Tag: การล้างกิเลส

แก้กรรม ทำได้จริงหรือ?

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,219 views 0

แก้กรรม ทำได้จริงหรือ?

แก้กรรม ทำได้จริงหรือ?

ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน แนวคิดในการแก้กรรมหรือการแก้ไขสิ่งที่ทำผิดพลาดโดยใช้ไสยศาสตร์ เวทมนต์ หรือพิธีกรรมที่ชวนให้ฉงนสงสัยในเหตุและผลต่างๆก็มีให้เห็นอยู่เสมอ เป็นความเห็นผิดที่จะอยู่คู่โลกตราบโลกแตก ไม่มีวันจะหมดไปและไม่มีวันจะเลือนหายไป

การที่พิธีกรรมเหล่านี้ยังคงอยู่นั่นเป็นเพราะ มนุษย์บางพวกไม่ได้เข้าใจในเรื่องกรรมและไม่มีปัญญาพอจะแยกแยะสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือสิ่งที่เป็นโทษได้ จึงหมายเอาเรื่องที่เข้าใจได้ง่าย ไม่ต้องคิด เพียงแค่ใช้ศรัทธาก็สามารถพ้นทุกข์ได้มาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ หรือให้เรียกง่ายๆว่าอยากพ้นทุกข์แต่มักง่ายนั่นเอง

ความมักง่ายหรือความขี้เกียจแสวงหาทางพ้นทุกข์หรือไม่ยอมเรียนรู้เรื่องทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ และวิธีปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์นั้นก็นับว่าเป็นความขี้เกียจ ซึ่งความขี้เกียจนี้เองก็เป็นหนึ่งในลักษณะของอบายมุข เมื่อหลงติดในอบายมุขก็เท่ากับเวียนว่ายวนไปมาอยู่ในนรก ดังนั้นการจะจมอยู่ในวิธีแก้กรรมอย่างไสยศาสตร์ เวทมนต์ หรือพิธีกรรมต่างๆที่เป็นไปในแนวทางของเดรัจฉานวิชาจึงเป็นเรื่องที่จะคงอยู่ตราบชั่วนิรันดร์

…เดรัจฉานวิชา

การแก้กรรมที่อวดอ้างในสรรพคุณ ต่างๆ โดยใช้วิธีทางไสยศาสตร์ เช่น น้ำมนต์ สักยันต์ สวดมนต์แก้กรรม ร่ายมนต์ พิธีแก้บน ทำนายฝัน ดูดวง ดูดาว ดูฤกษ์ ดูโหงวเฮ้ง ดูฮวงจุ้ย ทำนายทายทักให้ไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ซึ่งเป็นกิจกรรมที่พาให้หลงมัวเมาในเดรัจฉานวิชา (ดูเพิ่มเติมได้จาก “มหาศีล”)

เดรัจฉานวิชา คือวิชาที่ทำให้เกิดความโง่ เกิดความมัวเมาหลงผิด เป็นวิชาที่สร้างจากความโง่เพื่อใช้กับคนโง่อีกที คือการแก้กรรมที่เป็นมิจฉาทิฏฐิเต็มตัว ไม่มีทางพ้นทุกข์ และไม่มีทางที่กรรมจะถูกแก้ไปได้

แต่บางครั้งเราอาจจะเห็นว่ามีผลสำเร็จในบางคน นั่นเป็นเพราะสิ่งที่เรียกว่ามโนมยอัตตา คือการที่จิตปรุงแต่งบางสิ่งให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเอง เหมือนกับการสะกดจิต สภาพอาการนั้นเป็นได้ทั้งนามธรรมและรูปธรรม ในนามธรรมเช่นสามารถหายป่วยจากโรคเองได้ ซึ่งเป็นเพราะเราไปสั่งจิตให้หายโรคและโรคเหล่านั้นมักจะเป็นโรคทางจิต เช่น ซึมเศร้า ส่วนโรคทางกายภาพนั้นแค่พลังของจิตคงจะทำให้หายทันทีได้ยาก แต่การที่จิตปั้นปรุงแต่งความแข็งแรงก็มีผลเช่นกัน ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องของจิตวิญญาณทั่วไป เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปซึ่งการทดลองทางวิทยาศาสตร์ก็มีผลในเรื่องนี้อยู่ไม่ต้องใช้ไสยศาสตร์ก็สามารถเห็นผลนี้ได้

ในทางรูปธรรม มโนมยอัตตายังสามารถสร้างให้เราเห็นภาพ ได้ยินเสียง ได้กลิ่น เช่นเห็นผี เห็นเทวดา เห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นภาพพระพุทธรูป หรือจนกระทั่งทำให้ร่างกายปรุงแต่งท่าทางออกมาเป็นสภาพที่เรียกว่าของขึ้น บังคับตัวเองไม่ได้ ร้องไห้ ร่ายรำ เต้นแร้งเต้นกา เหล่านี้คือสภาพของมโนมยอัตตาที่รุนแรงจนปั้นจิตให้เป็นรูปร่างท่าทางได้ สภาพเหล่านี้คือสภาพที่ไร้สติทั้งสิ้น

การสังเกตวิธีที่ผิดไปจากพุทธหรือหันหัวไปในทิศตรงข้ามสู่การพ้นทุกข์ คือดูว่าสำนักหรือลัทธินั้นทำเพื่ออะไร ถ้าทำเพื่อสะสมบริวาร เพื่อล่อลวงคนเป็นอันมาก เพื่อลาภ เพื่อความมั่งคั่ง เพื่อยศ เพื่อสรรเสริญ เพื่อบารมี เพื่อให้มีคนมีบำรุงบำเรอตนเอง ลักษณะที่เป็นไปเพื่อเพิ่มกิเลสตนเองและผู้อื่นเหล่านี้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการพราก เพื่อการไม่มี เพื่อความไม่สะสม เพื่อความมักน้อยกล้าจน เพื่อการลดกิเลสแล้วก็ให้พึงพิจารณาไว้ว่าวิธีเหล่านี้ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์

ทั้งนี้เดรัจฉานวิชาเองก็เป็นวิชาที่ผิดสัมมาอาชีวะอยู่แล้ว เพราะผิดในข้อที่ว่าด้วยการล่อลวงอย่างเต็มๆ หลอกลวงเต็มๆ แถมยังทำให้คนไม่เชื่อในเรื่องกรรมอีก ผิดจากทางพุทธไปไกล ไม่พาให้พ้นทุกข์ แถมยังสร้างสุขลวงและทิ้งทุกข์จริงๆไว้อีก

…เรามีกรรมเป็นของของตน

หลักใหญ่ในเรื่องกรรมข้อแรกว่าด้วย เรามีกรรมเป็นของของตน นั้นหมายถึงกรรมของเรา ใครมายุ่งไม่ได้ คนที่จะไปแก้กรรมให้คนอื่นนั้นเป็นไปไม่ได้ การที่เราจะไปยุ่งกับกรรมของคนอื่นโดยใช้พลังจิต อำนาจต่างๆ หรือไสยศาสตร์ต่างๆนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะกรรมเป็นของใครของมัน การที่จะเกิดผลดีผลร้ายก็เพราะกรรมของเขา ไม่ใช่ว่าเราไปสวดมนต์อ้อนวอนแล้วกรรมของเขาจะเปลี่ยนไปได้ ต่อให้มีคนเป็นล้านมานั่งสวดมนต์ขอพรให้คนคนหนึ่งหายป่วยก็ไม่มีวันที่เขาจะหายป่วยจากการสวดมนต์ของคนล้านคนได้ แต่เพราะเขาเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเขาเองกรรมเขาจึงเปลี่ยน

การที่เราไปรู้กรรมคนอื่น ไปเห็นกรรมของคนอื่นดังที่เจ้าสำนักหลายๆที่อวดอ้างนั้นบางทีก็เป็นมโนมยอัตตา คือจิตปั้นแต่งขึ้นมาเอง มโนไปเอง ส่วนจะถูกต้องหรือไม่ก็ตามบาปกรรมที่ทำไว้ร่วมกัน ถ้ามีวิบากบาปมากก็จะดลให้หลงไปในสิ่งผิดร่วมกัน ถ้าคนมีบุญก็จะทำให้ทายไม่ถูก ไม่ตรง ผิดเพี้ยน ทำให้คนนั้นไม่หลงมัวเมาในสิ่งผิด

ทั้งนี้การเดาใจ หรือการทายใจยังเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าห้ามมิให้สาวกกระทำ แม้จะเป็นพลังอิทธิปาฏิหาริย์หรืออาเทสนาปาฏิหาริย์ที่มีจริงในตน เห็นจริง รู้จริง แต่ก็ห้ามไม่ให้ใช้ เพราะการเดาใจหรือทายใจนั้นเอง หรือการกระทำใดๆโดยใช้อิทธิปาฏิหาริย์ จะทำให้คนไม่สนใจเชื่อในเรื่องกรรม ไม่เข้าใจเรื่องกรรม จะหลงไปเชื่อในบุคคลที่ใช้พลังเหล่านี้แทน ซึ่งไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าจึงไม่สรรเสริญการกระทำเช่นนี้

