Tag: ความรัก

รักที่พาเจริญ ต้องไม่ทำร้าย

January 7, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 605 views 0

คนที่เขาแสวงหาความรักกันนี่เขาก็คิดว่ามันน่าจะมีความสุข น่าจะช่วยกันพากันเจริญไปทั้งทางโลกทางธรรมนะ

แต่ตัววัดว่ารักที่กำลังจะหาหรือมีอยู่นั้นพาเจริญ ทำให้เป็นสุขได้จริงไหม ตัววัดอย่างหนึ่งคือ “การไม่ทำร้ายกัน

การไม่ทำร้าย ก็มีทั้งมุมร่างกายและจิตใจ

ในมุมการทำร้ายร่างกายเป็นมุมที่หยาบมากของคนที่บอกว่ารักกัน ส่วนมากการทำร้ายร่างกายของคู่รักนั้น ไม่ได้เกิดจากเมตตา เหมือนพ่อแม่ตีลูก ที่ตีลูกไปตัวเองก็เจ็บปวดไป แต่เกิดจากอัตตาที่จะสั่งสอนให้รู้ซะบ้างว่าใครเป็นใครเสียมากกว่า ดังนั้นคนที่ยังทำร้ายร่างกายกันอยู่ ก็เป็นความหยาบที่มาก เป็นคนไม่มีศีล เพราะคนมีศีลจะไม่ทำร้ายร่างกายใคร

การทำร้ายจิตใจเป็นมิติที่ลึกซึ้งขึ้น และมีลำดับของการทำร้ายที่หยาบ ไปจนถึงละเอียด รู้ได้ยาก แบบหยาบ ๆ ก็ทำร้ายร่างกายกระทบจิตใจนั่นแหละ ทั่วไปก็คือการพูดให้เสียใจ มีมารยาหน่อยก็แสดงท่าทีไม่พอใจแต่ไม่พูด โหด ๆ เลยก็คือไม่พูดเลย เป็นการกดดันให้อีกฝ่ายไม่สบายใจ ที่ยกตัวอย่างมานี้คือ ลักษณะของคนที่มีเจตนาจะทำร้ายจิตใจอีกฝ่ายในรูปแบบต่าง ๆ

ส่วนที่ทำร้ายจิตใจโดยไม่ชัดเจนในเจตนา คือการสร้างความหลงให้กับคนอื่น คือจริง ๆ น่ะ มีเจตนา แต่มันคลุมเครือในจิตเพราะความหลงของตัวเอง คือ หลงว่าสิ่งที่ตนเองทำเป็นประโยชน์ แต่จริง ๆ เป็นโทษ ถ้าถามไปเขาจะรู้สึกว่าไม่ได้ตั้งใจทำร้าย แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำเป็นการทำร้าย เช่น การไปชม(เชิงชู้สาว) ไปจีบ เพื่อทำให้เขาหลงไหลในคำเหล่านั้น อันนี้เป็นนัยที่ลึกขึ้น เพราะทำร้ายจิตวิญญาณที่แข็งแกร่ง ให้อ่อนแอลง ให้ยอมมอบกายมอบใจให้ เป็นการทำร้ายที่คนส่วนใหญ่ดูไม่ออก

การทำร้ายจิตใจที่ดูยากที่สุดคือการทำร้ายจิตใจตัวเองด้วยความชอบความชังในความรัก หลงในรักก็ทำให้ตัวเองอ่อนแอ เป็นทุกข์ กระหายอยากเสพ พอไม่ได้ก็เป็นทุกข์ใจ กระวนกระวาย กลัว กังวล ระแวง หวั่นไหว ฯลฯ ส่วนความชังก็สะสมความเกลียดในจิต เกลียดคนที่เข้ามายุ่งวุ่นวายกับคู่ของตน เกลียดคู่ของตนที่ทำไม่ถูกใจ เกลียดที่เขาเปลี่ยนไป ไม่รักเราเหมือนกัน สารพัดความไม่ได้ดั่งใจจะสะสมความชังเพื่อไปทำร้ายตัวเองและคนอื่น

