สังคม สิ่งแวดล้อม

นรกของสัตว์เลี้ยง

September 16, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,949 views 1

นรกของสัตว์เลี้ยง

นรกของสัตว์เลี้ยง

ในสังคมปัจจุบันเรามักจะนิยมเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะด้วยประโยชน์อะไรก็ตามแต่ สัตว์เหล่านั้นก็จะมาอยู่ในความดูแลของเรา ในชีวิตของเรา ในกรรมของเรา

การช่วยเหลือสัตว์ที่ตกทุกข์ได้ยากนั้นเป็นกุศลกรรม เป็นเมตตาธรรมที่ดี เช่นช่วยสัตว์ที่บาดเจ็บ ช่วยสัตว์จากโรงฆ่าสัตว์ แต่การเอาสัตว์มาเลี้ยงกลับกลายเป็นโทษ เพราะเราเอาสัตว์มายึดไว้เป็นของตัวของตน คือเป็นอัตตา หรือโอฬาริกอัตตา เป็นความยึดในระดับหยาบ ยึดในสิ่งที่มีรูปร่าง เช่น คน สัตว์ วัตถุ สิ่งของ เมื่อยึดมั่นถือมั่นแล้วความทุกข์จะไม่เกิดเป็นไม่มี

เมื่อเกิดเหตุการณ์ ไม่ปกติ ดังเช่นน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา สัตว์เลี้ยงกลับสร้างปัญหาไม่น้อยให้กับใครหลายๆคน ใครเลี้ยงสัตว์ตัวเล็กดูแลง่ายก็รอดไป แต่ก็ยังมีปัญหาเช่น งูที่เลี้ยงหลุดออกมา จระเข้หลุดออกมา หรือมีภาระต้องขนย้ายสัตว์เลี้ยงไปอยู่ที่ต่างๆซึ่งไม่สะดวกเลย

การเลี้ยงสัตว์นำมาซึ่งการผูกกรรม ผูกภพ ผูกชาติด้วยกัน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสัตว์ที่เราเลี้ยงนั้น เคยเป็นอะไรมาในชาติก่อน เขาอาจจะเคยเป็นคนในครอบครัว คนรัก คนสนิท หรือศัตรูคู่แค้นก็ได้ เพราะถ้าไม่มีกรรมผูกกันมา ในชาตินี้เราก็คงจะไม่มาผูกกันต่อ ซึ่งอ่านดูแล้วอาจจะรู้สึกดี รู้สึกว่าได้ใกล้ชิดกับคนคุ้นเคย แต่จริงๆมันไม่ดี ลองให้เราสลับไปเป็นสัตว์เลี้ยงดูบ้างไหมล่ะ…

การเกิดเป็นสัตว์นั้น คือการเกิดในภพของเดรัจฉาน เพื่อการชดใช้วิบากกรรมที่ทำไป สัตว์จะไม่สามารถทำกุศลได้มากนัก ไม่สามารถมีปัญญาได้มากนัก จะมีขอบเขตการเรียนรู้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ภารกิจจริงๆคือการชดใช้กรรม ต้องทุกข์ ต้องทรมาน ต้องลำบาก และตายไป จนกว่าจะหมดกรรมนั้นๆจึงจะได้เกิดเป็นคนอีกครั้ง

การที่เราเอาเขามาเลี้ยง เขาก็จะมีชีวิตสุขสบาย แทนที่วิบากกรรมเขาจะลด เขากลับเพิ่มความสุขในภพของเดรัจฉาน ติดสุขในภพเดรัจฉาน เมื่อวิบากกรรมไม่ได้ชดใช้ในชาตินี้ ถึงแม้จะตายไป เขาก็ต้องเกิดเป็นเดรัจฉานซ้ำๆ ไปจนกว่าจะใช้วิบากกรรมหมด

ดังนั้นการนำสัตว์มาเลี้ยง จะทำให้เขาพ้นทุกข์ช้า แทนที่เราจะปล่อยให้เขาเผชิญชีวิตตามบาปบุญที่เขาทำมา เรากลับนำเขามาร่วมวิบากกรรมกับเรา ด้วยความหลง ด้วยความเสน่หา ด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่าสัตว์นี้เป็นของฉัน เป็นเพื่อนของฉัน เป็นลูกของฉัน ก็อุปโลกน์กันไปตามแต่กิเลสจะนำพากลายเป็นการเพิ่มกิเลสทั้งคนและสัตว์เลี้ยง ผูกกรรมกันด้วยการสะสมกิเลส พากันไปนรกทั้งคู่

