Tag: ความโสด

โสดจนสูญพันธุ์?

May 2, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,648 views 0

โสดจนสูญพันธุ์

ถาม: ถ้าคนพากันโสดทั้งหมด ไม่มีคู่ครอง โลกจะเป็นอย่างไร คนจะสูญพันธุ์หรือไม่?

ตอบ: ในโลกนี้มีศาสนามากมายอยู่หลายศาสนา และศาสนาที่จริงจังกับการครองตนเป็นโสดเพราะรู้แจ้งในโทษชั่วก็คงจะมีแต่ศาสนาพุทธนี่แหละ ดังนั้นอัตราส่วนของคนที่ครองคู่และสืบพันธุ์ก็ย่อมมากกว่าคนที่คิดจะโสดในระดับหนึ่งแล้ว

ทีนี้มองย่อยลงมาที่พุทธศาสนิกชน แม้ว่าในประเทศไทยแห่งนี้จะมีธรรมในพระพุทธศาสนาประกาศอยู่แล้วก็ตาม การจะพาตนเองไปถึงธรรมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าคนจะถือศีล ๕ ได้นั้นก็ยากสุดยากแล้ว การจะหวังคนให้ถือศีล ๕ ทั้งประเทศก็คงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดหวัง และการครองตนเป็นโสดนั้นอยู่ในฐานของศีล ๘ ซึ่งกระทำได้ยากกว่าศีล ๕ มากมายนัก จึงทำให้อัตราส่วนของคนที่คิดจะโสดน้อยเข้าไปอีก

ทีนี้คนที่ถือศีล ๘ หรือมากกว่านั้น ก็มีทั้งถือแบบงมงายบ้าง ไม่รู้สาระบ้าง โอกาสที่กิเลสจะกำเริบจนทิ้งศีลไปหาคู่ก็มีมากมาย เรื่องดังเช่นว่าพระสึกไปมีคู่ ก็มีให้เห็นกันโดยทั่วไป ดังนั้นผู้ที่ตัดสินใจโสดจึงมีอัตราส่วนน้อยลงไปอีก

ด้วยอัตราส่วนที่มีนัยสำคัญแบบเห็นกันได้ทั่วไปจนไม่ต้องไปทำงานวิจัยหาข้อมูลให้วุ่นวายจึงสรุปได้ว่ามนุษย์ไม่มีทางสูญพันธุ์ด้วยเหตุแห่งการถือศีล ครองตนเป็นโสดอย่างแน่นอน ซึ่งโอกาสที่มนุษย์จะสูญพันธุ์จากสาเหตุอื่นเช่น โลกแตก ก็ยังมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่า

ตอบกันเชิงปริมาณไปแล้ว คราวนี้มาตอบเชิงคุณภาพกัน

เรื่องการครองตนเป็นโสดนี้ ขนาดพระพุทธเจ้าซึ่งได้ชื่อว่าเป็นมหาบุรุษที่เก่งที่สุดในโลก ก็ยังไม่สามารถทำให้ทุกคนละทิ้งความอยาก แล้วหันมาครองความโสดได้เลย แม้แต่ภิกษุที่บวชในสมัยพุทธกาลก็ยังมีคนสึกกลับไปมีครอบครัว แล้วในยุคนี้จะมีใครมีความสามารถที่จะสอนให้คนเห็นคุณค่าของความโสดขนาดที่ว่ายอมโสดกันทุกคนได้

ธรรมชาติของสัตว์คือเกิดขึ้นมาแล้วสืบพันธุ์ นี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ทำกัน แต่มนุษย์ที่จะมีปัญญาพอที่จะเห็นทุกข์ โทษ ภัย จากการมีคู่ครองนั้นจะมีอยู่สักเท่าไหร่ ในเมื่อการไม่มีคู่ การไม่สืบพันธุ์ นั้นคือการฝืนธรรมชาติ การขัดธรรมชาติ การเป็นไปเพื่ออยู่เหนือธรรมชาติอย่างชัดเจน

ธรรมะของพระพุทธเจ้าตรัสไว้เพื่อทวนกระแสโลก ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ คนอื่นเขามีคู่กัน ครองเรือนกัน สมสู่กัน แต่สาวกของพระพุทธเจ้าพยายามที่จะลด ละ เลิก สิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งการฝืนธรรมชาติคือกิเลสตัณหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย หากไม่มีทิฏฐิที่ตั้งตรงสู่การพ้นทุกข์ และการพากเพียรที่เรียกได้ว่าถวายชีวิตให้ธรรม ก็คงจะไม่สามารถผ่านไปได้

คนทั่วไปนั้นจะเข้าใจว่ามนุษย์ต้องดำเนินไปตามธรรมชาติ เกิดมาสืบเผ่าพันธุ์ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่แนวความคิดของพุทธ เพราะพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเราเกิดมาด้วยการสมสู่แต่เราไม่จำเป็นต้องไปสมสู่ ให้ละจากสิ่งนั้นเสีย นี้คือความเห็นสู่การพ้นทุกข์ เป็นเครื่องมือออกจากโลก (โลกียะ) ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนจะสามารถเข้าถึงปัญญาอันรู้แจ้งในกิเลสเช่นนี้

ดังนั้น มนุษย์จึงพากันมีคู่ครองด้วยตัณหาและอุปาทาน คือมีความอยากในการได้เสพสมใจตามความหลงผิดที่ตนได้ยึดมั่นถือมั่นไว้ และพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ด้วยว่า การสมสู่คือการเสพที่ไม่มีวันอิ่ม ดังนั้นการที่มนุษย์จะหมดโลกนั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะคนที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสย่อมไม่มีวันอิ่มจากกามเมถุน เขาเหล่านั้นจะเสพไปเรื่อยๆ จะส่งเสริมให้ผู้อื่นเสพไปเรื่อยๆ และเขาเหล่านั้นก็สร้างลูกหลานของเผ่าพันธุ์ไปเรื่อยๆเอง

ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องกังวลกับอนาคตของมนุษย์ เพราะความจริงแล้วหากกิเลสยังไม่ดับไป สุดท้ายเราก็ต้องเกิดขึ้นมาเสพอยู่ดี ไม่ว่าโลกไหน จักรวาลใด จิตที่เปี่ยมล้นไปด้วยกิเลสจะก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาเพื่อเสพอยู่เสมอและเป็นเช่นนี้ไปไม่มีวันจบสิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

