Tag: ลูก

อยากมีลูก?

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,196 views 0

อยากมีลูก?

อยากมีลูก?

…ความอยากนี้เกิดมาจากไหน เมื่อไหร่ อย่างไร

ขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้วมันก็เป็นเรื่องล้ำลึกที่ยากจะระบุให้แน่ชัดว่าคืออะไร เราสามารถเห็นได้เพียงปลายหางของกิเลสคือความอยากได้อยากมีอยากเป็น แต่นั่นก็เพียงแค่ปลายเหตุ ต้นเหตุของกิเลสอยู่ตรงไหน ตัวตนของกิเลสอยู่ที่ใด ในบทความนี้เราจะมาไขกิเลสของความอยากมีลูกกัน

เรื่องกิเลสนี่ถ้าแบ่งออกกว้างๆสองทางเป็นทางโต่งสองด้าน ด้านหนึ่งคือกาม อีกด้านหนึ่งคืออัตตา ก็น่าจะพอให้เห็นภาพได้ชัดขึ้นว่ากิเลสของเราอยู่ฝั่งไหน อาจจะหนักไปทางฝั่งหนึ่งหรืออาจจะกระจายทั้งสองฝั่ง แต่แน่นอนว่าเราไม่สามารถรู้แจ้งเรื่องกิเลสได้ตั้งแต่ตอนแรก มันจะซับซ้อน ลับลวงพรางแค่ไหนก็ต้องใช้ปัญญาถอดรหัสกิเลสกันเอาเอง

1). กาม

กามในศาสนาพุทธจริงๆ ไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องสมสู่หรือเรื่องลามกตามที่คนส่วนใหญ่เอาไปใช้กันผิดๆ ให้ความหมายแค่ในเชิงหยาบแต่ละทิ้งความหมายในนัยละเอียดไป แต่หมายถึงสภาวะที่เข้าไปเสพ การหลงไปเสพทั้งหมดไม่ว่าจะในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรือที่เรียกว่ากามคุณ ๕ ซึ่งเป็นทางโต่งที่พาชั่วและเป็นทุกข์

กามในความอยากมีลูกนั้นเกิดขึ้นเพราะเราหลงว่า รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสเหล่านั้นเป็นของดี เป็นของน่าหลงใหล น่าได้น่ามี เราจึงมีความรู้สึกว่าอยากมีลูกกับเขาบ้าง

เพราะในสังคมปัจจุบันเป็นยุคที่มีการแบ่งปันเรื่องราวและรูปภาพมากมาย เรามักจะเห็นพี่น้อง มิตรสหายมักจะลงรูปภาพลูกตัวเล็กน่ารัก ยิ้มหวาน หัวเราะร่า กิจกรรมที่น่าสนุกทั้งหลายที่มีกับลูก ทีนี้พอเราเห็นเข้ามากๆ เห็นบ่อยเข้าก็เริ่มอยากลองลิ้มชิมรสสุขอย่างเขาบ้าง เห็นเขาแสดงท่าทีว่าสุขแล้วมันก็อยากรู้ว่ามันจะสุขขนาดไหน ว่าแล้วก็วางแผนหาคู่มีลูกมีเต้าเสียเลยดีกว่า ไม่ลองไม่รู้…

ถ้าเราเข้าไปถามคนที่ยังติดกามในลูก ยังเสพรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสในเด็กคนนั้นแล้วยังสุขอยู่ เขาก็จะบอกเราว่ามีแต่ความสุข แม้จะลำบากแต่ก็ยังสุข เขาจะเห็นว่าสุขลวงนั้นมากกว่าทุกข์ เพราะมันหลงติดสุขอยู่ พอเราไปคุยหรือได้รับข้อมูลจากคนมีกามกิเลสมากๆ เราก็จะรับกิเลสเหล่านั้นมาพอกกิเลสตัวเองจนหลงตามไปว่าการมีลูกนั้นสุขแบบนั้นแบบนี้ตามเขา

หากเราพิจารณาดีๆแล้ว กามคุณ ๕ นั้นแม้จะมีฝั่งของความงามเป็นตัวล่อ แต่สิ่งที่จะได้รับจริงๆแล้วเราจะได้รับกามที่เราไม่อยากได้ด้วย เช่นรูปไม่งาม เด็กหน้าตาไม่ดี หรืออาจจะพิกลพิการ ภาพเด็กร้องไห้ งอแง อึเด็ก ฉี่เด็ก กลิ่นไม่งามเช่นกลิ่นเหม็นจากของเสียของเด็ก เสียงไม่งาม เช่นเสียงร้องงอแงของเด็ก เสียงที่ดังจนแสบแก้วหู และสัมผัสที่ไม่งามเช่นต้องมาคอยเช็ดอึเด็ก เช็ดฉี่ เช็ดอ้วก เช็ดน้ำลาย ฯลฯ

ความไม่งามเหล่านี้มักจะไม่มีคนนำมาเผยแพร่ ไม่มีคนถ่ายรูปตัวเองเช็ดอึเด็กมาให้เห็น ไม่มีใครอยากอัดเสียงตอนลูกงอแงมาเผยแพร่ เพราะเขามักจะไม่ยินดีในความไม่งาม จนกระทั่งไม่ยอมรับการมีอยู่ของความไม่งามเหล่านั้น ถึงจะมีคนถามก็พูดไปเพียงแต่ว่ามีลูกแล้วดี น่ารัก มีความสุข ยิ่งโดยเฉพาะคนที่ไม่ได้เลี้ยงลูกเอง มีพี่เลี้ยงนี่จะยิ่งหลงเข้าไปใหญ่ เพราะไม่ได้รับทุกข์มาให้ได้เรียนรู้และเข้าใจอย่างเต็มที่

