Tag: พระโพธิสัตว์

คู่แบบไหนดี?

June 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,201 views 0

คู่แบบไหนดี?

คู่แบบไหนดี?

เมื่อหลายวันก่อน ระหว่างรอนัดพบกับเพื่อน ผมได้เข้าไปที่ร้านหนังสือ เพื่อจะดูว่ามีหนังสืออะไรน่าสนใจบ้าง หนึ่งในหนังสือที่หวังไว้ก็คือการ์ตูนพุทธประวัติของบุคคลในสมัยพุทธกาล

ผมตั้งใจหยิบหนังสือพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรขึ้นมาอ่าน ก็คิดว่าจะซื้อเล่มนี้ แต่ก่อนจะเอาไปจ่ายเงินก็เหลือบไปเห็นหนังสือการ์ตูนประวัติของพระนางพิมพาด้วย เลยหยิบมาคู่กันเพราะน่าจะมีประโยชน์

บางทีการศึกษาจากตัวหนังสือมันก็ทำให้มึนอยู่ไม่น้อย การพักมาอ่านการ์ตูนบ้างก็เป็นการรับข้อมูลข่าวสารที่ผ่อนคลายเข้าใจง่าย อีกทั้งเนื้อหาโดยรวมก็ยังมีทิศทางที่ศึกษาได้อยู่

หนังสือสองเล่มนี้เป็นสภาพของ “คู่” ทั้งสองเล่ม เรื่องหนึ่งเป็นคู่ที่มีเพื่อเรียนรู้รักและการจากพราก อีกเรื่องหนึ่งเป็นคู่ที่พากันไปเจริญ

ชีวิตของผมนั้นโชคดีที่ได้เรียนรู้พื้นฐานมาทั้งสองแง่มุม แน่นอนว่าความเข้มข้นไม่เท่ากับเรื่องของบุคคลสำคัญเหล่านั้น แต่ก็พอจะทำให้เข้าใจได้

สุดท้ายหลังจากได้เรียนรู้จากทั้งสองมุมมอง ผมกลับเห็นดีกับในลักษณะคู่ของพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรมากกว่า เพราะพากันเจริญอย่างเดียว ไม่ต้องมาสร้างวิบากกรรมอะไรแก่กันและกัน อย่างมากก็ชวนกันไปหลงกิเลส แต่ก็ไม่ได้ทำร้ายกันและกันเหมือนกับคู่ของพระพุทธเจ้าและพระนางพิมพา

การทำร้ายกันและกันนั้นอาจจะดูเป็นคำที่ร้ายแรง แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นเช่นนั้น เพราะทำให้อีกฝ่ายทุกข์ด้วยความรัก ทุกข์เพราะเมตตา ทุกข์เพราะหึงหวง ทุกข์เพราะต้องคอยแบกกันและกัน ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าท่านจำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อสะสมบารมีให้เต็มรอบ เพื่อที่จะตรัสรู้ต่อไป

ซึ่งนั่นเป็นหน้าที่ของพระพุทธเจ้า หน้าที่ของพระโพธิสัตว์ที่จะเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก แต่ไม่ใช่หน้าที่ของสาวก ซึ่งคู่ของพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรก็เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ความเป็นคู่นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นคู่ครอง เป็นเพื่อนก็พากันเจริญได้ และจริงๆก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคู่ จะเป็น 3 , 4 , 5 …. ร่วมวงกันแค่ไหนก็ได้แล้วแต่จะผูกกรรมกันมา

สมัยยังกิเลสหนา ผมเองก็เคยใช้พุทธประวัติของพระพุทธเจ้าในมุมหนึ่งของการครองคู่ มาเป็นเหตุผลให้เรามีข้ออ้างในการจะมีคู่เช่นกัน แต่พอศึกษาไปเรื่อยๆ ชำระกิเลสไปเรื่อยๆจึงรู้ว่าที่เราเห็นและเข้าใจนั้นเป็นเพียงความเห็นของกิเลสที่พยายามจะหาข้ออ้างที่สุดแสนจะฉลาด โดยพยายามไปเปรียบเทียบว่าพระพุทธเจ้าทำได้ ฉันก็น่าจะทำได้บ้าง