2.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

จะอยู่เป็นโสด หรือจะมีคู่

April 25, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,074 views 0

จะอยู่เป็นโสด หรือจะมีคู่

ดาวน์โหลดภาพขนาดเต็ม | Download full size image

จะอยู่เป็นโสด หรือจะมีคู่

ก่อนที่เราจะตัดสินใจลิขิตชีวิตของตัวเองว่าจะให้เป็นไปทางไหน ก็ควรจะศึกษาข้อมูลเพื่อการตัดสินใจลงทุนที่มีความเสี่ยงที่มากที่สุดในชีวิตกันก่อน

จิตเดิมแท้ของเรานั้นแม้ว่าจะเป็นจิตที่บริสุทธิ์ แต่ก็ยังเป็นจิตที่ยังไม่มี “ปัญญา” เมื่อได้รับรสสุข จึงยึดติดความสุขเหล่านั้น สะสมลงไปกลายเป็นความยึดมั่นถือมั่น ทำให้กลายเป็นเหตุแห่งทุกข์ โดยรวมเราจะเรียกสิ่งที่ทำให้เราทุกข์ว่า “กิเลส

1). สุขลวง

ตั้งแต่เราเกิดมาก็จะได้พบกับการชักชวนให้มีคู่แล้ว ไม่ว่าจะนิทาน การ์ตูน ละคร รวมถึงสังคมที่พากันแสวงหาคู่ เรียกได้ว่าคนส่วนใหญ่จะเกิดในสังคมที่พากันส่งเสริมให้มีคู่ มองว่าการมีคู่ครองเป็นเรื่องธรรมดา มองว่าการมีคู่เป็นสุข เป็นเป้าหมายในชีวิต เป็นคุณค่า เป็นสิ่งสำคัญ

สภาพจิตใจของคนที่ยังหลงสุขลวงแม้ว่าจะยังไม่มีคู่ก็คือ อยากมีคู่ หมกมุ่นในเรื่องคู่ ยังยินดีที่เห็นคนอื่นเขาคู่กัน ยินดีที่เขาแต่งงานกัน แม้แต่ความรู้สึกที่เข้าใจว่าตนอยู่เป็นโสดก็ได้ แต่ถ้ามีคู่จะสุขกว่า คือถ้าเลือกได้ก็ขอมีคู่ดีกว่า ก็ยังเรียกได้ว่าหลงสุขลวงอยู่โดยรวมก็คือถ้ามีคู่จะเป็นสุข ไม่มีคู่จะเป็นทุกข์

การหลงสุขลวงนั้นเป็นเรื่องทั่วไปของคนส่วนใหญ่ ซึ่งคนที่หลงแล้วได้เสพสมใจ ได้มีแฟน มีคนรัก มีครอบครัว ก็จะยิ่งหลงขึ้นไปอีก แล้วก็มักจะชักชวนผู้อื่นให้หลงไปในสุขลวงเหล่านั้นด้วย นั่นเพราะตนหลงแล้วจึงไม่อยากจะออกจากความหลง จึงชักชวนให้คนอื่นเขาหลงตามเพื่อที่จะให้เห็นได้ว่า “ใครๆเขาก็ทำกัน

แม้แต่คนที่มีความรู้ความสามารถ มีธรรมะ ก็ยังมีอยู่เป็นจำนวนมากที่ยังหลงสุขลวง จึงใช้สิ่งที่ตนมีเหล่านั้นสร้างเหตุผลที่จะสามารถมีคู่ได้โดยที่ตนไม่รู้สึกผิด แต่ถึงกระนั้นก็ตามการมีคู่ก็ยังเป็นเหตุแห่งทุกข์อยู่ดี

แน่นอนว่าความหลงสุขลวงในการมีคู่นั้นเป็นเรื่องสามัญในโลกไปแล้ว ใครที่บอกว่าการมีคู่ครองนั้นเป็นเรื่องทุกข์ ก็คงจะโดนหาว่าบ้า หรือไม่ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนอ่อนต่อโลก อิจฉาคนมีคู่ ขยาดในความรัก ผิดหวังในรัก ขี้ขลาดขี้กลัว ฯลฯ อะไรก็ตามแต่ที่จะมาเป็นเหตุผลให้คนหลงสุขลวงได้ปักมั่นอยู่ในความเห็นที่ตนเข้าใจว่าถูก

ผู้ที่เลือกการมีคู่เพราะหลงสุขลวงจะต้องวนเวียนเรียนรู้ เกี่ยวกับทุกข์จากความรักของคนมีคู่ต่อไปอีกนานแสนนานจนกว่าจะเข้าใจได้ว่า ความรักแบบมีคู่นั้นคือความทุกข์

ลักษณะของผู้ที่เห็นดีต่อการเสพสุขลวงจะมีอาการต่อต้าน “ความโสด” ไม่ยินดีฟังธรรมที่จะพาให้เป็นโสด ยินดีในธรรมที่จะพาให้มีคู่ จึงควรศึกษาเรื่อง ทุกข์ โทษ ภัยที่เกิดจากการมีคู่ เพื่อจะได้เรียนรู้ให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ของสุขลวงได้ไวขึ้น

2). เกลียดชั่วยึดดี

คนที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับความรัก สะสมทุกข์จนถึงจะดับหนึ่ง ก็จะสามารถออกจากการมีคู่ด้วยการยึดดีได้ เพราะตนเองนั้นเกลียดทุกข์ที่มาพร้อมกับการมีคู่รัก อาจจะเพราะได้เคยพบกับเหตุการณ์ที่ทำให้ทุกข์จนเกินทนเลยเข็ดขยาดกับความรักครั้งก่อนๆ

เมื่อเขาเหล่านั้นได้เข็ดขยาดจากความรักที่ต้องคอยมาเติมเต็มกิเลสให้แก่กันและกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีวันเติมเต็ม ยิ่งเติมก็ยิ่งพร่อง ยิ่งเสพก็ยิ่งทุกข์ จึงเลิกเติมเต็มกิเลสให้กับผู้อื่น และใช้ตัวเองถมช่องว่างในการมีคู่เหล่านั้นเสีย เรียกว่าสร้าง “อัตตา” ขึ้นมาเพื่อทำลายความหลงเสพในสุขลวง

แม้โดยสภาวะจะดูแข็งแกร่ง มั่นคง แต่ก็เป็นสภาพยึดดีถือดีอยู่ มีตัวตนอยู่ สภาพของผู้ที่โสดแบบเกลียดชั่วยึดดีนี้จะมีอาการผลัก ชิงชัง รังเกียจการมีคู่ ไม่เห็นดีเห็นงามกับการมีคู่โดยมีความทุกข์จากความยึดดีเป็นส่วนประกอบ เช่น เห็นคนมีคู่แล้วมันหงุดหงิด ไม่ชอบ รำคาญ ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากเห็น อยู่กับคนโสดไม่เป็นไร แต่เจอคนมีคู่ทีไรอารมณ์ไม่ค่อยดี

