Tag: ปล่อยวาง

อกหัก

November 25, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,622 views 0

อกหัก

อกหัก

…เมื่อความผิดหวังมาเยี่ยมเยียนความรัก

ความรัก การมีคู่ การครอบครอง เป็นสิ่งที่หลายคนใฝ่หา เฝ้าฝันว่าวันใดวันหนึ่งจะได้พบคู่รักดังที่เคยฝันไว้ จนกระทั่งวันหนึ่งได้เจอคู่ที่เหมาะสม คู่ที่ยินดีจะมอบกายมอบใจมอบชีวิตให้เขาครอบครอง แต่สุดท้ายความฝันทั้งหมดก็พังทลายลงเมื่อเผชิญกับความจริง เหลือทิ้งไว้เพียงแค่คนที่ถูกดับความหวังหมดสิ้นความฝันหรือที่เรียกกันว่า “คนอกหัก

ในบทความนี้จะมาไขเรื่องราวของการอกหักอย่างละเอียดเท่าที่จะเกิดประโยชน์กับใครสักคนที่กำลังอกหักหรือเตรียมตัวที่จะอกหักมาสรุปเป็นหัวข้อได้ 7 หัวข้อด้วยกัน ลองอ่านกันเลย

1….ทำไมต้องอกหัก

เมื่อมีการเกิด ก็ต้องมีการดับ อย่างที่เรารู้กันว่าสิ่งใดๆในโลกล้วนไม่เที่ยง มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เหมือนกันกับความรัก มันเกิดขึ้น มันดำเนินอยู่คงสภาพอยู่ และสุดท้ายมันก็ต้องจบลงไม่วันใดก็วันหนึ่ง

ตอนที่เรากำลังไขว่คว้าหาความรักแสวงหาคู่ครองมาคบหาดูใจนั้น น้อยคนนักที่จะคิดว่าทุกอย่างจะต้องจบลง ยากนักสำหรับคนที่หลงไปกับความรักจะคิดได้ว่าเมื่อมีรักก็ต้องมีวันหมดรัก หรือจะเรียกได้ว่าเมื่อตกลงรักไปแล้วก็ยากนักที่ใครจะเตรียมพร้อมทำใจรอรับวันอกหัก เมื่อเขาเหล่านั้นได้รับความรัก ได้รับคนรักเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ก็มักจะมัวแต่เมามายประมาทในกาลเวลามองว่าทุกอย่างจะต้องเป็นไปดังที่หวังไว้ เมื่อได้คบหาแล้วก็วางแผน วาดฝัน สร้างสวรรค์วิมานไปตามที่จะคิดจะจินตนาการได้

แต่ถึงจะวางแผนชีวิตคู่ไว้อย่างดีแค่ไหน สัจธรรมย่อมไม่เปลี่ยนแปลง คือเราจะต้องมีความพลัดพรากเป็นเรื่องธรรมดา นั่นหมายถึงเราจะต้องเสียคู่รักของเราไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาจจะเลิกคบหากัน อาจจะตายจากกัน หรืออาจจะอยู่ด้วยกันโดยที่ความรักนั้นได้ตายไปแล้วก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องมาถึงในวันใดวันหนึ่ง

เมื่อเราอกหัก เรามักจะมองหาคนผิด คนที่ได้ชื่อว่าอกหักมักจะดูเหมือนเป็นผู้ถูกกระทำ ซึ่งก็มักจะคิดว่าตนนั้นถูกกระทำ และคิดว่าตนนั้นมีสิทธิ์ที่จะเสียใจ มีสิทธิ์ที่จะเรียกร้อง มีสิทธิ์ที่จะทุกข์ ทั้งที่คนผิดจริงๆนั้นคือตัวเราเอง

ไม่ว่าอดีตคู่ครองจะทำอะไรและไม่ว่าจะเลวร้ายแค่ไหนกับเราก็ตาม ให้รู้และเข้าใจไว้อย่างหนึ่งคือทั้งหมดที่เขาทำนั้นคือกรรมของเราเอง เราทำมาเองเราเลยต้องรับเอง ไม่มีสิ่งใดที่เราได้รับโดยที่เราไม่ได้ทำมา สิ่งที่เราได้รับ เราทำมาแล้วทั้งนั้น ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราจึงเป็นเหมือนกระจกสะท้อนให้เห็นว่าเราเคยทำกรรมอันน่ารังเกียจแค่ไหน ยิ่งเราเกลียดคนที่หักอกเรามากเท่าไหร่ นั่นแหละคือเราทำมามากกว่านั้น เราเลวร้ายมากกว่านั้น เพราะกรรมเขาแบ่งมาให้เรารับในชาตินี้ส่วนหนึ่ง ชาติหน้าส่วนหนึ่ง และชาติต่อๆไปอีกจนกว่าจะหมด

นั่นหมายความว่าเรากำลังได้รับเศษกรรมที่เราเคยทำไว้ ดังนั้นเหตุที่ว่าทำไมต้องอกหัก จึงมีส่วนของกรรมเก่าส่วนหนึ่งและกรรมใหม่ที่เราทำในชาตินี้อีกส่วนหนึ่ง กรรมใหม่ก็เช่น เราดูแลเขาดีไหม เราสนองกิเลสเขาได้ไหม เราตามใจเขามากเกินไปหรือไม่ หรือเรามัวแต่สนองกิเลสตัวเองโดยไม่สนใจเขา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นกรรมใหม่ในชาตินี้ที่ส่งผลมากที่สุด ถ้าถามว่าทำไมอกหัก ก็สรุปสั้นๆได้ว่า “เราทำมา

2….ทำไมต้องทุกข์ ทำไมต้องทรมาน

ความทุกข์นั้นคือผลของกรรม และผลของกิเลส ในส่วนของกรรม กรรมที่เราทำมาจะทำหน้าที่ให้เกิดความทุกข์ ทรมาน กระวนกระวาย และอาจจะมีผลไปถึงร่างกาย เช่นไม่หิวข้าว ไม่สบาย เซื่องซึม ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการที่จิตใจสร้างขึ้นมาเพื่อให้เกิดทุกข์ซ้ำซ้อนกับเราวนเวียนไปจนกว่ากรรมนั้นๆจะหมด

การที่กรรมนั้นจะหมดได้คือเราต้องยอมรับกรรมเสียก่อน ยอมรับว่าทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่เราทำมา คนที่มัวแต่โทษคนอื่น โทษอดีตคู่ครอง โทษมือที่สาม โทษดินฟ้าอากาศ โทษดวงชะตา ฯลฯ คือคนที่ไม่ยอมรับกรรมที่ทำมา เมื่อไม่ยอมรับกรรมก็ยากที่จะพ้นทุกข์ เพราะมีการโกหกซ้ำซ้อนเข้าไปอีกว่าฉันไม่ได้ทำมา ทั้งที่ทำมาแท้ๆกลับไม่ยอมรับ มองเพียงแค่ตื้นๆ เห็นเพียงแค่ผิวเผินก็ตัดสินไปแล้วว่าไม่ใช่กรรมของฉัน สิ่งที่เราได้รับนั่นแหละคือกรรมของเราแน่ๆ ไม่ต้องโทษใครที่ไหน

ในส่วนของกิเลสนั้นซ้อนเข้าไปในเรื่องกรรมอีกที แต่จะเป็นส่วนที่สามารถจะแก้ไขได้ การที่เราทุกข์ทรมานจากการอกหักนั้น เกิดจากความผิดหวัง ที่ผิดหวังเพราะว่าเรามีหวัง แต่มีความหวังนั้นไม่ผิด ผิดตรงที่เราไปยึดมั่นถือมั่นกับความหวังนั้น

เราสามารถวาดฝัน คาดหวัง หรือวางแผนชีวิตคู่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่เมื่อมันไม่เกิดดังที่เราคาดหวัง เราก็มักจะไม่สามารถปรับใจตัวเองได้ทัน เพราะยังยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเดิมที่เคยคาดหวังไว้ อาการเหล่านี้เรียกว่ามีอัตตา มีความยึดมั่นถือมั่น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราคาดหวังว่าแฟนจะพาไปกินข้าวเย็นสุดหรูในวันสำคัญของเรา แต่สุดท้ายกลับต้องมากินข้าวแกงถุงกัน…

กระบวนการทั้งหมดเริ่มจากเราหวังว่าจะได้กินของอร่อยดูดี แต่เมื่อกรรมได้นำพาเหตุการณ์บางอย่างเข้ามา คือบทที่ไม่สมหวังต้องมานั่งกินข้าวแกงถุง ณ ขณะนี้มีให้เลือก 2 ทางเลือกใหญ่ๆ 1. ทุกข์เพราะผิดหวัง 2.ปล่อยวางความหวัง

ถ้าเรามีทิศทางไปทางที่หนึ่งก็คือกิเลสเต็มๆ คือสิ่งที่เรียกว่าความยึดมั่นถือมั่น ส่วนอาการทุกข์เพราะผิดหวังนั้นจะแสดงออกอย่างไรก็แล้วแต่โทสะ ซึ่งเป็นกิเลสอีกตัวที่จะโผล่มาเมื่อไม่สมหวัง คนเรารักกันเลิกกันก็ไม่พ้นเรื่องของกิเลสหรอกมันก็มีอยู่แค่นี้ ถ้าดับกิเลสได้ก็ไม่มีทางทุกข์ที่มีทุกข์เพราะมีกิเลส

ส่วนของทางเลือกที่สองนั้น คือสิ่งที่เรียกว่าอุเบกขา หรือปล่อยวางความคาดหวังเสีย แล้วมีความสุขไปกับสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้า ผู้สามารถอุเบกขาหรือปล่อยวางได้อย่างแท้จริงจะมีจิตผ่องใส โปร่งสบาย และมีไหวพริบเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์

แต่การจะอุเบกขาได้อย่างแท้จริงแล้ว จำเป็นต้องศึกษาและเข้าใจธรรมะในระดับที่ล้างกิเลสเป็น ดังนั้นยากนักที่จะสามารถหนีออกจากเหตุแห่งทุกข์และความทรมานนี้ได้ พวกเขาจึงต้องจมอยู่กับความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าซึ่งความทุกข์นั้นก็ไม่ได้เกิดจากใครที่ไหนก็เป็นเขาเองที่ยึดมั่นถือมั่นทุกข์นั้นไว้ กอดทุกข์นั้นไว้ กอดความหวังที่ไม่มีจริงเอาไว้ เมื่อไม่ปล่อยวาง จึงต้องทุกข์ทรมานอยู่เรื่อยไป

3….อยากลืมกลับจำ อยากจำกลับลืม

คงเป็นเรื่องยากที่ใครจะลืมฉากรักอันแสนหวานและฉากทุกข์ทรมานที่แสนขมขื่น สิ่งที่เราจำได้นั้นเรียกว่า “สัญญา” คือการจำได้หมายรู้ทั่วไป และการที่เราคิดเรียกว่า “สังขาร” หรือการปรุงแต่งความคิด

สัญญาคือเราจำเรื่องราวจำสิ่งต่างได้ เช่น เราคบกันวันแรกที่ไหน ของขวัญชิ้นแรกคืออะไร เราพูดอะไรออกไป เราทะเลาะกันเรื่องอะไร สิ่งเหล่านี้คือความจำ ความจำนั้นไม่ใช่ตัวทำให้ทุกข์ แต่สิ่งที่ทำให้ทุกข์นั่นคือความคิดหรือสังขารที่ปนเปื้อนด้วยกิเลส