หากเราเข้าใจว่าความน่ารักของเด็กนั้นมันไม่เที่ยง มันก็น่ารักได้ไม่นานแล้วมันก็จะโตเป็นผู้ใหญ่ดื้อๆแบบเรานี่แหละ เราก็จะเริ่มคลายจากกาม และด้วยการพิจารณาความไม่งามทั้งหลายจะทำให้เราลดความหลงใหลในตัวเด็กคนนั้นหรือเด็กที่เราปั้นจินตนาการไว้ว่าจะเป็นลูกของเราในอนาคตได้มากขึ้น

2.) อัตตา

ในมุมของอัตตานั้นจะล้ำลึกซับซ้อนกว่าในมุมของกาม เพราะมีหลายเหตุปัจจัยที่ส่งผลเป็นความยึดมั่นถือมั่นที่จะเอาเหตุการณ์และอารมณ์ต่างๆมาเสพ ให้สมใจในความเป็นตัวตน สนองความเป็นตัวกู ของกู!!

2.1) ยึดมั่นถือมั่น…บางครั้งคนเราก็ยึดมั่นถือมั่นโดยที่ไม่มีเหตุผล เช่นฉันต้องมีลูก ฉันอยากมีลูก เป็นความรู้สึกอยากล้วนๆที่แสดงออกมา แน่นอนว่าในความอยากนั้นมีบางสิ่งบางอย่างซ่อนอยู่ ซึ่งอาจจะไม่สามารถรู้ได้เลยด้วยซ้ำเพราะกิเลสนั้นซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึก หลบซ่อนอยู่ลึกสุดลึกในใจ

เกิดเป็นสภาพของความเอาแต่ใจ จะพยายามสร้างเหตุผลมากมายให้การมีลูกนั้นดูมีประโยชน์ขึ้นมาได้ แต่ยิ่งหาเหตุผลก็จะยิ่งยึดมั่นถือมั่นเข้าไปอีก ทำให้เงื่อนปมของความอยากซับซ้อนมากขึ้นไปอีก หลงในอัตตาตัวเองมากเข้าไปอีก

หากเราสามารถลดความยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องมีลูกลง แล้วค่อยๆพิจารณาค้นลงไปถึงสาเหตุว่าสิ่งใดหนอที่ทำให้เรายึดมั่นถือมั่นจนเอาแต่ใจขนาดนี้ แน่นอนว่าหลังจากที่คลายความยึดมั่นถือมั่นได้และพิจารณาจนเกิดปัญญารู้ได้ว่าฉันยึดติดในอะไร ในกามอย่างนั้นหรือ ในโลกธรรมอย่างนั้นหรือ หรือเพราะปมด้อยของตัวฉันเอง

2.2) สนองอัตตา … เป็นมุมที่ค่อนข้างหยาบแต่จะไม่เอามากล่าวก็คงไม่ได้ คนที่สร้างลูกขึ้นมาเพื่อตัวเอง เพื่อเสพสมใจตัวเอง เพื่อให้ตัวเองได้เสพสุขในอนาคตเช่น เพื่อให้ลูกสืบต่อกิจการ เพื่อให้ลูกมาดูแลตัวเองตอนแก่ เพื่อให้ลูกมาแก้เหงา ฯลฯ ความอยากเหล่านี้เป็นความอยากที่เห็นแก่ตัวมากเพราะจะเอามาเสพเพื่อตนเองฝ่ายเดียว ทำดีหวังผล ทำตัวเป็นนักลงทุน โดยใช้สิ่งที่เรียกว่า “ลูก” เป็นเครื่องมือบำเรอความสุขให้ตนสมใจ

2.3) โลกธรรม …คนบางคนก็ไม่ได้ติดตรงที่ว่าอยากมีลูกเพราะเขาน่ารักหรอก แต่ติดตรงที่ว่าถ้าไม่มีเดี๋ยวใครเขาจะว่าไม่มีน้ำยา ไม่ครบองค์ประกอบของครอบครัว ซึ่งโดยปกติแล้ว คนเรามักจะพูดจาเสริมกิเลสกันและกันเมื่อเจอกับคู่แต่งงานที่ยังไม่มีลูกว่า , เมื่อไหร่จะมีน้อง , ไม่อยากมีหรอ , มีลูกเร็วๆนะ เดี๋ยวจะโตไม่ทันใช้ ,เมื่อไหร่จะมีลูกมาให้พ่อกับแม่ดูล่ะ ฯลฯ สารพัดถ้อยคำที่คอยกระตุ้นโลกธรรมของเราให้สั่นไหว คนที่พ่ายต่อโลกธรรมมักจะหลงไปในคำพูดยุยงของกิเลส หลงเชื่อไปตามโลก มีลูกไปตามโลก เพื่อที่จะเสพสมใจบางอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั่นเอง

2.4) ปมด้อย…คนบางคนมีปมด้อยที่ฝังมาตั้งแต่เด็กๆ เช่นพ่อแม่เลี้ยงมาไม่ถูกใจ ไม่สมดังใจหมาย ได้รับการดูแลที่รู้สึกว่าไม่เป็นมาตรฐาน เกิดเป็นความน้อยเนื้อต่ำใจ สะสมลงจนตกผลึกกลายเป็นปมด้อย เป็นอัตตาตัวหนึ่ง

