Tag: บัณฑิต

ทางที่ไร้เป้าหมาย

December 5, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,358 views 0

ทางที่ไร้เป้าหมาย

ทางที่ไร้เป้าหมาย

…เมื่อเส้นทางที่เดินและจุดหมายที่ไปนั้นไม่มีวันจบสิ้น

การปฏิบัติธรรมหรือการพัฒนาทางด้านจิตใจใดๆก็ตาม หากไม่ได้เป็นไปเพื่อคลายความยึดมั่นถือมั่น ไม่ได้เป็นไปเพื่อดับกิเลส การกระทำเหล่านั้นก็เหมือนกับการกระทำที่ไม่มีเป้าหมาย เมื่อไม่มีเป้าหมายจึงไม่เดินทางต่อ ไม่ปฏิบัติต่อ จึงยึดมั่นถือมั่นไว้กับที่ตรงนั้น

การเดินทางของจิตวิญญาณใดๆก็ตามล้วนแต่แสวงหาเป้าหมาย แต่การจะรู้ว่าเป้าหมายอยู่ที่ไหน เป็นอย่างไรและต้องเดินทางไปทางใดนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถคิดเอาเอง เข้าใจเอาเอง คาดเดาเอาเองได้เลย ถึงคิดไปมันก็จะผิด ถึงจะพยายามเดินไปก็จะเป็นการเดินทางที่ผิด เป็นเป้าหมายที่ผิดเป้าหมายมีอยู่แต่เหมือนไม่มีอยู่เพราะไม่มีจุดจบ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในอวิชชาสูตร ว่าด้วยเรื่องการเกิดอวิชชานั้นเกิดจากการไม่คบหาสัตบุรุษไม่คบหาครูบาอาจารย์ผู้มีสัจจะแท้ที่พาพ้นทุกข์ สัตบุรุษนั้นคือผู้รู้ทางธรรมในพระพุทธศาสนา รู้มรรค คือรู้ทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ รู้นิโรธ คือรู้สภาพดับทุกข์ ซึ่งสภาพที่รู้คือสัมมาอริยมรรคและสัมมาวิมุตติ คือวิถีทางแห่งการพ้นทุกข์ที่ถูกต้องจนกระทั่งไปถึงความหลุดพ้นจากกิเลสที่ถูกต้อง

สัตบุรุษคือผู้ที่สามารถชี้ให้เห็นแจ้งในอริยสัจ ๔ คือชี้ให้เห็นทุกข์ ชี้ให้เห็นเหตุแห่งทุกข์ ชี้ให้เห็นถึงการดับทุกข์ จนกระทั่งสอนวิธีให้เดินทางไปสู่การดับทุกข์นั้น คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นั่นหมายถึงการแสดงให้เห็นถึงมรรคผลได้

ถ้าหากว่าเราไม่คบหาสัตบุรุษ ไม่คบหาแม้ผู้เจริญกว่า เราก็จะไม่มีใครมาชี้ให้เห็นถึงโทษภัยของกิเลส ไม่มีตัวอย่างให้เห็นว่าขั้นกว่าของการไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นอย่างไร เมื่อไม่มีตัวอย่างที่ดีให้เรียนรู้ ก็มักจะเดินทางผิดเดินหลงทางแต่จะเข้าใจว่ากำลังเดินไปในทางที่ถูก ถึงแม้ว่าจะพบจุดหมายปลายทางแต่จุดหมายนั้นก็อาจจะไม่ใช่จุดหมายที่ถูกก็ได้

เมื่อเราพอใจกับสภาพที่มี พอใจกับศีลที่มี นั่นก็เพราะเราไม่ศรัทธาในศีลที่มากกว่า ไม่เชื่อว่าความสุขที่มากกว่านั้นมี เราจึงยึดสภาพที่สุขน้อยทุกข์มากอยู่เช่นนั้นเพราะเข้าใจว่าตอนนี้ดีแล้วตอนนี้ก็สุขมากแล้ว เหตุนั้นเพราะเราไม่คบหาสัตบุรุษไม่มีตัวอย่างแห่งความเจริญ เมื่อไม่คบหาสัตบุรุษก็ไม่ได้ฟังสัจธรรมที่พาพ้นทุกข์ ถึงแม้เราจะฟังธรรมมากขนาดไหนแต่ถ้าธรรมนั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อดับกิเลสก็ไม่ใช่ธรรมที่พาพ้นทุกข์ ซึ่งอาจจะเป็นกัลยาณธรรม เป็นธรรมของคนดี ธรรมที่ทำให้ทุกคนเป็นคนดี แต่ไม่ได้พาดับกิเลส เมื่อไม่ได้ดับกิเลสก็จะยินดีในกิเลส วนเวียนอยู่ในโลกแห่งการเสพกิเลสและพอใจในศีลที่ตนตั้งอยู่

ถึงแม้จะไม่มีสัตบุรุษแต่ผู้มีปัญญาย่อมหาทางทำให้ตัวเองเจริญมากขึ้น พระไตรปิฏกนั้นยังมีข้อปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์อีกมากมาย ยังมีศีลที่ขัดเกลากิเลสอีกมาก ผู้มีปัญญาย่อมแสวงหาหนทางเพื่อเข้าถึงศีลเหล่านั้น ในส่วนคนที่หลงผิดจะมองศีลเป็นเรื่องของพระ สนใจเพียงแค่ศีล ๕ ยินดีกับชีวิตฆราวาสในระดับศีล ๕ หรือต่ำกว่า ทั้งที่จริงผู้ครองเรือนนั้นสามารถถือศีลไปได้ถึงระดับศีล ๘ ถึง ๑๐ โดยที่ยังใช้ชีวิตปกติได้ อีกทั้งยังมีจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีลอีกหลายข้อที่นำมาปฏิบัติได้

แต่คนมักจะเข้าใจไปว่าเป็นเรื่องของพระ ทั้งๆที่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะปฏิบัติศีลปฏิบัติธรรมเช่นกัน ศีลเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เราขัดเกลากิเลส การขัดเกลากิเลสไม่ใช่เรื่องของพระเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกคน เพราะกิเลสเป็นเหตุแห่งทุกข์ ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับทุกข์ แต่กลับจำกัดสิทธิ์ของตัวเองไม่ให้พบกับสุขไม่ให้ตัวเองได้เรียนรู้การขัดเกลากิเลส ไม่ยอมให้ตัวเองสุขไปมากกว่านั้น

เป็นเพราะอะไรเราถึงไม่ยินดีในศีลที่สูงกว่า นั่นเพราะเราไม่คบหาสัตบุรุษ ไม่คบหาผู้รู้สัจจะ ไม่มีคนพาทำ ไม่มีคนนำ ถึงจะเหมือนว่ามีคนชี้นำแต่ถ้าคนนั้นไม่มีสัจจะแท้ก็จะนำไปทางที่หลงผิดและเป้าหมายที่ผิดเช่นกัน

เป็นเรื่องยากที่คนจะยินดีในการปฏิบัติศีลที่สูงขึ้นเหตุนั้นเพราะมันขัดกิเลส กิเลสมันไม่ยอม ถือศีลแล้วทุกข์ใจ ซ้ำยังไม่เห็นเป้าหมายใดๆเพราะไม่รู้วิธีการถือศีลเพื่อล้างกิเลส สักแต่ว่าถือศีล ถือศีลเหยาะแหยะลูบๆคลำๆ ถือไปทั้งที่ไม่รู้สาระไม่รู้ประโยชน์ ไม่ได้ถือศีลด้วยปัญญา แต่ถือด้วยศรัทธาที่เป็นเพียงความเชื่อเพราะความกลัว กลัวไม่ได้บุญ กลัวบาป กลัวลำบาก จึงถือศีลนั้นๆ

ทั้งที่จริงแล้วศีลนั้นเป็นเครื่องมือในการช่วยชำระบาป บาปคือการสะสมกิเลส ศีลคือสิ่งที่จะมาขัดเกลากิเลส โดยใช้วิธีที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ตั้งแต่ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว วิธีเหล่านี้มีมานานแล้ว แต่คนมักไม่รู้ เข้าใจผิด หลงผิด เพียงเพราะไม่คบสัตบุรุษ ไม่ยินดีในศีล จึงมองศีลเป็นเพียงเรื่องงมงาย เป็นเพียงเรื่องของความยึดมั่นถือมั่น เป็นเพียงเรื่องของพระ นั่นเพราะเขาเหล่านั้นไม่รู้จักคุณค่าของศีล

ซ้ำร้ายยังใช้วิธีปฏิบัติที่ผิดและเข้าใจผลของการบรรลุธรรมผิด เอาหลังมาหน้า เอาหน้าไปหลัง ปฏิบัติธรรมไม่เป็นไปตามลำดับ ปฏิบัติธรรมมักง่าย เร่งผล ล่าบริวาร หาลาภยศ หาชื่อเสียง เพื่อผลประโยชน์ต่างๆ ไม่ได้พาละกิเลส ไม่ได้พาให้คลายจากกิเลส ไม่ได้ดับกิเลส เหล่านี้คือสภาพหลงทางหลงเป้าหมายดังจะเห็นได้มากมายในปัจจุบัน เป็นทางที่ไม่มีเป้าหมาย ถึงจะเดินทางไปก็วนเวียนกลับมาที่เดิม แล้วก็ต้องเดินหลงทางวนไปวนมาไม่รู้กี่ภพต่อกี่ชาติถึงจะเจอทางที่ถูก

