Tag: การมีคู่

ทุกข์เกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก

August 5, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,583 views 0

ทุกข์เกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก

ทุกข์เกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก

ในบทความนี้จะชี้ให้เห็นเลยว่าการมีสิ่งที่รักนั้นคือความทุกข์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่มีสุขเลยแม้น้อย แต่กระนั้นคนที่หลงในสุขลวงยังพยายามยกสุขลวงเหล่านั้นขึ้นมาเป็นสาระ เป็นประโยชน์ ให้ตนได้เสพสุขในสิ่งที่รักเหล่านั้น

ในปิยชาติกสูตร มีเรื่องราวว่า บุตรของคฤหบดีคนหนึ่งตาย จึงทำให้คฤหบดีเกิดความทุกข์มาก ว่าแล้วก็ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เล่าความตามที่เป็น พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า ความโศก ความพิไรรำพัน ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ เป็นของเกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก

แต่คฤหบดีกล่าวว่า ความยินดี ความดีใจก็เกิดจากสิ่งที่เป็นรักด้วย แล้วก็เดินจากไป ไปพบกับกลุ่มนักเลงอยู่ไม่ไกล เข้าไปเล่าความที่กล่าวโต้ตอบกับพระพุทธเจ้า นักเลงก็เห็นด้วยกับคฤหบดี เมื่อคฤหบดีเห็นว่าความเห็นของตนนั้นตรงกับพวกนักเลง จึงจากไป

– – – – – – – – – – – – – – –

จะสังเกตได้ว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่กล่าวถึงสุขเลยแม้แต่นิดเดียว ท่านตรัสถึงแต่เรื่องทุกข์ เพราะจริงๆแล้วมันมีแต่เรื่องทุกข์ ทีนี้คฤหบดีก็ยังมีกิเลส ยังมีความหลงติดหลงยึด ยังมีความไม่รู้อยู่มาก เห็นว่าในทุกข์เหล่านั้นยังมีสุขอยู่ เห็นสุขลวงเป็นสุขจริง จึงได้เผยความเห็นผิด(มิจฉาทิฏฐิ)ออกมา ซ้ำยังไปหาคนที่เห็นตรงกันกับตนเพื่อยืนยันความถูกต้องในความเห็นของตนอีก

คนที่เห็นผิด ไปคุยกับคนที่เห็นผิด มันก็เห็นผิดเหมือนกันหมด ถึงแม้คนอีกร้อยล้านคนทั่วโลกจะเห็นตามคฤหบดี แต่ก็ใช่ว่าความเห็นเหล่านั้นจะเป็นความเห็นที่ถูก ถึงจะไปเห็นตรงกับคนที่มีชื่อเสียง คนที่ได้รับการเคารพนับถือ แต่ถ้ายังมีความเห็นที่ขัดกับพระพุทธเจ้า ก็ยังเรียกว่าเห็นผิดอยู่ดี

ทีนี้เราลองกลับมาสังเกตตัวเองดูว่าเราเห็นตามพระพุทธเจ้าหรือคฤหบดี เห็นตามบัณฑิตหรือคนพาล ความเห็นเราไปในทิศทางไหน ไปทางเห็นทุกข์หรือไปทางเห็นสุขในสิ่งที่รัก เรายังจะหาเหตุผล หาหนทาง เจาะช่อง เว้นที่เหลือไว้ให้ความเห็นผิดเหล่านั้นทำไม ถ้าพระพุทธเจ้าตรัสความจริงสู่การพ้นทุกข์ ดังนั้นผู้ที่เห็นต่างจากพระพุทธเจ้าคือผู้ที่หันหัวไปในเส้นทางทำทุกข์ทับถมตน

ในเรื่องนี้กล่าวถึงสิ่งที่รัก ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดและกินความกว้างมาก เพราะหมายถึงทุกสิ่งที่เข้าไปผูกพัน เข้าไปเสพสุขจากสิ่งนั้นก็ยังต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น แล้วเรื่องของการมีคู่ การเป็นคู่รัก การแต่งงาน เป็นเรื่องหยาบๆ ที่เห็นได้ชัด เจาะจงชัดเจนเลยว่ามีการเข้าไปรัก เข้าไปผูกพัน เข้าไปเสพ เข้าไปยึดมั่นถือมั่น คงไม่ต้องบอกกันเลยว่าเป็นการแสวงหาทุกข์มาสู่ชีวิตตนเองขนาดไหน

เพราะขนาดสิ่งที่รักในทุกวันนี้ก็เยอะมากยากเกินจะสลัดออกแล้ว ยังโหยหา ยังแสวงหาสิ่งอื่นเพื่อที่จะรักอีก มันมีทิศทางที่พอกหนาขึ้นเรื่อยๆ กิเลส ความอยาก ความยึดมั่นถือมั่นที่พอกชั้นหนาขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ไข เมื่อถูกความหลงผิดครอบงำจึงไม่ง่ายที่จะรู้ว่าสิ่งใดคือความเห็นที่ถูก สิ่งใดคือความเห็นที่ผิด

