Tag: คู่ครอง

ความรักทำให้คนตาบอด ตอน หลุมพรางคนดี

June 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,836 views 0

ความรักทำให้คนตาบอด ตอน หลุมพรางคนดี

ความรักทำให้คนตาบอด ตอน หลุมพรางคนดี

เรามักจะเข้าใจว่ามีแต่คนชั่วเท่านั้นที่จะได้รับผลไม่ดี ใครเล่าจะเชื่อว่าแท้จริงแล้วคนดีก็มีโอกาสที่จะได้รับกรรมชั่วที่ตนเองทำมาเช่นกัน ในบทความนี้จะมาขยายความรักของคนดี กรรมชั่วที่จะมาเป็นหลุมพรางและกิเลสที่บังตา ซึ่งพร้อมจะพาคนดีมาตกหลุมที่ตัวเองขุดไว้เอง

ขึ้นชื่อว่าคนดีนั้นย่อมไม่ยอมรับความชั่วที่ตนเข้าใจว่าชั่วเข้ามาใส่ตัวอยู่แล้ว ดังนั้นความรักของคนดีจึงมักจะมองไปข้างหน้าเสมอ ซึ่งแท้จริงแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับความรักของคนทั่วๆไป คือแสวงหาสิ่งที่ดีกว่ามาเสพ ความรักของคนดีก็เช่นกัน เขาเหล่านั้นจะเฝ้าแสวงหาสิ่งที่ดีที่เลิศกว่าธรรมดามาเสพ นั่นหมายถึงคนดีจะมีสเปคที่สูงมากกว่าคนปกติ

ดังเช่นว่า แค่มีคนเก่งเข้ามาในชีวิตคงไม่พอใจ ต้องมีปัจจัยอื่นด้วย โดยเฉพาะความดีและศีลธรรม ซึ่งตามธรรมแล้วคนดีก็มักจะอยู่ในสังคมที่ดีเป็นธรรมดา ดังนั้นเขาและเธอจึงได้เจอกับคนดีเป็นเรื่องปกติ นั่นหมายถึงบุคคลที่คนดีจะไขว่คว้ามาเป็นคู่ครองนั้นจะต้องดียิ่งกว่าคนดีทั่วไปเสียอีก

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะหาคนแบบนั้นได้ง่ายๆ จึงปรากฏภาพคนดีอยู่เป็นโสดกันมาก แม้ว่าคนดีเหล่านั้นจะมีหน้าตาดี การศึกษาดี การงานดี ฐานะดี ก็ใช่ว่าจะหาคู่กันได้ง่ายๆ เพราะสเปคของเขาหรือเธอนั้นสูงเหมือนกับการฝันว่าจะได้ไปสร้างวิมานอยู่บนสวรรค์ ซึ่งจะต่างกับคนทั่วไปตรงที่สเปคของคนทั่วไปนั้นไม่สูงเท่าไหร่ แค่มีปัจจัยพอสมควรเขาก็ควงคู่แต่งงานกันไปแล้ว แต่คนดีจะไม่สามารถเสพสุขธรรมดาๆแบบนั้นได้ เพราะรู้ว่าตนเองก็ดีอยู่แล้ว ถ้าจะหาใครมาเพิ่มอีกสักคนต้องทำให้ชีวิตดีขึ้นหรือพัฒนาขึ้นจึงปรากฏเป็นคำกล่าวดังเช่นว่า “หาดีกว่าอยู่คนเดียวไม่ได้ ไม่มีดีกว่า

ดังนั้นสภาพของคนดีก็คือการตั้งภพของคู่ในฝันที่สูงจนไม่รู้ว่ามีจริงหรือไม่ จึงเป็นโสดทั้งๆที่ใจก็ไม่ได้อยากเป็นโสด แต่ก็มักจะเข้าใจว่าตนเองยังเป็นสุขดีแม้จะโสด ซึ่งนั่นคือสภาพของเคหสิตอุเบกขา คือการปล่อยวางแบบชาวบ้าน ก็มันหาเสพไม่ได้ก็เลยไม่ไขว่คว้า ไม่โหยหา ก็เหมือนกับคนทั่วไปที่เขาใช้ชีวิตไปเรื่อยๆโดยไม่แสวงหาคู่นั่นแหละ คือไม่ใช่ไม่หา แต่มันหาไม่ได้ มันไม่มีให้เห็น เลยทำได้เพียงแค่ปล่อยวางและทำเฉยๆ แต่แบบนี้กิเลสก็ยังคงเดิม เพราะเป็นการปล่อยวางโดยสภาพจำยอมไม่ใช่การปล่อยวางที่เกิดจากปัญญารู้แจ้งธรรมอะไร ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็ปล่อยวางได้ เป็นสภาพสามัญของมนุษย์ทั่วไป ดีเลวก็สามารถมีภาวะนี้ได้

แต่กระนั้นคนดีเหล่านั้นก็จะยังไม่ปิดประตูเสียทีเดียว เขาหรือเธอก็จะเปิดประตูแง้มไว้ รอคอยคู่ในฝันที่จะโผล่เข้ามาในชีวิตวันใดก็วันหนึ่ง จึงได้แต่เฝ้าฝันอยู่ในใจว่าถ้าวันหนึ่งได้เจอคนในฝันก็จะสละโสด ซึ่งก็เหมือนกับคนทั่วไปนั่นแหละ เพียงแค่ปัจจัยในการมีคู่นั้นมีข้อเรียกร้องที่ต่างกัน ทำให้เกิดภาพที่ว่าแม้จะมีคนมาจีบคนดีมากเท่าไหร่ ดีแค่ไหน คนดีก็ยังไม่สละโสดเสียที นั่นเพราะคนที่เข้ามาเหล่านั้น ยังไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของคนดีได้ เรียกได้ว่ากิเลสของคนดีนี้มีความเหนือชั้นกว่าคนทั่วไปนั่นเอง แม้การตั้งสเปคสูงเข้าไว้อาจจะป้องกันคนชั่วได้บ้าง แต่กิเลสกลับหนาเสียจนน่ากลัว เพราะในสเปคที่สูงเหล่านั้นก็มักจะมีขอเรียกร้องของกิเลสร่วมอยู่ด้วยเสมอ