บางครั้งเรามักจะนำเขามาเลี้ยงเพราะความรักความสงสาร แต่ความจริงถ้าเราปล่อยเขาอยู่แบบนั้นเขาก็อยู่ของเขาได้ ถึงแม้เขาจะตายมันก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับเขา เพราะตายแล้วก็หมดกรรมไปอีกเรื่อง ถ้ายังไม่หมดวิบากก็กลับไปเกิดเป็นสัตว์ใหม่อยู่ดี เราเองนั่นแหละที่เข้าไปยุ่งกับเขา ไปพยายามมีส่วนในกรรมของเขา โดยถือเอาตัวเราเป็นใหญ่ พยายามที่จะไปกำหนดชะตาชีวิต ไปกำหนดกรรมของคนอื่น ทั้งๆที่ไม่ใช่หน้าที่ของเราเลย

สัตว์ใดไม่ได้มาหาเรา ไม่ได้มาให้เราช่วย ก็ให้เราปล่อยวางไว้ เพราะรู้ดีว่ากรรมก็เป็นแบบนี้ เขาก็ต้องทนทุกข์แบบนั้น เพราะกรรมที่เขาทำมา เขาเบียดเบียน คดโกง มัวเมา เสพอบายมุขมาเท่าไหร่ เขาจึงต้องตกไปอบายภูมิแบบนั้นเราเข้าใจดี ซึ่งเราก็จะมองเขาด้วยเมตตา แต่ก็จะไม่เอาภาระ เพราะการเอาภาระนี้นอกจากทำให้เราเองลำบากแล้วยังทำให้เขาพ้นทุกข์ช้าอีกด้วยเสียประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

แต่ถ้าสัตว์ใดบาดเจ็บ ทุกข์ทรมานอยู่ตรงหน้า ก็ให้พิจารณาหาทางช่วยให้เขาพ้นทุกข์ ให้เขาสบาย หายเจ็บป่วย เมื่อหมดหน้าที่อันสมควรก็ไม่ต้องไปแบกเขาเอาไว้ ปล่อยเขาไปตามบาปบุญของเขา ถ้าเขามีบุญจริงก็จะมีคนมาดูแลเขาต่อไปเอง

การเลี้ยงสัตว์ยังนำมาซึ่งการทำฟาร์มสัตว์เลี้ยง เพาะพันธุ์สัตว์ ค้าขายสัตว์เลี้ยง ซึ่งผิดตามหลักของพุทธ ในบทของมิจฉาวณิชชา ๕ พระพุทธเจ้าท่านว่า ชาวพุทธไม่ควรค้าขายสัตว์ เป็นการค้าขายที่ผิด ดังนั้นการที่เราเลี้ยงสัตว์ก็จะทำให้คนอื่นอยากเลี้ยงตาม พอมีคนอยากเลี้ยงมากๆก็เกิดเป็นธุรกิจขายสัตว์ เป็นบาปทั้งคนเลี้ยงคนขาย

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจจะดูเหมือนใจจืดใจดำ แต่การที่เราจะคิดได้แบบนี้ เราต้องเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม เข้าใจภาพรวมของวัฏสงสาร เข้าใจอดีต ปัจจุบัน และอนาคต จนเห็นทุกการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสภาวะที่เปลี่ยนรูปไปเท่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

16.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ใช่กิจของสงฆ์หรือไม่?

September 14, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,965 views 0

ใช่กิจของสงฆ์หรือไม่?

ใช่กิจของสงฆ์หรือไม่?

ถาม: ปัจจุบันมีภิกษุพยายามสร้างประโยชน์ให้สังคมด้วยการกระทำให้เป็นรูปธรรมเช่นการให้ความรู้ญาติโยมในการประอาชีพทางการเกษตร การเป็นผู้นำในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับสังคมมีการเดินขบวนเรียกร้องการใช้พื้นที่วัดทำนาเองเพื่อนำเงินเข้าวัด เป็นต้นซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันของญาติโยมบางคนก็ว่าควรทำ บางคนก็ว่าไม่ควรทำคุณดิณห์มีความเห็นอย่างไรเมื่อเอาหลักพระพุทธศาสนามาเป็นตัวตั้งในการวิเคราะห์ขอบคุณล่วงหน้าครับ

