตัวเองทำศีลได้ดีก็อย่าไปแช่อยู่นานให้ตั้งอธิศีลขึ้นไปอีก ถ้ากินมังสวิรัติได้ดี ก็ให้ขยับไปทำศีลอื่นๆเช่น การกินจืด การกินมื้อเดียว การลดชนิดและความหลากหลายของอาหาร เป็นต้น

การปฏิบัติศีลต้องรับรู้ได้ด้วยตัวเองว่ากิเลสหรือความอยากเสพของตนเองนั้นเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด เพิ่มขึ้นหรือลดลง มากน้อยเท่าไหร่ ถ้ายังไม่สามารถรู้ถึงกิเลสของตัวเองได้แสดงว่าอาจจะปฏิบัติมาผิดทางหรือความเข้าใจยังคลาดเคลื่อน

4). ไป! ลุยกันเลย ลงมือปฏิบัติ

หลังจากที่เราตั้งศีล ถือศีล ยึดศีลนี้เพื่ออาศัยไปสู่ความเจริญแล้ว เราก็จะดำเนินชีวิตประจำวันไปตามปกติ เราจะไปเจอกับอาหารในแต่ละมื้อ ที่เราจะต้องใช้สมาธิที่มากกว่าเดิมในการกดข่มความอยาก และปัญญาที่มากกว่าเดิมในการที่จะหาทางออกเพื่อที่จะได้กินอาหารมังสวิรัติรวมถึงปัญญาที่จะใช้ฆ่ากิเลสด้วย จะลองจำลองสถานการณ์พอเห็นภาพดังนี้

มื้อเช้า…. เราออกไปทำงานพบกับแผงขายเจอหมูปิ้งหน้าปากซอย เราเคยกินหมูปิ้งกับข้าวเหนียวและชอบมากแค่เห็นยังน้ำลายไหล แต่เราอดทนข่มใจ พิจารณาเข้าไปว่ากินเนื้อสัตว์ไม่ดีอย่างไร ว่าแล้วเราก็เดินเข้าร้านหมูปิ้ง ดิ่งตรงเข้าไปสั่งข้าวเหนียวสองห่อ เพื่อกินให้อิ่ม ให้ผ่านๆไปหนึ่งมื้อ

ภาพช้า… ในขณะที่เราเดินเข้าไป สายตาจะจับจ้องที่หมูปิ้ง กลิ่นควันหอมลอยแตะจมูก ใจก็คิดจะสั่ง ปากก็อยากจะบอก มือก็อยากจะเอื้อมไปคว้าหมูปิ้ง แต่ด้วยพลังการกดข่มที่เราฝึกไว้บ้าง ทำให้เราพอจะผ่านไปได้

มื้อเที่ยง…. วันนี้มีลูกค้าพาไปเลี้ยงบุฟเฟต์นานาชาติ ด้วยความเกรงใจจึงไปด้วย เห็นอาหารละลานตา ไอ้นั่นก็อยากกิน ไอ้นี่ก็อยากกิน สายตาผ่านไปเจอเมนูกุ้งเผาสุดโปรด น้ำลายไหลโดยยังไม่ทันรู้ตัว ว่าแล้วก็เดินตรงดิ่งเข้าไปจะสั่งกุ้งเผา บังเอิญว่าเพื่อนร่วมงานเข้ามาทักได้ทัน บอกเตือนว่า ไหนเราตั้งใจว่าจะกินมังสวิรัติ แล้วเราก็ได้สติกลับมาอีกครั้ง เลยไปตักแต่ผักกิน ผ่านไปอีกมื้อ

ภาพช้า…ในขณะที่เห็นกุ้งเผา สติ ได้หลุดลอยออกไป ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีไม่มีอีกต่อไป ศีลอะไรก็ช่างมันเถอะ กุ้งเผาไม่ใช่ของที่จะกินกันได้บ่อยๆ ถ้าไม่กินตอนนี้ แล้วจะได้กินตอนไหน ยิ่งมีลูกค้าเลี้ยงด้วยแบบนี้ ลุยกันให้เต็มที่ไปเลย

มื้อบ่าย…. เพื่อนๆในออฟฟิศชวนกันไปซื้อลูกชิ้นเจ้าประจำ แต่ก่อนตอนยังไม่ตั้งศีลก็ชอบซื้อกินกับเขา ลูกชิ้นเนื้อ เอ็นเนื้อนี่ของโปรดเลยทีเดียว แต่วันนี้เกือบจะพลาดมื้อกลางวันมาแล้วจึงข่มใจ พยายามนั่งนิ่งๆไว้ไม่ตอบรับ ทันใดนั้นเพื่อนผู้หวังดีก็มาสะกิดถาม ฝากซื้อไหม เอาลูกชิ้นกี่ไม้? ด้วยความที่ตั้งศีลไว้จึงอดกลั้นไว้ก่อนบอกเพื่อนว่าวันนี้ไม่กิน ผ่านไปได้อีกวัน