คนทั่วไปมักจะมองหาทางลืม แต่สุดท้ายก็พบว่าอยากลืมกลับจำ อยากจำสิ่งดีใหม่ๆแต่กลับลืม พยายามสร้างเรื่องราวใหม่เพื่อมาทดแทนแต่ก็ไม่สามารถทำให้ลืมได้ นั่นเพราะสิ่งที่ทำให้เราจำได้ก็เพราะความคิดของเราที่ปรุงแต่งเรื่องราว คำพูด ฉากเหตุการณ์ต่างๆย้อนหลังซ้ำไปซ้ำมาในความคิดของเรา เมื่อคิดอยู่อย่างนั้นมันก็บันทึกเรื่องใหม่ไปด้วย นอกจากจะจำเรื่องเก่าได้แม่นขึ้น ยังมีเรื่องใหม่ที่ปรุงแต่งขึ้นมาเองอย่างฟุ้งซ่านลงไปด้วย

บางครั้งอาจจะทำให้เกิดอาการ สัญญาวิปลาสได้ คือ ความจำสับสน จำสิ่งที่ตัวเองคิดขึ้นมาใหม่ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริงทับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริง เช่น เคยเลิกกับแฟนด้วยคำพูดประโยคหนึ่ง แต่พอเวลาผ่านไปกิเลสได้ปรุงแต่งความคิดให้ฟุ้งซ่านเป็นทุกข์ จึงเริ่มปรุงแต่งเรื่องราวเดิมซ้ำอีกครั้ง ซ้ำไปซ้ำมาจนประโยคเดิมนั้นกลายเป็นประโยคใหม่ ซึ่งมีน้ำหนักมีความรุนแรงมากกว่าเดิม เหตุการณ์นี้หลายคนก็คงจะเคยเจอ ภาษาทั่วไปเขาเรียกกันว่า “มโนไปเอง” หรือคิดไปเองนั่นเอง คือความคิดใหม่มันไปอัดทับของเก่าไปแล้ว เหมือนกับบันทึกข้อมูลทับข้อมูลเดิมโดยไม่รู้ตัว

ซึ่งปัญหาจริงๆมันไม่ได้อยู่ที่จำหรือลืม มันอยู่ที่ทุกข์หรือไม่ทุกข์ คนที่ล้างกิเลสได้จริงมันจะไม่ลืม แต่มันจะไม่ทุกข์ มันจะยินดีกับทุกเรื่องราวที่ผ่านมาไม่ว่าจะดีหรือร้าย คิดเรื่องดีก็ยินดี คิดเรื่องร้ายก็ยินดี ยินดีที่ได้รับกรรมที่ทำไปแล้วก็จบไป ยินดีที่ได้เห็นว่าตัวเรานั้นมีกิเลสขนาดไหนยินดีที่ได้ใช้เหตุการณ์นั้นมาล้างกิเลสในใจเรา

4….อกหักทำอย่างไร

ความผูกพันที่เกิดขึ้นมานั้นไม่ได้ทำลายได้ง่ายๆเพียงแค่กดข่ม หรือพยายามเปลี่ยนเรื่องโดยหาสิ่งใหม่เข้ามาแทนที่ บางครั้งเราอาจจะหลงคิดไปว่าชีวิตเราเปลี่ยนไปแล้ว คิดว่าเราลืมไปแล้ว แต่จริงๆชีวิตที่เปลี่ยนแปลงนั้นเกิดมาจากการอกหักที่เกิดขึ้นนั่นแหละ กิเลสที่มีจะพยายามทำให้เราผลักจากสภาพทุกข์ที่เป็นอยู่ซึ่งโดยมากจะไปในทางอกุศล

คนส่วนมากก็มักจะใช้วิธีหากิจกรรมใหม่ เปลี่ยนวิถีชีวิต เช่นไปเที่ยวคนเดียว ไปดูหนังคนเดียว ไปทำอะไรที่ไม่เคยทำ ปลดปล่อยตัวเอง ไประบายความเครียดความบ้าคลั่งที่ไหนสักที่ มันก็พอทำได้ในลักษณะของโลกียะ แต่จริงๆแล้วบางกิจกรรมมันก็ทำทุกข์ซ้อนเข้าไปอีกถ้าจะให้ดีเราควรเลือกกิจกรรมที่เป็นกุศล เช่น พบเจอเพื่อนฝูง ศึกษาธรรมะ นั่งสมาธิ สวดมนต์ ล้างจาน กวาดบ้าน จัดห้อง เก็บของบริจาค จัดสวน หรืองานจิตอาสาช่วยคนอื่น ฯลฯ และเว้นขาดจากกิจกรรมที่จะมีโอกาสเพิ่มไปกิเลสอีก เช่น ไปเที่ยวกลางคืน ดูหนังคนเดียว ฟังเพลงคนเดียว กินเหล้าของมึนเมา เสพยาเสพติด ฯลฯ ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์อื่นๆตามมา

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีอีกวิธีที่คนนิยมคือหาแฟนใหม่หาคนใหม่มาดามอก ซึ่งเป็นวิธีที่จะทำให้ยิ่งแย่เพราะเรื่องเก่ายังทุกข์ไม่หมดยังจะไปหาทุกข์ใหม่มาซ้ำตัวเองอีก จริงอยู่ว่าแรกรักนั้นเหมือนจะหวานแต่สุดท้ายก็ขมเหมือนกันหมด การที่เราได้โอกาสกลับมาโสดนี่คือสิ่งที่วิเศษที่สุดที่เขาหรือเหตุการณ์ใดๆมาดลให้เราต้องพลัดพรากก่อนเวลาที่เราคิด ซึ่งความโสดนี่แหละดีที่สุด

เมื่อเราได้ความโสดแล้วยังกลับไปหาการมีคู่ก็มักจะต้องกลับไปพบทุกข์เหมือนเดิม วนกลับไปที่หัวข้อแรก ทำไมต้องอกหัก? อกหักก็เพราะอยากมีคู่ อยากมีคู่มันก็เกิดจากกิเลส ถ้าไม่ดับกิเลสมันก็ทุกข์วนเวียนไปเรื่อยๆ ดังนั้นวิธีหาคู่มาดับทุกข์จึงเป็นวิธียอดแย่ที่คนกลับนิยมใช้มากและเข้าใจว่าเป็นวิธีที่ดีทั้งๆที่นั่นคือวิธีสร้างนรกซ้อนขึ้นมาอีกขุม เพราะกิเลสในนรกขุมเดิมก็ยังไม่ได้แก้ ยังเพิ่มกิเลสไปหานรกขุมใหม่เพิ่มให้ตัวเองอีก

วิธีแก้ไขอาการอกหักเบื้องต้นในทางโลกก็ทำให้พอดี ไม่ให้ฟุ้งซ่านเกินไป ไม่ให้มัวเมาจนเลอะเทอะ เพราะวิธีแก้เหล่านั้นไม่ใช่วิธีแก้ที่ยั่งยืน ไม่ได้ดับที่เหตุ เมื่อไม่ได้ดับที่เหตุ ทุกข์ก็ไม่มีวันดับ อาจจะกดไว้ ข่มไว้ ฝังไว้แต่มันจะไม่ดับ มันจะเหลือเชื้อให้กลับมาเป็นทุกข์ได้เสมอ ดังนั้นเราจะเข้าสู่เนื้อหาสาระจริงๆของวิธีแก้ไขการอกหักกันเสียที

อย่างที่เกริ่นกันตอนต้นว่าอาการทุกข์จากการอกหักนั้นเกิดจากกิเลส ซึ่งกิเลสนี้คือความยึดมั่นถือมั่นมาเป็นของตน เมื่อเรารักใคร คบใคร ผูกพันกับใคร หรือแต่งงานกับใครเราก็จะยึดมั่นถือมั่นเขามาเป็นตัวเราของเรา เป็นอัตตาของเรา แต่ก่อนสมัยเรายังโสด คำว่า “อัตตา” นั้นมีแค่ตัวเราของเรา แต่พอเรามีคู่อัตตาของเราก็จะกลายเป็น “ตัวฉันและตัวเธอ” การเอาคนอื่นมาเป็นส่วนหนึ่งของตัวเองนั้นเรียกว่าโอฬาริกอัตตา คือเอาวัตถุแท่งก้อน คนสัตว์ สิ่งของมาเป็นของตัว

ตอนแรกมันอยู่คนเดียวก็ปกติดี แต่พอมีคู่แล้วต้องกลับมาอยู่คนเดียวมันไม่ปกติเหมือนเก่า เพราะว่ากิเลสมันเพิ่มขึ้น แต่ก่อนอัตตามันมีแค่ฉัน พอมีคู่กลายเป็นฉันกับเธอ ก็ยึดมันไว้อย่างนั้น ยึดว่าเราต้องมีกันและกัน ต้องคู่กัน ชีวิตของฉันจะเป็นไปเมื่อมีฉันกับเธอ ฉันจะอยู่ไม่ได้ถ้าขาดเธอ ตามที่หนังรักมากมายได้หลอกให้เราเชื่อว่าความรักมันเป็นแบบนั้น คนเลยต้องทนทุกข์เพราะยึด เมื่อยึดแล้วโดนจับแยกก็เลยเจอสภาพขาด เพราะหลงเข้าใจไปว่าเขาหรือคู่ของเรานั้นเป็นตัวเราของเรา ทั้งๆที่จริงแล้วเขาไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับทุกข์กับสุขของเราเลย ความทุกข์ ความสุขที่เราได้รับนั้น เราปั้นปรุงแต่งขึ้นมาเองทั้งนั้น เราสุขจากการได้เสพสมใจในกิเลสโดยใช้เขาเป็นตัวบำเรอกิเลสของเรา สุดท้ายพอโดนพรากไปเราก็ไม่มีที่บำเรอกิเลสเหมือนเดิม อัตตามันไม่ถูกสนองให้เต็มเหมือนเก่ามันก็เลยต้องทุกข์

การจะออกจากอัตตาแบบยึดคนอื่นมาเป็นตัวเราได้นั้น ในระยะแรกนั้นต้องกลับมาเป็นตัวเองให้ได้ ต้องทำอะไรก็ได้ที่ทำให้ตัวเองเชื่อมั่นว่าฉันอยู่คนเดียวได้ ฉันอยู่คนเดียวก็มีคุณค่า เติมอัตตาตัวเองให้เต็มด้วยความเป็นตัวเอง เติมช่องว่างที่เคยขาดหายด้วยคุณค่าของตัวเอง หรือจะใช้วิธีเติมคุณค่าด้วยการช่วยเหลือคนอื่นก็ได้ เช่นงานจิตอาสาจะสามารถถมช่องว่างของอัตตาที่เคยขาดหายไปได้ง่าย เสมือนว่าเอาคนอื่นมาแทนแฟนเก่าใช้ระงับทุกข์ได้ดีระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ถึงรากแค่ระงับอาการทุกข์

เมื่ออัตตาได้เต็มกลับมาเป็นตัวของตัวเองได้แล้ว ยืนด้วยตัวเองได้แล้ว ไม่เสียใจ ไม่ทุกข์อีกแล้ว จะเกิดการยึดดี ความยึดดีนี้เองจะสร้างความเกลียด เมื่อเราเจอแฟนเก่าเราจะไม่ทุกข์เพราะเสียเขาไป แต่จะทุกข์เพราะเกลียดเขา จะเกิดอาการรังเกียจ ไม่อยากเห็นหน้า ไม่อยากร่วมโลก ไม่อยากสนใจ อันนี้เพราะเรามีอัตตาจัด

แน่นอนว่าเราเติมอัตตาให้เต็มมาเอง แต่สุดท้ายมันต้องทำลายอัตตาอีกที หลักตรงนี้คือ ต้องออกจากความทุกข์จากการอกหักด้วยการกลับมาอยู่กับตัวเองและทำลายความหลงติดหลงยึดกับตัวเองในตอนท้ายอีกที จึงจะสามารถพบกับความสุขแท้ที่เรียกได้ว่าพ้นจากทุกข์ของการเลิกราอย่างสิ้นเชิง