ในยุคสมัยนี้ เรายังโชคดีที่ยังมีธรรมที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้ ยังมีแนวทางปฏิบัติ ยังมีความเห็นที่ถูกตรงที่ท่านได้กล่าวไว้ให้เป็นหลักฐานในการเทียบว่า เรามีความเห็นถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์หรือไม่ ถ้าใครยังมีความเห็นไปในแนวทางของคฤหบดีว่า “ รักมันไม่ได้มีแต่ทุกข์ มันมีสุขด้วย” ก็ควรจะเพียรศึกษาให้มาก เพราะทิศทางของท่านนั้นยังไม่ตรงไปสู่การพ้นทุกข์ หากใช้ชีวิตต่อไปบนทางที่ไม่ตรงเช่นนั้น ก็จะเสียเวลาไปเปล่าๆ เนิ่นช้าไปเปล่าๆ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ธรรมใด วินัยใด เป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้น วินัยนั้น ไม่ใช่ของเราคถาคต” ดั้งนั้นการจะอ้างว่า มีคู่เพื่อเรียนรู้ มีคู่เพื่อพัฒนาจิตใจ มีคู่เพื่อเจริญไปด้วยกัน ฯลฯ ซึ่งเป็นเหตุผลของกิเลสที่แนบเนียนที่สุด จึงต้องถูกแย้งด้วยคำตรัสนี้อย่างชัดเจน

นั่นหมายถึง การจะไปมีคู่เพื่อประโยชน์ใดๆนั้น ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ มีแต่พาให้หลงทาง พาให้เสียเวลา สร้างทุกข์และบาป เวร ภัย ให้กับตนเองและผู้อื่น ให้หลงวนเวียนอยู่ในวัฏสงสารนี้

ดังนั้นการแสวงหาสุขในรักและการมีคู่จึงไม่ใช่สิ่งที่สมควรกระทำ ผู้แสวงหาสุขในรักและการมีคู่ คือผู้ที่มีความเห็นตามคฤหบดี และเมื่อไม่ได้เห็นตามบัณฑิต การพ้นทุกข์ย่อมไม่มี

– – – – – – – – – – – – – – –

4.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

อีกหน่อยเธอคงเข้าใจ ว่าอะไรสำคัญไปกว่าแค่รักกัน

June 20, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,352 views 0

อีกหน่อยเธอคงเข้าใจ ว่าอะไรสำคัญไปกว่าแค่รักกัน…

ได้ดูพระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลกตอนที่ 31 มีฉากหนึ่งที่หยิบยกมาเตือนใจลูกศิษย์พระพุทธเจ้าที่กำลังอยากมีคู่ นั่นคือฉากที่นำเสนอว่าท่านไม่เก็บแม้แต่ของที่ระลึกจากนางยโสธรา โดยมีบทพูดว่า “หากข้าเก็บมันไว้ มันจะผูกมัดข้ากับกบิลพัสดุ์ตลอดกาล

…จะเห็นได้ว่าแม้แต่รอยอาลัยเพียงเล็กน้อย ก็จะไม่เก็บไว้กับตน ไม่ใช่ว่าไม่ใส่ใจ แต่เพราะมีสิ่งที่ยิ่งใหญ่และมีค่ามากกว่าจะต้องทำ หากยังเก็บรอยอาลัยเหล่านั้นไว้ ก็จะเป็นเครื่องผูกจิตไว้กับโลกีย์ตลอดกาล

เราจะได้เห็นคู่ตัวอย่างของการพ้นทุกข์นั่นคือการมีรักเพื่อทิ้ง พระพุทธเจ้าท่านผูกกับนางพิมพาแล้วก็ทิ้งมาไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ การพบกันนั้นก็เพื่อการพราก และท่านทำให้เราเห็นเลยว่าหากต้องการความเจริญจะต้องยอมพรากไปจากสิ่งที่เรารักที่สุด ไม่ใช่การเสพสุขไปปฏิบัติธรรมไป

เราไม่สามารถประมาณความยากหรือรู้วาระจิตของพระพุทธเจ้าได้เลย เพราะสิ่งนั้นเป็นหนึ่งในอจินไตย เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่เหนือความเข้าใจ เหล่าลูกศิษย์จึงทำได้เพียงเข้าใจแนวคิดว่า จะต้องยอมพรากจากสิ่งที่ตนรักตนหวงแหนให้ได้ ไม่ใช่ว่ารักกันไปจนตายแล้วทำใจได้นะ แต่คือการปล่อยทั้งๆที่ยังรักนี่แหละ