ภาพช้า… ตอนเพื่อเข้ามาถาม ฝากซื้อไหม เอากี่ไม้ เหมือนมีคลื่นกิเลสผลักดันให้ลุกออกไป ใจก็คิดไปแล้วว่า เหมือนเดิมอย่างละสองไม้ ปากก็เกือบจะพูดออกไปแล้ว ดีว่าได้สติก่อนจึงสงบปากสงบคำ ปล่อยให้ความอยากนั้นอยู่แค่ในใจ

มื้อเย็น…. ว่าจะกลับบ้าน แต่เจ้านายชวนไปกินอาหารญี่ปุ่นเป็นเพื่อน เจ้านายสั่งชุดปลาดิบราคาแพงมา ประกอบด้วยปลาชั้นดี รสชาติน่าจะละมุนนุ่มลิ้น แถมยังมีแค่ในฤดูนี้เท่านั้น ในตอนนั้นใจก็กดข่มไว้ เปิดเมนูพยายามมองหาเมนูข้าวปั้นกับเต้าหู้ แต่สายตาก็ยังไม่ละจากจานที่หัวหน้าสั่งไว้ให้ ว่าแล้วด้วยความมั่นใจจึงสั่งข้าวปั้นเต้าหู้ทอดมา แต่ด้วยความที่เจ้านายเป็นห่วงสุขภาพ จึงบอกว่า กินไปเถอะ กินปลาไม่เป็นไรหรอก อย่าเคร่งมากนักเลย…

ภาพช้า… เสียงและคำพูดของเจ้านายช่างดูเป็นห่วงเรา เป็นคำพูดที่มาปลดปล่อยความเครียด ปลาอยู่ตรงหน้า ตะเกียบก็อยู่ในมือ จะช้าอยู่ทำไม ก็เขาอนุญาตแล้วนี่นา จะกินสักครั้งก็ไม่เห็นเป็นไรอย่างที่เจ้านายว่าเลย จะเครียดไปทำไมเนาะ

มือไม้แทบสั่นไปด้วยความอยาก ว่าแล้วก็หยิบปลาจิ้มโซยุ พลันคีบปลาเข้าปาก เคี้ยวด้วยความเอร็ดอร่อยสมอยาก มื้อนี้ก็แพ้กิเลสไปอย่างราบคาบ พอกลับมาบ้านก็ต้องมาสลดเพราะไปแพ้กิเลสมาอีกแล้ว แต่ก็ไม่ตีตัวเองเพิ่ม รู้แค่แพ้แต่ครั้งหน้าจะสู้ใหม่ (สู้ต่อไป ทาเคชิ!)

มื้อค่ำ…. ด้วยความที่กินผักมาทั้งวัน แถมยังเป็นมือใหม่ ทำให้น้ำย่อยในกระเพาะยังคงเหลืออยู่ เพราะแต่ก่อนกินแต่เนื้อ ต้องใช้น้ำย่อยเยอะ พอมากินผักน้ำย่อยเลยเหลือให้แสบท้องเล่น ว่าแล้วก็เดินไปเปิดตู้เย็น เห็นไส้กรอกหมูที่ซื้อมาเมื่อวานก่อน ถึงกลับกลืนน้ำลายดังเอื้อก

ภาพช้า… เมื่อเห็นไส้กรอก ก็พลันนึกถึงภาพ ตัวเองเอาไส้กรอกเข้าเตาไมโครเวฟ ปิดฝาตั้งตารอด้วยใจจดจ่อ นำมันออกมาพร้อมหั่นเป็นชิ้นอย่างบรรจง จิ้มซอสและมายองเนสนิดหน่อย เอาใส่ปากช้าๆ อั้มมม~

ดูเหมือนว่าสติจะหลุดลอยไปทันทีที่ได้เห็นไส้กรอก แต่โชคยังดีที่มีนมถั่วเหลืองอยู่ข้างๆอีกหนึ่งกลอ่ง

ภาพช้า… เมื่อเห็นนมถั่วเหลือง กับไส้กรอก น้ำหนักของไส้กรอกช่างหนักและดึงดูดเหมือนแม่เหล็กที่ดูดลูกเหล็ก นมถั่วเหลืองมันจะไปอิ่มได้อย่างไรมันต้องไส้กรอกสิ

ว่าแล้วก็หยิบไส้กรอกไปทำกินตามที่หมายไว้ เพราะแท้จริงแล้วเรากินไปด้วยความอยาก ไม่ได้กินเพราะความหิว การอดทนอดกลั้นมักจะมีขีดจำกัด และสะสมเป็นความเครียด ถ้าเราบริหารความเครียดไม่ดีก็จะออกมาในลักษณะของการตบะแตก ซึ่งเราควรประมาณให้ดี เมื่อเริ่มฝึกใหม่ๆก็อย่าไปใกล้เนื้อสัตว์มากนัก อยู่ให้ห่างๆไว้ หรือซื้ออาหารจำพวกมังสวิรัติมาเตรียมไว้แทนเลยก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง

