Tag: ทุกข์

เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ

October 14, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 23,546 views 1

เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ

เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ

คำว่าทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้จักกันอยู่แล้ว ไม่มีใครเกิดมาไม่พบกับทุกข์ ทุกคนที่อยู่บนโลกนี้ไม่ว่าจะเป็นใครก็ต้องพบกับทุกข์ เป็นสัจจะ เป็นความจริงแท้ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ทุกข์นั้นมีอยู่สองส่วน หนึ่งทุกข์ที่เลี่ยงไม่ได้ และสองคือทุกข์ที่เลี่ยงได้นั่นก็คือทุกข์จากกิเลสนั่นเอง เราจะมากล่าวถึงทุกข์จากกิเลสกัน

ทุกข์นั้นจะเกิดได้ก็เพราะมีเหตุ เหตุแห่งทุกข์ นั้นพระพุทธเจ้าเรียกว่า “สมุทัย” และเหตุแห่งทุกข์นั้นแท้จริงแล้วอยู่ข้างในตัวเรา

(1). ด่านแรก ทุกข์อยู่ข้างใน…

ด่านแรกของการเห็นเหตุแห่งทุกข์เลยก็คือมันอยู่ที่ตัวเรา ใครที่พบเจอกับความทุกข์แล้วมัวแต่มองหาคนผิด มองหาผู้ที่ทำให้ตนทุกข์ มองหาคนรับผิดชอบในทุกข์นั้น เป็นคนที่มองไม่เห็นเหตุแห่งทุกข์ เพราะทุกข์นั้นเกิดจากใจของตัวเอง เกิดจากกิเลสของตน เกิดจากกรรมของตน การจะรู้เหตุแห่งทุกข์ได้จึงต้องยอมรับว่าทุกข์นั้นเกิดจากตนเองก่อนเป็นอันดับแรก

(2). ด่านที่สอง ทุกข์ที่เห็นอาจจะไม่ใช่เหตุแห่งทุกข์

ทุกข์ที่เห็นนั้น มักจะเป็นผลสุดท้ายของการไม่ได้เสพสมใจ แต่หลายคนไปเข้าใจผิดว่าความทุกข์นั้นคือเหตุแห่งทุกข์ เช่นเราถูกเพื่อนสนิทนินทา เราโกรธเพื่อน แล้วเรารู้สึกว่าโกรธเป็นทุกข์ เราจึงเห็นว่าความโกรธคือเหตุแห่งความทุกข์ ซึ่งจริงๆแล้วความโกรธนั้นเป็นผลที่ปลายเหตุแล้ว จะไปดับความโกรธนั้นก็ได้ก็เรียกว่าดี แต่ก็ถือว่าไม่ได้ดับเหตุแห่งทุกข์อย่างแท้จริง

มีหลายลัทธิพยายามที่จะดับความคิด ดับเวทนา ดับความสุข ทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการได้กระทบสิ่งต่างๆที่เข้ามาในชีวิตประจำวัน โดยพยายามทำการดับสิ่งที่เกิดขึ้น ดับจิตที่เป็นทุกข์ ซึ่งก็เป็นการดับปลายเหตุที่ดีวิธีหนึ่ง แต่ก็เหมือนมองเหตุที่ปลายเหตุเพียงอย่างเดียวไม่ได้เข้าไปค้นที่ต้นเหตุ มองเพียงว่าจิตใจที่สั่นไหวนั้นคือเหตุเท่านั้น เหมือนกับเกิดแผ่นดินไหว เขาเหล่านั้นมักมองปัญหาคือแผ่นดินไหว บ้านเรือนพังทลายคือปัญหา เขาต้องหยุดการพังทลายหรือพยายามสร้างบ้านที่ป้องกันแผ่นดินไหวได้ แต่ผู้ที่ค้นหาเหตุจริงๆ คือเข้าไปค้นหาว่าแผ่นดินไหวจากสาเหตุใด แผ่นดินเคลื่อนเพราะอะไร อากาศร้อนเย็นมีผลหรือไม่ ค้นหาไปถึงนามที่ทำให้เกิดรูปคือแผ่นดินนั้นเคลื่อนไหวได้ และดับเหตุนั้นจึงจะเป็นการดับทุกข์ที่เหตุแห่งทุกข์อย่างแท้จริง

มีหลายลัทธิที่มองว่าทุกข์นั้น เป็นเพียงสิ่งที่ผ่านมาผ่านไปตามกฎของไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยง จริงอยู่ว่าทุกข์ที่เกิดนั้น มันเกิดขึ้นมา มันตั้งอยู่ และมันก็ดับไป เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ผู้ที่เข้าใจเช่นนี้จะสามารถปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในทุกข์ที่เกิดได้ดีระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถดับเหตุแห่งทุกข์ได้ เสมือนกับผู้ที่มองแผ่นดินไหว บ้านเรือนพังทลายด้วยจิตใจว่างๆ แล้วก็สร้างใหม่ แล้วก็พังใหม่ แล้วก็สร้างใหม่ แล้วก็พังใหม่ เกิดดับ เกิดดับเช่นนี้ตลอดไป ด้วยพวกเขาเหล่านั้นไม่รู้วิธีดับทุกข์ที่เหตุ เมื่อไม่ได้เข้าไปดับเหตุแห่งทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสก็ต้องเกิดขึ้นอยู่เรื่อยไป แม้จะดับไปตามกฎ แต่ก็จะเกิดขึ้นมาใหม่ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

(3). ด่านที่สาม ขุดค้นเหตุแห่งทุกข์

เมื่อเราเห็นได้ว่า การค้นหาเหตุแห่งทุกข์โดยการดูแค่ผิวเผินนั้นไม่สามารถทำลายเหตุแห่งทุกข์ได้อย่างแท้จริง เราจึงต้องมาค้นหาว่าเหตุแห่งทุกข์นั้นอยู่ตรงไหนกันแน่

ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนนินทาเรา เราก็โกรธเพื่อน ความเข้าใจทั่วไปจะดับความโกรธที่เกิดตรงนี้ แต่ในความจริงแล้ว ความโกรธ (โกธะ)คือกิเลสปลายทาง เป็นสภาพทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการไม่ได้ครอบครองสมใจ ไม่ได้มาอย่างใจหมาย เราจึงแสดงอาการโกรธเหล่านั้นออกไป อันเกิดจากความโลภ ความอยากได้ อยากครอบครองเกินความจำเป็นจริง เกินจากความจริง(โลภะ) คือเราอยากให้เพื่อนทุกคนพูดดีกับเรา การที่เราอยากให้ทุกคนพูดดีกับเรานั้นเพราะเราเสพติดคำพูดดีๆอยากฟังสิ่งดีๆ (ราคะ) ทั้งหมดนี้มีรากมาจากความหลง(โมหะ) หลงไปว่าการได้เสพคำพูดดีๆ จะนำมาซึ่งความสุขให้ตน เป็นต้น

ลำดับของกิเลสที่จะเห็นได้จากละเอียดไปหยาบคือ…

โมหะ เพราะเราหลงติดหลงยึดในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเราจะอยากเสพสิ่งนั้น เป็นรากที่ละเอียดที่สุด แก้ยากที่สุด

ราคะ เราอยากเสพสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เกิดจากเราหลงชอบหลงยึดสิ่งนั้น พอเสพก็ติด ยิ่งเสพก็ยิ่งจะอยากเสพเพิ่มอีก

โลภะ เมื่อเราชอบสิ่งนั้นอยากเสพสิ่งนั้น ก็จะพยายามหามาปรนเปรอกิเลสตัวเอง จนเกิดการสะสม หามามากเกินความจำเป็น หวง ไม่ยอมให้ใครเพราะกลัวตัวเองจะไม่ได้เสพ

โกธะ เป็นกิเลสปลายเหตุ เกิดขึ้นเมื่อไม่ได้เสพสมใจอยาก เมื่อมีคนพรากสิ่งที่อยากเสพไปรุนแรง เป็นไฟที่ทำลายได้ทุกอย่าง

การวิเคราะห์พิจารณาหาเหตุแห่งทุกข์นี้ ต้องใช้กระบวนการของสติปัฏฐาน๔ คือกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม เข้ามาวิเคราะห์กิเลสเหล่านี้ ซึ่งสติปัฏฐาน๔ นี้ต้องปฏิบัติทุกองค์ประกอบไปพร้อมกัน คือ กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นก้อนเดียวกัน เป็นกระบวนการเดียวกัน ไม่สามารถแยกออกมาใช้เป็นตัวๆอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจได้