ความเกลียดชั่วยึดดีนี้เอง ก็ถือได้ว่าเป็นสภาพที่เจริญขึ้นมาจากความหลงสุขลวงแล้ว แต่ก็ยังทำทุกข์ทับถมตนเองจากความยึดดีถือดีอยู่ แม้จะไม่ไปสร้างบาปกรรมกับคนอื่นด้วยการไปมีคู่ แต่ก็ยังสร้างบาปในใจของตนอยู่นั่นเองซึ่งอัตตาที่เพิ่มขึ้นมานั้นเองก็อาจจะเป็นเหตุให้ไปเบียดเบียนจิตใจของผู้อื่นได้ จึงยังเป็นผู้ที่ควรจะศึกษาในเรื่องของการทำลายอัตตาต่อไป

3). โสดแบบบ้านๆ

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะคิดว่าตนนั้นไม่อยากมีคู่และไม่รู้สึกเกลียดคนมีคู่ แต่ความรู้สึกนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ เป็นเรื่องแบบชาวบ้าน เป็นเรื่องทั่วไป ซึ่งความรู้สึกว่าโสดแล้วตนเองก็ยังเป็นสุขดีนี้อาจจะไม่ใช่การบรรลุธรรมแต่อย่างใด

เช่น เด็ก ที่ยังไม่เข้าถึงวัยที่จะรู้จักความรัก กิเลสยังไม่กำเริบ วิบากกรรมยังไม่ส่งผล ก็จะยังรู้สึกมีความสุขที่ยังเป็นโสดอยู่ แต่วันใดที่ได้รู้จักกับสุขลวง ได้หลงเสพจนหลงสุขนั้น หรือพบคนที่จะมาสนองกิเลสตนเองได้ ก็จะพลาดพลั้งเสียทีไปได้

เช่น คนหนุ่มสาวที่อยากเสพสุขลวง แต่คนเองก็ยังไม่เคยได้เสพ ก็มักจะเข้าใจผิดไปว่า แม้ตนนั้นโสดก็ยังเป็นสุขดีอยู่ จะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่จิตนั้นยังยินดีกับการมีคู่ การแต่งงานอยู่ ก็จะเรียกได้ว่ายังหลงกับสุขลวง หรือคนที่เจ็บปวดจากความรักและผลักตัวเองออกจากความรัก ซึ่งจริงๆแล้วก็เป็นสภาพความยึดดีแบบชั่วคราว สุดท้ายความสุขลวงยังไม่ตายก็จะกลับไปอยากมีคู่อยู่ดี

เช่น คนทำงานที่หลงไปในเรื่องของการงาน ฐานะ ความสำเร็จมากๆ ก็จะให้ความสำคัญกับโลกธรรม แม้ว่าจะไม่มีเรื่องคู่ครองมาในเบื้องต้น แต่สุดท้ายก็จะหนีไม่พ้นอยู่ดี ถึงแม้จะดูเป็นคนโสดที่ใส่ใจการงาน แต่ถ้าสุขลวงยังไม่ถูกทำลาย มันก็เป็นเหตุให้ไปแสวงหาคู่ในท้ายที่สุดอยู่ดี

เช่น คนแก่ที่หมดวัยในการมีคู่แล้วก็มักจะเชื่อว่าตนนั้นเป็นโสดก็สุขดี ทั้งๆที่จริงแล้วสภาพของกรรมมันไม่เอื้อให้มีคู่แล้ว จึงทำได้แต่ปลง คือมันไม่มีให้เสพแล้ว จะทำยังไงก็ไม่มี ถึงมีก็ไม่ควรแก่วัย ทำได้แค่ทำใจเท่านั้น สุดท้ายก็ทำให้เข้าใจไปว่าฉันโสดก็สุขดี แบบนี้เป็นโสดแบบทั่วไป

สรุปแล้วความโสดแบบบ้านๆก็คือเรื่องทั่วไปที่เกิดได้กับทุกคนโดยไม่ต้องปฏิบัติธรรมแต่อย่างใด สิ่งที่แสดงได้ชัดคือความรู้สึกยินดียินร้ายที่ยังเหลืออยู่ในจิตใจ หากยังยินดีกับความรักแบบคนคู่อยู่ก็ถือว่ายังไม่พ้น และถ้าหากยังรู้สึกชิงชังรังเกียจการมีคู่อยู่ก็ยังถือว่ายังไม่จบ

4).โสดอย่างเป็นสุข

ความโสดอย่างเป็นสุขนั้นเป็นสภาพพิเศษ ไม่ทั่วไป ไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพราะเป็นการโสดที่เกิดจากการชำระสุขลวงและทำลายความเกลียดชั่วยึดดี จนเกิดสภาพที่ไม่เสพก็เป็นสุข

ความโสดอย่างเป็นสุขไม่ใช่สภาพที่อยู่ๆจะเกิดขึ้นได้เอง ไม่ใช่ว่าปล่อยให้ตนเองเบื่อความรักแล้วจะเกิดขึ้นได้ แต่เกิดจากการทำลายกิเลสทั้งๆที่เกิดความรักอยู่นั่นเอง นั่นหมายถึงการสัมผัสความรักอยู่แต่ก็ทำลายรักนั้นลงตรงหน้า

เหมือนกับนักรบที่สามารถฆ่าคนที่ตนเองรักที่สุดได้โดยไม่มีความทุกข์ใดๆเกิดขึ้นอีกเลย มันไม่ได้เบื่อไม่ได้หน่ายเลยนะ มันรักสุดรัก แต่ถ้าจะทำลายกิเลสมันก็ต้องทำลายกันทั้งๆที่ยังรักอยู่นี่แหละ จะไปรอทำลายตอนแก่หรือทำลายตอนหมดรักไม่ได้เพราะสุดท้ายมันจะต้องสัมผัสกับคนที่รักได้โดยไม่มีความรู้สึกรักหรือชังใดๆเลย ส่วนคนที่ยังไม่มีความรักแบบคู่ครองก็ไม่ต้องไปลองให้เสี่ยงเปล่าๆ หมั่นพิจารณาทุกข์ โทษ ภัยตามความเป็นจริงๆไปเรื่อยก็พอ

การจะเข้าถึงสภาพนี้จะต้องเห็นองค์ประกอบทั้งหมดของสุขลวงและความเกลียดชั่วยึดดีที่มีในตน จนกระทั่งทำลายทั้งความดูดผลัก รักเกลียด ชอบชังจนหมดสิ้น

โดยสภาพของผลที่เกิดขึ้นนั้นโดยภายนอกจะคล้ายกับคนที่เกลียดชั่วยึดดีคือ กลายเป็นคนโสด และไม่ยินดีกับการมีคู่ แต่จะไม่มีความทุกข์ใดๆเข้าไปร่วมด้วย

