การปฏิบัติธรรม

ยึดดี & เพ่งโทษ : หนทางแห่งความเสื่อมที่ขวางกั้นโอกาสแห่งการหลุดพ้น

July 25, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,839 views 0

ยึดดี & เพ่งโทษ : หนทางแห่งความเสื่อมที่ขวางกั้นโอกาสแห่งการหลุดพ้น

ยึดดี & เพ่งโทษ : หนทางแห่งความเสื่อมที่ขวางกั้นโอกาสแห่งการหลุดพ้น

กรณีศึกษา : ผู้ที่กินเนื้อสัตว์ และผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์

ประสบการณ์จะสร้างให้คนเรามีความยึดมั่นถือมั่นที่แตกต่างกัน และแต่ละคนก็มักจะมองว่าสิ่งที่ตนยึดไว้นั้นเป็นสิ่งดี จึงก่อเกิดเป็นความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งทำให้ไม่ยินดีจะรับรู้ในสิ่งอื่นที่แตกต่างจากที่ตนยึดไว้ และมักจะกลายเป็นการเพ่งโทษความเห็นที่แตกต่าง

ความยึดดีจะปิดกั้นการเรียนรู้โดยสมบูรณ์ ทำให้ไม่ฟัง ไม่ศึกษา ไม่เรียนรู้ในความคิดเห็นที่แตกต่างจากที่ตนเองยึดไว้ สิ่งใดที่คล้ายกับสิ่งที่ตนยึดไว้ก็มักจะเห็นดีด้วย แต่สิ่งใดที่ต่างออกไปหรือมีความหมายตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตนเองยึดไว้ว่าดี ก็มักจะมีการกระทบกระทั่ง เอาชนะกันด้วยความยึดดี มีการโอ้อวด ข่มเหง ดูหมิ่น ดูถูก ซึ่งเป็นลักษณะของการเพ่งโทษ คือทำให้ผู้อื่นหมดคุณค่า กล่าวหาว่าผู้อื่นผิด และสิ่งที่ตนเองยึดไว้นั้นถูกและดี

คนเราโดยส่วนมากแล้ว มักจะไม่มีใครยอมรับว่าตนเองรู้ไม่รอบ และมักจะปักมั่นในความเห็นว่าตนเองถูก สิ่งที่ตนเรียนรู้และเข้าใจมานั้นถูกต้อง เมื่อคนเสพความดีความถูกต้องที่เขาเข้าใจว่าดีนั้นไปเรื่อยๆก็จะเริ่มยึด กลายเป็นอัตตา ว่าตัวฉันเป็นแบบนั้นแบบนี้ ยึดมั่นถือมั่นว่าดีแท้ต้องเป็นแบบที่ตนเองยึดไว้ ใครทำไม่ได้เท่าที่ฉันเรียกว่าดี ก็ยังไม่ดี ใครว่าดีของฉันชั่ว คนนั้นคือคนชั่วไม่มีปัญญา และความยึดดีนี้เอง เป็นเหตุแห่งความเสื่อม เพราะมีโอกาสที่จะทำให้ไปเพ่งโทษผู้อื่นอีกมากมาย

การเพ่งโทษนั้นไม่มีคุณประโยชน์ใดๆเลย ในขั้นหยาบๆก็จะแสดงความอวดรู้ของตนเองมา หรือแม้แต่การเพ่งโทษในจิตก็ยังมีวิบากร้ายแรงอยู่ดี พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า คนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ส่วนบัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ดังนั้นผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมไม่เพ่งโทษใคร ส่วนผู้ที่เพ่งโทษนั้นก็คงจะหนีไม่พ้นคนพาล

การเพ่งโทษนั้นมีวิบากร้ายแรงหลายอย่าง อย่างที่หยาบที่สุดที่พอจะเห็นได้ทั่วไปก็คือไม่ได้รับความรู้นั้น ผู้ที่เพ่งโทษฟังธรรมหรือเรียนรู้สิ่งใดไปก็มีจิตเพ่งโทษไป ย่อมไม่สามารถเข้าถึงแก่นสารสาระของความรู้นั้นๆได้ ในส่วนของวิบากบาปก็มีมากมายหลากหลายตามน้ำหนักของกรรมที่ได้ทำ

ดังนั้นผู้ที่เพ่งโทษจึงไม่ได้รับความรู้ใหม่ๆ ซึ่งในความรู้เหล่านั้นก็อาจจะมีความรู้ที่จะพาให้หลุดพ้นปนอยู่ด้วย เมื่อเขาเหล่านั้นมีการยึดดีและเพ่งโทษผู้อื่นอยู่ ก็ย่อมจะเป็นคนพาลที่ยึดเอาแต่สิ่งที่ตนเองเห็นและเข้าใจว่าดีเช่นนั้น เมื่อเป็นคนพาลก็ย่อมมองไม่เห็นทางหลุดพ้น ดังนั้นการจะหลุดพ้นด้วยการยึดดีและเพ่งโทษผู้อื่นจึงเป็นไปไม่ได้เลย

ในบทความนี้เราจะมายกตัวอย่างในกรณีศึกษา ที่มักจะเป็นประเด็นในสังคมคือการเพ่งโทษกันระหว่างผู้ที่กินเนื้อสัตว์และผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์

ผู้ที่กินเนื้อสัตว์ – ยึดชั่วเกลียดดี

ผู้ที่ยังกินเนื้อสัตว์นั้นก็มักจะมีความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ มองเนื้อสัตว์ว่าเป็นของดี จึงมักจะเลี่ยงการละเว้นเนื้อสัตว์โดยหาเหตุผลมากมายเพื่อให้ตนเองนั้นได้กินเนื้อสัตว์