ทั้งที่จริงแล้วเราก็เท่านี้ บุญบารมีก็แค่นี้ จะไปเทียบกับใครได้ เอาตัวรอดยังแทบไม่ได้เลย ดังนั้นเมื่อศึกษาอย่างถี่ถ้วนแล้วจึงรู้ว่าการมีคู่ครองนั้นไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นเลยสำหรับสาวกในพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่ฟุ่มเฟือยและจะพาฉุดรั้งไม่ให้พบกับความพ้นทุกข์ด้วยซ้ำไป

สุดท้ายจึงพบว่าคู่แบบอัครสาวกทั้งสองนี่แหละคือคู่ปฏิบัติธรรมที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด อย่างน้อยสองคน ก็ยังมีเพื่อนที่คอยตรวจสอบ คอยแนะนำกันได้แล้ว เราไม่จำเป็นต้องไปหาใครมาเสพแล้วอ้างว่าจะพากันเจริญในธรรมเลย เพียงแค่หาเพื่อนปฏิบัติธรรม หากัลยาณมิตร ไม่ว่าจะเพศเดียวกันหรือต่างเพศ แต่ถ้าจะให้ดีก็เพศเดียวกันจะได้ไม่ต้องลำบากใจ ดังเช่นคู่ของพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรถ้าได้ศึกษานิทานชาดกก็จะเห็นว่าท่านเป็นเพื่อนกันมาหลายชาติ ช่วยเหลือกัน เกื้อกูลกัน พากันเจริญ

ทุกวันนี้ผมไม่สงสัยเกี่ยวกับเรื่องของคู่ เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่าไม่มีนั้นดีที่สุด ส่วนเรื่องของพระพุทธเจ้าและพระนางพิมพา ก็เป็นเรื่องตามเหตุปัจจัยของท่าน ผมไม่กล้าที่จะพยายามเปรียบเทียบหรืออ้างอิงสิ่งใดเพื่อที่จะหาเหตุผลในการไปมีคู่ได้อีก เพราะรู้ว่าการสะสมบารมีของท่านนั้นไม่ใช่เรื่องที่เราควรจะทำตาม เพราะไม่ใช่วิสัยที่เราจะเข้าใจเหตุปัจจัยทั้งหมดได้ แต่เป็นเรื่องที่ควรจะศึกษาให้เห็นทุกข์จากผลของการศึกษาของท่าน

นั่นหมายถึงเราไม่ต้องบังอาจไปทำตามกระบวนการที่ท่านทำมา เพียงแค่เอาความรู้ที่ท่านตรัสรู้แล้วมาปฏิบัติก็เพียงพอแล้ว ซึ่งท่านก็ตรัสไว้เสมอว่าให้ลด ละ เลิก การเสพสุขจากการมีคู่ และให้ดีที่สุดคือไม่ต้องไปมีคู่ ซึ่งท่านไม่เคยสอนให้ไปมีคู่ ไม่เคยบอกให้ทำตามที่ท่านทำ แต่ให้ศึกษาในสิ่งที่ท่านสอน

ซึ่งหากตอนนี้จะแนะนำใครสักคนที่หลงผิดคิดว่ามีคู่รักแล้วจะพาให้เจริญพัฒนาไปด้วยกันได้ ผมก็อยากให้เขาศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรบ้าง เรื่องราวนั้นจะต่างกันไปโดยสิ้นเชิง แน่นอนว่าหนทางสู่ความพ้นทุกข์ก็ง่ายตามไปด้วย เพราะระดับผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างเราคงไม่บังอาจเอาอย่างพระพุทธเจ้า เพราะเพียงแค่ทำตามที่ท่านสอนก็เรียกได้ว่าหืดขึ้นคอแล้ว จะให้ไปสะสมบารมีตามท่านนั้นก็คงจะทำไม่ไหว ดับทุกข์ที่ตนให้ได้ก่อนจะดีกว่าแล้วค่อยว่ากันต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