…กรรมตามทัน

เรื่องกรรมนี่จริงๆเราไม่ต้องกลัวหรอก กรรมไม่ใช่เรื่องเลวร้ายแต่เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจว่า ไม่ว่าสิ่งดีหรือสิ่งร้ายที่เราทำเราจะต้องได้รับผลของกรรมนั้นอย่างแน่นอน เมื่อรู้และเข้าใจดังนี้แล้วก็ไม่ต้องกลัวกรรมตามทัน เพราะโดนแน่นอน ยังไงก็หนีไม่พ้น

ถ้าทำกรรมดีมากก็ได้รับดีมาก ถ้าทำกรรมชั่วมากก็ได้รับชั่วมาก ก็เป็นเหตุเป็นผลที่ยุติธรรมดีอยู่แล้วที่เราจะได้รับสิ่งดีหรือสิ่งชั่วเท่าที่เราทำมา เราไม่มีทางรับดีหรือชั่วได้มากกว่าที่เราทำมา สิ่งที่เราได้รับแม้จะดูเหมือนว่าเราไม่ได้ทำมา แต่นั่นคือผลงานที่เราทำมาเอง สิ่งที่เกิดขึ้นคือภาพสะท้อนจากความดีความชั่วที่เราเคยทำมา

เช่นเราไปซื้ออาหารแล้วมีคนมาแซงคิว เราก็ไม่พอใจ โกรธ โมโห แท้จริงเราก็โมโหความชั่วที่ตัวเองเคยทำมานั่นแหละ แค่ตัวเองได้รับผลกรรมชั่วที่ตนเคยทำมาก็ไม่เป็นมีอะไร คนที่ไม่เข้าใจเรื่องกรรมก็จะไปโกรธ โมโหคนอื่น มองว่าคนอื่นผิด ทั้งๆที่ตัวเองนั่นแหละคือคนผิด ตัวเองทำมาทั้งนั้น มันเป็นเพียงละครฉากหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าฉันเคยทำตัวเลวร้ายขนาดไหน โดยดึงใครสักคนที่มีวิบากกรรมร่วมกันมาแสดงบทเก่าที่เราเคยเล่นให้เราดูเท่านั้นเอง

สิ่งดีสิ่งร้ายที่เราเห็นในทุกวันนี้คือผลกรรมจากที่เราได้ทำมาทั้งนั้น เป็นกรรมของเรา เป็นของของเรา ไม่ใช่ของใคร ความชั่วความดี ทั้งหมดที่เห็นคือภาพสะท้อนตัวเราทั้งสิ้น กรรมมันตามทันอย่างนี้ มันไล่หลังเราแบบนี้ ส่วนจะหนักจะเบาก็แล้วแต่ใครจะทำมามากมาน้อยต่างกันไป

วิธีที่จะหนีกรรมที่ตามทันก็มีอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะพ้นกรรมที่ตามมา เพียงแค่ว่าพอจะทำให้ทุกข์น้อยลงได้บ้าง เช่นเรามีกรรมชั่วอยู่สัก 10 ส่วน แต่เรามีกรรมดี 2 ส่วน แบบนี้เราก็ต้องเจอชั่วมากดีน้อย แต่ถ้าเราขยันทำกรรมดีมากๆ กลายเป็นดี 20 ส่วน แบบนี้แม้เราจะได้รับสิ่งชั่วที่เราทำ แต่ก็อาจจะถูกขั้นด้วยความดี ไม่ชั่วต่อเนื่อง ไม่ชั่วนาน ไม่ทุกข์นาน เพราะมีกรรมดีมาช่วยไว้

กรรมนี้ต้องได้รับทั้งหมดนะ ไม่ใช่ว่าไม่รับ แต่เรารับกรรมดีมากกว่า เพราะเราทำดีมากกว่า ส่วนกรรมชั่วรับแล้วก็หมดไป บางคนทำดีมากๆ ได้รับกรรมชั่วไม่นานก็หลุดพ้นจากสภาพนั้นแล้ว เช่นรถเสียแต่ไม่นานก็มีคนมาช่วยไว้ เห็นไหมแบบนี้มันได้รับทั้งกรรมชั่วและกรรมดีมาคานกันไว้ไม่ให้มันชั่วหรือทุกข์หนักจนเกินไป ในเมื่อกรรมชั่วมันตามเราทัน ดังนั้นเราก็ทำดีให้มากเช่นกันเพราะเรารู้ดีว่ากรรมดีมันก็วิ่งตามทันเหมือนกรรมชั่วนั่นเอง

จะดีไหมถ้าเรามีกรรมดีเข้ามาช่วยในยามที่ทุกข์ให้พอหายใจหายคอบ้าง ให้พอพ้นทุกข์ได้บ้าง ถ้าสนใจสร้างกรรมดีก็เรียนรู้กันต่อในบทต่อไป…

…การแก้กรรมอย่างพุทธ

การแก้กรรมอย่างพุทธนั้น หมายถึงการหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส การแก้ไขสิ่งที่ผิดไม่ใช่การทำสิ่งที่ผิดให้หายไป แต่เป็นการทำสิ่งที่ผิดให้เป็นสิ่งที่ถูก

เช่นเราไปพูดจาไม่ดีกับเพื่อนคนหนึ่ง นี่เราสร้างกรรมชั่วไว้แล้ว เราพูดด้วยกิเลสของเราเพราะเราโมโหเขา ทีนี้พอความโกรธมันสงบลงเราก็สามารถเลือกได้กว้างๆสองอย่าง คือจะอยู่เฉยๆหรือจะทำดี ถ้าอยู่เฉยๆก็ไม่ต้องทำอะไร รอรับกรรมเก่าที่ทำไป แต่ถ้าทำดีเช่น เราเริ่มจากใจคือพิจารณาดีๆว่าเราไปพูดไม่ดีกับเขาทำไม เพราะเราโกรธใช่ไหม เราโกรธเพราะเราไม่ได้สมใจใช่ไหม เพราะเราเอาแต่ใจใช่ไหม เราผิดที่เราเองเพราะกิเลสเราเอง

ทีนี้พอสำนึกผิดแล้วมันก็มีอีกจุดให้ตัดสินใจคืออยู่เฉยๆหรือจะทำดี ถ้าอยู่เฉยๆก็ไม่ต้องทำอะไร รอรับกรรมเก่าที่ทำไป แต่ถ้าทำดีเช่น เราก็ไปขอโทษเขา อันนี้เราแก้กรรมได้ส่วนหนึ่ง คือไม่ให้กรรมชั่วเก่ามันดำเนินต่อไป ตัดไฟแต่ต้นลม เป็นการทำกรรมดีใหม่ขึ้นมา

แน่นอนว่ากรรมชั่วที่ไปพูดจาไม่ดีกับเขา เราก็ยังคงต้องรอรับอยู่เช่นกัน แต่เรามีกรรมดีก้อนใหม่ที่เราทำด้วยคือไปขอโทษเขา นี้เราลิขิตกรรมตัวเองได้ เขียนกรรมใหม่ให้ตัวเองได้ แก้กรรมตัวเองได้แบบนี้ เราหยุดให้ไม่ให้มันชั่วไปมากกว่านี้ได้แบบนี้ เราทำดีแล้วก็ถือว่าดีแล้ว ส่วนเขาจะให้อภัยเราหรือไม่ก็เป็นผลจากการทำชั่วที่เราเคยได้ทำไป เราก็ยินดีรับกรรมนั้น แต่เราก็ไม่ย่อหย่อนที่จะทำกรรมดีเพิ่ม ถึงเขาไม่ให้อภัยเราก็ทำตัวให้ดี อย่าให้เกิดเรื่องไม่ดีอีก พยายามไม่ให้เราไปทำบาปกับใครอีก

แต่การแก้กรรมโดยการทำดีกลบความชั่วนี่มันไม่มีทางหมดหรอก แล้วก็ยังไม่ใช่วิธีการหลักของพุทธอีกด้วย ถือว่าเป็นวิธีการทั่วไปที่เข้าใจได้ไม่ยากและกระทำกันโดยทั่วไป สำหรับการทำดีเพื่อละลายความชั่วนั้น กว่าเราจะเป็นคนดี กว่าจะเห็นชั่วก็ผ่านมาตั้งกี่ปี ความชั่วที่เราทำก่อนที่จะรู้ตัวว่าเราเป็นคนนิสัยไม่ดีมันสะสมมาตั้งเท่าไร แล้วความดีที่จะทำต่อไปก็ยังไม่ใช่ความดีที่แท้หรือเป็นความดีที่บริสุทธิ์เสียอีก ดังนั้นการจะหวังใช้กรรมให้มันหมดๆไป นี่มันไม่วันเป็นไปได้ พระพุทธเจ้าท่านทำดีขนาดไม่มีใครเปรียบได้ก็ยังคงมีกรรมตามทันให้เห็นอยู่