เมื่อเรามีอัตตามาก ยึดดีมาก มั่นใจในตัวเองมาก จะไม่สนใจแฟนเก่า แม้ว่าเขาจะดีเพียงใดก็จะไม่ใยดี รังเกียจ ความรู้สึกตรงนี้เป็นทุกข์ที่เกิดขึ้น การล้างทุกข์ตรงนี้ต้องล้างอัตตา ความยึดดีนั้นคือสภาพของการผลัก ผลักเขาออกจากชีวิต ไม่เอาเขาอีกต่อไปแล้ว หรือเรียกว่าเกลียด บางคนถึงกับไม่เผาผีกันเลย

ซึ่งการจะล้างการผลักนั้นต้องดูดกลับไปอีกที คือการพิจารณาคุณค่าของเขาเช่น เขาก็มาให้เราเรียนรู้ทุกข์นะ ถ้าไม่มีเขาเราจะเข้าใจความทุกข์ของคนมีคู่ได้อย่างไร ไม่มีเขาแล้วใครจะมาสะท้อนกิเลสเรา เขาเสียสละมาทำกรรมกับเราเพื่อให้เราชดใช้กรรมเชียวนะ ถ้าเขาไม่ทิ้งเราจะได้เจอกับความโสดที่แสนสุขไหม จริงๆเมื่อก่อนนั้นมันก็ดีนะ เราเองผิดเองที่เรามีกิเลส ฯลฯ

เมื่อพิจารณาไปมากๆความเกลียดเขาจะลดลง แต่ตรงนี้ต้องระวังให้มาก เพราะบางครั้งเราอาจจะออกด้วยอัตตาไม่เต็ม คือตอนมีอัตตามันยังมีเขาแทรกอยู่ในตัวเรา ในกิเลสเรา ทีนี้พอพิจารณาดูดเขากลับมันก็จะเลยเถิดกลับไปรักเขาเหมือนเดิม กลับไปคิดถึงเขาเหมือนเดิม ดีไม่ดีก็กลับไปคบเขาเหมือนเดิม นี่คือลักษณะของการล้างกิเลสที่ไม่เป็นลำดับทำให้พลาดหล่นลงนรกไปเหมือนเดิม ให้สังเกตดูดีๆว่าคิดถึงเขาแล้วเรายังแอบดีใจ แอบมีความสุข แอบคิดถึงบรรยากาศดีๆที่เคยมีให้กันอยู่หรือไม่ ถ้ายังมีอยู่อย่าเพิ่งคิดไปพิจารณาดูดหรือไปพิจารณาประโยชน์ของเขา ให้พิจารณาโทษให้ติดดี ให้เกลียดการมีคู่ให้มันเต็มๆก่อนแล้วค่อยว่ากันอีกที

เมื่อปรับระหว่างรักกับเกลียดผลักกับดูดได้แล้ว สุดท้ายมันจะสำเร็จลงที่ความเป็นกลาง กลางในที่นี้คือไม่กลับไปเสพเรื่องคู่ หรือไม่คิดกลับไปคบหากับแฟนคนก่อนอีก และไม่ทรมานตัวเองด้วยอัตตาคือไม่ถือดี ไม่ยึดดี ไม่เกลียดใครจนตัวเองทุกข์ จึงจะพ้นสภาพของความทุกข์ไม่ว่ากรณีใดๆ ไม่ว่าเขาจะเดินผ่าน ไม่ว่าเขาจะยิ้มให้ ไม่ว่าเขาจะเข้ามาคุย ไม่ว่าเขาจะพาแฟนใหม่มาเย้ย ไม่ว่าเขาจะต้องทุกข์ทนมานจากวิบากกรรมใดของเขา หรือไม่ว่าเขาจะต้องตายจากไปก็ตาม เราก็จะยังมีความยินดี ที่ครั้งหนึ่งเราเคยได้รักกันแม้ว่าทุกอย่างจะจบไปแล้วก็ตาม โดยไม่มีทุกข์ใดๆเข้ามาเจือปนในจิตใจให้หม่นหมองเลย

5….อกหักดีอย่างไร

ข้อดีของการอกหักมีมากมาย ตั้งแต่เราได้ใช้กรรม เราได้เห็นกิเลสตัวเองทำให้เรากลับมาสำรวจตัวเองว่าเรายังบกพร่องในเรื่องใดบ้าง เราได้เห็นกิเลสของคนอื่นทำให้เราได้เห็นว่าการบำรุงบำเรอกิเลสให้ใครนั้นทำเท่าไรก็ไม่พอ เราได้เห็นทุกข์ เราได้เห็นธรรม เราได้เข้าใจชีวิตมากขึ้น การอกหักครั้งหนึ่งสร้างการเรียนรู้ให้เราได้มากมาย และสิ่งที่ดีที่สุดของการอกหักก็คือ “ความโสด

คนที่ไม่อกหักก็จะไม่มีวันเข้าใจความทุกข์ของความโสด และไม่มีวันเข้าใจความสุขของการโสด ทั้งสองอย่างคือสิ่งที่เราต้องพบเจอไม่วันใดก็วันหนึ่ง ความทุกข์จากความโสดหรือโสดแล้วทุกข์เศร้าหมองนั้นเรามักจะเห็นกันเป็นประจำดังคำเรียกที่ว่า “คนอกหัก” แต่ความสุขของการโสด หรือ “โสดอย่างเป็นสุข” นั้นคือสภาพที่ใครหลายๆคนไม่ค่อยจะได้พบเห็นมากนัก แต่ถ้าจะยกตัวอย่างให้พอเห็นภาพกันได้บ้างก็คือคนที่หลุดจากนรกหรือเลิกคบกับคนที่นิสัยไม่ดี ตอนแรกก็หลงรักเขาอยู่พอเขาจะทิ้งก็ไม่ยอมนะ แต่สุดท้ายพอเขาทิ้งจริงๆ ก็กลับมีความสุขขึ้น แบบนี้ก็น่าจะมีเหมือนกัน

แต่โสดอย่างเป็นสุขนั้นเป็นขั้นกว่าเป็นสิ่งที่เหนือกว่า เพราะคำว่าโสดอย่างเป็นสุขนั้นหมายถึงการยินดีในความโสดจนเกิดเป็นความสุข เพราะรู้ดีแล้วว่าไม่มีสิ่งใดจะมีความสุขเท่าความโสด ไม่มีอิสระใดจะยิ่งใหญ่เท่าความโสด เป็นความสุขแท้ที่มีเพียงผู้ที่ล้างกิเลสได้อย่างแท้จริงเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงได้ ถ้าถามว่ามันสุขแบบไหน ก็คงจะตอบสั้นๆได้ว่า มีความสุขและความยินดีที่จะโสดตลอดชีวิต โสดทั้งชาตินี้และชาติหน้าและชาติอื่นๆสืบไป

6…ความรักหลังจากอกหัก

ความรักหลังจากอกหักของคนมีกิเลส ก็คงจะหาคนมาเติมเต็มช่องว่างของกิเลสที่ขาดหายไป ถมแล้วก็หาย เติมแล้วก็พร่อง แล้วก็ต้องหามาเติมอย่างนี้เริ่มไปไม่จบไม่สิ้น วนเวียนอยู่กับการมีรัก คบกัน อกหัก นานแสนนานตราบเท่าที่กิเลสนั้นจะดับไป

แต่คนที่อกหักแล้วสามารถล้างกิเลสได้จะต่างออกไป ความรักของคนที่ล้างกิเลสได้จริงจะเปลี่ยนชีวิตของเขาและเธอไปอย่างไม่มีวันกลับไปทุกข์เหมือนเดิม ความรักที่มีหลังจากนั้นจะมีความใสบริสุทธิ์กว่าที่เคย จะกลายเป็นรักที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น แม้ว่าจะมีการให้การเกื้อกูลดูแลการเอาใจใส่ แต่จะไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่เอาตัวเขามาเป็นตัวเรา ไม่เอาใครเข้ามาเป็นกิเลสร่วมกับเรา และไม่มีตัวเรา ไม่มีคนหลงรัก ไม่มีใครให้รักจนหลง มีแต่ความรักที่พร้อมจะให้ ให้กับใครก็ได้ พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อน มิตรสหาย ฯลฯ เพราะรู้ว่ารักแท้จริงนั้นเกิดจากการให้โดยไม่ยึดติด เมื่อไม่ยึดติดว่าต้องให้กับใครก็เลยยินดีที่จะให้ความรักกับทุกคน โดยไม่หวังอะไรตอบแทน

7….อกหักครั้งต่อไป

โดยทั่วไปคนที่เคยอกหักแล้ว มักจะเข้าใจว่าตัวเองได้เรียนรู้ข้อผิดพลาด ก็เลยมักอยากจะกลับไปลองของ เพราะความที่ตัวเองมีกิเลสอยากมีคู่ อาจจะด้วยความเหงาหรือความหื่นกระหายในสิ่งใดก็ตามแต่ เขาเหล่านั้นมักจะมั่นใจว่าครั้งต่อไปจะต้องไม่พลาด…แต่แล้วมันก็จะพลาดอีกอย่างเคย เพราะที่ใดมีรักที่นั่นก็มีทุกข์ ของมันคู่กันแบบนี้เราจะเลือกรับแต่ความสุขอย่างเดียวไม่ได้ ต้องรับความทุกข์ไปด้วย แต่ที่สำคัญก็คือความสุขที่ได้รับนั้น “เป็นความสุขลวง”ที่จะล่อให้เราหลงติดอยู่ในการมีคู่ต่อไป ให้เราตามหารักแท้ไปเรื่อยๆ ให้เราอกหักไปเรื่อยๆ ผิดหวังไปเรื่อยๆ

ชีวิตนั้นยังมีเรื่องอีกตั้งมากมายให้เราผิดหวัง รอคอยให้เราล้างกิเลส หากเรายังมัวยินดีที่จะผิดหวังกับเรื่องเดิมๆ เราก็จะไม่มีวันพบกับความสุขแท้ได้ คงจะมีแต่สุขลวงๆที่กิเลสนั้นใช้ล่อเราไว้กับโลกนี้ ล่อเราไปกับการมีรัก การคบหา การเลิกรา ทั้งที่ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงแค่ละครฉากหนึ่งที่กิเลสจัดฉากให้เราเล่น ให้เรารัก ให้เราหลง ให้เรายึด ให้เราทุกข์ ทรมาน เศร้าโศก คร่ำครวญ รำพัน เสียใจ คับแค้นใจ อยู่เรื่อยไป

อ่านบทความมาถึงตรงนี้แล้วอกหักครั้งต่อไปจะมีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับกิเลสในใจของเรา หากเรายังมีความยินดีที่จะกลับไปเสพสุขจากการมีคู่รักและพร้อมจะรับทุกข์ ก็ให้เรียนรู้ทุกข์ไปเรื่อยๆ เพราะสุดท้ายแล้วทุกคนก็ต้องบรรลุธรรมในชาติใดชาติหนึ่งอยู่ดีอาจจะชาตินี้หรือชาติต่อไปนานแสนนานเท่าไหร่ก็ไม่รู้ แต่คนเรานั้นจะสามารถทำทุกข์ได้เท่าที่จะทนทุกข์ได้ เมื่อทุกข์สุดทนก็จะเลิกทำทุกข์ให้กับตัวเอง ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม

– – – – – – – – – – – – – – –

24.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

อัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความดี กรณีศึกษามังสวิรัติ ภาวะเมื่อผ่านพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์

October 11, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,304 views 0

อัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความดี กรณีศึกษามังสวิรัติ ภาวะเมื่อผ่านพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์

อัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความดี กรณีศึกษามังสวิรัติ : ภาวะเมื่อผ่านพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์

