Tag: ครองคู่

รักอย่างไร? รักอย่างสัมมาทิฏฐิ รักอย่างถูกต้องถูกตรง สู่การพ้นทุกข์

November 19, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,119 views 0

รักอย่างไร? รักอย่างสัมมาทิฏฐิ รักอย่างถูกต้องถูกตรง สู่การพ้นทุกข์

ความเห็นในความรักนั้นแตกต่างกันไปตามความเข้าใจของแต่ละคน แต่ในทางพุทธศาสนา ทางที่ถูกต้องนั้นมีทางเดียว มีทิศเดียว ไม่มีทางอื่น ความเห็นที่ถูกต้องถูกตรงก็มีทิศทางเดียว คือเดินไปสู่ความไม่ยึดมั่นถือมั่น ถ้าในเรื่องความรักก็คือไม่ยึดมั่นถือมั่นในเรื่องความรัก ในเรื่องคนคู่ ครอบครัว ญาติ ชุมชน ชาติหรือแม้กระทั่งโลกนี้ ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าเข้าไปยึดไว้เลย

ความเห็นเกี่ยวกับความรักนั้น แต่ละคนก็ว่ากันไปตามที่ตนชอบ ตามที่ตนว่าถูก อันนั้นก็เป็นเรื่องที่แล้วแต่ใครจะเชื่อ แต่ถ้าเราจะศึกษาว่ารักแบบใดเป็นรักที่ถูกต้อง ถูกตรงสู่ทางพ้นทุกข์ เป็นรักที่สัมมาทิฏฐิแล้วล่ะก็ จะยกเนื้อหาสำคัญมาให้ศึกษากัน

จุลศีลกับความรัก

ในหลักจุลศีล ถือเป็นหลักปฏิบัติอย่างละเอียดของชาวพุทธ โดยหลักการแล้วเป็นของนักบวช แต่หลักปฏิบัติในจุลศีลข้อนี้ ก็ได้ปรากฏอยู่ในข้อธรรมหมวดอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งเนื้อหานั้นได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ

“ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางสาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่” ให้สังเกตว่าศีลข้อนี้จะมีอยู่ 2 ส่วนในการปฏิบัติ คือ ไม่ทำ และ ทำ  , ไม่ทำ คือไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น ทำ คือเห็นใจและลงมือช่วยสัตว์อื่น สัตว์นั้นหมายรวมตั้งแต่สัตว์เดรัจฉานไปจนถึงมนุษย์

ความรักในหลักพุทธ ในเชิงแนวคิดหลัก ๆ ภาพรวมก็ประมาณนี้ คือไม่ไปเบียดเบียนเขา แล้วช่วยสิ่งเสริมเขาให้เกิดสิ่งดีที่พาเจริญขึ้น ทีนี้เรามาศึกษากันต่อว่าอะไรคือการเบียดเบียน ความรักแบบไหนคือการเบียดเบียน

ถ้าความรักของพุทธ (รักโลกุตระ) คือการปฏิบัติไปสู่ความเมตตาเกื้อกูล ไม่เบียดเบียนกัน โดยมีหลักคือการลดความโลภ โกรธ หลง สิ่งที่ตรงข้ามกันนั้นก็คือความรักในรูปแบบที่เบียดเบียน (รักโลกียะ) คือ พากันเพิ่มความโลภ โกรธ หลง และ ความรักที่เบียดเบียนที่เห็นได้ชัดและมีมากที่สุดก็คือการจับคู่ของคนอยากมีคู่สองคนมารวมกัน

ความรัก ที่ต้องพากันครองคู่อันนี้หยาบที่สุด ต้องเอาคนมาเสพ มาประทังความอยาก มีการเบียดเบียนสารพัดอย่าง ตั้งแต่การล่อลวงให้หลง ให้ปัญญาอ่อนลงไป ยั่วย้อมมอมเมา ให้กิเลสโตขึ้น ให้เกิดความอยากได้อยากครอบครอง ไปจนถึงต้องเอาอีกฝ่ายมาบำเรอตน ไม่ว่าจะกาม ทรัพย์สิน แรงกาย เวลา ปัญญา ฯลฯ ก็ต้องเอามาเทให้ตน แทนที่จะให้เขาเอาองค์ประกอบในชีวิตที่มีไปทำประโยชน์อื่นที่มากกว่า กลับเห็นแก่ตัว ลวงเขามาไว้ทำเพื่อตน เพื่อสนองกามตน เพื่อสนองอัตตาตนเอง