ดังนั้นการทำดีกลบความชั่วจึงไม่ใช่หลักใหญ่ของพุทธศาสนา เพราะตราบใดที่เรายังมีกิเลสอยู่ เราก็จะสร้างบาปกรรมไปเรื่อยๆตราบชั่วนิรันดร์ ก็คือต้องทำดีทำชั่วสับกันไปมาอย่างไม่มีวันจบสิ้น พอเราทำดีมากๆ ชีวิตเราดีเราก็ประมาทจนไปทำชั่ว พอเราทำชั่วมากๆ เราก็ทุกข์ทนมานจนไปทำดี มันก็วนอยู่ในโลกแบบนี้ตลอดกาล

สุดท้ายวิธีแก้กรรมที่ดีที่สุดก็คือการล้างกิเลส การทำลายกิเลสให้สิ้นเกลี้ยง เพราะกิเลสคือเหตุแห่งทุกข์ คือต้นตอที่ผลักดันให้เราไปสร้างกรรมชั่วต่างๆ ถ้าเราล้างกิเลสใดได้ ก็ปิดประตูนรกในเรื่องนั้นๆไปได้เลย ดับกิเลสเรื่องนั้นไปก็ไม่ต้องสร้างกรรมจากกิเลสในเรื่องนั้นอีก

แต่ถึงการล้างกิเลสจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเข้าถึงทางเลือกนี้ได้ง่าย ใครกันจะยอมล้างกิเลสที่ตนเองหวงสุดหวง รักสุดรัก ใครจะยอมปล่อยสิ่งที่รัก สิ่งที่ชอบ สิ่งที่หวงแหนลงได้ วิถีทางแก้กรรมอย่างพุทธจึงเป็นทางที่ทรมานกิเลสอย่างที่สุด ต้องเผชิญกับทุกข์สุดทุกข์จากอาการลงแดงของกิเลส ไม่ต่างอะไรกับคนที่ต้องพยายามเลิกยาเสพติด

และไม่ได้หมายความว่าถ้าเรายินดีจะล้างกิเลสแล้วเราจะสามารถทำได้เอง การล้างกิเลสไปจนถึงการดับกิเลสมีวิธีขั้นตอนที่ซับซ้อนและละเอียดลออ ดังจะเห็นได้ว่าในยุคปัจจุบันนี้แทบจะหาคนที่พูดถึงเรื่องล้างกิเลสกันไม่ได้ จึงพูดได้แค่เรื่องทำดีให้มาก ทำชั่วให้น้อย แต่ไม่ได้สอนวิธีที่ทำให้จิตใจผ่องใสจากกิเลส มีสอนกันอย่างมากก็แค่สมถะวิธีกดข่มความคิด ตบความคิด ดีดความฟุ้งซ่าน ไม่ให้เป็นทุกข์เพราะความคิดของตัวเองก็เท่านั้น

เมื่อไม่มีใครสอนวิธีการดับทุกข์ที่เหตุ หรือการล้างกิเลส ก็ไม่มีใครสามารถเข้าถึงสภาพที่ทุกข์ดับได้อย่างแท้จริง เมื่อทุกข์ดับไม่ได้ ไสยศาสตร์ เวทมนต์ เดรัจฉานวิชาต่างๆก็จะสามารถเข้ามาแทรกได้โดยง่าย เพราะเป็นวิธีที่ทำได้ง่าย ไม่ต้องใช้ปัญญา ไม่ต้องใช้ความเพียร ไม่ต้องลำบาก เพียงแค่ใช้ศรัทธาและกำลังทรัพย์ก็สามารถแก้กรรมด้วยเดรัจฉานวิชาตามที่เขาอวดอ้างได้แล้ว

ซึ่งเหตุนี้เองจึงมีการเข้าใจเรื่องแก้กรรมกันผิด เพราะเหตุจากความเสื่อมของคน ในยุคที่ศาสนาพุทธนั้นไม่ได้ถูกสั่งสอนอย่างถูกตรง ในยุคที่เต็มไปด้วยกิเลสตัณหา ในยุคที่เต็มไปด้วยสิ่งบำรุงบำเรอกิเลส เมื่อศีลธรรมเสื่อมไปจากคน คนก็จึงเสื่อมไปจากศาสนา ปัญญาก็เลยเสื่อมไปจากคน ความเป็นพุทธแท้ๆจึงเสื่อมไปจากคน ความเสื่อมทั้งหลายจึงเกิดด้วยประการเช่นนี้

– – – – – – – – – – – – – – –

23.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ความจริงใจ : ความซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองเมื่อเผชิญกับกิเลส

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,773 views 0

ความจริงใจ : ความซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองเมื่อเผชิญกับกิเลส

ความจริงใจ : ความซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองเมื่อเผชิญกับกิเลส

การตรวจสอบกิเลสตั้งแต่ในระดับ 1-4 ที่ผ่านมานั้น จะไม่มีความหมายอะไรเลยถ้าหากว่าเราขาด “ความจริงใจ

ความจริงใจในที่นี้คือความจริงใจต่อตนเอง คือความจริง ที่เกิดขึ้นในใจ หรือการมองความจริงตามความเป็นจริงนั่นเอง ยอมรับความจริงว่าเกิดความอยากขึ้นในใจ มันอยากกินก็ยอมรับได้ มันอยากกินมากขึ้นก็ยอมรับได้ หรือความอยากกินมันลดลงไปก็รับรู้ได้

ความจริงใจคือคุณสมบัติที่จำเป็นมากในการเรียนรู้เรื่องของกิเลส เพราะกิเลสเป็นเรื่องภายในใจ เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งและละเอียดอ่อน จึงต้องอาศัยความจริงใจนี่แหละเป็นตัวที่จะเปิดเผยหน้าตาของกิเลสให้เราเห็น

…อัตตาบังความจริงใจ

สิ่งที่จะบดบังความจริงใจได้อย่างดีที่สุดก็คืออัตตาของเรานี่เอง เพราะในส่วนกามมันชัดเจนอยู่แล้วว่าเรายังกินเนื้อ แต่ถ้าเราเลิกกินเนื้อแล้วมันมักจะมีอัตตาก้อนใหญ่ติดมาด้วย

อัตตานั้นเกิดจากอะไร? การเกิดจากอัตตานั้นมักจะเกิดมาในระหว่างที่เราจะออกจากความชั่ว การออกจากชั่วเราต้องยึดดี เช่นในกรณีของการจะมากินมังสวิรัติเราต้องเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งชั่ว เป็นสิ่งที่เบียดเบียน ไม่เมตตา ฯลฯ จึงจะสามารถทำให้เราออกจากชั่วได้สบายใจ นั่นหมายถึงย้ายอัตตาจากฝั่งกินเนื้อมาฝั่งเกลียดการกินเนื้อ เพียงแค่ย้ายฝั่งของอัตตาเท่านั้นแต่อัตตาก็ยังอยู่กับเราไม่ไปไหน

ทีนี้ถ้ามีคนมาถามกับเราว่า “ยังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ไหม” ด้วยความยึดดีของเรา จะตอบเขาได้ในกรณีเดียวว่าไม่อยาก แต่ในใจนั้นอยากหรือไม่อยากก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าตอบว่า “อยาก” ไม่ได้ เพราะความยึดดีมันมีมาก เราจะไม่ยอมเปิดใจไม่ยอมมองไปที่ความอยาก เพราะความชั่วความไม่ดีของการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่เราไม่ยอมรับ เราจึงใช้อัตตานี้เองบังความจริงที่เกิดขึ้นในใจไว้

ความจริงว่ากิเลสหรือความอยากยังอยู่นั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย แม้จะกินมังสวิรัติได้เป็นสิบยี่สิบปีก็ไม่ได้มีความหมายอะไรในเชิงของโลกุตระ เป็นเพียงแค่การสร้างกุศลโลกียะเท่านั้น เป็นความดีแบบโลกๆ ซึ่งเรื่องของการล้างกิเลสเป็นอีกเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการกินมังสวิรัติ แต่การกินมังสวิรัติได้อย่างผาสุกนั้นเป็นผลจากการล้างความอยากในเนื้อสัตว์

ดังนั้นอัตตาที่เรามีนี่เองที่จะกั้นไม่ให้เราเข้าใจกิเลส ไม่เข้าใจธรรม แม้เราจะกินมังสวิรัติได้ทั้งชีวิตก็ไม่ได้หมายความว่าจะรู้เรื่องกิเลสอย่างถ่องแท้ เพราะไม่เคยเปิดใจยอมรับความอยากด้วยความจริงใจ