ตอบ: เขาทำดี ก็ดีแล้วนี่ครับ 🙂

ขอยกคำตรัสพระพุทธเจ้ามาอ้างอิงก่อนแล้วกันนะ “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราจักเตือนเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด นี่เป็นวาจาครั้งสุดท้ายของตถาคต”

การมีชีวิตอยู่เพื่อความผาสุกที่แท้จริงนั้น ต้องทำทั้งประโยชน์ตัวเอง คือขัดเกลา เพียรล้างกิเลสในใจตน ประกอบการงานเลี้ยงชีพ งานของพระคือศึกษาธรรมะและช่วยคนให้พ้นทุกข์ ฯลฯ และประโยชน์ท่าน คือ ประโยชน์ทั้งด้านรูปธรรมและนามธรรม คือ กิจกรรมการงานและการให้ความช่วยเหลือเพื่อคลายความทุกข์ ความลำบากของหมู่มิตร สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

เราจะมาเน้นตรง “ประโยชน์ท่าน” เพราะประโยชน์ท่านนี่แหละคือส่วนหนึ่งในการบรรลุธรรม คนที่ปฏิบัติธรรมถูกตรงก็จะมีความเมตตามากขึ้นเมื่อพากเพียรลดกิเลส ยิ่งหมดกิเลสก็ยิ่งเมตตาอยากช่วยคน อยากช่วยชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ในทางเดียวกันก็จะต้องใช้สังคมสิ่งแวดล้อมเป็นตัวขัดเกลากิเลสอัตตาของตัวเองให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป และแม้ท่านเหล่านั้นหมดกิจตนคือการล้างกิเลสแล้ว การช่วยเหลือผองชนก็ยังเป็นหน้าที่ของท่านอยู่ดี เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่อยู่กับสังคม อยู่ในสังคมแต่ไม่ปนไปกับสังคม ไม่ไปเสพกิเลสร่วมกับเขาและยังสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้

ในบทโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ คือ ให้หยุดทำชั่ว ทำแต่ความดี และทำจิตใจให้ผ่องใส

จะสังเกตได้ว่า หยุดชั่ว นั้นมาก่อนทำดี เราต้องหยุดชั่วเสียก่อนจึงจะทำดี ไม่อย่างนั้นก็เหมือนเติมน้ำในโอ่งที่รั่ว ไม่เต็มสักที ถ้าท่านเหล่านั้นมองว่าบ้านเมืองกำลังเกิดสิ่งชั่ว ท่านไปหยุดความชั่วนั้น ก็เป็นการหยุดชั่วที่ดีแล้วนี่

หรือท่านเห็นว่าหมู่บ้าน สังคม ชุมชนกำลังย่ำแย่ กำลังเป็นทุกข์ เป็นหนี้ การที่ท่านออกมาช่วยพัฒนาชุมชนก็จะช่วยลดความชั่วอันเกิดจากความทุกข์ ที่จะนำมาซึ่งการลักขโมยได้ ก็เป็นการหยุดชั่วที่ดีแล้วนี่

หรือแม้แต่ท่านหยุดการทะเลาะเบาะแว้งด้วยการเอาภาระมาเป็นของตน ก็อาจจะดีกว่าปล่อยให้ชาวบ้านทะเลาะกัน ด่าว่ากัน ทำร้ายกัน ฆ่ากัน ก็เป็นการหยุดชั่วที่ดีแล้วนี่

เราต้องสังเกตเอาเองว่า ท่านทำเพื่อลาภ ยศ ชื่อเสียง เงินทองหรือไม่ ท่านทำเพื่อตัวเองหรือไม่ ถ้าท่านเข้าไปทำเรื่องทางโลกเพื่อคนอื่น ไม่ใช่เพื่อตัวเอง มันก็ไม่ได้เสียหายอะไรมากนี่

ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับปัญญาของแต่ละท่านที่จะประมาณว่าทำสิ่งนั้นไปแล้วจะเกิดกุศลมากน้อยเท่าไหร่ เพราะบางทีเหตุการณ์ที่มันจะได้โดยไม่เสียมันไม่มี ต้องยอมเสียบ้าง เพื่อที่จะได้มากกว่า ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์หนึ่งถ้าไม่ทำอะไร จะเกิดอกุศล 20 แต้ม (อกุศลเพราะดูดาย ไม่ทำอะไรทั้งที่ทำได้) แต่ถ้าทำจะได้กุศล 80 แต้ม และอกุศล 40 แต้ม (ทำดี แต่ก็ไปทำให้คนอื่นเดือดร้อนเพิ่มขึ้น) ….ถ้าเทียบกันแล้วอกุศลมันก็ดูมากกว่าใช่ไหม แต่ผลรวม หรือค่ากุศลสุทธิมันได้กำไร ท่านก็อาจจะตัดสินใจลงทุนทำกิจกรรมนั้นๆก็ได้ ซึ่งเราเองหากไม่เคยฟังเหตุผล ไม่เคยถามท่าน ก็อย่าพึ่งไปตัดสินท่านเลย บางทีท่านประมาณเก่งกว่าเราเยอะ

การประมาณของพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้น จะเข้าใจยากเกินกว่าที่คนมีกิเลสหนาจะเข้าใจ เพราะท่านคิดในพื้นฐานของคนที่ขัดเกลากิเลส มีกิเลสน้อย หรือไม่มีกิเลสเลย มันไม่มีทางที่เราจะเข้าใจท่านเหล่านั้นได้เพียงแค่ใช้การคิดวิเคราะห์ไปเอง ทำได้อย่างมากแค่รอดูผลเท่านั้น เพราะจะเข้าไปยุ่งก็เสี่ยงนรกเปล่าๆ หากท่านเป็นพระอลัชชีที่คิดแต่จะหลอกลวงต้มตุ๋นก็รอดไปบ้าง แต่ถ้าท่านเป็นพระที่ปฏิบัติดี การเพ่งโทษครั้งหนึ่งคงจะพาเราลงนรกไปได้นานข้ามภพข้ามชาติเชียวละ

เราจำเป็นต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า เราเกิดมาเพื่อทำกุศลกรรม ก็คงจะดีถ้าในชีวิตมีทางให้เลือกชัดเจนว่าทางไหนคือดี ทางไหนคือชั่ว แต่ด้วยกรรมที่เราทำมาจะทำให้หนทางสู่ความดีแท้นั้นลึกลับซับซ้อน บางครั้งจำเป็นต้องเสี่ยง บางครั้งก็หลงผิดเห็นชั่วเป็นดี เห็นดีเป็นชั่ว ต้องใช้ปัญญาเท่าที่มีประมาณเอาเองว่าทำอย่างนั้นจะดีไหม ทำอย่างนี้จะดีไหม พระก็คนเหมือนเรานั่นหละ มีกรรมเหมือนเรา มีเหตุที่ต้องตัดสินใจเหมือนเรา เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งการทำกุศลที่มากกว่า ในบางครั้งอาจจะจำเป็นต้องยอมเสียบ้าง ยอมสละบ้าง ยอมถูกด่าบ้าง แต่เพื่อกุศลที่มากกว่า เพื่อสิ่งดีที่มากกว่า ในบางครั้งเราก็ยังยอมทำเลยใช่ไหม?

พระพุทธเจ้าท่านมีหลักในการใช้สังเกตการปฏิบัติของพระที่ปฏิบัติดีไว้ นั่นคือ เป้าหมายการประพฤติพรหมจรรย์ ๙ ได้แก่..ไม่ใช่เพื่อหลอกลวงคน ไม่ใช่เพื่อเกลี้ยกล่อมคน ไม่ใช่เพื่อลาภ สักการะ สรรเสริญ ไม่ใช่เพื่ออวดตนเป็นเจ้าลัทธิ ไม่ได้อยากให้คนรู้จักเราดังที่เราอวดอ้าง เป็นไปเพื่อความสำรวม เพื่อละกิเลส เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส

ถ้าพระท่านใดยังถือเอาเป้าหมายเหล่านี้เป็นกรอบการดำเนินกิจกรรมใดๆแล้วล่ะก็ ปล่อยท่านทำไปเถอะ อย่าไปยุ่งกับท่านเลย นรกกินหัวเปล่าๆ

– – – – – – – – – – – – – – –

14.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เรากราบอะไร?

September 6, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,676 views 0

เรากราบอะไร?

เรากราบอะไร?