กามในมิติที่รู้กันโดยกว้างในสังคมก็คือการสมสู่ แต่กามก็ไม่ได้หมายเพียงแค่การสมสู่ เพราะการยินดีในการมองก็เป็นกาม การได้มองทุกวัน ได้เห็นเขายิ้ม ได้เห็นท่าทีลีลาอาการต่าง ๆ แล้วยินดี ก็เป็นกาม การได้ยินเสียงแล้วยินดีก็เป็นกาม ได้ยินเสียงเพราะ ๆ ของเขา แล้วชื่นใจ ก็เป็นกาม การยินดีในกลิ่นของเขาก็เป็นกาม เขาใส่น้ำหอมมาแล้วยินดี ชอบใจ ถูกใจในกลิ่นนั้นก็เป็นกาม การยินดีในการสัมผัสก็เป็นกาม การที่เขามาจับ แตะ ควงแขน สารพัดสัมผัส แล้วยินดี ก็เป็นกาม ถ้าไม่ได้เสพกามตามที่ติด ก็จะเกิดอาการทุกข์ ขุ่นข้องหมองใจ ฯลฯ จะเห็นได้ว่าการมีคู่ก็จะมีความยินดีในกามในหลายอิริยาบถ ซึ่งมันก็ไม่ได้ซ่อนลึกซึ้งอะไรหรอก มันก็เห็นกันอยู่ชัด ๆ นั่นแหละ เพียงแต่คนไม่รู้ว่านี่เป็นกาม

อัตตาเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ลึกลับ ซับซ้อน และถูกปิดบังโดยกิเลส แม้แสดงอยู่ก็ใช่ว่าจะมองเห็นได้ เช่น ความเชื่อ ศักดิ์ศรี อำนาจ(ความสำคัญในตนเองว่ามี) การมีคู่นั้น จะมีอัตตาร่วมด้วยเป็นแรงหลักเสมอ กามเป็นตัวเคลื่อน(ให้เห็นอาการ) อัตตาเป็นแรงส่งอยู่ภายใน

ในมุมของอำนาจ เช่น สำคัญตนว่ามีอำนาจ สำคัญตนว่าใหญ่กว่า เจ๋ง เก๋า แน่ ครอบครองได้ ควบคุมได้ ก็เลยแสดงอาการเช่น พูด กอด จูบ หรือแสดงความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของใด ๆ ที่แสดงถึงความเหนือกว่า ต่อหน้าคนอื่นก็ตามหรือต่อหน้าคู่ก็ตาม เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนมีอำนาจ ตนสามารถควบคุมได้ อันนี้มันก็เป็นอาการของอัตตา ที่แสดงออกด้วยกาม

ในมุมของความเชื่อ เช่น เชื่อว่าชีวิตจะสมบูรณ์ก็ต้องมีครอบครัวที่ดีมีลูก หรือเชื่อว่าฉันจะสามารถมีคู่ครองแล้วพากันเจริญในธรรมได้ เป็นต้น อันนี้เป็นความเชื่อ แต่เป็นความเชื่อที่ไม่พาพ้นทุกข์ เพราะมันตรงข้ามกับที่พระพุทธเจ้าตรัส คือ “คนที่ประพฤติตนเป็นโสดเขาก็รู้กันว่าเป็นบัณฑิต ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเรื่องคู่ย่อมเศร้าหมอง” คือทิศทางมันไม่ไปด้วยกันกับที่พระพุทธเจ้าตรัส

เรามีอิสระที่จะเชื่อและทำอะไรก็ได้ เพียงแต่ว่าสิ่งนั้นมันถูกต้องหรือเปล่า แล้วจะถูกต้องตามหลักของใคร หลักของฉัน หลักของใคร หรือหลักของพระพุทธเจ้า ก็เลือกหลักกันเอาว่าจะปักหลักไหน แล้วก็พิสูจน์ความจริงกันไปว่ามันจะพ้นทุกข์หรือทุกข์จริง เศร้าหมองจริง อย่างที่พระพุทธเจ้าว่ามาหรือไม่

การยึดมั่นถือมั่นคืออัตตา เช่นเมื่อได้รู้แล้วว่ามันไปคนละทางกับทางพ้นทุกข์ ก็ยังจะดื้อ จะรั้น จะลองพิสูจน์ ซึ่งมันก็ไม่แปลก มันเป็นอาการของอัตตาที่เชื่อว่า ข้าแน่ ข้าเก่ง ข้าทำได้ และลึก ๆ ข้าก็คิดว่า แนวคิดของข้าเจ๋งกว่าพระพุทธเจ้าอีกด้วย