ในตอนก่อนหน้านี้มีบทพูดของพระเจ้าพิมพิสารในเรื่องที่เข้ากันดีกับบทความนี้นั่นคือ “คนที่เสียสละทุกอย่าง จะได้ทุกอย่าง” จึงทำให้สรุปความได้ว่า หากอยากจะพบรักที่มากกว่า จงสละรักที่ผูกพันด้วยกิเลสนี้เสีย ตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “พึงสละสุขพอประมาณ เพื่อความสุขอันไพบูลย์”นั่นคือหากไม่ยอมสละความสุขในการมีคู่แล้ว จะไม่มีวันได้พบกับสุขที่มากกว่าเลย

ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ยาก มันเหมือนกับคนที่มีความสุขด้วยปัจจัยมากมายแล้วจะให้พรากสุขออกไปยังที่ที่ไม่มีอะไรเลย เขาไม่ยอมพรากกันหรอก เพราะมันไปสู่ความไม่มีอะไร และเขาก็ไม่เคยสัมผัสสุขนั้นจึงไม่มั่นใจว่าจะมีสุขอันไพบูลย์จริง จึงไม่กล้าทิ้งสุขที่ได้เสพอยู่ ทีนี้จริงๆแล้วที่ไม่มีอะไรเลยนี่มันก็มีนะ มันมีสุขอันไพบูลย์ที่เกิดจากปัญญารู้แจ้งในกิเลส มันไม่มีกิเลส มันก็เลยไม่มีอะไรเลย

สรุปความได้ว่า ยิ่งรักมากเท่าไหร่ ยิ่งควรพรากออกมา เพราะสิ่งที่รักนั้นจะผูกเราไว้กับเรื่องโลก ให้หลงวนอยู่ในโลก ให้เสพสุขอยู่ในโลกตลอดกาล

โชคดีของคนที่ยังโสด เพราะไม่ต้องไปลองบทเรียนที่ยากสุดยาก ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าทำได้แล้วเราจะทำได้นะ กำลังมันต่างกัน เรายังไม่แกร่งกล้าก็อย่าไปแตะเรื่องคู่ให้มันเหนื่อยทีหลัง ส่วนคนที่มีคู่แล้ว ใช่ว่าจะทิ้งง่ายๆนะ มันต้องมีศิลปะ กว่าจะสลัดหลุดได้ต้องสู้ทั้งกิเลสตัวเอง ทั้งพยายามไม่ให้เกิดอกุศล มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะจากกันโดยไม่สร้างเวรสร้างกรรมชั่วทิ้งไว้ให้ต้องรับผลภายหลัง

– – – – – – – – – – – – – – –

20.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทำอย่างไรดี ฉันอยากมีคู่

June 20, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,823 views 0

ทำอย่างไรดี ฉันอยากมีคู่

แม้ว่าจะได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับทุกข์ของการมีคู่มามากมาย ได้รู้ธรรมะที่ว่าการมีคู่นั้นสุขน้อยทุกข์มาก ทราบดีว่าเป็นสิ่งที่ผูกพันเราอยู่ในวิถีโลกียะ จำที่เขาสอนได้ว่าทั้งหมดเป็นเพียงแค่สิ่งที่ว่างเปล่าไม่มีแก่นสาระอะไร แต่กระนั้นกิเลสข้างในก็ยังไม่ยอมรับความโสด ยังคงมีเหตุผลมากมายที่จะมาหักล้างความดีงามของความโสด จนความอยากมีคู่นั้นล้นทะลักออกมาเป็นความคิดที่ปักมั่นว่า “ฉันจะต้องมีคู่

แล้วเราจะทำอย่างไรในเมื่อกิเลสนั้นทรงพลังมาก แต่ธรรมะที่มีนั้นอ่อนแอเสียเหลือเกินมองไปทางไหนเห็นคนมีคู่ก็สุขใจ ได้ยินเรื่องราวความรักก็แอบอมยิ้ม อิจฉา อยากได้อยากมีแบบเขาบ้าง

ก่อนที่เราจะพลาดพลั้งเสียทีให้กับกิเลสจนตัดสินใจที่จะต้อนรับใครสักคนเข้ามาในชีวิต เราก็ควรจะศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับข้อดีข้อเสียของการมีคู่ เพราะการมีคู่นั้นมีความเสี่ยงสูง ผู้ที่คิดจะมีคู่ควรตัดสินใจให้ถี่ถ้วนเสียก่อน และทั้งหมดนี้ไม่ใช่การลงทุน

1).เราหลงสุขในอะไร

ความอยากมีคู่นั้นคือผลที่สุกงอมของกิเลส ซึ่งอาจจะเกิดจากความยึดมั่นถือมั่นว่ามนุษย์ต้องเกิดมาเพื่อสืบพันธุ์ มีครอบครัวจึงจะสมบูรณ์ หรือไม่ก็ในมุมที่อยากเสพสุขทางกามอารมณ์ใดๆสักอย่าง