28.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เรียนรู้เรื่องคู่จาก พระนางพิมพา

June 26, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,942 views 0

เรียนรู้เรื่องคู่จาก พระนางพิมพา

เรียนรู้เรื่องคู่จาก พระนางพิมพา

คงจะมีเหตุบางอย่างให้คนในยุคนี้ได้เรียนรู้เรื่องราวของความเป็นคู่บุญคู่บารมีในรูปแบบของคู่รัก ซึ่งเป็นคู่แบบหนึ่งที่เรียกได้ว่าต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส ใช่ว่าเส้นทางเหล่านี้จะโรยด้วยกลีบกุหลาบ หากเราได้ศึกษาจะพบว่าท่ามกลางความรักที่ดูน่าหลงใหลได้ปลื้มนั้น ยังมีความทุกข์และวิบากบาปจำนวนมหาศาลที่ต้องแบกรับอีกด้วย

เราอาจจะเข้าใจผิด หลงคิดว่าถ้าพระพุทธเจ้ามีคู่บุญคู่บารมีในรูปแบบของคู่รักแล้วตนจะมีได้บ้าง จึงมักจะยกเจ้าชายสิทธัตถะและนางพิมพาเป็นต้นแบบ โดยไม่ตระหนักว่าสาระสำคัญของเรื่องราวทั้งหมดนั้นเป็นอย่างไร เรามักจะยินดีรับรู้เรื่องราวเท่าที่เราอยากเสพเท่านั้น นั้นก็เพื่อให้เราสามารถมีคู่ได้ด้วยความชอบธรรม

ความเป็นคู่นั้นแม้จะรักกันเกื้อกูลกันเพียงใด แต่การผูกกันไว้ด้วยสภาพของ “คู่รัก” ซึ่งจะกลายเป็นกรรมที่ต้องชดใช้กันไปไม่รู้อีกกี่ชาติต่อกี่ชาติ ใช่ว่าคู่บุญคู่บารมีพระพุทธเจ้าจะเกื้อกูลให้เจริญเสมอไป กว่าจะถึงวันที่เราเห็นดังที่ได้เรียนรู้มา ท่านทั้งสองผ่านกันมามากมาย ทั้งพากันทำบาป ทั้งถ่วงความเจริญกัน ทั้งหึงหวง ทั้งทะเลาะ ทั้งเป็นภาระ ทั้งถูกทิ้ง ทั้งเป็นเหตุให้อีกคนเจ็บปวดและตาย กว่าจะแบกกันมาจนถึงชาติสุดท้ายนี่ต้องทนทุกข์ทรมานมากเท่าไหร่ เราคงไม่สามารถรู้ได้ทั้งหมด ทำได้เพียงศึกษาข้อมูลบางส่วนเท่านั้น

ถ้าใครอยากรู้ก็ลองนึกดูก็ได้ว่า คู่ที่เราทะเลาะกัน เกลียดกัน ทำร้ายกันนั่นแหละจะมาจองเวรจองกรรมกันทุกชาติไม่จบไม่สิ้น พากันลงนรกไปอีกนานแสนนานจนกว่าจะปีนป่ายขึ้นมาจากนรก แต่กระนั้นก็ไม่ใช่ง่าย ต้องผลัดกันแบกกันและกันปีนขึ้นจากเหวนรก บางทีอีกคนก็ฉุด บางทีเราก็ไปฉุดอีกคนลงนรก ใช่ว่าจะพบความสุขความเจริญได้ง่ายนัก

โดยเฉพาะผู้ที่ยังมีกิเลสหนาอยู่ ซึ่งมักเอาเรื่องเกื้อกูลกัน พัฒนาไปด้วยกัน เจริญในธรรมไปด้วยกัน มาบดบังกิเลสคือความอยากมีคู่ของตน กลายเป็นหลอกตัวเองว่าถ้าคู่ไม่ดีก็ไม่ควรมี แต่ถ้าคู่ดีก็มีได้