ในอัตตาเรื่องคู่นี้มักจะซ่อนกามไว้เสมอ คือจริงๆ ตนน่ะ อยากเสพกาม อยากสมสู่ แต่เอาเป้าอื่นมาล่อไว้ เอามาบังไว้ เอามาลวงไว้ให้ดูโก้ ๆ ดูเท่ ๆ ทำเป็นจะดูแลเขาไปตลอด ทำเป็นอยากแต่งงาน อยากมีครอบครัว ทำเป็นมีอุดมการณ์ แต่จริง ๆ อยากจะสมสู่กับคนที่หวังเท่านั้นแหละ ส่วนอุดมการณ์ หรืออัตตานั้นก็ปั้นขึ้นมาลวงคู่ตรงข้ามเฉย ๆ ดีไม่ดีลวงจิตตัวเองไปด้วย หลงเชื่อไปจริง ๆ ว่าตนอยากมีครอบครัว ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ ตนแค่อยากเสพกาม ดังจะปรากฏผลเป็นการผิดศีลข้อ ๓ ที่เห็นกันโดยทั่วไป เพราะมันเสพแล้วมันไม่พอ มีแฟนคนเดียวมันไม่พอ แต่งงานแล้วมันไม่พอ อุดมการณ์มันกินไม่ได้ มันเสพไม่พอสุข สุดท้ายก็ต้องยอมผิดศีลผิดธรรม ไปตามอุดมกามของตนต่อไป

พรหมวิหารกับความรัก

ธรรมะอีกหมวดที่มักจะถูกยกขึ้นมาเมื่อกล่าวถึงเรื่องความรัก คือพรหมวิหาร ๔  คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

เมตตาคือมีจิตที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลเขา กรุณาคือลงมือช่วยเขา ( คือว่ากรุณา หมายถึงทำให้ ลงมือทำให้ เช่น กรุณาส่ง คือช่วยส่งให้หน่อย หรือกรุณาให้ทาง คือช่วยหลีกทาง เป็นลักษณะที่มีกายกรรมเกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงมโนกรรม ไม่ใช่แค่คิด แต่ต้องลงมือทำด้วย)

สองข้อแรกจะสอดคล้องกับจุลศีล คือมีจิตที่จะช่วยและลงมือกระทำ มุทิตาคือมีจิตยินดี ในสิ่งที่เกิดขึ้น อุเบกขาคือปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น สรุปหลักของพรหมวิหารคือ เห็นใจ คิดที่จะเกื้อกูลและลงมือช่วย ได้ผลอย่างไรก็ยินดีไปตามนั้น และปล่อยวางในท้ายที่สุด แม้สิ่งที่คิดหรือช่วยทำนั้นจะเกิดผลสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ตามที

จะเห็นว่าจริง ๆ แล้วพรหมวิหาร ไม่ได้เกี่ยวกับความรักในเชิงชู้สาวเลย หรือแม้กระทั่งครอบครัว ญาติ สังคม ประเทศชาติก็ไม่ใช่ เพราะมันไม่ได้เล็กแค่นั้น ธรรมหมวดนี้หมายถึงจิตที่เมตตากว้างไกลไม่มีประมาณซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุก ๆ เหตุการณ์ ในชีวิต

สรุปได้ว่า แนวทางความรักของพุทธนั้น ไม่ได้กระจุกอยู่ที่จุดเล็ก ๆ อย่างคู่ครอง คู่รักใด ๆ ดังนั้น ความรักที่ถูกต้องจึงเป็นคำที่ห่างไกลจากความอยากจะไปมีคู่อย่างมาก ไกลลิบ ๆ ไกลสุดลูกหูลูกตา เพราะความรักของพุทธนั้นกระจายออกไปโดยไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่ความรักแบบคู่ครองนั้น กระจุกอยู่โดยยึดมั่นถือมั่นว่า ความเชื่อของฉันคือแบบนี้ ความสุขของฉันคือแบบนี้ เขาคนนี้คือความสุขของฉัน และความถูกต้องของฉันคือแบบนี้