เห็นไหมว่าการถือศีลมังสวิรัติ เราจะได้สนุกกับการเห็นกิเลสขนาดไหน เราจะได้เจอกับกิเลสทุกวัน อย่างน้อยก็วันละ 2 – 3 มื้อเชียวนะ

5). ลีลาของกิเลส

กิเลสมักจะมีลีลาที่หลากหลาย มีการส่งข้อความ ส่งความทุกข์กดดันให้เรารู้สึกอยากเสพ เช่น ทำให้เราน้ำลายไหล ทำให้เราหิวเร็ว ทำให้เราอยากกิน ทำให้เรากลับไปกินด้วยประโยคเช่น กินๆไปเถอะ พลาดมื้อเดียวไม่เป็นไรหรอก, กินไปเถอะ เรากินเขา เขาได้บุญ , กินไปเถอะ อันนี้แพง หากินยาก , กินไปเถอะ ไม่มีใครรู้หรอก, กินไปเถอะแค่มีความสุขก็พอแล้ว , กินไปเถอะไม่ได้อยากจะเอาสวรรค์วิมาน , กินไปเถอะ เกรงใจเขา , กินไปเถอะ เราต้องใช้พลังงาน , กินไปเถอะมันอร่อยนี่นา , กินไปเถอะเดี๋ยวเขาหาว่าเราเรื่องมาก , กินไปเถอะ อย่าเคร่งนักเลย ฯลฯ เหล่านี้แหละ คือลีลาของกิเลส ส่วนกิเลสของใครจะปรุงลีลาออกมาหลากหลายเท่าไหร่ก็แล้วแต่ระดับความอยากของคนนั้น ยิ่งกิเลสมาก ก็จะยิ่งยาก ยิ่งซับซ้อน ต้องเพียรให้มาก

6). การพัฒนาไปเป็นลำดับ

ในระหว่างที่ปฏิบัตินั้น เราจะต้องใช้ปัญญาที่เป็นมรรค(ข้อปฏิบัติ วิธีการปฏิบัติ) คือเราจะกินมังสวิรัติอย่างไรในสถานการณ์แบบนี้ สุดท้ายเมื่อปฏิบัติไปเรื่อยๆ จะได้ปัญญาที่เป็นผล(ผลเจริญ ความเจริญที่ได้)มาเป็นลำดับๆ เช่นถ้าเราไปในที่แบบนี้ เราก็จะกินอาหารชนิดนี้ หรือเราอาจจะไม่กิน หรือกินไปก่อน ก็ได้ นี่เป็นลักษณะของปัญญาที่ใช้ในเชิงโลกียะ ส่วนปัญญาในเชิงโลกุตระนั้นจะเป็นลักษณะของการเห็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของการกินมังสวิรัติ

เมื่อปฏิบัติอย่างตั้งมั่น จะพบว่าตนเองสามารถตั้งศีลที่ยากขึ้นไปได้ (อธิศีล) โดยไม่ลำบากนัก เช่น ลดเนื้อสัตว์ได้แล้วยังสามารถที่จะลดไข่ได้อีก และมีพลังสติ พลังสมาธิ ความอดทนอดกลั้น (อธิจิต) เพิ่มขึ้นจากการปฏิบัติไปเป็นลำดับ รวมทั้งได้ปัญญาเพิ่มขึ้น (อธิปัญญา) จากการสู้สั่งสมปัญญาในแต่ละด่านที่ผ่านมา พลาดก็ได้ปัญญา ชนะก็ได้ปัญญา ทั้งหมดนี้เป็นความเจริญที่เป็นไปโดยลำดับ และเมื่อปฏิบัติสำเร็จจะได้ปัญญาชุดหนึ่งที่สามารถที่จะตัดกิเลสนั้นได้ ซึ่งกิเลสจะคลาย ณ จุดนี้ ในส่วนของปัญญานั้นเจริญไปต่อได้เรื่อยๆอย่างไม่มีจำกัด จนกว่าจะเป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง

7). ข้อสังเกต

ผู้ที่ตั้งศีลมังสวิรัติอย่างถูกต้องและมีปัญญา เมื่อไม่ได้กินเนื้อสัตว์ จะมีความรู้สึกหรือเวทนาที่แตกต่างกับตอนที่ยังไม่ได้ตั้งศีล ตอนที่เราไม่ได้ถือศีลนี้ เมื่อเราอยากกินเนื้อสัตว์แต่เราไม่ได้กินเราก็จะทุกข์จากการที่ไม่ได้กิน ในส่วนของผู้ที่ถือศีลนั้น แม้จะมีเนื้อสัตว์อยู่ตรงหน้า แต่เราก็จะฝืนไม่ยอมกิน เป็นทุกข์ที่เกิดจากการกดข่ม ฝืนใจกิเลส

