ธรรมะประยุกต์

เกมที่สนุกที่สุดในโลก

September 17, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,273 views 0

เกมที่สนุกที่สุดในโลก

เกมที่สนุกที่สุดในโลก: การปฏิบัติไตรสิกขา อธิบายเปรียบเทียบกับการเล่นเกมกรณีศึกษา การกินมังสวิรัติ

ถ้าพูดถึงเรื่องธรรมะ การปฏิบัติธรรม การล้างกิเลส ก็ดูจะเป็นเรื่องของคนมีอายุ คนใจบุญ คนปลงชีวิต คน…อะไรก็ว่าไป แต่ในบทความนี้จะมาพิมพ์เรื่องการปฏิบัติธรรมอธิบายโดยเปรียบเทียบกับการเล่นเกม เพื่อให้คนหนุ่มสาวในยุคนี้ ที่ผ่านการเล่นเกมมา ได้เข้าใจว่า การปฏิบัติธรรมนั้นเข้าใจง่ายกว่าที่คิด

หลายคนที่เคยเล่นเกมมา ก็จะคุ้นเคยกับระบบของการพัฒนาตัวละครที่เราเล่น เช่น ทักษะ กำลัง ปัญญา พัฒนาอาวุธชุดเกราะ การเดินทาง ไปจนถึงปราบศัตรูต่างๆ จนได้รับรางวัล ได้แต้ม ได้คะแนน ได้เงิน มาเพื่อพัฒนาตัวเองให้เก่งยิ่งๆขึ้น การปฏิบัติธรรมก็คล้ายๆกัน จะลองอธิบายโดยยกตัวอย่างดังนี้

…เกมมังสวิรัติ

เราจะเลือกเกมขึ้นมาเกมหนึ่ง จะเป็นเกมอะไรก็ได้ เช่น เกมขยัน เกมตื่นเช้า เกมเมตตา เกมลดน้ำหนัก เกมไม่โกรธ แต่ในบทความนี้จะยกตัวอย่างเป็นเกมมังสวิรัติ เพราะเล่นได้มากถึง 3 ครั้งต่อหนึ่งวันเลยทีเดียว

เมื่อเริ่มเกมก็จะมีตัวเอกคือตัวเรา และเป้าหมายของเกมก็คือกินมังสวิรัติให้ได้ มีวิธีฝึกฝนตัวเองโดยใช้สมถะและวิปัสสนา มีด่านและศัตรูต่างๆให้ต้องเผชิญด้วยการปฏิบัติไตรสิกขา มีกระบวนการเอาชนะแต่ละด่านด้วยจรณะ๑๕ เพื่อข้ามภพ ๓ คือแต่ละช่วงของด่านนั้นๆ

…สรุปเครื่องมือที่จะหยิบมาอธิบายในเบื้องต้น

สมถะ คืออุบายทางใจ ใช้เพื่อสร้างสมาธิ สร้างกำลัง ความสงบ พักผ่อนจิต เก็บสะสมพลังในการกดข่มกิเลสต่างๆ

วิปัสสนา คืออุบายทางปัญญา คือการพิจารณาให้เห็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของกิเลสตามความเป็นจริง

ไตรสิกขา คือการใช้ อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เข้ามาเพื่อขยับฐานหรือเปลี่ยนไปเล่นกับกิเลสที่ยากขึ้นเรื่อยๆ

จรณะ๑๕ คือ ข้อประพฤติปฏิบัติ เพื่อการบรรลุธรรม

ภพ๓ คือ กามภพ (สภาพที่ยังเสพกิเลสอยู่) รูปภพ ( อดกลั้นไม่ไปเสพกิเลสได้) อรูปภพ ( ไม่คิดจะไปเสพกิเลสแล้ว แต่ไม่โปร่งใจ)

จริงๆ แล้วมีเครื่องมือที่ต้องใช้ร่วมในการปฏิบัติธรรมหรือเล่นเกมสู้กับกิเลสนี้อีกมาก เพียงแต่จะยกตัวอย่างให้พอเห็นภาพกว้างๆ ให้ได้ก่อน

….เริ่มเกมกันเลย

เมื่อเราได้ศึกษาจนมีความรู้ว่า การกินมังสวิรัตินั้นดี ไม่เบียดเบียนใคร เราจึงตั้ง “อธิศีล” คือ การตั้งข้อปฏิบัติสู่ความไม่เบียดเบียน เป็นการทำศีลที่มากกว่าที่ตัวเองเคยถืออยู่ในชีวิตปกติ เหมือนกับที่เรากำลังเลือกที่จะเข้าไปต่อสู้กับศัตรูในด่านแรก นั่นคือ บอสวัว(หัวหน้าศัตรูที่เป็นเนื้อวัว) หรือสู้กับความอยากกินเนื้อวัว

เมื่อเราเลือกที่จะเข้าไปสู้กับบอสวัว หรือสู้กับความอยากกินเนื้อวัว โดยการตั้งศีล ตั้งใจตั้งมั่นในศีลนี้แล้ว ก็ให้เราระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเราไม่ให้เข้าไปใกล้เนื้อวัวมากนัก และแม้จะต้องเข้าไปใกล้ก็ต้องรู้จักประมาณพลังใจของตัวเองให้ดี อย่าไปทำเก่ง ทำกล้า คิดว่าข้าแน่ ข้าทนไหว เช่น ชอบสเต็กมาก แล้วเพื่อนก็ชวนไปกินสเต็กก็ไปกับเขาด้วย สุดท้ายก็ทนไม่ไหว กิเลสส่งกองกำลังมากระซิบเบาๆ ว่า “ กินไปเถอะ ไหนๆเขาก็ตายมาแล้ว กินเขา เขาได้บุญนะ ขำๆ” สุดท้ายก็แพ้บอสวัวชิ้นนั้นไปจนได้