ทีนี้ความซวยของคนดีจะมีมิติที่แตกต่างกับคนทั่วไปอยู่อย่างหนึ่ง โดยเฉพาะคนดีที่ปฏิบัติธรรม แต่ปฏิบัติผิดทางหรือยังไม่ถึงขั้นด้วยแล้ว จะเข้าใจว่าการมีคู่นี่แหละคือความสมดุลทางโลกและทางธรรม เข้าใจว่าคนที่ปิดประตู เลือกที่จะไม่มีคู่คือคนที่ยึดมั่นถือมั่น แต่ตนเองนั้นไม่ยึดมั่นถือมั่นจึงเปิดประตูรอคู่อยู่เสมอ

ทั้งที่จริงแล้วนี่คือสภาพของการรอเสพกามซึ่งเป็นเรื่องสามัญธรรมดาของคนทั่วไป นั่นหมายความว่าไม่ว่าจะเป็นคนชั่วคนดี คนปฏิบัติธรรมหรือไม่ปฏิบัติธรรมก็จะมีสภาวะของการรอเสพกามเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เรียกว่าเสพกามโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ได้ แต่นั่นก็ผิดจากหลักของศาสนาพุทธเพราะโต่งไปทางกาม

ความสมดุลโลกและธรรมที่แท้จริงนั้นคือไม่โต่งไปทั้งด้านกามและอัตตา คือคู่ก็ไม่มีและไม่เกลียดคนมีคู่ นั่นคือไม่สนใจที่จะเสพสภาพของการมีคู่หรือความสุขในเรื่องคู่อีกต่อไป ทั้งยังไม่รู้สึกรังเกียจการมีคู่จนทรมานตัวเอง นี่คือทางสายกลางของพุทธที่ไม่เสพทั้งกามและไม่ติดอัตตา

ดังนั้นหลุมพรางคนดีนี้เองคือสิ่งที่ร้ายสุดร้าย ทำให้คนดีหลงไปว่าตนจะต้องเจอแต่คนที่ดีเท่านั้น คู่ของตนต้องดีเท่านั้น และการมีคู่ดีนั้นดีที่สุด นั่นเพราะคนดีเขาทำแต่เรื่องดี เลยยึดมั่นถือมั่นว่าตนจะต้องได้เสพแต่สิ่งที่ดี เลยเกิดสภาพติดความเป็นเทวดา คือเป็นจิตเป็นเทวดาในร่างมนุษย์นี่เอง ซึ่งสุดท้ายก็ต้องมีวันร่วงตกสวรรค์กันทุกรายไป วันไหนหมดกุศลกรรมก็หมดโอกาสเสพสุขจากดีในวันนั้น

แต่ความซวยของคนดีคือมีการทำกุศลโลกียะหล่อเลี้ยงชีวิตตนไว้ จึงเกิดสภาพของคู่ครองที่อยู่ด้วยกัน รักกัน ดูแลกันไปจนแก่ซึ่งเป็นภาพฝันอุดมคติของคนดีที่ชัดเจนแจ่มแจ้ง แม้ว่าใครจะมีภาพนรกของคนคู่มาแสดงเท่าไหร่ คนดีก็จะเชื่อว่าฉันเป็นคนดี ฉันทำแต่ความดี ฉันไม่มีวันพบความชั่วหรอก ถึงชั่วก็ชั่วได้ไม่นานเพราะฉันจะทำดีสู้

นี้เองคือความผูกคนดีไว้กับโลก ดังนั้นคนดีที่ไม่เรียนรู้การล้างกิเลสจะมาตันอยู่ในสภาพสุดท้ายคือการหาคู่ที่ดีและพัฒนาทางธรรมไปด้วยกัน นี้เองคือวัฏสงสารของคนดีที่ถูกกิเลสหลอกล่อให้หลงเสพหลงสุขอยู่ในการมีคู่ ไม่สามารถปล่อยวางการมีคู่ได้เพราะหลงว่าการมีคู่ที่ดีนั้นจะทำให้ชีวิตมีความสุขและเจริญทางธรรมได้

ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสระดับของเครื่องมือศึกษาเพื่อความพ้นทุกข์หรือศีลไว้ชัดเจน ฐานศีลของคนที่ปฏิบัติธรรมแต่ยังคิดจะมีคู่ก็อยู่เป็นระดับพื้นฐาน แต่นั่นก็หมายความว่ายังมีทุกข์มากอยู่ ศีลจึงมีระดับที่ละเว้นสิ่งที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยขึ้นไปเรื่อยๆ เช่นต่อจากศีล ๕ ก็จะเริ่มไม่สมสู่กัน ต่อจากไม่สมสู่กันคือการไม่รับใครเข้ามาร่วมผูกพันในชีวิต นั่นหมายถึง เป้าหมายของความเจริญสูงสุดคือไม่มีความยึดมั่นถือมั่นใดๆเลย

ศาสนาพุทธไม่ได้ห้ามการมีคู่ แต่ละไว้ในฐานที่เข้าใจว่าเรื่องกิเลสเป็นเรื่องยาก ใช่จะบังคับหรือสอนให้ทุกคนเกิดปัญญาได้ในทันที จึงต้องปล่อยให้เรียนรู้ทุกข์กันไปเอง โดยมีระดับของการปฏิบัติเป็นแนวทางไว้ให้สำหรับผู้ต้องการความเจริญทางธรรมว่าถ้าอยากพ้นทุกข์ก็ให้ลดความยึดมั่นถือมั่นในการเสพสิ่งต่างๆลงไปตามลำดับจากหยาบ กลาง ละเอียด