ทางพ้นทุกข์นั้นมีทางเดียว ไม่มีทางอื่น คือสัมมาอริยมรรค ธรรมะนี้ไม่มีในศาสนาอื่น ไม่มีวิธีดับกิเลสเหล่านี้ในลัทธิอื่น ผู้ที่หลงเข้าใจไปว่าทุกทางก็พาถึงเป้าหมายได้เหมือนกันคือผู้ที่หลงทางตั้งแต่แรก แต่ถ้าจะกล่าวให้ถูกก็ได้คือทุกทางก็ถึงเป้าหมายเหมือนกันแต่ไม่ใช่ชาตินี้ อาจจะในชาติหน้า หรือชาติอื่นๆต่อไปก็ได้ จนกว่าจะมาพบและเข้าใจว่า “ทางนี้ทางเดียวทางอื่นไม่มี

ผู้ที่ไม่ศรัทธาในพระพุทธเจ้า ไม่คบหาสัตบุรุษจึงไม่มีความมั่นใจ ไม่กล้าสรุป ไม่กล้ากล่าวว่าทางพ้นทุกข์มีทางนี้ทางเดียว เพราะการที่เขาเห็นว่ามีหลายทางนั่นเพราะเขาไม่สามารถจับสาระหรือจับประเด็นของการพ้นทุกข์ในแบบพุทธได้ เข้าใจพุทธในเชิงของตัวเองตามที่ตัวเองนั้นหลงผิด

แม้จะได้ชื่อว่าพุทธ แม้จะได้บวชเป็นพระ แต่หากยังศึกษาและปฏิบัติในทางผิด มิจฉามรรค มิจฉาญาณ มิจฉาวิมุติ ก็ไม่มีวันที่จะได้เข้าถึงแก่นแท้ของพุทธ แม้จะได้ชื่อว่าเป็นพุทธแต่ก็ไม่มีสัจจะของพุทธ เหมือนกลองอานกะที่เหลือแต่ชื่อกลอง แต่วัสดุเดิมนั้นถูกเปลี่ยนไปหมดแล้วไม่เหมือนเดิมแล้วไม่เหลือแก่นไม่เหลือเนื้อเดิมแล้ว

ศาสนาพุทธก็เช่นกัน ผ่านมาจนถึงวันนี้คำสอนและธรรมะได้เปลี่ยนผ่านมือกันมามาก ผ่านยุคสมัยมาก็มาก ผ่านกิเลสมาก็มาก ความเสื่อมนั้นยอมค่อยๆกัดกินแก่นสารสาระเป็นเรื่องธรรมดา จึงพากันสร้างลัทธิตามวิบากของตน สอนตามภูมิธรรมที่ตนเข้าใจ บางสำนักกลับหน้าเป็นหลัง กลับหลังเป็นหน้า เข้าใจว่าการพ้นทุกข์เป็นเรื่องง่ายๆแค่เข้าใจ หรือแค่ปล่อยวาง แม้ว่าการปฏิบัติทั้งหลายจะดูเหมือนว่ามีมรรคผลแต่ผลนั้นก็ไม่ได้พาดับกิเลสเป็นเพียงแค่รูปแบบหนึ่งของสมถะหรือการกดข่มจิต กดไว้ในภพแล้วติดอยู่ในภพเท่านั้น

หากการปฏิบัติของพุทธนั้นเข้าใจได้ง่ายจริง ทำไมพระพุทธเจ้าถึงต้องบำเพ็ญถึง 4 อสงไขยกับแสนมหากัป ทำไมต้องลงทุนลงแรงเหน็ดเหนื่อยทรมานขนาดนั้น นั่นเพราะธรรมะเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องลึกซึ้ง เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาดคะเนไม่ได้ เดาเอาไม่ได้ ละเอียด และรู้ได้เฉพาะบัณฑิต คือผู้รู้สัจจะ รู้ธรรมของพระพุทธเจ้าเพราะมีธรรมนั้นในตนเอง หรือสัตบุรุษ

หลักตัดสินธรรมวินัยนั้นมีอยู่ คนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้นมีอยู่ ศีลนั้นมีกำหนดอยู่ ความรู้ธรรมทั้งหลายยังมีให้อ้างอิงในพระไตรปิฏกอยู่ แต่หากเราไม่ฉลาดในการขวนขวายหาประโยชน์ใส่ตน ไม่คบหาผู้ที่เจริญกว่า ไม่ยินดีในศีลที่มากกว่า ทางที่เราเดินนั้นอาจจะเป็นเส้นทางที่ไร้เป้าหมาย ไม่มีจุดหมาย พาให้หลงวนเวียนไปนานแสนนานไม่มีวันจบสิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

5.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

คนบ้ากินมังฯ ๒

December 1, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,154 views 1

คนบ้ากินมังฯ ๒

คนบ้ากินมังฯ ๒

…บ้าจริง บ้าหลอกหรือหายบ้า มาอ่านกัน ฉบับไขข้อข้องใจทุกประเด็นเกี่ยวกับบทความ “คนบ้ากินมังฯ”

*(คำเตือน !! ก่อนที่จะอ่านบทความนี้ควรจะอ่านบทความ”คนบ้ากินมังฯ”ก่อน ….และหากอ่านจบแล้วยังรู้สึกไม่พอใจ ขุ่นเคืองใจอย่างรุนแรงหลังจากอ่านก็อย่าพึ่งอ่านบทความนี้ รอให้รู้สึกว่าตัวเองสงสัย ข้องใจ หรือเหลืออารมณ์ไม่พอใจเพียงเล็กน้อยค่อยอ่านจึงจะเหมาะ)

**ในบทความนี้ขออนุญาตใช้ธรรมะเข้ามาร่วมอธิบาย อาจจะเป็นสิ่งไม่คุ้นเคยสำหรับบางท่านให้ลองอ่านผ่านๆไปก่อนและเนื้อหาจะเป็นไปในเชิงไขกิเลส กรรมและขยายเนื้อหาในบทความคนบ้ากินมัง หากสนใจที่จะไขข้อข้องใจก็มาอ่านกันต่อ

เริ่มกันเลย!

1). อัตตา

หลังจากที่ได้เผยแพร่บทความคนบ้ากินมังฯออกไปนั้นก็มีเสียงตอบรับเข้ามามากมาย และส่วนใหญ่เป็นไปในทางลบ แต่ก็ยังมีบางส่วนที่สามารถเข้าใจได้แม้จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

สำหรับคนที่ติดตามเพจนี้มาก่อนจะขอยกไว้ในฐานที่เข้าใจ ส่วนคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนอาจจะแบ่งได้หลายส่วนเช่น เห็นแย้งในทันที , สงสัย , ต่อว่า , ด่า , ส่งเสริมเชิญชวนหรือช่วยอธิบายเรื่องมังสวิรัติ ,พยายามปรับความเข้าใจ, เข้าใจที่สื่อสาร …เหตุอันใดที่ทำให้คนเข้าใจสื่อเดียวกันต่างกัน ถ้าสื่อนั้นผิดพลาดจริงๆคนทั้งหมดก็ควรจะเข้าใจผิด แต่ทำไมยังมีคนที่เข้าใจตามที่ได้สื่อสาร ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญของบทความนี้

การที่เราเข้าใจต่างกันนั้นมีเหตุมาจากทิฏฐิที่ต่างกัน บางคนตัดสินตั้งแต่เห็นหัวเรื่อง บางคนตัดสินหลังจากอ่านจบ บางคนตัดสินแต่ไม่ต่อว่าและกลับชวนให้ลองกินมังสวิรัติ จะบอกว่าเรามีทิฏฐิที่ต่างกัน คนเราต่างกันนั้นมันก็เป็นคำพูดที่ตีรวมๆ เข้าใจแต่ไม่เข้าใจ ไม่ลึกถึงเหตุ มองไม่ขาด เพราะเหตุจริงๆที่ทำให้เรามีทิฏฐิที่ต่างกัน คือกิเลส หรือในที่นี้ก็คือ “อัตตา

อัตตาคือความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ในกรณีของมังสวิรัติก็คือ “อรูปอัตตา” เป็นอัตตาที่ไม่มีรูปร่างให้เห็นให้หยิบจับแล้ว เป็นความเชื่อ ความเห็น ความเข้าใจ นั่นคือเรายึดความเชื่อความเห็นความเข้าใจในมังสวิรัติมาเป็นตัวเราของเรา พอเรายึดแล้วเราก็กอดมันไว้ รัดมันไว้ รักมัน หวงมันโดยไม่รู้ว่าอัตตานี่คือกิเลสที่ทำให้เราเป็นทุกข์

คนมีอัตตาหลายคนแม้จะไม่ได้ไปยุ่งกับคนอื่น แต่ถ้าใครเข้ามาแตะในพื้นที่หวงห้ามเช่นมาด่าว่าคนกินมังสวิรัติว่าบ้าว่าโง่ เหมือนกับเข้ามาเขย่าบ้านของตนเอง ก็จะรีบออกมาปกป้องบ้านของตนทันที ปกป้องสิ่งที่เรายึดมั่นถือมั่น ปกป้องกิเลส