คือยังมีการยึดชั่วอยู่ แต่หลงว่าชั่วนั้นเป็นของดี หลงว่าการเบียดเบียนเป็นสิ่งดีที่ทำได้โดยไม่ผิด ถึงแม้ผิดก็จะยอมรับผลเพราะการได้เสพนั้นยังทำให้เป็นสุขอยู่ เมื่อตนเองนั้นยึดชั่วแล้วก็มักจะไม่อยากให้ใครมาบอกว่าชั่ว จะพยายามหาเหตุผลมารองรับว่าชั่วนั้นคือดี ปกป้องว่าสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นคือสิ่งดี

ทีนี้มันดีแค่ในความคิด แต่ความจริงมันไม่ดี เพราะยังเบียดเบียนอยู่ ยังเสพอยู่ ดังนั้นการจะทำให้สิ่งที่ไม่ดี ดูดีขึ้นมาได้จึงต้องทำลายความดีของสิ่งดี นั่นคือทำลายความดีของการไม่กินเนื้อสัตว์นั่นเอง

ผู้ที่ยึดชั่วจะพยายามทำให้ชั่วของตนนั้นเป็นเรื่องดีโดยการทำให้ความดี เช่นการลดเนื้อสัตว์หันมากินผัก กลายเป็นเรื่องที่ไร้สาระ ไม่มีแก่นสาร เพื่อที่จะทำให้ชั่วของตนนั้นไม่มีข้อเปรียบเทียบ ซึ่งเมื่อยึดมั่นถือมั่นในชั่วว่าเป็นดีเข้ามากๆแล้ว จะเริ่มปกป้องอัตตาของตัวเอง โดยการเถียง ดูหมิ่น โอ้อวด คุณวิเศษต่างๆที่ตนเข้าใจว่ามีดีกว่าคนที่ลดเนื้อสัตว์

ภาพที่เห็นได้ชัดคือการกล่าวหาผู้ที่เลิกกินเนื้อสัตว์ด้วยคำหยาบ คำดูถูกต่างๆนาๆ ที่เห็นได้ทั่วไปในสังคม เป็นการเพ่งโทษคนที่ทำดี เพราะคนที่เขาเลิกกินเนื้อสัตว์ เลิกเบียดเบียนสัตว์ เขาก็มีดีในเรื่องนั้นของเขา เขาก็ทำประโยชน์ได้จริงในส่วนนั้นของเขา แล้วคนที่ยึดชั่วจะทนไม่ไหว เพราะมันดีกว่าที่ตนทำได้ และตนเองก็ไม่อยากที่จะไปทำแบบนั้น จึงต้องพยายามทำลายความดีของการลดเนื้อกินผักเหล่านั้นเสีย

ผลที่ออกมาคือการเพ่งโทษ ดูถูกดูหมิ่น สร้างวิบากบาปให้ตัวเอง แม้เราด่าว่าคนชั่วก็บาปแล้ว แต่นี่เราด่าว่าคนดีที่เขาละเว้นเนื้อสัตว์ได้จริง แทบไม่ต้องเดาเลยว่าชีวิตจะเจอเรื่องซวยแบบไหนบ้าง เพราะการเพ่งโทษคนดีมีแต่จะนำความฉิบหายเข้ามาในชีวิตแต่ความยึดชั่วจะทำให้หลงว่าการลดเนื้อกินผักเป็นความไม่ดี จึงกลายเป็นมัวเมาในการเพ่งโทษคนดี เข้าใจไปว่าตนเองเป็นคนดีกำลังสอนคนชั่ว แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นคนยึดชั่วที่กำลังพยายามทำลายคุณความดีของคนอื่น

ผู้ที่ปฏิบัติธรรมจนมีปัญญา แม้จะมีผู้ที่คิดต่างจากที่ตนเข้าใจก็จะไม่ไปเบียดเบียนและทำร้าย ถึงแม้เขาจะทำสิ่งดีในสิ่งที่ตนเองทำไม่ได้ก็จะมีมุทิตาจิต ยินดีกับความดีนั้นด้วย ซึ่งจะไม่ได้ออกมาในแนวทางพาล เกเร ดูถูกดูหมิ่นหรือเพ่งโทษใคร

ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ – ยึดดีเกลียดชั่ว

เปลี่ยนมาในมุมของคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์บ้าง คนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็เป็นคนที่ดีในส่วนที่ไม่เบียดเบียนสัตว์แล้ว ซึ่งตรงนี้เป็นคุณความดีเรื่องหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด

บางครั้งคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์จะหลงยึดดี หลงว่าคนดีจะต้องทำแบบที่ตนเองทำทั้งหมด หลงว่าคนที่ดีแท้จะต้องเป็นแบบตน ต้องคิดแบบตน ต้องเข้าใจแบบตน ซึ่งกลายเป็นความยึดมั่นถือมั่นว่าคนดีนั้นจะต้องดีแบบตนเอง คนจะเรียกว่าดีได้ต้องลดเนื้อสัตว์ได้

ทีนี้พอหลงยึดดีเข้าแล้วมันจะเริ่มมองตนเองใหญ่ เพราะตนเองทำดีได้ และมองคนที่ทำดีไม่ได้แบบตนเองเล็ก เพราะเขาทำแบบเราไม่ได้ ซึ่งตรงนี้เองจะเป็นความซวยของคนดีที่ยึดดีเพราะมีโอกาสที่จะไปเพ่งโทษคนชั่วได้

คนที่ชั่วนั้นเขาอาจจะชั่วแค่ในเรื่องยังกินเนื้อสัตว์ แต่ค่ารวมๆเขาดีมาก อาจจะดีกว่าคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยซ้ำ เช่น เขามีศีลมีธรรม กินมื้อเดียว เว้นขาดจาการสมสู่ มีน้ำใจ มีจิตอาสา แต่เขายังกินเนื้อสัตว์อยู่ ทีนี้คนที่ยึดดีในการไม่กินเนื้อสัตว์ก็เอาความดีของตนไปข่มเขา ไปดูหมิ่นเขา ทั้งที่เขาชั่วอยู่เรื่องเดียว เรื่องอื่นเขาดีหมด ก็จะกลายเป็นความซวยของคนที่ยึดดี