…สมถะวิธีกับการดับโดยอัตโนมัติ

สมถะวิธีนั้นเป็น วิธีการกินมังสวิรัติที่ใช้กันเป็นสากล การทำสมถะไม่ใช่แค่การนั่งสมาธิ เดินจงกรม แต่หมายถึงการกดข่มจิตให้เข้าไปอยู่ในสภาพใดสภาพหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่นเรา ถือกรรมฐานว่า เนื้อสัตว์ไม่ดี มังสวิรัติดี เนื้อสัตว์เบียดเบียน ไม่เมตตา ทำร้ายสัตว์ โหดร้าย ทารุณ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นตรรกะ เป็นความรู้ เป็นเหตุผล ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกดข่มความชั่วหรืออาการอยากกินเนื้อสัตว์ไปได้ ลักษณะเหล่านี้เองคือการกดข่มด้วยสมถะ

เช่นเราไปกินข้าวกับเพื่อน เพื่อนสั่งเนื้อสัตว์มา เป็นเนื้อย่าง กลิ่นหอมน่ากิน ด้วยจิตใจที่เราฝึกกดข่มไว้มากแล้ว ทันทีที่เห็นเนื้อสัตว์เราจะสร้างความรังเกียจขึ้นมา สร้างความรู้สึกเหม็นเมื่อได้กลิ่น สร้างความรู้สึกว่ามันชั่วร้ายเบียดเบียนขึ้นมาโดยอัตโนมัติ กระบวนการเหล่านี้ผู้ที่ฝึกสติมาน้อยจะไม่รู้ตัว บางครั้งจะหลงไปด้วยว่ามีสติ

ลักษณะของความคิดอัตโนมัติเหล่านั้นเกิดจากเรามีสัญญาว่าเนื้อสัตว์ไม่ดี พอเห็นเนื้อสัตว์ก็ปรุงแต่งความคิดขึ้นมาทันทีว่ามันไม่ดีอย่างนั้น ชั่วอย่างนั้น เบียดเบียนอย่างนั้น เราจึงสามารถ “ตัด” หรือ “กดข่ม” ความอยากที่เกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติ เป็นปกติ ทำได้โดยไม่รู้ตัว ทำได้อย่างธรรมชาติ เป็นลักษณะของสมถะวิธี เป็นเพียงวิธีที่ทำให้ความอยากสงบลงได้แต่ไม่สามารถทำให้ความอยากตายหรือสลายหายไปได้

…ความหลงผิดในสมถะวิธี

เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยากจริงๆ หากจะต้องบอกว่าการกินมังสวิรัติโดยปกติทั่วไปส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้สมถะวิธี การบอกกล่าวเช่นนี้ไม่ใช่เพื่อการข่มหรือต้องการอวดโอ้แต่อย่างใด แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่ามันเป็นแค่วิธีหนึ่งในการกดข่มความชั่วเท่านั้น และวิธีเหล่านี้ไม่สามารถกดข่มได้ตลอดไป ถึงแม้ว่ามันจะเข้าใจง่ายและปฏิบัติได้ง่ายแต่ก็ไม่ใช่วิธีการล้างกิเลสแต่อย่างใด

สมถะวิธีกับการล้างกิเลสหรือที่เรียกว่าวิปัสสนานั้นเป็นคนละเรื่องกัน เมื่อวิธีการต่างกันผลที่ได้ก็จะต่างกันไปด้วย แต่เป็นเรื่องยากที่จะสังเกตเพราะผลที่เห็นได้ด้วยตาจะออกมาคล้ายๆกัน สุดท้ายแล้วไม่ว่าคนที่ใช้สมถะหรือวิปัสสนาก็จะสามารถกินมังสวิรัติได้เหมือนกัน คนทั่วไปก็จะมองและแยกออกได้ยากมาก

แต่ผลทางจิตใจของสมถะกับวิปัสสนาจะต่างกันออกไป เหมือนกับว่าทั้งสองวิธีถึงเป้าหมายเหมือนกันคือกินมังสวิรัติได้ตลอดแต่สภาพของจิตใจนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง การกดข่มด้วยสมถะวิธีจะทำให้เกิดความไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบาย อึดอัด กดดัน บีบคั้น ขุ่นมัว ลักษณะเหล่านี้ถ้าไม่สังเกตให้ดีหรือไม่ได้มีญาณปัญญาตรวจวัดก็จะไม่สามารถรับรู้ได้เลย นักมังสวิรัติที่ใช้สมถะวิธีจะบอกว่าชีวิตตนเองดีมีความสุข ทั้งหมดนี้เพราะอัตตามันมาบังไว้ มันจะตอบได้แบบเดียวคือมีความสุข เพราะอัตตามันสั่งให้คิดแบบนั้น ให้เชื่อมั่นแบบนั้น

สิ่งที่ต่างออกไปทางด้านผลของวิปัสสนาที่อยู่ในระดับผลสำเร็จก็คือ ความโปร่ง โล่ง เบาสบาย มีจิตผ่องใส ผุดผ่อง โดยเฉพาะความแววไว ไม่ยึดมั่นถือมั่น ซึ่งจะต่างจากผู้ที่ใช้สมถะวิธีคือมีรูปแบบ ยึดมั่นถือมั่น อึดอัด กดดัน แข็ง ไม่ปรับตัวตามสถานการณ์ ยอมหักไม่ยอมงอ

เพราะสมถะวิธีนั้นจะใช้วิธีในการเร่งอัตตาฝ่ายยึดดี ให้ยึดมั่นในความดี สุดท้ายก็จะกลายเป็นคนติดดี ติดดีทั้งๆที่ยังมีกามอยู่นั่นแหละ คือยังมีความอยากอยู่ สรุปแล้วความอยากก็ไม่ได้ล้างแถมยังติดดีอีก นี่คืออันตรายของความหลงยึดในสมถะวิธี

ผู้ที่ใช้สมถะวิธีจะเข้าใจว่าทุกอย่างจบที่การกินมังสวิรัติได้ และสร้างอัตตามาครอบไว้ว่าฉันสำเร็จแล้ว ฉันทำได้แล้ว แล้วยึดมั่นปักมั่นตัวเองไว้ที่จุดที่ตนเองนั้นคิดว่าดี สรุปก็คือสามารถกินมังสวิรัติได้แต่ก็มีอัตตาก้อนใหญ่เพิ่มมาด้วย

…หลงผิดกลับไปกินเนื้อสัตว์

มีผู้ที่ใช้สมถะวิธีจำนวนหนึ่ง ที่หันกลับไปกินเนื้อสัตว์ ตามที่เราได้รู้แล้วว่าสมถะวิธีนั้นคือการกดข่มความชั่ว เชิดชูความดี แต่กิเลสที่มีมันไม่ตาย ทีนี้วันหนึ่งกิเลสก็สะสมกำลังไปเรื่อยๆจนฝ่าด่านมังสวิรัติได้

ผู้ที่ใช้สมถะวิธีในการกินมังสวิรัติจะไม่สามารถทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ได้แน่นอนอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อกิเลสกำเริบจึงกลับไปกินเนื้อสัตว์ด้วยความยินดี และมักหลงไปว่านี่แหละคือความพอดี ไม่ทรมาน ไม่ลำบากตัวเองจนเกินไป เข้าใจผิดว่าเป็นทางสายกลาง แล้วก็ปักมั่นอยู่ที่ตรงนั้น ยึดดีอยู่แบบนั้น หลงว่าภาวะนั้นแหละคือการบรรลุธรรม ทั้งๆที่เป็นเพียงสภาวะของการตึงเกินไปแล้วปรับมาหย่อนเท่านั้นเอง เป็นเพียงระหว่างทางที่ไกลแสนไกลสู่เป้าหมายที่เรียกว่าการทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์

แต่ผู้หลงผิดจะมีความเชื่อความเข้าใจว่าเขาเหล่านั้นถึงเป้าหมายแล้ว ทั้งๆที่ยังเดินมาไม่ถึงครึ่งทางก็ปักมั่นที่ตรงนั้นเป็นจุดหมายแล้วไม่เดินทางต่อ กลับไปเสพกาม คือกลับไปกินเนื้อสัตว์ พร้อมกับอัตตาก้อนใหญ่อีกก้อนว่าต้องแบบนี้สิถึงจะพอดี ถึงจะเป็นทางสายกลาง

นี้เองคือลักษณะของผู้หลงผิดว่าบรรลุธรรม ซึ่งในความจริงแล้วจะค่อนข้างตกต่ำกว่าคนธรรมดาที่กินเนื้อสัตว์ด้วยซ้ำ เพราะคนที่กินเนื้อสัตว์ทั่วไปยังไม่ได้ปักมั่นว่านี่คือทางบรรลุธรรมหรือทางสายกลางอะไร คนกินเนื้อเขาก็รู้และเข้าใจว่าเนื้อเบียดเบียน แต่ก็ห้ามความอยากไม่ได้ แต่คนที่หลงผิดนี่จะกินเนื้อสัตว์ไปด้วยอัตตาที่หลงผิดยึดติดเข้าไปอีก ทำให้ต้องอยู่กับความหลงนั้นอีกนานแสนนาน