เราจะเริ่มมีอัตตาก็เพราะเรามีศรัทธาในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ศรัทธาในการกินมังสวิรัตินั้นดี แต่การที่เราจะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในความดีนี้ไม่ดี คนกินมังสวิรัติหรือศรัทธาในมังสวิรัติส่วนมากจะมองว่าตัวเองเป็นคนดี เป็นคนมีปัญญา เป็นคนละบาปบำเพ็ญบุญ จึงมีอาการยึดดีหรือยึดความดีเป็นตัวตนหรือมีอัตตา ซึ่งพอมีใครมาเห็นแย้งว่าที่เราทำมันบ้า มันโง่ คนที่ยึดว่าเรามีปัญญา เป็นคนดี ก็จะทุกข์ร้อนเพราะไม่ได้เสพคำชื่นชมอย่างที่ตัวเองเคยได้แถมยังโดนด่าอีก อันนี้ไม่ได้ผิดตรงมังสวิรัติแต่มันผิดตรงที่เราหลงยึดว่าเราเป็นคนดี เป็นคนมีปัญญาแล้วเราเข้าใจว่าคนอื่นจะต้องเข้าใจว่าเราเป็นเช่นนั้น

เมื่อมีคนมาพูดกระทบอัตตา ด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่ามังสวิรัติต้องเป็นคนดี ต้องเป็นคนมีปัญญา ต้องเรียกว่าฉลาดสิเพราะเว้นจากการเบียดเบียน พวกเขาจึงได้ออกมาแสดงทัศนคติตามกิเลสของแต่ละคนกิเลสมากก็แรงมาก กิเลสน้อยก็แรงน้อย กระทบกระทั่งกันไปเพราะความอยากเอาชนะ อยากให้คนที่ต่อว่าคนกินมังสวิรัติบ้าและโง่นั้นแพ้ นั้นย่อยยับ นั้นสลายหายไป เพราะเราไม่อยากให้ใครมาคิดต่างหรือเข้ามาลุกล้ำอัตตาซึ่งเป็นกิเลสที่เราหวงสุดหวง ทั้งหมดนั้นก็เพื่อเสพสมอัตตาของเขาคือมังสวิรัติดี มีปัญญา ฉลาด เป็นบุญ เป็นความเจริญ ใครคิดตามได้แต่ถ้าคิดต่างไม่ต้องมาคุยกัน ถ้าคุยกันก็จะตอบโต้ไปตามปริมาณความยึดดีที่มี

มังสวิรัตินั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่การยึดมั่นถือมั่นในความดีของมังสวิรัติเป็นคนละเรื่องกัน ขึ้นชื่อว่ากิเลสมันก็ไม่ดีอยู่แล้ว แต่คนส่วนมากมักจะกอดเก็บมันไว้ เมื่อวันใดวันหนึ่งที่มีใครเข้ามาท้าทายอัตตา เขาเหล่านั้นก็พร้อมที่จะท้าทายกลับด้วยความคิด ด้วยวาจา ด้วยท่าทาง แล้วแต่ว่าใครจะปรุงกิเลสไปได้แค่ไหน ปรุงแต่งคำด่าคำพูดได้เท่าไหร่ก็บาปเท่านั้น เพราะความโกรธ ความไม่พอใจก็ขึ้นชื่อว่ากิเลส ดังนั้นจะหาประโยชน์จากความไม่พอใจนี้ไม่มีเลย

ในบทของกำลัง 8 พระพุทธเจ้าตรัสว่า บัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ส่วนคนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่ามีคนอ่านบทความนี้มากมายหลายคน แต่ก็มีคนที่คิดเห็นแตกต่างกันไป คนที่เจริญในธรรมมีอัตตาน้อย ไม่ยึดมั่นถือมั่นก็จะไม่เพ่งโทษใครแม้เขาจะมาด่ามาว่า ในทางกลับกันคนพาลนั้นมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง กำลังคืออะไร ก็คือพลังในการทำบาป ทำอกุศล ยิ่งเพ่งโทษแรงเท่าไหร่ กำลังก็ยิ่งแรง บาปก็ยิ่งแรง อกุศลก็ยิ่งแรง กรรมก็ยิ่งมากขึ้นไปด้วย

คนมีอัตตานั้นจะรู้สึกว่าตนไม่ผิดที่เพ่งโทษใครหรือด่าใคร “ในนามแห่งความถูกต้องข้าขอประหารเจ้า” เขาจะลงดาบในทันที และในวินาทีนั้นมโนกรรม วจีกรรม กายธรรมก็ได้เกิดขึ้นกับเขาแล้ว จิตนั้นสังเคราะห์อารมณ์ไม่พอใจ วจีนั้นเกิดการปรุงแต่งขึ้นในใจ จนกระทั่งมือพิมพ์คีย์บอร์ดส่งข้อความที่เต็มไปด้วยอัตตาเผยแพร่สู่สาธารณะ กระตุ้นให้คนอื่นที่ได้อ่านเกิดความโกรธเกลียดตามกันไป เป็นวิบากบาปที่จะเกิดซ้ำซ้อนส่งต่อเนื่องกันไปมา

ชีวิตเราอาจจะรีบเกินไปก็ได้ เรารีบทุกอย่าง รีบอ่าน รีบตัดสิน แล้วก็รีบทำบาป มันจะมาซวยตรงรีบทำบาปนี่แหละ จะขยันทำอะไรก็ตามแต่ ถ้าขยันทำบาปนี่ก็อย่าทำเสียเลยจะดีกว่า หยุดไว้ก่อนจะดีกว่า เพราะทำไปมันก็ไม่คุ้ม ไปตำหนิติเตียนใครด้วยความไม่พอใจมันก็เท่านั้น ยิ่งสมัยนี้เครื่องมือสื่อสารมันก็เร็วเฟสบุคก็เข้าถึงได้ทุกคน การช่วยกันสะสมบาปก็ง่ายขึ้น เช่นมีคนหนึ่งพิมพ์ข้อความตำหนิต่อว่า เราก็ดันไปร่วมวงกดถูกใจในคำปรุงแต่งจากกิเลสของเขาก็ถือเป็นการทำบาปที่สะดวกและรวดเร็วเหมาะกับยุคนี้มากๆ ทีนี้พอกดถูกใจเข้ามากๆ เจ้าของข้อความนั้นเลยเหมือนขึ้นหลังเสือกันเลยทีเดียว พอกอัตตากันใหญ่ขึ้นไปอีก ทีนี้เวลาจะลงมันลงยาก เหมือนกิเลสมันขึ้นมาแล้วมันก็ไม่ได้ลงไปง่ายๆ

หลายคนไม่ได้อ่านถึงบทความนี้ ไม่ได้อ่านแม้บทชี้แจง ก็ไม่มีโอกาสรู้ตัวแล้วก็หอบบาปหอบกรรมที่ตัวเองทำไว้เป็นสมบัติต่อไป ส่วนคนมีอัตตามากๆถึงจะอ่านมาถึงตรงนี้ก็ยังหงุดหงิดติดอัตตาอยู่ บางอ่านไปก็ไม่เข้าใจเพราะใจมันไม่เปิด มันจำได้แค่อารมณ์แรกที่ได้ประทับไว้ในใจแล้วยึดมั่นถือมั่นเป็นอัตตาซ้อนอีกชั้นหนาเข้าไปอีก แต่บางคนสามารถรอดพ้นไปได้ด้วยเมตตา คืออ่านแล้วเห็นใจจึงแนะนำด้วยจิตเมตตาตรงนี้เป็นกุศล เป็นบุญ ก็ถือว่าสามารถสร้างสิ่งดีให้กับตัวเองบนกองกิเลสได้ แต่ถ้าคนอ่านด้วยอุเบกขาจึงจะสามารถเข้าถึงสาระแท้ของสารนั้นๆได้

แท้จริงแล้วมันไม่เกี่ยวเลยว่าคู่สนทนาหรือคนที่เราไม่ชอบใจนั้นเขาจะถูกหรือจะผิด โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ ไม่วันใดก็วันหนึ่งกรรมก็จะส่งคนที่ทำให้เราไม่พอใจ ไม่ถูกใจ ขัดใจเข้ามาในชีวิตเราอยู่ดี แล้วเรายังต้องโกรธเขา ไม่พอใจเขา ชิงชังรังเกียจเขา ทะเลาะเบาะแว้งกับเขาไปตลอดเช่นนั้นหรือทั้งๆที่ศัตรูตัวร้ายนั้นคือตัวเราเอง คืออัตตาของเราเอง คือความยึดมั่นถือมั่นของเราเอง

สิ่งที่ทำให้เราไม่พอใจคือสิ่งที่เรายึดไว้ พอเรายึดไว้ถือไว้ คนอื่นจะมาแย่ง มารบกวน มาทำลาย เราก็จะไม่พอใจ ก็จะออกอาการไปตามพลังของกิเลสของแต่ละคนตามกรรมที่ทำมา ตามกิเลสที่สะสมมา

เรามักคิดว่าคนกินมังสวิรัตินั้นมีเมตตา จิตใจดี เห็นใจสัตว์โลก แต่ความเมตตาเหล่านั้นก็ยังไม่ครอบคลุมถึงสัตว์โลกทั้งหมด เขายังเบียดเบียนมนุษย์คนอื่นด้วยถ้อยคำแห่งความดี เยอะเย้ยถากถาง ด้วยสารพัดประโยคที่จะปรุงแต่งได้ตามความสะใจ นี้หรือคือผู้ไม่เบียดเบียน นี้หรือคือผู้มีเมตตา เราจะมั่นใจได้อย่างไรหากเรายังมีความโกรธความเกลียดในสิ่งอื่นที่เห็นต่างไปจากเรา