การหลงว่าการสืบพันธุ์เป็นหน้าที่ คนเราต้องมีครอบครัว การมีคนรักคือเครื่องยืนยันความสมบูรณ์ ฯลฯ ความเห็นทั้งหลายเหล่านี้เป็นความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องโลก(โลกียะ) ซึ่งไม่แปลกอะไรถ้าใครจะเห็นเช่นนี้ แต่ความเห็นที่จะพาออกจากโลก (โลกุตระ) จะไม่เห็นเช่นนี้ เพราะรู้ดีว่าความเห็นเหล่านี้ไม่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์เลย มีแต่จะทำให้หลงในสุขลวง หลงในความเชื่อ หลงวนเวียนในวิสัยแห่งโลกไปเรื่อยๆ

ในส่วนของความอยากเสพสุขในกามอารมณ์ใดๆ สักอย่าง อยากเสพ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรืออยากได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สนองอัตตาใดๆก็ตาม เป็นสาเหตุหลักที่ผูกคนไว้กับการมีคู่ ทำให้คนเหล่านั้นไม่ยอมปิดโอกาสในการมีคู่ของตน เพราะรู้ดีว่าถ้าโสดก็จะไม่ได้เสพ แต่ถ้ามีคู่ก็จะได้เสพอย่างที่ตนเองหวังไว้

โดยเฉพาะเรื่องของการสมสู่ เป็นเรื่องที่ติดกันโดยทั่วไป ไม่ว่าจะยากดีมีจน คนเลวคนดี ก็ล้วนเสพติดสุขจากการสมสู่ด้วยกันทั้งนั้น หากอยากจะลองดูว่าเราติดจริงไหมก็ให้ตั้งตบะเลิกสมสู่ทั้งชีวิตก็จะเห็นอาการของกิเลสที่ดิ้นรนหาเหตุผลให้ได้เสพ ไม่ว่าจะเป็นการสมสู่ตัวเองหรือกับคู่ครองก็ตาม

ทั้งหมดนี้คือความสุขที่เราเข้าใจว่าจะได้เสพต่อเมื่อมีคู่ครอง ดังนั้นเมื่อเราอยากเสพ เราก็ต้องหาคู่ครอง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลสวยหรูงดงามแค่ไหน การมีคู่นั้นก็ยังเป็นสภาพที่จมอยู่ในกามภพ คือสภาวะที่ยังเสพสุขจากกามอยู่เป็นนิจ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้สมสู่กัน ก็ยังเสพสุขในการมีกันและกันอยู่ดี

2). โทษภัยของการมีคู่

แม้ว่าเราจะมองว่าการมีคู่นั้นจะทำให้เราได้เสพสุขจากกิเลสนั้นๆที่เรายึดติด จนทำให้เรามองข้าม ทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียที่จะเกิดขึ้นตามมา แต่สิ่งเหล่านั้นก็ไม่ได้หายไปไหน ยังคงสะสมผลของอกุศลกรรมที่ทำลงไปเรื่อยๆและรอวันให้ผล

ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ ยังเป็นประโยคอมตะที่ไม่มีใครลบล้างได้ แม้เราจะหมายมั่นว่าเราสามารถยอมรับและจัดการทุกข์จากการมีคู่ได้ แต่กระนั้นก็ยังต้องวนเวียนทุกข์อยู่เรื่อยไป ไม่สามารถหนีพ้นพลังแห่งความจริงที่ว่ากิเลสเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ได้ ในเมื่อยังมีความอยาก(ตัณหา) เกิดขึ้น ก็ยังมีอุปาทาน(ความยึดมั่นถือมั่น) ภพ(ที่อาศัย) ชาติ(การเกิด) ชรา(ความแก่) มรณะ(ความตาย) โสกะ(ความเศร้าโศก) ปริเทวะ(คร่ำครวญรำพัน) ทุกข์ โทมนัส(เสียใจ) อุปายาส(ความคับแค้นใจ) เกิดขึ้นตามไปด้วย

และแท้จริงแล้วความสุขจากกิเลสนั้นเป็นความสุขลวง เป็นพลังงานที่เราสร้างขึ้นมาหลอกตัวเอง สร้างรสสุขให้ตัวเอง สร้างเองเสพเอง เสียพลังงานไปเปล่าๆ ทำให้ต้องแสวงหาสิ่งอื่นมาบำเรอเพื่อที่จะได้เสพสุขที่ตนหลงยึดมั่นถือมั่นว่าจะได้เสพจากสิ่งนั้น นั่นหมายถึงการมีคู่แท้จริงแล้วไม่มีรสสุขใดๆเลย สุขที่เห็นและเข้าใจว่ามีนั้น เป็นรสสุขที่เกิดจากพลังของกิเลสทั้งสิ้น