อย่างที่รู้กันว่า คนไทยส่วนมากในประเทศไทยนั้น นับถือศาสนาพุทธ เราเป็นพุทธมาตั้งแต่เกิด เป็นพุทธตามทะเบียนบ้าน เรายึดถือและเข้าใจกันตามที่สังคมพากันปฏิบัติ โดยที่เราเองก็ไม่เคยได้ไปศึกษา “ศาสนาพุทธ” ให้ลึกซึ้งรู้จักแค่เพียงพุทธในภาพและรูปแบบที่บอกต่อกันมา…

เมื่อเริ่มมีอายุมากขึ้น ทั้งคนทำงานและคนเกษียณ ต่างพากันหาที่พึ่งทางใจ เนื่องด้วยชีวิตที่ยิ่งนานวันไปทุกข์ก็ยิ่งมาก แม้จะมีการงานดี ฐานะมั่นคงดี ลูกหลานดี ญาติมิตรดี บริวารดี แต่ก็หนีไม่พ้นทุกข์ทั้งทางกายและทางใจ …วัดหรือพระชื่อดังที่เก่าแก่ก็เลยกลายเป็นที่พึ่งของผู้ศรัทธาเหล่านั้น

ผู้ศรัทธาเหล่านั้นต่างตระเวนไปทั่วทุกสารทิศ เพื่อกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ จนทุกวันนี้มีให้เห็นธรรมะทัวร์เป็นธรรมดา เราตระเวนไปกราบอะไร? เรากราบพระใช่ไหม? แล้วพระที่บ้านกับพระที่เราไปกราบต่างกันอย่างไร? ในเมื่อพระพุทธรูปนั้นก็คือตัวแทนของพระพุทธเจ้า เพื่อให้เราระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าไม่ใช่หรือ? ดังนั้นความศักดิ์สิทธิ์ควรจะอยู่ที่ไหน?

ความศักดิ์สิทธิ์ก็อยู่ที่ทิฏฐิของเรานั่นแหละ ว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ หรือมิจฉาทิฏฐิ ถ้าเข้าใจผิด ต่อให้ไหว้ทุกวัดที่ศักดิ์สิทธิ์ทั่วโลก ไหว้ทั้งชีวิตก็ไม่สามารถที่จะพ้นทุกข์ได้หรอก เพราะการจะปฏิบัติจนเกิดสิ่งที่เรียกว่า “บุญ” นั้น จำเป็นต้องมีสัมมาทิฏฐิ คือความเห็น ความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์เป็นตัวตั้งเป็นเหมือนหางเสือควบคุมทิศทางเรือ ถ้าหันผิดทางก็คงจะไปนรกสถานเดียว เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ ทางนี้ทางเดียว ทางอื่นไม่มี ( เอเสวมัคโค นัตถัญโญ ) ” นั่นหมายถึงถ้าไม่เริ่มจาก สัมมาทิฏฐิ สัมมาอริยมรรคข้ออื่นๆก็คงจะผิดเพี้ยนกันไปหมด หลงทางไปหมด มัวเมาไปหมด พากันไปสู่ทางทุกข์กันหมด

ดังนั้นคนที่มีสัมมาทิฏฐิไม่ว่าจะกราบพระพุทธรูปที่ไหนก็เหมือนกัน แม้จะไม่มีพระพุทธรูปอยู่ตรงหน้า แต่กราบด้วยจิตที่ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า เป็นความศรัทธาด้วยเหตุแห่งปัญญา

เรากราบพระพุทธเจ้าด้วยความเข้าใจถึงความรู้และความเสียสละอันยิ่งใหญ่ของท่านที่บำเพ็ญเพียรมานานกว่าสี่อสงไขยกับอีกกว่าแสนมหากัป ยอมทนทุกข์ทรมานเพื่อที่จะเรียนรู้โลกจนแจ่มแจ้ง คือรู้ทั้งโลกียะและโลกุตระ เพื่อส่งต่อมาให้เราจนถึงปี พศ ๒๕๕๗ นี้

เรากราบพระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่จะพาเราพ้นทุกข์ เป็นไปเพื่อประโยชน์ตนเองและผู้อื่น เป็นสิ่งที่เป็นจริงตลอดกาล ไม่มีใครหักล้างได้ พิสูจน์กันได้ ใครตั้งใจทำก็สามารถเข้าถึงได้ทุกคน