สิ่งที่แตกต่างจากคนโสดทั่วไปคือมีปัญญารู้แจ้งโทษชั่วโดยรอบของการหลงสุขลวงและการเกลียดชั่วยึดดีที่ตนเองนั้นได้เรียนรู้มา เรียกได้ว่ามีปัญญารู้แจ้งแทงตลอดทั้งกามและอัตตา ซึ่งต่างจากคนโสดทั่วไปที่โสดโดยไม่รู้จักตัวตนของกิเลส โสดไปตามกรรม โสดแบบนั้นไม่ใช่ความสุขแท้ แต่เป็นการรอคอยก่อนที่พายุใหญ่กำลังจะเข้ามา อาจจะเป็นอนาคตข้างหน้า ในชาตินี้หรือชาติหน้าก็ได้ แต่โสดอย่างเป็นสุขเพราะชำระกิเลสจะต่างออกไป เพราะเมื่อกิเลสถูกกำจัดไปทั้งหมด ในอนาคตก็จะไม่มีพายุใดๆเข้ามาทำให้ทุกข์อีกไม่ว่าในชาตินี้หรือชาติหน้า จะเหลือแต่วิบากกรรมที่จะต้องรับและเศษเหลี่ยมมุมของกิเลสที่จะต้องเรียนรู้

สภาพของโสดอย่างเป็นสุขจากการชำระกิเลสจะอยู่บนทางสายกลางแบบไม่เผลอเอียงไปทางโต่งด้านใดด้านหนึ่งอีก เพราะได้ชำระกามและอัตตาอันเป็นทางโต่งสองด้านแล้ว และเมื่อดำเนินอยู่บนทางสายกลางจึงดำเนินชีวิตไปร่วมกับคนที่หลงสุขลวงและเกลียดชั่วยึดดีได้อย่างไม่ปนไม่เปื้อนไปกับเขา ถึงเขาจะอยากมีคู่เราก็ไม่อยากไปกับเขา ไม่ยินดีไปกับเขา ถึงเขาจะรู้สึกทุกข์เพราะคนคู่เราก็จะไม่ทุกข์ไปกับเขา จึงกลายเป็นผู้อยู่ในโลก แต่ไม่ปนไปกับโลก ไม่ใช่ผู้หนีโลกแต่อย่างใด

– – – – – – – – – – – – – – –

25.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทำไมไม่ลงเอย

March 30, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,058 views 0

ทำไมไม่ลงเอย

ถาม : มีความรักแล้วจบลงด้วยการเลิกราทุกครั้ง คนที่รักไปแต่งงานกับคนอื่น มีวิบากกรรมอะไร ทำไมถึงไม่ได้ลงเอย

ตอบ : เพราะไม่ได้มีกรรมร่วมกัน ก็เลยไม่ได้ลงเอย คนที่ไม่ได้ร่วมเวรร่วมกรรมกันมาจนมีพลังงานที่พอเหมาะ คือไม่มีนามธรรมที่สมเหตุสมผล จึงไม่เกิดรูปธรรม คือไม่เกิดเหตุการณ์นั้นๆขึ้น

ถ้าตอบตามแบบทั่วไปก็จะตอบได้ว่าสะสมบุญบารมีร่วมกันมาไม่มากพอ แต่จริงๆแล้วการคู่กันจนกระทั่งได้แต่งงานนั้นคือ “บาปและอกุศล” ดังนั้นถ้ามองตามความจริง คนที่ได้คบหาดูใจกัน จนกระทั่งแต่งงานมีลูกด้วยกันนี่แหละคือคนที่มีเวรมีกรรมต่อกันจะต้องมาใช้หนี้กันและกัน แต่ในระหว่างใช้หนี้เก่าก็สร้างหนี้ใหม่เพิ่ม ดังนั้นจึงต้องมีครอบครัวผูกมัดไว้เพื่อใช้หนี้กรรมอย่างไม่จบไม่สิ้น

จะขอตอบขยายเพิ่มเติมเพื่อไขข้อข้องใจอื่นๆดังนี้

1). กรรม

ผลของกรรมเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะออกมาแบบไหน ส่วนเราไปทำกรรมอะไรไว้ ในชาตินี้ก็คงพอจะนึกย้อนได้ แต่ของเก่าก็อย่าไปเดาให้เสียเวลา ให้รู้ชัดๆแค่ว่าสิ่งนี้แหละ ฉันทำมาเอง ฉันเป็นคนทำแบบนี้มา ก็แค่รับสิ่งที่ตัวเองทำมาก็เท่านั้นเอง

กรรมที่เห็นนั้นมีความซ้อนของกรรมดีและกรรมชั่วปนกันอยู่ หลายคนอาจจะมองว่าการไม่ได้แต่งงานเกิดจากกรรมชั่ว ซึ่งนั่นก็ไม่แน่เสมอไป แต่ที่แน่นอนคือกรรมชั่วทำให้เกิดความทุกข์ ส่วนการไม่ได้แต่งงานนั่นแหละคือกรรมดี เพราะทำให้เราแคล้วคลาดจากการผูกมัดด้วยบ่วงกรรมถึงแม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตามที

ในความไม่ดีมันก็มีสิ่งดีซ่อนอยู่ ดังนั้นหากจะเหมาว่าเป็นกรรมชั่วทั้งหมดก็คงจะไม่ใช่

2). ทุกข์จากการเสียของรัก

เมื่อสูญเสียสภาพของคู่รัก หรือคนที่หมั้นหมายว่าจะแต่งงานไป ก็คือการเสียของรัก ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของโลกที่เราทุกคนจะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักและหวงแหน

ถึงจะได้คบหาหรือแต่งงานไป สุดท้ายก็อาจจะต้องเสียไปในวันใดวันหนึ่งอยู่ดี ไม่ตายจากไป ความรักนั้นก็อาจจะตายจากไปแทนก็ได้ ซึ่งการยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดๆก็ตาม แม้ว่าจะรักและดูแลดีแค่ไหน แต่สุดท้ายเราก็จะต้องเสียมันไป

ความทุกข์ที่เกิดขึ้น นั้นเกิดจากสภาพที่ไม่ได้เสพของรักอย่างเคย ซึ่งเกิดจากการเสพติดหรือการยึดมั่นถือมั่นสิ่งนั้นมาเป็นของตนแล้วหมายว่าจะได้เสพสิ่งนั้นตลอดไป พอโดนกรรมของตัวเองแย่งของรักไปก็ทุกข์ใจ โวยวาย ร้องห่มร้องไห้กันไปไม่ต่างอะไรจากเด็กโดนแย่งของเล่น