หากเราประมาณตัวเองให้ดีแล้ว ก็ให้สร้างความตื่นตัวในการที่จะลด ละ เลิกเนื้อวัวนั้น โดยใช้วิปัสสนา คือพิจารณาให้เห็นประโยชน์ในการออกจากเนื้อวัว ให้เห็นทุกข์ โทษ ภัยในการกินเนื้อวัว ให้เห็นว่ากิเลสที่อยากกินเนื้อวัวไม่ใช่ตัวเรา ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เห็นผลของกรรมจากการที่เรายังเสพยังติดเนื้อวัว แต่ถ้ามันเหนื่อย รู้สึกไม่ไหว หมดแรงพิจารณา ก็พักหรือสลับด้วยการทำสมถะ สะสมพลังด้วยการกำหนดจิตไว้ให้นิ่ง จะพุทโธ ยุบหนอพองหนอ หรือเดินจงกรม หรือจะประยุกต์ใช้วิธีอะไรก็แล้วแต่จะถนัด การทำสมถะจะสามารถช่วยให้เราวิปัสสนาได้ดีขึ้น

เมื่อทำอย่างตั้งมั่นด้วย “อธิจิต” คือไม่หวั่นไหว ไม่ล้มศีล และไม่เคร่งจนเครียด พิจารณาต่อเนื่องจนเกิดความศรัทธาในการลดการกินเนื้อวัว แม้จะยังมีความอยากอยู่ แต่ใจเริ่มจะเชื่อมั่นแล้วว่าลดเนื้อวัวนี่มันดีนะ เมื่อเกิดศรัทธาที่เต็มรอบ ก็จะนำมาซึ่งหิริ คือความละอายต่อบาป แม้จะเผลอกลับไปกินเนื้อวัวเพราะความอยากบ้าง ก็จะรู้สึกไม่ดีรู้สึกละอาย รู้สึกผิด เมื่อพัฒนาตัวเองมาเรื่อยๆ จะเข้าสู่สภาวะ โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวต่อบาป ถึงระยะนี้จะไม่กล้าแตะเนื้อวัวแล้ว เพราะรู้โทษของมัน ถ้าเป็นภาพในเกม บอสวัวที่เรากำลังสู้อยู่ก็บาดเจ็บพอสมควรและมันเริ่มจะทำอะไรเราไม่ได้แล้ว แต่ก็ยังไว้ใจไม่ได้ เพราะถ้าปล่อยไว้มันก็พื้นตัวได้ เหมือนกับกิเลสที่สามารถสะสมกำลังจนทำให้เราอยากกลับไปเสพได้

ในระยะนี้เราจะสามารถข้ามผ่านกามภพ คือข้ามผ่านสภาวะที่เข้าไปเสพไปกินเนื้อวัว ขยับมาถึงรูปภพ คือไม่กินเนื้อวัวแล้ว แต่ถ้าเผลอไปคิดถึงก็อาจจะยังอยากกินอยู่ แต่ข่มใจไม่กินได้ ยอมไม่กินได้แม้ใจจะอยาก

เมื่อพัฒนาตัวเองด้วยวิปัสสนาและสมถะเข้าไปอีก จะก้าวเข้าถึงระดับ พหูสูต คือรู้แจ้งเรื่องกิเลสนี้มากแล้ว ตอนนี้จะเริ่มสวนกระแส รู้แล้วว่าการกินเนื้อวัวนี้ไม่ดี มั่นใจว่ากินเนื้อวัวไม่ดีอย่างเต็มใจ เมื่อทำต่อไปก็จะเข้าสู่ขั้นของวิริยารัมภะ คือการเพียรอย่างไม่หยุดยั้ง ลุยพิจารณากิเลสอย่างทุ่มโถมเอาใจใส่ เพื่อที่จะไล่ฆ่าความอยากเนื้อวัวที่มีเหลือให้หมดในระยะนี้ก็จะสามารถข้ามรูปภพได้ไม่ยากนัก แต่ก็ต้องมาไปพยายามกันต่อที่อรูปภพ คือความอยากกินเนื้อวัวที่หลงเหลือในวิญญาณ มีสภาวะเช่น ท่าทีภายนอกไม่อยาก ในใจก็ไม่อยาก แต่ทำไมไม่ได้กินแล้วมันขุ่นๆใจ ไม่โปร่งไม่โล่งนะ

พัฒนาต่อมาจนมาถึงสติ สติในที่นี้คือสติปัฏฐาน ๔ เป็นสติที่ใช้ชำแหละกิเลสออกเป็นชิ้นๆ จะเห็นได้เลยว่าเราอยากกินเนื้อวัวเพราะเราติดใจในอะไร ขุดให้ลึกถึงรากของกิเลสทีละตัวเลยว่า เราติดเพราะชอบรสสัมผัส หรือเราติดเพราะสังคมเขาว่ามันดี หรือจริงๆเราไม่ได้ติด แค่หลงไปตามชาวบ้านเขา หรือเรายังแอบซ่อนความอยากไว้ตรงไหนอีกนะ… สติปัฏฐาน ๔ คือกระบวนการที่จะทำให้เห็นกิเลส โดยใช้ปัญญาที่เป็นมรรคเข้าไปขุดค้นพิจารณาหารากของกิเลส เหตุแห่งทุกข์ หรือสมุทัย