ว่าแล้วก็แยกกันไปตามความเห็น ความเห็นแบบหนึ่งก็ไปแบบหนึ่ง ความเห็นอีกแบบก็ไปอีกแบบ ไม่ต้องเสียเวลามานั่งเถียงหรือทะเลาะอะไรกัน ต่างคนก็ต่างศึกษากันไป คนที่ศึกษาปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าโดยหลักฐานก็จะพบว่ามีความทุกข์น้อย มีความผาสุกมาก ตลอดจนไม่มีทุกข์เลยก็มี ส่วนคนที่เห็นต่างก็ไปทางอื่น จะเรียกชื่อทางว่าอะไรก็แล้วแต่ ทางแห่งรักที่ถูกตรงก็ได้ ทางแห่งรักที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ได้ จะเปลี่ยนปกไปยังไงก็ได้ แต่ถ้าเนื้อในมันเน่า มันพาหลง มันเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น มันก็จะต้องเป็นทุกข์อยู่อย่างนั้นไปตลอดกาล

18.11.2562

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ไตรลักษณ์กับการครองคู่

October 29, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,055 views 0

ไตรลักษณ์กับการครองคู่

ไตรลักษณ์กับการครองคู่

ไตรลักษณ์ คือสามัญลักษณะของสิ่งต่างๆ หมายถึงสิ่งเหล่านั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน การเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในลักษณะสามอย่างนี้จะทำให้เราพ้นทุกข์ ในบทความนี้ก็จะนำมาประยุกต์กับเรื่องการครองคู่กัน

ไตรลักษณ์นั้นเป็นสิ่งที่รู้ ท่อง จำกันได้โดยทั่วไป แต่การจะเข้าใจจนกระทั่งเข้าถึงธรรมนั้นจริงๆไม่ใช่เรื่องง่าย แม้เราจะท่องได้ เข้าใจได้ แต่เข้าไม่ถึงธรรมนั้น ไม่รู้แจ้งรู้จริงความเป็นธรรมดาของสิ่งเหล่านั้น ก็ไม่มีวันที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ไปได้

ไม่เที่ยง (อนิจจัง): สิ่งใดๆล้วนไม่เที่ยง การครองคู่ก็เช่นกัน แม้มันจะเห็นเป็นสภาพคู่ แต่มันก็สามารถแปรเป็นอื่นได้ทุกขณะ วิบากกรรมคืออจินไตย เราไม่สามารถคาดเดา หรือคิดคำนวณได้ว่าสิ่งใดจะเกิดกับเราเมื่อไหร่และอย่างไร นั่นหมายถึงกรรมดีที่พยายามทำลงไปแม้มันจะเป็นสิ่งที่ดีที่ควร แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตคู่มีความเที่ยงแท้ได้เลย มันมีการแปรเปลี่ยนอยู่เสมอ เกิดขึ้นแล้วก็หายไป เหมือนฟองคลื่น เหมือนพยับแดด ดังนั้นคนที่เข้าใจความจริงในข้อนี้จะไม่ยินดีเข้าไปครองคู่ เพราะไม่รู้จะเข้าไปยึดเอาสิ่งที่ไม่เที่ยงไปทำไมให้เสียเวลา

เป็นทุกข์ (ทุกขัง) : สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีแต่ทุกข์ ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป การครองคู่ก็เช่นกัน แท้จริงแล้วในการคู่กันนั้นมีแต่ทุกข์ล้วนๆ พากันสร้างบาป เวรภัย เป็นบ่วงของกันและกัน ไม่มีความสุขอยู่ในนั้นเลยแม้แต่นิดเดียว คนที่ยังมองเห็นว่ามีสุขด้วยทุกข์ด้วย คือคนที่ยังไม่ชัดเจนในธรรม ยังเห็นอธรรมว่าเป็นธรรมอยู่ เหตุเพราะมีอุปาทานยึดมั่นและเข้าใจไปเองว่าสิ่งนั้นเป็นสุข ซึ่งในความจริงแล้วมันมีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ดังนั้นคนที่เข้าใจในลักษณะข้อนี้ จะไม่ยินดีเข้าไปครองคู่ เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่ามีแต่ทุกข์ เหมือนรู้ว่าเขาจะเอายาพิษมาให้ กินแล้วทุกข์ทรมาน กินแล้วตาย ต่อให้มีรสหวานยังไงก็จะไม่กิน

ไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา): สิ่งทั้งหลายล้วนไม่มีตัวตน การครองคู่ก็เช่นกัน ความเห็นผิดของเรานั้นจะสร้างตัวตน(อัตตา) ขึ้นมาเอง ปั้นภาพปั้นภพขึ้นมาหลอกตัวเองและหลอกคนอื่นซ้ำแล้วซ้ำเล่า สร้างสิ่งที่ไม่มีตัวตนแล้วหลงกันไปว่าเป็นตัวตน เป็นสิ่งที่น่าใคร่น่าเสพ ควรมี เป็นศักดิ์ศรี เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดาของมนุษย์ การครองคู่นั้นแท้จริงแล้วไม่ได้ประเสริฐอะไรเลย เพราะการครองคู่มีมาตั้งแต่สมัยยังเป็นสัตว์เดรัจฉานตั้งแต่หนอน แมลง จนถึงสัตว์ใหญ่ๆ แต่การไม่ครองคู่ต่างหากที่เป็นสิ่งประเสริฐ สิ่งที่เหนือธรรมชาติ สิ่งที่ทำได้ยาก สิ่งที่ไม่อยู่ในวิสัยของโลก ซึ่งคนที่หลงว่าการครองคู่เป็นอัตตาจะไม่สามารถสลัดความหลงที่มีในตนได้ เพราะหลอกจิตตัวเองมาแล้วไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ หลงกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า เสพแล้วก็มัวเมา สั่งสมอุปาทาน เกิดเป็นภพ ชาติ สืบไป ดังนั้นผู้ที่เข้าใจลักษณะของอนัตตาจะไม่เข้าไปครองคู่ เพราะไม่เห็นว่ามันจะเป็นสาระใดๆที่สำคัญในชีวิตที่จะดำเนินไปสู่การพ้นทุกข์นี้เลย

. . . สรุปแล้ว คนที่เข้าใจแจ่มแจ้งในไตรลักษณ์นั้นจะหมดสิ้นความไม่แน่นอน จะมีแต่ความเห็นที่แน่นอน ไม่ใช่คนกำกวม เช่นว่า“ไม่มีคู่ก็ดี มีคู่ก็ได้ ,ยังไงก็ได้, แล้วแต่กรรมลิขิต, ฯลฯ

จะเหลือแค่คำตอบเดียว คือถ้ามีปัญญารู้ว่าสิ่งนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนแล้วนั้นก็ไม่รู้ว่าจะเข้าไปครอบครองให้มันลำบากทำไม ส่วนจะต้องไปครองคู่เพราะสังคมบังคับ เช่นถูก คลุมถุงชน หรือโดนบีบคั้นด้วยตำแหน่งหน้าที่ หรืออยู่ในภาวะจำยอมต่างๆนั้นก็เป็นอีกเรื่อง

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

 

เจ็บแล้วไม่จำ

January 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,523 views 0

เจ็บแล้วไม่จำ

เจ็บแล้วไม่จำ

…แม้จะไม่สมหวังในความรัก แต่ก็ยังจะพยายามเพื่อให้ได้รักมา

ผู้คนมากมายต่างแสวงหาความรัก โหยหาคนรัก คนดูแล คนเอาใจ คนที่จะมาครองคู่ คนที่จะมาอยู่ร่วมกัน แม้ว่าเส้นทางนั้นจะเต็มไปด้วยความยากลำบาก ต้องทนทุกข์ทรมานเพื่อให้ได้มา แต่ทำไมพวกเขาถึงยังไม่ท้อ ไม่หมดหวัง ไม่เคยเลิกล้มความตั้งใจเหล่านั้นเลย

…แรงผลักดันจากกิเลส

สิ่งที่ผลักดันให้เราพยายามเพื่อที่จะให้ได้มานั้นก็คือ “กิเลส” เจ้ากิเลสนี้เองที่เป็นตัวสร้างกำลังผลักดันให้กับเรา โดยเผาพลาญกำลัง สติ ปัญญา ของเราไปเพื่อใช้กับเรื่องเหล่านี้

คนที่หลงแสวงหาความรักจะสูญเสียศักยภาพไปส่วนหนึ่ง เพราะต้องเอากำลังความคิดและเวลาไปเสียให้กับการคิดในเรื่องของความรัก ยิ่งคิดก็ยิ่งอยากได้ ยิ่งคิดก็ยิ่งเป็นทุกข์ แต่ก็ไม่สามารถที่จะเลิกคิดได้ เพราะมันมีความอยากมีความต้องการ ที่มันต้องการมากขนาดนั้นเพราะมันหลงว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสุข

กิเลสนี้เองทำให้เราคิด ทำให้เราพูด ทำให้เราเดินไปหาความรัก เหมือนกับตุ๊กตาหุ่นเชิดที่ถูกจูงให้ทำตามกิเลส ไม่มีโอกาสได้คิดและทำด้วยตัวเอง มีแต่ต้องทำตามคำสั่งของกิเลสเท่านั้น

…ความรัก(กิเลส) อันยิ่งใหญ่

เรามักจะได้เห็นภาพความรักที่ดูเหมือนจะยิ่งใหญ่ ทุ่มเท เสียสละ อดทดเพื่อที่จะได้มาซึ่งความรัก ยอมรอคอย ดูแล เอาใจใส่ รักใคร่ เกื้อกูล ประคบประหงม เลี้ยงดู ฯลฯ สิ่งที่ดูเหมือนจะวิเศษและน่าประทับใจในทางโลกเหล่านี้ จริงๆก็เกิดมาจากความยิ่งใหญ่ของกิเลส กิเลสนั้นทำให้ดูเหมือนว่าเรามีความรักที่ยิ่งใหญ่

แต่ความเป็นจริงมันคือความอยากที่ยิ่งใหญ่ ความกระสันอยากได้อยากเสพ ต้องการมาครอบครองด้วยความรู้สึกอันแกร่งกล้าและรุนแรงทำให้คนสามารถทำอะไรที่ดูพิเศษพิสดารได้อย่างไม่น่าเชื่อ สิ่งที่แสดงนั้นเป็นเพียงละครที่กิเลสสั่งให้เล่นเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตัวเองต้องการและใคร่อยากเสพ แม้ว่าจะเล่นบทเหล่านั้นได้ดีแค่ไหน ซาบชึ้งประทับใจเรียกน้ำตาผู้ชมแค่ไหน สุดท้ายก็เป็นเพียงแค่บทที่กิเลสได้เขียนไว้เท่านั้นเอง

ความรักแท้จริงนั้นไม่ได้หวือหวา ไม่ได้พิเศษ ไม่ได้แสดงความยิ่งใหญ่ด้วยสัญลักษณ์ใดๆ แต่เป็นความเบาสบาย เรียบง่าย ผ่อนคลาย ยิ่งใหญ่เพียงแค่ในนามธรรมและไม่แสดงออกเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนนัก

….ความอิจฉา

ภาพของคนที่รักกันเป็นคู่รักกัน พลอดรักกันมีกิจกรรมต่างๆร่วมกัน มีลูกด้วยกันนั้น เป็นสิ่งที่เพิ่มพลังให้กับความอยากได้อยากมี

คนที่ยังไม่มีก็เกิดอาการอิจฉาริษยา อยากได้อยากมีแบบเขาบ้าง หลงคิดไปว่าถ้าได้แบบเขาแล้วเราจะมีความสุข นั่นเราโดนเขาหลอกแล้ว เขาก็แสดงให้เราเห็นเฉพาะตอนเขามีความสุขนั่นแหละ ตอนเขาทุกข์เขาไม่ประกาศหรอก คนที่บูชาความรักนั้นจะไม่พูดข้อเสียของการมีคู่รักเลย เขาจะส่งเสริมให้คนมีคู่ ให้คนมีลูก เพราะเขาหลงสุขในความรักนั้น

แต่คนที่ขยาดในความรักจะทำตรงกันข้าม คือประณามความรัก รังเกียจความรัก ซึ่งตรงนี้คนที่เขาอยากมีความรักก็จะไม่ค่อยได้สนใจเท่าไหร่ เพราะคนเรามักจะเลือกสนใจตามสิ่งที่กิเลสผลักดันให้สนใจ ถึงแม้ว่าจะมีคนมาบอกว่าความรักทุกข์อย่างนั้นอย่างนี้ แต่คนที่หลงไปกับความรักก็จะไม่รับสารเหล่านี้

ในทางกลับกันก็จะมุ่งไปในทางที่กิเลสต้องการ คือการใฝ่หาคู่รัก เพราะตนเห็นว่าคนรอบข้างและหลายคนในสังคมนั้นดูมีความสุข ไม่ว่าจะมีคนชี้ให้เห็นความจริงที่เกิดขึ้นในอีกมุมหนึ่งของความรักขนาดไหน แต่พวกเขาก็ยังคงยินดีที่จะศรัทธาและอิจฉาในความสุขลวงของความรักเหล่านั้น