เรากราบพระสงฆ์ คือ พระอริยะผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ผู้ที่เป็นตัวอย่างให้เราปฏิบัติตาม ผู้เป็นครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอนความรู้แก่เรา ผู้ควรกราบไหว้ เป็นเนื้อนาบุญที่ยังสืบเชื้อสายโลกุตระธรรมต่อจากพระพุทธเจ้า

เมื่อเข้าใจดังนี้เรา เราจะกราบพระที่ไหนก็เหมือนกัน เพราะทิฏฐิเราตั้งไว้ตรงดีแล้ว กราบที่ไหนก็ได้กุศลสูงสุดเหมือนกัน ไม่มัวเมาไปตามสิ่งที่โลกเขาพาให้เราเข้าใจ พาให้เราหลงไป เพราะเราได้เข้าใจสัมมาทิฏฐิ อันเป็นเนื้อหาสาระที่ควรเข้าถึง มิใช่ผู้ที่กราบไหว้พระพุทธรูปที่เขาว่าศักดิ์สิทธิ์ด้วยความศรัทธาเพียงเรื่องราวและคำกล่าวอ้าง

เป็นความเข้าใจที่เป็นเหมือนคลื่นแม่เหล็กนำพา ดูดดึงเอาสิ่งดีๆเข้ามาในชีวิต เพราะเมื่อเราเข้าถึงคุณค่าของการกราบพระ จนกระทั่งยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ไม่มีที่พึ่งอื่นใดนอกจากนี้ เราก็จะไม่ไขว้เขว ไม่หลงทาง ทางที่เดินต่อไปก็จะเป็นทางที่มีแต่สิ่งที่ดีเป็นส่วนใหญ่ เจริญขึ้นตามลำดับ พ้นทุกข์ไปเรื่อยๆ มีความสุขมากขึ้นไปเรื่อยๆ

– – – – – – – – – – – – – – –

6.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

รับน้อง

September 6, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,589 views 0

รับน้อง

รับน้อง

ช่วงนี้ได้ยินข่าวการรับน้อง เป็นอีกครั้งที่มีการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากให้เกิดอะไรไม่ดี แต่จะเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อเรากำลังใช้ชีวิตอย่างประมาท ทำกิจกรรมอย่างประมาท เพราะเราคิดอย่างประมาท

การรับน้องเป็นเรื่องของประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ อารมณ์ ความรู้สึก และกิเลส ซึ่งมีมานานตั้งแต่ยุคไหนสมัยไหนก็คงจะไม่เสียเวลาไปค้นหากันให้ยุ่งยาก รู้แค่ว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ สิ่งที่ดีงาม หรือเป็นการสนองตัณหา เสริมกิเลสก็พอ

ผมเองเคยเป็นทั้งรุ่นน้องและรุ่นพี่ที่เคยรับน้อง ซึ่งเข้าใจดีถึงประเพณีที่ปนเปื้อนไปด้วยความอยากที่ซุกซ่อนอยู่ภายในจิตใจของผู้ร่วมกิจกรรมทุกคน สมัยเป็นรุ่นน้องก็เคยเห็นเพื่อนๆเขาจริงจังกับกิจกรรมของรุ่นพี่ พอมาเป็นรุ่นพี่เราก็เห็นรุ่นพี่ทั้งหลายสนุกกับกิจกรรมของตัวเองโดยมีรุ่นน้องเป็นเหยื่อเหมือนกัน

จะสังเกตได้ว่ายิ่งนานวันไปกลุ่มที่มีลักษณะการรับน้องที่มีความรุนแรงและอารมณ์เข้ามาปนเปื้อนเยอะ ก็จะยิ่งเพิ่มระดับความรุนแรงและอารมณ์เข้าไปเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เกิดความเสียหายในรูปของการบาดเจ็บล้มตายและความเสื่อมเสียชื่อเสียงมากขึ้น เพราะกิเลสจะยิ่งพัฒนาตัวเองส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น รุ่นพี่ทำแบบนี้ พอรุ่นน้องมารับช่วงต่อ ก็เก็บเอากิเลสของรุ่นพี่มาต่อยอด คือต้องทำให้มันเจ๋งกว่ารุ่นพี่ พัฒนากันไปตามที่ใจอยากจะเป็น