มีให้เห็นไม่น้อยกับคนที่สนองตัณหาลูกด้วยปมด้อยของตัวเองเช่น สมัยตนเองเด็กๆไม่ได้ของเล่น พอมีลูกเลยระบายปมด้อยนั้นลงที่ลูก ซื้อของเล่นให้ลูกอย่างเต็มใจเพราะต้องการใช้ลูกเป็นสื่อในการสนองสิ่งที่ขาดในใจของตนเอง

ในมุมของความอยากมีลูกคนที่มีปมด้อยจะรู้สึกในใจอยู่ลึกๆว่าตนเองนั้นน่าจะทำได้ดีกว่าพ่อแม่ที่เลี้ยงมา คิดว่าจะทำให้ดีกว่าถ้าได้ทำ อยากจะสร้างลูกขึ้นมาเพื่อพิสูจน์ปมด้อยตัวเองว่าฉันทำได้ นี่ไงฉันเลี้ยงลูกได้ดีกว่า เป็นการใช้ลูกมาเป็นเครื่องสนองปมด้อยตัวเองไปในตัว

2.5) หลงในธรรมชาติ…ความเข้าใจที่ว่าการใช้ชีวิตหรือการปฏิบัติธรรมคือธรรมชาตินี่แหละคือความเห็นที่ทำให้เข้าใจผิดว่าคนเกิดมาแล้วต้องสืบพันธุ์ออกลูกออกหลาน แม้ว่าในสังคมปัจจุบันจะมองดูเหมือนเป็นความสมบูรณ์ของครอบครัว เป็นผลแห่งความสุขในชีวิตคู่ เป็นหน้าที่ของคนในสังคม การจะมีความเข้าใจเช่นนี้ก็คงไม่ผิดไปจากหลักของโลกนัก

แต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเอาไว้ว่า สิ่งที่เราเกิดมาแล้วควรละเสียคือการเสพเมถุน ท่านว่าแค่ใช้อาศัยเกิด แต่เกิดมาแล้วไม่ต้องไปทำแบบนั้น แทบไม่ต้องพูดถึงการมีลูกเลย เพราะท่านให้ละการสมสู่แล้วเรื่องลูกนี่ยังไงก็ต้องละเว้นอยู่แล้ว

คนที่หลงติดหลงยึดก็จะมองว่าไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งก็ถูกของเขา เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ สวนทางกับธรรมชาติ คนอื่นเขายินดีในการมีลูกกัน แต่สาวกของพระพุทธเจ้าต่างไม่ยินดี นี่มันขัดกับธรรมชาติอย่างชัดเจน

ถ้าให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติคนก็ไม่ต้องมีศีลธรรมกันมากนัก ปล่อยไปตามธรรมชาติ เสพกิเลสไปตามธรรมชาติและเสื่อมไปตามธรรมชาติ เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปตามธรรมชาติ แต่ถ้าอยากเป็นธรรมชาติก็ไม่ยาก แค่ปล่อยไปตามสบายไม่ต้องศึกษาธรรมะให้มันหนักหัว ปล่อยให้มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ทำใจยอมรับว่าเป็นเช่นนั้นเอง ว่าแล้วก็เสพเมถุนสมสู่คู่ครอง มีลูกกันต่อไปตามธรรมชาติ

การมีลูกไม่ใช่คำตอบในชีวิตคู่ ไม่ใช่ความสมบูรณ์ของคู่ครอง ความรักไม่ได้ทำให้เกิดลูก แต่เป็นความใคร่ เสพเมถุน สมสู่กันจนเกิดลูก ดังที่เห็นได้ทั่วไปในสังคม มีเด็กจำนวนมากเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ และเด็กจำนวนมากเกิดขึ้นมาโดยไม่มีวันได้ลืมตาดูโลก

การที่เรารู้สึกยินดีรักใคร่ในตัวของคู่ครอง เราเข้าใจว่าคู่ครองเป็นคนดี แต่ก็ไม่ได้หมายว่าลูกจะเป็นคนดี คู่ครองเรายังพอจะเลือกเฟ้นได้บ้างจากศีลธรรม แต่ลูกนั้นเลือกไม่ได้ เป็นใครก็ไม่รู้มาเกิด เรากำลังจะเชิญใครก็ไม่รู้เข้ามาในชีวิตคู่ให้มันยุ่งเหยิงขึ้นไปอีก เลือกก็เลือกไม่ได้ แถมยังต้องมาคอยบำรุงบำเรอกิเลสลูกจนกลายเป็นภาระอีก เป็นทุกข์ตามธรรมชาติของคนมีกิเลสจริงๆ

การที่เราจะสวนกระแสธรรมชาตินั้นไม่ได้มีผลให้จำนวนประชากรในโลกลดลงแม้แต่น้อย ในแต่ละวันนี้แค่ในประเทศไทยก็มีคนเกิดวันละ 2000 กว่าคนแล้ว ส่วนคนที่จะมาลดความอยากได้นั้นจะมีสักกี่คน ใครจะยอมเสียสละไม่มีลูก ใครจะมีปัญญาเห็นได้ว่าการมีลูกนั้นเป็นทุกข์

เมื่อสถิติในประเทศนั้นเกิดปีละ 7-8 แปดแสนคนต่อปี นี่แค่ในประเทศนะถ้าทั่วโลกจะเยอะขนาดไหน เพราะการมีลูกนี่มันไม่ได้เกิดด้วยปัญญาแต่มันเกิดด้วยอวิชชา ไม่ต้องมีปัญญาก็มีลูกได้ คนป่าก็มีลูกได้ แล้วยังไงล่ะ เราก็มีอัตตาซ้อนว่าเราจะผลิตลูกที่เก่งและดีขึ้นมาเพราะเราหลงว่าตัวเราเก่ง เราฉลาดขนาดนี้ลูกเราต้องดีแน่นอน โดยที่ไม่รู้เลยว่าลูกที่จะมาเกิดนั้นจะเป็นใคร เดรัจฉานกลับชาติมาเกิดหรือเจ้ากรรมนายเวรกลับมาทวงหนี้ก็ไม่รู้เหมือนกัน