แล้วก็จะเข้าสู่ภาวะของฌาน ๔ โดยเริ่มที่วิตกวิจารณ์ คิด วิเคราะห์ พิจารณากิเลสนั้นๆ ย้ำๆซ้ำๆ ให้เห็นคุณและโทษ ให้เห็นกิเลสที่ลึกลงไปอีก ในตอนนี้ก็เหมือนเราสู้กับบอสวัวในยกสุดท้าย ที่เรากำลังพยายามกำจัดถอนรากถอนโคนความอยากนั้นทิ้งให้หมด ตอนนี้เราต้องใช้ “อธิปัญญา” คือปัญญาที่มากกว่าที่เคยมี ไม่อย่างนั้นก็ไม่สามารถที่จะปราบศัตรูร้ายตัวนี้ได้ ให้พิจารณาซ้ำไปซ้ำมา จนกระทั่งเกิดปัญญาที่เป็นผล รู้แจ้งเห็นจริงในกิเลสนั้นๆ ซึ่งจะรู้ได้เอง

จึงเกิดความปีติ ดีใจ ฟูใจ ตื่นเต้น โปร่ง โล่ง เบา สบายจากการฆ่ากิเลสได้ และค่อยๆสงบลงมาเป็นความสุข อิ่มใจแบบนิ่งๆ จนสงบราบเรียบเข้าสู่สภาวะของอุเบกขา เหมือนฉากจบของด่านนั้นๆ เราข้ามภพสุดท้ายคืออรูปภพได้แล้ว เรากำจัดบอสวัว หรือความอยากในเนื้อวัวได้แล้ว

รางวัลที่เราได้คือความโปร่งโล่งสบายแม้ไม่ได้กินเนื้อวัว แม้จะมีเนื้อวัวมาอยู่ตรงหน้าก็เฉยๆ ไม่อยากกินอีกต่อไปแล้ว ไม่ต้องมาคอยกดข่ม พิจารณา เคร่งเครียด หรือดับความคิดอีกต่อไป เพราะกิเลสไม่มี ก็เลยไม่มีความอยาก พอไม่มีความอยาก ก็เลยไม่ต้องไปดับความอยาก ได้วิมุติมาเก็บสะสมเป็นพลังที่จะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น

หลังจากนี้เราอาจจะต้องใช้เวลาในด่านบอสวัวหรือความอยากกินเนื้อวัวอีกสักระยะ เพื่อเก็บกิเลสเล็กๆไรๆ ที่ยังฝังอยู่ลึกๆ เป็นญาติพี่น้องของกิเลสที่เราได้กำจัดไป แต่จะไม่ยากเท่าตัวใหญ่ที่เรากำจัดมา เห็นก็ฆ่า เห็นก็กำจัด ขยายพื้นที่ตั้งอธิศีลให้ครอบคลุมที่ผลิตภัณฑ์จากเนื้อวัว ทำลายความอยากให้สิ้นเกลี้ยง

และด่านพิเศษที่จะปรากฏขึ้นมาหลังจากปราบบอสวัว หรือความอยากกินเนื้อวัว คือด่านของความติดดี คือเราจะไปเพ่งโทษ ไปรังเกียจคนที่กินเนื้อวัวอยู่ ก็ให้ใช้กระบวนการเดียวกันในการกำจัดอัตตาเหล่านี้ ซึ่งความยากนั้นก็ถือว่ายากกว่าบอสวัวเยอะ ถ้าทำสำเร็จจึงจะพ้นนรกจริงๆ

นั่นหมายถึงเมื่อเราปราบ “กาม” คือความอยากเสพเนื้อวัวแล้ว เราก็จะมาติดกับ “อัตตา” คือความไม่อยากเสพเนื้อวัวอยู่ ถ้าอยากรู้ให้ลองตัดเนื้อวัวให้ได้จริงๆ แล้วกลับไปเสพดู หรือไม่ก็ไปดูคนอื่นกิน มันจะมีอาการทุกข์ใจ อาการรังเกียจ ต้องฆ่าอัตตาพวกนี้ไปด้วย

เมื่อเราปราบทั้งกามและอัตตาแล้ว ก็จะเดินเข้าสู่ทางสายกลางแบบสบายๆ เพราะไม่โต่งไปในด้านใดด้านหนึ่ง เราไม่เสพเนื้อวัว และเราก็ไม่ได้รังเกียจเนื้อวัว หรือคนที่ยังเสพเนื้อวัว

ในตอนนี้เราปราบบอสวัวหรือความอยากกินเนื้อวัวสำเร็จแล้ว เราก็ไปเล่นด่านต่อไป คือตั้งศีลสู้กิเลสต่อไป ในด่านของเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา สัตว์เล็กสัตว์น้อย การเบียนเบียดอื่นๆต่อไป ยิ่งเราชนะไปเรื่อยๆ ตัวเราก็เองก็จะเก่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะการทำอธิศีล จะทำให้เราพ้นเวรภัยต่างๆที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง อธิจิตจะทำให้เรามีสมาธิตั้งมั่น อดทนกับอะไรๆได้ดีขึ้น อึดขึ้น แกร่งขึ้น อธิปัญญาจะทำให้เราฉลาด เฉลียว ว่องไว รู้แจ้งในเรื่องกิเลสนั้นๆ และยังใช้ปัญญานั้นปรับเข้ามาในชีวิตประจำวันได้อีก