การที่ชาวมังสวิรัติไปเถียง ไปด่า ไปเยอะเย้ยถากถาง ก็คือการเบียดเบียนอยู่นั่นเอง แม้ไม่ได้ฆ่าแต่ก็เบียดเบียนด้วยวาจาไปที่ใจและกระบวนของกิเลสทั้งหมดนี้สร้างบาปสะสมให้กับตัวเองด้วย นั่นหมายถึงเบียดเบียนคนอื่นและเบียดเบียนตัวเองไปด้วยในทีเดียวกัน

ผู้กินมังสวิรัติที่สามารถล้างกิเลสได้จริง จะสามารถตั้งตนอยู่ได้บนความสงบ พูดแต่สัจจะ พูดแต่ความจริง ยกตัวอย่างเช่นคนที่เข้ามาช่วยพิจารณาประโยชน์ของการกินมังสวิรัติก็ถือว่าสามารถเอาตัวรอดจากบาปนี้ได้ ส่วนคนที่ไม่พิมพ์ไม่ตอบโต้ไม่ใช่ว่าจะไม่สร้างบาปเวรภัย เพียงแค่คิดร้ายก็เป็นมโนกรรมที่มากพอที่จะทำให้ชีวิตและจิตใจได้รับทุกข์จากกรรมนี้ได้เช่นกัน

ดังนั้นคนที่กินมังสวิรัติแล้วไม่ล้างกิเลส ไม่ล้างอัตตาก็จะสร้างบาปเวรภัยไปในตัว ทำกุศลปนบาปโดยไม่รู้ตัว ไม่ผ่องใส่ ไม่ปลอดโปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบาย เช่นตอนมีคนมาว่าร้ายชาวมังสวิรัติ คนที่ไม่ล้างกิเลสก็จะร้อนรน โกรธ ไม่พอใจ จนเป็นเหตุให้เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นได้ ดังนั้นจะเรียกตัวเองว่าผู้ไม่เบียดเบียนย่อมเป็นคำโกหก ผิดศีลข้อ ๔ ซ้ำเข้าไปอีก สร้างบาปเวรภัยให้กับตัวเองเข้าไปอีก กินมังสวิรัติว่าได้กุศลแล้ว ยังโดนวิบากบาปลากไปให้ทำชั่วให้ทำทุกข์อีก มันจะคุ้มไหม?

จะดีไหมหากเราจะกินมังสวิรัติไปด้วยล้างกิเลสไปด้วย ล้างความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เรายึดไว้ไปด้วย จะดีไหมหากเราจะรู้สึกเฉยๆถ้ามีคนมาต่อว่าในสิ่งที่เราเป็น ในสิ่งที่เราชอบ จะดีไหมถ้าเราไม่ต้องทำทุกข์ทับถมตัวเองเพราะเราเลี้ยงกิเลสไว้

กิเลสไม่ใช่ตัวเรา ความยึดมั่นถือมั่นในมังสวิรัติไม่ใช่เรา เราไม่จำเป็นต้องยึดไว้ เราเพียงแค่ยึดอาศัย อาศัยให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตนี้ เรากินมังสวิรัติแต่เราไม่ยึดติด ไม่ยึดติดไม่ได้หมายถึงกินเนื้อบ้างกินผักบ้าง แต่หมายถึงว่าไม่ยึดติดกับความเป็นมังสวิรัติ เพราะถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นมังสวิรัติแล้วมีคนมาว่าเราก็ทุกข์ แต่ถ้าเรายึดอาศัยเราก็กินของเราไป แต่ถ้าใครมาว่าเราก็ไม่ทุกข์ เพราะเราไม่ได้ถือ เราไม่ได้มีตัวตน เราเลยไม่ต้องทุกข์

สุดท้ายของบทไขอัตตานี้ก็ให้ผู้อ่านได้ทบทวนตนเองว่าเกิดอะไรขึ้นในใจของเรา มันเกิดตั้งแต่เมื่อไหร่ มันเกิดเพราะอะไร มันดับไปเพราะอะไร แล้วมันจะเกิดอีกไหม จะดีกว่าไหมถ้ามันจะไม่เกิดอีกเลย ก็ขอให้ท่านลองพิจารณาดู

2).กรรม

กรรมอันใดหนอที่ทำให้ต้องมีคนเข้าใจผิด ต้องผิดใจ ต้องทะเลาะเบาะแว้ง ในบทนี้ผมจะลองไขกรรมของตัวเองอย่างคร่าวๆเพื่อให้เห็นภาพของวิบากบาปหรือผลของบาปที่เคยทำไว้ในอดีตกาล

ผมเองตั้งใจพิมพ์บทความด้วยความคิดว่าจะลองสื่อสารในอีกมุม เป็นมุมของคนกินเนื้อสัตว์ที่ข้องใจในมังสวิรัติ ซึ่งก็เป็นคนที่มีการกระทบกระทั่งกันให้เห็นกันตามกระทู้มังสวิรัติทั่วไปนั่นเอง ทีนี้เราก็คิดว่าขัดเกลาบทความดีแล้ว เรียบเรียงใส่คำใบ้ ใส่นัยสำคัญ ใส่เฉลยไว้เรียบร้อย กะว่าเพื่อนอ่านจบคงจะเข้าใจได้เอง แต่มันก็ผิดคาดไป ตรงนี้เป็นการประมาณผิดไม่ได้มีอะไรมาก แต่กรรมนั้นเองดลให้ได้ข้อมูลเท่านี้ ให้เขียนแบบนี้ ให้ประมาณผิดเช่นนี้ ซึ่งเราดูได้จากผลที่เกิดขึ้นคือมีคนเข้าใจผิดเป็นจำนวนมากและมีคนเข้ามาต่อว่ามากมาย อันนี้ในชาติใดชาติหนึ่งผมคงเคยไปยุแยงใครให้เกลียดให้เข้าใจคนอื่นผิดทั้งๆที่เขาไม่ได้ทำอะไรผิด ก็เลยต้องมารับวิบากนี้ ซึ่งรับแล้วก็หมดไป มีคนมาด่าชีวิตผมก็ดีขึ้นเพราะได้ใช้กรรม กรรมชั่วหมดไปก็เปิดโอกาสให้กรรมดีที่ทำไว้ได้ส่งผลมากขึ้น สรุปแล้วทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมานั้นผมมองว่าดีทั้งหมด

เมื่อกรรมชั่วได้ถูกชำระหนี้ไปแล้วกรรมดีก็ได้เกิดขึ้น มีคนที่เข้าใจในเนื้อหาสาระของบทความมาช่วยขยายความให้ ช่วยให้หลายคนได้คลายสงสัย ได้เข้าใจอย่างถูกต้อง ตรงนี้จะเริ่มเป็นจุดเปลี่ยนที่เห็นพลังของกรรมดีที่ทำไว้อย่างชัดเจน ถ้าผมไม่เคยทำดีไว้ ก็คงจะไม่มีใครมาช่วยแบบนี้ สิ่งนี้เองเป็นผลจากการที่เราทำกรรมดีสะสมไว้บ้าง

แต่กรรมชั่วที่หมดไปนั้นเอง จะหมดไปไม่ได้หากไม่มีคนเข้ามาช่วย มีคนที่เสียสละยอมทำบาปจำนวนมากที่เป็นสะพานให้ผมได้ใช้กรรมชั่วที่เคยทำมาในอดีต เขาเหล่านั้นคือผู้รับวิบากบาปต่อในส่วนที่เขาทำและส่วนอื่นที่เขาได้ขยายต่อไป ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ เพราะผลกรรมชั่วของเขาก็ลากเขามาให้เขาทำกรรมนี้เช่นกัน เพราะถ้าไม่มีอัตตาขนาดนี้เขาคงไม่ด่า ถ้าเขาล้างอัตตาได้เขาก็ไม่ต้องมารับบาป ในส่วนนี้ก็เห็นใจเพื่อนๆจริงๆ จะมีสักกี่คนที่ได้อ่านมาถึงบทความนี้ ในร้อยคนที่อ่านจะมีสักกี่คนที่เขาด่าแล้วจากไป พวกเขาเหล่านั้นจากไปพร้อมของฝากชิ้นใหญ่คือกรรมที่เขาต้องรับไว้ เหมือนกับชีวิตผมที่มีกองบาปกรรมทับอยู่ แล้วมีคนมาหอบกองบาปกรรมเหล่านั้นกลับบ้านไปเพราะหลงว่าเป็นของดี หากใครยังรู้สึกติดใจ ขุ่นเคืองใจอยู่ก็อยากจะให้พิจารณาดีๆว่ามันคุ้มไหมที่จะเอาบาปนี้กลับไปเป็นสมบัติของตัวเอง

ทั้งหมดนี้ไขให้เห็นกระบวนการของกรรมในภาพกว้างๆ ให้พอรู้ว่ากรรมชั่วกรรมดีมันมีผล

3). เกี่ยวกับบทความคนบ้ากินมัง

ในบทความนี้ผมได้วางเนื้อหาสาระสำคัญไว้หลายจุดด้วยกัน หากใครยังไม่เห็นหรือมองผ่านไปก็ลองอ่านกันดูได้

3.1). คนเกิดมาก็กินเนื้อแต่บ้าเปลี่ยนมากินผัก

อันนี้คือการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ เพราะคนส่วนมากที่มีจิตเจริญขึ้นก็จะเบียดเบียนผู้อื่นน้อยลง ทุกคนเริ่มมาจากการกินเนื้อสัตว์เหมือนกันหมดแต่ทำไมบางคนหันมากินมังสวิรัติ มันเป็นไปได้อย่างไร จิตใจมันเจริญขึ้นได้อย่างไร ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์