เมื่อเราผ่านพ้นนรกของความอยากเสพเนื้อสัตว์มาแล้ว เราก็จะได้พบกับนรกอีกขุมคือความไม่อยากเสพ เป็นส่วนของกลับของกิเลสทุกตัว เป็นเสมือนหัวหน้าผู้ร้ายที่จะโผล่มาหลังจากผู้ร้ายตัวแรกได้ตายไป

ย้อนรอย…

เล่าย้อนไปถึงตอนที่เราได้สู้กับความอยากกินเนื้อสัตว์ใหม่ๆ เราต้องพากเพียรปฏิบัติ ถือศีลอย่างตั้งมั่น เฝ้าพิจารณาประโยชน์และโทษของสิ่งนั้นเพื่อล้างกิเลส โดยใช้ความทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย ความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน กรรมและผลของกรรมเข้ามาช่วยล้างกิเลส จนกระทั่งเราผ่านพ้นความอยากเสพเนื้อสัตว์ได้ด้วยใจที่เป็นสุข

แต่การจะได้มาซึ่งความสุขจากการไม่เสพนั้น เราก็จะได้ความเกลียดเนื้อสัตว์มาด้วย เพราะการจะออกจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งเราต้องรังเกียจ เห็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของสิ่งนั้น เมื่อก้าวผ่านการเสพกามกิเลส(ความอยากกินเนื้อสัตว์) จะเข้ามาสู่การเสพอัตตา(ความไม่อยากเสพเนื้อสัตว์) คือความยึดดี ถือดี ต้องเกิดดีจึงจะเป็นสุข

ในช่วงที่เรายังเสพเนื้อสัตว์อยู่นั้นก็จะมีอัตตาอยู่หนึ่งชุด เป็นอัตตาในกาม(ความอยากเสพเนื้อสัตว์) หลงยึดว่าเนื้อสัตว์เป็นสิ่งดี อร่อย มีคุณค่า ทำให้แข็งแรง ฯลฯ แต่เมื่อเราทำลายกามแล้ว เราก็จะมาเจออัตตาอีกชุดหนึ่งเหมือนเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ คือความไม่อยากเสพเนื้อสัตว์ ยึดว่าต้องไม่กินเนื้อสัตว์จึงจะดี กินแต่ผักจึงจะเจริญ หลงติดหลงยึดว่าการเป็นคนดี ติดดี ยึดดี การที่ตนกินมังสวิรัติได้เป็นสิ่งที่เลิศกว่าคนอื่นจนกระทั่งไปข่มเหงผู้อื่นได้ เราจะมาเรียนรู้อัตตาในภาคหลังนี้กัน

อัตตา…

ในตอนที่เราสามารถออกจากนรกแห่งความอยากเสพเนื้อสัตว์ได้ เราก็จะกลายเป็นคนติดดีโดยอัตโนมัติ สายตาจะมองคนที่ยังเสพเนื้อสัตว์ต่างออกไปจากตอนที่เรายังเสพเนื้อสัตว์ มองว่าการเสพเนื้อสัตว์นั้นน่ารังเกียจ มองว่าสังคมต้องไม่เบียดเบียนถึงจะดี มักจะมีอาการรังเกียจทั้งเนื้อสัตว์และคนที่ยังกินเนื้อสัตว์และคนที่สนับสนุนให้กินเนื้อสัตว์

อัตตานี้เองคือกิเลสที่ผลักดันให้คนในสังคมถกเถียงกัน และไม่ได้หมายความว่าคนที่ผ่านนรกเนื้อสัตว์เท่านั้นที่จะมีอัตตา คนกินมังสวิรัติ คนกินเจที่อยู่ในระหว่างการหัดกินก็สามารถมีอัตตาได้ แต่จะไม่แรงเท่ากับคนที่ผ่านความอยากนั้นมาแล้ว

อัตตาคือนรกของคนดี คืออาวุธของคนดีที่ใช้ปราบคนที่เขายังไม่รู้โทษชั่วของการกินเนื้อสัตว์ เหล่าคนดีที่สามารถข้ามความอยากจึงสามารถใช้ท่าที วาจา ถ้อยคำต่างๆไปย่ำยีคนที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะตัวเองนั้นเลิกกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว จึงไม่มีทางที่คนกินเนื้อสัตว์เหล่านั้นจะมาโต้กลับได้เลย

อัตตาคืออาวุธที่ร้ายแรง ร้ายกาจ เชือดเฉือนทำลาย ทำร้ายใจคนได้มากที่สุด ครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อม จะอยู่กันไม่เป็นสุขเพราะคนมีอัตตา ยิ่งเป็นนักมังสวิรัติที่มีอัตตาก็จะยิ่งร้ายกาจ ใช้ความดีเข้าไปทำลาย ทำร้ายจิตใจคนที่เขายังติดในกิเลส ยังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ ให้เขาเกิดความลำบากใจ อึดอัดขัดข้องใจ รำคาญใจ จนเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันได้

อัตตาไม่ใช่อาวุธที่จะนำไปทำลายกิเลสของคนอื่นได้ เมื่อใช้อัตตาหรือความยึดดีถือดีเข้าไปแนะนำคนอื่น รังแต่จะเพิ่มปัญหา เพิ่มความเจ็บป่วย ทุกข์ร้อน ทรมานให้กับเขา แต่การจะนำความรู้มังสวิรัติไปให้หรือแนะนำคนอื่นนั้น ต้องทำด้วยอนัตตา หรือความไม่มีตัวตน คือไม่มีตัวตนของกิเลส ไม่มีตัวตนของคนดี ไม่มีความยึดดี ไม่ถือดี ไม่จำเป็นต้องเกิดดีจึงจะเป็นสุข

อัตตานอกจากจะทำให้คนอื่นทุกข์แล้วยังทำให้ตัวเองทุกข์อีกด้วย เพราะเมื่อเรามีความยึดมั่นถือมั่นมาก เมื่อคนอื่นทำไม่ได้ดังใจเราหมาย หรือเมื่อเราแนะนำไปแล้วเขาไม่เอา เราก็จะมีอาการอกหักอกพัง เพราะเรายึดว่าเกิดดีจึงจะเป็นสุข พอไม่เกิดดีดังใจเราหมายเราก็จะเป็นทุกข์ ออกอาการได้ตั้งแต่มีอาการขุ่นใจ ไม่พอใจ ว่ากล่าวตักเตือนคนอื่นด้วยอัตตา กระทั่งทะเลาะเบาะแว้งกันได้

อัตตาคือความโง่ที่คนดีแบกไว้ เป็นคนดีที่แบกนรกไว้ทำลายตัวเองและทำลายคนอื่น ทำลายสังคมสิ่งแวดล้อม ทำลายโลก เพราะความติดดีนี้เป็นเหตุแห่งการทะเลาะกัน ไม่ว่าจะคนดีหรือคนไม่ดี หากเกิดการทะเลาะกันแล้วก็คือนรกทั้งคู่ คนดีที่ล้างอัตตาไม่เป็นก็จะหลงว่าตนดี ใช้ความดีทำร้ายทำลายคนอื่น พร้อมทั้งแบกทุกข์จากความไม่สมใจหมาย สะสมกิเลสข้ามภพข้ามชาติต่อไปอีกนานแสนนาน

อัตตาคือเกราะของกิเลสที่พอกตัวตนไว้ ทำให้คนดีไม่สามารถรู้ได้เลยว่าตัวเองนั้นเต็มไปด้วยกิเลส เพราะมัวแต่มองไปยังความไม่ดีของคนอื่น มองไปยังความผิดของคนอื่น ในขณะที่ตัวเองก็สั่งสมความยึดมั่นถือมั่นเข้าไปเรื่อยๆจนเป็นเกราะหนา จนกระทั่งไม่สามารถมีใครที่จะแนะนำและช่วยเหลือคนดีที่มีอัตตาหนานั้นได้ นั่นเพราะเขาไม่ยอมมองกลับมาในกิเลสของตัวเอง หลงในอัตตาและเชื่อมั่นเสมอว่าตัวเองดี เขาจึงต้องแบกอัตตา แบกตัวตน แบกทุกข์นั้นไปตลอดกาล

การทำลายอัตตา

การทำลายอัตตานั้นก็ใช้กระบวนการเดียวกับการทำลายกิเลสฝั่งกาม(ความอยากเสพเนื้อสัตว์) คือใช้กระบวนการสมถะ-วิปัสสนาเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยในการทำลายอัตตา โดยอัตตานั้นควรจะใช้ธรรมในพรหมวิหาร๔ เข้ามาร่วมกำจัดความยึดดีถือดีด้วย และใช้กรรมและผลของกรรมช่วยในการพิจารณา รวมกับหลักพิจารณาเดิมของเราคือความเป็นทุกข์ โทษ ภัย ความไม่เที่ยง เราไม่ใช่ตัวตนของกิเลสนั้น ประโยชน์และโทษในการมีอัตตานั้นๆ

การใช้พรหมวิหารเข้ามาช่วยจะทำให้เราสามารถสังเกตอาการติดดีได้ง่ายขึ้น เพราะคนที่มีอัตตา ยึดดี ถือดี จะติดตรงที่ไม่สามารถไปถึงอุเบกขาได้ เมื่อเขากินมังสวิรัติได้ดังหวังเราก็มีจิตยินดี มีความมุทิตากับเขา แต่เมื่อเขากลับไปกินเนื้อสัตว์ สั่งเนื้อสัตว์มากิน หรือเห็นคนอื่นกินเนื้อสัตว์ เราก็กลับมีอาการขุ่นข้องหมองใจ แทนที่จะปล่อยวาง เรากลับรู้สึกยินร้าย รู้สึกไม่พอใจที่เขาไปกินเนื้อสัตว์ นั่นคือเราไม่สามารถปฏิบัติจนถึงภาวะอุเบกขาได้

เราต้องเจริญพรหมวิหาร๔ ให้มากจึงจะมีกำลังดับอัตตา สร้างจิตที่เมตตาให้ทั้งสัตว์ที่ต้องเกิดมาเพื่อเป็นอาหารของคนที่มัวเมาในกิเลส และเมตตาไปถึงคนที่ยังหลงว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งดี กรุณาโดยการไม่กินเนื้อสัตว์และช่วยสอนให้ผู้ที่ยังกินเนื้อสัตว์ได้เห็นโทษของการเบียดเบียน มุทิตาโดยการยินดี เมื่อเขาเหล่านั้นสามารถลด ละ เลิก เนื้อสัตว์ได้ตามกำลังของเขา และอุเบกขาเมื่อทุกสรรพสิ่งนั้นไม่ได้เป็นไปดังใจหมาย สัตว์ก็ต้องถูกฆ่าเพื่อมาเป็นอาหารอยู่ทุกวัน คนมีกิเลสก็ต้องอยากกินเนื้อสัตว์ เมื่อเราสร้างความเป็นพรหมขึ้นในใจได้ดังนี้แล้วจะช่วยลดอัตตาได้อย่างดี

ในข้อกรรมและผลของกรรมก็ต้องพิจารณาให้มาก สัตว์ที่ถูกฆ่าตายนั้นก็มีกรรมเป็นของเขา เขาทำกรรมนั้นมาจึงต้องเกิดเป็นสัตว์ ต้องถูกขัง ต้องถูกทรมาน สุดท้ายก็ต้องโดนฆ่าเพราะกรรมนั้นเองที่เขาเหล่านั้นทำมา แต่ถูกฆ่าแล้วก็จบไป ได้ใช้กรรมไปหนึ่งเรื่อง สุดท้ายสัตว์เหล่านั้นก็เกิดมาใช้กรรมใหม่จนกว่าจะหมดวิบากอยู่ดี เราน่าจะสงสารและเข้าใจคนที่กินเนื้อสัตว์มากกว่า ว่าพวกเขาล้วนยังไม่เห็นถึงโทษภัยแห่งการเบียดเบียนเขาจึงต้องรับกรรมที่ตนก่อโดยที่ไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นสิ่งที่นำโทษภัยมาให้เขาเอง พระพุทธเจ้าตรัสว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” คนที่ยังเบียดเบียนจึงต้องพบกับโรคภัยไข้เจ็บและไม่สามารถมีชีวิตอยู่สร้างกุศลได้นานก็ต้องจากไป