แต่คนดีที่ไม่สามารถจะเจริญทางธรรมได้จะตันอยู่แค่ฐานศีล ๕ ในระดับที่ยังไม่รู้จักกิเลสของตัวเอง กิเลสทำให้อยากมีคู่ก็ไม่เห็นตัวกิเลส อ้างเล่ห์ อ้างเหตุผล อ้างข้อดีต่างๆให้ตนได้มีคู่ ซ้ำร้ายยังมีโอกาสเผยแพร่ความเห็นผิดของตัวเองของสู่สาธารณะโดยไม่อายว่า “ถ้าคู่ที่ดีก็สมควรมี” นี้เป็นภพที่คนดีตั้งไว้ เพื่อให้ตัวเองได้เสพโดยไม่ต้องรู้สึกผิด

คนดีที่ไม่ได้ล้างกิเลสหรือไม่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรงจึงเกิดสภาวะที่ไม่รู้สึกเขินอายแม้จะแสดงความอยากเสพกามหรืออยากมีคู่ออกมา ซึ่งจะต่างจากผู้ที่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรง แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะยังไม่สามารถชำระกิเลสออกจากสันดานได้ แต่จะมีความอาย มีความรู้สึกผิดบาปหากจะเปิดเผยว่าตนอยากจะมีคู่ เพราะรู้ว่ากิเลสนั้นไม่ใช่สิ่งที่ควรจะแสดงออกมาให้ใครเห็น

แต่คนดีโดยทั่วไปแล้วจะทำกลับกัน นั่นคือสร้างภพในการมีคู่ สร้างข้อแม้ที่เป็นอุดมคติขึ้นมาว่าถ้าเจอคู่แบบนั้นแบบนี้จะรักและดูแลกันไปจนตาย เป็นคู่บุญคู่วาสนาอะไรก็ว่ากันไปแล้วแต่คนดีจะนิยาม ทั้งนี้ก็เพื่อจะสร้างความชอบธรรมให้เกิดกระแสสังคมว่าถ้ามีคู่แบบนี้ไม่ผิด และนี้เองคือการเผยแพร่มิจฉาทิฏฐิในคราบของคนดี เป็นความชั่วที่น่าอาย แต่คนดีกลับเปิดเผยความอยากได้อย่างหน้าตาเฉย

และทั้งหมดนี้คือหลุมพรางที่ล่อคนดีให้ตกและหลงวนอยู่ในความเป็นโลกียะอย่างไม่จบไม่สิ้น ไม่ต้องพูดถึงทางธรรม เพราะธรรมนั้นไม่เจริญอยู่ในวิธีของโลก แม้จะเป็นธรรมก็เป็นเพียงกัลยาณธรรม เป็นธรรมที่พาให้คนเป็นคนดี แต่ไม่ได้พาให้พ้นทุกข์ เรียกว่าเป็นโลกีย์ธรรม

ดังนั้นคนดีจึงถูกกิเลสของตนบังตาและพาให้เดินไปตกหลุมพรางที่เป็นวิบากกรรมชั่วที่ตนเคยทำไว้ ตกแล้วก็ปีนขึ้นมา ขึ้นมาแล้วก็เดินไปตกใหม่ วนเวียนอยู่เช่นนี้ไปอีกนานแสนนาน จนกว่าจะทุกข์เกินทนจึงจะแสวงหาหนทางออกจากโลก แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโลกุตระธรรมนั้นไม่ใช่ธรรมที่จะเข้าใจได้โดยสามัญ ซึ่งจะหักความเข้าใจของคนดีเป็นเสี่ยงๆ และยังค้านแย้งกับกิเลสอย่างสุดขั้ว คนดีจึงต้องใช้เวลาอีกหลายภพหลายชาติในการปล่อยวางสิ่งดี ที่ตนยึดมั่นถือมั่นว่าดีนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

18.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เนื้อคู่

May 13, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,258 views 0

เนื้อคู่

คำสั้นๆที่พาให้คนมากมาย

หลงวนเวียนอยู่กับฝันลวงๆ

= == = = = = = = = = = = =

เนื้อคู่ หรือจะเรียกให้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า “ตัวเวรตัวกรรม” คือใครสักคนหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตและก่อเวรก่อกรรมกันไปให้ต้องไปรับวิบากกรรมกันทีหลัง

และคนที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตมากก็มักจะถูกเรียกว่า คู่แท้ หรือไม่ก็เนื้อคู่ มักจะถูกใช้ในมุมของ “คู่ครองที่ดี” เท่านั้น ซึ่งแท้จริงแล้วศัตรูคู่แค้นก็สามารถเกิดมาเป็นคู่ครองได้เช่นกัน ดังนั้นสภาพของคู่แท้ คือแท้ด้วยการผูกกันด้วยหนี้บาปหนี้กรรมทั้งหลาย เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ของคนสองคน ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เรื่องคู่เท่านั้น

แม้ว่าพ่อแม่ที่เลี้ยงดูมาจะมีบทบาทในชีวิตมาก มีรักที่เกื้อกูลแบ่งปันอย่างจริงใจ แต่มักจะไม่ค่อยได้รับสิ่งดีที่ลูกตอบแทนให้ ตำแหน่งของคู่แท้หรือเนื้อคู่กลับไปอยู่กับใครก็ไม่รู้ที่เข้ามาในชีวิตและเสริมเติมแต่งบำรุงบำเรอกิเลสให้กันจนถึงวันแต่งงาน

เมื่อมีการแต่งงานนั่นหมายถึงวันที่เกิดความคะนองกิเลสสูงสุด สุขที่สุด ใคร่อยากเสพมากที่สุด มีแต่เรื่องของกิเลสทั้งนั้น ทุกคนต่างพากันยินดีในคนสองคนที่กิเลสหนามาอยู่ด้วยกัน พากันยินดีในการมีคู่ นี่คือการก่อเวรก่อกรรมที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในชีวิต

พออยู่ร่วมกันไปก็มีทะเลาะกันบ้าง เสพสุขร่วมกันบ้าง ทุกข์สุขปะปนกันไป เกิดเป็นเวรเป็นกรรมที่ต้องมาคอยรับผลกันอีก หนี้เก่ายังไม่หมดก็ยังก่อหนี้ใหม่ขึ้นมาอีก เลยกลายเป็นตัวเวรตัวกรรมที่จะต้องมาชดใช้หนี้กรรมกันไปอีกหลายต่อหลายชาติ

แล้วตกลงมันน่าเจอไหมนี่ สิ่งที่เขาเรียกว่า “เนื้อคู่” เนี่ย…

– – – – – – – – – – – – – – –

13.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความรักกับวิถีทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์

May 12, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,139 views 0

ความรักกับวิถีทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์

ความรักกับวิถีทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์

ในโลกนี้ทุกชีวิตต่างล้วนดำเนินไปเพื่อความพ้นทุกข์ ทุกคนบนโลกต่างก็เป็นผู้ศึกษาธรรม แม้เขาเหล่านั้นจะไม่รู้ตัว แต่การเรียนรู้ทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิตก็คือการเรียนรู้ธรรมะ

ความรัก ในบทความนี้หมายถึงรักที่อยากครอบครอง อยากมีคู่ อยากเป็นครอบครัว ยังเป็นรักที่มี “ความอยาก” เป็นแรงผลักดันอยู่

การพ้นทุกข์ ในที่นี้มีเพียงเป้าหมายเดียวคือการหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลส ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์ และอำนาจของกิเลสในบทความนี้นั้นก็หมายถึง “ความอยากมีความรัก

ในบทความนี้แบ่งวิถีทางออกเป็นสี่หัวข้อ โดยแบ่งออกเป็นทุกข์มากและทุกข์น้อยและในทุกข์มากและทุกข์น้อยนั้นก็มีทั้งผู้ที่มีอินทรีย์ คือ ศรัทธา ความเพียร สติ ความตั้งมั่น ปัญญาที่มากน้อยแตกต่างกัน

ในวิถีทางแห่งทุกข์มากนั้นหมายถึงการมีภาระ มีวิบากที่ต้องแบก นั่นคือผู้ที่เลือกเรียนรู้สู่การพ้นทุกข์โดยการมีคู่ และทางที่ทุกข์น้อยนั้นหมายถึงคนที่เลือกเรียนรู้สู่การพ้นทุกข์ด้วยความโสดโดยมีเป้าหมายสุดท้ายก็คือการพ้นทุกข์ด้วยการทำลายความอยาก นั่นหมายถึงความโสดที่หมดความอยากในการมีคู่

จะเห็นว่าบทความนี้มีแต่เรื่องของ “ทุกข์” เพราะศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาที่ศึกษาในเรื่องของทุกข์ หลักอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นหัวใจของศาสนา เริ่มต้นมาข้อแรกก็ว่าด้วยเรื่องทุกข์แล้ว และจะทุกข์ไปตราบเท่าที่เรายังมีกิเลสอยู่ ดังนั้นเราจึงมาศึกษาความรักกับความเป็นทุกข์นั้น

แม้ว่าในสังคมปกตินั้นจะมองว่าการได้ครองคู่นั้นเป็นสุขอย่างหนึ่งในชีวิต แต่ในความจริงแล้วสิ่งนั้นกลับเป็นทุกข์อย่างยิ่งในมุมมองของธรรมะ ซึ่งการที่เราเห็นทุกข์ว่าเป็นสุขนั้นก็เพราะกิเลสทำให้หลง ทำให้เราเห็นกงจักรเป็นดอกบัวได้

วิถีทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์จากความรักในบทความนี้มี 4 หัวข้อดังนี้

1)วิถีทางที่ทำให้ทุกข์มากและพ้นทุกข์ยาก

ทางที่ทำให้ทุกข์มากนั้นเกิดขึ้นจากความอยากที่รุนแรง เต็มไปด้วยกิเลสปริมาณมาก จึงทำให้ต้องแสวงหาความรักมาบำเรอตนเอง ในกรณีก็คือการหาคู่ครอง

มีเหตุผลมากมายในการจะมีคู่ครอง ในมุมของการเสพสมทั่วไปก็จะเป็นเรื่องของการอยากมีคนให้สมสู่กัน เรื่องกามคุณ คือมีหน้าตาดี รูปสวย เสียงเพราะ ฯลฯ เรื่องโลกธรรม เช่น มีฐานะ มีการงานดี มีชื่อเสียงสังคมยอมรับ มีความสามารถในการบำเรอสุขให้ตน ฯลฯ และในมุมของอัตตาเช่น ฉันชอบคนนี้ ฉันชอบแบบนี้ ฯลฯ

หรือแม้แต่ในมุมของคนที่ใช้ข้อคิดเห็นต่างๆ เข้ามาเป็นเหตุผลดีๆเพื่อให้ตนได้มีคู่โดยไม่ต้องรู้สึกผิดบาปเช่น การได้พากันเจริญ, มีคนคอยขัดเกลาอุ้มชูกัน, ดูแลกันไปปฏิบัติธรรมกันไป,หรือตรรกะใดๆที่คิดว่ามีคู่แล้วจะดีกว่าเป็นโสด

ไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตาม การครองคู่นั้นคือสิ่งที่กั้นไม่ให้เราบรรลุธรรมได้ง่ายนัก เพราะต้องคอยสนองกิเลสของกันและกัน เป็นภาระของกันและกัน สร้างวิบากกรรมร่วมกันให้ต้องมาคอยชดใช้กันทีหลัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องแบกรับไว้และทำให้ทุกข์มาก ซึ่งทุกข์จากความอยากได้ความรักก็ทุกข์มากพออยู่แล้ว ยังต้องทุกข์เพราะต้องคอยรับวิบากกรรมหลายๆอย่างจากการมีคู่อีก