3.2 ) ด้วยสติปัญญาที่พวกเขามี เขาจึงไปเชื่อลัทธิหนึ่ง

คำว่าลัทธิในที่นี้หมายถึงกลุ่ม ถ้ามองจากคนนอกที่เขาไม่กินเนื้อ เขาไม่รู้หรอกว่าเราไปอยู่กลุ่มไหนเขาก็มองเป็นกลุ่มก้อนเป็นลัทธินั่นแหละ ซึ่งลัทธิในที่นี้อาจจะเป็นพุทธ เป็นคริสต์ เป็นอิสลาม หรือศาสนา นิกาย กลุ่มคน กลุ่มสังคม กลุ่มในเฟสบุคก็ได้ที่มีลักษณะกลุ่มก้อนที่เสนอสื่อ ให้ความรู้ ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับการกินมังฯ และด้วยสติปัญญาที่มี คือมีปัญญารู้คุณรู้โทษจึงเชื่อและพยายามกินมังสวิรัติ

หลายคนเข้าใจว่ากินมังสวิรัติด้วยตัวเอง อยู่ๆก็ไม่อยากกินเนื้อสัตว์เอง มองว่าในชาตินี้ไม่ได้มีสื่อใดกระตุ้นเลย ถ้ามองแค่ในชาตินี้มันก็เข้าใจถูกตามนี้ ดูว่าเป็นคนเก่ง แต่แท้ที่จริงแล้วความเบื่อหน่ายเนื้อสัตว์นี้เป็นสิ่งที่สะสมมาหลายภพหลายชาติ ซึ่งการจะออกจากสิ่งที่เป็นโทษ เข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงนั้นจะคิดเอาเองไม่ได้ นึกเอา เดาเอา มั่วเอาเองไม่ได้เลย ต้องมีสัตบุรุษหรือผู้รู้สัจจะเป็นผู้บอก ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องราวเก่าแก่ในชาติปางก่อนก็ได้ เพราะทุกอย่างมาแต่เหตุ แล้วเหตุใดที่เราไม่อยากกินเนื้อสัตว์ ทั้งๆที่ในชาตินี้เราก็ไม่ได้เพียรพยายามใดๆเลย แต่กลับเห็นคนอื่นเขาเพียรพยายามกันอย่างยากลำบากตกแล้วตกอีก พลาดแล้วพลาดอีก นั่นเพราะเราทำมามาก ฟังมามาก เลยมีผลส่งมามาก ในส่วนนี้ที่ขยายไว้เพิ่มเพราะคนที่ทำอะไรได้ด้วยตัวเองมักจะมีอัตตาแรง คนเก่งมักมีอัตตาจัดเสมอ ก็ขอให้พิจารณาไว้

3.3 ฟังแล้วมีแต่ข้อดี จึงใช้ความเพียรพยายามในการลดละเลิก

ตรงนี้คือการพิจารณาประโยชน์ของการกินมังสวิรัติ เมื่อจิตเข้าถึงประโยชน์แล้วจึงใช้ความเพียร คนที่กินมังสวิรัติได้สมบูรณ์จริงๆจะรู้ว่าต้องใช้ความเพียรอย่างมากในการตัดกิเลส ในการห้ามใจไม่คิดถึงเนื้อสัตว์ ในการอยู่กลางวงเนื้อสัตว์โดยไม่กิน ในการยอมถูกบ่นถูกด่าจากผู้ที่ไม่เห็นดีกับการกินเนื้อสัตว์โดยไม่โกรธ สิ่งเหล่านี้ต้องใช้ความเพียรมาก ไม่ได้มากันง่ายๆ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เป็นสิ่งที่สั่งสมข้ามภพข้ามชาติมา

3.4 ให้กินเนื้อฟรีก็ไม่กิน แถมเงินก็ไม่กิน

เป็นสภาพของคนที่พ้นจากความอยากแล้วเท่านั้นจึงจะเข้าใจความสบายใจที่ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ คนที่กินมังสวิรัติแต่ไม่ได้ล้างกิเลสจะเหลืออาการอยาก เขาไม่กินแล้วนะแต่เห็นแล้วก็ยังอยากกิน แม้จะสามารถข่มใจไว้ได้แต่กิเลสก็จะโตขึ้นเรื่อยๆดังที่เห็นคนกินมังสวิรัติมานานแต่กลับไปกินเนื้อสัตว์ เพราะกิเลสมันโตจนกดไว้ไม่ไหว

3.5 มีเนื้อให้กินดีๆไม่กิน จะกินผัก

คนกินมังสวิรัตินั้นเป็นคนที่ยอมอดทน แม้จะต้องกดข่มก็ยังเจริญกว่าคนที่กินเนื้อสัตว์ตามกิเลส พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนจะบรรลุธรรมได้เพราะความเพียร ถ้าหากเราอยากพ้นความอยากกินเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นกิเลสที่ผลักดันให้เราไปกินเนื้อสัตว์แล้วเราต้องใช้ความเพียรที่ถูกต้องสู่การพ้นทุกข์ โดยมีความเชื่อที่ถูกต้องสู่การพ้นทุกข์เป็นหางเสือควบคุมทิศทางเช่นกัน

3.6 ชอบทวนกระแสโลก

คนที่สู้กับกิเลส ไม่ยอมทำตามกิเลสนั้นก็ถือว่าได้พยายามทวนกระแสโลก หรือกระแสของกิเลสแล้ว ส่วนจะถึงฝั่งฝันไหมก็คงต้องเพียรต่อไป คำว่าทวนกระแสโลกนั้นในทางธรรมก็เป็นที่เข้าใจอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องของโลกุตระ เป็นเรื่องของอีกโลกที่ไม่เหมือนโลกียะ ไม่เหมือนปลาตายที่ลอยตามน้ำ

3.7 ชอบมาเผยแพร่ลัทธิ

พอเราสามารถกินมังสวิรัติจนเห็นผลดีกับชีวิตและจิตใจตัวเองแล้ว เราก็จะเริ่มทำการเผยแพร่สิ่งดีให้กับคนรัก คนใกล้ชิด และบางครั้งก็ต้องพบกับความไม่ยินดี ไม่เอาด้วย หรือเอาด้วยแต่เอานิดเดียวนะ ซึ่งพอมีการสื่อสารหรือการแลกเปลี่ยนความเห็นความเข้าใจที่แตกต่างกัน ก็จะทำให้เกิดความคิดเห็นไม่ตรงกัน นำมาซึ่งความผิดใจกันและการทะเลาะเบาะแว้งได้

3.8 บ้าในโลกส่วนตัว

คนกินมังสวิรัติที่อยู่ในโลกส่วนตัวนั้นมีให้เห็นกว้างๆอยู่สองพวก หนึ่งคือพวกที่ติดโลกธรรมเลยไม่ถือสาคนอื่น กลัวเขาไม่คบ กลัวเขาว่า กลัวเขาเกลียด กลัวเขานินทา เกรงใจเขา อีกส่วนหนึ่งคือพวกที่สามารถลดกิเลสลดอัตตาได้ ก็จะไม่ถือสาคนอื่นเช่นกัน จะกินมังไปได้อย่างปกติ แม้จะมีคนมาด่าหรือต่อว่าก็จะไม่ไปทำร้ายจิตใจใคร

3.9 บ้าระรานชาวบ้าน

เป็นคนกินมังสวิรัติที่มีอัตตามาก มักจะพยายามยัดเยียดสิ่งดีคือมังสวิรัติให้ผู้อื่น ยัดเข้าไปจนเขาอ้วก จนเขาเอือมระอา จนเขาเกลียดมังสวิรัติไปเลยก็มี และอัตตายังส่งผลให้ปกป้องตัวเองเช่นกัน ดังเช่นเมื่อมีคนมาเห็นต่างเห็นแย้ง พวกเขาก็พร้อมจะหยิบอาวุธขึ้นมาปกป้องความเชื่อของตัวเอง ฟาดฟันผู้อื่นด้วยความคิด คำพูด การกระทำต่างๆ

ถามว่าทำไมถึงเรียกว่าระรานชาวบ้าน ทั้งๆที่ถูกโจมตี เพราะแท้จริงชาวมังสวิรัตินั้นคือผู้มีเมตตา ไม่เบียดเบียนสัตว์โลก นั้นหมายถึงสัตว์และมนุษย์ด้วย แม้ว่าเขาจะมาด่า กล่าวหาว่าร้าย มาโจมตีใดๆก็ตาม ก็ไม่ใช่เหตุที่เราจะต้องไปเบียดเบียนเขากลับเลย

คนมีอัตตาจะมองไม่เห็นตรงนี้เพราะกิเลสจะบังตาทันทีที่มีคนพูดแล้วขัดกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อหรือมาด่าต่อว่า เมื่อมองไม่เห็นกิเลสตัวเองก็โทษว่าคนอื่นผิด ว่าแล้วก็โกรธเขาแล้วเข้าใจว่ามันถูกต้อง คือเขาผิดเราจึงโกรธ อันนี้มันความเห็นของคนมีกิเลส มันก็ชั่วอยู่ดีนั่นเอง เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นอยู่ดีนั่นเอง