ก็คงจะดีถ้าทิศทางการพัฒนานั้นเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ เกิดความดีงาม เกิดการพัฒนาในเชิงบวก มีกิจกรรมมากมายที่รุ่นพี่สามารถออกแบบใหม่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปติดกรอบเดิมๆที่เขาคิดไว้ กิจกรรมที่มุ่งเน้นความสัมพันธ์ ความอดทน ความกล้า ความเป็นผู้นำ ความสามัคคี นั้นมีมากมาย ถ้าคิดกันง่ายๆ ก็กิจกรรมจำพวกงานจิตอาสาต่างๆ เช่น…

..ชวนกันไปเก็บขยะตามสถานที่ต่างๆก็ได้ แค่นี้ก็วัดใจแล้วว่าจะกล้าลดตัวลดตน มาทำดีรึเปล่า

….ไปทาสี โรงเรียน วัด ก่อสร้างอาคาร ปรับปรุงพัฒนาสถานที่ ขนอิฐ แบกปูน แค่นี้ก็วัดความสามัคคี ความอดทน ความเป็นผู้นำ กันได้แล้ว

……ไปปลูกต้นไม้ ขุดลอกคลอง เก็บผักตบชวา ดำนา เกี่ยวข้าว …มีกิจกรรมที่สามารถดึงความสามัคคีและสร้างสรรค์ได้มากมาย เป็นกิจกรรมที่สามารถสร้างความสัมพันธ์ได้โดยไม่ต้องลำบากเสียเวลาไปทำสิ่งที่ไม่มีสาระ ไม่มีประโยชน์ กับตนเองและผู้อื่น

ซึ่งในปัจจุบันก็มีหลายๆกลุ่มที่เขาทำอยู่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่เราจะมองว่าแบบนี้แปลกไม่เหมือนรับน้อง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นไปในทางขัดใจ ขัดกิเลส ไม่ไปทางอกุศล ตามที่คนส่วนใหญ่มักเมามายในกิจกรรมที่พาให้หลงไปในสิ่งมัวเมาในอารมณ์ เมาโลกธรรม เมาอัตตา คือรุ่นพี่ก็เมาสรรเสริญ เมายศ หลงมัวเมาไปว่าตนเองเป็นรุ่นพี่ สั่งรุ่นน้องทำอะไรก็ได้ ทั้งที่จริงแล้วยศ อำนาจ เหล่านั้น เราก็ปั้นขึ้นมาเอง

เพราะความจริงเราก็เป็นแค่คนที่เข้ามาเรียนก่อนเขาปีหนึ่งเท่านั้นเอง อย่างมากก็แค่เรียนจบก่อน แล้วมันยังไงละ? มันดี มันเด่น มันยอดกว่าตรงไหน ตรงความรู้ใช่ไหม? สิ่งที่รุ่นน้องกับรุ่นพี่ต่างกันชัดเจนก็คือความรู้ นี่คือสิ่งที่ควรจะเอามาถ่ายทอดกันมากกว่า ส่วนเรื่องที่ไม่สร้างสรรค์ เรื่องการใช้อำนาจ การใช้กำลัง ความมัวเมา ใครก็ทำได้ ลองเอาปืนใส่มือเด็กสิ เด็กก็ยิงเป็น เผลอๆจะแม่นกว่าผู้ใหญ่อีก

ดังนั้นเราอย่าไปแข่งกันทำสิ่งที่ไม่สร้างสรรค์เลย เพราะเรื่องแบบนี้ใครก็ทำได้ แค่เพียงเขาไม่ทำกัน เพราะเขาเห็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียจากกิจกรรมที่ไม่สร้างสรรค์เหล่านั้น คนที่ไม่เห็นผลเสียแล้วยังมองว่าดี ก็เหมือนยังเห็นกงจักรเป็นดอกบัว

ถ้าเราสามารถกลับมาที่จุดเริ่มต้น คือ“รับน้องไปทำไม” เราจะคิดอะไรดีๆได้อีกมากมาย แล้วก็มาคิดกันต่อว่า แล้วรับน้องอย่างไรถึงจะได้ประโยชน์ทั้งกับเรากับน้อง จุดประสงค์คืออะไร ผลที่จะได้รับคืออะไร แล้วค่อยหากิจกรรมที่เป็นกุศล เป็นประโยชน์มาคิดกันอีกที

ถ้าทางที่รุ่นพี่พากันทำกันมามันคือทางที่ไม่สร้างสรรค์ พาให้เป็นทุกข์ พาไปนรก เรายังจะเดินตามกันไปอีกหรือ?

– – – – – – – – – – – – – – –

4.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์