แม้ว่าการมีคู่ในตอนแรกนั้นจะดูเหมือนเป็นสุข แต่สิ่งนั้นก็ไม่ยั่งยืน ไม่ถาวร เมื่อคนกิเลสหนาสองคนมาเจอกัน ก็อาจจะเอาใจกันเพื่อให้ได้เสพในบางสิ่งบางอย่างของอีกฝ่ายได้สักพัก แต่วันหนึ่งทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยนแปลง เมื่อกิเลสที่มีนั้นไม่ได้ถูกลด และมีความต้องการให้ถูกสนองมากขึ้น แต่ความสามารถหรือความพอใจของอีกฝ่ายที่จะต้องมาคอยบำเรอกิเลสเรานั้นกลับลดลง และวันนั้นเองนรกก็จะมาเยือน

เหมือนกับเทวดาที่ตกสวรรค์ การที่คนมีคู่เขาก็ยังสามารถเสพสุขได้เหมือนอยู่ในสวรรค์ นั่นเพราะเขามีกุศลมาก จึงมีลาภ ยศ สรรเสริญ จนเมาสุขอยู่เช่นนั้น ซึ่งเทวดาที่แท้จริงก็คือคนที่ติดอยู่ในสุขเช่นนั้น คนที่ติดสุขติดภพเทวดานั้นจะไม่สามารถปฏิบัติหรือเจริญในธรรมใดๆได้ เพราะเขาจะไม่เห็นโทษของกิเลส จะเห็นแต่ประโยชน์ของการมีคู่ แต่การหลงมัวเมาอยู่กับการเสพเช่นนั้นก็จะทำให้กุศลกรรมที่ทำมาหมดไปในวันใดวันหนึ่ง เพราะไม่มีวิบากกรรมใดที่ได้รับแล้วจะไม่หมดไป การที่เขาได้เสพสุขอยู่กับการมีคู่ก็เช่นกัน สิ่งเหล่านั้นมีวันหมด และในขณะเดียวกันวิบากบาปก็รอที่จะส่งผลอยู่เสมอ เมื่อถึงจุดนั้นก็จะกลายเป็นเทวดาที่ตกลงมาจากสวรรค์ ต้องพบกับความทุกข์และเจ็บปวดอีกมากมาย

ดังนั้นเมื่อเทียบกับคนโสด คนมีคู่จึงต้องประสบทุกข์อย่างมาก จึงจัดคนที่มีคู่อยู่ในหมวดของทุกข์มาก

และคนที่มีคู่นั้น หากเป็นคนที่มีอินทรีย์อ่อน คือมี ศรัทธาน้อย ความเพียรน้อย สติน้อย ความตั้งมั่นน้อย ปัญญาน้อย ก็ยากนักที่จะสามารถจะหลุดพ้นจากกิเลสที่มีกำลังมากได้ซึ่งก็ต้องวนเวียนเรียนรู้ทุกข์ที่มากไปพร้อมๆกับการพัฒนาอินทรีย์พละของตนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหลุดพ้นจากกิเลส

สิ่งที่ทำให้หลุดพ้นได้ยากเพราะตนเองนั้นก็มีกิเลสหนาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยังต้องมาคอยสนองกิเลสของคู่ครองอีก แล้วทีนี้การหลุดพ้นจากทุกข์คือการทำลายกิเลสจนสิ้นเกลี้ยง แต่วิถีการเรียนรู้ธรรมะกลับเป็นไปในแนวทางเพิ่มกิเลส ดังนั้นจึงทำให้หลุดพ้นได้ช้า เป็นทุกข์มาก

ซึ่งกว่าจะหลุดพ้นได้ก็ต้องวนเวียนทุกข์ไปเรื่อยๆ ความอยากมีคู่ก็รุนแรง ทุกข์ก็ยอมทนเพื่อให้ได้เสพ แม้ว่าความรักจะพังทลายกี่ครั้งก็ยังไม่เข็ด ยังอยากมีความรัก ยังอยากมีคู่ไปเรื่อยๆ ยินดีเสพสุขลวงและทนทุกข์ต่อไปจนกว่าจะสามารถมีปัญญาถึงระดับที่เห็นว่าทุกข์นั้นเกิดเพราะความอยากได้

และถึงแม้ว่าจะเป็นคู่ที่พากันลดละกิเลส เช่น ในเรื่องของการสมสู่เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถตัดขาดได้ทันที เพราะวิบากกรรมจะเหนี่ยวรั้งไว้ แม้จะตัดทันทีก็มีกรรมแบบหนึ่งคืออาจจะไปเบียดเบียนคู่ถ้าเขายังมีความอยากอยู่ จะไม่ตัดก็มีกรรมแบบหนึ่งคือยังต้องไปสมสู่สนองกิเลส ซึ่งเป็นการเพิ่มกิเลสกันอยู่อีก ซึ่งไม่ว่าจะทำอย่างไรก็จะถูกพันไว้ด้วยความมีคู่นั่นเอง

2)วิถีทางที่ทำให้ทุกข์มากแต่พ้นทุกข์ไว

คนที่มีกิเลสมากและหลงไปมีคู่ แต่กลับพ้นทุกข์ไว คือผู้ที่มีอินทรีย์แก่กล้า มีศรัทธามาก มีความเพียรมาก มีสติมาก มีความตั้งมั่นมาก มีปัญญามาก แม้จะหลงไปมีคู่จนเกิดทุกข์ที่มาก แต่ก็สามารถจะหลุดพ้นจากกิเลสได้ไว ทำลายความอยากที่จะมีคู่ได้ด้วยอินทรีย์ที่แก่กล้านั้นเอง

ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีคู่ครองเจอปัญหาในชีวิตคู่ซึ่งทำให้ทุกข์มาก จึงใช้ทุกข์นั้นเอง เป็นเหตุในการพิจารณาธรรมเพื่อหลุดพ้นจากความอยากนั้น มองเห็นเหตุแห่งทุกข์ตามจริง คือเรานั้นเองที่สร้างการผูกมัดนี้มาจนเป็นทุกข์ “ถ้าเราไม่อยากมีคู่” ก็ไม่ต้องเจอปัญหานี้ตั้งแต่แรก ด้วยอินทรีย์ที่มากจึงสามารถเข้าใจความจริงตามความเป็นจริง จนหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสได้ไม่ยากนัก