ดังจะเห็นได้ว่า เกมกำจัดกิเลส ก็คล้ายๆเกมที่เราเล่นกันอยู่ทุกวันนี่แหละ เพียงแต่คนสู้ คนแพ้ คนเจ็บ และคนชนะคือเรานี่เอง แต่มันก็น่าจะคุ้มค่าสำหรับเวลาที่เราให้ไปในการเล่นเกมนี้นะ

– – – – – – – – – – – – – – –

15.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

หิริ โอตตัปปะ : กรณีศึกษาขนมจีนน้ำยา

September 11, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,519 views 1

หิริ โอตตัปปะ : กรณีศึกษาขนมจีนน้ำยา

หิริ โอตตัปปะ : กรณีศึกษาขนมจีนน้ำยา

ในบทความนี้ เราจะมากล่าวถึงหิริโอตตัปปะ คือความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ในมุมมังสวิรัติกันว่าจะเป็นอย่างไร…

เป็นเหตุการณ์เมื่อประมาณกลางปี ๒๕๕๖ ในงานรวมญาติครั้งหนึ่ง เมื่อเราตั้งใจที่จะกินมังสวิรัติแล้ว เราก็จะพยายามบังคับให้กาย วาจา ใจ ของเรานั้นเป็นไปในทางที่เราตั้งไว้ ด้วยกำลังสติและความตั้งมั่นเท่าที่เราพอมี ในขณะนั้น

ในตอนนั้นก็ถือว่าตัวเองนั้นลดความอยากได้ดีพอประมาณแล้ว สามารถกินผักกลางวงเนื้อสัตว์ ที่มีเนื้อย่าง มีปูนึ่ง มีกุ้งเผา มีปลาย่าง ได้สบายๆโดยไม่เกิดความอยากจนกลับไปกินเนื้อสัตว์แล้ว ตรงนี้เราประมาณไว้ดีแล้วว่าเราไหว ถ้าเป็นช่วงแรกๆ เราอาจจะไม่ไหวก็แยกกันกินให้อิ่มไปก่อน หรืออยู่ห่างเข้าไว้ เพราะเห็นเข้านานๆ ได้กลิ่นที่ลอยมา ก็อาจจะหลงกลับไปกินได้

ทีนี้เราก็เดินไปตักขนมจีนที่ญาติทำมา เป็นขนมจีนน้ำยาทั่วไป เราก็เห็นว่ามีลูกชิ้น แต่เราไม่ตักเอาลูกชิ้นนะ เราเอาแต่น้ำยา พอตักขึ้นมาใส่จานราดลงบนเส้นขนมจีน น้าก็ทักว่า “กินได้หรอ มันมีปลา” !! เราก็หยุดในทันที ยืนนิ่งๆถือจานขนมจีนที่ราดน้ำยามาแล้ว ตอนนั้นตอบน้าไปในความหมายประมาณว่า “ กินไปก่อน ไม่ได้เคร่งขนาดนั้น” แต่จริงๆ คือตอนตักก็ไม่ได้นึกถึงเนื้อปลาในน้ำยานั้นเลย อาจจะเพราะมันไม่เหลือรูปของปลาแล้วก็ได้ อีกอย่างเราก็ไม่ใช่คนทำอาหารก็เลยไม่รู้ สรุปคือไม่รู้จริงๆไม่ได้นึกจริงๆว่ามีเนื้อปลา

หิริ คือความละอายต่อบาป ในตอนที่ถูกน้าทัก ก็เกิดความละอายต่อบาป รู้สึกไม่ดี แต่ก็ตักมาแล้ว จะเอาไปคืนก็ยังไงอยู่ สุดท้ายก็เลยกินไป แต่ก็ไม่ได้รู้สึกอร่อยอะไร เพราะยังมีความรู้สึกผิดอยู่ในใจ ว่าไม่น่าเลย ไม่น่าเลยเรา พลาดไปแล้ว

โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวต่อบาป ในตอนนั้นผมไม่ได้มีสภาวะของโอตตัปปะ ถ้าเป็นคนที่มีภาวะถึงขั้นโอตตัปปะก็จะหาวิธีที่จะไม่กินขนมจีนจานนั้นได้ แต่โอตตัปปะของผมเกิดหลังจากนั้น ขนมจีนน้ำยาจานนั้นเป็นจานสุดท้ายนับตั้งแต่วันนั้น และขนมจีนน้ำยาทุกจานต่อจากนี้ ถ้าผมรู้สึกยังไม่แน่ใจ มีความลังเลสงสัยว่าขนมจีนน้ำยาที่อยู่ตรงหน้านั้นทำจากเนื้อสัตว์หรือไม่ ผมก็จะไม่กินขนมจีนน้ำยาจานนั้นอย่างแน่นอน

หลังจากทีได้ทำพลาดไป คือพลาดไปกินน้ำยาที่มีเนื้อปลาเป็นส่วนประกอบโดยไม่รู้ ก็ไม่ได้รู้สึกดี หรือทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น แต่กลับทำให้เราได้เรียนรู้มากขึ้นว่าอาหารนี้มีปลา ทำให้เราได้คิดว่าครั้งหน้าเราจะปฏิเสธอย่างไร ปัญญานั้นจะเกิดตรงนี้ เกิดเพราะเราเรียนรู้ที่จะไม่ตามใจกิเลส หาทางออกที่ดีกว่าที่เราจะไปเสริมกิเลส