คนมีปัญญานี่เขาจะไม่เป็นไปตามธรรมชาตินะ เขาจะไม่เห็นด้วย เพราะเขาเห็นอยู่เต็มๆตาว่ามันเป็นทุกข์ มีลูกยังไงมันก็เป็นทุกข์ มันไม่มีสุขเลยสักนิด แล้วจะไปเป็นทุกข์ให้มันโง่ทำไม ทุกวันนี้ก็โง่พออยู่แล้วจะไปหาเรื่องหาภาระใส่ตัวอีกทำไม แต่เขาก็ไม่ได้เกลียดนะ ไม่ได้ชังเด็กหรือชังคนมีลูกแต่อย่างใด เพราะเข้าใจว่าโลกก็แบบนี้ คนที่เป็นไปตามโลกก็แบบนี้ การใช้ชีวิตดำเนินไปตามธรรมชาติในโลกของกิเลสมันก็แบบนี้

– – – – – – – – – – – – – – –

12.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ลูกเอ๋ยลูกรัก

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,921 views 1

ลูกเอ๋ยลูกรัก

ลูกเอ๋ยลูกรัก

…เจ้ากรรมนายเวรตัวน้อย กำเนิดจากกรรม เป็นวิบากกรรม

การมี “ลูก” เป็นเหมือนกับสิ่งที่ยืนยันความสำเร็จของการมีครอบครัว เป็นความสมบูรณ์ในชีวิตคู่ เป็นธรรมชาติของสัตว์โลกที่จะต้องสืบพันธุ์ ขยายเผ่าพันธุ์ต่อไป ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องพบกับสุขและทุกข์หากเรายังวนเวียนอยู่ในวิถีทางแห่งธรรมชาติในโลกใบนี้

ในบทความนี้จะสรุปภาพรวมของความยากลำบากเกี่ยวกับลูกและเส้นทางแห่งทุกข์ที่เกิดขึ้น ด้วยเนื้อหา 9 ข้อดังต่อไปนี้

1). กว่าจะมีลูก

ปัญหาเริ่มแรกก่อนจะมีลูกเลยก็คือ ต้องแสวงหาพ่อหรือแม่ของลูกเสียก่อน ต้องทุกข์ทรมานกับเรื่องคู่เสียก่อน คนนั้นดีแต่ไม่เหมาะสม คนนี้เหมาะสมแต่กลับไม่ดี สุดท้ายหลังจากแสวงหามานานหรือจะพลั้งเผลอไปก็ตาม เราก็จะได้คู่มาหนึ่งคนซึ่งจะทำหน้าที่มาเป็นพ่อหรือแม่ของลูก

คนโดยทั่วไปแล้วมักมีลูกกันไม่ยากนัก และส่วนหนึ่งในการเกิดลูกนั้นไม่ได้ตั้งใจให้เกิด แต่หากเป็นผลผลิตของความหมกมุ่นในกามอารมณ์จนประมาทในการป้องกันหรือในกรณีของการโดนยัดเยียดความเป็นแม่ให้โดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งจะไม่กล่าวกันในประเด็นเหล่านี้

กว่าจะมีลูกได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ในบางคู่ถึงกับต้องพึ่งวิธีทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยให้ประสบความสำเร็จ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความจะเกิดผลดังใจหวัง 100% พวกเขายังต้องทุกข์ทรมานกับความหวังในการมีลูก ความคาดหวังว่าในสักวันหนึ่งครอบครัวจะสมบูรณ์สมดังใจหมาย

สรุปแล้วกว่าจะมีลูกได้นี้ก็ต้องผ่านทุกข์จากการหาคู่ ไหนจะต้องมาทุกข์กับความคาดหวังว่าจะได้ลูกอีก คนที่ได้สมใจอยากก็ไม่ใช่เรื่องน่าสนใจ คนที่ไม่อยากได้แต่กลับได้มาก็เป็นเรื่องน่าเศร้า ส่วนคนที่อยากได้แต่ทำยังไงก็ไม่ได้นี่มันทุกข์สุดทุกข์จริงๆ

2). จนถึงวันที่ลืมตาดูโลก

ช่วงเวลากว่า 9 เดือนที่ต้องอุ้มท้องนั้นไม่ง่าย เป็นความยากลำบากทรมานร่างกายของคนเป็นแม่ที่ต้องแบกลูกไว้กับตัว ต้องคอยระแวงระวัง สารพัดความทุกข์ที่จะประดังเข้ามาทั้งเรื่องความกังวลของลูกที่อยู่ภายในท้อง อาหารการกินที่จะมีผลประทบต่อลูก และวิถีชีวิตที่ต้องปรับเปลี่ยนไปเมื่อตั้งครรภ์

ในช่วงเวลาเหล่านี้ต้องยอมรับกันตรงๆว่าเป็นทุกข์ของหญิงจริงๆ สองในห้าข้อในข้อธรรมที่ว่าด้วยเรื่องทุกข์ของหญิง ๕ นั้นคือ หญิงย่อมมีครรภ์ และหญิงย่อมคลอดบุตร ความทุกข์เหล่านี้เป็นความทุกข์ที่ผู้เป็นแม่ต้องจำยอมแบกรับไว้ เป็นวิบากกรรมของผู้หญิงที่ผู้ชายไม่มีวันเข้าใจ

กว่าจะถึงวันที่คลอดบุตรนั้นต้องรับทั้งภาระทางร่างกายและจิตใจอย่างมาก ความหวัง ความเครียดจากสุขภาพและความกดดันทางจิตใจ แม้จะสามารถบรรเทาได้ด้วยการมองโลกในแง่ดี การคิดบวก แต่ทุกข์นั้นก็ยังเป็นทุกข์อยู่วันยังค่ำ

3). ใครมาเกิด?