เหมือนกับการไปเปรียบเทียบว่าช้างกระโดดไม่ได้ ช้างจึงไม่เก่งเท่ากระต่าย ซึ่งถ้ามองแต่เรื่องกระโดด ช้างมันก็ด้อยกว่ากระต่ายจริงๆ แต่ค่ารวมๆแล้วช้างเหนือกว่ากระต่ายมาก ซึ่งคนที่ยึดดีแต่ในเรื่องการไม่กินเนื้อสัตว์อย่างเดียว โดยไม่มององค์ประกอบอื่นๆร่วมด้วย จะทำให้เกิดการเพ่งโทษ ดูถูก ดูหมิ่น ผู้อื่น

และถึงแม้เขาจะไม่มีคุณความดีอะไรเลยก็ตาม ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะเอาความดีของเราไปข่มเหงรังแกเขา แต่เพราะความยึดดีของเรา เป็นอัตตาของเรา จึงทำให้เราอยากอยู่เหนือผู้อื่น เมื่ออยากเหนือผู้อื่นจึงพยายามกดผู้อื่นลงต่ำด้วยคุณความดีที่มีในตน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย

ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ – ยึดดีเกลียดดีที่ต่างออกไป

ความยึดมั่นถือมั่นนั้นยังมีมิติในการยึดที่หลากหลาย บางคนยึดว่าต้องสมบูรณ์แบบ บางคนยึดว่าต้องยิ่งกว่าสมบูรณ์แบบ เมื่อไม่ได้สมตามที่ใจหมายก็จะเป็นทุกข์และขุ่นเคืองใจ

การเพ่งโทษคนที่ยังกินเนื้อสัตว์นั้นก็ไม่สร้างผลดีอะไรกับชีวิต นับประสาอะไรกับการเพ่งโทษคนดีที่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยกัน เพราะในหมู่คนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ ก็ยังมีมิติของการละเว้นการเบียดเบียนที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็ใช้วัตถุเป็นตัวตั้ง บ้างก็ใช้ความเหมาะสมในชีวิตประจำวันเป็นตัวตั้งบ้างก็ใช้เจตนาเป็นตัวตั้ง

ซึ่งแต่ละคนก็มักจะมีความยึดดีและมองสิ่งที่ตนเองทำนั้นว่าดีที่สุดเยี่ยมที่สุด ฝ่ายที่เอาวัตถุเป็นที่ตั้งก็มักจะละเว้นไปจนถึงระดับไม่ยุ่งเกี่ยวใดๆกับสัตว์เลย ซึ่งมักจะเอนเอียงไปทางตึง ผู้ที่เอาความเหมาะสมเป็นที่ตั้งก็จะเอาความพอดีในชีวิตเป็นหลัก อันไหนเริ่มตึงก็จะไม่เอา ซึ่งมักจะเอนเอียงไปทางหย่อน ส่วนผู้ที่ใช้เจตนาเป็นตัวตั้ง คือการละเว้นกรรมชั่วที่มาจากเจตนาจะเบียดเบียนโดยมีแรงผลักดันจากความอยากได้อยากเสพในเนื้อสัตว์นั้น

ถ้าตามสมมุติโลกก็จะมองว่าการเป็นมังสวิรัติบริสุทธิ์ ไม่เสพ ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์เป็นที่สุด แต่ถ้ามองจากทางธรรมแล้ว จะมีเจตนาที่คิดจะละเว้นเป็นที่สุดโดยมุ่งกำจัดความอยากภายในตนเป็นหลักโดยที่ไม่ได้เน้นไปทางรูปภายนอกมากนัก

ทีนี้เวลาจะใช้วัดกุศลอกุศลตามหลักของพุทธจะใช้หลักของการลดกิเลสเป็นหลัก หมายถึงมาตรวัดคนดีของพระพุทธเจ้าคือต้องเป็นคนที่ลดความอยากได้จริง เอากิเลสที่ลดได้จริงมาเป็นสิ่งวัดความดีงาม

หากยกตัวอย่างเปรียบเทียบ การไม่กินเนื้อสัตว์โดยไม่ลดกิเลสก็คล้ายกับฤๅษีที่สามารถนั่งสมาธิได้เป็นเดือนเป็นปี ผู้คนให้ความเคารพยำเกรง มีรูปลักษณ์สวยงาม ถึงแม้จะมีรูปที่สวยเช่นนั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นพุทธเลย เพราะความเป็นพุทธที่แท้จริงนั้นคือการทำให้หลุดพ้นจากกิเลสได้ ดังนั้นขีดที่ตัดความถูกต้องของพุทธคือการลดกิเลสได้จริง ไม่ใช่การทำร่างกายให้บริสุทธิ์ แต่เป็นการทำใจให้บริสุทธิ์จากกิเลส

แต่ในเมื่อทุกคนมีกรรมต่างกัน มีความเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งก็มักจะยึดเอาแนวทางของตนว่าดีที่สุด เมื่อเกิดการยึดดีขึ้นก็ย่อมจะมีการดูถูก จับผิด ดูหมิ่น เพ่งโทษผู้ที่ปฏิบัติไม่เหมือนกับแนวทางของตน ซึ่งก็เรียกว่าเป็นความฉิบหายของคนดีที่หลงผิดไปยึดดี เพราะการเพ่งโทษกันเองในหมู่คนดีที่ละเว้นสิ่งชั่วได้แล้ว มีแต่จะสร้างหายนะให้แก่ผู้ที่มีจิตเช่นนั้น