ถึงรสสุขจะเป็นสิ่งลวง แต่ทุกข์นั้นกลับเป็นของจริง ทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นทุกข์จริงๆที่ต้องรับทั้งหมด เพราะเป็นผลที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยกิเลส เราอาจจะเคยชั่งน้ำหนักว่า ถ้ามีคู่ก็สุขครึ่งหนึ่ง ทุกข์ครึ่งหนึ่ง หรือไม่ก็สุขมากทุกข์น้อย ซึ่งในความเป็นจริงแท้ๆแล้วนั่น สุขไม่มีจริงเลย มีแต่ทุกข์แท้ๆอย่างเดียวเท่านั้น

การมีคู่นั้นสร้างทุกข์ให้มากมาย ทั้งการต้องคอยบำเรอคู่ วิบากกรรมที่ต้องร่วมรับ เช่นเขาไปทำความผิด ทำให้เราและครอบครัวต้องเดือดร้อน เขาต้องเป็นภาระให้เราคอยดูแล เป็นห่วงกังวล เขาล้มป่วยหรือตายก่อนถึงวันที่พร้อม ทำให้เราต้องประสบทุกข์อย่างมาก และยังมีเรื่องราวทุกข์จากการมีคู่ให้ได้เห็นอีกมากมายในสังคม

โทษภัยที่ร้ายที่สุดของการมีคู่คือการดึงรั้งกันไว้ในโลกีย์ ไม่ยอมให้ออกไปง่ายๆ ใช่ว่าคนหนึ่งปฏิบัติธรรมแล้วอีกคนจะยอมให้ทำได้อย่างอิสระ หรือถ้าปฏิบัติธรรมทั้งคู่ก็ใช่ว่าจะสลัดกันออกได้ง่ายๆ เพราะสิ่งที่ผูกกันไว้ใช่ว่าจะตัดกันได้ง่ายๆ สายสัมพันธ์ที่ถูกสอดร้อยด้วยกิเลสนั้นเป็นสิ่งที่เหนียวแน่นและยากจะแกะออกได้ แม้ว่าเป้าหมายของทั้งคู่คือการบรรลุธรรม แต่การครองคู่นั่นเองคือสิ่งที่ถ่วงและเหนี่ยวรั้งไม่ให้พบกับความเจริญ

3). ประโยชน์ของความโสด

หากเราจะกล่าวถึงประโยชน์ของความโสด ก็เรียกได้ว่ามีประโยชน์กว่าการมีคู่อย่างหาประมาณไม่ได้ แต่คนมักจะไม่ให้ค่าความโสด เพราะหากโสดแล้วก็จะไม่ได้เสพสุขจากการครองคู่ ทั้งที่จริงแล้วความโสดมีคุณประโยชน์มากมาย

ในชีวิตทั่วไป ความโสดทำให้เราคล่องตัวในการดำเนินชีวิต ไม่ต้องผูกพันกับใครมากจนเป็นภาระ เปิดโอกาสให้เพื่อนได้เข้ามาช่วยเหลือจุนเจือ เป็นสังคมเกื้อกูลมากกว่าต้องพึ่งพากันในสภาพของคู่ครองอย่างที่สังคมมักจะทำกัน โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ ซึ่งเป็นประโยชน์ตนที่ทุกคนควรทำเป็นอันดับแรก

ความคล่องตัวในชีวิตหมายถึงความสามารถไขว่คว้าโอกาสในการเจริญได้ง่าย เช่นถ้ามีเพื่อนชวนไปทำสิ่งที่ดี คนโสดแทบจะไม่ต้องคิดอะไรมาก แค่เห็นประโยชน์แล้วปัจจัยพร้อมก็ไปได้ทันที แต่คนคู่นั้นมีปัจจัยที่ผูกพันมากกว่า จึงอาจเสียโอกาสในการเข้าถึงสิ่งที่ดีได้

ความโสดยังลดโอกาสในการสร้างวิบากกรรมชั่ว ที่หากยังครองคู่อยู่คงจะต้องสร้างบาปและอกุศลเช่นนี้เรื่อยไป เช่น สมสู่กันอยู่เป็นนิจ พากันเสพสุขลวงจากของอร่อย สถานที่ท่องเที่ยว การสะสม ฯลฯ ซึ่งเมื่ออยู่เป็นโสด จะไม่มีกำลังของกิเลสมากพอจะผลักดันให้ไปทำชั่ว แต่เมื่ออยู่เป็นคู่ คนมีกิเลสสองคนจะรวมพลังกิเลสกันแล้วร่วมใจกันเสพ จึงมีโอกาสทำชั่วได้ง่าย

ทั้งนี้การมองเห็นความดีความชั่วขึ้นอยู่กับฐานศีล ถ้าศีลต่ำก็มองไม่เห็นชั่ว ถ้าศีลสูงก็จะเห็นชั่ว แต่ถึงแม้เห็นหรือไม่เห็น ชั่วก็ยังเป็นชั่ว กิเลสก็ยังเป็นกิเลส มันก็เป็นพลังงานอกุศลของมันอยู่แบบนั้น