ในส่วนของผู้ไม่ถือศีลแล้วทุกข์จากการไม่ได้กิน เรียกว่า เคหสิตโทมนัส , เคหะ หรือ ชาวบ้าน แบบบ้านๆ คนทั่วไป คือทุกข์แบบชาวบ้านทั่วไป ไม่ได้เสพก็ทุกข์ ได้เสพก็สุข เป็นไปในทางโลกียะ มีลักษณะ สุข ทุกข์สลับกันไปเรื่อยๆ เกิด ดับ อย่างไม่มีวันสิ้นสุด

ในส่วนของผู้ถือศีลแล้วทุกข์จากการไม่ยอมไปกิน เรียกว่า เนกขัมมสิตโทมนัส , เนกขัมมะ หรือ นักบวช เป็นการปฏิบัติแบบผู้บวช เป็นการปฏิบัติเพื่อที่จะหลุดออกจากโลกียะเข้าสู่โลกุตระเป็นความทุกข์ที่เกิดการที่เราฝืนกิเลส กิเลสจะสร้างความรู้สึกทุกข์ให้กับเรา เพื่อที่จะกดดันให้เราไปเสพ พร้อมด้วยเหตุผลต่างๆนาๆที่มันจะคอยเป่าหูเราให้เรากลับไปเสพ การปฏิบัติแบบเนกขัมมะคือการอดทนต่อสู้ ฝืน ทน ข่ม เราจะเจอแต่ทุกข์ ทุกข์ ทุกข์ และทุกข์ ไปตลอดทางของการปฏิบัติ แม้ว่าเราจะกลับไปเสพเราก็จะทุกข์ ทุกข์เพราะเรารู้สึกผิดต่อศีลมากกว่าสุขที่ได้จากเสพ

เมื่อวันหนึ่งหลังจากที่เราสามารถกดหัวกิเลสอดทนไม่ไปเสพและใช้ปัญญาพิจารณาทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียจากความอยากกินของเรา จนรู้แจ้ง เห็นความจริงตามความเป็นจริง เห็นว่ากิเลสไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวเรา เป็นแค่เพียงผู้ที่มาอาศัยใช้ร่างกายและจิตใจของเราไปบำรุงบำเรอความอยาก เราทำลายกิเลสเหล่านั้นจนสิ้นเกลี้ยง แล้วเราก็จะพบกับสุข เป็นสุขแบบเนกขัมมะ สุขจากการฆ่ากิเลส จนกระทั่งสงบลงเป็นอุเบกขา และต่อจากนี้ทั้งชีวิตที่เหลือ ในชาตินี้และชาติหน้า เราก็จะไม่มีวันทุกข์กับเรื่องนี้อีกเลย

ในการถือศีลปฏิบัติในแบบเนกขัมมะนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะสามารถเข้าใจและปฏิบัติสำเร็จได้ในเวลาอันรวดเร็ว บางคนอาจจะใช้เวลาเป็นเดือน บางคนอาจจะเป็นปี บางคนสิบปี บางคนทั้งชีวิตก็อาจจะไม่มีวันเข้าใจเลยก็ได้ เพราะการปฏิบัติทางใจนี้เป็นเรื่องยากกว่าการปฏิบัติทางกายนัก มีความสลับซับซ้อนของกิเลสมากมายที่เราต้องคอยแก้ ในหลากหลายสถานการณ์

เหมือนดังสงครามที่รบกันไม่จบไม่สิ้นระหว่างเรากับกิเลส มีเมืองมากมายที่เราต้องไปตีคืนจากกิเลส ในขณะเดียวกันกิเลสก็ส่งกองทัพมาโจมตีเราเช่นกัน เราจึงต้องสู้กันไปกันมาอยู่แบบนี้กันหลายภพหลายชาติแล้ว ซึ่งผู้ที่คิดจะสู้ก็ยังดีกว่าคนที่ไม่สู้ ผู้ที่ไม่ปฏิบัติศีล ไม่ถือศีลก็เหมือนยอมให้กิเลสได้ครอบครองใจ บ้างก็อ้างว่าใจไม่มีกิเลส แต่พอได้ลองถือศีลกลับต้องพบว่ามีแต่ผีร้ายเต็มบ้านเต็มเมือง เต็มจิตใจของตัวเองไปหมด

การปฏิบัติในแบบเวทนาเนกขัมมะเช่นนี้ไม่ว่า พระ หรือฆราวาสก็สามารถทำได้ ไม่ได้หมายความว่าพระจะเป็นเนกขัมมะหรือฆราวาสจะเป็นเคหสิตะ แต่เรื่องนี้เป็นสภาพของจิต ที่จิตนั้นเป็นนักบวช หรือเป็นชาวบ้าน อยู่ที่ตัวเราปฏิบัติ