ในหมู่คนที่ทำความดีนั้นก็มักจะมีการแข่งดี เอาชนะกันด้วยความดี ซึ่งก็เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นในดีเช่นกัน เมื่อเกิดความอยากเอาชนะ อยากแข่งขัน อยากได้รับการยอมรับ อยากได้รับการยกย่องชื่นชม ก็จะพยายามทำดีให้เหนือกว่าคนอื่น เมื่อเกิดความอยากเหนือกว่าผู้อื่นก็จะเริ่มมีจิตที่จะข่มหรือเพ่งโทษผู้อื่นตามไปด้วย ซึ่งก็จะกลายเป็นเหตุให้คนดีเหล่านั้นสร้างจิตอกุศล สร้างวิบากบาปให้กับตนเอง

การอยู่ในหมู่ของคนดีจึงต้องระวังมากเป็นพิเศษ ต้องระวังว่าตนเองจะมีจิตที่ลามก ไปโอ้อวด ดูหมิ่น ถือตัว ยกตนข่มท่าน ลบหลู่คุณคน แข่งดีเอาชนะ มีจิตเพ่งโทษกันและกัน ซึ่งเป็นเหตุที่จะสร้างวิบากบาป นำมาซึ่งความเสื่อมให้กับคนดีที่มีจิตเหล่านั้น ทำให้เสื่อมจากศีล เสื่อมจากธรรม เสื่อมจากความสุขความเจริญทั้งหลาย เปลี่ยนทิศทางเวียนกลับไปนรกก็เป็นได้

. . . บทสรุปของบทความนี้ คงจบลงตรงที่ ให้มุ่งทำดี แต่อย่ายึดดี เพราะการยึดมั่นถือมั่นไม่มีทางพ้นทุกข์ และไม่ควรมีจิตคิดเพ่งโทษผู้อื่น แม้เขาจะคิดเห็นไม่เหมือนเรา แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องตีทิ้ง ลองฟังเขาบ้าง ลองศึกษาเขาบ้าง อย่าเพิ่งรีบเชื่อและไม่เชื่อ ให้ใช้ปัญญาค่อยๆพิจารณาประโยชน์ของสิ่งนั้น ถ้าสิ่งที่เขาพูดมีประโยชน์ให้พยายามเข้าถึงคุณประโยชน์นั้น ถ้าสิ่งที่เขาพูดเป็นโทษก็ให้ละเว้นจากสิ่งนั้นเสีย เราค่อยตัดสินใจหลังจากพิจารณาสิ่งที่ได้รับฟังมาตามความเป็นจริงด้วยใจที่ปราศจากอคติลำเอียงก็ยังไม่สาย ดีกว่าที่เราจะรีบตัดสินผู้อื่นด้วยความยึดดีของเรา

– – – – – – – – – – – – – – –

23.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กินผักกินหญ้ากับการหลุดพ้น กินอย่างวัวควาย กินอย่างมนุษย์

July 19, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,048 views 0

กินผักกินหญ้ากับการหลุดพ้น กินอย่างวัวควาย กินอย่างมนุษย์

กินผักกินหญ้ากับการหลุดพ้น กินอย่างวัวควาย กินอย่างมนุษย์

การลดเนื้อกินผักนั้นเป็นหนึ่งในข้อปฏิบัติที่จะลดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เป็นทางแห่งบุญ สร้างกุศลกรรมอันมีแต่ประโยชน์ฝ่ายเดียว ไม่มีโทษใดๆเลย หากผู้ลดเนื้อกินผักนั้นมีความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์

แม้ว่าการลดเนื้อกินผักจะถูกมองว่าไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์ หรือหลุดพ้นจากสิ่งใดได้ นั่นก็เป็นเรื่องปกติ เพราะหากผู้ที่ไม่มีความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ก็จะไม่สามารถเข้าใจได้ว่า สิ่งเหล่านี้นำมาใช้ปฏิบัติอย่างไร ลดกิเลสอย่างไร เป็นประโยชน์อย่างไร ซึ่งการทำให้ทุกคนมีสัมมาทิฏฐินั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการเห็นต่างกันย่อมจะเป็นเรื่องธรรมดา

การลดเนื้อกินผักนั้นมิใช่การทำให้หลุดพ้นจากทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะขอบเขตของมันก็เพียงแค่ทำลายความอยากในการกินเนื้อสัตว์ ดังนั้นประสิทธิผลสูงสุดของมันก็แค่เพียงทำให้ความอยากกินเนื้อสัตว์หมดไป ทำให้หลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์ ทำให้ไม่ต้องกลายเป็นทาสเนื้อสัตว์ ซึ่งก็เป็นประโยชน์ที่มากเกินพอแล้วสำหรับการดำรงชีวิตในสังสารวัฏนี้

เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า การเบียดเบียนทำให้เกิดโรคมากและอายุสั้น ดังนั้นผู้ที่คิดจะบำเพ็ญบุญกุศลอยู่ในโลกนี้ ย่อมใช้การไม่เบียดเบียนนี่เอง ยังอัตภาพให้คงอยู่ เพื่อสร้างโอกาสให้ชีวิตได้เรียนรู้ที่จะทำให้เกิดบุญ และกุศลมากยิ่งขึ้น

กินอย่างวัวควาย

การลดเนื้อกินผัก มักจะถูกนำไปเปรียบเทียบว่า “ถ้าการไม่กินเนื้อสัตว์สามารถหลุดพ้นได้จริง วัวควายกินแต่หญ้าทั้งชีวิตก็หลุดพ้นไปแล้ว

ต้องทำความเข้าใจอย่างนี้ว่า วัวควายเหล่านั้นมันไม่ได้กินเนื้อสัตว์ ไม่ได้มีความอยากกินเนื้อสัตว์ เอาเนื้อสัตว์ไปให้มันก็ไม่กิน เพราะมันไม่มีสัญญาแบบนั้น มันไม่ได้หลงว่าเนื้อสัตว์กินได้ เป็นของน่าใคร่ เป็นของควรบริโภค ดังนั้นไม่ว่าจะให้เนื้อสัตว์ชั้นดีแค่ไหน มันก็ไม่กิน