มาถึงเนื้อหาหลักของบทความนี้กันเสียที มีคำกล่าวมากมายว่า “เด็กเหมือนดังผ้าขาว” ความเห็นความเข้าใจเหล่านี้เป็นความเข้าใจแบบโลกๆ เป็นความเข้าใจทั่วไป แต่ศาสนาพุทธไม่ได้มองแบบนั้น เรามองว่าทุกคนมีกรรมเป็นของของตน นั่นหมายถึงเด็กคนที่กำลังจะเกิดมานั้นก็มีกรรมของเขา มีความเห็นความเข้าใจของเขา มีกิเลสของเขา มีธรรมของเขา การมาเกิดของเขานั้น เขาหอบโภคทรัพย์ของเขามาเกิดด้วย

ทีนี้ใครล่ะที่มาเกิด? ในยุคกึ่งพุทธกาลเช่นนี้ เราคิดหวังจริงๆหรือว่าจะมีผู้มีบุญมาเกิด อัตราส่วนระหว่างคนเลวกับคนดีในโลกเป็นเท่าไหร่ ไหนจะสัตว์เดรัจฉานที่เปลี่ยนภูมิกลับมาเป็นคนอีก การคาดหวังว่าจะเป็นผู้มีบุญมาเกิดนี่มันยากยิ่งกว่าถูกหวยอีก

กรรมของเด็กที่มาเกิดจะสังเคราะห์รวมกับกรรมของพ่อและแม่ รวมกับญาติพี่น้อง รวมกับสิ่งแวดล้อม จนเกิดสภาวะพอเหมาะที่จะแสดงผลของกรรม คนนั้นๆเขาจึงได้มาเกิดในท้องของแม่คนนั้นซึ่งเป็นภรรยาของพ่อคนนั้น เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นสิ่งที่ถูกคำนวณไว้อย่างพอเหมาะแล้วโดยกรรมของเราทุกคน

ปัญหาคือใครจะรู้ว่าเราทำกรรมอะไรไว้ คนที่มาเกิดอาจจะเป็นเจ้ากรรมนายเวรของเราก็ได้ เป็นศัตรู เป็นลูกน้อง เป็นอะไรต่อมิอะไรที่อาจจะส่งผลร้ายถึงร้ายมากต่อเราก็เป็นได้ เรามองเห็นเพียงแค่รูปธรรม คือเด็กตัวน้อยเกิดมาหน้าตาเหมือนเราผสมกับคู่ของเรา แต่เรามองไม่เห็นนามธรรมหรือกรรมที่ซ่อนอยู่ลึกๆของเขา

ชีวิตของเขาจะถูกผลักดันด้วยกรรมของเขา ถ้าเขาเคยเป็นเดรัจฉานมาก่อน เคยเป็นคนขี้โลภมาก่อน เคยเป็นฆาตกรมาก่อน เมื่อเขาตายและเกิดใหม่มาเป็นลูกของเรา กิเลสที่เขามีอยู่จะติดมากับเขาด้วย เพราะนั่นเป็นกรรมของเขา

ส่วนเราซึ่งเป็นพ่อแม่ก็มีกรรมของเรา เพราะเรามีกิเลสอยากมีลูก กรรมของเราก็คือต้องยินดีรับทุกอย่างที่เกิดขึ้น เราไม่มีทางรู้ว่าใครจะมาเกิด ไม่รู้ว่าเกิดมาแล้วจะเป็นอย่างไร จะปกติไหม จะพิการไหม จะสุขภาพดีไหม หลากหลายปัญหาที่พาให้ทุกข์ตั้งแต่แรกคลอดนั้นมีมากมายตามกรรมที่เคยทำมา

4). เจ้านายและทาส

ไม่ว่าจะเป็นใครมาเกิดก็ตาม บทของเราคือทาสอย่างเดียวเท่านั้น เราไม่สามารถสั่งให้เด็กทารกไปทำอะไรตามใจเราได้ เราต้องป้อนนม ป้อนข้าว เช็ดอึ บริการเด็กคนนี้ทุกอย่าง

เมื่อเด็กร้องงอแงเราก็ต้องหาสิ่งบำเรอเด็กให้หายจากทุกข์ เรามักจะเรียกสิ่งนี้ว่าความรักความห่วงใย แต่มันมีกิเลสซ้อนอยู่คืออยากเอาใจให้เด็กรักเรา ให้เด็กหลงเรา เราจึงพยายามเอาใจเด็ก แท้จริงแล้วเรากำลังเสพความรักจากเด็กเพราะว่าเรากำลังหลงรักเด็กอยู่นั่นเอง

เด็กนั้นเป็นดังเจ้านายที่สามารถบงการให้พ่อและแม่เกิดทุกข์หรือสุขขึ้นได้ พ่อแม่จึงกลายเป็นทาสอารมณ์ของเด็กคนนั้น เมื่อเด็กยิ้มและหัวเราะ ทาสก็มีความสุขไปด้วย แต่เมื่อเด็กร้องไห้งอแงเอาแต่ใจ ทาสก็จะเป็นทุกข์ลำบากลำบนหาเครื่องบรรณาการมาให้เด็กได้เสพสมใจ ซึ่งเราก็ต้องทนเป็นทาสอารมณ์ของเด็กไปอีกนานแสนนานจนกว่าจะหมดความหลงในตัวเด็กคนนั้นนั่นแหละ