และการที่เราไปมีอัตตานั้นก็กลายเป็นกรรมของเราเช่นกัน การที่เราไปทำร้ายจิตใจคนอื่นด้วยความติดดีเราก็สะสมกรรมชั่วลงในจิตใจของเราไปด้วย นั่นก็คือการเบียดเบียนคนอื่น เมื่อเบียดเบียนคนอื่นก็จะมีโรคมากและอายุสั้น สะท้อนเป็นการเบียดเบียนตัวเองในทีเดียวกัน ดังจะเห็นได้ว่าคนดี หรือคนติดดีนั้นก็สามารถป่วยด้วยโรคร้ายและตายไวกันได้เหมือนคนทั่วไป

เมื่อเราได้พบผู้คนที่ยังไม่เห็นคุณค่าของการกินมังสวิรัติ ให้พึงพิจารณาว่าเราก็เคยเป็นเช่นนั้นมา การที่เราไม่สามารถที่จะสอนหรือแนะนำเขาได้ หรือแม้แต่แนะนำแล้วเขาไม่สนใจ หรือสนใจก็ไม่สามารถที่จะกินมังสวิรัติได้ ความขุ่นข้องหมองใจจากความไม่ประสบความสำเร็จนี้ส่วนหนึ่งก็เกิดมาจากกรรมเก่าของเรา เมื่อสมัยที่เรายังหลงมัวเมาในความอยากกินเนื้อสัตว์ในชาติใดชาติหนึ่งอยู่ มีคนมาแนะนำเรา เราก็ดื้อ ไม่เอา ตีทิ้งคนที่มาแนะนำสิ่งดีๆเหมือนกัน ดังนั้นเมื่อเราสามารถปฏิบัติชีวิตมังสวิรัติได้ดี ก็ให้เข้าใจเรื่องกรรมด้วยว่ากว่าที่เราจะมากินมังสวิรัติได้ เราได้เคยทำให้เหล่าคนดีไม่พอใจมาหลายชาติแล้ว ดังนั้นการที่เราจะได้รับความไม่สมใจก็เป็นสิ่งที่สมควรแล้ว เพราะเราสร้างมาเอง

ความเป็นทุกข์ ความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน หรือการพิจารณาไตรลักษณ์ ให้เราพิจารณาไปว่าการมีอัตตายึดดีถือดีแบบนี้ทำให้เราและคนอื่นเป็นทุกข์อย่างไร สิ่งที่เรายึดมั่นถือมั่นไว้มันจะยั่งยืนตลอดกาลหรือ มันจะไม่แปรเปลี่ยนเลยหรือ แท้จริงแล้วอัตตานั้นก็ไม่ใช่ตัวตนของเราเป็นสภาพหนึ่งของกิเลสที่เข้ามาหลอกเราว่าเราหมดกิเลสแล้ว จริงๆอัตตานี้ไม่ใช่เรา เราไม่จำเป็นต้องมีอัตตา ไม่จำเป็นต้องมีตัวกูของกู

การพิจารณาประโยชน์ของการไม่มีอัตตาและโทษของการมีอัตตานั้นก็สามารถที่จะช่วยล้างอัตตาได้อย่างดีเยี่ยม เช่น ถ้าเรายังมีอัตตาอยู่ เราก็มักจะไปซัดอาวุธด้วยวาจาอันเชือดเฉือนใจใส่คนอื่นอยู่บ่อยครั้ง อาจจะทำให้เกิดการบาดหมางใจ ผิดใจกัน จนถึงขั้นทะเลาะกันได้ แต่ถ้าเราไม่มีอัตตาเราก็จะสามารถอยู่กับคนอื่นได้อย่างมีความสุข เรากินมังสวิรัติก็กินไป เขากินเนื้อสัตว์ก็กินไป เราไม่รู้สึกยินดียินร้ายอะไร ก็สามารถจะอยู่กันได้ วันใดที่เขาเห็นคุณค่าเขาก็จะมากินมังสวิรัติตามเราเอง เป็นต้น

เพียรพิจารณาข้อธรรมเหล่านี้ตามกำลังที่มีด้วยความตั้งใจ ตั้งมั่นให้เห็นถึงโทษชั่วของการมีอัตตา ความติดดี ยึดดี ถือดี ว่าคนอื่นจะต้องไม่กินเนื้อสัตว์จึงจะดี

สภาพหลังจากทำลายอัตตา

เมื่อผ่านพ้นอัตตาแล้ว เราจะสามารถร่วมโต๊ะกับครอบครัว กับเพื่อน กับญาติมิตรสหายได้โดยไม่รู้สึกรังเกียจ ไม่รู้สึกขุ่นเคืองใจที่เขายังกินเนื้อสัตว์ แม้ว่าเราจะแนะนำไปแล้วเขาจะไม่สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ดังใจเราหมายได้ เราก็สามารถปล่อยวางได้ ไม่มีอาการติดดี ยึดดี ถือดี

และถึงแม้ว่าเราจะไปร่วมโต๊ะกับเขา เราก็จะยินดีที่จะไม่กินเนื้อสัตว์ ผู้ที่สามารถผ่านนรกของการเสพเนื้อสัตว์ จะมีปัญญาในการเอาตัวรอดจากสภาพต่างๆ ในการกินอาหารร่วมกับคนอื่น หรือการกินอาหารในถิ่นที่ไม่คุ้นเคย จนเรียกได้ว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถละเว้นเนื้อสัตว์กินแต่ผักได้โดยมีความสุขใจ อิ่มใจ สบายใจ แม้ว่าจะต้องกินแต่ข้าวเปล่าก็ยังมีความสุขกว่าการกินข้าวปนกับเนื้อ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความยึดมั่นถือมั่น แต่เป็นปัญญาที่รู้โทษของการเสพเนื้อสัตว์ จนยินดีที่จะละเว้นเนื้อสัตว์ต่างๆอย่างมีความสุข

เมื่อผ่านพ้นอัตตาแล้วหากได้ลองกินเนื้อสัตว์ก็จะไม่รู้สึกรังเกียจ ไม่มีความขุ่นข้องหมองใจ ทุกข์ใจ กระวนกระวายใจ แต่จะรู้สึกเฉยๆตามความเป็นจริง กินก็ได้ แต่ก็คายทิ้งได้เหมือนกัน เพราะไม่ได้ติดในรสของเนื้อสัตว์นั้น เป็นกระบวนการตรวจสอบอัตตาของผู้ที่ยังสงสัยว่าตัวเองติดอยู่หรือไม่ เพราะถ้าผ่านอัตตา จะไม่มีอาการผลัก แต่จะรู้สึกถึงโทษของการกินเนื้อสัตว์จนไม่กินเอง และก็ไม่ได้มีความทุกข์อะไร สุดท้ายคนที่ผ่านทั้งกาม(อยากกินเนื้อสัตว์)และอัตตา(ไม่อยากกินเนื้อสัตว์)จึงไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยความยินดี ไม่มีทั้งอาการผลัก หรืออาการดูด เนื้อสัตว์ชั้นดีมาวางเสริฟไว้ตรงหน้าก็เฉยๆ มีคนจับยัดเข้าปากก็ไม่โกรธไม่รังเกียจ ..แต่ไม่กิน ถึงจะกินเข้าไปก็ไม่มีรสสุข จะไม่เกิดสุขลวงๆจากการเสพอีกต่อไป ไม่ยินดีในสุขลวงนั้น เพราะรู้ว่าสุขจากการออกจากนรกเนื้อสัตว์ทั้งกามและอัตตานั้นเป็นสุขยิ่งกว่า หาสิ่งใดเปรียบไม่ได้ เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม

อัตตาซ้อนอัตตา

หลังจากผ่านอัตตา เราอาจจะเจอสภาพหนึ่งซ้อนเขามาคืออัตตาอีกตัวหนึ่ง เมื่อเราไม่เสพเนื้อสัตว์และไม่ติดดีแล้ว เราอาจจะเกิดอาการ เกลียดคนติดดีอีกทีหนึ่ง นั่นเพราะเราเพิ่งออกจากนรกคนติดดีมาได้ เมื่อเราเห็นคนกินมังสวิรัติที่ติดดีไปทำร้ายทำลายจิตใจของผู้ที่ยังเสพเนื้อสัตว์ เราก็มักจะมีอาการไม่พอใจคนที่ติดดีนั้น คนกินเนื้อสัตว์เราไม่โกรธแล้วนะ เพราะเราเข้าใจ เราเข้าใจเพราะเราผ่านความติดดีมาได้ แต่จะมาติดดีกว่าอีกที คือไปเพ่งโทษคนติดดีอีกที

เห็นไหมว่ากิเลสมันมีลีลาของมันเยอะมาก ผ่านตัวนั้นก็ต้องมาติดตัวนี้ พอฆ่าตัวนี้ก็ต้องไปกำจัดตัวโน้นต่อ แล้วปลายทางมันอยู่ตรงไหน?

มันก็อยู่ที่กำจัดอัตตาที่ซ้อนอยู่นี่แหละ เหมือนเป็นหัวหน้าใหญ่ที่จะออกมาเมื่อผ่านนรกคนดี เป็นกิเลสที่เฝ้าประตูสู่ความสุขแท้ เราก็ต้องกำจัดมันให้ได้โดยการพิจารณาธรรมเหมือนเดิมแต่โจทย์นั้นเปลี่ยนไปเป็นล้างความรังเกียจคนดี เพราะจริงๆกว่าคนจะมาติดดีได้นั้นมันยากมาก เขาต้องบำเพ็ญเพียรมาหลายต่อหลายชาติกว่าจะมาเลิกกินเนื้อสัตว์จนมาติดดีได้ แล้วทีนี้เราก็โง่ไปเพ่งโทษคนดี ไปรังเกียจคนที่เขาทำดี แล้วมันจะเกิดดีไหมล่ะ

นั่นเพราะส่วนหนึ่งเราเพิ่งจะออกจากนรกคนดีได้ เมื่อเราออกจากสิ่งใดได้ เราก็มักจะรังเกียจสิ่งนั้น เพราะการจะออกจากสิ่งใดได้ ต้องใช้ความรังเกียจ ความไม่ชอบใจในสิ่งนั้นออกมาก พอออกมาแล้วเราก็ต้องล้างความรังเกียจนั้นอีกที เมื่อล้างหมดก็ถือว่าจบกิจ ปิดชุดงานกิเลสมังสวิรัติได้เลย เพราะจะไม่มีทุกข์เกิดอีก แม้จะมีเนื้อสัตว์ชั้นดีวางตรงหน้าก็ไม่กินด้วยความยินดี แม้ว่าจะมีคนมากมายยินดีกับการกินเนื้อสัตว์เราก็ไม่ยินร้ายกับเขา และแม้ว่าจะเห็นคนติดดีเข้าไปทำร้ายคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ เราก็จะไม่รู้สึกถือสาอะไร เพราะเข้าใจคนติดดี