เมื่อปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน๔ อย่างถูกต้องจึงจะมีสิทธิ์ได้เห็นไปถึงเหตุแห่งทุกข์อันคือความหลงติดหลงยึดในกิเลสใดๆได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะพิจารณาครั้งเดียวก็เห็นได้ทุกอย่าง เพราะกิเลสนั้นลึกลับซับซ้อน จนบางครั้งเราอาจจะต้องให้เหตุการณ์นั้นๆเกิดขึ้นหลายที หรือพิจารณาซ้ำๆในจิตใจอย่างหนักเพื่อที่จะทำให้เห็นเข้าไปถึงเหตุแห่งทุกข์นั้น

การวิเคราะห์กิเลสเหล่านี้บางครั้งสติปัญญาที่เรามีอาจจะไม่สามารถทำเหตุแห่งทุกข์ให้กระจ่างได้ การมีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี คือมีครูบาอาจารย์ที่คอยชี้แนะ มีเพื่อนกัลยาณมิตรที่คอยแนะนำ ก็จะช่วยให้สติ ช่วยให้เกิดปัญญาที่มากขึ้นกว่าขอบเขตที่เราเคยมีได้

(4). ด่านที่สี่ เหตุแห่งทุกข์เกิดจากการหลงในกิเลส

ความหลงในกิเลสนั้นมีมิติที่หลากหลาย หากเราเข้าใจเพียงแค่ว่าหลง แต่ไม่รู้ว่าหลงในอะไร ก็ยากที่จะแก้ไปถึงเหตุได้ เพราะถ้าไม่รู้สาเหตุว่าหลงในอะไร ก็คงจะไม่สามารถดับทุกข์ได้ เพราะการดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ เมื่อดับไม่ถูกเหตุ ทุกข์ก็ไม่ดับ เราจะมาลองดูเหตุแห่งทุกข์ อันคือความหลงยึดในกิเลสสี่ตัวนี้กัน

(4.1). อบายมุข

คือกิเลสขั้นหยาบที่พาให้คนหลงไป สามารถหลงจนไปนรก ไปเดรัจฉานได้เลย คือความหลงในอบายมุขต่างๆ เช่นเที่ยวเล่น เที่ยวกลางคืน เล่นพนัน หวย หุ้น เสพสิ่งมึนเมาทั้งหลายไม่ว่าจะสุรา บ้าดารา กิจกรรมหรือสิ่งต่างๆที่ทำให้จิตใจมัวเมา เที่ยวดูการละเล่น ดูละคร ดูหนัง ดูทีวี เพื่อความบันเทิงใจ คบคนชั่ว พาไปทางเสื่อม พาให้เล่นพนัน พาให้มัวเมา พาให้เป็นนักเลง พาให้หลอกลวงผู้อื่น พาให้คดโกง และความเกียจคร้านการงาน

คนส่วนมากมักจะติดในอบายมุขจนดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา ผู้ที่พยายามทำตัวกลืนไปกับสังคมโดยใช้ค่ามาตรฐานของสังคมเป็นตัววัดความดี จะถูกกิเลสมวลรวมของคนส่วนใหญ่ลากไปลงนรก หรือที่เรียกว่าอุปาทานหมู่ คือสังคมคิดไปเองว่ากิเลสเหล่านั้นเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องที่ใครๆก็เสพกัน ทั้งๆที่เป็นอบายมุข เป็นกิเลสหยาบที่พาให้ชีวิตเดือดร้อน เมื่อเสพอบายมุขก็จะยิ่งนำพากิเลสตัวอื่นที่หยาบเข้ามา เสพมากๆก็ติด พอไม่เสพก็โกรธไม่พอใจ เป็นทุกข์

(4.2). กามคุณ

คือความหลงในกิเลสที่พาให้อยากเสพใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เช่นชอบแต่งตัวสวย ชอบคนหน้าตาดี อาหารอร่อย กลิ่นที่หอม เสียงไพเราะ เตียงที่อ่อนนุ่ม หรือกระทั่งเรื่องการเสพเมถุน ทั้งหมดนี้อยู่ในหมวดของการหลงในกาม เมื่อเราหลงติดในกามเหล่านี้ ก็จะพาให้เราอยากเสพกามตามที่เราติด พอเสพมากๆก็พาสะสม พอไม่ได้เสพสมใจก็โกรธเป็นทุกข์

(4.3). โลกธรรม

โลกธรรมคือกิเลสที่ละเอียดที่ฝังอยู่ในคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็น ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียะสุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ก็เป็นสภาพของโลกธรรม เมื่อคนหลงในลาภก็จะสะสมมาก หลงในยศก็จะไต่เต้าเพื่อหายศหาตำแหน่ง หลงในสรรเสริญก็จะพยายามทำตัวให้เป็นที่น่าสนใจ อยากให้คนยอมรับ เชิดชูบูชา หลงในโลกียะสุขก็จะแสวงหาสุขในทางโลก สุขที่วนอยู่ในโลก เมื่อเสพสิ่งเหล่านี้มากเข้า ก็จะเริ่มสะสม เริ่มหวงลาภ ยศ สรรเสริญ สุข พอไม่ได้หรือเกิดสภาพของความเสื่อมทั้งหลายก็จะโกรธ เป็นทุกข์ เสียใจ

(4.4). อัตตา

อัตตาคือกิเลสที่ละเอียดที่สุดที่คนหลงยึดไว้ ไม่ว่าจะอบายมุข กามคุณ โลกธรรม สุดท้ายก็ต้องมาจบที่อัตตา เป็นเสมือนรากของกิเลส ส่วนที่เหลือนั้นเหมือนกิ่งก้านใบของกิเลสเท่านั้น ผู้ที่ดับอัตตาได้ก็จะเข้าสู่อนัตตา เป็นภาษาที่พูดกันได้ง่ายแต่ทำได้ยากยิ่ง

อัตตานั้นคือความยึดมั่นถือมั่น เรายึดมั่นถือมั่นตั้งแต่คน สัตว์ วัตถุสิ่งของ หรือสิ่งที่เป็นรูปเป็นร่างจับต้องได้ เรายึดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของเรา เราอยากครอบครอง วัตถุ คน สัตว์ สิ่งของเหล่านี้มาเป็นตัวตนของเราซึ่งจะสะท้อนออกไปอีกทีในรูปของ อบายมุข กาม โลกธรรม เช่นเราอยากคบหาคนผู้นั้นไว้เพราะเขารวย เพราะเขามีชื่อเสียง เพราะเขามีอำนาจ หรือเรายึดว่าคนต้องกินเนื้อสัตว์ คนเป็นสัตว์กินเนื้อเพราะเราหลงในกาม หลงติดในรสชาติรสสัมผัส เมื่อเราจะกำจัดกามเหล่านั้นแล้วก็ต้องมากำจัดอัตตาไปพร้อมๆกันด้วย

เรายังสามารถที่จะติดรูปที่สำเร็จด้วยจิตของตัวเองได้อีก เช่นการคิดฝัน ปั้นจินตนาการไปเองว่าคนนั้นพูดแบบนั้นคนนั้นพูดแบบนี้ คนนั้นเขาคิดกับเราแบบนั้น เขาจะทำกับเราแบบนี้ หลงไปว่าการเสพอบายมุขนั้นเป็นสุข หลงไปว่าการเสพกามนั้นเป็นสุข หลงไปว่าการเสพโลกธรรมนั้นเป็นสุข เป็นสภาพที่จิตสร้างความสุขหลอกๆขึ้นมาหลอกตัวเอง หรือถ้าหนักๆก็จะเป็นพวกเห็นผี เข้าทรงกันไปเลย ทั้งหมดนั้นเป็นสภาพที่จิตนั้นปั้นขึ้นมาเป็นรูปให้เราได้เห็น จึงเรียกว่ารูปที่สำเร็จด้วยจิตเป็นกิเลสของเราเองที่สร้างความรู้สึกสุข ชอบใจ พอใจ สร้างเป็นภาพ เป็นเสียงขึ้นมาให้เราได้ยิน ทั้งๆที่จริงแล้วมันไม่มี แต่เราไปยึดไว้และหลงเสพสิ่งที่ไม่มีเหล่านั้น ในเมื่อสิ่งนั้นไม่มีจริง ไม่ใช่ของจริง ไม่เที่ยง สุดท้ายเมื่อไม่ได้เสพสมใจก็จะเป็นทุกข์

อัตตายังอยู่ในสภาพไร้รูป หรือที่เรียกว่า อรูปอัตตา เช่น ความเห็น ความเข้าใจ ศักดิ์ศรี ความรู้ ฯลฯ เราก็ไปหลงยึดสิ่งเหล่านี้ไว้ เช่น เราเข้าใจธรรมแบบนี้ เราก็ยึดสิ่งนี้เป็นตัวตนของเรา พอใครมาพูดไม่เหมือนที่เราคิด ไม่เหมือนที่เราเข้าใจ เราก็จะมีอาการขัดข้องใจ ไม่พอใจ โกรธ เพราะเราไม่ได้เสพสมอัตตา คือต้องการให้คนอื่นมาทำให้ได้ดังใจเราหมาย หรือทำตามอัตตาเรานั่นเอง