4). พรากออกห่าง

เมื่อศึกษาเหตุจากความหลงสุข โทษ และประโยชน์แล้ว แต่ยังไม่สามารถหักห้ามใจได้ ก็พยายามออกห่างจากสถานการณ์ที่ชวนให้กำหนัด ให้รู้สึกหลงรัก ให้เกิดความอยากมีคู่ สร้างระยะห่างขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองพลาดพลั้งให้กับพลังของกิเลสได้ง่าย

เพราะยิ่งอยู่ใกล้สิ่งที่อยากเสพมากเท่าไหร่ หากเราไม่มีกำลังสติมากพอ ก็อาจจะข่มใจไม่ไหว หลวมตัวหลงรัก ตกลงปลงใจคบหากันก็ได้ ยิ่งถ้าพูดถึงปัญญานี่ไม่ต้องห่วงเลย มันไม่มีตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะถ้ามีปัญญา ต่อให้มีกำลังสติน้อยมันก็ไม่คิดจะไปเอาใครเข้ามาเป็นคู่ครอง เพราะมันรู้แจ้งในโทษชั่วของการมีคู่แล้ว แต่โดยทั่วไปนั้นจะต้องใช้กำลังสติเป็นเครื่องยับยั้งใจ และใช้ศีลเป็นกำแพงขวางกั้น

5). กำแพงศีลธรรม

เราอาจจะเคยได้ยินมาบ้างว่าผู้ที่จะคบหาเป็นมิตรกันได้นานนั้น จะต้องมีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาเสมอกัน ซึ่งความเสมอนั้นไม่ว่าดีหรือชั่ว ต่ำหรือสูง เพียงแค่เสมอก็ทำให้สามารถเป็นมิตรผูกภพผูกชาติไปด้วยกันได้แล้ว

คนชั่วก็จะมีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาระดับคนชั่ว คนดีก็จะมีระดับของคนดีเช่นกัน แล้วเราอยากให้คนชั่วหรือคนดีเข้ามาในชีวิตของเรา ถ้าเราอยากให้คนดีเข้ามาในชีวิตของเรา เราก็จะต้องพัฒนาองค์ประกอบทั้งหมดให้ยกระดับขึ้นไปอีก ถ้าในไตรสิกขาก็จะเริ่มด้วยอธิศีล คือศึกษาศีลให้ยิ่งกว่าเดิม

เช่นเราไม่เคยกินมังสวิรัติเลย แต่ก็ไม่อยากเจอคนไม่ดีเลยถีบตัวเองขึ้นไปกินมังสวิรัติด้วยกำลังของศรัทธาที่เห็นประโยชน์ในการลดเนื้อกินผักและเกิดปัญญาว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งดี มีจาคะพอที่จะสละความสุขลวงในความติดรสของตน

ถ้ารู้สึกว่ายังดีไม่พอ ยังเจริญไม่พอ กินมังสวิรัติแล้วยังเจอคนชั่วอยู่ ก็ให้ขยับอธิศีลขึ้นอีก มาศึกษาการกินมื้อเดียว พอมาฐานนี้จะเริ่มมีคนตามได้ยากแล้ว ใครจะปีนกำแพงศีลธรรมมาต้องแกร่งพอสมควร แต่กระนั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีคนทำได้ เราก็ก่อกำแพงขึ้นมาอีกเป็นศีล “อพรหมจริยา เวรมณี” คือละเว้นการประพฤติที่ไม่ใช่พรหม ที่เข้าใจได้ง่ายๆคืองดเว้นการสมสู่แตะเนื้อต้องตัวกัน พอมาฐานศีลนี้ก็จะป้องกันตัวเองจากคนกิเลสหนาและกามจัดได้มากขึ้นอีก ถ้าอยากปลอดภัยอีกก็มีศีลระดับสูงอีกมากมายที่จะป้องกันไม่ให้เราต้องเจอกับตัวเวรตัวกรรม

ทั้งนี้การศึกษาศีล หรือศึกษาไตรสิกขานั้นไม่ใช่จะกระทำได้ง่าย ใช่ว่าจะสำเร็จผลได้ง่าย หากเราถือศีลเป็นคราวๆก็จะได้กำแพงศีลเป็นคราวๆ ซึ่งไม่รู้ว่าวิบากกรรมชั่วจะบุกเข้ามาเมื่อไหร่ แต่ถ้าเราใช้การศึกษาศีลเพื่อให้เกิดปัญญาจนไปชำระกิเลสได้ ก็เรียกว่าได้กำแพงถาวร เกิดเป็นสภาพศีลที่มีโดยปกติ มีศีลได้โดยไม่ต้องลำบาก ไม่ต้องพยายาม

6). กิเลสนี้เองคือไส้ศึก

แม้ว่ากำแพงศีลธรรมจะมีอยู่ แต่ก็มักจะมีผู้พลาดพลั้งเป็นเรื่องธรรมดา นั่นเพราะมีไส้ศึก คือกิเลสซึ่งเป็นศัตรูร้ายที่อยู่ภายในจิตใจเรา ซึ่งจะคอยชักนำสิ่งที่ดีไม่งามเข้าสู่ชีวิตเรา