เมื่อจบกระบวนการทั้งหมดนี้ มันก็ไม่รู้จะไปทำอย่างไรให้มันทุกข์ ใครจะกินเนื้อสัตว์ก็กินไป สัตว์จะเกิดจะตายก็ตายไป ใครจะติดดีมีอัตตาก็ติดไป เราก็ปล่อยวางความทุกข์ได้ทั้งหมด เหลือสุข เป็นสุขจากการไม่เสพสิ่งใด เป็นสุขจากการหมดกิเลสในเรื่องนั้นๆ แล้วเราก็จะกินมังสวิรัติไปเรื่อยๆ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นจากเรื่องมังสวิรัติไม่ว่ากรณีใดๆ

– – – – – – – – – – – – – – –

11.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

โพชฌงค์ สติปัฏฐาน ฌาน และสภาพจิตสุดท้ายของการกินมังสวิรัติ

October 9, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,588 views 0

โพชฌงค์ สติปัฏฐาน ฌาน และสภาพจิตสุดท้ายของการกินมังสวิรัติ

โพชฌงค์ สติปัฏฐาน ฌาน และสภาพจิตสุดท้ายของการกินมังสวิรัติ

เมื่อเราเรียนรู้การกินมังสวิรัติโดยใช้การปฏิบัติศีลเป็นตัวตั้งต้นกันแล้ว ก็จะเข้ามาสู่กระบวนการของการชำแหละกิเลส คือวิจัยให้เห็นองค์ประกอบของความอยากกินเนื้อสัตว์ เป็นกระบวนการที่จะใช้กำลังปัญญาและสมาธิอย่างหนัก เพียรพยายามหาคำตอบว่าทำไมเราจึงต้องอยากกินเนื้อสัตว์ ทำไมความอยากกินเนื้อสัตว์ถึงยังไม่หายไป ทำไมเมื่อกินเนื้อสัตว์ถึงยังรู้สึกอร่อยอยู่

การปฏิบัตินี้เป็นลักษณะของการวิปัสสนา คือการพิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริง ทำให้รู้แจ้งเห็นจริงตามที่มันควรจะเป็น ไม่ใช่ตามที่กิเลสของเราอยากให้มันเป็น โดยใช้ธรรมะเข้ามาเป็นหลักในการปฏิบัติ และอธิบายสภาวธรรมหรือสภาพของจิตใจที่จะเกิดขึ้นในแต่ละลำดับขั้นตอน โดยธรรมที่จะนำมาใช้ในบทความนี้ได้แก่ โพชฌงค์๗ ,สติปัฏฐาน๔ ,ฌาน๔ ,อานิสงส์ของศีล๙ ,สภาวะของนิพพาน๗ ซึ่งในบทความนี้ก็จะอธิบายขั้นตอนหลังจากที่เราถือศีลกินมังสวิรัติและได้พบกับความอยากในการกินเนื้อสัตว์ ไปจนจบที่ความรู้สึกสุขแม้จะไม่ได้เสพเนื้อสัตว์หรือที่เรียกกันว่าจบกิจของกิเลสนั้นๆ ซึ่งจะใช้การร้อยเรียงธรรมะทั้งหมดเข้ากันเพื่ออธิบายถึงสภาวธรรมที่สอดคล้องกันในธรรมแต่ละบท

มาเริ่มกันเลย…

เมื่อเรากินมังสวิรัติมาได้ระยะหนึ่ง สามารถกดข่ม อดทนต่อความอยากมาได้สักพัก เราก็จะสามารถที่จะเห็นกิเลสหรือความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นชัดเจนมากยิ่งขึ้น เห็นความคิดที่คอยให้เหตุผลพาให้เรากลับไปกินเนื้อสัตว์อยู่เสมอ หลายคนสามารถกดข่ม ตัดรอบ ปัดทิ้งความรู้สึกอยากกินนั้นไปได้ แต่แท้ที่จริงความอยากนั้นยังคงมีอยู่ เพียงแค่เรากดมันไว้ปิดบังมันไว้ ความอยากไม่ตายและจากไปไหน มันยังวนเวียนมาให้เราได้กดข่มไว้เรื่อยๆ ซึ่งการที่เราสามารถกดข่มในเบื้องต้นได้ ไม่ไปเสพเนื้อสัตว์ ยอมไม่ให้ศีลขาดนั้นเป็นการกระทำที่ดีแล้ว แต่จะดีกว่าถ้าเราได้กำจัดความอยากหรือกิเลสเหล่านั้นอย่างสิ้นเกลี้ยง

โพชฌงค์ คือองค์แห่งการบรรลุธรรม เป็นเครื่องทำลายกิเลส การจะปฏิบัติโพชฌงค์ให้ถูกต้องนั้น จึงจำเป็นต้องมีกิเลสเป็นตัวตั้งต้น เริ่มต้นจากการเลือกกิเลสสักตัวตามกำลังของเรา เมื่อมีกิเลสเป็นวัตถุดิบเข้ากระบวนการของโพชฌงค์แล้วปลายทางที่ได้คือการปั่นย่อยทำลายกิเลสเหล่านั้นจนได้ปัญญารู้แจ้ง คือผลเจริญจากการทำลายกิเลสเหล่านั้น

เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะ คือความรู้ตัวทั่วพร้อมแล้ว จึงนำมาสู่การสำรวมกาย วาจา ใจ ไม่ให้เราไปเสพเนื้อสัตว์ เมื่อจิตใจเข้าสู่สภาพปกติ จึงจะเข้าสู่สภาวะของสติที่เป็นพุทธแท้ๆ เป็นธรรมะข้อแรกของโพชฌงค์ ๗

(1) สติ (โพชฌงค์ ๗)

สติที่ถูกต้องสู่การพ้นทุกข์นั้นคือ “สติปัฏฐาน๔” เป็นสติที่มีไว้เพื่อชำแหละกิเลส รู้การเปลี่ยนแปลงของกายหรือตัวรู้ข้างในโดยการรู้ผ่านการเปลี่ยนแปลงของร่างกายข้างนอก รู้ถึงความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ได้ว่าเป็นเวทนาอย่างเคหสิทตะหรือเนกขัมมะ รู้ไปในทุกท่วงท่าของจิตที่เกิดกิเลสว่ากิเลสนั้นคือตัวไหน รู้ไปถึงธรรมที่คู่ควรในการชำระล้างกิเลสนั้นๆโดยจะขอยกตัวอย่างการใช้สติปัฏฐาน๔ กับความอยากกินเนื้อสัตว์ดังนี้

กายในกาย : เมื่อเราได้เห็นเนื้อสัตว์ที่เคยชอบกิน ร่างกายจะเกิดอาการขึ้นมาเช่น กลืนน้ำลาย ท้องร้อง น้ำลายสอ ซึ่งเป็นลักษณะที่รับรู้ได้โดยการรู้สึกไปถึงข้างในจิตใจ คือให้อาการทางร่างกายสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของใจ ซึ่งการปฏิบัติของเราก็จะเป็นการปฏิบัติที่ใจ เมื่อจับการเปลี่ยนแปลงของใจผ่านร่างกายแล้วจึงนำไปสู่เวทนา

เวทนาในเวทนา : เมื่อรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของใจเมื่อผัสสะเข้ามากระทบแล้ว เราก็จะรู้ลึกไปถึงเวทนาว่าความรู้สึกของใจนั้น เป็นทุกข์ สุข หรือเฉยๆ ในกรณีที่เราถือศีลกินมังสวิรัติแล้วยังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติ จะเกิดเวทนาได้กรณีเดียวคือ เนกขัมมสิตโทมนัส คือความความเสียใจอย่างนักบวช เป็นความรู้สึกทุกข์ที่ต้องอดทนอดกลั้นไม่ไปกินเนื้อสัตว์แม้ว่าจะมีความอยากกินเนื้อสัตว์ก็ตาม

จิตในจิต : เมื่อรู้ว่าจิตเกิดทุกข์แล้วก็จะดูต่อว่าจิตของเรานั้นมีกิเลสตัวไหน มีเหตุอันใดให้เราต้องทุกข์ เป็นขั้นตอนการขุดค้นไปถึงสมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์ ซึ่งเราได้รู้ทุกข์จากเวทนาแล้ว จึงนำมาเป็นหลักฐานในการหาเหตุแห่งทุกข์ในจิตต่อ ในกรณีของเนื้อสัตว์นี้จะลองยกตัวอย่างเป็นว่า เราติดสเต็กชิ้นหนึ่งแล้วเราถือศีล จึงทุกข์เพราะความอยากแต่ไม่ยอมไปกิน จิตในจิตคือหาเหตุนั้นว่าเราอยากเพราะอะไร ซึ่งอาจจะเป็นเราอยากกินสเต็กชิ้นนั้นเพราะความติดในรสชาติ ติดในกาม ติดในความนุ่มความเหนียวของเนื้อสัตว์ เมื่อลองค้นได้ดังนี้เราก็จะไปขั้นต่อไป

ธรรมในธรรม : เมื่อเราค้นเจอรากของกิเลสแล้ว ในกรณีที่ยกตัวอย่างก็จะเป็นการติดความอยากเสพในรสสัมผัส เป็นราคะ โดยรวมแล้วการจะฆ่าล้างราคะต้องใช้อสุภะคือความไม่งามเข้าไปฆ่าความอยากเสพนี้ ความไม่งามในกรณีนี้คือความเสื่อมของรสสัมผัสเช่นเราไม่มีวันได้กินของที่อร่อยลิ้นตลอดไปหรอกมันต้องเสื่อมเข้าสักวัน วันไหนที่เราไม่ได้กินเนื้อที่นุ่มก็จะทุกข์ หรือไม่ก็พิจารณาอสุภะแบบรวมโดยการพิจารณากระบวนการอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ การผสมพันธุ์ การเลี้ยง การฆ่า การชำแหละ การแปรรูปเนื้อสัตว์ จนเข้ามาถึงปากเรา ถ้าพิจารณาธรรมถูกธรรม ก็จะช่วยลดความอยาก ลดราคะเหล่านี้ได้

…สติปัฏฐาน ๔ นี้ เป็นธรรมะที่ทำงานไปด้วยกันอย่างเป็นระบบ แต่ละองค์ธรรมนั้นทำหน้าที่ต่างกันแต่เป็นก้อนเดียวกัน ไม่สามารถแยกออกมาปฏิบัติได้ เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องสอดคล้อง เป็นไปเพื่อชำแหละให้เห็นถึงทางแก้กิเลส

(2) ธัมมวิจยะ(โพชฌงค์ ๗)

การวิจัยข้อธรรม เป็นกระบวนการของการวิปัสสนา โดยใช้สติปัญญาใช้ความรู้จากการทบทวนธรรม ตึกตรองใคร่ครวญธรรม ฟังธรรม สนทนาธรรม เพื่อหาข้อธรรมที่จะมาช่วยล้างกิเลสนั้นๆ พิจารณาให้ลึกและละเอียดลงไปเรื่อยๆ ว่ามีธรรมใดที่จะเข้ามาช่วยชำระล้างกิเลสนี้ได้

ในกรณีของการกำจัดกิเลสคือความอยากกินเนื้อสัตว์นี้ เราก็จะพิจารณาข้อมูลที่เราได้รับมา เช่น การกินเนื้อสัตว์เบียดเบียนตัวเองและสัตว์อื่นอย่างไร การมีความอยากเป็นทุกข์อย่างไร ถ้าไม่ได้กินสมใจอยากจะทุกข์ร้อนแค่ไหน โดยใช้ประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มาเข้าทำการวิจัยกิเลส ซึ่งอาจจะไปศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมก็ได้

(3) วิริยะ(โพชฌงค์ ๗)