5). นักลงทุนผู้คาดหวัง

มีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่เป็นนักวางแผนและนักลงทุน เขามักจะมองปัจจัยที่มองเห็นได้ด้วยตาซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ เพราะในเรื่องนามธรรมมันมองไม่เห็นอยู่แล้ว ไม่มีใครรู้หรอกว่าเด็กที่มาเกิดคนนั้นจะมีบุญบารมีด้านไหน จะเก่งหรือจะเจริญไปเช่นใด

แต่ด้วยอัตตาและความหวังดีที่ปนกิเลสของเรา จึงมักจะเห็นพ่อแม่ที่ขีดเส้นทางสวยๆไว้ให้ลูกเดิน แน่นอนว่าในสายตา เขาก็มักจะเดินให้เราเห็น ให้เราภูมิใจ แต่นอกสายตาเขาก็ไปกับเพื่อน ไปเสพกิเลสตามใจเขา ไปสูบบุหรี่ กินเหล้า เล่นพนัน สมสู่กัน นอกลู่นอกทางไม่ให้เราเห็นอยู่เสมอ เหล่านี้เองคือธรรมชาติหรือที่เรียกว่าเป็นไปตามกรรมของเขา

พ่อแม่ผู้หวังดีพยายามวางอนาคตให้ลูก เมื่อได้รู้ว่าลูกที่ตนรักและเอาใจใส่ได้ออกนอกลู่นอกทางก็อกหักอกพัง บ้างก็โทษเด็ก บ้างก็โทษตัวเองว่าเลี้ยงไม่ดี เป็นทุกข์เศร้าหมองหดหู่กันไป แต่จะโทษเด็กก็มีส่วนอยู่บ้างเพราะเขาก็มีกรรมของเขา กิเลสของเขาลากให้เขาไปทำบาป เราทำหน้าที่ป้องกันได้แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ถึงจะพยายามเท่าไหร่แต่เราก็ไม่มีทางป้องกันวิบากกรรมอยู่

การทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามความคาดหวังของเรามันไม่มีทางเป็นไปได้อยู่แล้ว ไม่มีสิ่งใดที่เที่ยงแท้แน่นอนในโลก ทุกอย่างต้องแปรเปลี่ยนอยู่เสมอ และความผิดหวังที่เราได้รับก็คือผลกรรรมจากความคาดหวังของเรา เพราะเราอยากให้เกิดเราจึงตั้งความหวัง มีวันที่สมหวังก็ต้องมีวันที่ผิดหวัง แต่ความทุกข์นั้นจะเกิดหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ยังมีพ่อแม่นักลงทุกอีกมากที่วาดเส้นทางสวยงามไว้ให้ลูก ซึ่งแท้จริงได้ซ่อนภาระอันหนักหน่วงให้กับลูกปนไปกับความหวังดี เช่นมีลูกเพราะอยากให้ลูกมาสืบทอดกิจการของตนหรืออยากให้เขามาเลี้ยงตนเองตอนแก่ จึงแสดงความรักและดูแลเอาใจใส่เพื่อหวังว่าวันหนึ่งเขาจะได้มาทำงานสนองกิเลสให้ตนเอง ดูสิกิเลสคนเรามันสร้างคนอื่นขึ้นมาเพื่อให้ตัวเองได้เสพสุข วางแผนกันได้เป็นสิบๆปี แล้วคิดดูสิว่าถ้าผิดหวังมันจะทุกข์ขนาดไหน

6). กรรมเป็นของของตน

ถ้าเรายังไม่ชัดเรื่องกรรม เราก็จะต้องมีทุกข์เพราะความผันแปรที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด แม้ว่าเราจะมองลูกเป็นสิ่งที่เกิดมาอย่างบริสุทธิ์ เราเลี้ยงดูมาด้วยวิธีตามตำรา ดูแลด้วยอาหารอย่างดี ให้คบคนดี ทำแต่สิ่งที่ดี แน่นอนว่ากรรมใหม่เหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีที่พ่อแม่ควรกระทำ

แต่ถึงอย่างนั้นก็ควรจะเผื่อใจไว้ด้วยว่า เราไม่สามารถขีดเขียนเส้นทางชีวิตของใครได้ทั้งหมด เพราะเราก็มีกรรมของเรา เขาก็มีกรรมของเขา มีให้เห็นมาแล้วว่าลูกเศรษฐีในประเทศหนึ่งยินดีละทิ้งสมบัติของตระกูลหันมาบวชเป็นพระในประเทศไทย หรือแม้แต่กรณีศึกษาคลาสสิกที่สุดในโลกคือเจ้าชายองค์หนึ่งยินดีสละทุกสิ่งมาออกบวชจนกระทั่งพบว่าตัวท่านเองคือพระพุทธเจ้า

ไม่ว่าจะคนดีหรือคนชั่ว ทุกคนมีเส้นทางกรรมที่ถูกขีดไว้แล้ว ถูกกำหนดไว้แล้ว ถ้าเขาทำดีมามากถึงเราจะไม่มีเวลาเลี้ยง ไม่ได้เอาใจใส่ สุดท้ายคนดีก็ยังเป็นคนดีอยู่วันยังค่ำ แต่ถ้าคนที่ทำชั่วมามาก ถึงเราจะเลี้ยงดูเอาใจใส่พาให้พบแต่สิ่งดี แต่สุดท้ายเขาก็จะวิ่งหาความชั่วความต่ำทรามอย่างที่เขาเคยเสพคุ้นมานานหลายภพหลายชาติ