จะเห็นได้ว่าความเจริญหรือปัญญานั้น เกิดจากการที่เราตั้งศีล มีศีล คือตั้งใจไว้ว่าจะละเว้นอาหารที่มีเนื้อสัตว์ ประกอบด้วยสัตว์ ลดเนื้อกินผัก ก็นี่เป็นศีล เป็นตบะที่ผมตั้งไว้ ประกอบด้วยสติและสมาธิที่จะพยายามคงสภาพของการสำรวม ตา หู ลิ้น จมูก ปาก กาย ใจ เอาไว้ ไม่ให้กลับเข้าไปเสพเนื้อสัตว์อีก เมื่อเราตั้งมั่นในศีลและสมาธิอย่างมีปัญญารู้ว่าการตั้งมั่นในศีลนั้นจะมีคุณค่าและประโยชน์อย่างไร เมื่อถึงวันหนึ่งปัญญาที่เคยเป็นมรรค(การตั้งข้อสังเกต ข้อปฏิบัติ) จะเจริญเป็นปัญญาที่เป็นผล( ข้อสรุป ความเจริญที่ได้)

คือได้ผลในเรื่องนั้นๆ เกิดปัญญาในขนมจีนน้ำยา จบกิเลสเรื่องขนมจีนน้ำยาเพราะรู้แจ้งชัดแล้วว่ามีเนื้อปลาเป็นส่วนประกอบหลักในน้ำยา ก็ถือว่าได้ปัญญามาอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนรสอร่อยในขนมจีนน้ำยา หรือความชอบในขนมจีนนั้นเป็นกิเลสอีกตัวหนึ่งซึ่งคล้ายๆกัน ก็ต้องไปตั้งศีล ตั้งตบะ จับกิเลสมาฆ่าล้างกันอีกที

อีกสิ่งที่น่าสนใจคือเมื่อเราได้ประกาศศีล ตบะ หรือความตั้งใจที่จะเลิกเนื้อสัตว์ไปแล้ว ผู้หวังดีรอบข้างก็จะช่วยแนะ ทัก ตรวจสอบเรา ว่าเรายังปฏิบัติดีดังที่หมายมั่นอยู่หรือไม่ ผู้หวังดีหรือกัลยาณมิตรเหล่านี้เอง คือผู้ที่คอยชี้ขุมทรัพย์ ชี้จุดบกพร่องในตัวเราให้เราเห็น ดังนั้นการปฏิบัติไปสู่การลด ละ เลิกการกินเนื้อสัตว์ ควรจะมีมิตรดีสหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมที่ดี ช่วยกันแนะ ติ ชม เพื่อไปสู่ความเจริญ

– – – – – – – – – – – – – – –

11.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ความรักกับการเปลี่ยนแปลง

August 25, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,100 views 0

ความรักกับการเปลี่ยนแปลง

ความรักกับการเปลี่ยนแปลง

กาลเวลาที่ผ่านไปได้แสดงให้เห็นว่า ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลง ไม่มีสิ่งใดที่ไม่เปลี่ยน แม้แต่ใจคนที่หนักแน่น คำพูดที่จริงจัง คำสัญญาที่ตั้งมั่นว่าจะมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่สุดท้ายไม่ว่าอะไรก็ต้องค่อยๆเสื่อม ค่อยๆพราก ค่อยๆจาก และเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล….

ขับรถไป เปิดวิทยุไป แล้วเขาก็เปิดเพลงหนึ่ง ฟังแล้วรู้สึกทันทีว่าน่าจะเอาเรื่องราว อารมณ์ความรู้สึกนี้มาพิมพ์บทความกันสักหน่อย (เปลี่ยน – บี๋ คณาคำ อภิรดี : http://www.youtube.com/watch?v=0i-e5nnDfgU)บทความนี้ก็ได้แรงบันดาลใจจากการฟังเพลงนี้ละนะ

ความรักกับความเปลี่ยนแปลง…เรื่องราวเกี่ยวกับความรักในบทนี้ ก็คงจะกล่าวกันถึงความรักที่มีความเปลี่ยนแปลงที่มีทิศทางในลักษณะที่เสื่อมลง คลายลง ถดถอยลง จนถึงสลายหายไป เป็นทุกข์แบบชัดเจน

ขึ้นชื่อว่าความรักนั้นก็เหมือนของหอม ของงาม น่าโหยหา น่าเอามาผูกพัน น่าเอามายึดไว้ข้างกาย เป็นความสุขความสมบูรณ์ตามที่สังคมและโลกสอนให้เราเข้าใจ ให้เรารับรู้ว่าการที่คนเราได้รับความรัก ได้มีคู่รัก นั่นคือจุดสมบูรณ์ของชีวิต เหมือนในนิทาน ในนิยาย ในละคร ที่ตอนจบพระเอกและนางเอกก็ได้ร่วมชีวิตกัน

เป็นเหมือนเรื่องราวที่โลกทำให้เราเข้าใจว่าการได้มีคู่ ได้สมรส มีครอบครัว นั้นคือความสุข เป็นจุดจบของทุกสิ่ง เพราะส่วนใหญ่เรื่องราวในหนังมันก็จบแค่นั้น… แต่ถ้าชีวิตจริงมันจบแค่นั้นก็คงจะเป็นอย่างที่เขาว่า