….เมื่อได้รู้กิเลสทั้งหมดนี้แล้ว เราจึงควรใช้เวลาพิจารณากิเลสในตัวเองอย่างแยบคาย ทำให้เห็น ทำให้ชัดเจนว่าเราติดในกิเลสตัวไหน ปนกับตัวไหน มีรากมาจากตัวไหน การค้นหารากของกิเลสไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย กิเลสบางตัวอาจจะใช้เวลาเป็นเดือน เป็นปี หรือทั้งชีวิตอาจจะไม่สามารถเห็นเลยก็ได้ถ้าไม่พากเพียร และไม่คบมิตรที่ดี

(5). ด่านที่ห้า ดับเหตุแห่งทุกข์นั้นเสีย

เมื่อเห็นเหตุแห่งทุกข์แน่ชัดแล้ว เห็นตัวการของกิเลสแน่ชัดแล้ว ก็ให้เพียรพยายามทำให้ถึงความดับ โดยใช้มรรควิธี ก็คือการปฏิบัติมรรคทั้ง ๘ นั่นแหละ จะใช้สมถะ วิปัสสนาก็ได้ จะใช้สัมมัปปธาน ๔ ก็ได้ จะใช้โพชฌงค์๗ ก็ได้ จะใช้จรณะ๑๕ ก็ได้ จะใช้ทั้งโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ก็ได้ หรือจะใช้ธรรมใดตามที่ถนัดก็ได้ เพราะธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหมดนั้นเป็นไปเพื่อการละกิเลส เพื่อการล้างกิเลส เพื่อการดับกิเลสอยู่แล้ว

การจะค้นเจอเหตุแห่งทุกข์นั้นว่ายากแล้ว การดับทุกข์ที่เหตุนั้นยากยิ่งกว่า เพราะต้องใช้ความเพียรพยายาม ใช้อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เข้ามาเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทำที่สุดแห่งทุกข์ คือการดับทุกข์นั้นอย่างสิ้นเกลี้ยงโดยการดับกิเลสนั้นนั่นเอง

สรุป

การที่เราต้องมาหาเหตุแห่งทุกข์อย่างยากลำบากนี้ เพราะพระพุทธเจ้าได้ชี้ขุมทรัพย์ไว้ว่า ดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ แต่บางครั้งเรามักจะมองเหตุแห่งทุกข์นั้นตื้นเกินไป เหมือนกับเราที่เราอยากกำจัดหญ้า แต่ก็ทำแค่เพียงตัดหญ้าที่มันยาวพ้นดินออกมา บ้างเก่งกว่าก็ว่าขุดรากถอนโคนหญ้านั้นไปเลย แต่สุดท้ายหญ้าก็จะขึ้นมาใหม่ เหมือนกับกิเลสนั้นกลับมาโตใหม่อีกครั้ง

ผู้มีปัญญาย่อมขุดรากถอนโคนกิเลสทั้งหมด ทั้งตัดหญ้า ขุดรากถอนโคน และนำดินมาเผา ทำลายเมล็ดหญ้าที่ยังหลงเหลืออยู่ในฝืนดินซึ่งเป็นเมล็ดนี้เองเป็นแหล่งเกิดของหญ้า เหมือนกับตัณหา ถ้าเรายังดับตัณหาคือความอยากไม่ได้ ความอยากเหล่านั้นก็จะค่อยๆเติบโต เหมือนกับผืนดินที่เต็มไปด้วยเมล็ดหญ้า หากไม่กำจัดเมล็ดออก ก็มีแต่จะต้องมาคอยตัดหญ้า ขุดรากถอนโคนหญ้ากันทุกชาติไป

ดังนั้นผู้มีปัญญาพึงกำจัดทุกข์จากเหตุแห่งทุกข์ เผากิเลสเหล่านั้นด้วยไฟแห่งฌาน ให้ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสนั้นสลายไป ทำลายกามภพ ทำลายรูปภพ ทำลายอรูปภพของกิเลสนั้น ไม่ให้มีแม้เสี้ยวอารมณ์ความอยากที่เกิดภายในจิต แม้จะตรวจด้วยอรูปฌานสักกี่ครั้งก็ไม่พบความอยากในจิตอีก เมื่อนั้นแหละที่เขาเหล่านั้นจะได้พบกับสภาวะที่เรียกว่า “สัญญาเวทยิตนิโรธ” คือการดับกิเลสที่อยู่ในสัญญาอย่างสิ้นเกลี้ยง ถือเป็นการสิ้นสุดการต่อสู้กับกิเลสนั้น ได้รับชัยชนะที่ทำได้ยาก เป็นสิ่งที่บัณฑิตต่างสรรเสริญ

– – – – – – – – – – – – – – –

13.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

นั่งจับเข่าคุยกับกิเลส

September 28, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,389 views 0

นั่งจับเข่าคุยกับกิเลส

นั่งจับเข่าคุยกับกิเลส

ทุกข์เกิดมาจากอะไร ทำไมเราจึงต้องทุกข์ ยิ่งใช้ชีวิตนานวันไปยิ่งพบกับทุกข์มากขึ้น ยิ่งค้นยิ่งหาก็ยังไม่เจอเหตุแห่งทุกข์ แล้วมันทุกข์จากอะไร เพราะเราอยากได้ อยากมี อยากเป็น ใช่ไหมเราจึงต้องทุกข์

ความอยากหรือตัณหานั้นเป็นสิ่งที่ผลักดันให้ทุกชีวิต ตื่นลุกออกจากเตียงก้าวออกไปเผชิญชีวิตในสังคมเมือง ออกไปทำงานตามล่าหาเงิน หาความสำเร็จ หาความมั่งคั่ง มาบำเรอความอยาก ที่เรามักจะเรียกให้มันดูดีว่า “ความฝัน

อารมณ์ต่างๆในชีวิต เช่น ความโกรธ ขุ่นเคือง ไม่พอใจ ฯลฯ อารมณ์เหล่านี้เกิดจากการที่เราไม่ได้สมใจอยาก บางคนสามารถใช้วิธีทางสมถะตบความทุกข์เหล่านี้ออกจากใจได้ สามารถดับความโกรธ ความขุ่นเคือง ความไม่พอใจได้ เขาเหล่านั้นเชื่อว่านี่คือทางแห่งการพ้นทุกข์ แต่จริงๆแล้ว เพียงแต่ตบความคิด ดับความคิด หยุดฟุ้งซ่าน แค่ทำใจให้โล่ง โปร่งสบายได้ ยังมาไม่ถึงคำว่า “พุทธ” เลย

วิถีแห่งสมถะ มีมาก่อนพระพุทธศาสนาจะกำเนิดอยู่แล้ว เป็นวิถีแห่งฤาษี พราหมณ์ ในอดีตสมัยพุทธกาลก็มีกันอยู่มาก พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ทดลองแล้วและพบว่ามันไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีคนที่หลงทางอยู่มากมาย เข้าใจว่าการทำสมถะ ดับความคิด ตบความคิดได้ นั่นคือทางแห่งพุทธะ ซึ่งนั่นก็ไม่ได้ใกล้เคียงเลย…

แม้เราจะสามารถดับความคิดขุ่นเคือง เศร้าหมอง โกรธ ฯลฯ ได้ แม้เราจะบอกว่ามันเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปได้ แม้จะรู้ว่ามันเป็นอนิจจัง ความรู้เหล่านี้เป็นความรู้ในระดับทั่วไป แน่นอนว่าศาสนาพุทธก็สอนให้ดับปัญหาเหล่านั้นที่ปลายเหตุด้วยส่วนหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันเราก็มุ่งเน้นมาที่ต้นเหตุ คือสมุทัย เหตุแห่งทุกข์

ทุกข์มันเกิดจากตรงไหน เกิดจากการที่เราโกรธ ขุ่นเคืองใจอย่างนั้นหรือ? ผู้มีปัญญาตื้นเขินก็จะมองเห็นได้เพียงแค่นั้น และดับความคิดเพียงแค่นั้น จนสุดท้ายหลงเข้าใจผิดว่าการบรรลุธรรมก็มีแค่นั้น ซึ่งจริงๆแล้วมันไม่ใช่แบบนั้น เพราะเหตุแห่งทุกข์จริงๆเราต้องขุดค้นลงไป ว่าเราโกรธเพราะอะไร ที่เราโกรธเพราะเราไม่ได้เสพสมใจในเรื่องใด