แต่กับคนที่มีกิเลส ให้เนื้อสัตว์ไป เขาก็กิน ถ้าลองเอาเนื้อสัตว์ชั้นดีมายั่ว เขาก็อยาก ร้านไหนจัดโปรโมชั่นเนื้อสัตว์หายากราคาถูกเมื่อไหร่ผู้คนก็ต่างกรูกันเข้าไปกิน เดินทางแสวงหาเนื้อสัตว์ชั้นดีมาบำเรอความอยากของตนโดยมีข้ออ้างในการกินเนื้อสัตว์มากมาย เช่น เราต้องการโปรตีน เราต้องการวิตามิน เราต้องกินเพื่ออยู่ ฯลฯ จึงทำให้หมกมุ่นอยู่กับการกินเนื้อสัตว์นั้นเอง

ถามว่า “วัวควายมันมีความอยากเหมือนคนไหม? ” มันไม่มีนะ มันต่างกันตรงนี้ เพราะวัวควายมีขอบเขตของจิต มันเกิดมาโดยมีข้อจำกัดมาก จิตวิญญาณก็พัฒนาไม่ได้มาก กิเลสก็พัฒนาไม่ได้มาก มันเกิดมาเพื่อชดใช้กรรมหรือเพราะจิตนั้นยังไม่พัฒนาสู่ความเป็นมนุษย์

ดังนั้นการจะเอาวัวควายไปเทียบกับคนในบริบทของการบรรลุธรรมมันไม่สามารถเทียบกันได้ มันคนละบริบท มันคนละอย่าง

การเอาวัวควายไปเทียบกับคนนั้นเพราะไม่รู้ความแตกต่างของการปฏิบัติในจิต วัวควายมันไม่ต้องปฏิบัติอะไรเพราะมันไม่ได้มีความอยากหรือยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ แตกต่างจากคนที่มีความอยากและความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เหล่านั้น ถ้ามองเห็นเพียงว่าการลดเนื้อกินผักไม่ใช่หนทางขัดเกลาความอยากของตน ก็เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ไม่เข้าใจการปฏิบัติตนสู่ความพ้นทุกข์ เพราะหากเราไม่ขัดเกลาความอยากแล้ว จะพ้นจากทุกข์ได้อย่างไร?

การจะเข้าใจว่ากินอย่างวัวควายไม่บรรลุธรรมก็เป็นเรื่องจริง หากว่ากินโดยที่ไม่รู้ประโยชน์ สักแต่ว่ากิน ไม่รู้ไปถึงตัณหา อุปาทานก็จะเป็นการกินผักกินหญ้าไปเช่นนั้นเอง แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นอย่างนั้น คนที่กินผักกินหญ้าก็ยังเป็นคนที่ทำคุณประโยชน์ให้โลกมากกว่าเพราะไม่เบียดเบียนตนเองด้วยส่วนแห่งอกุศลกรรม ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น จึงเป็นชีวิตที่กินผักกินหญ้าที่มีประโยชน์ต่อโลก ไม่ตกต่ำไปกว่าสัตว์อย่างวัวควาย ควรค่าที่เกิดมาเป็นคน

กินอย่างมนุษย์

การลดเนื้อกินผักอย่างมนุษย์ผู้เจริญแล้ว คืองดเว้นการเบียดเบียนสัตว์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เมื่อรู้ว่าตนเองนั้นยังเป็นเหตุที่เขาจะต้องฆ่าสัตว์ ก็จะมีความยินดีที่จะงดเว้นเหตุแห่งการเบียดเบียนเหล่านั้นเสีย

เป็นความเจริญของจิตใจที่มีเมตตาขยายขอบเขตออกไปมากกว่าการเลี้ยงชีวิตตนเอง เพราะถ้าเราคนถึงแต่ชีวิตตนเอง มีแต่ความเห็นแก่ตัว เราก็จะใช้สิ่งอื่นมาบำเรอตนโดยที่ไม่สนใจว่าสิ่งนั้นจะมีต้นเหตุที่มาเช่นไร

ความเห็นแก่ตัวหรือจะเรียกว่าความเห็นแก่กิน หรือการกินโดยไม่ใช้ปัญญาไตร่ตรองว่าเนื้อสัตว์นั้นเป็นเนื้อที่สมควรหรือไม่ เนื้อที่เขาฆ่ามาย่อมไม่ใช่เนื้อที่สมควรบริโภค เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่ควรสนับสนุนด้วยประการทั้งปวง เนื้อที่เขาฆ่ามาย่อมเป็นที่น่ารังเกียจของผู้เจริญ

แต่ความเห็นแก่ตัวนั้นจะทำให้จิตใจคับแคบ สายตาคับแคบ มองเห็นเพียงแค่เนื้อสัตว์นั้นทำให้ชีวิตตนดำรงอยู่ มองเห็นเป็นเพียงวัตถุสิ่งของที่อยู่ตรงหน้า มองเห็นแค่ในระยะที่ตนเองเอื้อมถึง ไม่มองไปถึงเหตุเกิดที่มาของสิ่งเหล่านั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ ผู้ที่ไม่สามารถมองเห็นเหตุเกิดของสรรพสิ่งทั้งปวงย่อมไม่สามารถดับทุกข์หรือบรรลุธรรมใดๆได้เลย

กินลดเนื้อกินผักอย่างมนุษย์ผู้เจริญ จึงเป็นการกินผักที่มองไปถึงเหตุเกิด มองไปถึงสิ่งที่ทำให้ต้องไปกินเนื้อสัตว์ นั้นก็คือความอยากได้อยากเสพเนื้อสัตว์ ความหลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์ ความยึดมั่นถือมั่นในคุณค่าลวงที่โลกปั้นแต่งให้กับเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามาเหล่านั้น และมุ่งทำลายเหตุเหล่านั้นโดยการไม่ให้อาหารกิเลส ทรมานกิเลส ไม่ตามใจกิเลส