เมื่อได้เสพสมใจ คือการแต่งงาน จนไปถึงการสมสู่ ความต้องการของเราจะได้รับการเติมเต็มอย่างสูงที่สุด ตามแต่ใครจะสร้างกิเลสเหล่านั้นขึ้นมา ดังจะเห็นได้โดยทั่วไปว่า ไม่มีงานใดยิ่งใหญ่มากเท่างานแต่งงานในชีวิตของคนหนึ่งคนแล้ว เรียกได้ว่าเป็น“จุดพีค” ของชีวิตเลยทีเดียว ถ้าเป็นละครก็คือตอนสำคัญเชียวละ

แต่เมื่อเวลาผ่านไป เรากลับต้องการเสพความสุขเหล่านี้ “มากขึ้นเรื่อยๆ” ในขณะที่ความอยากจะตอบสนองของอีกฝ่ายลดลง หรือหมดความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการของคู่ตน ที่มีแต่จะพัฒนาความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ขึ้นทุกวัน

เมื่อคนเรามีความต้องการ ความอยากเป็นเจ้าของ หรือกระทั่งความใคร่ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะใช้คำว่า “ความรัก” เข้ามาเป็นตัวแทนโดยทำทุกอย่างให้เหมือนทุ่มเท ใส่ใจ เอาใจใส่ ทั้งหมดก็เพื่อที่จะสนองกิเลสอีกฝ่ายให้พอใจกับการกระทำของตน เรียกง่ายๆว่า เอาใจ…จนจีบติด , เมื่ออีกฝ่ายเริ่มสนใจ ก็จะสนองกิเลสเพิ่มเข้าไปอีก หาสิ่งมาเติมกิเลสเข้าไปอีกให้เกิดความอยากร่วมชีวิต ให้มาแต่งงานร่วมกัน มีคำหวาน คำสัญญา คำพูดและสิ่งของอีกมากมายที่จะมาหลอกล่ออีกฝ่ายให้มาตกลงปลงใจกับตนเอง โดยเนื้อแท้ที่ทำทั้งหมดตั้งแต่แรกคือจะเอามาสนองกิเลสตัวเอง คือ อยากครอบครอง อยากสมสู่ อยากมีคนแก้เหงา อะไรก็ว่ากันไป… จนสนองกิเลสกันสำเร็จ ตกลงใจร่วมเป็นครอบครัวเดียวกัน

การกระทำเหล่านี้เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นไปตามสัญชาติญาณ ไม่ต้องนึกหรือบังคับ กิเลสก็จะกุมบังเหียนพาเราไปสู่จุดที่อยากจะเสพสมใจเอง โดยทั่วไปแล้ว คนจะเข้าใจว่า ตัวเองเข้าใจว่าทำอะไรอยู่ แต่ไม่เข้าใจว่าจริงๆที่ทำอยู่ นั้นมาจากคำสั่งของกิเลส ประมาณว่าไม่รู้ตัวเหมือนกันว่าโดนบงการ เลยเข้าใจไปว่า ทำด้วยหัวใจ,ความรักอยู่ที่ใจ,คนมีรักถึงจะเข้าใจ,เราให้เพราะอยากให้,ฯลฯ …กิเลสทั้งนั้น

ความฉิบหายจะเริ่มตั้งแต่จุดนี้ เมื่อฝ่ายหนึ่งได้เสพสมกิเลสตามที่ตนพอใจแล้ว อาจจะเป็นเรื่องการได้ครอบครอง การได้สมสู่ การได้มีสิ่งที่หวัง ก็จะเริ่มลดความพยายามในการตามใจ หรือการสนองกิเลสของอีกฝ่ายลง ในขณะที่อีกฝ่ายก็งง ว่าทำไมแต่งงาน หรือเป็นแฟนกันแล้ว ได้กันแล้ว กลับเปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิม นั่นก็เพราะเขาได้ในสิ่งที่คาดหวังมาหมดแล้ว ทั้งหมดที่เขาทำมาก็แค่เพื่อเสพสมบางสิ่งจากตัวเราเท่านั้นเอง เมื่อเขาเสพสมใจแล้วเขาจะพยายามต่อไปเพื่ออะไร?

จากจุดนี้ก็คงจะไม่มีใครพูดตรงๆถึงปัญหาซึ่งเป็นรากเหง้าเหล่านี้เพราะส่วนใหญ่ก็จะไม่รู้ เนื่องจากไม่เคยศึกษากิเลสตัวเอง ก็เลยจะออกมาในรูปของการทะเลาะ ความไม่เข้าใจกัน ความขัดแย้ง อยู่กันไปทั้งรักทั้งชัง ไปจนกระทั่งถึงเลิกราต่อกัน

ในอีกกรณีหนึ่งก็คือการสร้างภาพกันทั้งคู่ เวลาที่ยังไม่อยู่ร่วมกันก็เป็นคนดีทั้งคู่ แต่พอมาอยู่ด้วยกัน เริ่มเคยชินกัน จึงไม่ค่อยสำรวม กิเลสที่เคยกดข่มไว้ก็ค่อยๆคลายออกมา กลายเป็นความเอาแต่ใจ อารมณ์ร้าย เปลี่ยนไปเป็นคนละคนทีนี้พอคนมีกิเลสสองคนมาอยู่ร่วมกัน แต่ละคนก็อยากได้ อยากให้อีกฝ่ายสนอง แรกๆก็พอจะสนองกันไปได้ วันหนึ่งเริ่มไม่ไหว ก็เลิกสนอง กลายเป็นหามือที่สามมาสนองกิเลส หรือไม่ก็เลิกรากันไป