…มังสวิรัติกับศาสนาพุทธ

การตั้งกลุ่มมังสวิรัติวิถีพุทธนั้น ตั้งมาเพื่อการศึกษาเรื่องกิเลสโดยใช้มังสวิรัติเป็นโจทย์ในการฝึก ไม่ใช่เพื่อการกินมังสวิรัติโดยตรง การกินมังสวิรัตินั้นไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ต้องเป็นพุทธก็สามารถกินมังสวิรัติได้ ไม่ว่าจะเป็นคริสต์ อิสลาม พราหมณ์ หรือไม่มีศาสนา ก็สามารถกินมังสวิรัติหรือเลิกกินเนื้อสัตว์ได้

ดังนั้นศาสนาจึงไม่มีผลต่อความสามารถในการเลิกกินเนื้อสัตว์เลย เพียงแค่ใช้สามัญสำนึกของมนุษย์ทั่วไปก็สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว เพราะมนุษย์มีความยึดดี ถือดี มีจิตใจดี เมตตา สงสาร เพียงใช้ข้อมูลที่เผยแพร่โดยทั่วไปเกี่ยวกับการทรมานสัตว์ ข้อมูลทางสุขภาพ หรือภาพที่กดดันทางจิตวิญญาณ ก็สามารถทำให้คนหันมากินมังสวิรัติได้โดยไม่ต้องไปโยงเรื่องศาสนาให้มันลำบาก

ทุกวันนี้ศาสนาถูกใช้เป็นเพียงเครื่องมืออ้างอิงถึงความดี เพื่อให้คนหันมากินมังสวิรัติเท่านั้น แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นก็ยังอยู่ในลักษณะของสมถะวิธี คือใช้ข้อมูล ใช้ตรรกะ ใช้ความคิด ใช้ความดี มากดข่มความชั่ว หากถามว่าดีไหม? ก็ตอบได้ว่าดีเยี่ยม แต่ก็ยังไม่ดีที่สุดเท่านั้นเอง

ศาสนาพุทธนั้นไม่ใช่ศาสนาที่เน้นสมถะวิธี แต่ก็มีการใช้สมถะวิธีเป็นเครื่องมืออยู่บ้าง ในส่วนสิ่งที่เน้นก็คือการทำลายกิเลส โดยใช้อริยสัจ ๔ เข้ามาเป็นหลักใหญ่ในการปฏิบัติ ซึ่งจะประกอบด้วยธรรมะย่อยๆอีกมากมาย ซึ่งในทำลายกิเลสนี้จำเป็นต้องเห็นตัวตนของกิเลสเสียก่อน การเห็นกิเลสนั้นจะต้องค้นให้เจอเหตุแห่งทุกข์ จากที่สุดแห่งทุกข์ ในกรณีของการเข้าถึงมังสวิรัติอย่างผาสุกก็คือการทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์

ความอยากกินเนื้อสัตว์นี้เป็นคือรากที่ควรใช้เพื่อพิจารณากิเลส เพราะไม่ตื้นเกินไปเหมือนการใช้เมตตาหรือใช้ความดี และไม่ลึกเกินไปเหมือนกับการจะไปพิจารณาอวิชชาตั้งแต่แรก คือมีความเหมาะสมพอดีในการเริ่มต้น ส่วนหนึ่งเพราะ “ความอยาก” เป็นสาเหตุที่แท้จริงในการพาเราให้ไปกินเนื้อสัตว์ ส่วนเราจะสามารถขยายหรือขุดค้นเหตุอื่นๆที่ซ้ำซ้อนกว่านี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องทำต่อไป

ดังนั้นหากไม่ได้เริ่มต้นที่ “ความอยาก” ก็ไม่มีวันที่จะทำลายกิเลสได้ หากไม่หยุดชั่วก็ไม่มีวันที่จะเกิดความดีที่แท้จริง ศาสนาพุทธนั้นไม่ได้เน้นการทำดีเท่ากับการหยุดทำชั่ว เพราะรู้ดีว่าการหยุดชั่วแล้วก็จะเกิดผลดีขึ้นเองไม่น้อยก็มาก

…ความจริงใจคือคุณสมบัติสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

การจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างมีความสุขนั้น จึงจำเป็นต้องเพ่งเล็งไปที่การทำลาย “ความอยาก” ด้วย “ความจริงใจ” ในทุกๆขั้นตอนของการปฏิบัติธรรม ก็จะสามารถข้ามผ่านความอยากไปได้ในวันใดวันหนึ่ง

หากผู้ที่มองว่าเพียงเมตตาแล้วสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างมีความสุขก็แล้วแต่จะพิจารณา แต่จะสรุปไว้ตรงนี้เพียงแค่ว่า มังสวิรัติทั่วโลกก็ใช้ความเมตตาหรือความดีนี่แหละในการเข้าถึงการเป็นมังสวิรัติ แต่ศาสนาพุทธจะทำลายกิเลสหรือทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ และสุดท้ายเมื่อไม่มีความอยากก็เลยกลายเป็นมังสวิรัติไปเองโดยไม่ต้องพยายาม ไม่ต้องกดข่ม ไม่ต้องบังคับตัวเอง ไม่ต้องอยาก ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องทรมาน และไม่ต้องมีอัตตาไว้ยึดให้มันหนัก

สุดท้ายนี้หากผู้ใดอยากลองเห็นความอยาก ก็ลองดูตัวเองอย่างจริงใจ ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจโดยไม่ต้องกดข่ม ปล่อยตัวเองไปตามธรรมชาติและรับรู้ด้วยสัญชาติญาณแบบซื่อๆว่ายังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ไหม ไม่ต้องมีความดี ไม่มีความชั่ว มีเพียงเรากับเนื้อสัตว์ตรงหน้าเท่านั้น เราจะยังอยากกินอยู่ไหม เราจะรู้สึกอะไรกับเนื้อสัตว์เหล่านั้นไหม เราจะเป็นอย่างไร

ก็ขอเชิญให้ทบทวนในการตรวจระดับ 1-4 ที่มีมาก่อนหน้านี้อีกครั้ง เพื่อให้เห็นกิเลสในตนเองอย่างแท้จริง เพื่อที่จะเริ่มต้นกันใหม่กับการล้างกิเลสอย่างแท้จริง

ติดตามต่อได้ที่

Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)

กินร่วมโต๊ะ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมโต๊ะกับผู้อื่น

December 21, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,530 views 0

กินร่วมโต๊ะ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมโต๊ะกับผู้อื่น

กินร่วมโต๊ะ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมโต๊ะกับผู้อื่น

การตรวจสอบนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ปฏิบัติธรรมมาได้ระดับหนึ่ง ซึ่งสามารถประคองสติได้ดี และเข้าใจในการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ เข้าใจกาย เวทนา จิต ธรรม อย่างเป็นองค์รวมเพื่อตรวจสอบและฆ่ากิเลส หากท่านไม่มีคุณสมบัติดังกล่าว การตรวจสอบเหล่านี้จะไม่มีประโยชน์ใดๆเลย ซ้ำยังเป็นโทษเพราะการที่ไม่มีความเข้าใจในกิเลส ไม่เข้าใจในการวิปัสสนา ไม่เข้าใจธรรมจะทำให้เข้าใจความหมายและตีความเนื้อหาในบทความนี้ผิดได้

ในบทความนี้เราจะตรวจสอบกันสองอย่าง 1. กาม หมายถึงกามภพ การที่เข้าไปเสพไปติดไปยึดเนื้อสัตว์อยู่ และตรวจไปถึงรูปภพ อรูปภพ 2.อัตตา หมายถึงสภาพยึดดีถือดี

การอ่านและทำความเข้าใจตามบทความนี้แล้วนำไปทดสอบในชีวิตจริงหากยังเกิดสภาพของกามและอัตตาขึ้นอยู่ถือว่ายังไม่ผ่าน ให้เพียรพยายามฝึกฝนตัวเองล้างกิเลสไปเรื่อยๆ แล้วค่อยกลับมาตรวจใจอีกครั้ง

ขั้นตอนที่1).กินร่วมโต๊ะ

เมื่อเราต้องไปกินอาหารร่วมกันกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ญาติมิตรสหาย หรือกระทั่งคนรัก เราซึ่งเป็นคนกินมังสวิรัตินั้นก็มักจะมองหาเมนูผักละเว้นเนื้อสัตว์ ซึ่งในครั้งนี้เราสามารถสั่งเมนูผักมากินเป็นส่วนตัวได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีเมนูเนื้อสัตว์มากมายวางอยู่บนโต๊ะ เราไม่สามารถเบือนหน้าหนีสิ่งเหล่านั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปที่น่ากลิ่น กลิ่นที่น่าดม รสที่เคยติด สัมผัสที่เคยคุ้น มันยังคงหลอกหลอนอยู่ข้างหน้า