ดังนั้นการลดเนื้อกินผักของผู้มีความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ก็คือการไม่ยอมไปกินเนื้อสัตว์นั้นตามที่กิเลสลากให้ไปกิน กิเลสจะหาเหตุผลมากมายให้ได้ไปเสพเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ให้ไปเบียดเบียนโดยที่ไม่ต้องรู้สึกผิด ให้หลงว่าการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นไม่มีผล

ทุกการกระทำใดๆที่มีเจตนาย่อมสั่งสมเป็นกรรม การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาก็ย่อมมีผลเช่นกัน ซึ่งผลกรรมของมันก็จะต่างกับการกินพืชผักอย่างแน่นอน ดังนั้นผู้ที่มีปัญญาย่อมไม่แสวงหาเหตุผลในการสร้างอกุศลกรรมใดๆให้ตนเอง ไม่หาเหาใส่หัวโดยที่ไม่จำเป็น เพราะหากไม่มีความอยากกินเนื้อสัตว์แล้ว แม้จะมีเนื้อสัตว์ชั้นดีที่ผู้คนต่างใคร่อยาก มาวางอยู่ตรงหน้า จัดให้กินฟรีๆทุกวี่ทุกวัน ก็ไม่มีความหมายใดๆ สำหรับผู้หลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์เลย เป็นความหลุดพ้นจากความเป็นทาส

จึงสรุปได้ว่าการลดเนื้อกินผักอย่างมนุษย์คือการขัดเกลากิเลสที่เกาะกุมอยู่ในจิตใจ ซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้อยากจะไปเสพเนื้อสัตว์ แต่การลดเนื้อกินผักอย่างวัวควายก็เป็นธรรมชาติของวัวควาย และเป็นความเข้าใจของผู้ที่ยังเห็นไม่รอบ ยังไม่เห็นกิเลส ยังไม่เห็นตัวตนของความอยากนั้น ยังไม่สามารถเข้าใจได้ว่าความอยากนั้นเป็นภัยแก่ตนอย่างไร ยังไม่รู้ว่าตัณหาเป็นเหตุของอุปาทาน ที่จะทำให้เกิด ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส

– – – – – – – – – – – – – – –

19.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

July 13, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 13,299 views 11

พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

มังสวิรัติกับพระพุทธศาสนานั้นเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมานานแสนนานว่า พระพุทธเจ้าท่านกินเนื้อสัตว์หรือไม่? ในบทความนี้ไม่มีหลักฐานทางวิชาการใดๆที่จะมาแสดง มีเพียงผลของการปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธศาสนาที่จะมายืนยันกันว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่กินเนื้อสัตว์

พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติว่าสาวกห้ามกินเนื้อสัตว์ แต่มีข้อแม้มากมายในการได้กินเนื้อสัตว์นั้นๆ เช่นเนื้อสัตว์ที่ห้ามกินอย่างเด็ดขาดสิบอย่างในมังสัง ๑๐ คือห้ามกินเนื้อ มนุษย์ ช้าง ม้า สุนัข งู สิงโต เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว หรือแม้แต่เนื้อสัตว์ที่เขาลากมา บังคับมา แล้วก็ฆ่ามา เป็นเนื้อที่มีบาป เป็นเนื้อสัตว์นอกพุทธ ดังนั้นจึงไม่ควรกินอยู่แล้ว อีกทั้งบัญญัติว่าสามารถกินเนื้อที่ไม่เห็นว่าเขาฆ่ามา ไม่ได้ยินว่าเขาฆ่ามา ไม่รังเกียจว่าเขาฆ่ามา ในข้อไม่รังเกียจนี้เองเป็นตัววัดหิริโอตตัปปะ เพราะเนื้อสัตว์ที่ถูกเบียดเบียนมาย่อมไม่เป็นที่น่ายินดีในหมู่สาวก เนื้อสัตว์ที่ได้มานั้นย่อมเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ

ซึ่งในทุกวันนี้เรียกได้ว่ายากนักที่จะหาเนื้อสัตว์ที่ไม่มีบาปบน เพราะเนื้อสัตว์ที่ขายอยู่ก็มีแต่เนื้อที่เขาฆ่ามาทั้งนั้น ใครๆก็รู้ว่ามันไม่ได้ตายเอง เขาเพาะเลี้ยงมา เขาจับมา เขาฆ่ามา แล้วเขาก็เอามาขายเรา เมื่อเรารู้ดังนี้ย่อมไม่ยินดีส่งเสริมให้เขาทำอาชีพที่เป็นบาปเหล่านั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ถึงการค้าขายที่ชาวพุทธไม่ควรทำ มีสองข้อที่เกี่ยวกันคือ ห้ามค้าขายชีวิต และห้ามค้าขายเนื้อสัตว์ นั่นหมายความว่าหากฝืนทำก็ไม่ใช่พุทธ เพราะพุทธไม่ส่งเสริมให้เบียดเบียนทั้งทางตรงและทางอ้อม

ในบทโอวาทปาติโมกข์ยังได้กล่าวว่า ผู้เบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่เรียกว่าเป็นสมณะเลย สมณะนั้นคือผู้สงบจากกิเลส เป็นสงฆ์สาวกของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เรารู้ในใจกันดีอยู่แล้วว่าการไม่กินเนื้อสัตว์คือการไม่มีส่วนในการเบียดเบียนสัตว์นั้น การยังกินเนื้อสัตว์อยู่เป็นการเบียดเบียนกันอย่างตรงไปตรงมา เพียงแต่เราไม่คิดจะสนใจที่ไปที่มาของเนื้อสัตว์เหล่านั้นเท่านั้นเอง