8). สมถะ-วิปัสสนา

ในการปฏิบัติศีล เราจะใช้สมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป โดยสมถะ คือการพักจิต เพิ่มพลังจิต โดยใช้วิธีนั่งสมาธิ เดินจงกรม ฯลฯ เพื่อเพิ่มพลังที่จะใช้ในการกดข่มกิเลสไว้

และวิปัสสนา คืออุบายทางใจ ที่จะใช้สร้างปัญญา ให้รู้เห็นจริงตามความเป็นจริง การจะฆ่าล้างกิเลสนั้นต้องใช้วิปัสสนาเป็นหลักจึงจะสามารถล้างกิเลสได้ ส่วนสมถะเป็นแรงเสริมให้วิปัสสนาสามารถคงสภาพได้ยาวนานขึ้น เป็นเครื่องหนุน เครื่องช่วย

เราจะวิปัสสนาโดยการพิจารณาความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย พิจารณากรรมและผลของกรรม ของความอยากเสพเนื้อสัตว์ เช่น ทำไมฉันต้องอยากกิน ฉันติดใจอะไรในเนื้อสัตว์นั้น มันอร่อยตรงไหน กินผักแทนไม่ได้หรือ กินแล้วเบียดเบียนเป็นกรรมของเราจะดีได้อย่างไร ให้ใช้ปัญญาหาเหตุพิจารณาโทษของการกินเนื้อสัตว์ และประโยชน์ของการกินผัก อย่างซ้ำๆ ย้ำๆ ด้วยความเพียรพยายาม แม้บางครั้งจะต้องพ่ายแพ้ต่อกิเลสก็ควรจะพิจารณาไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งจะได้ปัญญาที่จะสามารถชำระกิเลสนี้เอง

9). ข้อควรระวังในการปฏิบัติ

ความหลงไปในธรรมมักจะเกิดได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะความเข้าใจผิดเรื่องสมถะ ผู้ที่หลงในสมถะ หลงในภพ หลงในการปฏิบัติแบบฤาษีจะเข้าใจผิดไปว่าเป็นการปฏิบัติของตนเป็นแบบวิปัสสนา เมื่อกดข่มเก่งๆ จะเข้าสู้ภาวะกดข่มแบบอัตโนมัติ สามารถดับจิตที่เกิดได้โดยอัตโนมัติ ทำให้ไม่เห็นตัวกิเลส และไม่เห็นตัวทุกข์ ไม่เห็นเหตุแห่งทุกข์ เป็นนิโรธแบบดับสนิท ดำมืด ไม่รู้อะไรเลย และไม่ใช่สัมมามรรค เป็นการปิดตัวเองไว้ในภพ หรือสภาวะที่ตนสุขใจ ติดภพ ติดชาติ ไปอีกนาน ยากที่จะบรรลุธรรม

10). ตรวจสอบ

ในขั้นแรกก็ต้องทดสอบในระดับของการร่วมโต๊ะกับคนอื่นที่ยังกินเนื้อให้ได้ก่อนว่าเราไหวหรือไม่ เรายังอยากไปกินกับเขาหรือไม่ เขาตักเนื้อสัตว์มาให้เราแล้วเราอยากกินหรือไม่ แม้เราจะไม่ได้กินเนื้อสัตว์นั้น เรายังคิดห่วงหา คิดเสียดายโอกาสนั้นหรือไม่

ถ้าอยากรู้ว่าเราผ่านด่านความอยากของเนื้อสัตว์ได้จริงไหม ก็ลองกลับไปกินดูก็ได้ ถ้าเรากินแล้วไม่รู้สึกว่าอร่อย ไม่รู้สึกว่าติดใจ สามารถทิ้งได้ ละได้ วางได้ เมื่อละมาแล้วจิตใจไม่พะวง ไม่อาลัย ไม่เสียดาย ก็ถือเป็นใช้ได้

11). กาม-อัตตา

ที่กล่าวมาทั้งหมดคือการฆ่ากิเลสในทางโต่งของกามของการเสพเนื้อสัตว์เท่านั้น เมื่อเรากินมังสวิรัติได้อย่างมีความสุขแล้ว เรายังต้องกลับไปล้างกิเลสในฝั่งของอัตตาด้วย นั่นคือทางโต่งอีกด้านที่เราจะไปติด

ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในบทธัมมจักกัปปวัตนสูตร ว่าด้วยเรื่องทางโต่งทั้งสองด้าน ให้พึงละเสีย คือทางหนึ่งโต่งไปด้านกาม (กามสุขัลลิกานุโยค) คือการทรมานตนด้วยการเสพ อีกทางหนึ่งโต่งไปทางด้านอัตตา (อัตตกิลมถานุโยค) คือการทรมานตนด้วยความยึดดีถือดี