และขุดค้นลงไปอีกว่า การที่เราอยากเสพในเรื่องนั้นๆ เราอยากเสพเพราะอะไร เราอยากได้อยากมีอะไร เราติดสุขอะไรในรสชาติ ติดอะไรในอารมณ์ของสิ่งนั้น พิจารณาลึกลงไปเรื่อยๆ ลึกกระทั่งจนไปถึงเหตุเกิด หรือที่เกิดของความทุกข์ นั่นคือสมุทัย ไม่ใช่ปลายเหตุคือความโกรธที่เราเห็นได้ทั่วไป

เพราะเหตุแห่งทุกข์นั้นมักจะซ่อนอยู่ภายในลึกๆ แม้ว่าจะค้นเจอแล้วครั้งหนึ่งอาจจะไม่ได้หมายความว่าจะเจอทั้งหมด และไม่ได้หมายความว่าที่เราเจอคือต้นเหตุจริงๆ เราต้องเฝ้าพิจารณาหาซ้ำแล้วซ้ำเล่า หารากที่เหลือของมันและขุดรากถอนโคนมันออกมาด้วยวิธี …นั่งจับเข่าคุยกับกิเลส

หลังจากที่เราได้เจอกับกิเลสของเราแล้ว วิธีการที่จะดับกิเลสนั้น ไม่ใช่การทำลายมันด้วยการตบทิ้ง หรือการกดข่ม หรือการดับใดๆ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเราได้เจรจากับกิเลส ได้ใช้เวลาคุยกับกิเลสให้มาก ให้ตัวเราและกิเลสได้ทำความเข้าใจว่า ฉันไม่ใช่เธอ และเธอก็ไม่ใช่ฉัน เราไม่ใช่กันและกัน เธอไม่จำเป็นต้องอยู่กับฉันตลอดไปก็ได้ เราจะใช้เวลาเจรจานานตราบเท่าที่กิเลสจะยอมใจอ่อน เดินจากเราไป อาจจะใช้เวลา 1 วัน 1 เดือน 1 ปี 1 ชาติ 1 กัป หรือ 1 อสงไขยก็เป็นได้

ยกตัวอย่างเช่น เราโกรธเพื่อน เพราะว่าเพื่อนพูดในสิ่งที่เราไม่ชอบ ถ้าสายสมถะหรือสายฤาษีก็จะตบความโกรธทิ้งไป ดับความคิดที่โกรธทิ้งไป แล้วเข้าใจไปเองว่าตนบรรลุธรรม แต่ในทางพุทธ เราจะย้อนกลับมาที่ใจตัวเองว่า… ทำไมเราถึงโกรธเพื่อน

เพราะเขาพูดในสิ่งที่เราไม่ชอบใช่ไหม?

แล้วเราไม่ชอบคำพูดเหล่านั้น

หรือเราไม่ชอบเรื่องราวในคำพูดเหล่านั้น?

หรือเรื่องราวเหล่านั้นมันทำร้ายทำลายใจเรา?

แล้วเรามีเรื่องอะไรให้ต้องเจ็บ?

เพราะเราเคยมีแผลเก่าในใจใช่ไหม?

แผลเก่าในใจนั้นคืออะไร?

เป็นเพราะมีใครคนหนึ่งเคยฝากแผลใจให้กับเราไว้ใช่ไหม?

แล้วเราเจ็บปวดเพราะอะไร

เพราะเราคาดหวังว่าเขาจะต้องทำดีกับเราใช่ไหม?

พอเขาไม่ทำดีกับเรา ทำร้ายเรา เราก็ผิดหวังใช่ไหม?

นั่นเป็นเพราะเราหวังมากเกินจริงใช่ไหม?

เขาก็เป็นของเขาแบบนั้นแล้วเราจะไปหวังอะไรกับเขา

เราหวังเพราะเราอยากเสพดีใช่ไหม?

อยากเสพดีเพราะเราติดว่าดีเป็นสุขใช่ไหม?

….

สมมุติว่าเราหยุดตรงนี้ เราหยุดตรงที่เราติดว่า “เกิดดีจึงจะเป็นสุข” เราก็คุยกับกิเลส ก็คือพิจารณาโทษของการติดดี และประโยชน์ของการไม่ไปติดดี พิจารณากรรมและผลของกรรมว่าถ้าเรายังติดดีอยู่ อนาคตเราต้องรับอะไรบ้าง รวมทั้งพิจารณาว่าการติดดีนั้นเป็นทุกข์อย่างไร ถึงจะติดดีอย่างไรในความจริงมันก็ไม่เที่ยง ไม่สามารถเกิดดีหรือเป็นดังใจเราได้เสมอไป รวมถึงความดีที่เรายึดไว้ แท้จริงมันก็ไม่ได้มีตัวตนอยู่อย่างที่เราคิด เราคิดไปเองว่าความติดดีคือเรา เราคือความติดดี จริงๆแล้วมันไม่ใช่ของกันและกัน เราและความยึดว่าต้องเกิดดีนั้นไม่ได้เกี่ยวอะไรกันกับเราเลย

แล้วเราก็ใช้เวลาของเรานั่งจับเข่าคุยกับกิเลสในตัวเองต่อไป คุยไปเรื่อยๆ คุยไปทุกครั้งที่เจอกัน เจอกิเลสเมื่อไหร่เราก็เจรจา หาเหตุผล หาความจริงตามความเป็นจริงมาเรื่อยๆ พิจารณาไปแม้ว่าเราจะพ่ายต่อกิเลส โดยไม่ลดความพยายาม หน้าด้านคุยกับกิเลสไปจนถึงวันหนึ่งกิเลสก็จะยอมถอย เก็บกะเป๋าออกจากจิตใจเรา วันนั้นคือวันที่ปัญญาของเรามากพอที่จะไล่กิเลส ทำลายกิเลส หรือที่เรียกว่าฆ่ากิเลสนี้ลงได้

กิเลสจะไม่มีวันกลับมาได้อีกต่อไป ไปแล้วก็ไปเลย ถึงกิเลสจะวนกลับมา เพียงแค่เราพูดหรือใช้การพิจารณาเพียงเล็กน้อย กิเลสก็ยอมล่าถอย ไม่เข้าใกล้เราอีกต่อไปนั่นคือเรามีปัญญามากพอที่จะพ้นภัยจากกิเลสนั้นๆ

ทั้งหมดนี้คือลักษณะของการวิปัสสนา ซึ่งถ้าใครทำวิปัสสนาอย่างถูกตรงก็จะเข้าใจกระบวนการนี้ได้ดี แต่ถ้าใครหลงผิดไปว่าสมถะของตนนั้นคือวิปัสสนา อาจจะไม่สามารถเข้าใจได้ เพราะเขาเข้าใจได้เพียงแค่ว่า แค่ดับความคิดก็จบแล้ว ทำไมต้องคิด ทำไมต้องทำขนาดนี้ ซึ่งเขาเองอาจจะไม่ได้สังเกตว่า วิธีที่เขาทำนั้น ความอยากมันไม่ได้หายไป ความอยากมันไม่ได้ตาย มันดับ แล้วมันก็เกิดใหม่ เกิดและดับไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น อย่างเก่งก็ดับได้แบบอัตโนมัติ กดดับไปแบบไม่รู้ตัว กดข่มดับจิตไปทั้งชาติ เกิดมาชาติหน้าก็ต้องมาเจอกิเลสใหม่อยู่ดีเพราะยังตัดตัณหาไม่ขาด กิเลสไม่ตาย ก็ต้องเจอกันใหม่อยู่ดี

ด้วยวิธีนี้เราจะสามารถดับตัณหา หรือความอยากที่มีกิเลสปนเปื้อนได้ และสามารถรู้ได้เองว่ากิเลสของตนนั้น “ลด” ไปเท่าไหร่ กิเลสลดก็รู้ กิเลสเพิ่มก็รู้ กิเลสดับก็รู้ เป็นลักษณะของความรู้แจ้ง ไม่ใช่แบบมั่ว คิดเอาเอง หรือคาดเอาไปเอง ไม่รู้อะไรเลย ศาสนาพุทธคือศาสนาแห่งผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่ใช่ ผู้ไม่รู้ ผู้หลับใหลมัวเมา ผู้เฉยๆ

หากเราได้ใช้เวลาในชีวิตประจำวัน เฝ้าคุยกับกิเลสของตัวเอง ไม่ว่าจะเรื่องขุ่นเคืองใจใดๆ ที่เข้ามาในชีวิตเรา เราจะจับเข่าคุยกับกิเลสทุกครั้งที่ว่างจากการทำงาน หรือกระทั่งพิจารณาสอดร้อยไปในกิจกรรมการงาน เราก็มีโอกาสที่จะเป็นผู้พ้นทุกข์จากกิเลส เพราะเราได้กำจัดเหตุแห่งทุกข์นั้นสิ้นไปแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