ดังจะเห็นได้ว่า ในทุกการเปลี่ยนแปลงของความรักนั้นมีกิเลสเป็นตัวขับเคลื่อนและผลักดัน เป็นเหมือนแรงลมที่ทำให้ทุกๆอย่างเคลื่อนไหว ดังนั้นความรักที่ขับเคลื่อนไปด้วยลมแห่งกิเลสจะไม่มีวันเปลี่ยนไปได้อย่างไร

ทีนี้คนที่มีความยึดมั่นถือมั่น หลงไปในคำสัญญา ก็จะยึดว่าเขาต้องไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เปลี่ยนจากวันที่รักเรามากที่สุด เมื่อคิดเช่นนี้ มันก็ทุกข์เอง และพยายามจะกอดทุกข์เหล่านั้นไว้ไม่ปล่อย โดยที่ไม่ได้เข้าใจเลยว่ารักที่มาจากกิเลสนั้นจะต้องมีวันเปลี่ยนแปลงไป ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

ถึงแม้ว่ารักนั้นจะสะอาดปราศจากกิเลศก็ตาม ก็ยังต้องพบเจอกับความเปลี่ยนแปลง ความพลัดพราก คนที่เคยดูแลเรา อาจจะกลายเป็นคนที่เราต้องดูแล คนที่เราฝากชีวิตไว้ อาจจะจากเราไปก่อนที่เราจะทำใจได้ ความเปลี่ยนแปลงนำพาทุกข์มาให้ผู้ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงเสมอ

ความรักที่มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง เที่ยงแท้แน่นอน นั้นมีอยู่จริง แต่ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้เพียงแค่พูด แค่คิดเอา แค่ตั้งมั่นสัญญา หรือด้วยความเข้าใจเพียงแค่ว่า “เรานี่แหละมีรักที่มั่นคง” สิ่งเหล่านี้มันไม่สามารถหยุดความเปลี่ยนแปลงของกิเลสเรา ที่มันจะโตขึ้นทุกวันทุกวันได้

หากเราอยากพบกับความรักจริงๆแล้ว คงต้องพยายามบากบั่น ทำลายความเอาแต่ใจ ความอยากครอบครอง ความหลง ความเหงา ฯลฯ ของตัวเองให้สิ้นเกลี้ยงเสียก่อน จึงจะพอเห็นแสงสว่างปลายทางที่เรียกว่ารักแท้ได้บ้าง

หากใจยังปนเปื้อนไปด้วยกิเลส ก็คงมีแต่คำว่า “รักแท้” ที่เป็นคำลวง พาให้หลงใหล พาให้ปักใจเชื่อ และรอวันเวลาผ่านเข้ามาพรากสิ่งลวงนั้นไปในวันใดก็วันหนึ่ง เหลือทิ้งไว้แต่คนที่ยังยึดมั่นกับรักแท้ที่เป็นคำลวง คนที่หลงเข้าใจไปว่าทุกสิ่งจะไม่เปลี่ยนแปลง

– – – – – – – – – – – – – – –
24.8.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

จริงหรือที่ว่ารัก?…เราจะรู้ได้อย่างไร…เมื่อรักนั้นปนเปื้อนด้วยกิเลส

August 11, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,043 views 0

จริงหรือที่ว่ารัก?...เราจะรู้ได้อย่างไร...เมื่อรักนั้นปนเปื้อนด้วยกิเลส

จริงหรือที่ว่ารัก?…เราจะรู้ได้อย่างไร…เมื่อรักนั้นปนเปื้อนด้วยกิเลส

บังเอิญได้ดูเรื่องราวจำลองของเหตุการณ์หนึ่ง เป็นเรื่องของความรักปนไปกับความเหงาและความใคร่ ก็คงจะดีถ้าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องจริง (Club Friday The Series 4 หรือรักแท้จะแพ้ความต้องการ (เรื่องราวจาก คุณแอร์ )[ http://www.youtube.com/watch?v=zS3U4MROlvE ])

เป็นเรื่องที่ใช้เวลาดูเป็นชั่วโมง…. พอดูแล้วก็นึกถึงเหตุของความรัก ที่เกิดมาด้วยหลายแรงผลักดัน ความถูกใจ ความใคร่ ความเหงา ลาภยศสรรเสริญ ฯลฯ สุดท้ายก็ออกมาในรูปของคำว่า ”ความรัก” แต่ถ้าหากเราไม่แยกส่วนผสมของรักให้ดี ก็อาจจะไม่รู้เลยก็ได้ว่ามีกิเลสปนเปื้อนอยู่เป็นส่วนใหญ่

คนเรามักจะนิยามความรักในมุมสวยงาม แต่ไม่เคยลองพิจารณาดีๆว่าเรารักเพราะอะไร เพราะรูปสวย เพราะรวยทรัพย์ เพราะมีหน้าที่การงานดีในสังคม เพราะเขาเอาใจเรา เพราะเขาให้คุณค่าเรา เพราะเขาสนองได้ตามที่เราอยากได้ ความรู้สึกเหล่านี้เป็นกิเลสล้วนๆ ความรักที่แท้นั้นไม่ควรปนเปื้อนด้วย อบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา คือกิเลสที่จะนำมาสู่ความทุกข์ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