ขั้นตอนที่2). ตรวจสอบกาม

ถ้าหากเรายังมีความอยากอยู่ อาการของเราก็จะออกชัด อย่างเช่นผู้ที่ยังอยู่ในกามภพ คือยังหยุดเสพไม่ได้ ก็จะมีข้ออ้างสารพัดที่ทำให้กลับไปกินเนื้อสัตว์ในวงอาหารนี้เอง บางคนนี่ถ้าเขาอยู่คนเดียวก็ไม่กินแล้วนะ แต่ถ้ากินเป็นกลุ่มทีไรก็พลาดทุกที อันนี้คือยังไม่สามารถออกจากกามภพได้อย่างเด็ดขาด

ผู้ที่อยู่ในรูปภพ คือมีความอยากเป็นรูปให้เห็นเช่นมีคำพูดในใจว่าอร่อย อยากกิน น่ากิน ฉันอยากกินแต่ก็อดกลั้นบังคับตัวเองไม่ให้ไปกินได้ อาการจะออกเป็นการมองไปที่เมนูเนื้อสัตว์บ่อยๆ น้ำลายสอ อยากกินแต่กดข่มไว้ ผู้ที่มีสติดีและจริงใจกับความรู้สึกของตัวเองจะรับรู้อาการได้อย่างชัดเจน ผู้ที่อยู่ในรูปภพจะดูดีเหมือนคนที่สามารถกินมังสวิรัติได้อย่างสมบูรณ์เพราะไม่กินแล้ว แต่จิตใจข้างในยังอยากกินอยู่ คนที่ไม่ยอมรับความรู้สึกอยากก็คือคนมีอัตตามาก ยึดดีมาก เรียกภาษาชาวบ้านว่าเก๊กหรือทำเป็นเก่ง

แต่รูปภพก็ยังถือว่าดี เจริญขึ้นมาในระดับหนึ่งแต่ก็ต้องระวังอัตตาด้วยเพราะอัตตาที่หลงว่าตัวเองเก่งนี่เองคือตัวบังไม่ให้เราเจริญในธรรมขั้นต่อไป เราจำเป็นต้องรับรู้ตามความเป็นจริง ปล่อยให้ร่างกายและจิตใจเป็นไปตามธรรมชาติไม่ต้องเกร็ง ไม่ต้องเก๊ก ไม่ต้องกดข่ม ยังไม่ต้องรีบหาเหตุผลมาบอกว่าเนื้อสัตว์ไม่ดีอย่างไร ในขั้นตอนนี้เราจำเป็นต้องทำให้เห็นปริมาณความอยากก่อน เมื่อปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นจึงจะสามารถเห็นความอยากได้ชัด เพราะถ้าเรามัวไปหมกมุ่นกับภาพลักษณ์หรือมัวแต่เก๊กก็ยากที่จะเห็นความอยากของตัวเอง

เมื่อไม่เห็นความอยากของตัวเอง ไม่เห็นกิเลสของตัวเอง ก็ปิดประตูในการล้างกิเลสของตัวเองไปเลย เพราะไม่เห็นแล้วมันก็ไม่รู้จะล้างอย่างไร นักมังสวิรัติจะมาติดอยู่ในรูปภพนี้กันมากเพราะจะใช้การกดข่ม ใช้ตรรกะ ใช้ความดีเข้ามากดไว้ ทำให้มีอัตตา ไม่ยอมมองไปที่ความอยาก มองเห็นแค่เพียงกินเนื้อสัตว์ไม่ดี แต่ถ้าใครจะยินดีอยู่ในภพนี้ก็ไม่เป็นไร ก็แล้วแต่ใครจะเลือกกรรมแบบไหนให้ตัวเอง

ส่วนผู้ที่มาติดอยู่ในอรูปภพ คือ ไม่กินเนื้อสัตว์แล้วแม้ว่าจะเอามาวางล่อตรงหน้าก็ไม่รู้สึกว่าอยากกิน แต่อาจจะยังเหลือความรู้สึกเสียดาย เป็นความรู้สึกขุ่นมัวที่ไม่ใส ไม่ยินดีที่ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ แต่จะไม่ออกอาการใดๆให้คนอื่นหรือตัวเองเห็นได้ชัด ต้องใช้สติที่ละเอียดจับความเปลี่ยนแปลงของกาย หมายถึงทั้งจิตใจและร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป จะมีอาการที่สังเกตได้ยาก เล็กๆ เบาๆ สั้นๆ เหมือนกับฟ้าผ่า ฟ้าแล่บ เมฆฝนขมุกขมัว คนที่ไม่มีญาณปัญญาหรือตัวรู้กิเลสจะจับกิเลสใดๆในอรูปภพนี้ไม่ได้เลย เหมือนจะไม่มี มองไม่เห็น แต่จริงๆแล้วมันยังมีอยู่แต่จับมันไม่ได้ มันยังเป็นความอยากที่เหลืออยู่เล็กน้อยที่ทำให้ขุ่นมัวในใจ ในระยะเริ่มต้นต้องใช้อาการทางกายสะท้อนให้เห็นเอาเช่นน้ำลายไหล เสียงท้องร้อง แต่ถ้าเก่งๆจะรู้ได้เองว่ากิเลสยังเหลืออยู่หรือไม่คนที่ติดอยู่ในภพนี้จะดูดีมาก ดูเหมือนไม่ทุกข์ร้อนแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์แต่ถ้าไม่ยอมล้างกิเลส ก็มีสิทธิ์ที่จะวนกลับไปกินเนื้อสัตว์ได้เหมือนที่เราเห็นนักมังสวิรัติหลายคนที่กลับไปกินเนื้อสัตว์แล้วไม่สามารถกินมังสวิรัติได้อีกเลย นั่นเพราะกิเลสมันแอบโต เพราะใช้วิธีกินมังสวิรัติโดยการกดข่มความอยากไว้สุดท้ายก็จะทนความอยากไม่ได้วันใดวันหนึ่งชาติใดชาติหนึ่งก็จะเวียนกลับไปกินเนื้อสัตว์

การพ้นจากกิเลสสามภพ ตั้งแต่ กามภพ รูปภพ อรูปภพในโจทย์ข้อนี้นั้นเพียงแค่เหตุการณ์กินร่วมโต๊ะ หากผ่านไปได้โดยที่ไม่มีความอยากเกิดขึ้นให้ได้รับรู้ก็ถือว่าผ่าน รอไปทดสอบในด่านของอัตตา หรือในระดับต่อๆไปได้

ขั้นตอนที่3). ตรวจสอบอัตตา

หากว่าเราเป็นผู้ผ่านในระดับกามมาแล้ว คือยินดีที่จะไม่เสพเนื้อสัตว์ แม้ว่าจะมีเนื้อสัตว์มาวางตรงหน้าก็ไม่อยากกิน ไม่กินโดยที่ยังมีความสุขใจอยู่ แต่กลับมีอาการของฝั่งอัตตาขึ้นมาแทนเช่นไม่ชอบใจที่เห็นเนื้อสัตว์ ไม่ชอบที่ต้องร่วมโต๊ะกับคนกินเนื้อสัตว์ ไม่ชอบใจที่ได้กลิ่นเนื้อสัตว์และเห็นคนกินเนื้อสัตว์แสดงท่าทีเอร็ดอร่อย มีอาการรังเกียจกลิ่นและรังเกียจผู้ร่วมโต๊ะ ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากร่วมโต๊ะ อยากจะแยกๆกันกินจะดีกว่า

อาการเหล่านี้เรียกว่าความยึดดีถือดี มันจะไม่ไปเสพเนื้อสัตว์แล้วแต่มันก็จะไม่มีความสุขที่ต้องกินร่วมโต๊ะกับคนที่กินเนื้อสัตว์ คือไม่ยินดีร่วมใช้เวลาด้วยกัน รู้สึกขุ่นเคือง รังเกียจ ไม่ชอบใจอยู่ในใจลึกๆหรือกระทั่งแสดงอาการรังเกียจออกมาอย่างเห็นได้ชัดก็เป็นได้

การมีอัตตาหรือการยึดดีถือดีเหล่านี้ไม่ใช่ลักษณะที่ควรจะมี เพราะยังถือว่าเป็นความชั่วอยู่ ในส่วนที่กินมังสวิรัติได้นั้นดีแล้วแต่หากยังมีอาการเหล่านี้ก็ยังไม่พ้นจากนรกอยู่ดี เรียกว่า นรกคนดี คือหลงว่าสิ่งที่ตนทำนั้นดีกว่าคนอื่นก็เลยยกตนข่มท่าน ยกว่าตัวเองดีแล้วมักจะข่มผู้อื่นด้วยถ้อยคำ ท่าทาง ความคิด ฯลฯ