3.10 ดูสิพวกกินมังฯทั้งโง่ทั้งบ้า

มีเนื้อให้กินก็ไม่กิน กินฟรีก็ไม่กิน กินแต่ผัก ไม่ไปตามกระแสโลก ไม่ไปตามกิเลส คนทั่วไปเขามองเราแบบนี้มันก็ถูกของเขา เพราะเขาเห็นว่าทำแบบเรามันลำบาก มันทรมาน มันบ้า ไม่มีใครเขามาล้างกิเลส ลดกิเลสกันหรอก เขามีแต่จะพากันเพิ่มกิเลส

ในประโยคสุดท้ายนี่ทิ้งไว้โดยสื่อสารอย่างชัดเจนว่าคนที่เลือกกินเนื้อนั้นกินตามกิเลส ส่วนคนคิดจะกินมังสวิรัตินั้นคือคนทวนกระแสกิเลส หากผู้ใดได้พิจารณาบทความ คนบ้ากินมัง ดีๆจนกระทั่งในตอนจบก็จะไม่มีความสงสัยใดในบทนี้ ยกเว้นตัวท่านเองกินมังสวิรัติโดยไม่รู้เรื่องกิเลส ซึ่งก็ขอให้ท่านค่อยๆศึกษาและติดตามจากบทความอื่นๆที่ผมได้นำเสนอมาแล้วและจะนำเสนอต่อไปอีกเรื่อยๆ

…สุดท้ายนี้ขอยืนยันว่าถ้าคนล้างกิเลสเรื่องมังสวิรัติได้จริงจะสามารถอ่านบทความ “คนบ้ากินมังฯ” ได้ฉลุย ผ่านตลอด ไม่มีแม้ความขุ่นเคืองใจใดๆในทุกวินาทีที่อ่าน เพราะเขาเหล่านั้นได้ล้างอัตตาหรือความยึดดีในมังสวิรัติซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ เหตุที่ทำให้ไม่พอใจ ทำให้ขุ่นเคือง หรือทำให้โกรธออกไปเรียบร้อยแล้ว

ส่วนผู้ที่เห็นอัตตาของตัวเอง และเริ่มเห็นว่านี่แหละคือศัตรูตัวร้ายที่แอบซ่อนและฝังอยู่ในจิตใจของเรามานาน เป็นตัวที่ทำให้เราทุกข์ทุกครั้งเมื่อต้องเจอกับประเด็นต่างๆที่ไม่พอใจในเรื่องมังสวิรัติ ก็แนะนำให้เรียนรู้เรื่องกิเลส เรียนรู้เกี่ยวกับการล้างกิเลส ท่านจะศึกษากับครูบาอาจารย์หรือใช้วิธีอื่นก็ได้ตามที่ชอบหรือเห็นควรก็ได้

ซึ่งในส่วนของผมเองนั้นจะสร้างกลุ่มที่คุยเรื่องมังสวิรัติกับกิเลสที่ Buddhism Vegetarian

– – – – – – – – – – – – – – –

1.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เพ่งโทษฟังธรรม

October 12, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,956 views 0

เพ่งโทษฟังธรรม

เพ่งโทษฟังธรรม

การที่คนเราจะสามารถเรียนรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นั้นจำเป็นต้องมีการเปิดใจรับฟัง มีการนำมาพิจารณาถึงเนื้อหานั้นๆ ไม่ว่าสิ่งที่ได้ฟัง ได้เรียนรู้มานั้นจะเป็นความรู้ทางโลกหรือทางธรรมก็ตาม

เมื่อคนเรานั้นได้เรียนรู้โลกจนได้ความรู้มาหนึ่งชุด ก็มักจะยึดมั่นถือมั่นความรู้ชุดนั้นเป็นอัตตา เช่นไปศึกษากับครูบาอาจารย์ท่านใดก็จะยึดคำสอนนั้นเป็นหลักยึดทันที เมื่อได้ฟังธรรมใหม่ๆก็จะนำมาตรวจเทียบกับความรู้เดิมของตน เมื่อสิ่งใดไม่เหมือนสิ่งที่ตนเคยเรียนรู้มาก็มักจะมองว่าสิ่งนั้น “ผิด” โดยที่ตนเองก็ไม่ได้ปฏิบัติจนเข้าใจในคำสอนนั้น สักแต่ว่าฟังมาแล้วเอามายึด เอามาถือ เอามาพูดต่อ เอามาประดับเป็นยศของตัวเองว่าเป็นผู้รู้ธรรมมาก ใช้ความรู้ที่ฟังมาคอยเพ่งโทษเอาผิดผู้อื่น โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้มีการปฏิบัติหรือเข้าใจธรรมใดๆด้วยตนเองเลย

ทำให้คนที่ติดยึดเหล่านั้นไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง แม้จะนั่งฟังอยู่แต่ก็เพ่งโทษฟังธรรม แล้วก็จะไม่เข้าใจสาระแท้ในสิ่งที่ผู้พูดได้สื่อสาร พอไม่ฟังก็ไม่สามารถบรรเทาความสงสัยได้กลายเป็นยิ่งฟังก็ยิ่งสงสัย เพราะไม่ได้ตั้งใจฟัง เมื่อเป็นดังนั้นจึงไม่มีโอกาสทำความเห็นให้ถูกต้องตามที่ความจำเป็น เช่นเขาพูดอีกอย่าง เราฟังเป็นอีกอย่างกลายเป็นคนจับประเด็นไม่เป็น สุดท้ายจิตของผู้เพ่งโทษฟังธรรมนั้นก็จะขุ่นมัว ไม่เลื่อมใส ไม่ศรัทธา มีจิตคอยคิดเพ่งโทษ และไปปรามาสในธรรมได้ในที่สุด ถ้าธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แท้ เป็นธรรมที่ปนเปื้อนด้วยกิเลสก็ยังพอจะเรียกว่าเสมอตัวได้บ้าง แต่หากธรรมนั้นเป็นธรรมแท้ เป็นธรรมที่พาลดกิเลส ธรรมลดความยึดมั่นถือมั่น การเพ่งโทษฟังธรรมครั้งนี้จะกลายเป็นผลเสียอย่างมากต่อความสุขความเจริญเลยทีเดียว

ในบทของกำลัง๘ พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “บัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษเป็นกำลังและคนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง” จึงจะเห็นได้ว่าผู้ที่จะก้าวเป็นบัณฑิตจึงไม่เพ่งโทษใครๆเลย แม้ว่าจะได้ยินธรรมที่แสดงอยู่นั้นไม่ตรงตามหลักแห่งการพ้นทุกข์ ก็จะไม่ไปเพ่งโทษใดๆทั้งยังมีจิตมีเมตตา หากบอกสิ่งที่ถูกได้ก็บอก ถ้าบอกไม่ได้ก็ปล่อยวางได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะบอกสิ่งที่ถูกจะต้องเป็นสิ่งที่ถูกจริง หากผู้ใดหลงตนว่าเป็นบัณฑิตหยิบเอาธรรมที่ได้ยินได้ฟังมากล่าวอ้างโดยไม่มีความรู้ในตนเอง ก็อาจจะกลายเป็นภัยต่อตัวเองได้เช่นกัน

ส่วนคนพาลนั้นมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง กำลังนี้เองที่จะพาให้คนพาลคอยจ้องจับผิดผู้อื่น แม้ว่าจะอยู่ในคราบของนักบวช นักบุญ ผู้ถือศีล บุคคลที่มีชื่อเสียงน่าเคารพนับถือ แต่หากยังมีการเพ่งโทษผู้อื่นอยู่เสมอก็เรียกได้ว่าเป็นคนพาล พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในมงคล ๓๘ เป็นข้อแรกว่าให้ห่างไกลคนพาลนี้เสีย เพราะคนพาลนั้นมักจะมีการเพ่งโทษว่าร้ายผู้อื่น นำพาไปสู่เรื่องเสื่อมทรามอยู่เสมอ ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมก็มักจะคอยชี้นำให้คนอื่นเพ่งโทษคนที่คิดเห็นไม่ตรงกับที่ตนเข้าใจ ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่คนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มักจะทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมแตกแยกกัน เสื่อมศรัทธาต่อกัน ซึ่งเป็นกรรมหนัก คนที่เชื่อในคนพาลก็จะพากันลงนรกด้วยกันกับคนพาล ดังนั้นท่านจึงว่าให้ห่างไกลคนพาลเข้าไว้

ผู้ที่คอยเพ่งโทษเวลาฟังผู้อื่น ก็จะฟังผู้อื่นไม่เข้าใจ ฟังเด็กพูดก็ไม่เข้าใจเด็ก ฟังผู้ใหญ่พูดก็ไม่เข้าใจผู้ใหญ่ ฟังคนแก่พูดก็ไม่เข้าใจคนแก่ ฟังพระพูดก็ไม่เข้าใจพระ ถึงแม้จะดูเหมือนเข้าใจ แต่ก็จะไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไปอีกอย่างหนึ่งได้

สัมมาทิฏฐิ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับปัจจัยแห่งการเกิดสัมมาทิฏฐิไว้สองประการ สัมมาทิฏฐินั้นคือความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ แล้วสิ่งใดคือสัมมาทิฏฐิ เชื่ออย่างใดจึงจะเป็นความเชื่อที่ถูกต้อง เราเพียงแค่รู้จักกับคำนี้เพียงแค่ว่า “ความเห็นชอบ” แต่สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าเห็นชอบในอะไร ได้แต่เดาไปเอง เข้าใจไปเองตามปัญญาที่มี โดยที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ค้นหาความจริงเกี่ยวกับสัมมาทิฏฐิ