28.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ฉันไม่ทุกข์ ฉันไม่ต้องเข้าวัด

September 20, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,047 views 0

ฉันไม่ทุกข์ ฉันไม่ต้องเข้าวัด

ฉันไม่ทุกข์ ฉันไม่ต้องเข้าวัด

ตั้งชื่อเปรียบเปรยกันไป ประมาณว่าในเมื่อฉันยังไม่ทุกข์ ฉันก็ยังไม่ต้องศึกษาและปฏิบัติธรรม ไม่ต้องเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม ไม่ต้องมีครูบาอาจารย์ เอาไว้ฉันแก่ ฉันทุกข์ ฉันตาย ฉันค่อยไปวัดก็ได้

ในบทความนี้จะขยายถึงเรื่องของอัตตา เมื่อเราเห็นว่าคนที่เข้าวัดทำบุญนั้นไม่ได้ทำให้จิตใจดีขึ้น ไม่ได้ทำให้ชีวิตเจริญขึ้น และแม้จะดีขึ้นก็ไม่ได้ดีในระดับที่มีนัยสำคัญให้เราสนใจอะไร จนกระทั่งเราเสื่อมศรัทธาในการทำบุญ การไปวัด การไปพบครูบาอาจารย์

ในโลกนี้ประกอบด้วยคนมีทุกข์และคนไม่มีทุกข์ เปรียบเสมือนคนป่วยทางจิตใจกับคนจิตใจปกติ สำหรับคนที่ไม่ป่วยหรือจิตใจปกติจะขอยกไว้ แต่จะกล่าวถึงคนที่มีอาการป่วยทางจิตใจ ซึ่งก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันโดยจะยกตัวอย่างเป็นลักษณะของคนป่วย 5 ประเภทดังนี้

1.คนป่วย

ในสังคมเรานั้น ถ้าพูดถึงคนที่เข้าวัดทำบุญทำทาน ก็คงจะเป็นคนส่วนน้อย โดยมักจะเป็นคนแก่ แม้บ้าน คนโสด หรือเป็นคนที่มีทุกข์ ตกงาน อกหัก โดนทอดทิ้ง ครอบครัวแตกแยก ชีวิตพัง ฯลฯ ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆเหล่านี้ พวกเขาจึงได้มองหาที่พึ่งพิงทางใจ เพราะเขาเหล่านั้นเริ่มจะรู้สึกแล้วว่า เขาไม่สามารถพึ่งพาจิตใจตนเองได้อีกต่อไป ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่ดี เมื่อเรามีปัญหาที่แก้ไม่ตก เราก็ควรจะให้โอกาสกับตัวเอง โดยการให้โอกาสผู้อื่นได้ยื่นมือเข้ามาช่วยแก้บ้าง

การที่เขาเหล่านั้นหาที่พึ่งทางจิตใจไม่ได้หมายความว่าเขาอ่อนแอเสมอไป แต่ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เขามีอัตตาลดลง เขามีความยึดมั่นถือมั่นลดลง อาจจะเกิดจากสิ่งที่พวกเขาเคยเชื่อและมั่นใจมาทั้งชีวิตถูกทำให้พังทลายลง สิ่งที่พอจะเหลือไว้ให้คิดถึงสำหรับคนไทยอย่างเราก็คือพระรัตนตรัย ที่พอให้เขายึดเหนี่ยวและเป็นหลักให้พึ่งพิงไว้ได้

2.คนป่วยที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองป่วย

ในขณะเดียวกัน คนที่ไม่เข้าวัดทำบุญ อาจจะไม่รู้สึกก็ได้ว่าตัวเองนั้นก็มีปัญหาทางจิตใจ ไม่รู้สึกว่าตนนั้นเป็นคนอ่อนแอ ไม่รู้ว่าตนนั้นเป็นคนป่วยอยู่เช่นกัน เมื่อยังไม่มีทุกข์หนักมากพอที่จะทำให้เขาเหล่านั้นตระหนักถึงเรื่องกรรมและผลของกรรม และวิบากกรรมชั่วที่เคยทำนั้นยังไม่มาถึง เขาเหล่านั้นจึงใช้ชีวิตอย่างประมาท เข้าใจว่าเรื่องธรรมะเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของคนแก่ เป็นเรื่องของคนทุกข์ และในเมื่อเขายังไม่รู้สึกทุกข์ เขาก็ไม่จำเป็นต้องเข้าหาธรรมะขนาดนั้นก็ได้

ความคิดเหล่านี้คืออัตตาก้อนใหญ่ คือความยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง แทนที่จะยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เขากลับยึดเอาอัตตา คือยึดเอาความคิดตัวเองนี่แหละเป็นที่พึ่ง จนกระทั่งวันใดวันหนึ่งที่ถึงเวลาอันสมควรกรรมจะพาให้เขาได้พบกับทุกข์ที่มากพอที่จะกระตุ้นให้เขาได้รู้สึกเข็ดขยาดกับการสะสมบาป ทำลายทุกอย่างที่เขาเชื่อมั่นลงราบเป็นหน้ากลอง จนสุดท้ายก็กลายเป็นเหมือนคนทุกข์ที่แสวงหาทางพ้นทุกข์จนไปพึ่งพาที่วัดนั่นแหละ

เขาเหล่านี้มักมีความคิดเห็นว่า ตัวเองก็ไม่ได้ชั่วมาก และก็ไม่ได้ดีมาก เข้าใจว่าเป็นกลางๆ จึงใช้ชีวิตทำดี ทำชั่วปนกันไปสลับไปมา 3 วันดี 4 วันไข้ รับสุขรับทุกข์แบบนี้เรื่อยไป และเข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเหมือนคนป่วยที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย ทั้งที่จริงแล้วมนุษย์ทุกคนมีความสามารถที่จะทำดีทุกวันได้ เป็นการทำดีที่สอดแทรกเข้าไปในชีวิตประจำวัน สอดแทรกเข้าไปในความเห็นความเข้าใจ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าวัดทำบุญทุกวันอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ

แต่ด้วยอัตตาที่เขาเหล่านั้นมี คือมีความรู้สึกว่าเข้าวัดทำบุญก็ไม่ได้เป็นคนดีขึ้น และชีวิตที่ใช้อยู่นั้นก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น จึงทำให้เสียโอกาสในการได้รับการรักษาเยียวยาทางจิตใจไปอย่างน่าเสียดาย

3.คนป่วยที่หลงเข้าใจผิดว่าตัวเองมียาดี

เป็นคนที่มีทุกข์มีสุขปะปนกันไปในชีวิตเหมือนกับคนป่วยที่คิดว่าตัวเองไม่ป่วย แต่เขาเหล่านี้รู้ตัวว่ามียาดี คือมีครูบาอาจารย์ มีพระดี มีวัดดี มีคนดีคอยแนะนำอยู่ จึงมีความประมาทในชีวิต เมื่อไม่คิดว่าธรรมะนั้นเป็นเรื่องสำคัญ รอไว้ให้ทุกข์ รอไว้ให้แก่ จึงค่อยเข้าวัด จนกระทั่งวันหนึ่งวิบากกรรมได้มาถึง ทุกข์มากมายได้โถมกระหน่ำเข้ามา ยาดีที่มีอยู่ ก็อาจจะหมดอายุ ครูบาอาจารย์ลาโลกนี้ไปหมดแล้ว แถมบางทียาดีที่คิดว่ามีอยู่ กลับกลายเป็นยาปลอมอีก ธรรมที่เคยศึกษามาทั้งชีวิตกลับเป็นธรรมะปลอมๆ ที่พาสะสม พาให้เสพกิเลส พาให้กลัว กังวล หลงในเรื่องโลก เป็นต้น

แม้จะมียาดี มีครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงอยู่ใกล้ แต่เมื่อทุกข์ เมื่อวิบากมาถึง อาจจะใช้ยานั้นไม่ทันก็ได้ เพราะธรรมไม่ใช่เรื่องปาฏิหาริย์ การบรรลุธรรมแบบชั่วพริบตานั้นไม่มีทางเกิดได้ หากไม่เคยทำเหตุมา นั่นหมายถึงถ้าไม่เคยปฏิบัติมาจนบรรลุเรื่องนั้นๆมาในชาติก่อนภพก่อนแล้ว ก็ไม่มีวันที่จะเข้าใจได้ในวันสองวันในชาตินี้หรอก

พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ธรรมวินัยนี้เหมือนทะเล ลาด ลุ่ม ลึก ไปตามลำดับ ไม่ลาดชันเหมือนเหว คือต้องปฏิบัติไปเรื่อยๆ จากหยาบ กลาง ละเอียด ไม่ใช่อยู่ๆ จะกระโดดจากหยาบไปละเอียดได้เช่นบางคนปฏิบัติธรรมได้นิดเดียวก็จะไปนิพพานเลย กลายเป็นเอาหลังมาหน้า เอาหน้ามาหลัง กลับหัวกลับหาง ไม่เป็นไปตามลำดับ รีบเร่ง โลภ ขี้เกียจ มักง่าย สุดท้ายก็หลงทางกันไป หนักเข้าก็หลงว่าบรรลุธรรมกันไปเลยก็มี

ยังมีคนอีกพวกที่ถือยาผิด เขาเหล่านั้นเข้าใจว่าตัวเองเข้าใจแก่นของพุทธ จึงไม่สนใจการทำบุญ ปฏิบัติธรรม พบปะครูบาอาจารย์ ฟังสัจธรรม คิดแค่ทำตัวเองให้ดีก็พอแล้ว นั่นคือความหลงผิดอย่างยิ่ง เพราะว่าแก่นของพุทธนั้นคือวิมุตติ คือสภาพที่หลุดพ้นจากกิเลส ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะนึกเอา คาดคะเนเอา ไม่ใช่แค่การทำดี ไม่ทำชั่ว แต่เป็นเรื่องของการดับกิเลส

พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่าธรรมวินัยนี้ ลึกซึ้ง เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ดังนั้นการจะบอกว่ารู้แก่น เข้าใจแก่นของพุทธโดยไม่ได้ปฏิบัติจนถึงผลนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

4.คนป่วยที่หลงเข้าใจผิดว่าตัวเองหายป่วย

คนอีกประเภทคือคนที่คิดว่าตนเองนั้นได้เจอหมอ ได้ยาดี ได้รับการเยียวยาทางจิตใจดีแล้ว ได้รับการอบรมสั่งสอนดีแล้ว หายป่วยแล้ว เมื่อกลับเข้ามาในสังคม ก็จะมีอาการติดดี ยึดดี ถือดี ยึดมั่นถือมั่นว่าทางที่ฉันเดินนั้นดี เราสามารถพบเจอคนเหล่านี้ได้ในหมู่นักปฏิบัติธรรมที่ช่ำชองการปฏิบัติธรรม เขาสามารถเข้าใจศัพท์ ภาษาบาลี ข้อธรรมต่างๆ สภาวธรรมเบื้องต้นได้

ตัวเขาเองนั้นมักจะไม่ได้แสดงอาการทุกข์ใจให้คนอื่นเห็นมากนัก เพราะเข้าใจไปว่าไม่เป็นทุกข์หรือทุกข์น้อยแล้วก็เลยกดไว้ ปิดบังไว้ แต่มักจะสร้างทุกข์ให้คนอื่นด้วยกฎระเบียบ แนวคิด ทิฏฐิที่ตัวเองได้เรียนรู้มา เช่น พระท่านว่ามาแบบนี้ ถ้าทำอย่างนั้นจะบาป ถ้าทำอย่างนี้จะบาป ถ้าทำแบบนั้นจะบุญ ต้องทำแบบที่ฉันทำนี่สิดี ได้บุญเยอะบรรลุธรรมง่ายกลายเป็นคนดีที่ชอบปราบคนไม่ดี ชอบปราบคนชั่ว ซึ่งก็ยังชั่วอยู่นั่นเอง

ในสังคมทุกวันนี้จึงมีจอมยุทธ์นักปฏิบัติธรรมเต็มไปหมด เป็นจอมยุทธ์ที่ฟาดฟันกันด้วยอัตตามานะ ซึ่งสร้างจากความรู้ความเข้าใจที่ได้ร่ำเรียนมาในแต่ละสำนัก เชิดชูสำนักตัวเอง คอยทำลายสำนักอื่นๆ ล่าบริวาร ล่าลาภ ยศ สรรเสริญและมักสร้างกรอบว่าใครไม่คิดเหมือนฉันคนนั้นผิด ใครไม่ปฏิบัติเหมือนฉัน ฉันไม่คบคนนั้น ใครจะปฏิบัติได้ดีเหมือนฉันนั้นไม่มีสำนักไหนหรือใครจะปฏิบัติอย่างไรฉันไม่รู้ ฉันมีแนวทางของฉันเอง ครูบาอาจารย์ฉันสอนมาแบบนี้ ใครอย่ามาเปลี่ยนฉันเสียให้ยาก ….ก็หลงมัวเมาในอัตตากันต่อไป

และบางคนก็ถึงกับหลงผิดว่าตนเป็นผู้บรรลุธรรมไปเลย เปิดสำนักหลอกลวงคนมาทำบุญ สุดท้ายเมาลาภ เมากาม เมาสรรเสริญ เมาอัตตา ยิ่งเสพยิ่งติด เมื่อต้องการเสพมากขึ้นก็มักจะไม่ระวังตัว พอเรื่องแตก กลายเป็นข่าวใหญ่ ก็วงแตกหนีกันแทบไม่ทัน เหล่าญาติโยมผู้หลงผิดบ้างก็ยังหลงมัวเมาไม่จบไม่สิ้น บ้างก็ตาสว่าง ก็แล้วแต่บาปบุญของใคร

คนที่หลงคิดไปเองว่าตัวเองหายป่วย หลงคิดไปเองว่ามีจิตใจที่ไม่ทุกข์ หรือหลงคิดไปเองว่าตัวเองบรรลุธรรม คนเหล่านี้แหละ คือคนที่ทำลายศาสนาอย่างแท้จริง เพราะตัวเองก็ไม่ได้รู้จริงเรื่องการฆ่ากิเลส แต่กลับมาสอนคนอื่น ซึ่งสอนไปก็สอนผิดๆ ทำให้คนหลงมัวเมา ทำให้คำสอนของศาสนาเพี้ยน คนปฏิบัติตามก็บรรลุธรรมแบบเพี้ยนๆตามกันไป แถมการไปสอนคนผิด และยังมีความคิดที่จะล่าบริวารเพื่อลาภยศเหล่านั้น ยังนำมาซึ่งวิบากกรรมหนัก เพราะแทนที่คนผู้มีทุกข์เหล่านั้นจะได้ไปพบกับครูบาอาจารย์ที่ถูกที่ตรง กลับต้องมาเสียเวลา เสียทรัพย์ เสียสติให้กับคนที่หลงคิดว่าตัวเองหายป่วย

วิธีสังเกตคนที่หลงว่าตัวเองบรรลุธรรมก็ลองไล่ถามดูว่า ทำอย่างนี้ทำอย่างนั้นแล้วมันจะบรรลุธรรมอย่างไร มีขั้นตอนอย่างไร กิเลสลดอย่างไร ในคนที่มีธรรมไม่จริงก็มักจะพูดวนๆ พูดเป็นข้อธรรม พูดเป็นหลักกำกวม ตีความได้หลากหลาย พอไล่เข้าหนักๆ จนเริ่มจนมุม ก็จะเริ่มโกรธ หรือทำเป็นโกรธ เปลี่ยนประเด็น ไล่ให้ไปทำเอง ให้ไปปฏิบัติมาก่อน ส่วนใหญ่ก็เก่งเพราะฟังเขามาซึ่งตัวเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่า จริงๆแล้วทำอย่างไร พอรู้ไม่จริงก็เลยตอบไม่ได้ ส่วนคนที่ปฏิบัติได้จริงเขาก็จะพูดได้เป็นลำดับ ชัดเจน ไม่เขิน ไม่ประหม่า ไม่โกรธ แม้คนอื่นจะไม่เข้าใจ เพราะเข้าใจว่าก็เป็นเรื่องยากที่คนอื่นจะเข้าใจ แต่ก็ยินดีที่จะพูด โดยไม่ปิดบัง ซ่อนเร้น เชิญให้มาพิสูจน์ได้

5.คนป่วยที่สามารถปรุงยารักษาตัวเองได้

เป็นคนที่รู้จักทุกข์ รู้เหตุแห่งทุกข์ รู้ถึงการดับทุกข์ และรู้วิธีการปฏิบัติไปสู่การดับทุกข์นั้นๆ เป็นคนป่วยที่สามารถสร้างยารักษาอาการป่วยทางจิตใจของตัวเองได้ ทำลายทุกข์ที่เกิดในตัวเองได้ ทำลายเหตุแห่งทุกข์หรือกิเลสของตัวเองได้