แท้จริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องมีคู่บุญที่อยู่ในรูปของคู่รักเลย ให้เป็นเรื่องของพระโพธิสัตว์ที่ต้องสะสมโลกวิทูหรือการรู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง งานของพระโพธิสัตว์คือเรียนรู้ทุกบท ทุกเหตุการณ์ ทุกเหลี่ยม ทุกมุม ทุกความรู้ในเรื่องโลก แต่คนทั่วไปไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ถึงขนาดนั้น พระพุทธเจ้าบอกให้เราเรียนรู้แค่ใบไม้กำมือเดียวเท่านั้น ยังไม่จำเป็นต้องไปเรียนรู้ทั้งป่า

การที่เราจะหาคู่รักมาทำเหมือนเกื้อกูลและเจริญไปด้วยกันนั้นเป็นความเห็นของกิเลสล้วนๆ เพราะแท้จริงแล้วความเกื้อกูลและความเจริญก็สามารถหาได้ในหมู่กัลยาณมิตรเช่นกัน ไม่จำเป็นต้องเป็น “คู่รัก” ให้ต้องสร้างกรรมชั่ว จองเวรจองกรรมกันไปอีกหลายภพหลายชาติ

แม้พระพุทธเจ้าจะเป็นตัวอย่างของภาพความรักที่เกื้อกูลตามที่หลายคนเข้าใจ แต่ท่านก็ไม่เคยบอกให้เราไปมีคู่ ไม่มีเหตุผลใดที่สมควรมีคู่ ซ้ำยังบอกให้พยายามออกจากความหลงในเรื่องคู่ ซึ่งคนที่หลงในความรักจะยึดพุทธประวัติมาเป็นที่ตั้ง แต่มักจะไม่เอาธรรมเพื่อความพ้นทุกข์มาศึกษา

หนึ่งในความจริงที่ยากจะปฏิเสธคือ การมีคู่ของพระพุทธเจ้านั้นคือการมีเพื่อให้เห็นทุกข์และเพื่อทอดทิ้งอย่างในพระเวสสันดรชาดกก็เป็นบทเรียนที่ชัดเจนว่ามีไว้เพื่อให้ทิ้ง ให้เห็นว่าสิ่งที่รักที่สุดก็สามารถสละได้ ไม่ใช่การเป็นคู่รักเพื่อเสพสุขแต่อย่างใด

เมื่อเราศึกษาพุทธประวัติแล้วพยายามอย่าเอาอย่างท่านทุกอย่างเพราะแต่ละสิ่งล้วนมีเหตุปัจจัยที่เราไม่สามารถเข้าใจได้ พึงระลึกไว้เสมอว่านั่นคือบารมีระดับพระพุทธเจ้า ส่วนเราเป็นผู้น้อยต้องประมาณกำลังให้เหมาะสม สิ่งที่เราควรศึกษาและปฏิบัติตามคือคำสอนของท่านหลังจากที่ท่านตรัสรู้ ท่านว่าอย่างไรก็ศึกษาไปตามนั้น ท่านว่าสิ่งใดไม่ควรก็จงพิจารณาให้เกิดปัญญาว่าไม่ควรอย่างไร ท่านว่าสิ่งใดควรก็จงพิจารณาให้เกิดปัญญาว่าควรอย่างไร

ผู้มีปัญญาจะรู้ชัดว่าการผูกกันด้วยความเป็นคู่รักนั้นมีแต่ความทุกข์ พวกเขาจึงพยายามออกจากความเป็นคู่นั้น เพราะงานสำคัญในชีวิตนั้นไม่ใช่การหาคู่ แต่เป็นการเรียนรู้เพื่อดับทุกข์ เมื่อมีวิชาดับทุกข์ ศึกษาและปฏิบัติจนทำให้ทุกข์ดับจนสิ้นเกลี้ยงได้แล้ว จะไปลองศึกษาการมีคู่หรือไปเรียนรู้ทุกข์ในมุมอื่นๆ ก็สามารถทำได้ตามประสงค์

– – – – – – – – – – – – – – –

26.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)