ถ้าหากเรายังยืนยันว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่สมควรแล้วล่ะก็ ความเห็นของเราก็จะไปขัดกับพระสูตรต่างๆอยู่เสมอ เช่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น แต่คนที่หลงว่าเนื้อสัตว์เป็นคุณค่าก็จะกินเนื้อสัตว์โดยหวังให้ร่างกายแข็งแรง ซึ่งขัดกับสัจจะของพระพุทธเจ้าโดยสิ้นเชิง ถ้าท่านตรัสแนวทางปฏิบัติไปสู่การพ้นทุกข์ ผู้ที่เห็นต่างจากพระพุทธเจ้าก็มีความเห็นที่ดำเนินไปสู่ความเป็นทุกข์เท่านั้นเอง

ความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม

ผมเองเป็นคนหนึ่งที่ใช้หลักปฏิบัติของพระพุทธศาสนาเข้ามากำจัดความอยาก จากคนที่เคยหลงใหลชอบใจในรสของเนื้อสัตว์ เคยยึดมั่น เคยผูกพัน แต่ก็สามารถใช้กระบวนการของพุทธเข้ามากำจัดความอยากและความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เหล่านั้นได้

เมื่อหมดความอยากกินเนื้อสัตว์ ก็ไม่รู้สึกว่าเนื้อสัตว์มีคุณค่าแต่อย่างใด ไม่จำเป็นต้องไปกินให้เมื่อย ไม่ต้องเบียดเบียนสร้างกรรมชั่วให้ต้องลำบากรับการมีโรคมากและอายุสั้นในภายหลัง ไม่ต้องคอยคิดปั้นแต่งเหตุผลใดๆที่จะทำให้การกินเนื้อสัตว์นั้นดูเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ต้องผูกภพผูกชาติกับเนื้อสัตว์ ไม่ต้องเป็นทาสเนื้อสัตว์อีกต่อไป

และยังมีปัญญารู้อีกด้วยว่า การกินเนื้อสัตว์ เป็นโทษ ทุกข์ ภัย ผลเสียอย่างไร มีปัญญาที่จะหลีกเลี่ยงละเว้น และอนุโลมบ้าง โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นใดๆ ให้ใจต้องเป็นทุกข์จากความอยากและไม่อยาก ไม่มีทั้งความทั้งความอยากกินเนื้อสัตว์ และไม่อยากกินเนื้อสัตว์ ไม่ใยดี ไม่สนใจ ไม่ให้คุณค่า มีเพียงประโยชน์และโทษตามความเป็นจริง โดยรวมเนื้อสัตว์ส่วนใหญ่นั้นเป็นโทษอยู่แล้ว เราจึงไม่เอาสิ่งที่เป็นโทษนั้นเขามาใส่ตัวด้วยใจที่เป็นสุข

นี่คือผลที่ปฏิบัติมาด้วยการชำระล้างความอยากกินเนื้อสัตว์ให้หมดไปจากจิตวิญญาณ ถือเป็นกิเลสระดับที่ไม่ยากไม่ลำบากนัก สาวกระดับกระจอกๆอย่างผมยังทำได้ แล้วผู้ที่มีบุญบารมีมากกว่าจะไม่ได้หรืออย่างไร แล้วพระพุทธเจ้าผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้งจะขนาดไหน ท่านรู้ทุกอย่างในโลก ท่านรู้ที่มาที่ไปของทุกเหตุปัจจัย ขนาดผมไม่รู้ถึงขนาดท่านก็ยังรู้เลยว่าเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่ไม่ควรบริโภค เพราะค่าโดยรวมแล้วมีโทษมากกว่าประโยชน์ เรียกว่าได้รสสุขนิดหน่อย แต่เก็บสะสมอกุศลกรรมสร้างทุกข์ไปอีกนานแสนนาน

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาที่จะรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ สิ่งใดเป็นสาระแท้ สิ่งใดเป็นสิ่งลวง เมื่อเราเห็นความจริงตามความเป็นจริงแล้วว่าสิ่งนั้นเป็นโทษ เราก็ไม่ควรจะเอาโทษนั้นมาใส่ตัว หากว่าเราไม่มีกิเลส ก็คงจะไม่มีแรงต้านมากนัก แต่หากกิเลสมาก ก็คงจะคิดหาวิธีที่จะให้ได้เสพเนื้อสัตว์โดยไม่ต้องรู้สึกผิดหรือถูกกล่าวหาใดๆ

แม้แต่การกล่าวหาว่าพระพุทธเจ้าฉันเนื้อสัตว์ ก็ไม่สามารถพิสูจน์ข้อคิดเห็นเหล่านี้ได้เลย ไม่มีหลักฐานชี้ชัดใดๆเลยสักอย่างเดียว เรื่องราวทั้งหมดนั้นผ่านมากว่าสองพันห้าร้อยปีแล้ว สิ่งที่เหลือไว้มีเพียงคำสั่งสอนให้เพียรปฏิบัติจนเกิดปัญญารู้ขึ้นเอง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ควรเชื่อแต่แรก แต่ควรพิสูจน์ให้เห็นด้วยปัญญาของตนเองว่าเนื้อสัตว์นั้นควรละเว้นหรือควรบริโภค

ผู้ที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนานั้นก็มีมากมายหลากหลาย มีอินทรีย์พละต่างกัน ผู้ที่สามารถตัดความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ก็มี ผู้ที่ยังหลงเมามายอยู่กับรสของเนื้อสัตว์ก็มี แต่หากมุ่งปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ก็เป็นสาวกในพระพุทธศาสนาทั้งนั้น แม้ว่าจะยังไม่สามารถละเว้นการเบียดเบียนทั้งหมดได้ แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้ทิ้งคนเหล่านั้น เพราะพวกเขายังมีความดี ยังมีทิศทางในการลดละกิเลสอยู่ จึงไม่มีบัญญัติใดๆที่ระบุว่าห้ามกินเนื้อสัตว์อย่างชัดเจน มีเพียงข้อแม้ต่างๆตามที่ได้ระบุไว้ดังที่ยกตัวอย่างบางส่วนมาก่อนหน้านี้