รักที่จะพาเจริญได้นั้น จะต้องไม่เป็นเหตุให้ความสะสมความชอบ และความชัง เพราะความชอบก็คือกามตัณหา ความชังคืออัตตา เป็นนรกทั้งคู่ ถ้ายังชอบยังชังในความรัก ในคู่รัก มันก็ไม่มีทางเจริญไปได้เลย มีแต่จะพาตกต่ำ เศร้าหมอง ทำร้ายกัน ฆ่ากัน

ความรักเป็นเหตุหนึ่งในคนฆ่ากันตายกันเกือบทุกวี่วัน ความรักเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ แต่คนก็ยังดิ้นรนแสวงหา ไขว่คว้า กอดรัดไว้ เหมือนยาพิษที่มีรสหวานที่คนอยากจะลิ้มลองชิม ด้วยความหลงว่าตนจะต้านพิษได้ ตนจะได้เสพแต่รสหวาน พิษนั้นไม่มีภัย รสหวานนั้นคุ้มค่ากับพิษ เป็นต้น

สุดท้ายเขาก็จะทำร้ายตัวเองด้วยความเห็นผิดเหล่านั้นนั่นเอง ดังนั้นการจะบอกว่ารักนั้นพาเจริญ ก็เป็นสภาพที่เหมือนฝันที่ไม่มีวันจะเป็นจริง

จะผาสุกยั่งยืน ถ้าไม่คบอสัตบุรุษ (เรื่องการประพฤติตนเป็นโสด)

January 5, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 629 views 0

อสัตบุรุษ นั้นคือคนที่ทำตรงข้ามกับที่พระพุทธเจ้าสอน ยินดีในทางตรงกันข้าม และชักชวนให้ผู้คนทำในทางตรงกันข้าม

อสัตุบุรุษ ในการประพฤติตนเป็นโสดก็คือ ผู้ที่ตนเองก็ไม่ได้ประพฤติตนเป็นโสด ยังหมกมุ่นในเรื่องคู่ ยังยินดีพอใจที่จะมีคู่ ยินดีเมื่อเห็นคนอื่นมีคู่ และชักชวนให้คนอื่นยินดีพอใจในการมีคู่ พูดถึงแต่ประโยชน์ในการมีคู่

องค์ประกอบเหล่านี้ประยุกต์จากพระไตรปิฎกเล่ม 19 ข้อ 1459 ซึ่งการเว้นขาดจากสิ่งที่เบียดเบียน เป็นองค์ประกอบของสาวก ส่วนการเข้าไปเบียดเบียนนั้น คือองค์ประกอบของคนนอกศาสนา

เรื่องความรักนั้นเป็นเรื่องที่เบียดเบียนตนและผู้อื่นเรื่องหนึ่ง เพราะยังเป็นเหตุให้ตนเองและผู้อื่นเป็นทุกข์อยู่ ยังผิดศีลอยู่ แต่ก็เบากว่าการฆ่าหรือทำร้ายสัตว์ แต่ความรักนี่เอง ก็เป็นเหตุในการฆ่าและทำร้ายกัน ดังที่ได้เห็นข่าวกันมากมายในสังคมปัจจุบัน

คนจะอยู่ผาสุก เป็นโสดได้อย่างยั่งยืน ต้องห่างจากธรรมของอสัตบุรษ ถึงแม้เขาจะเป็นนักเขียน นักพูด เกจิดัง หรือครูบาอาจารย์ที่มีชื่อ แต่อ่านหรือฟังแล้วน้อมใจไปในทางให้ยินดีในการมีคู่ ให้หมกมุ่นในการหาคู่ อันนี้ไม่ใช่ทางแล้ว คนจะมีคู่เราไม่บอกอะไร เดี๋ยวเขาก็ไปมีของเขาอยู่ดี ไม่ต้องไปชี้โพรงให้กระรอก ต้องไปทำแบบนั้น ต้องไปตรวจสอบแบบนี้ เพื่อไปมีคู่หรอก เพราะสุดท้ายจะพยายามคัดกรองยังไง ไปมีความรักมันก็คือการพาไปทุกข์อยู่ดีนั่นแหละ