ความดีความเลวในโลกล้วนแต่วนเวียนสลับกลับไปกลับมา คนดีกลายเป็นคนเลว คนเลวกลายเป็นคนดี หมุนเวียนอยู่ในโลกธรรม ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุขอยู่เช่นนี้ เพราะมีกิเลสเป็นแรงผลักดัน และกิเลสนั้นเองก็นำมาสู่กรรมที่จะถูกสร้างขึ้น ให้เราได้วนเวียนรับกรรมดีกรรมชั่วอย่างไม่จบไม่สิ้น

เมื่อเป็นคนดีก็จะทำแต่ความดีจนได้รับความสุข เมื่อได้รับสุขก็ติดสุขจนต้องแสวงหาจนยอมทำชั่วเพื่อให้ได้สุขมา พอทำชั่วมากๆก็กลายเป็นคนชั่ว พอชั่วมากๆก็ทุกข์มากจนเลิกทำชั่วกลับมาทำดี พอดีมากๆก็ได้รับความสุขมาก จนติดสุข….วนเวียนไปเช่นนี้

7). ยึดมั่นถือมั่นในอะไร?

เมื่อเราเริ่มเห็นแล้วว่าลูกหลานที่เราเห็นนั้น แท้จริงเขาก็ไม่ใช่ของเราหรอก เขาไม่ใช่ผลผลิตจากตัวเราทั้งหมด แน่นอนว่าเขาใช้ร่างกายและเชื้อของเรามาเกิด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเป็นเหมือนเราเสมอไป

พอเรายอมรับได้แล้วว่าเขาก็มีกรรมเป็นของเขา เขาก็เป็นเขาแบบนั้น เราก็จะเริ่มคลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวเขาลง ปล่อยให้เขาได้เดินตามวิถีทางของเขาโดยเราเป็นเพียงผู้สนับสนุนในทางกุศลและให้กำลังใจเมื่อเขาพลาดพลั้ง

การที่เรายังยึดมั่นถือมั่นอยู่ในความเป็นพ่อหรือแม่ จะทำให้เราเป็นทุกข์ เราไม่รู้หรอกว่าจริงๆแล้วบทเสริมของเราคืออะไร แม้เราจะพยายามเล่นบทพ่อแม่ที่เราคิดหวังไว้ แต่วันหนึ่งอาจจะต้องเปลี่ยนไปเล่นบทอื่นเสริม เช่นบทเพื่อน บทครู บทหมอ หรือแม้แต่บทพระ

ความยึดมั่นถือมั่นจะมีลักษณะอาการที่แข็ง กดดัน อึดอัด ไม่ยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ เพราะเราไม่สามารถยอมรับความจริงของการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเราเสพสุขกับการเล่นบทพ่อแม่ เราจึงยึดบทนั้นไว้เป็นบทของตัวเอง ซึ่งในบางสถานการณ์การเปลี่ยนตัวเองเป็นเพื่อนนั้นน่าจะทำให้เกิดกุศลกว่า

แต่หลายคนอาจจะทำไม่ได้ เพราะเราเห็นว่าเขาเป็น “ลูก” เราเป็น “พ่อแม่” จริงๆเราก็แค่อินกับบทที่เขาให้ในชาตินี้เท่านั้นเอง ลองถอยมาดูสักหน่อย ลองลดความยึดมั่นถือมั่นสักหน่อย เราก็จะสามารถเห็นได้ว่า ลูกคนที่อยู่ตรงหน้าเรา แท้จริงเขาเป็นอย่างไร เขาควรจะทำอะไร เราควรจะทำหน้าที่เพิ่มเติมอย่างไร เพิ่มบทบาทแบบไหน ลดบทบาทใดลงบ้าง

8). ภาระจากกิเลส

แม้ว่าเราจะวางความยึดมั่นถือมั่นได้แล้ว เข้าใจแล้วว่าเขาก็เป็นเขา เราก็เป็นเรา แม้เราจะมีกรรมมาเกี่ยวพันกันได้เป็นพ่อแม่ลูกกันในชาตินี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องยึดมั่นถือมั่นในบทบาทที่เราเล่นจนเป็นทุกข์

เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ไม่ทุกข์ ไม่ตีกรอบ ไม่ตั้งความหวังจนเกินไป เพียงเท่านี้ก็จะได้ความสุขจากความสงบมากแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ต้องแบกภาระนี้ต่อไป เพราะแม้จะไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นแต่ความเป็นพ่อแม่ลูกจะยังคงอยู่ต่อไป เราจำเป็นต้องยึดอาศัยกันและกันเพื่อสร้างกุศล ดำเนินไปให้เกิดกุศลสูงสุด

ภาระที่เกิดขึ้นทุกอย่างก็คือภาระจากการที่เรามีกิเลส เช่นเราอยากให้ลูกได้เรียนโรงเรียนที่ดีมีชื่อเสียง เราก็ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าโรงเรียนทั่วไป และในภาพรวมของภาระนั้นหมายถึงเราจะต้องแบกเด็กคนนี้ไปเรื่อยๆ เพราะเรามีกิเลสอยากมีลูก ดังนั้นเด็กที่เกิดมาก็คือผลของกรรมกิเลสที่เราต้องแบกรับไว้นั่นเอง