3). คุณค่าในตน

ความทุกข์จากการสูญเสียแท้จริงแล้วมาจากความพร่อง เราจึงใช้สิ่งอื่น หรือคนอื่นเข้ามาเติมเต็มความพร่องในชีวิตจิตใจของเราเอง อย่างเช่นว่าเราเหงา เราก็เลยอยากหาใครสักคนมาอยู่เป็นเพื่อน หรือว่าเราอยากสบายเราก็เลยอยากหาใครสักคนที่จะฝากชีวิตไว้ฯลฯ

ซึ่งความพร่องเหล่านี้เองทำให้เราพยายามหาสิ่งอื่นมาเติมเต็มตัวเอง แต่ความจริงแล้วไม่มีวันที่จะหาใครที่พอเหมาะพอดีกับอัตตาของตัวเองได้ เว้นแต่ตนเองเท่านั้น ไม่มีใครสามารถทำให้เรามีความสุขได้ตลอดไป แม้จะหาคนที่หมายมั่นได้ดั่งใจ แต่สุดท้ายวันหนึ่งเสียไปก็ต้องเสียใจอยู่ดี

ดังนั้นการแก้ปัญญาจึงควรเพิ่มคุณค่าในตนเอง สรุปง่ายๆเลยว่าใช้การเพิ่มอัตตาเข้ามาบดบังพื้นที่ ที่เคยว่างเว้นให้คนอื่นเข้ามาเติมเต็มชีวิต คือทำให้ชีวิตตนเองนั้นเต็มไปด้วยคุณค่าและความเป็นตัวของตัวเองเสียก่อน ดังคำว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” อย่าไปหาคนอื่นมาเป็นที่พึ่งของเรา อย่าเอาเขามาสนองกิเลสของเรา ใช้อัตตาของเรานี่แหละทำเราให้เป็นคนที่เต็มคน

และต่อมาเมื่ออัตตาเต็มก็จะกลายเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเอง แข็งแกร่ง อดทน แล้วตอนนั้นก็ค่อยจัดการกับอัตตาในตัวเองต่อ จนกระทั่งกำจัดอัตตาหมดก็ถือว่าจบภารกิจในเรื่องคู่

4). อย่าหลงตามสังคม

ที่มาของคุณค่าลวงๆก็มาจากคำลวงในสังคมนี่แหละ ที่หลอกกันต่อๆมาว่าคนมีครอบครัวถึงจะมั่นคง คนมีคู่ถึงจะมีคุณค่า เรามักจะได้ยินคำว่า “ไม่มีใครเอา” หรือเข้าใจโดยสามัญว่าคนที่มีอายุสัก 30 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่ได้แต่งงานคือคนที่กำลังจะขึ้นคานเพราะไม่มีใครเอา

ความเห็นความเข้าใจแบบโลกๆนี้เป็นความเข้าใจที่มาจากกิเลส มาจากความไม่รู้ มาจากความหลงผิด มาจากความโง่ ในความจริงแล้วเราควรจะสรรเสริญความโสด แต่คนผู้หนาไปด้วยกิเลสจะไม่เป็นแบบนั้น เพราะความโสดจะทำให้ไม่ได้เสพ ไม่ได้สมสู่ ซึ่งเขาเหล่านั้นก็จะบอกว่าการแต่งงานมีคู่นี่แหละดี เพราะตนเองจะได้เสพอย่างไม่ต้องรู้สึกผิดเพราะใครๆก็ทำกัน

สังคมอุดมกิเลสแบบนี้ก็จะมีความคิดไปในทางสะสมกิเลส สนองกิเลส สร้างวิบากบาป พาลงนรก ถ้าเรายังตามสังคมไปโดยไม่มีปัญญาก็จะเสื่อมไปตามเขาเป็นแน่ แต่ถ้ายึดพระรัตนตรัยเป็นหลักไม่ปล่อยให้ชีวิตตกร่วงไปตามสังคมก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำ

5). ความเบื่อแบบโลกๆ

ความรู้สึกเบื่อกับปัญหา หรือเบื่อความรักจนไม่ยอมหาความรัก อย่าคิดว่านั่นคือกิเลสตาย เพราะความเบื่อนั้นก็แค่ความเบื่อแบบโลกๆ ที่มีเหตุผลอื่นเป็นตัวกดข่มความอยากหรือยังไม่ถึงเวลาที่ควรของกิเลสนั้นๆ

ตัณหา(ความอยาก)เมื่อไม่ได้แสดงอาการจะสั่งสมลงไปเป็นอุปาทาน(ความยึดมั่นถือมั่น) เก็บเป็นพลังบาปไว้อย่างนั้น เมื่อเจอคนที่ถูกใจจากคนที่เคยเบื่อๆก็อาจจะอยากมีความรักก็เป็นได้

ซึ่งในสภาพของการทำลายกิเลสนั้น จะต้องทำลายตอนที่มีความอยาก ไม่ใช่ปล่อยให้ความอยากสงบจนเป็นอุปาทานแล้วบอกว่าเบื่อหรือบอกว่ากิเลสตาย สภาพนี้เองที่ทำให้คนที่เจ็บจากความรัก คนป่วย คนแก่ ฯลฯ ดูเหมือนว่าจะไม่สนใจความรักทั้งๆที่ทั้งหมดนั้นเป็นความเบื่อแบบโลกๆเท่านั้นเอง

คนที่แต่งงานแล้วเบื่อครอบครัวก็เช่นกัน เพราะมันได้เสพจนเบื่อแล้วมันก็เลยเกิดอาการเบื่อแบบโลกๆ บางครั้งอาจจะทำให้เราหลงไปว่าเราไม่ได้ยึดติดกับความรักแล้ว เลยทำให้ไม่ศึกษาเรื่องกิเลสให้ถ่องแท้ เกิดมาชาติหน้าก็มีคู่อีกแล้วก็เบื่ออีกเป็นแบบนี้วนไปมาเรื่อยๆ

6). ขอบคุณความโสด

ความโสดดำรงสภาพได้จนทุกวันนี้ ต้องขอบคุณทุกคนที่ผ่านมานะ คนที่เข้ามาคบหา คนที่เข้ามาบอกว่าจะแต่งงานกัน แม้ว่าสุดท้ายเลิกราหรือหนีไปแต่งงานกับคนอื่นก็ตาม

นั่นคือโอกาสที่เราจะไม่ต้องไปรับเวรรับกรรม ไม่ต้องไปทำบาป ไปสะสมบาป คอยสนองกิเลส ไม่ต้องเอาใครมาผูกเวรผูกกรรมกันอีกไม่ต้องมีสิ่งไม่ดีร่วมกันอีกเลย