สภาพของการหลุดพ้นอาจจะเกิดเพราะเรื่องไม่กี่เรื่อง ไม่ต้องทนทุกข์นาน อาศัยเหตุเพียงเล็กน้อยก็สามารถนำมาศึกษาเพื่อความพ้นทุกข์ได้

แต่แม้จะทำลายความอยากมีคู่ได้แล้ว คนที่หลงไปมีคู่ก็จะต้องมีวิบากกรรมที่ต้องคอยมารับภาระในคู่ครอง ซึ่งการอยู่ด้วยกันโดยปราศจากความหลง หรือไม่มีกิเลสเป็นตัวหลอกแล้ว ชีวิตคู่จะไม่มีความสุขลวงๆที่เคยมีอีกเลย สิ่งที่เหลือจะมีแต่ความจริงตามความเป็นจริง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีแต่เรื่องที่ทำให้เป็นภาระนั่นเอง

3)วิถีทางที่ทำให้ทุกข์น้อยแต่พ้นทุกข์ยาก

เมื่อการมีคู่นั้นคือทุกข์มาก ความโสดที่ยังมีกิเลสนั้นเองก็คือทุกข์น้อย ที่น้อยกว่าเพราะไม่ต้องไปคอยสนองกิเลสใครให้ต้องมาคอยรับวิบากกรรมที่มากั้นขวางไม่ให้บรรลุธรรมและสร้างทุกข์ใดๆทีหลัง

แม้จะเป็นคนโสดแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีกิเลส คนโสดหลายคนนั้นมีการตั้งความหวังไว้ว่า วันหนึ่งฉันจะเจอคนที่ฝันไว้ คนโสดพวกนี้แม้ในตอนเป็นโสดจะยังทุกข์จากความอยากอยู่บ้าง แต่เมื่อวันหนึ่งที่วิบากกรรมเข้ามา ทำให้ได้พบกับ “ตัวเวรตัวกรรม” ก็อาจจะเปลี่ยนวิถีทางไปปฏิบัติในทางทุกข์มากก็เป็นได้

คนโสดที่คิดว่าจะโสดนั้น อาจจะมีหลายเหตุปัจจัยที่ทำให้เลือกเป็นโสด แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังดีกว่าคนมีคู่เพราะมีทุกข์น้อย แม้ว่ากิเลสที่มีอยู่ในตนนั้นจะไม่มากพอที่จะผลักดันให้ไปแสวงหาคู่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถกำจัดกิเลสซึ่งเป็นเชื้อทุกข์ออกจากใจได้

โดยเฉพาะคนโสดที่มีอินทรีย์อ่อน ก็จะโสดไปแบบไม่เห็นโทษของความอยากในการมีคู่ เป็นโสดแบบไม่ได้พิจารณาธรรม เป็นโสดแบบไม่เห็นกิเลส ส่วนหนึ่งเพราะแรงกิเลสของเขาเหล่านั้นไม่ได้แสดงออกมาอย่างชัดเจน จึงทำให้จับได้ยากและขาดการมุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อการหลุดพ้น

คนโสดเช่นนี้จึงพ้นทุกข์อย่างแท้จริงได้ยาก แม้ว่าจะมีทุกข์น้อยแต่ถ้ายังมีกิเลสอยู่ ก็ยังเรียกว่าเชื้อแห่งทุกข์นั้นยังไม่ตาย ซึ่งกิเลสก็มีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นได้ เมื่อคนโสดที่อินทรีย์พละอ่อนนั้นได้เข้าไปอยู่ในสังคมที่ส่งเสริมการมีคู่ บอกว่าการมีคู่นั้นดี บอกว่าการมีคนคอยสนองกิเลสให้นั้นเป็นสุข คนโสดที่มีอินทรีย์พละน้อยจึงมีโอกาสที่จะทนพลังของกิเลสไม่ไหว รับเอากิเลสนั้นมาเป็นของตน ค่อยๆสะสมกิเลส เพิ่มความอยากจนกระทั่งไปเวียนกลับไปอยากมีคู่ได้ในวันใดก็วันหนึ่ง

ดังนั้นคนที่โสดอยู่และไม่ได้รู้สึกว่าอยากมีคู่มาก จึงควรพัฒนาอินทรีย์พละของตนโดยการคบหาผู้รู้ธรรมที่พาไปสู่ความพ้นทุกข์ ศึกษาธรรมที่พาให้ทำลายความอยากมีคู่ และนำธรรมเหล่านั้นมาพิจารณาลงไปถึงต้นเหตุของความอยากคือกิเลส เพียรพิจารณาความจริงตามความเป็นจริง โดยใช้สติมาจัดการชำแหละให้เห็นกิเลสด้วยความตั้งมั่น และใช้ปัญญาที่มีพิจารณาธรรมเข้าไป จนเกิดผลเจริญไปโดยลำดับ

4). วิถีทางที่ทำให้ทุกข์น้อยและพ้นทุกข์ไว

คนที่เลือกเป็นโสดและยังมีกิเลสอยู่ แต่ด้วยความที่มีอินทรีย์มาก จึงสามารถที่จะหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสได้ไม่ยากไม่ลำบากนัก

ยกตัวอย่างเช่น คนโสดที่เห็นคนมีคู่ทะเลาะกัน เห็นความทุกข์ของผู้อื่น และนำทุกข์เหล่านั้นมาพิจารณาทำลายกิเลสในตน ด้วยอินทรีย์ที่มาก จึงสามารถทำให้หลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสได้เพียงแค่ใช้เหตุปัจจัยที่เล็กน้อย เหมือนกับใช้เชื้อเพลิงไม่มากก็สามารถทำให้เกิดไฟกองใหญ่ เผากิเลสให้เป็นจุลได้