คนที่ติดดีเหล่านี้ยังไม่ผ่านด่านอัตตา จะเป็นลักษณะของมังสวิรัติทำลายโลก คือกินผักกินหญ้าไปก็ทำร้ายจิตใจคนอื่นไปด้วย ยังถือว่าหยาบอยู่ มีให้เห็นทั่วไปในสังคมผู้ลดเนื้อกินผัก เป็นอัตตาระดับหยาบธรรมดาๆไม่ใช่สิ่งพิเศษแต่อย่างใด สามารถมีได้ในคนกินมังสวิรัติทั่วไปโดยไม่ต้องปฏิบัติธรรมเพื่อให้ได้อัตตาตัวนี้มา เป็นกิเลสที่เห็นได้โดยทั่วไป ไม่น่าชื่นชม ไม่น่ายกย่อง หยาบ มีโทษมาก เป็นภัยมาก สร้างบาปกรรมอย่างมาก

ขั้นตอนที่4). สรุปผล

เราจำเป็นต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำๆย้ำๆ มีโอกาสก็ให้พาตัวเองเข้าไปในสถานการณ์แบบนี้เพื่อให้ตัวเองได้เห็นกิเลสชัดยิ่งขึ้น เพราะความไม่อยากนี่ก็เป็นกิเลสเช่นกัน ผู้ที่ผ่านด่านนี้คือผู้ที่ไม่ยินดียินร้ายใดๆแม้จะต้องร่วมโต๊ะกับผู้อื่นซึ่งเขาเหล่านั้นยังกินเนื้อสัตว์อยู่

ด่านนี้ถือว่าเป็นด่านที่ง่าย หากจิตใจของท่านยังวนเวียนอยู่ในกามและอัตตาก็อย่าเพิ่งรีบขยับไปตรวจขั้นต่อไปให้มันลำบากเพราะถ้าด่านง่ายแบบนี้ยังผ่านไปไม่ได้ ด่านยากกว่านี้ก็ไม่มีวันที่จะผ่านได้ ดังจุดประสงค์ของเราคือการล้างกิเลส ซึ่งการกินมังสวิรัตินั้นเป็นเพียงเครื่องมือของเราเท่านั้น การกินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายความว่าจะล้างกิเลสเป็น แต่คนล้างกิเลสเป็นจะกินมังสวิรัติได้ เป็นการกินในลักษณะรู้แจ้งโทษชั่วทุกประการทั้งในมุมกามและอัตตา สุดท้ายเนื้อสัตว์เราก็จะไม่กินและอัตตาเราก็จะไม่มี

ติดตามต่อได้ที่

Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)

มังสวิรัติไม่ถึงใจ

December 6, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,890 views 0

มังสวิรัติไม่ถึงใจ

มังสวิรัติไม่ถึงใจ

…เมื่อการกินมังสวิรัติไม่ได้ทำให้คลายกิเลส

การกินมังสวิรัติหรือการลดเนื้อกินผักนั้น หลายคนอาจจะมีเส้นทางการเริ่มต้นที่ต่างกันไป บางคนกินเพราะสุขภาพ บางคนกินเพราะเข้าใจว่าได้บุญ บางคนกินเพราะเขานิยม บางคนกินเพราะเมตตาสัตว์ บางคนกินเพราะทำให้ดูเป็นคนดี บางคนกินเพราะประหยัด บางคนกินเพราะคนในครอบครัวกิน หลายเหตุผลนี้อาจจะทำให้หลายคนเข้าถึงที่สุดแห่งการลดเนื้อกินผักได้ แต่อาจจะไม่ถึงที่สุดของใจ

ด้วยเหตุต่างๆที่กล่าวอ้างมาสามารถจูงใจให้คนเข้ามากินมังสวิรัติได้ทั้งสิ้นและสามารถทำให้เป็นนักมังสวิรัติขาประจำได้ด้วยเช่นกัน เพราะในความจริงแล้วการกินมังสวิรัตินั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่เรื่องยากนั้นคือการไม่กินเนื้อสัตว์เพราะความอยาก

เราสามารถกินมังสวิรัติได้ง่ายๆเพียงแค่อยู่ใกล้แหล่งอาหารมังสวิรัติ มีแม่ครัวรู้ใจ ทำอาหารเอง หรือแม้แต่รู้วิธีไปกินมังสวิรัตินอกสถานที่ ด้วยความรู้เหล่านี้ทำให้เราสามารถกินมังสวิรัติได้ไม่ยาก กินไปทั้งชีวิตก็ได้ ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังได้เพราะเมนูมังสวิรัติหรือเมนูเนื้อสัตว์ที่มีทั่วไปนั้นก็ปรุงรสจัด รสที่ทำให้เรารู้สึกอร่อยหรือรสชาติที่เราคุ้นเคยเหมือนๆกัน

มันไม่ใช่เรื่องยากเลยหากคนทั่วไปที่ชอบกินเนื้อต้องเผชิญกับเหตุปัจจัยที่ทำให้ไม่มีเนื้อสัตว์ให้กินแล้วต้องกินมังสวิรัติเป็นเวลานาน เพราะสุดท้ายมนุษย์ก็จะต้องกินเพื่อดำรงชีวิตอยู่ดี

ศีลหรือการละเว้นสิ่งที่เป็นภัย

การกินมังสวิรัติหรือการถือศีลละเว้นนั้น หากเราตั้งไว้แค่การละเว้นเนื้อสัตว์ เมตตาสัตว์ เราก็จะสามารถกินมังสวิรัติได้แล้ว แต่ทว่าศีลระดับนั้นอาจจะไม่สามารถดับความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ให้สิ้นเกลี้ยงได้เพราะเพียงแค่ดับกามภพหรือแค่เพียงไม่ไปเสพก็สามารถบรรลุผลของศีลนั้นได้แล้ว การตั้งศีลที่สูงกว่าหรืออธิศีลในมังสวิรัติคือการดับความอยากกินเนื้อสัตว์จนสิ้นเกลี้ยงจากกามภพไปจนถึงรูปภพและอรูปภพ ศีลนี้ต่างจากการกินมังสวิรัติหรือการกินเจของคนทั่วไปอยู่มาก เพราะโดยส่วนมากเขาจะกินเพราะเมตตาสัตว์ เพราะสงสาร ทำให้เกิดกุศล

หากจะตั้งจิตตั้งศีลไว้ที่ไม่เบียดเบียนเนื้อสัตว์ การกินมังสวิรัติได้ 100% ก็เป็นที่สุดแห่งศีลนั้นแล้ว แต่ก็ยังมีศีลที่เจริญกว่าเข้าถึงผลยากกว่านั่นคือทำลายความอยากนั้นเสีย การตั้งศีลสองอย่างนี้ต่างกันเช่นไร การไม่เบียดเบียนเนื้อสัตว์นั้น เพียงแค่คุมร่างกายหรือกระทั่งคุมวาจาได้ก็ไม่ไปเบียดเบียนเนื้อสัตว์ได้แล้ว คุมร่างกายไว้ไม่ให้ไปหยิบกิน กดไว้ไม่ให้หิวไม่ให้อยาก คุมวาจาไว้ไม่ให้พูดถึง ไม่ให้เอ่ยถึงการกินเนื้อสัตว์ แต่ไม่ได้ครอบคลุมถึงในส่วนของใจทั้งหมดเพียงแค่คุมใจไว้ เป็นการปฏิบัติจากนอกเข้ามาหาใน คือคุมร่างกายวาจาแล้วไปกดที่ใจในท้ายที่สุด

ศีลที่ตั้งไว้เพื่อทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นจะปฏิบัติกลับกันนั่นคือจากในออกไปหานอก ปฏิบัติที่ใจให้คุมวาจา และคุมไปถึงร่างกาย เป็นการพุ่งเป้าหมายไปที่การล้างกิเลสอย่างชัดเจน ให้เห็นตัวเห็นตนของกิเลสอย่างชัดเจน ถือศีลขัดเกลาเฉพาะกิเลสอย่างชัดเจน ไม่หลงไปในประเด็นอื่น

การตั้งเป้าหมายไว้ที่กิเลสนั้นดีอย่างไร นั่นก็คือเมื่อเราสามารถปฏิบัติจนละหน่ายคลายกิเลสหรือกระทั่งดับกิเลสได้แล้ว จะดับไปถึงวจีสังขาร คือไม่ปรุงแต่งคำพูดอะไรในใจอีกแล้ว ไม่มีแม้เสียงกิเลสดังออกมาจากข้างใน จนไปถึงร่างกายไม่สังขาร คือไม่ขยับเพราะแรงของกิเลส ไม่ออกอาการอยากใดๆทางร่างกาย ไม่ไปกินเพราะว่ากิเลสสั่งให้กินเนื้อ