…รักได้แต่หยุดรักไม่เป็น

อาการเจ็บแล้วไม่จำนั้นเกิดจากเราไม่สามารถปล่อยวางความอยากได้ เหมือนกับคนที่สามารถรักได้ แต่หยุดความรักไม่เป็น

การที่เราจะหลงใหลในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หลงแบบหัวปักหัวปำ ทุ่มเทถวายชีวิต เทิดทูนบูชารักนั้นเป็นเรื่องง่าย แทบไม่ต้องใช้สมองเลย แค่ปล่อยให้กิเลสนำพาก็สามารถทำได้ แต่เรื่องของการหยุดหรือการปล่อยวางซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับกิเลสย่อมทำได้ยาก เพราะกิเลสนี่เองจะพาเราไปเสพสุข แม้ว่าข้างหน้าจะเป็นกำแพงมันก็จะผลักเรากระแทกกำแพงนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เหมือนกับเรามีกำแพงกุศล กำแพงศีลธรรม มากั้นไว้เพื่อไม่ให้เราไปทำบาป ไม่ให้เราสะสมกิเลส แต่กิเลสก็จะพาเราไปทำลายกำแพงเหล่านั้นจนสิ้นซาก ใช้ความอยากมาหลอกล่อความสนใจไม่ให้เรารู้สึกเจ็บปวด บังไม่ให้เราเห็นความจริง ให้เราหมกมุ่นกับความรัก ให้เราเดินหน้าลุยต่อไปแม้ปลายทางจะเป็นเหวนรกที่ไร้ที่สิ้นสุด ใช้สุขลวงมาล่อให้เราทุกข์จริงไปชั่วกัปชั่วกัลป์

เมื่อหยุดรักไม่เป็นมันก็จะกลายเป็นคนที่โหยหาความรัก แม้ไม่สำเร็จกับคนหนึ่งก็จะไปเริ่มใหม่กับอีกคนหนึ่ง หรือหลายคนพร้อมกัน เกิดเป็นอาการที่เรียกว่า “คนเจ้าชู้” เพราะมีความโลภ อยากได้หลายๆอย่างมาครอบครองในเวลาเดียวกัน เพราะหยุดเสพไม่ได้จึงต้องพยายามสะสมเพื่อหามาเสพ เป็นเหมือนรถที่ไม่มีเบรกขับตรงไปบนถนนแห่งหายนะโดยที่ไม่สามารถถอนคันเร่งได้

กิเลสมันก็ผลักดันเราอยู่แบบนี้ โดยใช้คำที่สวยหรูว่าในนามแห่งความรัก ฉันจะยินดีเฝ้าตามจีบ เฝ้าตามง้อและเอาใจ อดทน รอคอย จนกว่าที่ฉันจะได้เธอมาเสพสมใจ ถึงแม้จะไม่ได้ ฉันก็จะพยายามต่อไปเพราะฉันมีรักแท้ (กิเลสแท้ๆ)

…อยากได้สิ่งที่ไม่มีวันได้

ความอยากนั้นยังไม่ได้หมายถึงเฉพาะคนรักเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการจะเอาสิ่งที่รักด้วย เช่นเราไปชอบดารา นักแสดง คนมีชื่อเสียง เราก็ติดตามเขา พอชีวิตเขาไปเจอเหตุการณ์นั้นเหตุการณ์นี้เราก็มีอารมณ์ร่วมไปกับเขา ไปอยากดูรูปเขา อยากฝันถึงเขา อยากให้เขาได้เจอสิ่งดีๆ คอยเสพความเป็นเขาอยู่ห่างๆเอาเขามาเป็นอัตตา เป็นตัวตนของเรา เป็นสุขเป็นทุกข์ของเรา

ทีนี้มันจะมีเหตุการณ์ที่ไม่ถูกใจเรา เราก็จะเริ่มขุ่นใจ ไม่พอใจ เพราะไม่สมดังใจเรา เราเริ่มจะอยากได้ในสิ่งที่ไม่มีวันได้ แม้มันจะไม่เกี่ยวข้องกับเราก็ตาม เป็นเหมือนกับหมามองเครื่องบิน เมื่ออยากได้แต่ไม่มีวันได้นี่มันก็จะต้องทนทุกข์กับความอยาก ความไม่พอใจ ความไม่สมใจอยู่เรื่อยไป