แต่ที่เราไม่ขอบคุณความโสดเพราะเรามีกิเลสมาก กิเลสจะบังคุณค่าของความโสดจนมิด เรียกว่าโสดไร้ค่าไปเลยทีเดียว ถ้าได้ลองล้างกิเลสของความอยากมีคู่จนหมดจะรู้ได้เองว่า ความโสดนี่แหละคือคุณค่าแท้ๆที่เหลืออยู่ ส่วนความรู้สึกสุขของคนมีคู่นี่มันของเก๊ มันคือสุขลวงๆ ที่เอามาหลอกคนโง่ให้ทุกข์ชั่วกัปชั่วกัลป์

– – – – – – – – – – – – – – –

30.3.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

30+ โสดก็ทุกข์ ไม่โสดก็ทุกข์( โลกธรรม )

February 27, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,116 views 0

30+ โสดก็ทุกข์ ไม่โสดก็ทุกข์( โลกธรรม )

เมื่ออายุล่วงเลยเข้าไปถึงสามทศวรรษ สิ่งต่างๆก็เปลี่ยนแปลงไป ทั้งร่างกาย ความคิด โดยเฉพาะเสียงจากสังคม

โดยส่วนมากความเปลี่ยนแปลงของวัยจะมีผลอย่างมากกับผู้หญิงและมีสิ่งที่ทำให้กังวลใจเกิดขึ้นมากมาย ทำให้เกิดความเข้าใจว่า เมื่อเข้าช่วงอายุประมาณ 30 ขึ้นไปจะต้องรีบหารถไฟขบวนสุดท้าย เป็นความเชื่อจากสังคมและโลกที่ปรุงแต่งให้เราคิดและกังวลเกี่ยวกับชีวิต โดยเฉพาะในเรื่องของการมีคู่

ทำให้คนที่อยู่ในช่วงอายุนั้นๆเกิดความทุกข์ ความกังวลใจ จากกระแสสังคมและความเชื่อที่มีโหมกระหน่ำเข้ามาจนทำให้จิตใจสั่นไหว ไม่มั่นคง ไม่เป็นไปตามเหตุและผล แต่เป็นไปตามกิเลส เป็นไปตามโลกธรรม เป็นปลาที่ไหลไปตามน้ำ ในบทความนี้จะมาไขเสียงเรียกร้องของกิเลสที่มักจะได้ยินกันในสังคมของคนในช่วงอายุนี้กัน

1). ทุกข์ของคนโสด

เป็นคนโสดก็มีความทุกข์ในแบบของคนโสด เราเป็นคนโสดมาตั้งแต่แรกกันทั้งนั้น แต่ใครจะเสียความโสดไปในขั้นตอนไหนก็ลองมาศึกษากันเลย

1.1). โสดไม่เป็นสุข

พออายุเข้า 30+ ก็ยังโสดอยู่ คนรู้ใจก็ไม่มี คนที่เข้าตาก็มองไม่เห็น และด้วยความที่ยังโสดแต่ก็ไม่มีความสุข ชีวิตยังเหมือนขาดอะไรไป ยังพร่องอยู่ ไม่รู้สึกว่าเต็มเสียที มองเห็นคนมีคู่ก็คิดไปว่าถ้าเรามีก็คงจะสุข ใครเขาว่ามีคู่ก็มีความสุข มันก็เลยทำให้คนโสดไม่เป็นสุข เพราะไม่เห็นคุณค่าของความโสด ไม่มีปัญญารู้แจ้งในประโยชน์ของความเป็นโสด กลับไปเห็นดีเห็นงามในการมีคู่จึงทำให้โสดอย่างไม่เป็นสุข

โลกธรรมก็จะเข้ามาช่วยเร่งรัด เช่นเพื่อน ครอบครัว คนใกล้ชิด เข้ามาบอกว่าทำไมไม่มีคู่ล่ะ, ไม่มีแฟนสักทีล่ะ, อยู่คนเดียวตอนแก่จะลำบากนะ, เป็นคู่ปฏิบัติธรรมก็ได้นะ เหตุผลร้อยแปดพันเก้ากระหน่ำเข้ามาด้วยคำพูดเสริมกิเลสซ้ำๆย้ำๆ จนคนโสดเริ่มเมาหมัด อยู่ไม่เป็นสุข ถึงแม้ว่าตอนแรกคิดว่าตั้งใจจะโสด แต่สุดท้ายก็อาจจะหวั่นไหวไปตามกิเลสจนต้องแสวงหาก็ได้

1.2). โสดแสวงหา

พอโสดอย่างไม่เป็นสุขและโดนความเชื่อตามที่สังคมเข้าใจกันว่าเมื่อใกล้ถึงวัยนี้ โอกาสลงจากคานช่างยากเต็มที ก็จะเริ่มแสวงหาใครสักคนมาช่วยทำให้ความโสดนั้นหายไป โดยมีตัวเลขที่เรียกว่าอายุเป็นปัจจัยเร่งรัด ทำให้หน้ามืดตามัวแสวงหาคู่อย่างไม่มีสติ ทั้งนี้ทั้งนั้นอายุที่สมควรจะมีคู่นั้นเป็นเพียงสมมุติโลก ในพระไตรปิฎกมีบันทึกไว้ว่า เมื่อถึงกลียุคหญิงสาวจะแต่งงานและมีบุตรได้เมื่ออายุ 5 ขวบ แต่เมื่อผ่านพ้นกลียุคและเจริญไปจนกระทั่งมนุษย์มีอายุ 80,000 ปี หญิงสาวจะแต่งงานก็ต่อเมื่อมีอายุ 500 ปี ทั้งหมดนี้เป็นสมมุติโลกทั้งนั้น และสิ่งที่เราเชื่อกันว่าขบวนสุดท้ายก็เป็นสิ่งที่เราหลงเชื่อกันต่อๆมานั่นเอง เป็นค่าสถิติที่เก็บได้ แต่ใช้ตามความจริงไม่ได้ เพราะเรามีกรรมเป็นของของตน ดังนั้นสถิติจึงไม่มีผลใดๆเลยในวิถีของพุทธ

และเมื่อตั้งหน้าตั้งตาแสวงหาแต่พบว่าหาไม่ได้เสียที หากกิเลสน้อยก็ปลงและจมทุกข์ไป หากกิเลสมากก็จะปรุงแต่งมากขึ้น เสริมสวยมากขึ้น แต่งโป๊มากขึ้น บริหารเสน่ห์มากขึ้น เอาง่ายๆว่ายั่วกิเลสหาเหยื่อนั่นแหละ ก็ใช้การเสริมกิเลสเป็นเหยื่อล่อกิเลสกันไป