ทั้งนี้ก็เกิดจากเขาได้พบกับหมอ หรือครูบาอาจารย์ผู้รู้จริงเรื่องการดับทุกข์ คนที่รู้จริงเท่านั้นที่จะสามารถสอนเรื่องการดับทุกข์ได้ ถ้าเราได้พบท่านเหล่านี้ ได้ฟังสัจธรรมจากท่าน จนเกิดศรัทธา จึงทำใจไว้ในใจโดยแยบคาย เกิดสติสัมปชัญญะ เกิดสำรวมตาหูจมูกลิ้นกายใจ ทำกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต จนเกิดสติปัฏฐาน เจริญขึ้นสู่โพชฌงค์ นำไปสู่วิชชาและวิมุตติในที่สุด

…การตรวจสอบว่าตนเองป่วยหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร

วิธีที่ง่ายที่สุดในการตรวจสอบว่าเราเองนั้นป่วย หรือหายป่วยหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร ก็คือการตั้งศีล การตั้งศีลจะทำให้เราเห็นกิเลสหรือเห็นเหตุแห่งทุกข์ชัดเจนขึ้น คนถือศีลเมื่อมีกิเลสขึ้นมาก็จะร้อนใจเปรียบเหมือนดังผีร้ายถูกด้ายสายสิญจน์ ยกตัวอย่างเช่น เราถือศีลข้อ๑ ไม่ฆ่าสัตว์ ยุงมากัด เราก็อยากจะตบ แต่ถือศีลจึงไม่ตบ หักห้ามใจไว้ แม้จะแค้นยุงโกรธยุง เจ็บปวดคันแค่ไหน จนสุดท้ายก็ถือศีลไปจนกระทั่งล้างความแค้นความอาฆาตยุงที่มากัด และเมตตายุงได้แม้ว่าจะถูกยุงรุมกัดอยู่ก็ตาม ศีลนี้เองคือตัวจับผี จับอาการป่วย จับกิเลส

ง่ายที่สุดก็ลองถือศีล ๕ แบบที่ชาวบ้านเข้าใจให้ได้ก่อน ถ้ารู้สึกว่าเราไม่ไปโกรธ ไม่โลก ไม่อยากเสพ ไม่อยากพูดโกหก ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดหยาบคาย ได้อย่างปกติสุข คือไม่ต้องคอยบังคับใจ ไม่ต้องกดข่ม ปล่อยตัวปล่อยใจได้ตามสบาย ถึงแม้จะปล่อยใจตามสบายก็ไม่ได้ผิดศีลแม้แต่น้อย ก็ลองขยับมาศีล ๘ ศีล๑๐ซึ่งจะทำให้สามารถเห็นอาการป่วย หรืออาการของกิเลสที่ซ่อนเร้นอยู่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

หรือจะลองปฏิบัติศีลอื่นๆดูก็ได้เช่น การกินมังสวิรัติ ก็จะทำให้เห็นทุกข์ที่อยากกินเนื้อชัดเจน หรือการกินจืด ก็จะเห็นทุกข์ที่อยากเสพรสอร่อยชัดเจน หรือลองกินมื้อเดียวดู ก็จะเห็นทุกข์ของผู้หิวโหยชัดเจนยิ่งขึ้น

ศีลที่พระพุทธเจ้าให้มาเหล่านี้ คือศีลที่พาปฏิบัติไปสู่การบรรลุธรรม ผู้มีศีลย่อมมีปัญญา ผู้มีปัญญาย่อมมีศีล คนใดไม่มีศีลก็ไม่มีปัญญา คนไม่มีปัญญาก็เลยไม่ถือศีล และพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า “ ศีลยอดเยี่ยมในโลก(สีลัง โลเก อนุตตรัง) ” คนผู้มีปัญญาย่อมศรัทธาในศีล ย่อมเคารพในศีล คนหมู่ใดถือเอาคนมีศีลเท่าเทียมกับคนไม่มีศีล ท่านให้พรากออกจากคนเหล่านั้น

เมื่อไม่ถือศีลก็ไม่รู้ว่าตัวเองไม่มีกิเลส ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย บางครั้งถึงกับหลงผิดว่าบรรลุธรรมจึงไม่ถือศีล ถ้าหากมีบุญ ไม่หลงผิดไปมาก ก็ลองถือศีลยากๆสักข้อ ก็จะได้เห็นกิเลสของตัวเองชัดเจน จะได้ไม่ประมาทในการใช้ชีวิต

เมื่อเราถือศีลแล้วทุกข์มาก ก็คือเรามีกิเลสมาก ป่วยมาก แต่ถ้าเราถือศีลแล้วเราทุกข์น้อย ก็ให้ขยับฐานศีลให้ยากขึ้นจนกว่าจะเจอทุกข์ สุดท้ายไม่ว่าจะถือศีลอย่างไรก็ไม่เจอทุกข์เลย นั่นแหละคือเราหายป่วยแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

20.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ตายกะทันหัน แล้วฉันจะไปไหน?

September 12, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 23,529 views 0

ตายกะทันหัน แล้วฉันจะไปไหน?

ตายกะทันหัน แล้วฉันจะไปไหน?

ถาม: ผมสงสัยว่าคนที่ทำดีมาตลอดชีวิตแต่มาเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ คนกลุ่มนี้ไม่แม้แต่จะรู้ว่าตัวเองกำลังจะเสียชีวิต วิญญาณพวกเค้าจะไปสู่ภพภูมิที่ดีหรือไม่ เพราะเค้าไม่มีโอกาสคิดเรื่องดีๆที่เค้าทำมาทั้งชีวิต

ตอบ: การเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุนั้น ภาพที่เราเห็นอาจจะดูไม่ดีนัก แต่ในความเป็นจริงสิ่งนั้นอาจจะไม่ได้แย่อย่างที่เราคิดก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น คนหนึ่งป่วยเป็นมะเร็ง ต้องทนทุกข์อยู่นานหลายปี อยากจะตายไปให้พ้นๆก็ไม่ตายสักที กับอีกคนเดินๆอยู่ก็มีรถพุ่งเข้ามาชนจากด้านหลัง ตายไม่รู้ตัว ถามว่าสองคนนี้ คนไหนทุกข์มากกว่ากัน? คนไหนที่เกิดอกุศลจิตมากกว่ากัน? คนไหนที่มีโอกาสทำบาปทางกาย วาจา ใจ มากกว่ากัน?

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ตายดีหรือตายร้าย แต่อยู่ที่ว่าทุกข์หรือไม่ทุกข์ต่างหาก เพราะไม่ว่าจะตายช้าตายเร็ว เราก็ต้องตายอยู่ดี จะตายดีตายร้ายเราเลือกไม่ได้ แต่ทุกข์หรือไม่ทุกข์นี่เราเลือกที่จะทำได้

ทำไมทำดีแล้วตายไม่ดี…

บางครั้งเราอาจจะสงสัย ว่าทำไมคนที่ทำดีต้องตายในสภาพที่ไม่ดี ทำไมตายไว ทำไมต้องพบทุกข์ทรมานมากแม้ว่าเขาจะทำดีมาทั้งชีวิต

เหตุของความเจ็บความตายเหล่านั้นไม่ได้มาจากการทำดีของเขา แต่มาจากกรรมชั่วที่เขาเคยทำมาเมื่อสมัยที่เขายังไม่ได้ทำดี อาจจะในชาตินี้หรือชาติก่อนก็ได้ เมื่อเขาทำดีเข้ามากๆ เขาก็อาจจะได้รับกรรมชั่วที่เขาได้ทำมาได้ไวขึ้น เพราะกรรมชั่วจะมาให้เราได้ชดใช้และเพื่อสะท้อนให้คนดีได้เข้าใจว่าตนเองนั้นเคยทำบาปกรรมอะไรลงไป จะได้เข็ดขยาดและเลิกทำบาปนั้นๆเขาใช้กรรมชั่วไปแล้วกรรมนั้นก็หมดไป เกิดใหม่ก็ได้ร่างที่ดีกว่าเดิม ภพภูมิที่ดีกว่าเดิม

ในกรณีคล้ายๆกัน คนชั่วเองก็อาจจะตายด้วยอุบัติเหตุก็ได้ นั่นก็เพราะกรรมชั่วมันมีมากพอที่จะส่งผล หรือไม่ก็อาจจะทำบาปมากเกินไป จนกระทั่งเกินกว่าพลังของบุญบารมีที่เขาเคยทำจะปกป้องเขาไว้แล้วก็ได้ แต่เราก็มักจะเห็นคนชั่วหลายคนยังมีชีวิตเสพสุขปลอดภัย นั่นก็เกิดจากความดีที่เขาทำมาเมื่อก่อนหรืออาจจะเป็นชาติก่อนภพก่อนก็ได้ เมื่อเขายังได้รับกุศลที่เขาทำมายังไม่หมด ก็ยังไม่ถึงเวลาที่เขาจะต้องตายแต่เมื่อกุศลที่เขาทำมานั้นหมดลงเมื่อไหร่ ชั่วที่เขาทำในชาติก่อนและชาตินี้ก็จะส่งผล ไม่ว่าเขาจะต้องเกิดอีกกี่ครั้ง ไม่ว่าจะเกิดในภพไหน เขาก็ต้องได้รับทุกข์จากชั่วที่เขาเคยทำมาจนกว่าจะหมด