การที่มีใครสักคนหลุดทะลุเข้ากำแพงศีลธรรมมาได้โดยไม่ได้ผ่านมาตรฐานอะไรเลยนั้น ดังเช่นสภาพที่ว่า ไม่ได้ชอบแบบนี้แต่สุดท้ายก็ไปคบกับเขา ก็มักจะเกิดจากกิเลสซึ่งเป็นไส้ศึกลากศัตรูเข้ามาในช่องลับ หรือไม่ก็ทำลายกำแพงศีลธรรมเข้ามาเองเลย

การลากศัตรูเข้ามาในช่องลับคือการที่กิเลสของเราหาช่องทางเล็ดรอดให้พ้นกำแพงของศีลเพื่อที่จะให้ได้เสพสุขจากคนที่หมายนั้นโดยไม่ต้องผ่านการคัดครองของศีลแต่อย่างใด ทั้งนี้มักจะเกิดจากความอยากเสพในคนนั้นที่มากเกินควบคุมแล้วจึงหาข้ออ้าง หาช่องให้ได้เสพโดยที่ตนไม่ต้องรู้สึกผิดบาป

การทำลายกำแพงศีลก็คือเมื่อเจอกับคนที่ชอบแล้วก็ยอมลดศีลตนเอง เช่นปกติแล้วเป็นคนกินมังสวิรัติ แต่พอเจอกับคนที่ถูกใจแต่เขายังกินเนื้อสัตว์ก็จะเริ่มอนุโลมไปกินเนื้อสัตว์กับเขา ยอมลดศีลยอมเสพเนื้อสัตว์ไปพร้อมๆกับเสพสุขจากเขาเป็นต้น

7). วิบากกรรมเพื่อเรียนรู้

สุดท้ายเมื่อพยายามอย่างที่สุดแล้วก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับพลังของกิเลส ซึ่งมาในรูปรวมของคำว่า”วิบากกรรม” หรือกรรมเก่า ซึ่งหมายรวมไปถึงกิเลสที่สะสมมาจนมีกำลังมากพอที่จะพาให้รู้สึกหลงรักจนคบหาได้เช่นกัน

สรุปได้ว่าเราไม่สามารถโทษกรรมเก่าแต่ปางก่อนได้เสมอไป เพราะมีกิเลสเป็นองค์ประกอบร่วมด้วย แต่ถ้าคิดว่ากำจัดกิเลสได้จนสิ้นเกลี้ยงหรือไม่มีความอยากเสพใดๆปรากฏให้รู้ได้ทั้งสามภพ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพแล้ว การต้องรับคู่เข้ามาในชีวิตก็คือเรื่องของวิบากกรรมที่จำเป็นต้องรับไว้ด้วยองค์ประกอบทางโลกบางอย่าง ซึ่งอาจจะเป็นภาระ แต่เป็นความจำเป็นที่ต้องแบกไว้เพื่อประโยชน์ต่อผู้อื่นบางอย่างเช่นกัน

คนธรรมดาทั่วไปอย่างเราๆนั้น ไม่มีความจำเป็นใดๆเลยที่ต้องรับใครเข้ามาในชีวิต ถึงเราจะมีคู่ก็ไม่ได้มีนัยสำคัญอะไรที่สังคมให้ความสนใจ ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้เกิดสิ่งดีงามอะไรขึ้นมา

นั่นหมายความการพ่ายแพ้ต่อแรงของกิเลสนั้นเป็นสิ่งที่มีน้ำหนักมากที่สุดในการไปมีคู่ ซึ่งความจริงแล้วก็เป็นสิ่งที่ยากจะห้ามได้ ในเมื่อเขาเหล่านั้นไม่ได้มีกรรมดีที่ทำไว้มากพอที่จะช่วยดึงเขาออกจากนรกคนคู่ ซ้ำยังมีกรรมชั่วที่สั่งสมอุปาทานว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสุขไว้อย่างมากมาย เขาเหล่านั้นจึงต้องไปทดลองมีคู่เพื่อเรียนรู้วิบากกรรมกิเลสที่ตัวเองได้สร้างขึ้นมานั่นเอง

มีคนจำนวนไม่น้อย มีคู่แล้วประสบทุกข์อย่างมาก ในตอนแรกก็คาดหวังไว้ว่านี้คือคู่ชีวิตที่จะรักและดูแลกันไปชั่วนิรันดร์ ซึ่งคู่แต่งงานก็มักจะประกาศถ้อยคำที่มีนัยเช่นนี้ทั้งนั้น แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่สุดท้ายต้องตะเกียกตะกายออกมาจากนรกคนคู่ แม้จะพยายามปีนป่ายก็จะโดนวิบากกรรมลากกลับไปทุกข์อยู่ไม่จบไม่สิ้น