…ความเพียรที่พาให้หลงผิด

ความเพียรพยายามเพื่อให้ได้มาซึ่งความรักนี้แม้ในทางโลกเขาจะชื่นชมความพยายาม ดังที่หลายคนได้ประกาศในงานแต่งงาน เช่นตามจีบมา 10 ปี รอคอยมาหลายปี เอาใจมาหลายปี พิสูจน์รักกันมาหลายปี ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ถ้าได้ยินได้ฟังดูแล้วอาจจะรู้สึกน่าประทับใจ ดูมีความมั่นคงในความพยายาม

แต่ความพยายามทั้งหมดนั้นเป็นความพยายามที่ผิดทาง เป็นมิจฉาวายามะ เป็นความเพียรที่ไม่พาพ้นทุกข์ เพียรหาเรื่องใส่ตัว เป็นโสดก็ดีอยู่แล้ว ยังไปหาใครเข้ามาเสพให้เป็นภาระของชีวิต เพียรแบบนี้มันจะพาลงนรก พาให้เป็นทุกข์ทรมาน

ความเพียรที่ผิดนั้นเกิดจากอะไร? ความผิดเหล่านั้นเริ่มเกิดจากความเห็นความเข้าใจที่ผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิ เมื่อมีความเห็นผิดก็จึงมีความเพียรที่ผิดตามไปด้วย ก็เลยตั้งหางเสือมุ่งตรงไปทางทิศของนรกอย่างเพียรพยายามไม่ลดละ สุดท้ายจึงถึงนรก(ความเดือดเนื้อร้อนใจ) ได้ทุกข์ ได้ภาระ ได้กิเลสมาครอบครอง

เมื่อเราเพียรด้วยความหลงผิดจนได้คู่มาครอบครอง จะพบว่านอกจากจะต้องสนองกิเลสของตัวเองแล้วยังต้องสนองกิเลสของคู่อีก พอเราเริ่มจะใช้ร่างกายและจิตใจของคู่ครองสนองตัณหาความใคร่อยากใดๆจนเบื่อแล้วเราก็เริ่มจะเห็นนรก เริ่มเห็นเป็นภาระ แต่ในระยะที่ได้มาเสพเราจะไม่เพียรแล้ว เหมือนเรือที่ทอดสมออยู่กลางนรกมันก็จมอยู่ในนรกกันทั้งคู่นั่นเอง

เพราะต้องคอยสนองกิเลสของตัวเองและคู่ แค่กิเลสตัวเองก็แทบจะไม่ไหวอยู่แล้ว ยังต้องมาบำรุงบำเรอกิเลสของคู่อีก ไหนจะมีพ่อตาแม่ยาย ญาติโกโหติกาอะไรต่อมิอะไรเข้ามาเสริมกิเลสกันอีก ดีไม่ดีมีลูกเพิ่มขึ้นมา ต้องสนองกิเลสลูกอีก ตอนเด็กๆมันก็น่ารักดีอยู่หรอก แต่พอเริ่มโตแล้วก็เริ่มจะอยากได้อยากมี เราก็ต้องมารับผิดชอบสนองกิเลสของลูกด้วย

นี่เห็นไหม คนเราเพียรพยายามเพื่อให้ได้ทุกข์มาครอบครอง เป็นความเพียรที่ผิด ความเพียรที่เกิดจากความหลง เป็นความเพียรที่โดนกิเลสลากไปตั้งแต่แรก มันเลยเพี้ยนแบบนี้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนอีกมากมายหลายพันล้านที่มีความเพียรขยันทำทุกข์เพราะเห็นว่าทุกข์เหล่านั้นเป็นสุข เหมือนเห็นกงจักรเป็นดอกบัว

แต่ก็ช่างเถอะนะสุดท้ายทุกคนก็ต้องเรียนรู้ที่สุดแห่งทุกข์ ผู้ที่หลุดจากขุมนรกทุกคนไม่มีใครไม่เคยพลาด ไม่มีใครไม่เคยผิด ไม่มีใครไม่เคยพาตัวเองให้ทุกข์ สุดท้ายเมื่อทำผิดจนทุกข์เกินจะทน เจ็บปวดทรมานจากความทุกข์ คนก็จะเลิกทำสิ่งที่ผิดแล้วหันมาทำสิ่งที่ถูกเอง ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม

– – – – – – – – – – – – – – –

26.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์