ความตายนั้นไม่ใช่จุดสิ้นสุด เพียงแต่เป็นการดับเพื่อเกิดใหม่เท่านั้น เพื่อทิ้งร่างเก่าที่มีวิบากร้าย เช่น ป่วย มีโรคมาก หรือกระทั่งหมดบุญ หมดกุศลที่ทำมา ก็ต้องทิ้งร่างนั้นไป เช่น บางคนมีชีวิตที่ดี ครอบครัวดี สังคมดี แต่ก็ต้องมาจากไปด้วยอุบัติเหตุ นั่นเพราะเขาได้รับดีที่เขาทำมามากพอแล้ว ในขณะเดียวกันเขาเองก็ไม่ได้ทำดีใหม่ขึ้นมา ใช้ชีวิตโดยการกินบุญเก่า พอกรรมดีเก่าที่เคยทำมาหมดลง ความชั่วที่เคยทำมาก็ส่งผลนั่นเอง

จิตสุดท้าย ก่อนตาย…

เรามักจะเข้าใจว่า ควรให้ความสำคัญกับจิตสุดท้ายก่อนตาย แต่จริงๆแล้วเราควรจะให้ความสำคัญกับทุกขณะจิตที่เรายังมีลมหายใจอยู่

ยกตัวอย่างง่ายๆ เรามีโอกาสอยู่ในร่างนี้ได้ 100 วัน ตั้งแต่เกิดถึงวันที่ 99 เราหยุดชั่ว ไม่ทำชั่ว ทำดีมาตลอด แต่วันสุดท้าย คือวันที่ 100 เรากลับมีความคิดวิตก กลัว ยึดมั่นถือมั่น ฟุ้งซ่าน โวยวาย ทุกข์ใจ ถ้าจะถามว่ามันดีไหม ก็ต้องตอบว่าไม่ดี แต่กรรมไม่ได้มองแค่เรื่องจิตสุดท้าย แต่หมายถึงทุกๆการกระทำใน 100 วันนั้น หากแม้เราเผลอพลาดทำจิตให้หม่นหมองในวันสุดท้ายก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะเราทำดีมาตั้ง 99 วัน เราแค่ได้รับกรรมชั่ว 1 วัน แต่เราจะได้รับกรรมดี 99 วันเชียวนะ

ในกรณีคนที่ตายโดยไม่รู้ตัวในวันที่ 100 เมื่อเขาหยุดชั่ว ทำดี มาตลอด และก่อนตายก็ไม่ได้มีจิตวิตก มีทุกข์ มีความกังวลใดๆ เมื่อไม่มีทุกข์จากกิเลสก็ไม่เป็นบาป ก็ไม่ต้องกังวลเลยว่าเขาจะได้รับบาปนั้น ถึงจะตายในสภาพที่ดูไม่ดี แต่ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ดีก็ได้ เช่น ไปเกิดใหม่ในร่าง สังคม สิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า ยกตัวอย่างเช่น ไม่ไปเกิดในช่วงกลียุค แต่ข้ามไปเกิดยุคพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปเลย

ดังนั้น การไม่ได้ทบทวนสิ่งที่ดีก่อนตายในคนที่ประสบอุบัติเหตุตายกะทันหัน ไม่ใช่สิ่งสำคัญเลยเมื่อเทียบกับกรรมที่ทำมาทั้งหมดในชีวิต และก่อนที่เขาจะตายนั้น เขาก็อาจจะมีจิตที่ตั้งไว้ดีแล้ว มีความสุข มีสติ มีสมาธิดีแล้ว นั่นคือเขากำลังอยู่ในปัจจุบันที่ดีที่สุดแล้ว

สู่สุคติ สู่ภพภูมิใหม่ที่จะไป..

ดังที่มีคำกล่าวไว้ว่า “ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” ใครจะไปที่ไหน ทำอะไรอย่างไร ก็เป็นไปตามกรรมที่เราได้ทำมา เช่นในชาตินี้ เราเห็นคุณค่าของการทำบุญทำกุศล เราก็มักจะเข้าวัด ทำทาน ฟังธรรม พบปะครูบาอาจารย์ของเราอยู่เป็นประจำ เพราะเรามีกรรมที่จะต้องเข้าใจคุณค่าของการทำบุญทำกุศลซึ่งเราได้ทำสะสมมาหลายชาติแล้ว ทำให้เราสามารถเข้าถึงคุณค่าของการทำบุญทำกุศลในชาตินี้ได้ง่าย นี่คือ เราเป็นไปตามกรรมที่เราเคยทำมา แม้ในขณะที่เรายังมีชีวิตเราก็ยังต้องดำเนินไปตามกรรมที่เราทำมา

เมื่อเราต้องเสียชีวิตนี้ ทิ้งร่างกายนี้ไป กรรมก็จะพาเราไปที่ที่เราเคยทำมา ใครทำอะไรมาก็จะไปอยู่ที่นั่น คนที่ทำบุญทำกุศลก็จะได้เกิดในที่ที่เอื้ออำนวยต่อการทำบุญทำกุศล มีสังคมสิ่งแวดล้อม ที่ผลักดันให้เขาเข้าไปสู่การทำบุญทำกุศล เพราะนั่นคือกรรมของเขา

ส่วนคนที่มัวเมาในอบายมุข ทำบาป โลภ เบียดเบียนคนอื่น เขาก็ต้องไปเกิดในที่ที่จะเอื้อให้เขาได้รับกรรมที่เขาทำมา ยกตัวอย่างเช่น คนที่กินเหล้า ติดยาเสพติด เมามายอยู่ในสิ่งลวงต่างๆ เขาก็ต้องได้รับกรรมที่เขาทำมาคือมีสังคม คนรอบข้างที่กินเหล้า ติดยาเสพติด เมามายในอบายมุข เพื่อให้เขาได้รับทุกข์จากกรรมนั้นๆที่เขาทำมา วนเวียนอยู่ในกองทุกข์ กองกิเลส จนกระทั่งวันใดวันหนึ่งที่เขาทุกข์เกินทน ดังคำตรัสที่ว่า “ เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม ” เขาจะเข้าใจถึงทุกข์โทษภัยของการทำบาปและอกุศลกรรม จึงเริ่มพยายามที่จะสร้างกรรมดีขึ้นมาใหม่ พยายามจะพาตัวเองหลุดจากกรรมชั่วเหล่านั้น

เกิดและตาย วนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร…

เมื่อทำกรรมดีไปมากๆ ก็จะสะสมความดี กลายเป็นคนดีมากขึ้นเรื่อยๆในทุกชาติที่เกิดใหม่ เมื่อเป็นคนดีที่เต็มไปด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็จะมีกิเลสพอกพูนหนาขึ้นเรื่อยๆ อยากได้โลกธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มเบียดเบียน เริ่มแย่งชิงอำนาจ เริ่มสะสม จนเริ่มทำชั่วอีกครั้ง เพาะเชื้อชั่วอีกครั้ง จนความชั่วกลายเป็นกรรมที่ฝังแน่น จนกระทั่งชั่วสุดชั่ว ทีนี้วิบากกรรมก็จะดลบัลดาลเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ทุกข์ทรมานแสนสาหัส จนทนทุกข์ไม่ไหว พอเห็นทุกข์ก็เห็นธรรม กลับมาเป็นคนดีอีกครั้ง พอเป็นคนดี มีทรัพย์มีอำนาจแต่ล้างกิเลสไม่เป็น วันหนึ่งก็จะวนกลับไปชั่วอีกครั้ง พอชั่วมากก็เวียนกลับมาเป็นคนดี วนเวียนอยู่ในวัฏสงสารอยู่แบบนี้ไม่มีวันจบสิ้น

จนกระทั่งวันหนึ่งมีพระพุทธเจ้ามาบังเกิด คนผู้มีบุญบารมีเหล่านั้นจึงได้ฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และได้ปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของท่าน พากเพียรจนกระทั่งบรรลุธรรม รู้แจ้งเหตุปัจจัยของทุกสิ่ง นำมาซึ่งการไม่ต้องวนเวียนว่ายตายเกิดเหมือนคนทั่วไป เป็นผู้มีอิสระ เป็นผู้ไกลจากกิเลส

– – – – – – – – – – – – – – –

12.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์