…..สรุปแล้วทั้งสี่วิถีทางนั้นเป็นทางเลือกที่ถูกกำหนดไว้ด้วยปริมาณกิเลสและอินทรีย์ของแต่ละคน ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถเลือกสิ่งใดได้อย่างอิสระ แต่จะต้องปฏิบัติไปตามกรรมที่ทำมา ใครทำกรรมมาแบบใดก็ต้องไปในวิถีทางแบบนั้น และกรรมใหม่ที่ทำนั้นก็จะเป็นจุดเริ่มของวิถีทางในอนาคตต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

12.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สมรสคือภาระ

May 8, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,046 views 0

สมรสคือภาระ

สมรสคือภาระ

แต่เดิมแล้วคนเรานั้นมีอิสระที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆได้อย่างมากมาย ซึ่งต่อมาอิสระเหล่านั้นก็จะถูกทำลายไปด้วยพลังแห่งราคะ เป็นสิ่งที่เข้ามาสร้างสุขลวงและทิ้งภาระให้ชีวิตและจิตวิญญาณได้ใช้หนี้กรรมไปอีกนานแสนนาน

เมื่อเราอยู่เป็นคนโสด เราสามารถใช้เวลาและโอกาสเหล่านั้นในการเรียนรู้ชีวิต ค้นหาความหมายในการเกิดมาในครั้งนี้ ว่าเราเกิดมาทำไม เพื่ออะไร เรียนรู้และค้นหาไปจนกระทั่งสามารถเข้าถึงความรู้ที่เป็นที่สุดของโลก คือได้เรียนรู้ทุกข์ เรียนรู้เหตุแห่งทุกข์ เรียนรู้ความดับทุกข์ และเรียนรู้วิธีปฏิบัติสู่การดับทุกข์ทั้งปวง

ซึ่งความรู้เหล่านี้เป็นความรู้ที่ทุกคนควรจะเรียนรู้ให้กระจ่างให้เร็วที่สุด เพราะในโลกนี้แท้จริงแล้วก็ไม่มีใครอยากทุกข์ ไม่มีใครชอบทุกข์ รักสุขเกลียดทุกข์ แต่น้อยคนนักที่จะได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับความจริงที่พาพ้นทุกข์นี้

นั่นเพราะพลังของกิเลส คือราคะหรือความใคร่อยากเสพจะเป็นตัวสกัดกั้นความเจริญในธรรมและพาให้เราไปหาภาระ หรือสิ่งที่เบนความสนใจของเราให้ห่างออกไปจากทางพ้นทุกข์ ให้ไปเสพสุขลวง ให้หลงมัวเมาอยู่ในโลก

ในขั้นเริ่มต้น ก็จะเริ่มแสวงหาคนรัก คนที่จะมาบำเรอกิเลสตนได้ คนที่ถูกใจ คนที่วาดฝันไว้ แม้มีเพียงความอยากระดับนี้ ก็มีพลังมากพอจะทำให้เรา เลิกเรียนรู้ความหมายของชีวิต หันมาหาวิธีสนองตัณหาตนเองแทน แต่ในขั้นนี้ก็สามารถหลุดออกมาได้เร็ว เพราะการผิดหวังในขั้นนี้ก็ถือว่าเป็นบทเรียนที่ไม่ทุกข์นัก จึงสามารถถอนตัวกลับมาเรียนรู้ชีวิตได้

ในขั้นปานกลางพอกิเลสมากเข้า และวิบากกรรมส่งผลก็จะได้คนโชคร้ายหนึ่งคนมาคบหา ภาษาธรรมะเรียกว่า “ตัวเวรตัวกรรม” ภาษาทั่วไปเรียกกันว่า “แฟน” เขาเหล่านั้นจะคอยสนองกิเลสเรา ยั่วกิเลสเรา ทั้งกิน ทั้งโกรธ ทั้งกาม ผสมปนเปกันไปจนไม่ต้องพูดถึงธรรมะ เวลาคนมันเสพสุขจากกิเลสนี่ก็มัวเมาจนมืดบอดไปหมด ระยะนี้ถือว่าสร้างภาระให้กับตัวเองในระดับหนึ่งแล้ว เพราะการรับเข้ามาเป็นแฟน มันก็ใช่ว่าเลิกกันได้ง่ายๆ แทนที่จะได้เอาเวลาในชีวิตไปเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็มาเมากันอยู่แค่ตรงนี้

ในขั้นหนัก พอกิเลสสุกงอมกันทั้งคู่ ก็จะแต่งงานกัน การแต่งงานเป็นการผูกภาระที่สมบูรณ์ คนเรามักจะสัญญาว่าจะดูแลคู่ครองกันไปจนตาย นั่นหมายความว่าเราต้องเสียประโยชน์ตนเองไปเพื่อบำเรอกิเลสของคู่ครองไปจนตาย เป็นภาระที่หนัก และยังมีของแถมให้เป็นภาระอีกมากมาย เมื่อครอบครัวของทั้งสองฝ่ายรวมเข้าหากัน เวลาที่จะเอาศึกษาธรรมเพื่อแสวงหาความดับทุกข์นั้นเรียกได้ว่าไม่ต้องพูดถึง เพราะถ้าทิ้งหน้าที่สามีหรือภรรยาหนีไปศึกษา ก็มักจะโดนกล่าวหาว่าไม่ทำหน้าที่คู่ครองที่ดี