พระพุทธเจ้าตรัสว่ามิจฉาทิฏฐิไม่เปิดเผย ไม่เผยแพร่จึงจะเจริญ เรื่องพาหาคู่นี่จริง ๆ มันไม่ใช่เรื่องพาพ้นทุกข์ มันเป็นเรื่องพาเพิ่มทุกข์ คนไปศึกษาเขาก็เกิดความอยากมีคู่ มันก็เป็นบาปทั้งตนเองและผู้อื่น มันก็พากันทุกข์

เราจะสามารถสังเกตได้จากหลัก 3 ข้อ คือ 1.ละเว้นจากอธรรมนั้น 2.ไม่ชักชวนคนให้สนใจในอธรรมนั้น 3.กล่าวสรรเสริญคุณของการเว้นจากอธรรมนั้น

1.เราจะประพฤติตนเป็นโสดเนี่ย เราก็ต้องดูก่อนว่าคนที่เราศึกษาเรียนรู้อยู่ เขาเป็นโสดหรือเปล่า อันนี้ประเด็นแรกชัด ๆ เลย ถ้าเขาไม่ได้เป็นโสด เขาจะมาสอนธรรมหมวดนี้ไม่ได้หรอก สอนไปก็เพี้ยน มันจะเบี้ยว ๆ ไปตามความเห็นของเขา เพราะเขายังยินดีในการมีคู่อยู่ ทิศมันก็จะไปทางมีคู่ เช่น มีคู่ไม่ทุกข์ มีคู่ไม่ผิด เป้ามันจะไม่ชัด เขาจะพาเราประพฤติตนเป็นโสดไม่ได้

2. เราก็ดูว่าคนที่เราศึกษาอยู่นี่เขาชักชวนคนไปทางไหน ไปเป็นโสดหรือไปมีคู่ คนที่เขาชวนไปเป็นโสด เขาก็จะชวนอยู่นั่นแหละ จะไม่วกไปวนมา ทิศมันจะชัด ถ้ามันไม่ชัว มันมัว ๆ มันก็มัวไปตามจิตของเขา ถ้าตามภาษาใคร ๆ ก็ต้องพูดว่าอย่าไปมีคู่เลย แต่ต้องดูกันไปยาว ๆ ดังเช่นว่าตอนคนอื่นจะไปแต่งงาน ตอนลูกศิษย์จะไปแต่งงาน เขามีความเห็นยังไง เขาชักชวนให้เป็นโสดได้ไหม หรือไปยินดีที่เขาไปแต่งงาน ต้องดูกันตอนมีเหตุการณ์จริงกระทบ เพราะบางทีการแสดงธรรมมันก็เป็นแค่แนวคิด ที่จำ ๆ มา การชักชวนคนอื่นให้เป็นโสดที่แท้จริง ตัวเองก็ต้องช้กชวนตัวเองให้เป็นโสดด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าสอนแล้วทำเองไม่ได้

3. เขาจะฉลาดในการพูดคุณประโยชน์ของการอยู่เป็นโสด โทษของการไปมีคู่ ปัญญาคือผลของการปฏฺิบัติได้ การแสดงธรรมอย่างแกล้วกล้าอาจหาญทานกระแสโลกเป็นผลของคนที่ข้ามพ้นกิเลสได้ มันจะขัดกับโลกอย่างชัดเจน โลกนี่เขาพากันไปมีคู่ ยินดีในการมีคู่ แต่ศาสนาพุทธไม่ยินดี พอคนขยับขึ้นมาเป็นฐานศีล 8 จะพัฒนาสู่การพรากจากคู่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงระดับที่สูงกว่านั้น แม้โดยฐานต่ำสุดของพุทธยังอนุโลมให้มีคู่ผัวเดียวเมียเดียว แต่ก็ใช่ว่าสาวกที่ตั้งใจปฏฺิบัติจะหยุดแช่อยู่ที่ผัวเดียวเมียเดียว ผู้ปฏิบัติตนสู่ความไม่เสื่อมจะเพิ่มระดับการพรากไปเรื่อย ๆ สุดท้ายก็จะไม่มีสักผัวสักเมียนั่นแหละ