ความเห็นที่ถูกต้องนั้นต้องพาให้ลดกิเลส พาให้ไม่สะสม รู้ว่าการลดกิเลสมีผลเจริญ เชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม เชื่อว่ากรรมยุติธรรมเสมอ รู้ว่าพระพุทธเจ้ามีจริง และรู้ว่าอริยสาวกนั้นก็มีอยู่จริง รู้ว่าโลกียะมีและโลกุตระก็มี คือรู้ว่าเรายังมีกิเลสอยู่และรู้ว่าความสุขกว่าการมีกิเลสก็มีอยู่ รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงหรือการเกิดใหม่ทางวิญญาณมีจริง คือคนที่เลวก็สามารถกลับตัวเป็นคนดีได้ และเชื่อว่าผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่สอนธรรมะอย่างถูกตรงในโลกนี้ยังมีอยู่ รู้ว่าเป็นใครและรู้ด้วยว่าหากปฏิบัติตามท่านเหล่านั้นก็จะสามารถพ้นทุกข์ได้จริง

ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ

การจะนำตัวเราไปสู่ความเห็นความเข้าใจที่ถูกตรงนั้นมีเหตุปัจจัยอยู่ด้วยกันสองประการ นั่นคือ ๑.ปรโตโฆสะ ๒.โยนิโสมนสิการ

ปรโตโฆสะ

คือการตั้งใจรับฟัง เปิดใจฟังสิ่งที่แตกต่างจากที่ตนคิดโดยไม่มีความยึดมั่นถือมั่นเข้าไปปน ฟังอย่างลึกซึ้งให้เข้าใจว่าผู้สื่อสารนั้นกำลังตั้งใจสื่อสารอะไร ผู้ที่ไม่มีปรโตโฆสะก็มักจะฟังไปด้วยคิดแย้งไปด้วย เช่นพอผู้พูดกล่าวมาหนึ่งประโยค เขาก็จะมีความคิดเห็นแย้งต่อประโยคนั้นทันที คือไม่เชื่อ อันเกิดจากความไม่รู้ ยึดมั่นถือมั่น หรือลังเลสงสัย ถ้าค้านแย้งหนักๆก็จะกลายเป็นการเพ่งโทษฟังธรรม ฟังไปก็จับผิดไป คิดแย้งไป พูดไม่เหมือนที่ฉันเรียนมา พูดไม่เหมือนที่ฉันเข้าใจ มันต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ปรโตโฆสะคือใช้ความไม่มีอัตตา ฟังด้วยอนัตตาคือไม่ถือตัวถือตน

กลายเป็นผู้ฟังที่ไม่ดีในที่สุด นอกจากจะฟังไม่รู้เรื่องแล้วยังทำให้เกิดวิบากกรรมอีกด้วย ผู้ฟังที่ดีมีหน้าที่แค่ฟัง ฟังอย่างตั้งใจ ไม่รีบคิดตีความใดๆ ก่อนเวลาอันควร ยอมให้ความรู้อื่นที่เราไม่เข้าใจ เข้ามาเพิ่มในความรู้เดิมของเราเสียก่อน ยินดีที่จะรับฟังเสียก่อนค่อยตัดสินใจ

โยนิโสมนสิการ

เมื่อเปิดใจรับฟังแล้ว เราก็จะนำข้อความ เรื่องเล่า ความรู้เหล่านั้นพิจารณาไปถึงแก่นสารสาระของธรรมที่สอดแทรกอยู่ในนั้นๆ หรือที่เรียกกันว่าการทำใจในใจให้แยบคาย คือเมื่อฟังแล้วก็มีการพิจารณาสิ่งเหล่านั้นตามไปด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าฟังเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ฟังจบแล้วก็ลืมไป แต่การมีโยนิโสมนสิการจะทำให้สามารถเข้าใจในสิ่งที่ฟังได้มากขึ้น สิ่งที่ฟังนั้นเข้าไปในใจ ไปในความรู้สึก ไม่ใช่แค่ในความคิด เมื่อพิจารณาลงสู่ใจจะได้ความรู้สึกอีกแบบหนึ่งจะ “เข้าใจ” ลึกซึ้งขึ้น

….เมื่อเรามีสองปัจจัยนี้แล้ว ไม่ว่าเราจะฟังหรือเรียนรู้เรื่องทางโลกหรือทางธรรม การฟังหรือเรียนรู้นั้นๆก็จะเกิดประสิทธิภาพที่สูงที่สุด จะฟังเรื่องทางโลกก็สามารถเข้าใจแก่นสารสาระของสิ่งนั้น จะฟังเรื่องทางธรรมก็สามารถเข้าใจธรรมนั้นๆได้โดยลำดับตามฐานของตน

ความเสื่อมของชาวพุทธ

การเพ่งโทษฟังธรรมนั้นเป็นหนึ่งในความเสื่อมของชาวพุทธ ความเสื่อมนี้เกิดในคนที่เสื่อม ไม่ใช่ศาสนาเสื่อม เพราะเขาเหล่านั้น ขาดการเยี่ยมเยียนครูบาอาจารย์ผู้มีสัจจะแท้ ถึงแม้จะไปเยี่ยมก็กลับละเลยการฟังธรรมสนใจเอาแต่กุศลน้อยๆเช่นทำทาน บริจาค กวาดลานวัด ฯลฯ พอไม่ได้ฟังธรรมก็เลยไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติในอธิศีล ไม่เรียนรู้เรื่องศีล ไม่รู้วิธีทำให้ตัวเองเจริญในศีลนั้น เพราะเมื่อไม่มีผู้รู้สอนก็ไม่สามารถรู้และปฏิบัติด้วยตนเองได้ พอไม่ศึกษาและปฏิบัติอธิศีลก็เริ่มจะไม่เข้าใจคุณค่าของศีล เริ่มเห็นช้างเป็นมด ไม่ให้ค่ากับคนผู้มีศีล มองเห็นทุกคนเทียบเท่ากันหมด ไม่ศรัทธาในครูบาอาจารย์ไม่ว่าจะแก่หรือเด็ก จะเห็นว่าเท่ากันหมด

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ผู้มีปัญญาย่อมมีศีล ผู้มีศีลย่อมมีปัญญา” คนมีปัญญาจึงถือศีล คนไม่มีปัญญาก็ไม่ถือศีล คนมีปัญญาจึงเคารพในผู้มีศีล ส่วนคนไม่มีปัญญาจึงไม่สนใจผู้มีศีล ในชาดกตอนหนึ่งท่านว่า หากกลุ่มชนใดไม่สามารถแยกแยะคนดีกับคนชั่วได้ เห็นว่าคนมีศีลกับคนไม่มีศีลเสมอกัน ท่านให้พรากจากสังคมหรือกลุ่มชนนั้นเสีย จะเห็นได้ว่าท่านให้พรากจากคนผู้ไม่มีปัญญา

เมื่อไม่มีปัญญาแยกแยะคนผู้มีศีลกับคนทั่วไป สุดท้ายก็จะกลายเป็นคนพาลในที่สุดเพราะไม่มีความเคารพในผู้ปฏิบัติดีทั้งผู้ปฏิบัติมาก่อนและปฏิบัติใหม่ เมื่อได้ฟังธรรมที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังก็มักจะมีจิตตำหนิติเตียน “เพ่งโทษฟังธรรม” หากธรรมที่แสดงอยู่นั้นเป็นธรรมที่พาลดกิเลสและพาพ้นทุกข์ ผู้เพ่งโทษฟังธรรมก็จะเดินย้อนไปอีกทางคือไปทางนรก

เมื่อไม่เชื่อตามธรรมที่ผู้ปฏิบัติดีสอนสั่ง คอยเพ่งโทษฟังธรรม ก็จะไม่เข้าใจธรรม แม้จะทำบุญทำทานก็จะกลายเป็นการแสวงบุญนอกขอบเขตพุทธศาสนา คือไปทำบุญตามประเพณีที่สังคมเข้าใจ แต่ไม่เกิดบุญกุศลตามหลักของศาสนาพุทธ และจะมีความเข้าใจในเรื่องบุญกุศลที่ผิดเพี้ยน

เมื่อเข้าใจการทำบุญที่ผิดไปจากพุทธก็จะเริ่มไปศรัทธาลัทธิที่อ้างว่าตนเองเป็นพุทธแต่ปฏิบัติไม่ถูกตามหลักพุทธ เช่นการเอาสวรรค์วิมานมาเป็นเครื่องล่อ การเอาลาภยศสรรเสริญมาเป็นเครื่องลวง การนำหลักปฏิบัติของศาสนาอื่นมาปนเช่น พราหมณ์ ฤาษี หรือลัทธิอื่นนอกพุทธ ไปเคารพบูชาเทพเจ้า เคารพบูชาคนผู้อวดอ้างเป็นเจ้าลัทธิ สุดท้ายจะเลิกนับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็จะหลุดจากพุทธไปศาสนาอื่นเลย

นี่เองคือกระบวนการแห่งความเสื่อมของชาวพุทธ เป็นชาวพุทธเองที่เสื่อมไปจากธรรมที่แท้ ไม่ใช่ธรรมนั้นเสื่อม แต่เป็นคนที่เสื่อมไปจากธรรม ธรรมะคือสิ่งที่มีอยู่เช่นนั้น เป็นอยู่แบบนั้นไม่มีวันเสื่อมสลาย หากแต่คนผู้มีความเสื่อมศรัทธาในการลดกิเลส จะค่อยๆพาตัวเองเสพกิเลสและเสื่อมจากธรรมไปเอง นี้เองคือเหตุแห่งความเสื่อมของชาวพุทธ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ( ความเสื่อมของชาวพุทธ๗ )