ในขั้นหนักที่สุด คือแต่งงานกันแล้วยังสร้างสิ่งผูกมัดในชีวิตไม่พอ ก็จะสร้างลูกขึ้นมาด้วย เมื่อสร้างลูกขึ้นมาก็เหมือนกลายเป็นทาสที่ต้องใช้เวลาคอยดูแลลูกเข้าไปอีก ไหนจะต้องบำเรอคู่ ไหนจะต้องบำรุงลูก ไหนจะการงาน ในจะกิจกรรมในครอบครัว ไหนจะสุขภาพ ไหนจะเรื่องการสนองกิเลสตัวเอง กว่าจะเอาเวลาไปศึกษาธรรมะ ก็คงต้องรอลูกโตหรือไม่ก็ตายกันไปข้างหนึ่ง จะหนีไปบวชหรือหนีไปปฏิบัติธรรมก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ ใช่ว่าเขาจะยอมกันง่ายๆ รับเขามาในชีวิต ไปบำเรอกิเลสจนเขากิเลสอ้วนแล้วจะทิ้งกันง่ายๆนี่ไม่มีทาง ครอบครัวจะรั้งเราไว้ มันจะมีเหตุการณ์ประหลาดที่กั้นขวางไม่ให้เราสามารถเข้าใกล้ธรรมได้มากมาย

สุดท้ายกว่าจะได้โอกาส ได้อิสระไปค้นหาความหมายของชีวิตอีกครั้งก็คงจะใกล้วัยชราแล้ว มีเวลาเหลือน้อยแล้ว สุขภาพไม่เอื้ออำนวยเหมือนตอนวัยรุ่นแล้ว ครูบาอาจารย์ก็ตายไปหมดแล้ว สุดท้ายก็ไม่รู้จะทำอะไร เลยสนองกิเลสแล้วก็รอวันตายไปเปล่าๆอีกหนึ่งชาติ ถือว่าเกิดมาเสพกิเลสฟรีๆ เป็นโมฆะบุรุษไป เสียกุศลที่สร้างมา แถมยังต้องรับอกุศลคือกรรมชั่วที่ทำไว้มากมายในชาตินี้อีก

เกิดมาเป็นคนใหม่ก็พยายามจะค้นหาความหมายของการมีชีวิตเหมือนเดิม แต่ไม่นานกิเลสเพื่อนเก่าก็เข้ามาทักทาย สุดท้ายก็แพ้กามราคะเหมือนเดิม ไปแต่งงานมีลูก ผูกครอบครัวเหมือนเดิม กว่าจะหลุดได้ก็แก่เหมือนเดิม แก่แล้วก็ขี้เกียจเหมือนเดิม สุดท้ายก็ตายไปเปล่าๆเหมือนเดิม

ถ้าอย่างแย่ที่สุดคือหักห้ามใจไม่ไปแต่งงานเสีย ถ้าคบอยู่ก็ให้เป็นแค่เพื่อน ถ้ารักกันจริงก็อย่าให้เสียประโยชน์ตนเอง ก็อาจจะทำให้พ้นจากนรกที่ไม่มีวันจบสิ้นแบบนี้ได้เร็วขึ้น แต่ถ้าเผลอพลาดไปแต่งงานแล้วล่ะก็ ตัวใครตัวมัน ตอนแก้มันไม่ง่ายเหมือนตอนผูกนะ เงื่อนกรรมมันพันแน่นซับซ้อนมาก

ใครอยากมีความสุขในชีวิตก็ไม่ต้องไปผูกเงื่อนกรรมพ่วงชีวิตกับใครไว้ เพราะเพียงแค่ชีวิตเราเองก็เป็นภาระที่ต้องจัดการมากพอแล้ว ยังจะเอาคนมีกิเลสมาผูกไว้ด้วยอีกคน แถมกิเลสของบรรดาญาติมิตรสหายของเขาอีก นี่มัน “ อภิมหากองกิเลส “ ใครคิดว่าแน่จะไปลองลิ้มชิมนรกเช่นนี้ดูก็ได้ เพราะถ้าปัญญามันไม่เต็มรอบ ยังไงมันก็ไม่เข็ด มันจะไปเสพอยู่นั่นแหละ มันจะโง่ไปเอาภาระ วิ่งไปหาเหามาใส่หัว แกว่งเท้าหาเสี้ยนอยู่นั่นเอง

พอมีคู่มาผูกนี่มันออกไม่ได้ง่ายๆนะ แม้เราจะมีครูบาอาจารย์ที่มีวิชชาสอนให้พ้นทุกข์ได้ แต่วิบากกรรมมันจะกั้นไม่ให้เราออกมาง่ายๆ เขาจะขวาง เขาจะห้าม ถึงเขาไม่ห้าม เราก็ห่วง เราก็ระแวง มันจะมีอะไรสักอย่างมาดลบันดาลทำให้ออกไม่ได้ ทีนี้เวลาวิบากกรรมชั่วชุดใหญ่มันมาแล้วตนเองไม่มีธรรมที่กล้าแกร่งพอ มันจะทุกข์และทุกข์หนักมาก แต่ถึงแม้จะทุกข์สุดทุกข์ก็จะออกจากนรกแห่งความทุกข์นั้นไม่ได้ มันจะผูก จะเหนี่ยว จะรั้งไว้ ให้ทนทุกข์อยู่นั่นแหละ สิ่งที่ทำให้ต้องทนทุกข์แม้ว่าเหมือนจะออกได้แต่ออกไม่ได้ก็คือ ผลของกรรมที่ไปผูกเขาไว้นี่เอง

ตอนได้เสพกัน ได้สนองกิเลสกัน ได้สมสู่กันมันก็ดูเหมือนจะมีความสุขดีอยู่หรอก แต่ตอนที่วิบากกรรมชั่วมาถึงนี่มันไม่สุข ไม่สนุกเลยนะ ใครจะลองศึกษาชีวิตด้วยทางนี้ก็ได้เหมือนกัน ทางเส้นนี้ทุกข์มากสุขน้อย แต่คนเขลาจะเห็นว่าทุกข์น้อยสุขมาก จะบอกยังไงก็คงไม่เชื่อ ก็คงต้องลองกันดูเอง แต่ถ้ารู้แล้วไม่ไปลองก็ถือว่าเอาตัวรอดเป็น

สุดท้ายนี้ก็ขอสรุปว่าการมีคู่นี่มันเป็นการผูกพันให้ต้องมารับภาระ รับทุกข์ รับวิบากกรรมกันชั่วกัปชั่วกัลป์ไม่จบไม่สิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

1.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)