ผู้ที่ตั้งศีลไว้ที่การชำระกิเลสภายในนั้น เมื่อปฏิบัติจนสุดทางแล้วจะไม่ต้องเคร่งเครียดไม่ต้องกดข่ม ไม่ต้องกดดัน ไม่มีรูปแบบมากนัก ไม่เกลียดคนกินเนื้อ ไม่รังเกียจที่จะกินร่วมโต๊ะ ไม่รังเกียจที่จะกินร่วมจาน และไม่รังเกียจแม้จะหยิบชิ้นเนื้อเข้าปาก แต่ถึงแม้จะกินเนื้อก็ไม่มีอาการอยากใดๆ เคี้ยวเสร็จแล้วคายทิ้งได้และยังสามารถทิ้งที่เหลือได้โดยไม่มีการทุกข์ใจใดๆเกิดขึ้น ไม่มีความอยากเกิดขึ้นแม้ตอนเคี้ยวหรืออึดกดดันถ้ารู้สึกจะต้องกินเนื้อ ในกรณีลองกินเนื้อนี้เราใช้เพื่อทดสอบกามและอัตตาเท่านั้น

นั่นเพราะการถือศีลนี้เป็นการดับความอยาก ไม่ใช่แค่การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ใช่แค่การกินมังสวิรัติ แต่เป็นการทำลายเหตุแห่งการกินเนื้อสัตว์ ดับทุกข์ที่เหตุ จึงเกิดสภาพแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ทรมานจากกาม ถึงแม้จะจำเป็นต้องกินก็ไม่ทุกข์ทรมานจากอัตตา ซึ่งจะพ้นจากทางโต่งทั้งสองด้านในท้ายที่สุด

การปฏิบัติที่ใจ

การปฏิบัติไปถึงใจนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจำเป็นต้องใช้หลักปฏิบัติของศาสนาพุทธเข้ามาเป็นส่วนร่วม ในการตรวจทุกสภาวะของจิตใจ ซึ่งจะลึกซึ้ง ละเอียด ประณีต เดาไม่ได้ คิดเอาเองไม่ได้ เป็นสภาพของญาณที่ใช้ตรวจกิเลส เป็นสภาพรู้ถึงกิเลส ชัดเจนในใจว่ากิเลสยังเหลืออยู่ไหม เหลือมากน้อยเท่าไหร่ เจริญขึ้นหรือเสื่อมลง ในผู้ที่กินมังสวิรัติเพื่อล้างกิเลสจะได้รับญาณเหล่านี้มาด้วยเมื่อพัฒนาการปฏิบัติไปเรื่อยๆ

การปฏิบัติเพื่อล้างกิเลสนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่เมตตาสัตว์ ไม่สงสารสัตว์ แต่การจะถึงผลได้นั้น ต้องนำทุกวิถีทางที่กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนต้นบทความเข้ามาเป็นตัวพิจารณาธรรม ซ้ำยังต้องพิจารณาไปถึงกรรมและผลของกรรม พิจารณาไตรลักษณ์ ให้ตรงเข้ากับกิเลสนั้นๆ ในกรณีนี้ก็คือการพิจารณากรรมและผลของกรรมของความอยากเสพ และพิจารณาความเป็นทุกข์ของความอยากเสพ ความไม่เที่ยงของความอยากว่ามันเพิ่มได้มันลดได้ และความไม่มีตัวตนของความอยากนี้อย่างแท้จริง

การพิจารณาล้างกิเลสนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่แค่ตั้งใจแล้วจะทำได้แต่ยังต้องมีกำลังที่มาก เรียกได้ว่าต้องมีอินทรีย์พละที่แกร่งกล้าพอที่จะต้านทานพลังของกิเลสได้ ดังที่กล่าวว่าโจทย์ของเราคือความอยากเสพเนื้อสัตว์โดยใช้การตรวจวัดไปที่ใจ ดังนั้นการเห็นใจอย่างละเอียดนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย หากคนที่ปฏิบัติน้อยมองผ่านๆก็จะเหมือนยืนมองฝุ่นที่พื้นซึ่งอาจจะไม่เห็นฝุ่น คนที่ปฏิบัติเก่งขึ้นมาก็จะใช้แว่นขยายดูฝุ่นนั้น ส่วนขึ้นที่เก่งขึ้นมาอีกก็เหมือนใช้กล้องจุลทรรศน์ดูฝุ่นนั้น

การเห็นกิเลสนั้นจะเป็นไปโดยลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด ต้องทำลายกิเลสหยาบจึงจะสามารถเห็นกิเลสกลาง ทำลายกิเลสกลางถึงจะเห็นกิเลสละเอียด นั่นเพราะในระหว่างปฏิบัติศีลไปเรื่อยๆ เราก็จะได้มรรคผลมาเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้เราสามารถรู้และเห็นกิเลสที่เล็กและละเอียดนั้นได้มากขึ้น

เราปฏิบัติโดยทำลายความอยากที่จิตสำนึก ทำลายไปจนถึงจิตใต้สำนึก และล้วงไปจนถึงจิตไร้สำนึก ละเอียดลงไปเรื่อยๆดำดิ่งลึกลงไปให้เห็นกิเลสที่ฝังอยู่ข้างในจิตใจทำลายไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมดสิ้น

แต่ถ้าหากว่าเรายังยินดีในศีลเพียงแค่ละเว้นการฆ่าสัตว์ ละเว้นการเบียดเบียนสัตว์ พอใจและมั่นใจแล้วว่าสิ่งนี้ดีที่สุดแล้วจะถือศีลนั้นไปเรื่อยๆก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหายเท่าไรนัก เพราะพ้นภัยจากกรรมแห่งการเบียดเบียนได้บ้างแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การกดความรู้สึกจากร่างกายเข้าไปหาใจนั้นไม่ใช่ทางดับทุกข์ที่เหตุ แต่เป็นการดับที่ปลายเหตุซึ่งนั่นหมายความว่า ความอยากนั้นอาจจะกลับกำเริบขึ้นมาในวันใดวันหนึ่งก็ได้ หรือชาติใดชาติหนึ่งก็ได้เช่นกัน ถึงแม้ในชาตินี้เราจะสามารถกดข่มความอยากไว้ด้วยความเมตตาได้แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากิเลสจะไม่เติบโต

กินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายความว่าล้างกิเลสเป็น

การกินมังสวิรัติได้ ถึงแม้จะกินได้ตลอดชีวิตแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถล้างกิเลสได้หรือล้างกิเลสเป็นเพราะการกินมังสวิรัติได้นั้น สามารถใช้เพียงสัญชาติญาณความเมตตาทั่วๆไปกดความชั่วนั้นไว้ได้แล้ว นั่นเพราะการเบียดเบียนสัตว์เป็นบาปที่เห็นได้ชัดเจน เหมือนกับการที่เรารู้ว่าการฆ่าสัตว์ไม่ดี เราจึงไม่ตบยุง แต่ความโกรธ ความรำคาญ ความแค้นยุงยังมีอยู่ ถึงเราจะไม่ตบไปทั้งชีวิตก็ไม่ได้หมายความว่ากิเลสจะตาย มันเพียงแค่ถูกฝังกลบไว้ในความดี ไว้ในจิตลึกๆเพียงแค่ยังไม่แสดงตัวออกมา

…สรุปข้อแตกต่าง

ข้อแตกต่างของผลในการกินมังสวิรัติแบบกดข่มกับแบบล้างกิเลสคือ การกดข่มจะใช้พลังความดีและใช้ธรรมะในการกดความชั่วเอาไว้ไม่ให้ออกมาเพ่นพ่าน ไม่ให้หลุดออกมาทั้งทางกายวาจาใจ แต่เมื่อทำไปนานวันเข้าจะมีความกดดันและจะเครียดหรือสร้างบรรยากาศที่ตึงเครียด เป็นสภาพของการยึดมั่นถือมั่น เพราะทำจากข้างนอกเข้ามาข้างใน

ส่วนแบบล้างกิเลสคือการใช้พลังปัญญาเข้าไปล้างเชื้อชั่วข้างในจิตวิญญาณเลย เมื่อทำไปนานวันเข้าจะเก่งขึ้นเรื่อยๆ สติ ปัญญา เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา จะขยายขอบเขตมากขึ้น ความโปร่งโล่งสบายจะแผ่กระจายออกไปจนคนอื่นรับรู้ได้และมีพลังที่จะส่งต่อสิ่งดีๆให้ผู้อื่นอย่างมีศิลปะ มีไหวพริบ มีการประมาณที่จะยิ่งเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นสภาพของการปล่อยวาง เพราะทำจากข้างในแผ่ออกไปข้างนอก

การค้นหากิเลสและทำลายกิเลสอย่างถูกวิธีนั้นต้องดำเนินไปตามขั้นตอนของวิปัสสนาญาณ ๑๖ ซึ่งจะเป็นทั้งเป้าหมายและเป็นตัวตรวจสอบสภาพว่าเราได้ดำเนินการผ่านกิเลสนั้นมามากน้อยเท่าไร ถึงระดับไหน และอีกไกลเท่าไร ผลคือแบบไหนเราจึงจะไม่หลงไปในกิเลส ไม่ต้องหลงทางวนเวียนอยู่กับการหลอกหลอนของกิเลสอีกต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

5.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์