9). หน้าที่

ผู้ที่เข้าใจความจริงตามความเป็นจริงแล้ว แม้จะต้องแบกรับภาระที่ทำให้ทุกข์ แต่ก็จะไม่หนี ไม่ทิ้งหน้าที่ เพราะรู้ว่าหน้าที่ของพ่อแม่นี้เองคือสิ่งที่เราควรจะปฏิบัติให้ดี เลี้ยงลูกให้เขาเป็นคนดี ให้มีศีลธรรม ให้เข้าใกล้ศาสนา พาให้ลดกิเลส ไม่พาฟุ้งเฟ้อ ไม่สนองกิเลสจนเสียคน พาไปแต่ทางที่เป็นกุศล ตักเตือนในเรื่องที่เป็นอกุศล เหล่านี้คือหน้าที่ที่พ่อแม่ควรจะกระทำนอกเหนือจากการเลี้ยงดูด้วยปัจจัยพื้นฐาน

เราควรจะทำหน้าที่ของพ่อแม่ไปพร้อมกับทำหน้าที่ของตนเองนั่นคือการขัดเกลาจิตใจของตนเอง ลูกคือเจ้ากรรมนายเวร หรือเทวดาตัวน้อยที่ฟ้าส่งมาให้เรียนรู้ทุกข์ เพื่อให้ค้นให้เจอเหตุแห่งทุกข์ จนรู้ถึงการดับทุกข์ และปฏิบัติสู่การดับทุกข์ด้วยการดำเนินไปตามวิถีทางแห่งการดับทุกข์

พ่อแม่นั้นมีสถานที่ปฏิบัติธรรมที่อยู่ที่บ้าน เพราะนอกจากจะปฏิบัติธรรมกับคู่ของตนแล้วยังต้องปฏิบัติธรรมกับลูกด้วย ทำอย่างไรที่เราจะไม่หลงรักลูกจนหลงไปเป็นทุกข์ และทำอย่างไรที่เราจะไม่ยึดดีถือดีในสิ่งที่เราเชื่อมากเกินไปจนเป็นทุกข์ เพราะไหนๆเขาก็เกิดมาแล้ว โตมาแล้ว เราก็เรียนรู้ที่จะพัฒนาจิตใจไปพร้อมๆกับเขา เรียนรู้ความเป็นเราโดยสะท้อนจากตัวเขา ใช้โอกาสนี้ในการปฏิบัติธรรมเสียเลย

…เมื่อเห็นความยากลำบากของการเป็นพ่อแม่ดังนี้แล้วเราจึงควรตระหนักว่ากว่าที่เราจะโตมาถึงวันนี้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย พ่อแม่ต้องฝ่าฟันทุกข์ ต้องรับภาระ รับวิบากกรรมอย่างหนักหนาสาหัสมามากเท่าไหร่กว่าจะถึงวันนี้ การที่พ่อแม่เลี้ยงดูเราดีนั้นก็เกิดเพราะผลกรรมดีของเรา และการที่พ่อแม่ทำอะไรให้เราทุกข์ใจนั้นก็เกิดจากผลกรรมที่ไม่ดีของเรา

สิ่งดีสิ่งร้ายทั้งหมดที่เราได้เจอนั้นเกิดจากผลของกรรมของเรา เราทำมาเองทั้งนั้น ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นอย่างไร พ่อแม่ก็เป็นผู้มีพระคุณที่ควรกตัญญูเสมอ

ความกตัญญูนั้นไม่ได้หมายความเพียงแค่ว่าเอาใจใส่ แต่หมายรวมถึงการพาให้ท่านได้พบกับสิ่งที่เป็นกุศล สิ่งที่พาให้ชีวิตพบกับความสุขแท้ แต่การที่จะพาท่านไปสู่การปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ได้นั้น เราก็ต้องทำตัวเองให้เป็น ให้ได้ ให้มีสิ่งนั้นในตนเสียก่อน

แล้วเราจะมีสิ่งดีที่ประเสริฐในตนได้อย่างไร หากเรามัวเอาเวลาไปดูแลใครก็ไม่รู้ที่กำลังจะมาเกิดในตัวเราหรือในตัวของภรรยาเรา พ่อแม่คือคนที่เรารู้จักดีอยู่แล้ว ชัดเจนอยู่แล้ว เป็นแบบนั้นอยู่แล้ว ไม่ต้องลุ้น ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องวางแผน การดูแลพ่อแม่นั้นง่ายกว่าการเลี้ยงลูกอย่างมาก เพราะขยับจากง่ายไปยาก ท่านจะค่อยๆแก่ให้เราได้ปรับตัวอย่างช้าๆ ไม่เหมือนกับเด็กทารกที่เกิดมาก็เป็นเรื่องยุ่งยากในทันทีและจะยุ่งยากมากขึ้นเรื่อยๆตามเวลาที่ผ่านไป

ดังจะเห็นได้ว่าการมีลูกนั้นมีแต่ทุกข์ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “คนมีลูกก็มีทุกข์ คนไม่มีลูกก็ไม่ต้องมีทุกข์” ดังนั้นใครที่แต่งงานแล้วไม่มีลูกก็เป็นลาภอันประเสริฐ เพราะสามารถนำเวลาที่มีคุณค่าไปทำสิ่งที่มีประโยชน์ได้มากมาย

เมื่อความไม่มี การไม่ครอบครองสิ่งใดๆนั้นคือคุณค่าแท้ เป็นความสุขแท้ นั่นหมายถึงคนที่โสดอย่างเป็นสุขนั่นแหละคือผู้มีบุญที่สุด เพราะไม่ต้องทุกข์ด้วยเหตุแห่งลูกหรือคู่ครอง มีศักยภาพสูงสุดในการกตัญญูพ่อแม่ เพราะไร้ซึ่งข้อจำกัดของบ่วงกรรมที่ผูกมัดไว้นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

10.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)