เมื่อเราละเนื้อสัตว์เราจะผ่านกามและอัตตาในมุมเนื้อสัตว์ แต่เราจะมาติดกามและอัตตาในมุมของคนที่ไม่อยากกินเนื้อสัตว์ หรือการติดดีนั่นเองเป็นส่วนกลับของกิเลสทุกตัว เหมือนเป็นด้านมืดที่เรียกว่านรกคนดี ซึ่งก็ต้องล้างไปด้วย

กามในอัตตาที่เราต้องล้างต่อไปคือการความอยากกินแต่ผัก ไปแนะนำ ไปสั่งสอน ไปเพ่งโทษ ทำร้ายทำลายใจคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ ส่วนอัตตา คือ ความยึดว่าต้องกินแต่ผัก ความยึดดี ถือดี คิดว่าตนเป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์แล้วจึงยึดว่าตนนั้นดีเลิศ ทำแบบตนสิดี ไม่มีใครดีเท่าตน

เมื่อเราสามารถพ้นนรกคือการกินเนื้อสัตว์และพ้นนรกจากความเกลียดคนกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว จึงจะสามารถพบกับความสุขแท้หรือทางสายกลางได้นั่นเอง ทางสายกลางไม่ใช่ทางที่แค่พูดและเข้าใจความหมายแล้วจะเข้าถึงได้แต่ต้องปฏิบัติทำลายทางโต่งทั้งสองด้านจนเข้ารูปเข้ารอยของทางสายกลาง ซึ่งเป็นทางเอกทางเดียวในการพ้นทุกข์หรือสัมมาอริยมรรค นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

24.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ตรวจสอบศีล ข้อ๑ เราเมตตามากพอหรือยัง

September 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,719 views 0

ตรวจสอบศีล ข้อ๑ เราเมตตามากพอหรือยัง

ตรวจสอบศีล ข้อ๑ เราเมตตามากพอหรือยัง

ถือศีลกันมาก็นานแล้ว เราเคยตรวจสอบกันบ้างไหมว่าจิตใจของเราเจริญขึ้นมาอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะศีลข้อ ๑ คือให้เว้นขาดจากการฆ่าทำร้ายทำลาย ทำชีวิตสัตว์ให้ตกร่วง ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่เบียดเบียนสัตว์ เราสามารถถือศีลข้อนี้ได้ดีอยู่หรือไม่ แล้วการถือศีลข้อนี้ ได้ทำให้จิตใจของเราเจริญขึ้นอย่างไร จะแบ่งปันประสบการณ์ให้ได้ลองทบทวนกัน

ผ่านมาเมื่อไม่กี่ปีก่อน ผมยังเป็นอย่างคนทั่วไป มดกัดบี้มด ยุงกัดตบยุง เหตุการณ์ล่าสุดที่ผมยังจำความอำมหิตโหดร้ายของตัวเองได้ดีคือ คือเมื่อครั้งไปเที่ยวเขาใหญ่กับเพื่อนๆ กลางปี 2012 ที่ผ่านมาไม่นานนี่เอง

เนื่องจากเป็นหน้าฝน ก็เลยมีทากมาก พอเดินเข้าไปน้ำตก ก็มีทากเกาะบ้าง พอมันเกาะแล้วกัดเรา เราก็ดึงออกไม่มีอะไร ทีนี้พอเดินผ่าน เดินเล่น ทำกิจกรรมอะไรเล็กน้อยเสร็จแล้วก็มานั่งพักกัน เพื่อนสังเกตว่ามือเราเลือดไหล เราก็สงสัยว่าไม่ได้เจ็บไม่ได้เป็นแผลอะไรนี่ ทำไมเลือดไหลเยิ้ม สุดท้ายก็มาเจอตัวการคือทากหนึ่งตัว

เมื่อได้เห็นตัวการและผลงานที่มันทำ ผมจึงหยิบมันมาบี้ๆด้วยความแค้นที่เย็นชา ไม่มีคำพูดคำด่าอะไร รู้แค่อาฆาตมัน บี้แล้วมันไม่ตายก็เลยวางลงบนพื้นแล้วเอาพื้นรองเท้าบี้และขยี้จนมันแหลกไปกับพื้น ด้วยความสะใจ

ผมยังจำสายตาของเพื่อนที่มองการกระทำของผมได้อย่างดี มองคนที่ใจดำอำมหิต ที่ฆ่าได้อย่างเลือดเย็น ด้วยวิธีที่โหดร้ายรุนแรง ผมยังจำบาปที่ทำในตอนนั้นได้ดี เป็นสิ่งที่เก็บไว้สอนใจอย่างไม่มีวันลืม