– – – – – – – – – – – – – – –

11.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ศาสนาไม่ได้เจริญขึ้นเพราะเงิน

September 29, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,733 views 0

ศาสนาไม่ได้เจริญขึ้นเพราะเงิน

ศาสนาไม่ได้เจริญขึ้นเพราะเงิน

ทุกวันนี้ศาสนาไม่ได้ถูกใช้เป็นวิถีทางแห่งการดับทุกข์เหมือนอย่างในอดีต แต่กลับกลายเป็นช่องทางให้ใครหลายคนได้ใช้เพื่อนำไปสู่ความมั่งคั่งด้วยชื่อเสียง เงินทอง บริวาร และสุขลวงๆ

ในยุคที่สังคมรีบเร่ง แก่งแย่งแข่งขัน ทำให้เราเหลือเวลาไม่มากพอที่จะใส่ใจแก่นแท้ของศาสนา นั่นทำให้เราเลือกที่จะไปทำบุญทำทานด้วยเงิน เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่คนไทยส่วนใหญ่ยึดถือและปฏิบัติ เรามีงานประเพณีมากมายที่ใช้เงินเป็นตัวขับเคลื่อน ไม่ว่างานบุญ งานกฐิน หรือแม้กระทั่งงานบวชก็ยังต้องมีเงินหมุนเวียนมากมาย

เราอาจจะเห็นวัดวาอารามใหญ่โต เจริญขึ้น มีความสะดวกสบายมากขึ้น นั่นเป็นผลมาจาก…เงิน หรือจะให้ชัดก็คือ ผลมาจากแนวคิดเชิงทุนนิยม วัตถุนิยม กิเลสนิยม

แต่หลักของพุทธนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างทางโลก พุทธไม่ได้สะสมวัตถุ ไม่ได้ต้องการวัดที่ใหญ่และความสะดวกสบายมากนัก เพราะศาสนาพุทธนั้นเป็นไปเพื่อการพราก ความมักน้อย ความไม่สะสม การขัดเกลากิเลส จนกระทั่งถึงการดับกิเลส

ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “เงินทองเหมือนดังอสรพิษ” ความมีจนเกินพอดี จะทำให้คนมัวเมาในกิเลสกลายเป็นพิษเป็นภัย แม้แต่ผู้ที่ตั้งใจบวชก็ยังพ่ายแพ้ต่อพลังของเงิน ใช้เงินสร้างวัตถุที่เกินความจำเป็น เพื่อชื่อเสี่ยง เพื่อบารมี เพื่อสะสมบริวาร ทั้งหมดนี้มีรากมาจากความโลภทั้งสิ้น

ส่วนต้นเหตุที่ทำให้เป็นแบบนั้นก็คือ คนที่หลงมัวเมาในการทำบุญทำทานอย่างไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า เงินที่ให้ไปนั้น จะไปเพิ่มกิเลสให้กับพระหรือไม่ ถ้าให้เงินนั้นไปแล้ว พระนำไปสร้างวัตถุเพื่อสนองกิเลสของตน ก็เป็นการเพิ่มกิเลสให้กับพระ เป็นทานที่ให้ไปแล้วผู้รับ “ไม่บริสุทธิ์” ย่อมไม่เกิดอานิสงส์ที่สมบูรณ์ และอาจจะกลายเป็นอกุศลไปได้ด้วย หากพระผู้นั้นใช้ทานเหล่านั้นเพื่อไปเสพสมใจในกิเลสของตนมากเกินไปจนทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธาในศาสนา

การร่วมบุญกับคนบาป นั้นจะไม่บาป ไม่มีอกุศล ไม่มีผลทางลบนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เราควรจะแยกคนพาล (คนผู้หลงมัวเมาในกิเลส) กับบัณฑิต(คนผู้มีสัจจะ เป็นไปเพื่อลด ล้างกิเลส) ออกให้ชัดเจน คนไหนเป็นคนพาลก็ให้ห่างไกลไว้ ไม่ร่วมกิจกรรมด้วย คนไหนเป็นบัณฑิต ก็ให้เข้าใกล้ ร่วมกิจกรรม ร่วมบุญกัน ก็จะเกิดกุศลและอานิสงส์มหาศาล

ทานที่ให้ควรประกอบด้วยความบริสุทธิ์ทั้งผู้ให้ ผู้รับ และทานนั้นๆ ผู้ให้ควรบริสุทธิ์ด้วยกายวาจาใจ ไม่ได้ให้เพื่อหวังสิ่งตอบแทนใดๆ ไม่ได้ให้ด้วยกิเลสตัณหา ผู้รับเองก็ควรบริสุทธิ์ด้วยศีล อันเป็นฐานะที่ควรทำให้เจริญขึ้นเรื่อยๆเพื่อยังประโยชน์แก่ผู้ให้ และทานนั้นก็ควรบริสุทธิ์ เป็นของที่ไม่เบียดเบียนใคร ไม่เดือดร้อนใคร

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ตั้งตนอยู่บนความลำบาก กุศลธรรมเจริญยิ่ง” ถ้าเราปล่อยให้พระได้ลำบากพอประมาณ ในขีดที่ไม่ทรมาน เปลี่ยนจากการทำบุญทำทานด้วยวัตถุ มาเป็นออกแรง เช่น ทำความสะอาดวัด ก็จะทำให้พระไม่ได้รับความสะดวกสบายจากปัจจัยที่มากเกินพอดีนัก นั่นคือช่วยให้พระได้ตั้งตนอยู่บนความลำบากบ้าง ท่านก็จะได้เจริญในธรรมยิ่งขึ้น และอานิสงส์เหล่านั้นก็จะย้อนกลับมาถึงเราด้วย เช่น เมื่อท่านได้เรียนรู้ธรรมจากความลำบากบ้าง ท่านก็จะได้นำธรรมเหล่านั้นมาสอนเรา

และพระพุทธเจ้ายังได้ตรัสไว้อีกว่า “เมื่ออยู่ตามสบาย อกุศลธรรมเจริญยิ่ง” นั่นหมายถึง ถ้าเรายิ่งเลี้ยงพระด้วยอาหารอันมีมาก ด้วยทรัพย์อันเกินประมาณ ด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกที่เกินพอดี ความเสื่อมจะยิ่งใกล้เข้ามาเรื่อยๆ กุศลธรรมจะเสื่อมลง อกุศลธรรมจะเจริญขึ้น สิ่งดีจะหายไป สิ่งชั่วจะเข้ามาแทนที่ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเราทำบุญทำทานกันอย่างหน้ามืดตามัว ทำทานกันอย่างเมาบุญ เห็นว่าที่ไหนพระดัง ก็พากันเอาเงินโถมเข้าไปทำลายวัดนั้นๆจนแตกกระเจิง ตบะแตกกันกระจาย ศีลแตกกันไม่มีเหลือ

พระส่วนมากก็คนธรรมดาเหมือนเรา จะไปมีพลังต้านทานกิเลสได้อย่างไร พอใส่เงินเข้าไปมากๆ ก็เริ่มจะโลภ เริ่มจะล่าบริวารมากขึ้น เริ่มตั้งลัทธิ ตั้งสำนัก เพื่อให้ตนเองนั้นได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ดังที่เคยเป็นข่าวให้เราเห็นกันอยู่เป็นประจำ

ดังนั้นการทำบุญทำทานอย่างไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าผู้รับนั้นเหมาะสมหรือไม่ ควรหรือไม่ โดยใช้ความเจริญทางจิตใจของศาสนาเป็นหลักในการพิจารณา ไม่ให้ความอยากในการทำบุญทำทานของเรานั้นไปเป็นส่วนหนึ่งในความเสื่อมของชาวพุทธ เพียงคิดได้แค่นี้ก็เกิดกุศลยิ่งใหญ่แล้ว เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา มิใช่ศาสนาที่พามัวเมาในบุญ ในสวรรค์ วิมาน เทวดา ฟ้าดิน แต่ท่านสอนให้เชื่อในเรื่องของกรรม

ชีวิตของคนเราจะดีนั้น ไม่ได้หมายความว่าไปบริจาคเงินทำบุญแล้วมันจะดีเสมอไป เพราะ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ถ้าเราอยากจะให้เกิดสิ่งที่ดีในชีวิตเราต้องทำเอาเอง ไม่มีอะไรมาดลให้เกิดดีกับเราได้ นอกจากกรรมที่เราทำมา ยิ่งเราทำกรรมดีมากๆ แม้ไม่ได้ไปทำบุญหยอดตู้ใส่เงินให้กับวัด ชีวิตเราก็สามารถเกิดสิ่งที่ดีได้

และนั่นคือสิ่งที่ดีที่สุด เพราะเรายึด “กรรม” คือการกระทำของตนนั้นเป็นหลักในการปฏิบัติ ไม่ใช่ไปให้เงิน ให้วัตถุกับคนอื่นแล้วบอกให้เขาอวยพรให้มีความสุข ให้เราร่ำรวย ให้เราเจอแต่คนดี ให้เราไปสวรรค์ ให้เราไปนิพพาน อันนี้ไม่ถูกทางพุทธ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ปลายทางนั้นมีแต่จะทุกข์ เป็นนรกอย่างเดียว

– – – – – – – – – – – – – – –

28.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์