คนไม่พ้นเขาพูดไม่ชัดหรอก ให้เขาเปรียบเทียบประโยชน์ของการอยู่เป็นโสดกับมีคู่ เขาจะไม่ชัด ฟันไม่ขาด มันจะเหมือนดีเหมือนกัน อันนี้มันก็มัว ๆ ไม่แจ่มแจ้ง คิดเอาเดาเอาตามกิเลสมันก็เหมือนกันสิ แต่เหมือนกันแล้วเขาเลือกเป็นโสดไหมล่ะ ดูไปเถอะ ส่วนมากเขาว่าทุกข์เหมือนกันแต่เขาก็ไม่เลือกอยู่เป็นโสดกันหรอก อันนี้คือความจริง พูดก็อย่างหนึ่ง ทำก็อย่างหนึ่ง ก็ต้องดูกันไป

คนที่ไปศรัทธา ไปคบหา ไปศึกษากับคนที่เขาไม่ได้มีธาตุที่จะดำรงความโสดได้อย่างยั่งยืน เขาจะตั้งตนอยู่บนความโสดได้ไม่นาน มันไม่มีธาตุที่จะเอาชนะกิเลส มันมีแต่ธาตุที่แพ้กิเลสมารวมกัน ยิ่งรวมกันมากเท่าไหร่ มันจะยิ่งเพิ่มโอกาสในการแพ้มากเท่านั้น ดีไม่ดีก็หาผัวหาเมียกันในที่ปฏิบัติธรรมนั่นแหละ อันนั้นคือมันไม่มีแรงต้าน

โดยหลักแล้ว จะพ้นทุกข์มันต้องมีแรงของผู้รู้มาต้านจากกิเลสบ้าง ถ้าเราศรัทธาครูบาอาจารย์ มันจะรู้สึกผิดในใจอยู่ แต่สู้ได้ไม่ได้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าไปอยู่ในกลุ่มที่ไม่มีธาตุพาโสด มีแต่ธาตุหมกมุ่นในคู่ครอง ไม่ต้องห่วง พอคิดจะมีคู่ จะมีได้ไวเหมือนขับรถบนทางด่วนชานเมืองตอนเช้ามืดที่ไม่ต้องจ่ายเงินผ่านด่าน มันจะไม่มีแรงต้าน ไม่มีหิริ ไม่มีความยับยั้งชั่งใจเลย อย่างเก่งมันจะมีแค่ตรวจสอบเพื่อเสพ ว่าใช่อย่างที่ใจฉันใคร่อยากไหม แต่มันจะไม่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี เพราะไม่มีศีลเป็นตัวกำหนด

ผมเห็นมาหลายคนแล้ว ที่ดูเหมือนจะท่าดี แต่สุดท้ายก็ไปมีคู่แบบเละเทะผิดกับภาพที่เคยสร้างไว้ เราก็รู้ อ่อ กิเลสมันเก็บกด พอมันได้เสพปุ๊ปมันก็ระเริงกามกันเลย

แล้วเขาจะไม่อาย ไม่สำรวมด้วยนะ เพราะเขาไม่มีหิริ สำนักหรือกลุ่มของเขาไม่มีสอน ถ้าอยู่ในสำนักที่ถูกต้องหรือปฏิบัติเข้ม ๆ ไม่มีหรอก มาอวดคู่น่ะ เขาจะอาย เพราะเขามีหิริ คือความละอายต่อบาป

อันนี้ก็ยกมาเตือนกันไว้ ตามที่พระุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “พึงห้ามจากธรรมของอสัตบุรุษ” เพราะถ้ามาปฏิบัติธรรมแล้วยังไม่เลิกคบคนพาล ไม่เลิกคบอสัตบุรุษ (ผู้ไม่รู้ธรรมแท้จริง) ไม่มีวันพ้นทุกข์หรอก