เรียนรู้ธรรมะ

จนเมื่อวันที่ผมได้ก้าวเข้ามาใกล้ชิดกับธรรมะมากขึ้น เรียนรู้เรื่องศีลมากขึ้น แต่ก่อนผมก็คิดนะเรื่องถือศีล๕ ก็ถือบ้างไม่ถือบ้าง แต่พอได้ศึกษาเรียนรู้มากขึ้น จึงได้พบว่าศีลนั้นมีคุณค่ามากกว่าแค่การถือ ศีลเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้เราพัฒนาและเจริญเติบโตได้ ถ้าเรายังไม่เข้าใจคุณค่าของศีล หรือถือศีลตามเขาไปโดยที่ไม่รู้เนื้อหาสาระ ก็จะไม่มีวันพัฒนาได้เลย

ศีลที่ผมเรียนรู้มาคือศีลที่มีไว้เพื่อให้เห็นกิเลส เป็นเครื่องบีบคั้นให้จิตใจได้ต่อสู้กับกิเลส ได้แพ้กิเลส ได้ล้างกิเลส ซึ่งก่อนหน้านี้มันมีแต่แพ้กับกดข่ม เพราะไม่เคยสู้เลย ผมถือศีลแบบยอมกิเลสมาตลอด อะไรพออดทนไหวก็ทำไป อะไรไม่ไหวก็ศีลแตกบ้างก็ไม่ได้คิดอะไร แต่พอได้เรียนรู้คุณค่าแห่งศีลแบบนี้แล้ว ก็เลยใช้ศีลนี่แหละเป็นตัวขัดเกลาตนเอง

เมื่อผมปฏิบัติศีลมาอย่างตั้งมั่น ได้พบกับความโกรธ ความอาฆาตของตัวเองอยู่หลายครั้ง เพราะมีศีลเป็นเครื่องจับผี จับจิตใจที่โกรธเคืองของเราได้อย่างดีและดักมันไว้อย่างนั้นจนกว่าเราจะทำอะไรสักอย่างกับมัน ผมได้มีโอกาสฝึกกับยุงที่มากัดตั้งแต่ขั้นกดข่ม คือมันกัดแล้วก็แค้นนะ แต่ไม่ตบ จนเจริญมาถึงเรื่องที่กำลังจะเล่าต่อไป

ผลของการปฏิบัติศีล– เรื่องของยุง

เมื่อวานก่อนผมนอนงีบหลับพักผ่อนอยู่ รู้สึกเจ็บคัน บริเวณขา จึงรู้แน่นอนว่ายุงกัด ก็เลยไม่ขยับตัวสักพัก ปล่อยให้มันดูดไป เพราะหากเราขยับตัวหรือบิดตัว ก็เกรงว่าจะทำให้มันตายได้ หรือไม่มันก็บินกลับมาดูดเลือดอีกจุดอยู่ดี การไม่ยอมให้มันดูดเลือดในครั้งนี้จึงไม่เป็นผลดีกับใครเลย ก็เลยปล่อยให้มันดูดไปอย่างนั้น ไม่ได้โกรธแค้นอะไรมัน

ทีนี้รอสักพักมันคงดูดเสร็จแล้ว เราก็งีบต่ออีกหน่อยจนลุกขึ้นมาทำงานต่อ มียุงตัวหนึ่งบินมาวนเวียนหน้าโต๊ะทำงาน ท้องของมันป่อง เต็มไปด้วยเลือด มันบินช้าเพราะมันหนักเลือดที่ท้อง บินวนอยู่ก็หลายรอบ

ในใจก็สงสารมันนะ มันคงออกไม่ได้ แต่จะทำอย่างไร จะไปจับมัน ก็กลัวจะพลาดผิดเหลี่ยมผิดมุมตายคามือ ก็คิดอยู่สักพัก ตัดสินใจว่าถ้ามันบินผ่านหน้ามาอีกครั้งจะลองจับดู และแล้วมันก็บินผ่านหน้ามาอีกที ผมค่อยๆ เอามือไปล้อมมัน โชคดีที่มันกินอิ่มมันจึงบินช้า เลยจับไว้ในอุ้งมือได้ง่ายๆ

ผมเก็บมันไว้ในอุ้งมือ และเปิดกระจกออกพอประมาณมือสอดออก เพราะเกรงว่าเดี๋ยวมันจะบินผิดทิศ บินกลับเข้ามาในห้องอีก พอยื่นแขนออกไปได้สักหน่อยก็คลายมือออก ยุงตัวนั้นก็บินจากไปตามทางของมัน