คือการเฝ้าพิจารณาธรรมอย่างเพียรพยายาม ใช้ทั้งสมถะและวิปัสสนาเข้ามาในกระบวนการพิจารณาฆ่ากิเลสนี้อย่างตั้งมั่น ไม่ท้อถอย อดทนฟันฝ่าความอยากแม้จะยากลำบากก็เพียรพิจารณาต่อไป เพราะรู้ถึงผลว่าสุขที่มากกว่าเสพยังมี เป็นวิริยะที่เกิดจากปัญญา เป็นความเพียรที่มีความสุขจากการไม่มีกิเลสเป็นแรงผลักดัน หวังจะให้เกิดผลที่เจริญจึงตั้งใจทำไปเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง

… กระบวนการข้างต้นทั้งหมดนั้นจะสอดคล้องไปกับสภาวะของฌาน๑ คือวิตกวิจารณ์ คือการเฝ้าพิจารณา ทุกข์ โทษ ภัยผลเสีย ความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ประโยชน์และโทษ กรรมและผลของกรรมในกิเลสตัวนั้นๆ ซึ่งในกระบวนการนี้จะใช้เวลามากน้อยก็แล้วบุญบารมีที่บำเพ็ญเพียรสะสมมา บางเรื่องพิจารณาไม่นานก็สามารถหลุดพ้นได้ บางเรื่องเฝ้าพิจารณาเป็นเดือนเป็นปีก็ยังไม่สามารถชำระกิเลสได้ ทำได้เพียงแค่ให้มันเบาบางลง ซึ่งเราก็ต้องเพียรวิตกวิจารณ์ไปเรื่อยๆจนกว่าจะหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสนั่นเอง

เมื่อเพียรพิจาณาธรรมจนถึงจุดหนึ่งที่ปัญญานั้นเต็มรอบ จากปัญญาที่เคยเป็นมรรค (วิถีทาง ความรู้ความเข้าใจ ข้อปฏิบัติ) จะกลายเป็นปัญญาที่เป็นผล (ข้อสรุป ผลเจริญ วิมุตติ) เราจะได้รับความรู้บางอย่างที่รู้ชัดแจ้งเพียงพอที่จะมีกำลังตัดกิเลส รู้ว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นเป็นภัยกับชีวิตของเราและคนอื่นอย่างไร เป็นปัญญาที่จะตัดกิเลสได้อย่างหมดจด ไม่ใช่ปัญญาในลักษณะที่ “รู้หมดแต่อดไม่ได้” แต่เป็นปัญญาที่รู้และเข้าใจทุกอย่างในกิเลสนั้นๆ และจะไม่มีวันกลับไปเสพอีกต่อไป

(4) ปีติ(โพชฌงค์ ๗)

หลังจากที่เราได้รับปัญญาที่เป็นผลจากการเพียรพิจารณาล้างกิเลส ก็จะเกิดความรู้สึกปีติยินดี ดีใจ ตื่นเต้น ใจฟู ฯลฯ สำหรับคนที่เข้าสู่สภาวะของปีติอาจจะมีระดับความดีใจรุนแรงแตกต่างกันไป เช่นถ้าเราสามารถชำระกิเลสที่พาให้ทุกข์มาก ยากมากได้ ก็อาจจะเกิดปีติแรง เหมือนพลุแตกระเบิดออกจากกลางตัว สว่างวาบจนรู้สึกถึงพลังที่อิ่มเอม ชุ่มฉ่ำได้ ลักษณะของปีตินั้นเกิดได้ถึง 5 แบบ คือปีติเล็กน้อย ปีติชั่วขณะ ปีติเป็นพักๆ ปีติโลดลอย ปีติซาบซ่าน เป็นความปลาบปลื้มยินดีอิ่มใจในฌาน

… ปีตินั้นจะสอดคล้องไปกับสภาวะของฌาน๒ คือปีติ จะมีสภาพเดียวกัน

(5) ปัสสัทธิ(โพชฌงค์ ๗)

คือสภาพที่ปีติค่อยๆคลายลง ลดความอิ่มเอิบลง ค่อยๆสงบลงจากดีใจก็กลายเป็นความสุขใจแบบนิ่งๆ เย็นอยู่ในใจเป็นสภาพที่ผ่อนคลายมากกว่าเดิม

(6) สมาธิ(โพชฌงค์ ๗)

คือสภาพที่เห็นความต่อเนื่องของสภาวธรรมที่ได้ รู้ว่าความเจริญนั้นได้ตั้งมั่นอยู่ในใจแล้ว รู้ว่ากิเลสนั้นได้คลายลงแล้ว เป็นความสงบที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สงบจากกิเลสนี้ตลอดไป

… ปัสสัทธิจนถึงสมาธินั้นจะสอดคล้องไปกับสภาวะของฌาน๓ คือสุข คือสภาพที่ต่อจากปีติสงบลงจนเป็นสุข จะรู้สึกอิ่มเอิบอยู่ในใจเล็กๆ เบาใจสบายใจ รู้ได้เองว่านี่คือสภาวะที่สุขกว่าตอนมีกิเลสมาก เบาบาง กินพลังงานน้อย จะรู้สึกยินดีกับสภาวะนี้ การเกิดปีติจนมาถึงสุขอาจจะใช้เวลาเพียงสั้นๆ เพียงชั่วครู่ก็จะสงบลงมาเอง

(7) อุเบกขา(โพชฌงค์ ๗)

เป็นสภาพสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นจากกระบวนการล้างกิเลส และจะเป็นสภาพนี้ต่อไปเรื่อยๆ เมื่อสุขได้สงบลงแล้วก็จะพบกับอุเบกขา เมื่อเราได้พิจารณาฆ่าล้างกิเลสมาตั้งแต่ในช่วงแรก เพียรพยายามจนสามารถละทุกข์จากเหตุแห่งทุกข์ได้แล้ว แล้วก็จะมาละสุขที่เป็นผลจากความเจริญที่ได้รับจากการพิจารณา จบลงที่ความปล่อยวาง ไม่ทุกข์ ไม่สุข ไม่ยินดีไม่ยินร้าย เพราะได้กำจัดกิเลสเหล่านั้นสิ้นแล้ว นี่คือสภาวะของอุเบกขา เป็นสภาพที่ไม่กินพลังงานใดๆเลย เพราะไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดไว้ และเราก็จะได้พลังคืนมาจากที่เราเคยเสียไปให้กับกิเลส เช่น เราไม่ต้องเสียเวลาไปหาเนื้อสัตว์กิน ความเจ็บป่วยที่จะได้รับจากพิษของเนื้อสัตว์จะหมดไป นี่คือตัวอย่างสิ่งที่เห็นได้เป็นรูปธรรม และยังมีผลทางนามธรรมอีกมาก

… อุเบกขาจะสอดคล้องไปกับสภาวะของฌาน๔ คืออุเบกขาเช่นกัน เป็นสภาพเดียวกันที่เกิดขึ้น

ทั้งหมดนี้คือฌานฆ่ากิเลส เป็นฌานที่เพ่งเผากิเลส ไม่ใช่ลักษณะของฌานสมถะหรือฌานฤาษีที่นั่งสมาธิแล้วเข้าภพเข้าภวังค์เกิดสภาพจิตต่างๆไปตามลำดับ แต่เป็นฌานที่ตั้งต้นด้วยกิเลสและทำความเพียรเพ่งพิจารณาเผากิเลสจนเกิดเป็นสภาพของวิตกวิจารณ์ ปีติ สุข อุเบกขา เป็นความรู้สึกเดียวกับอาการที่เกิดเมื่อนั่งเข้าฌานสมาธิ แต่จะต่างกันตรงที่สามารถเผาทำลาย ชำระกิเลสให้ตายได้ด้วย เมื่อกำจัดกิเลสเสร็จก็ไม่ต้องเข้าฌานใหม่ เพราะกำจัดกิเลสจบแล้วก็ได้อุเบกขามาอย่างถาวร

ต่างจากฌานฤาษี ซึ่งถ้าเราอยากได้ภาวะของ ปีติ สุข อุเบกขา เราก็ต้องนั่งสมาธิเข้าภพเข้าภวังค์ค่อยๆดับจิตดำดิ่งสู่สภาวะดับลงเรื่อยๆ นอกจากกิเลสจะไม่ตายแล้ว โดยมากยังหลงไปในมโนมยอัตตา เห็นนรก เห็นสวรรค์ ซึ่งเป็นสภาวะที่จิตปั้นแต่งให้เห็นเป็นภาพ เป็นเหตุการณ์ขึ้นมา ภาพที่เห็นนั้นเห็นจริง แต่ไม่ใช่ของจริง

การกระทำฌานเผากิเลสนี้ เมื่อเราทำลายกิเลสตัวหนึ่งก็จะจบกิจของกิเลสตัวนั้น แต่อาจจะทำลายได้แค่ความอยากกินเนื้อสัตว์ที่เป็นรูปชิ้นเนื้อเท่านั้น อย่างเช่นทำลายความอยากเนื้อสัตว์ได้ แต่ก็ต้องไปเพียรพยายามทำลายความอยากในเนื้อสัตว์แปรรูปต่ออีก เพราะพลังฌานของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนพิจารณาทีเดียวทำลายความอยากได้ทั้งตระกูล บางคนต้องใช้การพิจารณาแบบย่อยเป็นตัวๆ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อปลา หรือย่อยลงไปในตระกูลเนื้อวัว เช่น เนื้อย่าง เนื้อทอด เนื้อดิบ ทำได้มากน้อยตามแต่อินทรีย์พละของแต่ละคน ใครที่เพียรมากตั้งใจมาก ปฏิบัติอย่างถูกทางมามาก ก็จะมีพลังในการชำระกิเลสมากตามไปด้วย

อานิสงส์ของศีล๙

เมื่อเราเริ่มต้นปฏิบัติศีล ถือศีลกินมังสวิรัติ จนกระทั่งเพียรพิจารณาล้างกิเลสให้รู้เห็นตามความเป็นจริง เกิดสภาพไปตามลำดับของโพฌชงค์ ๗ จนกระทั่งถึงอุเบกขา จึงเรียกได้ว่าจบกิจของกิเลสตัวนั้น กลายเป็นสภาพที่เราจะถือศีลอย่างเป็นปกติในชีวิตประจำวัน อย่างที่ใครเขาพูดว่า “ศีลคือความปกติ” สำหรับผู้บรรลุศีลที่ปฏิบัติเพื่อลดกิเลส ความปกตินั้นคือ ไม่กินเนื้ออย่างปกติ ไม่ว่าวันไหนเวลาไหนก็ไม่มีความอยากกินเนื้อ โดยไม่รู้สึกทรมาน หรือต้องกดข่มใดๆ เป็นสภาพความเจริญที่เกิดขึ้นในจิตอย่างแท้จริง โดยมีสภาพ 9 ประการโดยอธิบายผ่านเรื่องมังสวิรัติดังนี้

1.จะไม่เดือดเนื้อร้อนใจแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์

2.มีความเบิกบานยินดีที่ไม่ได้กินเนื้อสัตว์

3.มีความอิ่มใจแม้เราจะกินผัก ไม่กินเนื้อสัตว์

4.รู้ถึงความสงบในจิต ซึ่งไม่มีกิเลสจากการกินเนื้อสัตว์

5.เกิดความสุขจากการไม่มีกิเลสในเนื้อสัตว์

6.เกิดสมาธิตั้งมั่นในการไม่กินเนื้อสัตว์

7.รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงว่าการกินเนื้อสัตว์มีทุกข์ โทษ ภัย และต้องรับความเดือดร้อนจากวิบากกรรมอันมีเหตุแห่งความเบียดเบียน