โลกธรรมจะเข้ามาเสริมทัพของกิเลสโดยอาจจะมี ครอบครัว เพื่อน เป็นพ่อสื่อแม่สื่อให้ ชักนำคนนั้นคนนี้เข้ามาในชีวิตเพื่อช่วยให้เราได้แสวงหาหรือมีคู่ได้มากขึ้น คนที่อยากมีคู่มากก็จะพ่ายแพ้ต่อพลังของกิเลสไปในที่สุด

1.3). โสดเลือกได้

ทีนี้พอมีคุณสมบัติครบพร้อม รูปงาม เสียงงาม ฐานะ หน้าที่การงาน ฯลฯ เมื่อผ่านพ้นช่วงแสวงหาจนได้เป้าหมายมา อย่างน้อยๆก็จะมีมาให้เลือกหนึ่งคนหรือที่เรียกกันว่าคนที่ดูๆกันไป แต่ในสังคมทุกวันนี้ดูไปถึงร่างกายแล้ว แม้จะมีสัมพันธ์ทางกายกันแต่ก็ยังไม่นับว่าเป็นคู่กันก็มีมาก เป็นความเสื่อมอย่างแท้จริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้

คนที่มีโอกาสเลือกมากก็มักจะคัดเลือกคนตามกิเลสของตน ดังคำตัดพ้อที่นิยมในสมัยนี้ว่า “ชอบคนดี รักคนหล่อ แต่งงานกับคนรวย” สุดท้ายไม่ว่าจะดีแค่ไหน ปัจจัยที่จะมีน้ำหนักในการเลือกนั้นก็คือคนที่สนองกิเลสตนให้ได้มากที่สุด ใครสนองกิเลสของฉันได้มากที่สุด ต้องสนองเท่าที่ฉันต้องการได้ด้วยนะ ก็จะได้สิทธิ์เป็นทาสกิเลสของฉันไปจนตาย โดยไม่มีสิทธิ์เลิก

แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่หลายคนใฝ่ฝันว่าจะได้คนที่เพียบพร้อมมาสนองตนเอง แต่ในชีวิตจริงนั้นมักจะไม่ได้สมใจทั้งหมด คนที่เข้ามาให้เลือกจะพร่องๆขาดๆ คนนั้นดีตรงนั้น คนนี้ดีตรงนี้ คนนั้นรวยแต่เลว คนนั้นดีแต่จน มันก็จะทำให้ชั่งน้ำหนักยาก เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์นักหรอก

ซึ่งเวลาเลือกก็คงจะมีไม่มากสำหรับคนวัย 30+ โลกธรรมจะเข้ามาเป็นตัวเร่ง ถามอยู่นั่น เร่งอยู่นั่น เมื่อไหร่จะเลือก คนนั้นดีนะ คนนี้ดีนะ คนนั้นจนอย่าไปเอาเลย คนนั้นเจ้าชู้แต่รวยเอาเงินไว้ก่อนดีกว่า พอมันไม่ได้มีแค่กิเลสของตัวเราเป็นตัวผลักดันแต่ยังมีกิเลสของญาติมิตรสหายที่กิเลสหนาเป็นตัวร่วม โสดที่เลือกได้ก็เหมือนจะไม่ได้เลือกด้วยเหตุและผลอันเป็นกุศล แต่มักจะเลือกด้วยเหตุที่สามารถสนองผลคือสนองกิเลสของฉันและหมู่คณะของฉันได้

2). ทุกข์ของคนไม่โสด

สุดท้ายแล้วพอโสดแล้วมันอยู่ไม่เป็นสุข มันทุกข์มากก็เลยมีคู่เสียเลย เอามาสนองความอยากเสียเลยจะได้ลดทุกข์ของการไม่มีคู่ลงบ้าง แต่ใครจะรู้ว่าแท้จริงแล้ว ทุกข์มันไม่ได้ลดลงแต่กลับเพิ่มขึ้นและที่สำคัญโลกธรรมก็จะยังอยู่กับเราเช่นเคย

2.1). คบหาดูใจ

เมื่อเราเริ่มคบหาดูใจกัน หรือที่เรียกว่าเป็นแฟนกัน คือคนนี้แหละที่น่าจะเป็นคู่แต่งงานในอนาคต ตอนแรกก็คิดว่าจะคบหาดูใจกันไป แต่ในความจริงมันไม่เป็นแบบนั้น สภาพของแฟนในปัจจุบันแทบไม่ต่างกับคู่แต่งงาน เพียงแค่ไม่ได้จัดงานแต่งงานกันเท่านั้น

กิเลสจะเร่งเร้าให้ทำมากกว่าคบหาดูใจ คือพยายามจะคบหาดูร่างกายกันไปด้วย เมื่อพลาดพลั้งไปจึงเกิดสภาพผูกมัดที่มากกว่าแฟน เพียงแต่ยังเรียกว่าแฟนอยู่ แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งเหล่านี้ก็ยังเป็นแค่เพียงปากทางแห่งนรกเท่านั้น

เมื่อคบหาดูใจกันในวัย 30+ คบกันไม่ทันไรก็จะมีแต่คำถามและคำแซวมากมาย หวานกันจังนะ, เข้ากันดีนะ, ดูเหมาะสมกันดีนะ, เมื่อไหร่จะแต่งงานกัน ฯลฯ เจอใครเขาก็ถามแบบนี้ กลายเป็นโดนโลกธรรมสะกดจิต ตัวเองก็ต้านกิเลสไม่เป็นอยู่แล้ว และโดยมากมักจะเห็นดีเห็นงามกับการแต่งงานเสียด้วย

สุดท้ายเมื่อโดนโลกธรรมรบเร้าจนกิเลสโต อยากแต่งงานขึ้นมาอย่างจริงจัง ก็เลยพยายามคุยกันเรื่องแต่งงานบ่อยๆ หาเหตุที่จะได้แต่งงาน ไม่มีเงินก็ขยันหา ไม่มีเรื่องราวก็พยายามสร้าง สรุปคือพยายามสนองกิเลสจนทั้งคู่พร้อมใจจะแต่งงานนั่นเอง

2.2). แต่งงาน

เมื่อแต่งงานแล้ว ด้วยวัย 30+ เรื่องที่ตามมาก็มักจะเป็นเรื่องของลูก คนจะถามกันว่าจะมีลูกไหม, รีบมีลูกนะเดี๋ยวไม่ทันใช้, มีลูกน่ารักนะ, คิดนานไม่ดีนะ, มีลูกตอนแก่สุขภาพจะไม่อำนวย, มีลูกตอนนี้พ่อแม่ยังช่วยดูแลไหว ฯลฯ โลกธรรมมันจะเข้ามายั่วกิเลสแบบนี้ จริงๆคือมันจะลากลงนรกไปด้วยกันนั่นแหละ