คนที่อยากกินเนื้อสัตว์ก็จะหาช่องว่างในเนื้อหาและตัวอักษรเหล่านั้นให้ตัวเองได้กินเนื้อสัตว์ ส่วนคนที่ปฏิบัติจนลดและทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ก็จะไม่สงสัยใดๆอีกว่าควรจะกินเนื้อสัตว์หรือไม่กิน

การเลือกกินเนื้อสัตว์เป็นเจตนา ซึ่งเป็นกรรมของแต่ละคน ดังนั้นจึงควรพิจารณาอาหารเสียก่อนว่าเราควรจะทำกรรมนี้หรือเราจะเลี่ยงกรรมนี้ หากมีผักและเนื้อสัตว์อยู่ตรงหน้า เราจะเลือกเขี่ยสิ่งใดออก เราจะเลือกนำสิ่งใดเข้าปากเรา เราจึงควรใช้ปัญญาของเราพิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ให้เห็นประโยชน์และโทษของมัน ควรเว้นจากสิ่งที่เป็นโทษ เข้าถึงสิ่งที่มีประโยชน์ จึงจะพบกับความผาสุก

ตราบใดที่เรายังกำจัดความหลงในเนื้อสัตว์ไม่ได้ เนื้อสัตว์เหล่านั้นก็จะยังคงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในชีวิตเรา มีอิทธิพลต่อเรา เป็นตัวกำหนดทุกข์และสุขของเรา เป็นเจ้านายของเรา เพราะเราไปยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เหล่านั้นจนเป็นเหตุให้ต้องทุกข์เมื่อไม่ได้เสพ เป็นสุขเมื่อได้เสพ วนเวียนอยู่ในสุขทุกข์แบบโลกๆอย่างไม่มีวันจบสิ้นเพราะเป็นทาสเนื้อสัตว์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :ข้อสรุปจากบทความ “พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ จากความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม”

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :กรณีการโต้แย้งต่างๆในบทความ “พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ จากความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม”

– – – – – – – – – – – – – – –

13.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กินมื้อเดียวแล้วหน้าเด็ก

July 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,442 views 0

ช่วงนี้มีกระแส “กินมื้อเดียวหน้าเด็ก” ที่แชร์กันมากมายสังคมออนไลน์นี้

ซึ่งก็เป็นประสบการณ์ที่มีนายแพทย์ชาวญี่ปุ่นทดลองแล้วเอามาบอกผลกัน ผมซื้อหนังสือ “ยิ่งหิวยิ่งสุขภาพดี” ของเขามาแล้วแต่ก็ยังไม่มีโอกาสหยิบมาอ่านสักที แต่จากที่่ดูคร่าวๆก็เป็นการทดลองที่มีิทฤษฏีอ้างอิงและการทดลองเชิงวิทยาศาสตร์นะ

มาเข้าเรื่องกันดีกว่า…

การกินมื้อเดียวในมุมของชาวพุทธเรานี่ไม่ได้ทำเพื่อมุ่งผลประโยชน์ทางโลก อะไรเลยนะ ไม่ได้กินเพราะต้องการจะได้อะไรเลย แต่ก็รู้ว่ากินแล้วมีประโยชน์

จริงๆแล้วการกินมื้อเดียวนี่แหละ คือความพอดีที่สุดในโลก เหมาะสมที่สุด ทำให้ร่างกายแข็งแรงที่สุด แต่การเข้าถึงความพอดีนั้นก็ไม่ใช่ง่าย เพราะการกินมื้อเดียวถือเป็นศีลในระดับ “ยาก

คำว่ากินมื้อเดียวนี่ไม่ใช่กินแค่วันพระนะ แต่กินไปตลอดชีวิตนั่นแหละ โดยเป้าประสงค์คือกำจัดกิเลสในการอยากกินอาหารหลายมื้อให้หมดสิ้นไป ความอยากนี่มันสร้างทุกข์อย่างมากนะ มันจะหาเหตุผลให้กินหลายมื้อท่าเดียว แถมไปหลอกจิตให้สั่งกายให้หลั่งน้ำย่อย อาการปวดท้อง ทำให้อ่อนแรง โอย…วุ่นวาย

แล้วก็ไม่ใช่กินอย่างยึดมั่นถือมั่นนะ คือกินอย่างมีปัญญารู้ว่ากินมื้อเดียวดีอย่างไร แต่ก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องกินได้มื้อเดียวแบบพอดีตลอดชีวิต เอาเป็นว่าค่ารวมๆจะได้มากกว่า 90% ซึ่งอาจจะพลาดตรงการประเมินอาหารที่ต่างไปจากปกติ ความเจ็บป่วย ภาระหน้าที่ที่สำคัญ ฯลฯ

คนกินมื้อเดียวได้ ก็จะเข้าใกล้ความไม่มีเข้าไปทุกที อย่างน้อยก็ไม่มีความอยากจะไปกินหลายมื้อ กินมื้อเดียวได้โดยไม่ต้องมีศีลหรือมีกฎใดๆมาคุม เพราะมีปัญญารู้ในตนแล้วว่ามื้อเดียวนี่แหละดีที่สุดในโลก กินหลายมื้อสิเฟ้อ ทำให้ลำบากกาย และพาให้เจ็บป่วยอีก

สนใจแลกเปลี่ยนเรื่องกินมื้อเดียวก็ทักทายกันมาได้ครับ