ผลของการปฏิบัติศีล– เรื่องของแมงป่อง

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อตอนไปทำงานที่ไร่ ตื่นนอน ทำธุระยามเช้า ขับรถออกจากบ้านเช่า ไปถึงไร่ก็ระยะ 2 กิโลเมตรเท่านั้น เมื่อถึงก็จอดรถ ขณะที่กำลังจะลงจากรถก็รู้สึกว่ามีตัวอะไรมาไต่แขน ซึ่งตอนนั้นใส่เสื้อฝ้ายแขนยาว จึงนึกไปว่าแมงมุม ไม่รู้จะทำอย่างไรเลยไปจับผ้าเบาๆ เพื่อล็อกมันไม่ให้ขยับก่อนที่จะเปิดประตูรถออกไปเพื่อเหย่ามันออก แต่มันก็ไม่ออก แถมยังต่อยอีก ทันทีที่โดนต่อย ก็อาการปวดร้อนรุนแรงขึ้นมาทันที จึงถอดเสื้อแล้วสะบัดออก พบว่าเป็นแมงป่อง ซึ่งน่าจะเป็นแมงป่องบ้าน ตัวไม่ใหญ่มาก มันก็ค่อยๆเดินหนีเข้าไปตามซอกดินที่แตก

ในขณะที่โดนแมงป่องต่อย ไม่ได้มีความโกรธแค้นเลยแม้แต่นิดเดียว มีแต่ความเจ็บปวดที่แขน คือทุกข์ที่เกิดจากพิษ ส่วนใจยังเป็นห่วงว่ามันจะโดนบี้ในตอนถอดเสื้อ เพราะเสื้อแขนยาวนั้นไม่ได้ตัวใหญ่ หรือหลวมมากนัก เมื่อเห็นมันตกลงมาและเดินต่อได้ โดยภาพที่เห็นมันก็ครบองค์ประกอบดี ทำให้รู้สึกสบายใจที่ไม่ได้ไปฆ่ามัน สบายใจที่มันยังดีอยู่เหมือนเดิม รู้สึกได้เลยว่าจิตอิ่มเอิบไปด้วยเมตตา

ทั้งๆที่ในความจริง(แบบโลกๆ)แล้ว เราควรจะโกรธ ควรจะแค้น สิ่งที่มาทำเราเจ็บ แต่ความรู้สึกเหล่านั้นกลับไม่เกิดเลย

สรุปผล

ดังตัวอย่างเรื่องยุงและเรื่องแมงป่อง ผมจึงได้เห็นจิตใจที่พัฒนาของตัวเอง จากเป็นคนที่โกรธง่าย อาฆาตแรง แค้นฝังใจ กลับกลายเป็นคนที่ไม่โกรธ นอกจากจะไม่โกรธแล้วยังรู้สึกว่ามีเมตตา อยากให้มันพ้นภัย จนกระทั่งกรุณาคือลงมือทำให้มันเป็นสุข เช่นการนำยุงไปปล่อย มีความมุทิตา คือยินดีเมื่อมันสามารถหนีไป จากไป ได้แบบเป็นสุขดี และอุเบกขาตรงที่ปล่อยให้มันเป็นไปตามบาปบุญของมันต่อไป

การถือศีลนั้น จึงเป็นการถือเพื่อที่จะขัดเกลากิเลสออกจากจิตใจของตนเอง มากกว่าที่จะถือไปเพราะมัวเมา เพราะหลง เพราะงมงาย เพราะเห็นว่าเขาถือกัน เพราะได้ยินเขาพูดกันว่าดี แต่ถือเพราะเรามีปัญญารู้ถึงคุณค่าของศีลนั้น เราจึงใช้ศีลนั้นเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตัวเอง

ถ้าไม่มีศีล หรือไม่ถือศีล เราก็จะไม่เห็นกิเลสของเรา ถ้าถือศีลบ้างไม่ถือศีลบ้าง หรือถือศีลแบบเหยาะแหยะ หยวนๆ ลูบๆคลำๆ ไม่เอาจริงเอาจัง ก็จะกลายเป็นไม่ได้อะไรเลย จะดีก็ไม่ดี แต่จะชั่วก็ไม่ใช่ เป็นอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน

ดังนั้นการจะถือหรือยึดสิ่งใดมาอาศัย เราจึงควรพิจารณาให้เห็นถึงคุณค่าของสิ่งนั้น เข้าถึงประโยชน์ของสิ่งนั้นด้วยปัญญารู้จริงถึงประโยชน์ เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งการรู้แจ้ง ศาสนาแห่งปัญญา มิใช่ศาสนาที่พาให้หลงงมงาย หลงมัวเมา แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นความดีก็ตาม

การตรวจสอบศีลของเราก็เอาจากเรื่องง่ายๆในชีวิตประจำวันแบบนี้ละนะ ถ้าแค่เรื่องง่ายๆ เรื่องเบาๆ เรายังทำไม่ได้ ก็อย่าหวังว่าจะทำศีลที่ยากกว่า หนักกว่า รุนแรงกว่า ได้เลย

– – – – – – – – – – – – – – –

23.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์