รักที่เต็มไปด้วยกิเลส ตัณหา ความอยาก ความใคร่ ไม่มีทางจบด้วยความสุข เพราะเมื่อไม่ได้เสพสมกิเลสหรือสมความใคร่อยากนั้นก็เกิดทุกข์ แต่พอได้เสพก็ลดทุกข์ลงไปได้บ้างแต่กลับเติมกิเลสให้ต้องการมากขึ้นเสพมากขึ้น มีความอยากความเอาแต่ใจมากขึ้นเรื่อย เป็นเพียงแค่สุขลวงที่มาล่อให้เกิดทุกข์จริงเท่านั้น

เราอาจจะเห็นว่าหลายคู่ก็รักกันดี จึงพยายามเอามาคิดฝันถึงเรื่องของตัวเอง จนลืมไปว่าเรามีกรรมที่ต่างกัน ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะเจอสิ่งที่ดีแบบคนอื่นเขา ถึงแม้ว่าถ้าเจอคนที่ดีจริงก็จะไม่พากันไปสู่นรก คือการแต่งงาน สังเกตุว่าเมื่อมีการแต่งงาน หลายๆสิ่งจะเปลี่ยนไป เพราะเมื่อคนมีกิเลสสองคนมาอยู่ด้วยกันแล้ว วันใดวันหนึ่งที่ไม่สามารถสนองกิเลสอีกฝ่ายได้ ก็จะกลายเป็นชนวนให้เกิดความบาดหมาง จนกระทั่งเป็นเหตุให้บางคู่ได้มีอิสระ บางคู่ต้องอยู่กันไปทั้งรักทั้งชัง บางคู่ก็มีแต่ทนทุกข์ บางคู่มีลูกเป็นบ่วงยึดไว้อีก

ผมเคยได้ยินคำตรัสของพระพุทธเจ้า ใจความประมาณว่า “คนที่ไม่มีลูกเป็นคนที่โชคดีมาก แล้วจะกล่าวไปใยกับคนที่เป็นโสด” ดังจะเห็นได้ว่า การมีลูกนำทุกข์มาให้ และการแต่งงานก็นำทุกข์มาให้เช่นกัน จริงๆแล้วเราทุกข์ตั้งแต่มีความรักที่เต็มไปด้วยความอยากหรือกิเลสอยู่แล้ว

ความรักที่ดีนั้นควรจะอยู่บนพื้นฐานของอิสระ เกื้อกูลกันด้วยสิ่งที่เป็นกุศล พากันทำกุศล พากันเจริญ ไม่มีการผูกมัดกันด้วยสัญญาใดๆ เป็นรักที่ยอมปล่อย ยอมสละ ยอมแม้แต่จะไม่ครอบครอง ยอมปล่อยให้คู่ของตัวเองเป็นไปตามกรรมที่เขาควรจะเป็น รักอย่างเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา โดยไม่มีการยึดมั่นถือมั่น เขาจะอยู่กับเราก็ได้ เขาจะไปจากเราก็ได้

ในเรื่องนี้ถ้าเราเข้าใจกรรมและผลของกรรมอย่างถ่องแท้ จะไม่สงสัยใดๆ จะเข้าใจว่า ว่ามันก็เป็นของมันแบบนี้ละนะ เพราะการที่เกิดเรื่องราวเลวร้ายหรือวิบากบาปแบบนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากกิเลสของเรานั่นแหละ เพราะเราเคยไปทำอะไรไม่ดีมากสักอย่าง ผลมันก็เลยออกมาแบบนี้ ก็จะรับรู้จะเข้าใจ รับผลแล้วก็หมดไป ดีซะอีกได้ใช้หนี้บาปให้หมดไปอีกเรื่อง อาจจะลองจินตนาการตามไปก็ได้ว่าชาติใดชาติหนึ่งเราก็ไปทำแบบนี้มานั่นแหละ เราเองที่ทำมา…

และจะเห็นได้ว่า ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปอย่างไร คนก็หนีไม่พ้นเรื่องกามเมถุน …กิเลสอันเป็นรากที่ทำให้เกิดความใคร่จนลงมือก่อบาปเหล่านี้ คือกามราคะ เป็นสังโยชน์ที่ผูกมัดเราให้ทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส กามราคะไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องสมสู่ ยังรวมไปถึงการเสพในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ต่างๆ เช่น ฟังเพลงเพราะ กินอาหารอร่อย ชอบกลิ่นหอมๆ ชอบคนหล่อคนสวย ชอบบ้านที่อยู่สวย ชอบเตียงที่นุ่ม อะไรก็ว่ากันไป

หลายคนเข้าใจว่าอายุมากขึ้นแล้วคงเบื่อหน่ายเรื่องนี้ไปแล้ว แต่ความจริงนั้นไม่ใช่ กิเลสจะเปลี่ยนรูปจากความต้องการในการสมสู่เป็น ความติดรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อื่นๆได้เช่นกัน สังเกตก็ได้ว่ายิ่งแก่ยิ่งดื้อ ยิ่งอยากเสพของอร่อย อยากสบาย มีความอยากและข้อแม้เต็มไปหมด ทุกข์เหล่านี้มันจะอยู่ตามหลอกหลอนเราตราบเท่าที่เรายังยึดกามราคะนี้ไว้เป็นตัวเรา จะเกิดอีกกี่ครั้งก็ต้องเจอมันทุกครั้ง เจอเรื่องราวประมาณนี้เรื่อยไป วิธีเดียวที่จะกำจัดมันก็คือ…ล้างกิเลส

– – – – – – – – – – – – – – –
10.8.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์