8. มีความเบื่อหน่ายในการกินเนื้อสัตว์ เพราะเห็นโทษชั่วของการเบียดเบียน

9.รู้แจ้งเห็นจริงในความหลุดพ้น รู้ได้ในสภาวะจิตของตนเองว่าหลุดพ้นจากเนื้อสัตว์ เป็นอิสระจากการกินเนื้อสัตว์แล้ว แม้จะมีเนื้อสัตว์ชั้นดีมาประเคนให้ก็ยินดีที่จะไม่รับ โดยไม่ขุ่นข้องหมองใจ ไม่เสียดาย ไม่มีแม้ธุลีความอยากใดๆในจิต รู้ชัดแจ้งว่าจากนี้ไปจะไม่มีทางยินดีในการเสพเนื้อสัตว์อีก กลายเป็นศีลปกติ คือถือศีลนั้นๆในชีวิตประจำวันตลอดไป เพราะมีแต่คุณประโยชน์ แต่ก็สามารถวางศีลนั้นได้เมื่อมีเหตุปัจจัยที่เหมาะควร โดยไม่มีบาป เพราะศีลได้กำจัดกิเลสเหล่านั้นหมดสิ้นแล้ว

สภาวะของนิพพาน๗

เมื่อปฏิบัติศีลอย่างถูกตรงจนเกิดภาวะอุเบกขา รับรู้ได้ถึงอานิสงส์ของศีล จะเกิดสภาพของจิตที่กิเลสได้ตายอย่างแท้จริง ไม่เกิดความอยากอีก โดยจะมีสภาพจิตที่ตัดเนื้อสัตว์ได้ดังนี้

ไม่มีอะไรเปรียบได้ (นัตถิ อุปมา) : ความรู้สึกที่ไม่ต้องการไปเสพเนื้อสัตว์อีกมันไม่รู้จะหาอะไรมาเปรียบได้

ไม่มีอะไรหักล้างได้(อสังหิรัง) : แม้ว่าจะมีสิ่งที่ดี มีค่าในทางโลก มาล่อแค่ไหนก็ไม่มีอะไรจะเอามาหักล้าง ความรู้แจ้งนี้ได้

ไม่กลับกำเริบ(อสังกุปปัง) : ไม่มีทางที่จะเกิด “ความอยาก” กินเนื้อสัตว์ขึ้นมาได้อีก

เที่ยง(นิจจัง) : เป็นสภาพจิตที่เที่ยงแท้แน่นอน

ยั่งยืน(ธุวัง) : คงสภาพจิตแบบนี้และเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ

ตลอดกาล(สัสสตัง) : สภาพจิตที่พ้นจากความอยากนี้จะคงอยู่ตลอดกาล ฝังไว้ในวิญญาณ ข้ามภพข้ามชาติ จนตราบปรินิพพาน

ไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา (อวิปริณามธัมมัง) : ไม่มีทางที่จะแปรปรวนรวนเร โลเล เปลี่ยนใจให้ได้เห็นอีกเลย

…ผู้ที่ปฏิบัติมาถูกทางก็จะพบกับสภาพดังข้อธรรมะ อานิสงส์ของศีล๙ และสภาวะของนิพพาน๗ สำหรับผู้ที่อ่านแล้วยังรู้สึกลังเลใจ ไม่เชื่อมั่นในตัวเองอย่างเต็มใจแสดงว่ายังไม่ผ่าน ให้ปฏิบัติต่อไปด้วยความเพียร หากผู้ใดที่คิดว่าตัวเองได้ผ่านแล้ว จะลองกลับไปกินเนื้อสัตว์ดูก็ได้เพื่อตรวจสอบว่าเราผ่านเรื่องมังสวิรัติจริงหรือไม่ ถ้ายังไม่ผ่าน เราก็จะรับรู้ด้วยตัวเอง จากการรู้ในเวทนา

ผู้ที่ปฏิบัติศีลอย่างเคร่งครัดและจริงใจต่อความรู้สึกตัวเองจึงจะมีสิทธิ์พบกับความสุขแท้ ความสุขที่ไม่ต้องเสพเนื้อสัตว์ รู้ได้เองว่า การไม่เสพเนื้อสัตว์มันสุขกว่าการเสพอีก แต่หากผู้ใดใช้การกดข่ม ใช้พลังสมถะเข้ามาเป็นหลักในการตัดความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉยๆ ก็จะไม่สามารถเข้าถึงสภาวธรรมเหล่านี้ได้ จะมีสภาพแกว่งไปมา ถือศีลเหยาะแหยะกินเนื้อสัตว์บ้าง กินมังสวิรัติบ้าง แม้จะมีคำพูดที่ดูเหมือนปล่อยวาง แต่จริงๆมักไม่ได้ปล่อยวาง เพราะคนที่ปล่อยวางอย่างแท้จริง จะมีสภาพที่พระพุทธเจ้ายืนยัน นั่นคือสภาพของอานิสงส์ของศีล๙ และสภาวะของนิพพาน๗ เป็นหลักฐานที่ใช้ตรวจสอบตัวเองได้

การจะเกิดสภาพจิตเหล่านี้ไม่ใช่การคิดเอาหรือฝันเอา ต้องปฏิบัติเท่านั้นถึงจะมีได้ และจำเป็นต้องปฏิบัติอย่างถูกต้องถูกตรงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสด้วย หากปฏิบัติไม่ถูกต้องก็เหมือนคนตาบอดวิ่งเข้าป่า เข้ารกเข้าพงกันไปใหญ่ ดังนั้นการปฏิบัติที่ถูกต้องนั้นสามารถวัดผลได้ตรงที่กิเลสเราลดหรือไม่ เราปฏิบัติตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ท่านนั้นท่านนี้แล้วเรากิเลสลดลงหรือไม่ หรือยังอยากเหมือนเดิม ดีไม่ดีบางคนก็กิเลสหนากว่าเดิมก็มี

การเข้าใจธรรมะไม่มีความบังเอิญ พระพุทธเจ้าตรัสว่าทุกอย่างมีมาแต่เหตุ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของคนเพียร ไม่ใช่ของคนขี้เกียจ ที่จะเฝ้าคิด เฝ้าฝัน นั่งๆนอนๆ อยู่แล้วจะบรรลุถึงความผาสุกที่แท้จริงได้ แต่เป็นหลักปฏิบัติที่ใครอยากได้ต้องทำเอง ความสุขแท้มีอยู่ แต่ต้องทำเอาเองเท่านั้น ดังคำตรัสว่า “ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน

– – – – – – – – – – – – – – –

9.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

คุณค่าของความรัก

October 2, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 10,175 views 0

คุณค่าของความรัก

คุณค่าของความรัก

ความรักนั้นเป็นสิ่งที่ทรงพลานุภาพเป็นแรงผลักดันให้ทุกชีวิตขับเคลื่อนออกไปแสวงหาไขว่คว้า เพื่อให้ได้มาในสิ่งซึ่งสามารถตอบสนองต่อความรักเหล่านั้น

ความรักสามารถดึงคนให้ขึ้นสวรรค์หรือผลักลงนรกได้ เพราะความรักนั้นคือความอยาก คือตัณหา คือแรงผลักดันให้คนเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างบางสิ่งบางอย่าง

คุณค่าของความรักนั้น ไม่ได้อยู่ที่ชื่อ คำเรียกขาน หรือแม้แต่นิยามของมันแต่อยู่ที่รักเหล่านั้นพาเราไปพบกับอะไร…

หลายคนมักจะนิยามความรักอย่างสวยหรู ใช้คำว่ารักเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนอยากได้อยากเสพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคู่ครอง การงาน ทรัพย์สมบัติ หรือกระทั่งชื่อเสียงและคำสรรเสริญต่างๆ

หากความรักคือความอยากที่ปนเปื้อนไปด้วยกิเลส รักนั้นจะพาเราไปเสพและสะสมกิเลส ไปทำร้ายและเบียดเบียนผู้อื่นด้วยกลวิธีต่างๆ เพื่อที่จะให้เราได้เสพสมใจในกิเลสแม้จะเป็นสิ่งชั่วเช่นนี้ แต่เราก็ยังเรียกมันว่า “ความรัก

ถ้าความรักคือเจตนาที่มีแต่ความเมตตา เพื่อให้ผู้อื่นได้รับสิ่งดี เพื่อให้เขาได้พ้นทุกข์ เราก็จะพาตัวเอง คนรอบข้าง และสังคมไปในทิศทางที่พากันลดกิเลส ลดความอยากได้อยากมี ลดการสะสม ลดความโลภ โกรธ หลง สิ่งนี้เราก็เรียกมันว่า “ความรัก” เช่นกัน

แต่ไม่ว่าเราจะมีความรักแบบไหน รักด้วยกิเลส รักด้วยความเมตตา หรือกระทั่งเป็นความเมตตาที่สอดไส้ไว้ด้วยกิเลสก็ตาม เราก็จะใช้เวลาเรียนรู้ถึงคุณค่า ทุกข์ โทษภัย ผลเสีย จากความรักที่ดีและร้ายเหล่านั้นจากการเดินทางผ่านจำนวนภพจำนวนชาติที่นับไม่ถ้วน ผ่านความผิดหวังและสมหวังมากมาย จนความรักที่เคยหยาบ เห็นแก่ตัว และไร้คุณค่านั้น ได้ถูกขัดเกลาจากการเรียนรู้จนเกิดปัญญา เปลี่ยนเป็นรักที่เปี่ยมไปด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นรักที่ยินดีแม้ว่าเขาเหล่านั้นจะไม่ได้ดีดังใจเราหมาย เป็นรักที่ไม่ครอบครอง ไม่ยึดไว้ทั้งร่างกายและจิตใจของใครๆ เป็นรักที่เสียสละ ปล่อยวางจากการเป็นเจ้าของ ไม่การทำร้ายกันด้วยคำหวานและคำสัญญาใดๆ ปล่อยวางจากจองเวรจองกรรมกันและกันด้วยความยินดี เต็มใจ พอใจ สุขใจ เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่าการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นนี่เอง คือสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะสามารถทำให้คนที่เรารักได้

ดังนั้น คุณค่าของความรัก ก็คือ… การทำให้เราได้เรียนรู้ ตั้งแต่การพบเจอความรัก การยึดมั่นถือมั่นในความรัก การพิจารณาคุณค่าของความรัก จนกระทั่งถึงวันที่เราสามารถปล่อยวางความรัก และสุดท้ายเราก็จะได้ปัญญาที่รู้แจ้งชัดว่าควรจะเมตตาอย่างไรจึงจะสามารถรักได้อย่างมีคุณค่า เป็นรักที่เป็นไปเพื่อความสุขแท้ ยั่งยืน ตลอดกาล

เมื่อเข้าใจในคุณค่าของความรัก ก็จะสามารถขยายความรักเหล่านั้นออกไปได้กว้างขึ้น จากคู่รัก คนที่รัก ของที่รัก ไปถึงครอบครัว ไปถึงสังคม ชุมชน ไปถึงประเทศชาติ ไปจนทั่วโลกใบนี้ จนกระทั่งรักได้อย่างข้ามภพข้ามชาติ รักที่เสียสละ ยอมเหน็ดเหนื่อย ยอมทนทุกข์ ยอมทรมาน ด้วยความรักและเมตตาแก่สรรพสัตว์ผู้ยังหลงวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ

และนั่นคือความรักของพระพุทธเจ้า ด้วยความรักความเมตตาที่เหลือประมาณ ยากที่จะเข้าใจ บำเพ็ญเพียรอยู่กว่าสี่อสงไขยกับแสนมหากัป เพื่อที่จะสร้างศาสนาแห่งความรักความเมตตา ส่งต่อพลังแห่งรักแท้ผ่านสาวกผู้มีศรัทธาอันไม่หวั่นไหว เพื่อสืบสานส่งต่อความรักความเมตตาเหล่านี้ให้กับบรรดาสรรพสัตว์ผู้ยังหลงมัวเมาในกิเลส

…และทั้งหมดนี้ คือคุณค่าของความรัก

– – – – – – – – – – – – – – –

30.9.2557(แก้ไข 12.2.2559)

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)