คนที่หลุดออกมาได้ก็จะมีสภาพบาดเจ็บ ถูกทำร้ายจิตใจ บ้างก็ถูกทำร้ายร่างกายด้วย ส่วนคนที่ทุกข์แต่ยอมทนเพราะไม่กล้าพอจะแบกรับผลก็อยู่กันทั้งรักทั้งชัง หวานก็ไม่ค่อยมี ขมก็ต้องฝืนกลืน

คนบางพวกที่ยังประสบทุกข์น้อยสุขมากยิ่งน่ากลัว เพราะจะหลงว่าความรักดีๆสามารถสร้างได้ เช่นในกลุ่มคนดีก็มักจะสร้างกุศลกรรมเป็นแรงหนุนให้ได้เสพสุขอยู่ในรักร่วมกันจนแก่เฒ่า เป็นความประมาทที่ร้ายสุดร้าย เพียงเพราะหลงสุขลวงในชาตินี้เท่านั้น เหตุจากไม่เข้าใจกฎแห่งกรรมอย่างแจ่มแจ้ง จึงมองการเสพสุขแบบโลกีย์เช่นนี้เป็นเป้าหมายในชีวิต

สุดท้ายไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การรับใครเข้ามาในชีวิตด้วยกิเลสคือการสร้างหนี้ พระพุทธเจ้าตรัสเปรียบไว้ว่า กามฉันทะ คือความเป็นหนี้ กามฉันทะนั้นกินความหมายกว้างมากไม่ใช่เพียงแค่เรื่องเพศ แต่หมายรวมไปถึงความสุขจากการได้เสพทั้งหมด ซึ่งเป็นลักษณะของกามภพ

นั่นหมายความว่าหากเรายังต้องคอยเสพสุขลวงจากการมีคู่อยู่ เราก็ต้องคอยใช้หนี้กรรมอยู่เรื่อยไปไม่จบไม่สิ้น…

– – – – – – – – – – – – – – –

20.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความรักกับเด็กอยากได้ของ

May 22, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,285 views 0

นึกขึ้นมาได้ ลองเอามาเปรียบเทียบกันดู ตอนที่เด็กอยากได้ของเล่นนี่จะพยายามทุกอย่างเพื่อให้ได้มา พ่อแม่ไม่ให้ก็งอแงจะเอา หลากหลายเหตุผลที่คิดขึ้นมาได้ พร้อมกับแสดงลีลา งอน ประชด เหวี่ยงเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา…ก็เหมือนคนอยากมีคู่นั่นแหละ ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เสพ ถ้ามีใครมาห้ามหรือมาเห็นแย้งก็ไม่อยากฟัง

ถ้าได้มาก็มีสองอย่างหนึ่งคือสุขแป๊ปๆแล้วก็เบื่อ เลิกเล่น อยากได้ของใหม่ หรืออีกอย่างคือยึด เหมือนกับตุ๊กตาเน่าๆ ที่ทั้งเหม็นและเก่า แต่ไม่ยอมให้ใครแย่งไป ไม่ยอมห่าง ยึดไว้อย่างนั้น แต่สุดท้ายก็ต้องจากกันไปอยู่ดี

พอโตแล้วก็ไม่ไปซื้อหรือเล่นของเล่นเหมือนเด็กๆอีก เพราะไม่ได้มีความพอใจในสิ่งเหล่านั้นแล้ว เปลี่ยนไปอยากได้สิ่งอื่นแทน แต่ก็ยังเข้าใจว่าเด็กทุกคนต้องเล่นของเล่น ต้องอยากได้ของเล่น

ก็เหมือนกับความรัก พอมีอายุมากขึ้นผ่านความรักในมุมคนคู่มาได้ แม้ตนเองจะไม่อยากไปมีคนรักแล้ว แต่ก็ยังไม่มีปัญญาเห็นโทษของความอยาก ยังเห็นว่าความรักในมุมของการมีคู่นั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้

ความเบื่อในความรักเมื่ออายุมากนี้เองเรียกว่าการเบื่อหน่ายแบบทั่วๆไป ไม่ต้องปฏิบัติธรรม ไม่ต้องมีปัญญามากขึ้น มันก็เกิดขึ้นได้เอง เป็นเรื่องสามัญ เป็นธรรมชาติของโลก ซึ่งความอยากนั้นไม่ได้หายไปไหน แต่มันเปลี่ยนจากเรื่องหนึ่งไปเสพอีกเรื่องหนึ่งนั่นเอง

สรุปแล้ว…ความอยากก็ทำให้เราเป็นเหมือนเด็กที่ไม่รู้เดียงสา แต่ความไม่อยากนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นผู้ใหญ่

เด็กในมุมของธรรมะนั้นคือผู้ที่ยังมัวเมาอยู่กับกิเลส ส่วนผู้ใหญ่นั้นคือผู้ที่ปลดเปลื้องกิเลสได้อย่างแท้จริงแล้ว