ก็บอกไว้สำหรับคนที่ฐานถึง ที่พอจะประพฤติตนเป็นโสดได้ มีองค์ประกอบที่จะทำได้ คุณไม่ต้องลงไปเล่นอย่างเขาอีก ให้น้อง ๆ ที่เขาเพิ่งมาปฏิบัติธรรมใหม่ ๆ เล่นไป เราเห็นทุกข์แล้ว เราจะไปวนเวียนจมกับทุกข์อยู่ทำไม เราก็อยู่เป็นโสดไหว เราก็อยู่ไปสิ คนเรานั้นต่างกัน แต่ให้ทำตามทิศทางที่ปฏิบัติแล้วผาสุกกว่า ไอ้แบบที่เขาทำแล้วไม่สุข หรือสุข ๆ ทุกข์ ๆ นี่อย่าไปเอา อย่าไปตามมวลส่วนใหญ่ เพราะส่วนใหญ่เขาไม่ทำแบบนี้ อันนี้ส่วนน้อยแล้ว ต้องสำรวมระวังกันไว้ให้ดี

ที่ได้มาอ่าน ๆ กัน มาพบเจอกันนี่จริง ๆ ส่วนใหญ่ผมว่า น่าจะพอมีกำลังในการประพฤติเป็นโสดทั้งนั้นแหละ ได้มากได้น้อยก็แล้วแต่ความพากเพียร ก็ขึ้นอยู่กับจะก้าวขึ้นหรือจะก้าวลง ชีวิตมันก็มีแค่นี้

เราควรที่จะมีแง่คิดในเรื่องของความรักเป็นอย่างไร?

December 17, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 580 views 0

ถาม : เราควรที่จะมีแง่คิดในเรื่องของความรักเป็นอย่างไร?

ตอบ :  ในศีลข้อ 1 ภาคขยาย ได้กล่าวถึงประโยคที่ว่า มีความเมตตา มีความเกื้อกูล หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย อันนี้คือแง่คิดที่เป็นประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่นมากที่สุด เบียดเบียนน้อยที่สุด ความรักที่มีสภาวะเช่นนี้จะบาง เบา แต่กว้าง และลึกซึ้ง ไม่เหมือนความรักทั่วไป ที่หนัก(ใจ) (กิเลส)หนา แคบ(มักจะเกื้อกูลได้แค่วงแคบ ๆ เช่น คู่ครอง ลูก ฯลฯ) และไม่ลึกซึ้ง (เป็นความรักเสมอสัตว์ทั่วไป ไม่ประเสริฐ ไม่แปลก ไม่พิเศษ เป็นโลกีย์ทั่วไป)

เราไม่ควรที่จะมีความรักระหว่างหญิงชายอย่างนั้นหรือ?

December 17, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 735 views 0

ถาม : เราไม่ควรที่จะมีความรักระหว่างหญิงชายอย่างนั้นหรือ?

ตอบ : มีความรักในสิ่งใด ก็จะต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น ไม่ว่าจะคู่รัก ครอบครัว ประเทศหรือแม้กระทั่งรักในความเชื่อถือของตน ถ้าตอบตามแนวทางของพุทธ สภาพของการหลงรักก็คือสภาพของโมหะ หรือความหลง ในมุมของเป้าหมายในการปฏิบัติถือว่าไม่ควร แต่ในการปฏิบัติจะต้องเป็นไปตามลำดับคือ ค่อย ๆ ละ ความยึดมั่นถือมั่นไปโดยลำดับ เพราะแต่ละคนมีอินทรีย์พละไม่เท่ากัน จึงทำให้เข้าถึงธรรมได้ไม่เสมอกัน คนจะเข้าถึงสภาพที่พ้นจากความหลงรักได้โดยลำดับ ตามที่เขาได้ตั้งใจปฏิบัติ ดังนั้นการละเว้นจากความรักชายหญิงจึงเป็นเป้าหมายที่ควรปฏิบัติ ส่วนใครจะเข้าถึงสภาพที่ละหน่ายคลายได้อย่างผาสุก เป็นอีกประเด็นหนึ่ง