คนที่พอจะต้านทานกระแสโลกได้ก็แต่งงานแต่ไม่มีลูก อยู่กันไปแบบนั้น อย่างดีเลยก็ถือศีล 8 อยู่กันแบบพรหมไป เจริญในธรรมได้แบบมีวิบากกรรมตามมาหลอกหลอนประมาณหนึ่ง แต่ไม่มีทางเป็นสุขและสบายเท่าคนโสด ส่วนคนที่กิเลสหนาก็จะเห็นว่าการแต่งงานนี่แหละดี กิเลสมันบังอยู่แบบนี้มันก็จะเห็นแบบนี้ มันก็ถูกตามแบบของคนเห็นผิดแบบนี้

ส่วนคนที่ต้านทานกระแสโลกไม่ไหว และตัวเองก็อยากมีลูกด้วย สุดท้ายก็พยายามหวังให้มีลูก ที่ว่าหวังเพราะการมีลูกกับไม่มีลูกในปัจจุบันไม่ก็ไม่ได้ต่างอะไรที่กระบวนการนัก เพราะมีการสมสู่กันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่การจะติดลูกนั้นก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง บางคนมีลูกยากก็ทุกข์ บางคนมีลูกง่ายก็ทุกข์ มันก็ทุกข์ไปคนละแบบ

2.3). ครอบครัว

ทีนี้พอมีลูกแล้วองค์ประกอบของครอบครัวก็ครบพร้อมทันที เป็นชีวิตอุดมคติที่หลายคนใฝ่ฝัน เกิดเป็นสภาพที่โดนครอบไว้ออกไปไหนไม่ได้อีกต่อไป เป็นหนี้ เป็นทาส ขาดอิสระ ต้องเอาชีวิต เวลา พลังงาน ทรัพยากรต่างๆมาดูแลเด็กที่เกิดขึ้นมาใหม่คนนี้ ทุกข์ตรงนี้ต้องรับไปเต็มๆ

ส่วนชาวโลกที่มาช่วยเสริมโลกธรรมตั้งแต่แรกเขาไม่มารับทุกข์ด้วยหรอก เขามาเล่นกับเด็กแค่พอสนุกไม่นานเขาก็ไป ส่วนหน้าที่เช็ดขี้เช็ดเยี่ยวดูแลชีวิตเด็กคนนี้ไปอีกจนกว่าเขาจะตายก็อยู่ที่คนสร้างนั่นแหละ หน้าที่ดูแลบุตรมันไม่ได้หยุดแค่เขาทำงานเลี้ยงตัวเองได้นะ แต่มันต้องดูแลเขาไปตลอดโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆและไม่ว่านานเท่าไหร่ เรียกง่ายๆว่าดูแลจนกว่าจะหมดวิบากกรรมที่ตัวเองสร้างมา

แล้ววิบากกรรมมันจะหมดได้อย่างไร ก็เมื่อตัวเองสร้างเด็กคนนั้นมา เด็กคนนั้นก็เป็นผลแห่งกรรมที่เราต้องดูแลนั่นแหละ ก็รับกันไปจนตายกันไปข้างหนึ่งนั่นแหละ บางทีตายแล้วยังไม่จบเลย เกิดมาใหม่ยังต้องมารับกันต่ออีก

….

ดังจะเห็นได้ว่าถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้สึกอยากมีคู่ ไม่มีความอยากมีครอบครัวเป็นส่วนตัว แต่ถ้าเราไม่มีพลังพอที่จะต้านกระแสโลกธรรม เราก็จะหลงไปตามโลก หลงไปตามที่เขาว่าดี ตามที่เขายึดถือ หลงไปตามโลกียะนั่นเอง

แต่คนโดยส่วนมากนั้นมีความอยากมีคู่ อยากมีคนสนองกิเลส อยากมีครอบครัว อยากมีลูกมาเป็นหลักประกันผูกรั้งคู่ของตนไว้กับคำว่าครอบครัว (แม้สุดท้ายจะกลายเป็นบ่วงที่ผูกรั้งตัวเองก็ตาม) เรามักจะมีกิเลสเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อได้รับแรงผลักดันจากกิเลสของสังคมและโลกหรือที่เรียกว่าโลกธรรม ก็มักจะละทิ้งความโสดและความปกติสุขไปโดยลำดับเพื่อแลกมาซึ่งบาป เวร ภัย ภาระ อกุศลกรรม เพียงเพื่อที่จะได้เสพสมใจตามที่โลกเขาเห็นว่าดี ตามที่โลกเขายอมรับ

คนที่อยู่ในวัย 30+ มักจะโดนแรงจากโลกธรรมกระหน่ำแบบนี้ และเมื่อต้านไม่ไหวก็จะเป็นทุกข์ โสดก็ทุกข์ ไม่โสดก็ทุกข์ ต่างจากคนที่โสดอย่างเป็นสุข ที่เป็นสุขเพราะมีสภาพรู้เห็นความจริงตามความเป็นจริงในเรื่องคู่ครอง โลกธรรมที่กระหน่ำเข้ามาไม่ว่าจะมากน้อยหรือรุนแรงซับซ้อนเพียงใดก็ไม่อาจจะทะลุทะลวงกำแพงแห่งปัญญาได้เลย มิหนำซ้ำปัญญาเหล่านั้นแหละจะไปทำลายโลกธรรมจนสิ้นซากไม่เหลือท่าใดๆเลย

ถึงแม้ว่าสิ่งที่จะกดพลังแห่งโลกธรรมไว้ได้คือการใช้อัตตา คือความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน มีความมั่นใจในตัวเองสูง จะสามารถป้องกันภัยของโลกธรรมได้บ้าง ดังที่เห็นได้บ้างว่ามีคนจำนวนหนึ่งสามารถต้านโลกธรรมด้วยความแข็งแกร่งในตน นั่นก็คืออัตตา แต่ก็ยังไม่ใช่จุดที่ดีที่สุดที่จะป้องกันกิเลสได้ เพราะดีกว่านั้นยังมี สุขกว่านั้นยังมี สมบูรณ์กว่านั้นยังมี

เราจึงต้องศึกษาเกี่ยวกับกิเลสให้เข้าใจอย่างรู้แจ้งชัดเจน ถ่องแท้ในกิเลสเรื่องนั้นๆจนสามารถเห็นความจริงตามความเป็นจริง ข้ามพ้นกามและอัตตา ดำเนินอยู่บนทางสายกลางที่ไม่เปื้อนไปในด้านใดด้านหนึ่ง นั่นแหละคือที่สุดของการปฏิบัติ

– – – – – – – – – – – – – – –

26.2.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)